BYD (The New Toyota) กับแนวทางการเป็น Toyota ในแบบฉบับรถยนต์ EV

Tesla อาจเป็นผู้ผลิต รถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของโลก และตามที่ Elon Musk ได้คุยโวไว้ว่าพวกเขาล้ำหน้ากว่าคู่แข่งมากจนแทบมองไม่เห็นใครที่จะมาต่อกรพวกเขา

ในขณะที่บริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่ยุคเครื่องยนต์สันดาปอย่าง Toyota ก็ไม่ได้สนใจภัยร้ายที่ย่องมาเงียบ ๆ จากผู้ผลิตชาวจีนอย่าง BYD ซึ่งในปีนี้อาจแซงหน้า Tesla ในฐานะผู้ขายรถยนต์ EV รายใหญ่ที่สุดของโลก (ไม่รวมถึงรถไฮบริดซึ่งพวกเขาก็ผลิตด้วยเช่นกัน)

ความน่าสนใจก็คือ BYD และ Toyota พวกเขาเป็นพันธมิตรกันในประเทศจีน ที่สำคัญกว่านั้น BYD ได้เลียนแบบคุณลักษณะหลายอย่างของ Toyota ที่ได้กลายเป็นบริษัทรถยนต์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกมานานหลายทศวรรษ

บริษัททั้งสองมีความคล้ายคลึงกันทางประวัติศาสตร์ พวกเขาไม่ได้เริ่มต้นในอุตสาหกรรมรถยนต์ Toyota เริ่มต้นธุรกิจด้วยการผลิตเครื่องทอผ้าแบบอัตโนมัติ

ผลิตภัณฑ์แรกของ BYD คือแบตเตอรี่สำหรับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเมื่อมองจากจุดเริ่มต้นพวกเขาตามหลังคู่แข่งด้านการผลิตรถยนต์ระดับโลกในยุคของตัวเองเป็นอย่างมาก

BYD ใช้ความเชี่ยวชาญด้านแบตเตอรี่และมุ่งเน้นไปที่รถยนต์ไฟฟ้าและรถปลั๊กอินไฮบริด ซึ่งเป็นที่รู้จักในจีนว่าเป็นรถยนต์พลังงานใหม่ ( NEV ) ทั้ง Toyota และ BYD ฝึกปรือฝีมือด้วยตลาดภายในประเทศและเมื่อพวกเขาเริ่มออกไปตีตลาดต่างประเทศก็เริ่มต้นในตลาดรถยนต์ในประเทศที่ค่อนข้างด้อยพัฒนา

แต่จุดเริ่มต้นในการผลิตรถยนต์ได้ยกระดับธุรกิจของพวกเขาอย่างรวดเร็ว ในช่วงหกปีตั้งแต่ปี 1955 ถึง 1961 การส่งออกของ Toyota เติบโตมากกว่า 40 เท่า และนั่นคือจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ของ Toyota

ฟากฝั่ง BYD ต้องใช้เวลา 13 ปีในการผลิตรถยนต์ NEV หนึ่งล้านคันแรก ใช้เวลาอีกหนึ่งปีกว่าจะได้ล้านที่สอง หกเดือนต่อมาก็สามารถผลิตได้ถึงสามล้านคัน พวกเขามีฐานการผลิตหลายแห่งตั้งแต่จีนไปจนถึงบราซิล ฮังการี อินเดีย และอื่นๆ ทั่วทุกมุมโลก

ปัจจุบัน BYD เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนรายใหญ่อันดับสองของโลก รองจาก CATL ของจีน เป็นผู้ผลิตยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ เช่น รถบรรทุกและแท็กซี่ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งเหล่านี้ทำให้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายตัวไปยังทั่วโลก

ปัญหาที่พวกเขาพบเจอก็คล้ายคลึงกัน Toyota ได้ตกเป็นเหยื่อของ สงครามการค้าระหว่าง สหรัฐฯและญี่ปุ่นในช่วงปี 1980 ฟากฝั่ง BYD ก็ต้องประสบพบเจอกับสงครามการค้าระหว่างจีน-อเมริกันที่ใกล้จะถึงจุดเดือดอยู่ในตอนนี้

Tu Le จาก Sino Auto Insights ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านยานยนต์ EV ได้ขนานนาม BYD ว่าเป็น “The New Toyota” ซึ่ง Toyota นั้นถือได้ว่าเป็นอัจฉริยะด้านการผลิตของอุตสาหกรรมมานานหลายทศวรรษ “วิถีแห่งโตโยต้า” คือการรวมกันของการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องหรือไคเซ็น การผลิตแบบลีน และการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่เหนือชั้น

