4 Kings China (AI) สี่จตุรเทพดาวรุ่งจากจีนสู่การสานฝันเบอร์หนึ่ง AI โลกภายในปี 2030

เรามักจะเห็นข่าวเรื่อง AI ส่วนใหญ่จากทางฝั่งโลกตะวันตกเพียงเท่านั้น แต่ต้องไม่ลืมว่าเทคโนโลยีระดับบนเฉกเช่น AI นั้น พี่จีนเขาก็มีความแข็งแกร่งไม่แพ้กัน

สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน สตาร์ทอัพด้าน Generative AI ชั้นนำของจีนได้รับการประเมินมูลค่าสูงระดับ 1.2 – 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

พวกเขามีสรรพกำลังด้านนี้ไม่แพ้ทางฝั่ง Silicon Valley แต่อย่างใด ซึ่งเราคงไม่แปลกใจว่าหัวหน้าทีม AI ระดับแนวหน้าของบริษัท Big Tech จาก Silicon Valley นั้นก็มาจากกลุ่มคนหน้าตี๋เหล่านี้จำนวนมากที่พร้อมจะกลับประเทศเพื่อไปสานฝันวิสัยทัศน์เพื่อครองความยิ่งใหญ่ในเทคโนโลยี AI ภายในปี 2030

มียูนิคอร์นรายใหม่ที่เกิดขึ้น ได้แก่ Zhipu AI , Moonshot AI , MiniMax และ 01.ai ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากนักลงทุนในประเทศจีน และกำลังแข่งขันกันคว้าตัวบุคลากรที่มีพรสวรรค์ระดับเทพเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี AI ใหม่ให้ทัดเทียมโลกตะวันตก

คู่แข่งจากสหรัฐฯ มีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีและการระดมทุนโดยรวมสูงกว่าฝั่งจีน แต่เนื่องจาก ChatGPT และบริการแชทบอทยอดนิยมอื่น ๆ ไม่สามารถใช้งานได้ในจีน ทำให้ในประเทศจีนเองมีบริษัทเทคโนโลยีกว่า 262 แห่งพยายามนำเสนอทางเลือกในประเทศ

ซึ่งโดยรวมแล้วสตาร์ทอัพด้าน Generative AI ของจีนมีการระดมทุนรวมราว ๆ 14.3 พันล้านหยวน (2 พันล้านดอลลาร์) ในช่วงสี่เดือนแรกของปีนี้

ทางการปักกิ่งเองก็ได้อนุมัติการใช้งานในรูปแบบสาธารณะสำหรับโมเดลภาษาขนาดใหญ่และแอปพลิเคชันด้าน AI ที่เกี่ยวข้องกว่า 40 รายการ พร้อมสร้างกฎระเบียบที่สนับสนุนการเติบโตในภาคส่วนนี้ผ่านการลดหย่อนภาษีและเงินอุดหนุน

Zhipu กลายเป็นสตาร์ทอัพด้าน AI ที่ใหญ่ที่สุดในจีนในแง่ของจำนวนพนักงาน บริษัทที่ได้ทำการแยกออกมาจากมหาวิทยาลัยซิงหัวชั้นนำของปักกิ่ง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตบุคคลากรด้าน AI ที่สำคัญที่สุด มีพนักงานมากกว่า 800 คน และมีมูลค่ากิจการ 18 พันล้านหยวน (2.5 พันล้านดอลลาร์) จากการะดมทุนรอบล่าสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

Moonshot ที่ก่อตั้งโดย หยางจี้หลิน อดีตนักศึกษาผู้ก่อตั้ง Zhipu ได้รับการประเมินมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ ในรอบการระดมทุนครั้งล่าสุดที่ประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ หยาง เคยฝึกงานที่ Google Brain AI และ Meta AI และก่อตั้งสตาร์ทอัพชื่อ Recurrent AI เพื่อใช้ในการวิเคราะห์การโทรของพนักงานขาย

หยางจี้หลิน ผู้ก่อตั้ง Moonshot ai (CR:panda daily)
หยางจี้หลิน ผู้ก่อตั้ง Moonshot ai (CR:panda daily)

Moonshot , Zhipu และ 01.ai ได้พัฒนาแชทบอทสำหรับพนักงานออฟฟิศและนักศึกษา มีความสามารถคล้าย ๆ ChatGPT แต่เชี่ยวชาญในเรื่องภาษาจีนมากกว่า

แชทบอท Kimi ของ Moonshot ได้กลายเป็นคู่แข่งสำคัญที่สุดของ Ernie Bot ผลิตภัณฑ์แชทบอทของยักษ์ใหญ่ด้านการค้นหาอย่าง Baidu

Kimi มีผู้ใช้งาน 12.6 ล้านครั้งในเดือนมีนาคม เทียบกับ 14.9 ล้านครั้งของคู่แข่งรายเก่าแก่อย่าง Ernie Bot แต่ต้องบอกว่า Kimi มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่ามาก

