The Empire Strikes Back เมื่อ Google เตรียมกลับมาทวงบัลลังก์เจ้าพ่อ Search ตัวจริงจาก Perplexity

หลายปีที่ผ่านมาต้องบอกว่า Google ดูเหมือนเป็นเจ้าพ่อ Search Engine ที่แทบไม่มีคู่แข่งหน้าไหนกล้าเข้ามาต่อกรได้เลยแม้กระทั่งยักษ์ใหญ่ทุนหนาอย่าง Microsoft ที่ส่ง Bing มาชิงส่วนแบ่งได้แบบกระจิ๊ดริด

Google สามารถสร้างเครื่องจักรทำเงินให้กับตัวเอง ด้วยธุรกิจโฆษณาออนไลน์ที่พวกเขาครอบครองตลาดแทบจะเบ็ดเสร็จ มีเงินให้ไปผลาญเล่นมากมายด้วยของเล่น ๆ ใหม่ อย่าง แว่นตาอัจฉริยะ (Google Glass) , ระบบขับขี่ยานยนต์แบบอัตโนมัติ และ อื่น ๆ อีกมากมาย

แต่กลายเป็นว่าหนึ่งในคู่ต่อสู้ที่มาแรงแซงทางโค้งที่สุดคงจะหนีไม่พ้นสตาร์ทอัพหน้าใหม่ ที่มาพร้อมกับความคิดใหม่ ๆ ในการ search อย่าง Perplexity

ในเวลาไม่ถึงสองปี Perplexity สร้างรายได้ปีละ 20 ล้านดอลลาร์ โดยมีพนักงานไม่ถึง 50 คนมีผู้ใช้งานหลายสิบล้านคน มูลค่ากิจการพุ่งพรวดไปเกิน 1 พันล้านดอลลาร์ได้อย่างรวดเร็ว แถมเหล่ากูรูผู้มีชื่อเสียงในแวดวงเทคโนโลยีหลายคนต่างชื่นชม

ความสำเร็จอย่างรวดเร็วของ Perplexity ทำให้ส่งผลไปยังผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง Aravind Srinivas ที่ดังเป็นพลุแตก ได้กลายเป็นแขกรับเชิญในรายการพอดแคสต์ วิทยากรในงานประชุม และใน twiiter มีผู้ติดตามพุ่งขึ้นเป็นกว่า 88,000 คน

Aravind Srinivas ผู้ร่วมก่อตั้ง Perplexity ที่ดังเป็นพลุแตก (CR:youtube)
Aravind Srinivas ผู้ร่วมก่อตั้ง Perplexity ที่ดังเป็นพลุแตก (CR:youtube)

ต้องเรียกได้ว่าด้วยประวัติการทำงานของ Srinivas ดูเหมือนจะเป็นคนที่ใช่ที่จะมาท้าบัลลังก์ Google เพราะเขาเคยเป็นนักวิจัยที่ OpenAI และนักวิจัยฝึกงานที่ Google รวมถึง Deepmind มาก่อน

แตกต่างจากผู้ก่อตั้งรายอื่น ๆ เพราะ Srinivas นั้นมีพื้นฐานทางด้านวิศวกรรมที่แข็งแกร่ง การที่จะโค่นล้มหนึ่งในบริษัทที่ยิ่งใหญ่ของโลกอย่าง Google มันต้องทำด้วยวิธีเดียวก็คือสร้างอัลกอริธึมที่ดีกว่า

Perplexity จะสามารถล้ม Google ได้หรือไม่?

ต้องบอกว่า Peplexity เองก็มีรูปแบบคล้าย ๆ กับแชทบอทตัวอื่น ๆ คือการตอบคำถามด้วยข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตที่สร้างขึ้นด้วยโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) เหมือนกับ Google

แต่สิ่งที่ทำให้ประสบการณ์การใช้งานของ Perplexity ดีกว่า Google :

