QQ x MSN กับมหาศึกช่วงชิงผู้นำแอปส่งข้อความเพื่อความอยู่รอดของ Tencent ในประเทศจีน

ในปี 2004 Jeff Xiong Minghua ซึ่งเป็นขุนพลจากสำนักงานใหญ่ Microsoft ได้ถูกส่งตัวมายังเซี่ยงไฮ้ เป้าหมายของการส่งตัวมาในครั้งนี้ไม่มีอะไรมาก พวกเขาต้องการขยายบริการ MSN บริการส่งข้อความสุดฮิตที่กำลังกลายเป็นกระแสไปทั่วโลกบุกตลาดในประเทศจีน

Pony Ma ผู้ก่อตั้ง Tencent ตอนนั้นได้สร้างบริการ QQ จนประชาชนชาวจีนติดหนึบ แต่ยังไม่มีโมเดลในการหารายได้ที่ชัดเจนนัก

ต้องบอกว่าย้อนกลับไปในยุคนั้น Microsoft เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวมาก ๆ แบบหลอนประสาทคู่แข่งได้เลย บุกไปทำธุรกิจที่ไหน ประเทศไหน คู่แข่งแทบจะตายเรียบ ด้วยสรรพกำลังที่มีมากมายมหาศาลทั้งเงินทุนและทรัพยาบุคคลที่ไม่เป็นสองรองใครในโลกเทคโนโลยี

Pony Ma ก็คิดอย่างงั้น MSN เองก็มีฐานผู้ใช้จำนวนมากในประเทศจีนอยู่แล้ว แม้จะไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นทางการในประเทศจีนก็ตาม จำนวนผู้ใช้ยังมากกว่า NetEase ซึ่งเป็นคู่แข่งที่เล็กกว่าของ Tencent ถึงสามเท่า

MSN มีข้อได้เปรียบมากมาย ด้วยอินเทอร์เฟซสุดล้ำ ดึงดูดใจชาวเมืองที่เป็นพนักงานออฟฟิสและนักศึกษา ซึ่งต่างมอง QQ เป็นบริการกลุ่มรากหญ้าที่ไม่ถูกจริตกับพวกเขา

ในบรรดาธุรกิจและผู้ใช้งานกลุ่มชนชั้นกลางกว่า 20 ล้านคนในจีน ณ เวลานั้น MSN มีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 53% ซึ่งสูงกว่า QQ ถึง 6%

เรื่องตลกของอุตสาหกรรมในตอนนั้นคือ QQ ได้ลงทุนลงแรงทั้งหมด ให้ความรู้แก่ผู้ใช้และปลูกฝังนิสัยของพวกเขา และ MSN ก็ได้เข้ามาในตลาดในเวลาที่เหมาะสมเพื่อเก็บเกี่ยวลูกค้าที่พร้อมจะอัปเกรดไปใช้ของนอกอย่าง MSN

QQ ถูกมองว่าเป็นบริการแชทสำหรับคนที่อายุน้อยและมีรายได้น้อย ซึ่งใช้มันเพื่อสื่อสารขณะเล่นเกมบนเดสก์ท็อปและแสวงหาการเชื่อมต่อในโลกเสมือนจริง

แต่ MSN นั้นจะเข้ามายกระดับไปอีกขั้น มันจะกลายเป็นเครื่องมือสำหรับชุมชนวัยทำงานและเป็นช่องทางในการแบ่งปันข้อมูลและเอกสารสำหรับการดำเนินธุรกิจ

Jeff ย้ายกลับไปเซี่ยงไฮ้อย่างเป็นทางการในปี 2003 โดยพาภรรยา ลูกชายคนโต และลูกสาวคนเล็กที่เติบโตในซีแอตเทิลไปด้วย เพื่อช่วย Microsoft ขยายธุรกิจในประเทศจีน

Jeff Xiong Minghua ซึ่งเป็นขุนพลจากสำนักงานใหญ่ Microsoft (CR:Technote)
Jeff Xiong Minghua ซึ่งเป็นขุนพลจากสำนักงานใหญ่ Microsoft (CR:Technote)

เขาใช้เวลาไม่นานในการรวบรวมทีมงานที่แข็งแกร่ง 30 คน ด้วยอิทธิพลของเขา เขารวบรวมผู้มีความสามารถจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วประเทศ

สำหรับทีมผู้ก่อตั้ง Tencent แล้ว ราวกับว่าเรือบรรทุกเครื่องบินกำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่น่านน้ำของพวกเขา และพวกเขากำลังต้องสู้กับเรือรบที่มีขีปนาวุธชั้นสูงจากอเมริกา

เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเนื้อหาที่ให้บริการผ่าน MSN บริษัทได้ว่าจ้างธุรกิจพอร์ทัลจากพันธมิตรในท้องถิ่น โดยนำเสนอธุรกิจประเภทต่าง ๆ เช่น ecommerce รถยนต์ และข่าวสารให้กับบริษัทต่าง ๆ รวมถึง Alibaba

มันเป็นการดำเนินธุรกิจที่แสนชาญฉลาดของ Microsoft ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากข้อบังคับท้องถิ่นในด้านเนื้อหา แต่ยังสามารถสร้างรายได้จากบริการแชท

MSN ยังได้ขโมยรูปแบบ UI มาจาก QQ ซื้อกิจการบริษัทท้องถิ่นของจีนเพื่อให้สามารถแปลงข้อความที่ผู้คนได้รับบนเดสก์ท็อปเป็นข้อความในมือถือในราคาเพียง 1.20 ดอลลาร์ต่อเดือน ในขณะเดียวกันก็มีการเชื่อมโยงบริการกับ Yahoo ทั่วโลก กลยุทธ์เหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นภัยคุกคามที่มีต่อ Tencent เป็นอย่างมาก

เพื่อเป็นการต่อสู้กลับ Pony ได้ทำการยกเครื่อง QQ ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เปิดตัวสู่สาธารณะ ในเดือนกันยายน 2004 QQ ได้เพิ่มขีดความสามารถในการแบ่งปันไฟล์และพื้นที่จัดเก็บเพื่อเพิ่มความนิยมในหมู่คนวัยทำงาน

นับเป็นก้าวแรกในการพลิกฟื้นธุรกิจของ Tencent โดย Pony พิสูจน์ให้เห็นว่าบริษัทของเขาสามารถเอาชนะใจผู้ใช้ที่มีกำลังซื้อมากขึ้นได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ Pony ยังตัดสินใจที่จะโผล่ออกจากถ้ำ ซึ่งปรกติเขาแทบไม่ออกงานใด ๆ โดยแสดงวิสัยทัศน์ของเขาที่มีต่อ QQ ในการประชุมสื่อให้โลกเห็น

ภายในเดือน มิถุนายน 2005 QQ มีผู้ใช้งาน 440 ล้านคน ซึ่งเทียบเท่าจำนวนประชากรของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นรวมกัน เขาเสนอให้คำจำกัดความของการส่งข้อความโต้ตอบแบบทันทีได้รับการนิยามใหม่

เขาได้เสริมว่าผลิตภัณฑ์อย่าง QQ ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการสื่อสารอีกต่อไป แต่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับข้อมูลความบันเทิง เกม บล็อก และวีดีโอ Pony ประกาศอย่างยิ่งใหญ่ว่าแพลตฟอร์มการแชทกำลังเปลี่ยนชีวิตผู้คน และ “จีนจะเป็นผู้นำโลกในการส่งข้อความแบบโต้ตอบทันที”

ฝั่งของ Microsoft เนื่องจากปัญหาการจัดการภายในที่ Microsoft ในประเทศจีนขับเคลื่อนตัวเองได้อย่างยากลำบาก เนื่องจากโครงสร้างที่คล้ายระบบราชการที่ข้อมูลจะถูกส่งต่อไปยังสำนักงานใหญ่ การตัดสินใจของ MSN China จึงช้ากว่าคู่แข่งอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งมันต้องแข่งกับเวลา

ตัวอย่างเช่น วิศวกรชาวจีนเสนอให้ผู้ใช้ MSN สามารถรับข้อความที่ส่งถึงพวกเขาได้ในขณะที่พวกเขาออฟไลน์ อย่างไรก็ตาม คำเสนอแนะดังกล่าวต้องถูกถกเถียงที่สำนักงานใหญ่ แต่ที่ Tencent พวกเขาสามารถสร้างคุณสมบัติดังกล่าวได้ภายในไม่กี่สัปดาห์

การตอบสนองที่รวดเร็ว การสร้างนวัตกรรมและการอัปเกรดเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นหนึ่งในจุดเด่นของ Tencent แม้กระทั่งในทุกวันนี้ก็ตาม

แนวคิดนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘xiao bu kuai pao, kuai su die dai’ ซึ่งหมายถึงการก้าวเล็ก ๆ เพื่อดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีนนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

