ด้วยกระแส ChatGPT แชทบ็อตที่มีความสามารถระดับเทพซึ่งได้รับความนิยมอย่างถล่มทลายตั้งแต่เปิดตัวในเดือนพฤศจิกายน มันอาจจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงานได้อย่างมากหรืออาจจะมาแทนที่ได้เลยด้วยซ้ำในบางงานเช่นเดียวกัน
GPT ซึ่งชื่อย่อมาจาก “generative pre-trained transformer” ซึ่งเป็นรูปแบบภาษาเฉพาะ หมายถึงเทคโนโลยีที่ใช้งานทั่วไป
ก่อนหน้านี้เหล่านวัตกรรมที่สั่นสะเทือนโลกซึ่งหมายถึงนวัตกรรมที่สามารถเพิ่มผลผลิตในอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น เครื่องจักรไอน้ำ ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์ นั่นก็ทำให้เราสามารถจินตนาการได้ว่า AI ที่มีประสิทธิภาพอาจเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในอีกหลายปีข้างหน้าได้เช่นเดียวกัน
ในบทความที่ตีพิมพ์ในปี 1995 Timothy Bresnahan จาก Stanford University และ Manuel Trajtenberg จาก Tel Aviv University ได้กำหนดสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นลักษณะของเทคโนโลยีที่ใช้งานทั่วไป ที่ต้องใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม มีศักยภาพสำหรับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และก่อให้เกิด “ส่วนเสริมทางนวัตกรรม” นั่นคือ กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมในอุตสาหกรรมที่ใช้ AI ในอนาคต
แล้วการปฏิวัติทางเศรษฐกิจด้วย AI ยุคใหม่จะเริ่มขึ้นเมื่อใด?
บทเรียนแรกจากประวัติศาสตร์คือแม้แต่เทคโนโลยีใหม่ที่ทรงพลังที่สุดก็ยังต้องใช้เวลาในการที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง
James Watt จดสิทธิบัตรเครื่องจักรไอน้ำของเขาในปี 1769 แต่พลังงานไอน้ำไม่สามารถแซงหน้าพลังงานน้ำที่คอยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมได้จนกระทั่งช่วงทศวรรษที่ 1830 ในสหราชอาณาจักรและในช่วงปี 1860 ของอเมริกา
เครื่องยนต์ไอน้ำในยุคแรกนั้นเรียกได้ว่ามันไร้ประสิทธิภาพอย่างมากและใช้กองถ่านหินที่มีราคาแพงอย่างยิ่ง
ในสหราชอาณาจักร การมีส่วนร่วมของไอน้ำต่อการเติบโตของผลผลิตทางอุตสาหกรรมพุ่งขึ้นสูงสุดหลังปี 1850 ซึ่งต้องใช้เวลาเกือบหนึ่งศตวรรษหลังจากการจดสิทธิบัตรของ Watt
Robert Allen แห่ง New York University Abu Dhabi ได้กล่าวว่าการเติบโตของผลผลิตทางอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักร สะท้อนถึงการขาดเงินทุนในการสร้างโรงงานและเครื่องจักร ซึ่งมันค่อยๆ เอาชนะได้เมื่อเหล่านายทุนนำกำไรอันมากล้นของพวกเขากลับมาลงทุนใหม่
ตัดภาพมาที่ยุคของซิลิกอน การเติบโตของอเมริกากลับชะลอตัวลงจากปี 1888 ถึง 1907 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเกือบสามทศวรรษหลังจากวงจรรวมซิลิกอนตัวแรกได้ถือกำเนิดขึ้น
ในทำนองเดียวกัน ประสิทธิภาพที่น่าทึ่งของเครื่องมือ AI ล่าสุด แสดงถึงการก้าวกระโดดครั้งใหญ่เมื่อเทียบกับสิ่งที่เริ่มจุดประกายเทคโนโลยี AI ที่เปิดตัวออกมาเมื่อประมาณทศวรรษที่แล้ว (เช่น Siri ผู้ช่วยเสมือนของ Apple เปิดตัวในปี 2011 เป็นต้น)
Erik Brynjolfsson จาก Stanford University, Daniel Rock จาก Massachusetts Institute of Technology และ Chad Syverson จาก University of Chicago แนะนำว่าเทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามา disrupt อาจเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า “productivity J-curve” การเติบโตของผลิตภาพการผลิตรวมที่วัดได้จริงอาจลดลงในช่วงหลายปีหรือหลายทศวรรษหลังจากที่เทคโนโลยีใหม่ปรากฏขึ้น