  • ผู้ใช้ไม่ต้องคลิกลิงก์หลาย ๆ ลิงก์ให้วุ่นวายเมื่อเปรียบเทียบกับการค้นหาจาก Google การสร้างคำตอบโดยตรงผู้ใช้งานจึงได้รับคำตอบที่น่าพอใจได้อย่างรวดเร็วขึ้น และมีแหล่งที่มาของข้อมูลที่สามารถตรวจสอบได้
  • ส่วนของ UX/UI นั้นอยู่ในแพลตฟอร์มเดียว เนื่องจากทุกอย่างเกิดขึ้นบน Perplexity เองผู้ใช้จึงไม่ต้องไปยังเว็บไซต์อื่น ๆ หรือต้องปิดป็อปอัพที่น่ารำคาญ หรือ รูปแบบหน้าเว็บที่อ่านยาก ๆ

แต่คำถามก็คือแล้ว Perplexity มันดีกว่า Google จริงหรือ? ซึ่งการค้นหาหลาย ๆ อย่างของมนุษย์เรา บางครั้งต้องการข้อมูลเกี่ยวกับวิธีในการทำบางอย่าง เรียนรู้เรื่องบางอย่าง และความตั้งใจของผู้ใช้คือบริโภคเนื้อหาเน้น ๆ แน่นอนว่ากรณีแบบนี้ Perplexity ทำได้ดีกว่าผลการค้นหาของ Google

UX/UI ของ Perplexity ที่โดนใจผู้ใช้งาน (CR:nevillehobson)
UX/UI ของ Perplexity ที่โดนใจผู้ใช้งาน (CR:nevillehobson)

แต่อย่างไรก็ตามก็มีผู้ใช้บางส่วนที่มองว่าการค้นหาแบบ Google จะมีประโยชน์มากกว่า เช่นการมองหาหน้าเว็บไซต์แบบเฉพาะ หรือต้องการผลลัพธ์หลายๆ อย่าง ซึ่ง Google อาจจะตอบโจทย์กว่า

ซึ่งถ้าการเอาชนะ Google ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์เพียงอย่างเดียว เราคงได้เห็นบริษัทต่าง ๆ เข้ามาท้าชิงบัลลังก์ของ Google มาก่อนหน้านี้แล้ว การจะเอาชนะ Google ต้องทำมากกว่าสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดี จำเป็นต้องมีกลยุทธ์ระยะยาวและวิธีการที่จะทำให้มันยั่งยืน

ปัญหาของ Perplexity คือการต้องยืมมือคนอื่น?

Perplexity ที่เราได้เห็นนั้นเป็นเพียงหน้าจอ UX/UI ที่ดูสวยหรู ตอบโจทย์ผู้คนที่ใช้งาน แต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังเพื่อสร้างผลการค้นหานั้นพวกเขาต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจอยู่ในลักษณะของ Wrapper ไม่ว่าจะเป็น API ของ OpenAI , API Claude ของ Anthropic , การจัดอันดับผลการค้นหาของ Google และการจัดอันดับผลการค้นหาของ Bing

มันคล้าย ๆ กับหลากหลายเรื่องราวเทคโนโลยีก่อนหน้านี้ ทั้ง Facebook ที่มีปัญหากับ Google หรือ Epic Games ที่มีปัญหากับ Apple เพราะพวกเขาเหล่านี้ต้องพึ่งพา ecosystem ของบริษัทอื่นในการหายใจ

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าอยู่ดี ๆ OpenAI ไม่ให้สิทธิ์การเข้าถึง API กับ Perplexity เพื่อสร้างบริการของพวกเขาเอง ซึ่งเรื่องนี้อาจดูเว่อร์ แต่ลองดูสิ่งที่ Apple ทำกับ Facebook ด้วย App Tracking Tranparency สิ มันเกิดขึ้นแล้วและ Facebook ต้องปวดหัวเป็นอย่างมากในการดึงเอาข้อมูลพฤติกรรมจากผู้ใช้ iPhone

และที่สำคัญโครงสร้างเรื่องต้นทุน Perplexity นั้นก็ยังเป็นรองคู่แข่งอย่างเห็นได้ชัด เพราะพวกเขายังต้องจ่ายค่าโทเคนให้กับการใช้ API ของบริการอื่น ๆ อยู่

ในขณะที่ Perplexity ระดมทุนได้ 165 ล้านดอลลาร์ แต่เมื่อเทียบกับ 7.3 พันล้านดอลลาร์ของ Anthropic และมากกว่า 11 พันล้านดอลลาร์ของ OpenAI เรียกได้ว่าห่างกันมากโข

