AI nationalism เมื่อโลกเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของชาตินิยม AI

ต้องบอกว่าคำว่า “ชาตินิยม” เป็นแรงผลักดันส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศหลายๆ ประเทศเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีเคสตัวอย่างมากมายที่ความเป็นชาตินิยมของคนในชาติผลักดันให้ประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดดภายในระยะเวลาอันสั้น ตัวอย่างเช่น จีน เกาหลีใต้ หรือ เวียดนามที่เป็นเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงของเรา

แล้วถามว่าอนาคตมันจะเกิดอะไรขึ้นหากชาติใด ไม่มีเทคโนโลยีที่กำลังมีบทบาทมาก ๆ อย่าง AI โดยเฉพาะ Large Language Model (LLM) ที่กำลังกลายเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ มันเป็นคำถามที่น่าสนใจ

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา อาบูดาบีได้เปิดตัวบริษัท AI71 ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีด้าน AI แห่งใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และสร้างผลิตภัณฑ์อย่าง “Falcon” ซึ่งเป็นเทคโนโลยี LLM คล้ายๆ กับ ChatGPT

ในฝรั่งเศส Mistral บริษัทที่สร้างโมเดล LLM ของฝรั่งเศสที่เพิ่งก่อตั้งบริษัทมาได้ 7 เดือนได้ประกาศระดมทุนรอบล่าสุดมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งผลักดันให้บริษัทมีมูลค่าประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ ที่แม้กระทั่งประธานาธิบดี Emmanuel Macron ของฝรั่งเศสก็ยังได้ออกมากล่าวถึง ChatGPT และเทคโนโลยี LLM อื่น ๆ ที่เน้นภาษาอังกฤษเป็นหลักคงไม่สามารถเข้าใจวัฒนธรรม ภาษา และจริยธรรมของประเทศเราได้

Krutrim สตาร์ทอัพรายใหม่ของอินเดีย ได้เปิดตัวเทคโนโลยี LLM ตัวแรกของอินเดีย และ Sarvam บริษัทที่เพิ่งเปิดมาได้เพียง 5 เดือน สามารถระดมทุนได้ 41 ล้านดอลลาร์เพื่อสร้างโมเดลภาษาอินเดียที่คล้ายคลึงกัน

และหากติดตามข่าวแวดวงเทคโนโลยีโดยเฉพาะเรื่อง AI เราจะเห็นได้ว่า ทุก ๆ ประเทศโดยเฉพาะประเทศขนาดใหญ่ มองเห็นศักยภาพของเทคโนโลยีนี้เหมือนกัน และแน่นอนว่าพวกเขาคงไม่อยากตกเป็นเมืองขึ้นของ Silicon Valley อีกครั้งเป็นแน่แท้

ต้องบอกว่า AI ถือเป็นหัวใจสำคัญของการแข่งขันทางเทคโนโลยีที่เข้มข้นระหว่างอเมริกาและจีน ในปีที่ผ่านมาเพียงแค่สองประเทศนี้ก็ลงทุนในเทคโนโลยี AI ไปกว่า 40,000 – 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และแน่นอนว่าประเทศอื่น ๆ ก็คงไม่อยากถูกทิ้งไว้เพียงเบื้องหลัง

ในปีที่ผ่านมารัฐบาลที่มีความทะเยอทะยานด้าน AI อีก 6 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะสนับสนุนเทคโนโลยี AI โดยอัดเม็ดเงินลงทุนกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในอเมริกาโดยเฉพาะแถบ Silicon Valley พวกเขาได้กลิ่นของผลประโยชน์อันมหาศาลของเทคโนโลยีนี้ก่อนใคร แทบไม่ต้องมีการสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกาเลยด้วยซ้ำ

รัฐบาลใช้เงินไปกับนโยบายด้านอื่นๆ โดยทุ่มเงินกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตชิปภายในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาโดยเฉพาะ TSMC จากไต้หวัน ซึ่งสถานการณ์ยังไม่มีความแน่นอน หากจีนตัดสินใจที่จะบุกเกาะแห่งนี้ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนของพวกเขา

อีกวิธีหนึ่งที่โหดเหี้ยมมาก ๆ ของอเมริกาก็คือ การออกกฎหมายควบคุมการส่งออก โดยห้ามการขายเทคโนโลยี AI ที่ล้ำสมัยรวมถึงชิปและอุปกรณ์การผลิตชิปให้กับศัตรูคู่อาฆาตอย่างจีนและรัสเซีย นอกจากนี้ยังสั่งห้ามชาวอเมริกาแบ่งปัน knowledge ความเชี่ยวชาญด้าน AI กับประเทศเหล่านี้ด้วย