พันธมิตรในท้องถิ่นของธุรกิจด้านพอร์ทัลยังขาดกลยุทธ์ที่สอดคล้องกันเพื่อสร้างรายได้จากทราฟฟิกของ MSN และเพื่อให้ชนะใจผู้ลงโฆษณามากขึ้น พวกเขามักจะตัดราคากันและบีบราคาโฆษณาให้ถูกที่สุด

เมื่อหน่วยงานกำกับดูแลของจีนเริ่มปราบปรามในพื้นที่ข้อความมือถือ มันก็จำกัดการเติบโตทางรายได้ของ MSN ด้วย ในขณะเดียวกัน Tencent ก็ไม่ละความพยายาม โดยทุ่มเทสรรพกำลังทั้งหมดให้กับ QQ

ความท้าทายที่สำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับ MSN ก็คือการเก็บข้อมูลผู้ใช้ที่สำคัญทั้งหมดต้องมีการส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์ในสหรัฐอเมริกา ทำให้บริการของพวกเขาช้าเป็นเต่า

MSN เก็บข้อมูลผู้ใช้ที่สำคัญทั้งหมดมีการส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์ในสหรัฐอเมริกา (CR: Tech In Asia)
MSN เก็บข้อมูลผู้ใช้ที่สำคัญทั้งหมดมีการส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์ในสหรัฐอเมริกา (CR: Tech In Asia)

เหตุผลที่ Microsoft ต้องดำเนินการแบบนี้เพราะจีนสั่งห้ามบริษัทต่างชาติดำเนินการศูนย์ข้อมูลของตนเอง และบริษัทปฏิเสธที่จะเก็บข้อมูลลงในผู้บริการท้องถิ่น ซึ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อนสำหรับรัฐบาล

นั่นหมายความว่าผู้ใช้ MSN ในประเทศจีนต้องใช้เวลานานถึงสองนาทีในการเข้าสู่ระบบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประสบการณ์ผู้ใช้เป็นอย่างมาก เมื่อถึงเวลาที่พวกเขาตัดสินใจที่จะย้ายไปตั้งศูนย์ข้อมูลในฮ่องกง ซึ่งใกล้กับจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น ในเวลานั้น MSN ก็ได้สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดที่สำคัญให้กับ QQ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ความผิดพลาดร้ายแรงที่สุดของ MSN เกิดขึ้นช่วงปลายปี 2005 เมื่อมีการรวมบริการแชทของ MSN เข้ากับแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่เรียกว่า MSN Live

สำหรับผู้ใช้หลายคน การอัปเกรดดูเหมือนมันได้กลายเป็นหน้าเว็บแทน และดูเหมือนว่าบริการแชทของบริษัทจะหายไปในชั่วข้ามคืน เมื่อทีมของ Pony ได้เห็น MSN Live เวอร์ชันใหม่ พวกเขาก็รู้ทันทีว่าการต่อสู้สิ้นสุดลงแล้ว พวกเขาได้รับชัยชนะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Microsoft ที่ก่อตั้งโดย Bill Gates ได้กลายเป็นอีกหนึ่งตำนานรายชื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากซิลิกอน วัลเลย์ ที่ถูกคู่แข่งจากจีนโค่นล้ม

ไม่ว่าจะเป็น eBay และ Amazon ที่ถูกบดขยี้จาก Alibaba คู่แข่งตัวฉกาจของ Tencent หรือ Uber ที่พ่ายแพ้ให้กับ Didi

แต่เมื่อมองย้อนกลับไป Microsoft ไม่เคยถือว่าสงครามบริการส่งข้อความโต้ตอบแบบทันทีในประเทศจีนมีความสำคัญสูงสุด เพราะสถานการณ์ในตอนนั้น พวกเขากำลังยุ่งอยู่กับการต่อสู้กับ Google ในสหรัฐอเมริกาบ้านเกิด จีนมีสัดส่วนเพียง 2% ของธุรกิจทั่วโลก แต่สำหรับ Tencent แล้ว Pony และทีมของเขาพร้อมแทบจะทุกอย่างที่จะล้มยักษ์

Jeff อาจเป็นคู่แข่งของ Pony ในประเทศจีน แต่ฝ่ายหลังกลับไม่เคยโกรธเคือง อันที่จริง เขารู้สึกประทับใจในตัว Jeff ที่มีการสู้รบกันมาหลายปี

ทั้งสองพบกันครั้งแรกในปี 2005 เมื่อ Jeff ไปเสิ่นเจิ้นเพื่อช่วยซื้อบริษัทให้กับ Microsoft ซึ่งทาง Pony ได้ติดต่อให้ Jeff ไปร่วมรับประทานอาหารเย็น พวกเขาพูดคุยกันถูกคอเกี่ยวกับเรื่องราวของเทคโนโลยี

