ต้องบอกว่าสถานการณ์ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยกำลังเข้าสู่วงจรการผูกขาดแบบ Duopoly หลังจากการถอนตัวของ JD.com ที่ตอนนี้เหลือคู่แข่งเพียงแค่สองรายนั่นก็คือ Lazada กับ Shopee ซึ่งเราจะเห็นได้จากเทรนด์ที่เกิดขึ้นว่าตอนนี้ทั้งสองแทบจะไม่แข่งขันกันแล้ว
ถ้าไปดูตารางค่าคอมมิชชั่นต่าง ๆ เปรียบเทียบกับทั้งสองแพลตฟอร์ม ทั้งค่าขนส่ง ค่าคอมมิชชั่นในการขายสินค้าที่มีการปรับตัวขึ้นคล้าย ๆ กันด้วยตัวเลขที่ใกล้เคียงกันมาก
ซึ่งสถานการณ์รูปแบบเดียวกันนี้มันเกิดขึ้นแล้วในประเทศอินเดียเมื่อมีผู้ผูกขาดสองรายนั่นก็คือ Flipkart กับ Amazon ทางรัฐบาลอินเดียเห็นปัญหานี้ จึงได้หาวิธีในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง
ในบ้างเราเองทั้ง Lazada และ Shopee มีการอัดเม็ดเงินลงทุนมาหลายปีมีการยอมขาดทุนเป็นหมื่นล้าน สุดท้ายพวกเขาก็เริ่มที่จะมาทำกำไรกันแล้ว แม้ว่าอาจจะไม่ใช่จากธุรกิจอีคอมเมิร์ซโดยตรงแต่มันก็มีธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจขนส่ง หรือบริการด้านการค้าต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์ม ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถสร้างกำไรได้
แน่นอนว่าพวกเขาไม่ใช่นักบุญมันก็เป็นเรื่องแฟร์ที่พวกเขาต้องเอาสิ่งที่พวกเขาได้ลงทุนไปกลับคืนมา ซึ่งการแข่งขันในธุรกิจอีคอมเมิร์ซบ้านเรามีผู้ที่เข้ามาพยายามต่อสู้มากมาย เช่น 11Street จากเกาหลี หรือ Rakuten ที่จับมือกับ tarad.com หรือว่า JD.com เองก็ตาม แม้จะมีทุนใหญ่จากประเทศจีนหนุนหลังแต่ว่าสุดท้ายก็ไม่สามารถที่จะแข่งขันในตลาดนี้ได้ เพราะเป็นตลาดที่ค่อนข้างแข่งขันกันสูงมาก ๆ ถ้าทุนไม่หนาพอก็เป็นเรื่องยากที่จะขึ้นมาต่อกรกับสองยักษ์ใหญ่อย่าง Shopee และ Lazada
ในอนาคตรูปแบบของ Duopoly มันก็คือรูปแบบการผูกขาดอย่างหนึ่ง ในหลาย ๆ ธุรกิจเราจะเห็นได้ว่าโมเดล Duopoly เองไม่เป็นผลดีกับผู้บริโภค เพราะพวกเขาสามารถจับมือกันตกลงกันได้ในการผลักดันอะไรต่าง ๆ การคิดค่าบริการหรือการอัดโปรโมชั่นต่างๆ ที่เริ่มจะลดน้อยลงไป
แน่นอนว่าที่ผ่านมาทั้ง Shopee และ Lazada ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเสพติดการช็อปปิ้งออนไลน์ไปแล้ว ตอนนี้ส่วนตัวผมเองก็เป็นคนนึงเลยที่ส่วนใหญ่ก็จะเลือกซื้อสินค้าจากสองแพลตฟอร์มนี้ ทำการเปรียบเทียบราคาสินค้าชนิดเดียวกัน ซึ่งก็มีหลากหลายร้านค้าให้เลือกสรรค์
โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศจีนเองตอนนี้พ่อค้าคนกลางก็ยากที่จะยืนหยัดอยู่ในแพลตฟอร์มเหล่านี้ เพราะว่าทางฝั่งจีนเองก็มีการมาตั้งโกดัง หรือแม้กระทั่งการส่งจากประเทศจีนเองหลายผลิตภัณฑ์ก็ไม่จำเป็นต้องรีบใช้ เราสามารถรอได้แต่ว่าได้มาในราคาที่ถูกมาก ๆ สินค้าบางชิ้น ราคาเพียงแค่หลัก 10 บาท หรือแม่กระทั่งหนึ่งบาทก็ยังมีขายในแพลตฟอร์มเหล่านี้