“Kimi สร้างผลงานที่ดีผ่านเทคนิคที่เรียกว่า RAG” แหล่งข่าวในวงการกล่าว โดยหมายถึงเทคนิค retrieval-argumented generation ที่ช่วยให้โมเดลสามารถนำข้อมูลจากแหล่งภายนอกมาประมวลผลเพื่อตอบคำถามของผู้ใช้ด้วยข้อมูลที่อัพเดทกว่า

แต่ Kimi เองก็กลายเป็นเหยื่อของความนิยม เมื่อต้องเผชิญกับปริมาณความต้องการใช้งานที่สูงเกินกว่าจะรองรับได้ เนื่องจากเหล่าผู้ใช้งานชาวจีนต่างแห่กันมาใช้งานแชทบอทที่ใช้งานง่ายเหล่านี้ในจำนวนมากขึ้นอย่างมหาศาล

ผู้เชี่ยวชาญในวงการต่างชื่นชมความสามารถของ Kimi ในด้านเครื่องมือที่ใช้ในการสรุปเนื้อหาและการให้คำตอบเจาะจงในบริบทที่ถูกต้องและชัดเจนกว่าคู่แข่งรายอื่น ๆ

การทะลักเข้ามาใช้งานของผู้ใช้ชาวจีน ทำให้ Kimi Bot ต้องหยุดให้บริการเป็นเวลา 2 วันในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้บริษัทต้องออกมาขอโทษผ่านสื่อกันเลยทีเดียว

เนื่องจากต้องเผชิญกับข้อจำกัดเรื่องทรัพยากรคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะชิปที่กำลังขาดแคลน หลาย ๆ สตาร์ทอัพจากจีนจึงเลือกที่จะเปิดตัวแชทบอทในรูปแบบอวาตาร์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีความสามารถในการตอบคำถามสูงเท่ากับแชทบอทอื่น ๆ โดยแชทบอทประเภทนี้ได้รับการฝึกฝนจากข้อมูลจำนวนน้อยกว่า จึงใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์น้อยกว่า

“การลอกเลียนแบบ ChatGPT ทำได้ยาก การสร้างแชทบอทอวาตาร์ทำได้ง่ายกว่าเพียงใช้โมเดลโอเพนซอร์ส และทรัพยากรคอมพิวเตอร์ที่น้อยกว่ามาก” นักวิจัยด้าน AI คนหนึ่งในจีนกล่าว

ทั้ง Zhipu และ MiniMax ต่างมีแชทบอทอวาตาร์ โดยมุ่งเป้าไปที่ตลาดเกมที่ใหญ่ที่สุดในโลกผ่านตัวละครแนวอนิเมะ โดย MiniMax ซึ่งตั้งอยู่ในเซี่ยงไฮ้มีมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์จากการระดมทุน 600 ล้านดอลลาร์รอบล่าสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

01.ai ซึ่งก่อตั้งโดย ไค-ฟู ลี บุคคลที่เรียกได้ว่ามีความสำคัญต่อเทคโนโลยี AI ในจีนเป็นอย่างมาก (ผู้เขียนหนังสือชื่อดังอย่าง AI Super-Powers) ได้เปิดตัวชุดโมเดลโอเพนซอร์สชื่อ Yi โดยมีการปรับให้เหมาะสมกับจีนโดยสร้างบนสถาปัตยกรรม Llama ของ Meta ที่เปิดให้ปรับแต่งได้ฟรี

Hugging Face ซึ่งเป็นบริษัทที่ติดตามโมเดลโอเพนซอร์ส ได้จัดอันดับหลายรุ่นของ Yi ให้อยู่ในระดับสูงในความสามารถด้านการตอบคำถามทั่วไป คณิตศาสตร์ การเขียนโปรแกรม และการอ่าน 01.ai ยังเปิดตัวแชทบอทในการสร้างภาพที่ชื่อ Wanzhi อีกด้วย

ไค-ฟู ลี บุคคลที่เรียกได้ว่ามีความสำคัญต่อเทคโนโลยี AI ในจีนเป็นอย่างมาก (CR:KAUST)
ไค-ฟู ลี บุคคลที่เรียกได้ว่ามีความสำคัญต่อเทคโนโลยี AI ในจีนเป็นอย่างมาก (CR:KAUST)

โดย 01.ai เพิ่งมีการประเมินมูลค่าสูงถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์ จากการระดมทุนรอบล่าสุด และได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเวนเจอร์แคปปิตอลของ ไค-ฟู ลี เอง อย่าง Sinovation Ventures รวมถึงอีกหลายกองทุน เช่น Shunwei Capital , Xiaomi และ Alibaba Cloud

เนื่องจากยังไม่มีผู้นำตลาดที่ชัดเจนในจีน ทำให้ลูกค้ายังตัดสินใจได้ยากว่าจะเลือกโมเดลใดให้เหมาะสมกับตนเอง