และเมื่อการค้นหาด้วย AI มีต้นทุนสูงกว่าประมาณ 10 เท่าของการค้นหาแบบดั้งเดิมที่ Google ทำ ต้นทุนจึงกลายเป็นประเด็นที่น่ากังวลสำหรับ Perplexity เป็นอย่างมาก

The Empire Strikes Back

เรียกได้ว่า AI ถือเป็น Code Red สำหรับ Google ทำให้พวกเขาได้เร่งปล่อยโมเดลของตัวเองอย่าง Gemini และเริ่มเพิ่มคุณสมบัติ AI ในผลิตภัณฑ์หลายตัวของพวกเขา

สิ่งที่ Perplexity เคยทำนั้น มันไม่ได้เป็นเรื่องยากเลยที่ Google จะเลียนแบบเพราะมันเป็นส่วนของ UX/UI ที่ Google พร้อมที่จะปรับตัวอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้วตามพฤติกรรมของผู้ใช้งานที่เปลี่ยนไป

ในงาน Google IO 2024 ภาพมันชัดเจนมาก สิ่งที่ Perplexity ทำเหมือนกำลังจะสูญเปล่า มันเหมือนเป็นสนามทดลองสำหรับผู้ใช้ว่าชอบสิ่งใด และ Google ก็ทำตามสิ่งนั้นได้แบบชิลล์ ๆ

AI overviews ของ Google ที่เลียนแบบมาจาก Perplexity โดยตรง (CR:engadget)
AI overviews ของ Google ที่เลียนแบบมาจาก Perplexity โดยตรง (CR:engadget)

แม้ตอนนี้อาจจะยังมีความสามารถไม่เท่า Perplexity เลยซะทีเดียว เนื่องจากยังขาดความสามารถในการถามคำถามแบบต่อเนื่องและผลลัพธ์ของมันยังไม่ละเอียดเท่า Perplexity แต่ปัญหาเหล่านี้ดูเหมือนเป็นเรื่องกระจอกมาก ๆ สำหรับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีทรัพยากรอันเหลือล้นอย่าง Google

ยังไง Google ก็สามารถที่จะกลับมาเอาชนะ Perplexity ได้แบบง่ายดาย พวกเขามีต้นทุนที่ต่ำกว่าด้วยโมเดลของตัวเอง เครื่องจักรทำเงินอันมหาศาลจากธุรกิจ Search ที่ให้พวกเขาได้เผาผลาญเงินได้อีกมากมาย แถมยังมีผลิตภัณฑ์ทำเงินอื่น ๆ ที่ทำให้ Google มีเงินสดจำนวนมหาศาล

บทสรุป

แน่นอนว่าในระยะยาวแล้วมองดูยังไง Google ก็ยังคงครองความเป็นผู้นำในตลาด Search อยู่ แต่บริการอาจจะเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมของผู้ใช้งานที่เปลี่ยนแปลงไป

การแข่งขันและความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีจะส่งผลดีกับผู้บริโภคในระยะยาว เนื่องจากจะนำไปสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี ความท้าทายที่บริษัทเหล่านี้ต้องเผชิญก็คือ การสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นจากผู้ใช้งาน รวมถึงการจัดการเรื่องประเด็นในเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยี AI ที่พัฒนารวดเร็วอย่างกับจรวดในตอนนี้

นอกจากนี้ การปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมและความคาดหวังของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน บริษัทที่สามารถเข้าใจความต้องการของผู้ใช้และตอบสนองได้อย่างรวดเร็วที่สุดจะเป็นผู้ชนะในระยะยาว

แม้ว่า Google จะยังเป็นผู้นำตลาดในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้นี้ แต่การมาถึงของผู้ท้าชิงรายใหม่อย่าง Perplexity และนวัตกรรมอื่น ๆ กำลังทำให้ภูมิทัศน์ของการค้นหาข้อมูลและ AI กำลังเปลี่ยนแปลงไป เราคงต้องติดตามดูพัฒนาการของสนามรบแดงเดือดนี้ต่อไปว่าใครจะเป็นผู้ครองบัลลังก์ได้ในท้ายที่สุด ซึ่งคงจะไม่ต่างจากธุรกิจ Search Engine เดิมที่ผู้ชนะจะเป็นผู้ครอบครองทุกอย่าง (Winner Take All) ไปได้นั่นเองครับผม