ฝั่งจีนก็อย่าคิดว่าโดนแค่นี้พวกเขาจะยอมง่าย ๆ เพราะพวกเขาผลิตได้สากเบือยันเรือรบอยู่แล้ว แม้จะเริ่มต้นช้ากว่าทางฝั่งอเมริกา แต่รัฐบาลจีนได้ทุ่มเททรัพยากรมหาศาลโดยใช้เงินเกือบ 3 แสนล้านดอลลาร์เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานชิปขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ในดินแดนของพวกเขาเองโดยไม่พึ่งอเมริกาอีกต่อไป

และเพียงแค่ข่าวที่ Huawei บริษัทโทรคมนาคมชั้นนำจากจีนสามารถผลิตชิปในระดับ 7 นาโนเมตรได้ในปีที่แล้ว กลายเป็นข่าวใหญ่ช็อกโลก ซึ่งอเมริกาคงจินตนาการไม่ออกว่าทำไมจีนถึงพัฒนามันได้เร็วเพียงนี้ และหากมีการพัฒนาในอัตราเร่งแบบนี้และทางรัฐบาลเห็นเป็นวาระแห่งชาติ เราอาจจะได้เห็นเทคโนโลยีชิปของจีนแซงหน้าอเมริกาในเร็ววันนี้ก็เป็นได้

หน่วยงานกลางและท้องถิ่นของจีนได้อัดเม็ดเงินลงทุนไปยังบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีทางด้าน AI ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “guidance funds” ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งกระจายการลงทุนไปเกือบ 2,000 บริษัททั่วประเทศในเทคโนโลยีทุกรูปแบบที่ถือว่ามีความสำคัญเชิงกลยุทธ์

พรรคคอมมิวนิสต์กำลังมองเห็นความสำคัญของเทคโนโลยี AI เป็นอย่างมาก และเริ่มหันมาโฟกัสช่วยเหลือบริษัทขนาดเล็ก นโยบายการปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่กลายเป็นประเด็นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ช่วยให้บริษัทขนาดเล็กสามารถแข่งขันได้ ซึ่งก่อนหน้านี้มีเพียงบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีข้อมูลขนาดใหญ่เท่านั้นที่สามารถที่พัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เท่านั้น

ความน่าสนใจก็คือ การเข้ามาแทรกแซงโดยรัฐแบบเดียวกับที่จีนทำนั้น กำลังถูกเลียนแบบในส่วนอื่น ๆ ของโลกเช่นเดียวกัน เช่น ในอ่าวเปอร์เซีย และด้วยการที่เป็นระบอบที่ไม่ต่างจากเผด็จการ ทำให้ซาอุดิอาระเบีย หรือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สามารถผลักดันเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ได้ดีกว่าประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่

เพราะการมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย อาจต้องคำนึงถึงความกังวลของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเกี่ยวกับผลกระทบของ AI ในด้านต่างๆ เช่น ความเป็นส่วนตัว หรือเรื่องการที่ AI จะเข้ามาแย่งงาน ซึ่งหากประเทศไทยเราเองหันมาสนใจเทคโนโลยีนี้อย่างจริงจัง ป่านนี้เราคงได้เห็นเรื่องราวเหล่านี้ถกเถียงกันในสภาบ้างแล้ว

ซึ่งด้วยเงินทุนมหาศาลโดยเฉพาะจากน้ำมัน นั่นทำให้รัฐจากอ่าวเปอร์เซียมีเงินเหลือเฟือ ซื้อแม้กระทั่งทรัพยากรบุคคลจากมหาวิทยาลัยดัง ๆ จากทั่วโลก

โครงการ AI ที่ King Abdullah University of Science and Technology ในซาอุดิอาระเบีย และ Mohamed bin Zayed University of Artificial Intelligence (MBZUAI) ในอาบูดาบี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นด้าน AI แห่งแรกของโลก ได้ช่วงชิงอาจารย์ระดับแนวหน้าจากสถาบันที่มีชื่อเสียง เช่น University of California,Berkeley และ Carnegie Mellon

