ภัยคุกคามประชาธิปไตย กับการเพิ่มขึ้นแบบอัตราเร่งจากข้อมูลบิดเบือนที่ขับเคลื่อนด้วย AI

เอาจริง ๆ มันไม่ใช่เพิ่งเริ่มต้น แต่มันได้ถูกใช้งานเป็นเครื่องมือมานานแล้วนะครับสำหรับเรื่องของข้อมูลบิดเบือนที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI กับการเลือกตั้ง

สองวันก่อนการเลือกตั้งในประเทศสโลวาเกียในเดือนกันยายนปี 2023 คลิปเสียงลึกลับได้แพร่สะพัดไปทั่วโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งในคลิปเสียงดังกล่าวนั้น เห็นได้ชัดเจนว่า Michal Šimečka ผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่ายค้านเสรีนิยมกำลังวางแผนชั่วร้ายกับนักข่าวเพื่อซื้อคะแนนเสียงและโกงผลการเลือกตั้ง

แต่กลายเป็นว่าคลิปเสียงดังกล่าวมันกลับกลายเป็นของปลอม ซึ่งเป็นการสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนโดยใช้ AI

แต่อย่างไรก็ดี ผู้ลงคะแนนเสียงหลักพันคนได้ทำการแชร์คลิปดังกล่าวว่อนไปทั่วทั้งอินเทอร์เน็ต

Šimečka ซึ่งติดอันดับหนึ่งจากผลเอ็กซิตโพล ได้ออกมาประณามคลิปเสียงดังกล่าว และทางตำรวจสโลวาเกียเองก็ได้ออกคำเตือนไปยังผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ระมัดระวังในเรื่องคลิปปลอมเหล่านี้

อย่างไรก็ดีคลิปดังกล่าวได้ทำให้ผลการเลือกตั้งแปรเปลี่ยน กลายเป็นว่า Šimečka พ่ายแพ้ให้กับ Robert Fico คู่แข่งที่สนับสนุนรัสเซีย

มันน่าสนใจนะครับ รัสเซียเข้ามาเกี่ยวข้องอีกแล้ว และภาพจำเก่า ๆ ของเราก็อาจกลับคืนมากับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 ที่ Donald Trump เอาชนะ Clinton ไปได้อย่างเหลือเชื่อ

เรื่องดังกล่าวได้รับการพิสูจน์จากหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ แล้วว่ารัสเซียมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องราวดังกล่าวจริง โดยเฉพาะการบิดเบือนข้อมูลต่าง ๆ ก่อนการเลือกตั้ง

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ตรวจสอบพบหลักฐานของการสร้างแคมเปญออนไลน์ของรัสเซียเพื่อโน้มน้าวการลงคะแนนเสียง โดยมีการสร้างฟาร์มโทรลล์ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก หรือที่เรียกว่า Internet Research Agency (IRA)

เจ้าหน้าที่ IRA ได้สร้างกลุ่มบัญชีและเพจปลอมและซื้อโฆษณาเป็นเงินรูเบิล โจมตีพรรคเดโมแครตของ Hillary Clinton โดยปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องต่าง ๆ เช่น เรื่องเชื้อชาติ การย้ายถิ่นฐาน หรือ สิทธิในการครอบครองปืน

มันเป็นสงครามด้านข้อมูลและความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียแทบจะทุกแพลตฟอร์มในขณะนี้

โดยมีการคาดการณ์ว่าผู้คนราว 2 พันล้านคนหรือประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรวัยผู้ใหญ่ของโลก จะเข้าสู่การเลือกตั้งในปี 2024 ซึ่งรวมถึงในสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อินเดีย และสหราชอาณาจักร

ซึ่งก็ต้องบอกว่าข้อมูลบิดเบือนทางออนไลน์เหล่านี้เป็นปัจจัยชี้ขาดสำคัญสำหรับการเลือกตั้งมาหลายปีแล้ว แม้กระทั่งในประเทศไทยเราเองจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา สงครามข้อมูลบิดเบือนเรียกได้ว่าถล่มกันแบบเลือดสาดเลยทีเดียว