References :
https://ca.news.yahoo.com/perplexity-ai-google-finally-met-100922325.html
https://www.theverge.com/2024/5/14/24155321/google-search-ai-results-page-gemini-overview
https://www.quora.com/Why-is-Perplexity-AI-so-hyped-up-in-the-AI-community-and-what-does-it-offer-over-Copilot-Pro-Gemini-Advanced
https://www.fastcompany.com/91125423/perplexity-ceo-aravind-srinivas-most-innovative-companies-gala-2024
https://analyticsindiamag.com/bad-times-for-perplexity-ai-begins/
https://theweek.com/tech/perplexity-ai-has-google-finally-met-its-match

ฟิลิปส์ เปิดตัว Philips Zenition 10 เสริมทัพพอร์ทโฟลิโอ Image Guided Therapy ของฟิลิปส์

รอยัล ฟิลิปส์ (NYSE: PHG, AEX: PHIA) ผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพระดับโลก เปิดตัว Philips Zenition 10 (ฟิลิปส์ เซนนิชั่น เท็น) เสริมทัพพอร์ทโฟลิโอในกลุ่มผลิตภัณฑ์ Philips Image Guided Therapy ด้วยเครื่อง Mobile C-arm System 1000 รุ่นล่าสุด ที่เน้นเรื่องความคุ้มค่า คุณภาพสูง และตอบโจทย์ทางการแพทย์ด้านศัลยกรรม ในงานประชุมวิชาการราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย

Philips Zenition 10 เป็นเครื่องเอกซเรย์ฟลูโอโรสโคปเคลื่อนที่แบบซีอาร์มรุ่นล่าสุดในตระกูล Zenition Mobile C-Arm (เซนนิชั่น โมบายล์ ซีอาร์ม) มาพร้อมชุดรับสัญญาณภาพแบบดิจิตอลชนิดแบนราบ เทคโนโลยีเฉพาะของฟิลิปส์ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาทั้งแบบศัลยกรรมผ่าตัดทั่วไปและการศัลยกรรมผ่าตัดผ่านกล้องได้มากขึ้น นอกจากนี้ Philips Zenition 10 ยังมาพร้อมราคาที่คุ้มค่า ช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้จำนวนมากขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายลดลง เพื่อผลลัพธ์ในการดูแลรักษาที่ดีขึ้น 

Philips Zenition 10 สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างสะดวก มีระบบไฟที่สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องแม้จะเคลื่อนย้ายจากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่ง โดยไม่ต้องรีบูทเครื่องใหม่ ซีอาร์มของ Philips Zenition 10 ออกแบบมาให้มีระยะความลึกที่มากขึ้น ทำให้สามารถเคลื่อนที่เข้าหาผู้ป่วย เพื่อทำหัตถการบริเวณอวัยวะที่ต้องการได้สะดวกมากขึ้น และมีเทคโนโลยี Philips BodySmart ซึ่งสามารถกำหนดการปล่อยรังสีในปริมาณที่เหมาะสม และโหมดการทำงานรังสีต่ำ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเด็ก

ด้วยโปรแกรมการสร้างโปรโตคอลจำเฉพาะต่ออวัยวะที่ต้องการทำหัตถการใน Phiilips Zenition 10 ทำให้ได้ภาพคมชัดอย่างต่อเนื่อง และยังสามารถสร้างหรือกำหนดโปรไฟล์ในการบันทึกของแพทย์หรือผู้ใช้งานแต่ละท่าน ซึ่งโปรไฟล์ที่ตั้งค่าและบันทึกไว้จะถูกเรียกขึ้นมาอัตโนมัติเมื่อผู้ใช้ท่านนั้นล็อกอินเข้าใช้งาน Philips Zenition 10