แนวทางของประเทศแถบอ่าวเปอร์เซียเรียกได้ว่ากำลังเห็นผลลัพธ์ออกมาอย่างชัดเจน ความสามารถของโมเดล Falcon ซึ่งสร้างครั้งแรกโดยทีมวิศวกรประมาณ 20 คน สามารถแข่งขันได้กับโมเดล  Llama 2 ซึ่งเป็นโมเดล Open Soruce ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและคิดค้นโดย Meta

AI71 วางแผนที่จะปรับปรุงโมเดล Open Source โดยใช้ชุดข้อมูลระดับชาติจากสาขาต่าง ๆ เช่น สุขภาพ การศึกษา และที่สำคัญที่สุดคือน้ำมัน ซึ่งในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา น้ำมันขับเคลื่อนประเทศพวกเขาเหล่านี้ แต่ในยุคหน้าข้อมูลจะเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศของพวกเขาในยุคถัดไป

รัฐบาลอีกกลุ่มหนึ่งใช้วิธีผสมผสานแนวทางของทั้งอเมริกาและจีน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นฝั่งสหภาพยุโรป ตัวอย่างเช่น เยอรมนีผลักดันเม็ดเงินลงทุน 33,000 ล้านดอลลาร์สำหรับโรงงานชิปแห่งใหม่ที่จะสร้างขึ้นโดย Intel บริษัทผลิตชิปสัญชาตอเมริกัน

สหราชอาณาจักรเตรียมลงทุน 1.3 พันล้านดอลลาร์ เป็นเวลา 5 ปีให้กับ AI และ Super Computer และกำลังพิจารณาที่จะอนุญาตให้บริษัทต่าง ๆ เข้าถึงข้อมูลจำนวนมากที่เป็นบริการสุขภาพแห่งชาติ

รัฐบาลอินเดียกำลังส่งเสริมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยสนับสนุนให้เหล่าผู้ให้บริการ Clound Computing รายใหญ่สร้างศูนย์ข้อมูลในอินเดียเพิ่มเติม ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการอบรมโมเดลด้าน AI ซึ่งอินเดียมีข้อมูลมหาศาลจากบริการสาธารณะดิจิทัลต่าง ๆ ที่เรียกว่า “India Stack” ซึ่งพวกเขาหวังว่าในท้ายที่สุดจะรวมโมเดล AI ของอินเดียเข้ากับบริการดิจิทัลเหล่านี้ในท้ายที่สุด

แน่นอนว่าแนวทางแต่ละแบบนั้นมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน การควบคุมแบบเบ็ดเสร็จเหมือนจีนนั้นคงทำได้ยากในประเทศอื่น ๆ ในโลกเสรีประชาธิปไตยประชาชนต้องมีส่วนร่วมและกฎหมายต่างๆ ก็ต้องมีการถกเถียงกันเพื่อควบคุมเทคโนโลยีเหล่านี้

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเทศต่าง ๆ จะต้องการควบคุมสิ่งที่สุดท้ายแล้วมันจะกลายเป็นเทคโนโลยีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เฉกเช่น AI

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนที่ค่อนข้างมีความอ่อนไหวและมีการควบคุมอย่างเข้มงวด เช่น ข้อมูลด้านการเงิน ข้อมูลด้านสุขภาพ รัฐบาลจำนวนมากก็ไม่ต้องการพึ่งพา AI ที่มาจากชาติอื่น เพราะมันเป็นหนึ่งในความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติเช่นเดียวกัน

การมอบข้อมูลที่ละเอียดอ่อนแก่บริษัทต่างๆ โดยเฉพาะจากต่างชาติ ในเรื่องที่มีความอ่อนไหว เช่น ข้อมูลสุขภาพของพลเมืองในประเทศ อาจจุดชนวนกระแสต่อต้านในพื้นที่สาธารณะ แม้แต่ประเทศที่ปกครองโดยระบบเผด็จการก็ตามที

ดูเหมือนว่าทุกประเทศที่มองเห็นศักยภาพของเทคโนโลยีนี้ กำลังปกป้องข้อมูลชาติตัวเองกันอย่างเต็มที่ แม้จะต้องทุ่มเทงบประมาณมหาศาลเพื่อแข่งขันกับขาใหญ่จาก Silicon Valley ก็ตาม แต่มันเป็นเหมือนความจำเป็นที่พวกเขาต้องทำ

แต่คำถามที่สำคัญก็คือ แล้วประเทศไทยเราล่ะกำลังอยู่ส่วนไหนของการแข่งขันด้าน AI Race ในครั้งนี้?