แต่เมื่อปีที่ผ่านมาหลังจากเทคโนโลยี Generative AI ก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทำให้เกิดเครื่องมืออันทรงพลังใหม่ ๆ เช่น ChatGPT ของ OpenAI , Midjourney หรือโปรแกรมสร้างข้อความ เสียง และวีดีโออื่น ๆ ที่เรียกได้ว่าปลอมกันได้แนบเนียนมากยิ่งขึ้น

การทดสอบครั้งสำคัญของเทคโนโลยีนี้ครั้งแรกคือความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาส และรัสเซีย-ยูเครน ที่เราได้เห็นคลิปปลอมถูกแชร์กันว่อนไปหมด และสร้างความเข้าใจผิด ๆ ให้กับเรื่องราวสงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาสไปมาก

ซึ่งในตอนนี้เครื่องมือเหล่านี้เรียกได้ว่าเหมือนมีเวทย์มนต์ที่สามารถเสกผลการเลือกตั้งได้เลยทีเดียว

แต่ก่อนเราอาจจะไม่ไว้วางใจหน่วยงานที่จัดการเลือกตั้งที่มักมีกลิ่นตุ ๆ อยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่เทคโนโลยีใหม่เป็นการเพิ่มความไม่ไว้วางใจของเหล่าสาธารณชนต่อรัฐบาล สถาบันหลักของชาติ หรือแม้กระทั่งระบอบประชาธิปไตย

ภายในปี 2020 แคมเปญบิดเบือนข้อมูลบนโซเชียลมีเดียถูกดำเนินการมากกว่า 80 ประเทศ เริ่มมีการใช้เทคนิคขั้นสูงอย่าง Deepfaking โดยเฉพาะการเรนเดอร์ใบหน้าปลอมในรูปแบบดิจิทัล

การถือกำเนิดขึ้นของ Generative AI ทำให้สามารถผสมผสานข้อความ รูปภาพ เสียง และวีดีโอ มันทำให้เปลี่ยนศักยภาพของ Deepfakes ไปอย่างสิ้นเชิง และทุกคนสามารถใช้งานเครื่องมือดังกล่าวได้อย่างง่ายดาย

มีงานวิจัยที่ออกมาว่าความซับซ้อนของเทคโนโลยี Deefakes เหล่านี้ ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจในทุกสิ่งบนโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นของจริงก็ตาม

อย่างในไทยตอนนี้ผมว่าทุกคนเองก็คงจะหลอนไปหมดแล้วกับเรื่องอาชญากรรมออนไลน์ แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ต่าง ๆ ที่เรียกได้ว่า ดาหน้าถล่มมาในทุกรูปแบบ ทำให้ทุกคนเริ่มสับสนไปหมดแล้วว่าสิ่งไหนคือของจริงและสิ่งไหนคือการหลอกลวง

ปัญหาคือตัวแพลตฟอร์มเองที่ไม่สามารถที่จะป้องกันปัญหาดังกล่าวนี้ได้เลย เราจะเห็นได้ถึงโพสต์โฆษณาหลอกลวงมากมายที่เกิดขึ้น โดยที่ไม่ได้รับการจัดการที่ดีพอจากเหล่าเจ้าของแพลตฟอร์มเลย

ซึ่งท้ายที่สุดมันอาจจะนำพาเราไปถึงจุดที่มองว่า การลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งแทบจะไม่สำคัญอีกต่อไป เพราะเราอาจจะหลอนจนคิดว่าทุกคนต่างกำลังโกหกเรา ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นการจัดฉาก

มันดูเหมือนเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข แน่นอนว่าเทคโนโลยีเหล่านี้เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องอยู่กับมันไปอีกนาน ซึ่งภาษิตที่ว่า “สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น” คงใช้ไม่ได้อีกต่อไปในยุคที่ข้อมูลบิดเบือนขั้นสูงกำลังครอบครองโลกออนไลน์ของมนุษย์เราเหมือนในทุกวันนี้นั่นเองครับผม