มันได้กลายเป็นสิ่งเสพติดให้กับพฤติกรรมผู้บริโภคให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการไปซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าปลีกต่าง ๆ เปลี่ยนมาช็อปปิ้งออนไลน์กันมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาที่มันจะเกิดขึ้นแน่ ๆ ก็คือการผูกขาดทางด้านธุรกิจที่สุดท้ายเหลือคู่แข่งขันเพียงแค่สองรายกลายเป็นรูปแบบ Duopoly
ธุรกิจโทรศัพท์มือถือตอนนี้เราก็กำลังจะก้าวสู่จุดนั้นหรือธุรกิจบัตรเครดิตมี Visa กับ Mastercard ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดแทบจะเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ มันก็คล้าย ๆ กัน สุดท้ายอีคอมเมิร์ซก็จะก้าวไปในจุด ๆ นั้น การแข่งขันก็จะลดลงไปผู้บริโภคก็อาจจะได้รับโปรโมชั่นต่าง ๆ น้อยลง
แต่ปัญหาของธุรกิจอีคอมเมิร์ซมันใหญ่มากเพราะว่ามันส่งผลต่อธุรกิจภายในประเทศเราหลายส่วน เมื่อทุนจากจีน สามารถบุกเข้ามาได้โดยตรงขายสินค้าราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐานแล้วก็ส่งข้ามประเทศกันมา โดยเฉพาะการมีนโยบายที่ปลอดภาษีสั่งสินค้าไม่เกิน 1,500 บาทก็แทบจะไม่ต้องเสียภาษี
นั่นทำให้สินค้าหลาย ๆ อย่างบุกเข้ามา เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน หลาย ๆ ธุรกิจตอนนี้คนที่เปิดโรงงานในประเทศไทยก็เริ่มจะลำบากเพราะโรงงานจากประเทศจีนสามารถส่งสินค้าขายโดยตรงมายังประเทศไทยได้สั่งเพียงหนึ่งชิ้นเขาก็ส่งมาได้
มันค่อนข้างเป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่จะไปแข่งขันโดยเฉพาะกับพ่อค้าแม่ค้าชาวจีนปัญหานี้ในอินเดียมันก็เกิดขึ้นที่ก่อนหน้านี้ก็มีการแข่งขันกันหลายรายสุดท้ายมันก็มีการแข่งขันกันจนเหลือเพียงแค่สองรายนั่นก็คือ Amazon กับ Flipkart ที่มีเจ้าของคือ Walmart
อีคอมเมิร์ซในประเทศอินเดียถือว่าเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่เนื่องจากจำนวนประชากรอีกไม่นานก็คงจะแซงจำนวนประชากรในประเทศจีน อินเดียเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มากๆ รัฐบาลก็มองเห็นในส่วนนี้ว่าหากปล่อยให้มีการผูกขาดเกิด Duopoly มันไม่ได้เกิดประโยชน์กับผู้บริโภค
รวมถึงธุรกิจรายย่อย ๆ ในอินเดียเองสุดท้ายก็จะถูกขูดรีดจากแพลตฟอร์มเหล่านี้ เราสามารถจินตนาการได้เลยว่าสุดท้ายแล้วสถานการณ์ของอีคอมเมิร์ซในบ้านเรามันจะเป็นอย่างไร ค่าคอมมิชชันในการขายสินค้ามันจะสูงขึ้นไปถึงขนาดไหน สามารถดูที่อินเดียเป็นตัวอย่าง เพราะมีการปรับค่าคอมมิชชั่นต่าง ๆ ไปสูงถึง 15 ถึง 20%
ซึ่งส่วนตัวผมก็มองว่าในประเทศไทยเองหากเหลือเพียงแค่สองรายทั้ง Shopee และ Lazada มันมีโอกาสสูงมาก ๆ ที่ตัวเลขอาจจะถีบตัวไปสูงถึง 15 ถึง 20% ได้ ซึ่งจะทำให้พ่อค้าชาวไทยลำบากมากยิ่งขึ้น
การถือกำเนิดของ Open Network for Digital Commerce
อินเดียเห็นปัญหานี้ก็พยายามแก้ปัญหา พวกเขาได้เปิดตัวระบบที่มีชื่อว่า Open Network for Digital Commerce (ONDC) ที่ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มกลางที่เป็นโอเพ่นซอร์สเป็นเครือข่ายแบบเปิดสำหรับการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการผ่านเครือข่ายดิจิตอล พวกเขาจะสร้างมาตรฐานขึ้นมาใหม่โดยจะเป็นแบบเปิดไม่ขึ้นกับแพลตฟอร์มใด ๆ
ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถใช้ได้โดยจะอยู่ใน ecosystem ทั้งหมดในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ มันคล้ายกับโปรโตคอลอย่าง http ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านอินเทอร์เน็ต แต่ ONDC จะเกิดขึ้นกับการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ
มันเป็นแนวคิดที่ถือว่าน่าสนใจมากๆ อินเดียเห็นปัญหาแล้วพยายามที่จะเข้ามาแก้ไข ผู้ให้บริการรวมถึงผู้บริโภคจะสามารถใช้แอปพลิเคชันใด ๆ ก็ได้ทำงานร่วมกันได้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและจัดการธุรกรรมผ่านระบบ ONDC ที่จัดการโดยรัฐ
อินเดียจึงมองไปไกลมากกว่ารูปแบบการค้าแบบอีคอมเมิร์ซที่เน้นเป็นแพลตฟอร์มในปัจจุบัน ซึ่ง ONDC สามารถที่จะทำได้หลายอย่าง เช่น จัดการรายการสินค้า การจัดการสินค้าคงคลัง การจัดการคำสั่งซื้อ หรือรูปแบบการชำระเงิน
นั่นทำให้ธุรกิจขนาดเล็ก สามารถใช้แอปพลิเคชันที่เข้ากันได้กับ ONDC แทนที่จะถูกควบคุมจากแพลตฟอร์มบางแพลตฟอร์มโดยเฉพาะ
ส่งผลให้ผู้บริโภค ธุรกิจขนาดเล็ก สามารถถูกค้นพบได้ผ่านเครือข่าย สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ สามารถรองรับการชำระเงินแบบดิจิตอลได้ง่ายมากยิ่งขึ้นเพราะ ONDC จะทำให้อีคอมเมิร์ซครอบคลุมและเข้าถึงได้มากขึ้นสำหรับกลุ่มผู้บริโภค
ผู้บริโภคสามารถค้นหาผู้ค้า สินค้า หรือบริการใด ๆ โดยใช้แอพพลิเคชั่นหรือแพลตฟอร์มที่ต้องมาเชื่อมต่อกับ ONDC ซึ่งหากรัฐบาลเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์เหล่านี้เอง ทำให้สามารถบังคับให้แพลตฟอร์มทุกแพลตฟอร์มที่อยู่ในประเทศให้ต้องผ่านมาตรฐานนี้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มอิสระในการเลือกให้กับผู้บริโภคในท้ายที่สุด
ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าที่เหมาะสมกับพวกเขามากที่สุด สามารถเลือกสินค้าที่อยู่ในท้องถิ่นพวกเขาที่ต้องการได้ มีการส่งเสริมซัพพลายเออร์ที่อยู่ในท้องถิ่น มีการปรับปรุงประสิทธิภาพทางด้านโลจิสติกส์ของตนเอง
สุดท้ายผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์หากเป็นการดำเนินการโดยรัฐเอง แม้อาจจะต้องอัดงบประมาณไปบ้าง แต่สุดท้ายแล้วมันก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดกับธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจในประเทศของพวกเขาเอง รวมถึงผู้บริโภคที่แม้ก่อนหน้านี้พวกเขาอาจจะถูกสปอยล์มาจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ แต่สุดท้ายเมื่อรัฐลงมาดำเนินการมันก็ทำให้การแข่งขันต่าง ๆ เกิดความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้นในอนาคตนั้นเองครับผม
References :
https://ondc.org/
https://www.reuters.com/world/india/india-govts-open-e-commerce-network-ondc-expands-into-mobility-2023-03-23/
https://en.wikipedia.org/wiki/Open_Network_for_Digital_Commerce
https://techcrunch.com/2023/03/23/india-government-backed-open-e-commerce-network-expands-to-mobility/