เนื่องจากบริษัทและพนักงานต้องใช้ทั้งเวลาและทรัพยากรเพื่อศึกษาเทคโนโลยีและออกแบบกระบวนการทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องใหม่แทบจะทั้งหมด ซึ่งต่อมาเมื่อการลงทุนเหล่านี้เกิดผลค่า J ก็จะพุ่งสูงขึ้น
คำถามเกี่ยวกับผลกระทบของ AI ตามมาด้วยความกังวลเกี่ยวกับผลที่ตามมาสำหรับเหล่าแรงงาน ซึ่งเทคโนโลยีสามารถส่งผลกระทบกับแต่ละอาชีพได้
ในช่วงต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม การใช้เครื่องจักรได้เพิ่มความต้องการแรงงานที่ค่อนข้างไร้ทักษะเป็นอย่างมาก แต่ก็ทำให้รายได้ของช่างฝีมือที่เคยทำงานส่วนใหญ่มาก่อนลดลงไปมากเช่นเดียวกัน
ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมบางคนจึงเลือกที่จะเข้าร่วมขบวนการ Luddite ซึ่งเป็นขบวนการต่อต้านการปฏิวัติดังกล่าว พวกเขาพร้อมที่จะบุกโรงงานและทำลายเครื่องจักรจนพังพินาศ
ในทศวรรษที่ 1980 และ 1990 ระบบต่าง ๆ ที่เริ่มเป็นแบบอัตโนมัติขึ้นทั้งในโรงงานและในสำนักงานได้แทนที่คนงานไร้ฝีมือจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการจ้างงานสำหรับเหล่าคนงานทักษะสูงเช่นเดียวกัน
AI Revolution
AI อาจช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิตของคนงานในทุกระดับทักษะที่แตกต่างกัน แม้กระทั่งอาชีพอย่างนักเขียน แต่เมื่อมองถึงอาชีพโดยรวมนั้นขึ้นอยู่กับว่าผลผลิตที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนที่ลดลงนำไปสู่ความต้องการโดยรวมที่เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด
ตัวอย่าง เช่น การเกิดขึ้นของระบบสายพานการผลิต ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่มีลักษณะคล้ายกับ GPT ทำให้ Henry Ford สามารถลดต้นทุนในการผลิตรถยนต์ นั่นทำให้ความต้องการเพิ่มสูงขึ้น และเหล่าพนักงานต่างได้รับประโยชน์ เฉกเช่นเดียวกัน หาก AI ช่วยเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนด้านการแพทย์ นั่นอาจนำไปสู่ความต้องการบริการทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญที่สูงขึ้นอีกมาก
AI ที่ทรงพลังมีโอกาสที่จะกลายเป็นเทคโนโลยีที่สามารถจัดการงานเกือบทุกอย่างที่คนทั่วไปสามารถทำได้ ซึ่งจะนำมนุษยชาติเข้าสู่รูปแบบเศรษฐกิจที่ไม่ยึดติดกับพื้นที่ทางภูมิศาสตร์อีกต่อไป
การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนซึ่งมาพร้อมกับการปฏิวัติด้วยไอน้ำ และการเร่งสปีดความเร็วในการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นมาพร้อมกับพลังงานไฟฟ้าและนวัตกรรมอื่น ๆ ในภายหลังนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันและแย่งชิงกันอย่างมากในการคิดค้นรูปแบบทางธุรกิจใหม่ ๆ
และเพื่อให้แน่ใจว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจแบบถอนรากถอนโคนจะนำไปสู่เป็นความเจริญรุ่งเรืองในวงกว้างมากกว่าที่จะสร้างความโกลาหล การปฏิวัติครั้้งใหญ่ของ AI ในครั้งนี้คงทำให้มีเวลาอีกไม่นานที่พวกเราเหล่ามนุษยชาติอาจถึงเวลาที่ต้องแข่งขันแย่งชิงกันอีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้
References :
https://ide.mit.edu/sites/default/files/publications/2019-04JCurvebrief.final2_.pdf
https://www.economist.com/finance-and-economics/2023/02/02/the-ai-boom-lessons-from-history
https://www.blockdit.com/posts/6185079f3148110ca85b535f
https://www.economist.com/business/2023/01/30/the-race-of-the-ai-labs-heats-up
https://www.bostonglobe.com/2023/02/01/opinion/steam-engine-changed-world-artificial-intelligence-could-destroy-it/
https://www.nafcu.org/nafcuservicesnafcu-services-blog/ai-tech-revolution-what-steam-engine-was-industrial-revolution