BYD ทำสิ่งต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกัน พวกเขาเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีการบูรณาการในแนวดิ่งมากที่สุดในโลก ทำทุกอย่างตั้งแต่ที่นั่งของตัวเองไปจนถึงแบตเตอรี่และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งทาง Le ได้ใช้คำว่า Get shit done (GSD) เพื่ออธิบายความสามารถในการผลิตของ BYD

“มีเพียงมนุษย์ไม่กี่คนที่ทำการตรวจสอบในขั้นตอนสุดท้าย หุ่นยนต์ของ BYD ได้สร้างนิยามใหม่ให้กับการผลิตรถยนต์เช่นเดียวกับที่ Toyota เคยทำได้สำเร็จ” Warren Buffett ไอคอนด้านการลงทุนของอเมริกาเป็นแฟนตัวยงของ BYD รวมถึงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่

BYD ให้ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับผลการดำเนินงานที่น่าตกใจ แต่ในวันที่ 30 มกราคม บริษัทได้ประมาณการกำไรสุทธิเบื้องต้นในปี 2022 ที่ 2.4-2.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าปี 2021 มากกว่าห้าเท่า

จากข้อมูลนี้ บริษัทบ่งบอกเป็นนัยว่าในไตรมาสที่ผ่านมา อัตรากำไรของธุรกิจรถยนต์ของ BYD นั้นได้แซงหน้า Tesla ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่ทำกำไรได้มากที่สุดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า BYD ที่เติบโตมาจากการสร้างรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดสำหรับตลาด mass กำลังขายรถยนต์ไฟฟ้าระดับพรีเมียมที่มีกำไรสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแตกต่างจาก Tesla ตรงที่พวกเขามีรุ่นและสไตล์ที่หลากหลายและมีการออกรถรุ่นใหม่เป็นประจำ

บุกตลาดอเมริกา

ยังมีโอกาสใหญ่มาก ๆ สำหรับ BYD ในตลาดอเมริกา ซึ่งปัจจุบันพวกเขายังไม่ได้บุกไปยังตลาดนี้มากนัก แต่อุปสรรคใหญ่ในการเข้าสู่ตลาดอเมริกาคือภาษีศุลกากร ซึ่งเป็นนโยบายสมัยประธานาธิบดี Donald Trump ที่มีปัญหาอย่างหนักกับประเทศจีน และมีการกีดกันการค้าโดยเฉพาะส่วนประกอบ EV ที่ผลิตในจีน เช่น แบตเตอรี่

ในที่สุดการเปิดตัวในอเมริกาของ BYD คงเกิดขึ้นแน่ ๆ เหล่าผู้ผลิตรถยนต์อเมริกันก็ต้องพึ่งพายอดขายในประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก พวกเขาไม่สามารถกีดกันให้ BYD บุกเข้ามาในประเทศเขาได้เช่นเดียวกัน

BYD อาจนำเสนอรถยนต์ EV ที่ราคาต่ำกว่า 40,000 ดอลลาร์ ที่จะกระตุ้นตลาด mass ในสหรัฐอเมริกา และหากพวกเขาล้มเหลว BYD ก็สามารถที่จะขอความช่วยเหลือผ่านองค์ความรู้ของ Toyota ในการเจาะตลาดอเมริกา เพราะพวกเขามีความร่วมมือกันอยู่แล้วในประเทศจีน

สำหรับตอนนี้ Toyota ได้เริ่มตระหนักถึงความท้าทายจาก BYD ซึ่งก็มาก พอๆ กับโอกาสที่เกิดขึ้น พวกเขาทั้งสองมีคุณลักษณะหลายๆ อย่างที่คล้ายคลึงกันมาก Toyota และ BYD ไม่ได้คุยโม้โอ้อวดถึงจุดแข็งของตัวเองอย่างที่ Elon Musk ทำกับ Tesla แต่ให้ตัวเลขเป็นบทพิสูจน์ทางธุรกิจให้โลกได้เห็นนั่นเอง

References :
https://nepaldrives.com/byd-and-toyota-launch-joint-venture-to-conduct-battery-electric-vehicle-rd/
https://www.economist.com/business/2023/02/02/chinas-byd-is-overtaking-tesla-as-the-carmaker-extraordinaire