“สิงห์ปาร์ค” เปิดตัว “ชาน่าน ปรุงพิเศษ Signature Blend” ชูอัตลักษณ์ชาน่านร่วมผู้ประกอบการท้องถิ่น รีสอร์ท คาเฟ่  โปรโมทของดีเมืองน่าน

“สิงห์ปาร์ค เชียงราย” ผู้ผลิตชาคุณภาพของประเทศ นำทีมผู้เชี่ยวชาญเรื่องชา ปรุงชาอัสสัมจากแหล่งเพาะปลูกจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังคงมีความสมบูรณ์และมีภูมิประเทศที่เหมาะสมกับการเติบโตของชาอัสสัมและคงความเป็นเอกลักษณ์ของกลิ่นและรสชาติความเป็นชาน่านสืบเนื่องมานับ  100 ปี เป็นที่มาของชาคุณภาพจากเมืองน่าน

ผนึกผู้ประกอบการท้องถิ่น รีสอร์ท และคาเฟ่ ร่วมโปรโมท “ชาน่าน ปรุงพิเศษ Signature Blend” ต่อยอดของดีเมืองน่าน ผ่านคอนเซ็ปต์ New Origin, New Experience เปิดประสบการณ์ใหม่การดื่มชา พร้อมทั้งรังสรรค์เมนูที่หลากหลาย ทั้งเมนูร้อนและเย็น 5 รสชาติ 5 สไตล์ ส่งต่อผู้ประกอบการท้องถิ่น ต่อยอดเป็นเครื่องดื่ม Signature ประจำร้าน 

นายพงษ์รัตน์ เหลืองธำรงเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงห์ปาร์ค เชียงราย จำกัด เปิดเผยว่า นอกจากจังหวัดน่านจะเป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติ ด้วยอากาศและภูมิประเทศที่สวยงาม อีกสิ่งที่ถือเป็นของดีเมืองน่าน และมีความเป็นเอกลักษณ์คือ “ชาน่าน” หรือชาอัสสัมที่ปลูกที่นี้ ด้วยระดับความสูงและสภาพอากาศที่เหมาะสม ทำให้ได้ชาที่ให้กลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่นี้ 

ที่ผ่านมา “ชาน่าน” ยังไม่เป็นที่รู้จักและนิยมในกลุ่มนักดื่มชา สิงห์ปาร์ค ในฐานะผู้ผลิตชาคุณภาพของไทย จึงได้คัดสรรและพัฒนาตลอด 3 ปีที่ผ่านมาจนได้ชาน่าน Signature Blend ที่มีอัตลักษณ์ของชาน่านที่โดดเด่นมากว่าร้อยปีไว้อย่างครบถ้วน นำเสนอต่อผู้ที่ชื่นชอบรสชาติของชา ดึงรีสอร์ท ร้านกาแฟท้องถิ่นร่วมนำเสนอเมนูชา ต้อนรับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน และยกระดับชาน่านที่มีคุณภาพมาตรฐานสากลออกสู่ตลาด ตอบสนองความต้องการลูกค้าเป้าหมายทุกกลุ่ม

นอกจากนี้ สิงห์ปาร์ค เชียงราย ยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมเกษตรกรให้เพาะปลูกชาน่าน ด้านการแบ่งปันองค์ความรู้ มีการรับซื้อผลผลิตโดยให้ประโยชน์สูงสุดแก่ชาวบ้าน ผู้เพาะปลูกชา สร้างแรงจูงใจให้เกิดการรักษาวิธีการเพาะปลูกแบบเดิม อย่างเป็นธรรมชาติ ในพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ภูมิประเทศที่เหมาะสม เพื่อคงอัตลักษณ์ของชาน่านหลายร้อยปี และได้ผลผลิตชาอัสสัมที่มีคุณภาพออกสู่ตลาด ตอบสนองความต้องการของลูกค้า 

โดยในปีนี้ บริษัทเดินหน้าทำตลาดชาน่านอย่างต่อเนื่อง ผ่านแบรนด์ “SINGHA PARK CHIANGRAI” ในคอนเซ็ปต์ New Origin, New Experience นำชาสายพันธุ์ดี มามอบประสบการณ์การดื่มชาน่านในมิติใหม่ให้กับลูกค้า พร้อมร่วมกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มรังสรรค์ชาน่านที่เราภูมิใจเป็นเมนูชาใหม่ๆ เสิร์ฟลูกค้า เพื่อตอกย้ำภาพต้นกำเนิดแหล่งชาคุณภาพจากดินแดนแห่งสายหมอก ขุนเขาแห่งอารยธรรมชาในจังหวัดน่าน สำหรับ “ชาน่าน Signature Blend” มี 5 รสชาติ ได้แก่ ชาดำ ชาไต้หวัน ชาไทย ชาเขียว และชาเขียวนม ทั้งขนาด 100 กรัม และขนาด 500 กรัม