นอกจากโซลูชั่นสำหรับศัลยกรรมผ่าตัดทั่วไปแล้ว ยังสามารถรองรับด้านศัลยกรรมกระดูก ศัลยกรรมแผลบาดเจ็บ และศัลยกรรมด้านอื่นๆ มาพร้อมฟังก์ชั่นการใช้งานที่ง่าย ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเรียนรู้การใช้เครื่องได้อย่างรวดเร็ว และลดเวลาในการฝึกอบรมได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์กุลพัชร จุลสำลี ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “ปัจจุบันจำนวนแพทย์ออร์โธปิดิกส์ในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 2,900 คน โดยในแต่ละปีจะมีบันฑิตแพทย์ที่เรียนจบเฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ ประมาณ 145 คน ซึ่งครึ่งหนึ่งของแพทย์เหล่านี้จะประจำอยู่ในพื้นที่ภายในกรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนที่เหลือจะกระจายอยู่ในแต่ละภาคส่วนของประเทศไทย ส่วนใหญ่จะประจำอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด

แต่ในระดับเขตอำเภอยังถือว่าขาดแคลนแพทย์ออร์โธปิดิกส์อยู่ เมื่อมีผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาเฉพาะทางด้านนี้จึงมักถูกส่งตัวเข้ามาที่โรงพยาบาลส่วนกลาง ส่งผลให้แพทย์มีภาระงานเพิ่มขึ้นได้ สำหรับ Workload ของแพทย์ออร์โธปิดิกส์ที่ทำงานในโรงพยาบาลรัฐ โดยเฉลี่ยในการตรวจผู้ป่วยนอก (Out-Patient Department: OPD) จะมีการตรวจอยู่ที่ประมาณ 40-50 รายต่อวัน และอาจสูงถึง 60-80 รายต่อวันได้สำหรับแพทย์ในโรงพยาบาลต่างจังหวัด ปัญหาเรื่องของภาระงานที่เกินกำลังของแพทย์นี้ถือว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในปัจจุบัน”

“ในส่วนของกลุ่มโรคที่ผู้ป่วยจะถูกส่งตัวเข้ามารับการรักษากับแพทย์ออร์โธปิดิกส์จะมีอยู่ 2 กลุ่มคือ 1. กลุ่มความเสื่อมของกระดูกและข้อต่อที่เกิดจากอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะเพศหญิงที่จะมีปริมาณฮอร์โมนลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งฮอร์โมนคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อมวลกระดูก และ 2. คือกลุ่มที่เกิดจากอุบัติเหตุซึ่งมีผู้ป่วยหลากหลายวัยและไม่สามารถประมาณการณ์ได้

และเนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวแล้ว จึงคาดการณ์ได้ว่าจำนวนผู้ป่วยที่มีปัจจัยมาจากความเสื่อมของร่างกายอาจมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคตเช่นกัน การส่งเสริมความรู้เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงการดูแลสุขภาพเพื่อช่วยชะลอภาวะเสื่อมจึงเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญของแพทย์ออร์โธปิดิกส์เช่นเดียวกัน นอกจากนี้การมีเครื่องมือแพทย์ที่มีเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การทำงานก็จะยิ่งช่วยเสริมให้แพทย์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

“เพราะหลักการของการผ่าตัดของแพทย์ออร์โธปิดิกส์ คือการจัดแนวกระดูกที่ผิดรูปไปให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เทคโนโลยีที่สำคัญคือเอกซเรย์ที่มีประสิทธิภาพ ภาพถ่ายรังสีควรมีความชัดเจน สามารถถ่ายภาพผู้ป่วยได้จากหลากหลายมุมเพื่อเข้าถึงอวัยวะต่างๆ

เพื่อช่วยให้แพทย์ประเมินการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำและลดความผิดพลาด ผู้ป่วยเองก็จะได้ประโยชน์จากจุดนี้ด้วย อีกทั้งการใช้งานเครื่องควรมีความง่ายไม่ซับซ้อน กล่าวได้ว่าเทคโนโลยีการถ่ายภาพรังสีที่มีประสิทธิภาพ คือหัวใจสำคัญของการทำงานสำหรับแพทย์ออร์โธปิดิกส์อย่างแท้จริง” ผศ.นพ.กุลพัชร กล่าวทิ้งท้าย

Philips Zenition 10 คือเทคโนโลยีในกลุ่ม Image Guided Therapy (IGT) ล่าสุดของฟิลิปส์ที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในห้องผ่าตัด และปรับปรุงผลลัพธ์ด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ดีขึ้น เพราะภาพถ่ายรังสีคือหัวใจสำคัญของแพทย์ที่ใช้เป็นข้อมูลในการประเมินอาการและวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น