Jeff รู้สึกว่าทีมของ Tencent ยังคงติดอยู่ในยุคหินเมื่อพูดถึงแนวคิดของการบริหารจัดการทีมเทคโนโลยี รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขาไม่มีแนวทางที่เป็นระบบอะไรเลยในการจัดการทั้งเรื่อง UI หรือแม้กระทั่ง Bug ของซอฟต์แวร์

“มันเหมือนกับว่า Microsoft อยู่บนท้องฟ้าและ Tencent ยังคงอยู่บนโลก มีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่พวกเขาต้องทำเพื่อยกระดับบริษัท” Jeff กล่าว

โลกของเทคโนโลยี การมีเครื่องไม้เครื่องมือชั้นยอด หรือการไปยึดถือตามตำราสูตรสำเร็จต่าง ๆ ที่มันดูเว่อร์เกินจริง ในบางครั้งก็ไม่อาจที่จะสู้กลุ่มคนที่คลุกฝุ่นคลุกดินไร้ซึ่งระเบียบแบบแผนเหมือนที่ Pony ทำได้สำเร็จกับ QQ มาแล้วนั่นเองครับผม

References :
หนังสือ Influence Empire: Inside the Story of Tencent and China’s Tech Ambition โดย Lulu Chen
https://luxatic.com/pony-ma-and-his-tencent/

CROSSROADS Maldives ร่วมกับ สิงห์ โซดา ชวนคนรักปาร์ตี้ สัมผัสความมันส์แนวใหม่ ครั้งแรกกับ “ปาร์ตี้ริมสระน้ำธีมไทย”

ครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์ (CROSSROADS Maldives) เตรียมจัดงานปาร์ตี้ริมสระน้ำ “Thai Beats & Ocean Waves” ผลงานสุดครีเอทของ SAii Beach Club ร่วมระเบิดความมันส์กับ สิงห์ โซดา ตลอด 2 วัน ตั้งแต่ 15 – 16 มิถุนายน 2567 ณ ครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์ 

งาน “Thai Beats & Ocean Waves” ปาร์ตี้ริมสระสุดอลังการครั้งแรก ที่จะนำเสน่ห์ของเกาะภาคใต้ประเทศไทยยกไว้มาไว้กลางมัลดีฟส์ ผลงานสุดครีเอทของ “SAii Beach Club” (ทราย บีช คลับ) ร่วมระเบิดความมันส์กับ “สิงห์ โซดา” (Singha Soda) สนุกฉ่ำตลอด 2 วัน ตั้งแต่ 15 – 16 มิถุนายน 2567 ณ ครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์ (CROSSROADS Maldives) จุดหมายปลายทางไลฟ์สไตล์แห่งแรกและแห่งเดียวของมหาสมุทรอินเดีย บนชายฝั่งอันงดงามของ Emboodhoo Lagoon! 

สำหรับปาร์ตี้ครั้งนี้ จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 15 มิถุนายน (เวลา 18.00 น. – 1.00 น.) โดยเนรมิตบรรยากาศของเกาะทางใต้ของไทยมาสู่มัลดีฟส์ ในปาร์ตี้ RED ZAA พร้อมกองทัพดีเจ โชว์ไฟ และเครื่องดื่มสูตรพิเศษ และในวันที่ 16 มิถุนายน (เวลา 13.00 น. – 1.00 น.) กับ “ปาร์ตี้โฟมแดง-ขาว” ให้สายปาร์ตี้ได้มันส์ตั้งแต่กลางวันยันกลางคืน 

อีกหนึ่งไฮไลท์ของงานคือไลน์อัพสุดพิเศษจาก “DJane” ดีเจหญิงแถวหน้าเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น DJane Plearnpleng, DJane Dollar, DJane Saipan, DJane Nicestyle และ DJane Foamberry เหล่าดีเจสาวสุดฮอตจะขนเอาเพลงแนวเฮ้าส์และเทคโนสุดมันส์มาสร้างความเร้าใจให้กับงานปาร์ตี้นี้ ผสานแสงไฟเลเซอร์สุดตระการตา แดนเซอร์ การแสดงโชว์ไฟ และอื่นๆ อีกมากมาย

นอกจากงานปาร์ตี้แล้ว “ครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์” (CROSSROADS Maldives) จุดหมายปลายทางไลฟ์สไตล์แห่งแรกและแห่งเดียวในมหาสมุทรอินเดีย ยังมอบการพักผ่อนที่เหนือระดับและครบวงจรให้ฟินขึ้นอีกสองเท่า โดยโครงการครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์ ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารงานของ เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) (S Hotels and Resorts PCL.: SHR) ผู้นำด้านการบริหารงานโรงแรมและรีสอร์ทระดับนานาชาติในเครือ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) (Singha Estate PCL.: S)