ทั้งนี้ กลยุทธ์การทำตลาดเปิดตัวผลิตภัณฑ์ชาน่าน แบรนด์ได้ทำงานร่วมกับ “เชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ” นักแสดง นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผู้มีความผูกพันกับเมืองน่าน มาร่วมบอกเล่าเรื่องราวของต้นกำเนิดและจุดเด่นของชาน่านด้วยความภาคภูมิใจ

นอกจากนี้ จะมีการทำกิจกรรมต่อเนื่อง อาทิ การสร้างเมนูพิเศษจากผลิตภัณฑ์ชาน่าน เพื่อต่อยอดให้เห็นการครีเอทเมนูความอร่อยที่หลากหลาย รวมไปถึงแจกสูตรความอร่อยให้กับร้านอาหารและเครื่องดื่ม คาเฟ่ต่างๆ ได้นำไปพัฒนาเมนูเครื่องดื่ม ทั้งเครื่องดื่มร้อนและเครื่องดื่มเย็น 

โดยหนึ่งในกิจกรรมไฮไลต์ คือ การจุดกระแสความร่วมมือกับรีสอร์ท คาเฟ่ ร้านเครื่องดื่มชา กาแฟ ทั่วจังหวัดน่าน ในการร่วมกันโปรโมทชาน่านให้นักท่องเที่ยวและนักชิมชาจากทั่วโลกได้เข้ามาสัมผัสการดื่มชา สายพันธุ์ชาอัสสัมที่เป็นเอกลักษณ์และมีคุณภาพสูงจากจังหวัดน่าน พร้อมเปิดประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและอาหารของจังหวัดน่าน ควบคู่ไปกับการออกสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่หลากหลาย เพื่อทำให้ชาน่านเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคทุกกลุ่มมากยิ่งขึ้น

แวะมาลิ้มลองรสชาติชาน่าน Signature Blend ได้แล้ววันนี้ที่คาเฟ่ในจังหวัดน่าน ได้แก่ คาเฟ่สุดกองดี , Baan Yuuplearn , Workboxes café , Mix Academic Cafe , บ้านนาก๋างโต้ง | Baan Na Kang Tong , Erabica Coffee Nan (เอราบิก้า คอฟฟี่) , บ้านยางนา Relax Zone Nan , Enlil , Infinity Rich Cafe & Bakery & Food , กาแฟบ้านไทลื้อ , UU Cafe & House , Inlamai coffee (inlamai) , Lalana Cafe Nan , Cha Na Agape , น่านริมน้ำ : NanRimnam , เพื่อน coffee house , Comla bakery , ลืมเวลา คาเฟ่ น่าน Luemwela Cafe Nan , กลิ่นนาน่าน , One vela cafe’ วันเวลา คาเฟ่ , ณ ฟ้า การ์เด้นท์ l Na Fah Garden , กาแฟคุ้มเวียงพิงค์ , เฮือนฮังต่อ , Daidib Daidee Pua Nan Thailand , Me&Mum cafe , หลงรักเขา Coffee , ของฝากน่าน บ้านถั่วลิสง , Thammachad Cafe – ธรรมชาติ คาเฟ่ , สวนอาหารสุริยาการ์เดน , Wevari Heritage (วีวารี เฮอริเทจ) , Smallroom Coffee Bar , Brooklyn Coffee & Jazz bar , The sky tea room , Horizon Harvest , Dear river café , Tah Ton Yon – ต๊ะต่อนยอน , โรงบ่มปัว คาเฟ่ แอนด์ อีทเทอรี่ , เฮือนภูคา, น่าน (Haun Phuka) , Viewna Cafe วิวนาคาเฟ่ , ม่อนสกาด คาเฟ่ , ผามกาแฟ by นา เขา เรา น่าน , Ma Pua Cafe’ , Hatake Cafe & Homestay ฮาตาเกะ คาเฟ่และโฮมสเตย์ , วิวว้าคาเฟ่ Viewwa Cafe , น่าน สิรินธารา รีสอร์ท & ฉำฉา คาเฟ่ , อบอุ่น Cafe’ at Sapan , หยุดเวลาคาเฟ่

สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : www.facebook.com/singhaparkshop