เจฟฟรีย์ ดิง ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ของจีนและรองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตันกล่าวว่า “มันยากมากที่จะแยกความแตกต่างระหว่างแอปพลิเคชันที่คล้ายคลึงกัน คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าบริษัทไหนจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับสถานการณ์เฉพาะของคุณ”

สิ่งที่น่าสนใจคือทั้งสี่บริษัทมีผู้สนับสนุนร่วมกันนั่นก็คือ Alibaba ซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นผู้สนับสนุนหลักของสตาร์ทอัพด้าน AI ซึ่งเป็นการดำเนินกลยุทธ์ที่คล้ายกับ Microsoft ที่เดิมพันครั้งใหญ่กับเทคโนโลยีนี้เช่นเดียวกัน

นอกเหนือจากเรื่องเงินทุนก็คงเป็นเรื่องทรัพยากรบุคคลรวมถึงเครื่องไม้เครื่องมือในการประมวลผลเทคโนโลยี AI ขั้นสูงเหล่านี้ที่เริ่มมีอยู่อย่างจำกัดจากการแบนของสหรัฐฯ

ตอนนี้บริษัทจากจีนส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ที่ต้องการกำลังที่ใช้ในการประมวลผลน้อยลง เนื่องจากต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับข้อจำกัดจากสหรัฐฯ

ทรัพยากรทางด้านคอมพิวเตอร์ที่จำกัดนี่เองที่ทำให้สตาร์ทอัพด้าน AI หลาย ๆ รายของจีนเลือกที่จะพึ่งพาโมเดลโอเพนซอร์สอย่าง Llama ของ Meta ในการสร้างโมเดลและแอปพลิเคชันของตนเองแทนที่จะต้องใช้ทรัพยากรด้านการประมวลผลขั้นสูงในการสร้างโมเดลขึ้นมาเองโดยเริ่มต้นจากศูนย์

ปัจจัยที่จีนได้เปรียบบริษัทจาก Silicon Valley ก็คือเรื่องของค่าจ้างพนักงานที่ต่ำกว่าซึ่งช่วยลดต้นทุนให้กับพวกเขา บัณฑิตจบใหม่ปริญญาเอกสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยในจีนมีค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 80,000 – 240,000 ดอลลาร์ต่อปีซึ่งต่ำกว่าใน Silicon Valley ประมาณ 4 เท่า

“เรากำลังเติบโตอย่างรวดเร็วมาก” พนักงานคนหนึ่งจากสตาร์อัพด้าน AI ในจีนกล่าว โดยชี้ว่าทีมงานด้านผลิตภัณฑ์และการขายที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ช่วยให้บริษัทสามารถหาโมเดลทำเงินของตน และแสวงหาลูกค้ารายใหม่ได้

แต่ดังที่นักลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูงคนหนึ่งในจีนได้กล่าวไว้ว่า “บริษัทจีนอาจไม่เก่งด้านเทคโนโลยีพื้นฐาน แต่พวกเขาถนัดเป็นอย่างมากในการจับกระแสของอุตสาหกรรม เลียนแบบสิ่งที่ดีอยู่แล้ว และนำเอาจุดเด่นในเรื่องบุคลลากรด้านวิศวกรรมทำย้อนรอยสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ”

บทสรุป

ความน่าสนใจก็คือจีนทำงานกันเป็นทีมทั้งนักลงทุนผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่พวกเขามองว่าสามารถเขย่าโลกได้อย่างแท้จริง

เรียกได้ว่าตอนนี้จีนกำลังเพิ่มการลงทุนด้าน AI ในระดับครั้งประวัติศาสตร์ เงินสำหรับสตาร์ทอัพด้าน AI หลั่งไหลเข้ามาจากผู้ร่วมทุน ผู้นำด้านเทคโนโลยีและรัฐบาลจีนอย่างสมัครสมานสามัคคี

ทรัพยากรด้านบุคคลากรในสาขานี้พวกเขาก็ไม่เป็นสองรองใคร AI ได้กลายเป็นสาขายอดนิยมอันดับต้น ๆ ของเหล่านักเรียนนักศึกษาชาวจีน บริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ยุคก่อนหน้าตัวอย่างเช่น Alibaba ก็เร่งผลักดันปรับเปลี่ยนโฉมบริษัทใหม่ เพื่อรับมือกับคลื่น AI

และที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นรัฐบาลจีนเองที่ออกแผนที่มีความทะเยอทะยานเพื่อสร้างความสามารถด้านเทคโนโลยี AI เรียกร้องให้มีการระดมทุนสนับสนุนนโยบายเพื่อพัฒนา AI มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานที่ชัดเจนสำหรับความก้าวหน้าภายในปี 2025 และคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 จีนจะกลายเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรมระดับโลกด้าน AI ได้ในท้ายที่สุด

References :
https://www.ft.com/content/4e6676c8-eaf9-4d4a-a3dc-71a09b220bf8
หนังสือ Ai Superpowers: China, Silicon Valley, and the New World Order โดย Kai-Fu Lee
https://www.linkedin.com/pulse/china-leading-world-artificial-intelligence-by2030-sheldon-chin/