เปิดตัวครั้งแรกในปี 2019 และได้เปลี่ยนโฉมวงการท่องเที่ยวของมัลดีฟส์ ด้วยรีสอร์ทที่ได้รับรางวัลถึง 3 แห่ง ได้แก่ Hard Rock Hotel Maldives, SAii Lagoon Maldives, Curio Collection by Hilton และรีสอร์ทที่เพิ่งเปิดใหม่ล่าสุดอย่าง SO/ Maldives รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ได้แก่ The Marina @CROSSROADS ท่าจอดเรือยอชท์ถนนคนเดินไลฟ์สไตล์ที่นำเสนอความบันเทิง ร้านค้าบูติค ประสบการณ์ทางวัฒนธรรม ร้านอาหารและบาร์กว่า 20 ร้าน

รวมถึงแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง Ministry of Crab และ Hard Rock Cafe ซึ่งทำให้ ครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์ กลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักเดินทางและนักปาร์ตี้ ที่มองหาสถานที่แปลกใหม่ สำหรับการพักผ่อนสุดสัปดาห์ที่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งนี้ สร้างเวทีสำหรับการผจญภัยที่น่าจดจำ ด้วยทำเลที่ตั้งอันยอดเยี่ยมบนเกาะ South Malé Atoll ห่างจากสนามบินนานาชาติ Velana ของ Malé เพียง 15 นาทีโดยสปีดโบ๊ท 

สอดคล้องกับแนวคิดของ “SAii” (ทราย) แบรนด์ไลฟ์สไตล์ระดับพรีเมี่ยมจาก เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท โดยคอนเซปต์ของ SAii Beach Club (ทราย บีช คลับ) ได้ผสมผสานการพักผ่อนแบบ Eco-Chic เข้ากับความหรูหราที่เข้าถึงง่าย สร้างจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวสามารถผ่อนคลายในบรรยากาศที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยง และมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม คู่รักและแกงค์เพื่อนคนสนิทสามารถลิ้มรสอาหารนานาชาติจากร้านอาหารหลากหลาย อาทิ Mr. Tomyam และ Terra & Mar จิบเครื่องดื่มสูตรพิเศษที่ Singha Splash และดื่มด่ำกับขนมหวาน ที่ Gelato Bar 

มร. ไมเคิล มาร์แชลล์ (Mr. Michael Marshall) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท กล่าวว่า “เรารู้สึกตื่นเต้นที่จะต้อนรับแขกสู่ปาร์ตี้ริมสระว่ายน้ำบนเกาะสไตล์ไทยครั้งแรกของเราที่ ครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์ โดยความร่วมมือกับ สิงห์ โซดา งานนี้จะตอกย้ำว่า “มัลดีฟส์” ไม่ใช่แค่จุดหมายปลายทางสำหรับคู่รักและฮันนีมูนอีกต่อไป แต่เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวทุกสายทั่วโลกให้ได้มาพบปะ ปาร์ตี้ และแบ่งปันประสบการณ์อันน่าประทับใจร่วมกับ สำหรับปาร์ตี้สองวันนี้ จะผสมผสานความสนุกระดับโลก เข้ากับบรรยากาศเกาะทะเลใต้ของไทย ให้นักเดินทางได้ผ่อนคลายและปาร์ตี้กับคนที่รัก”  

สำหรับบัตรเข้างานปาร์ตี้ริมสระ “Thai Beats & Ocean Waves” เปิดจำหน่ายแล้วทาง Megatix ที่เดียวเท่านั้น! แพ็คเกจสุดพิเศษ: พัก 2 คืน สำหรับผู้ใหญ่ 2 ท่าน ที่โรงแรม SAii Lagoon Maldives, Curio Collection by Hilton บัตรเข้าร่วมงานปาร์ตี้ RED ZAA และปาร์ตี้โฟมแดง-ขาว พร้อมโต๊ะ VIP ทั้งสองงาน หรือ เลือกพัก 2 คืน สำหรับผู้ใหญ่ 2 ท่าน ที่ Hard Rock Hotel Maldives พร้อมแพ็คเกจเดียวกัน สำหรับผู้สนใจสามารถจองบัตรผ่านช่องทางออนไลน์ https://megatix.in.th/events/thai-beats-ocean-waves  ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์ ได้ที่ https://crossroadsmaldives.com/