CHIP WAR อเมริกาและพันธมิตร vs จีน รัสเซีย เมื่อชิปกลายเป็นปัจจัยชี้ขาดสงคราม

ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของอุตสาหกรรมชิปนั่นก็คือการปะทะกันของมหาอำนาจของโลกเรา ทั้งจีนสหรัฐฯหรือแม้กระทั่งรัสเซียที่ต่อสู้กันเพื่ออำนาจสูงสุด โดยทุกฝ่ายล้วนแล้วแต่จ้องไปที่อนาคตของวงการคอมพิวเตอร์เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบโดยเฉพาะในเรื่องการทหาร

มันเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อที่เซมิคอนดักเตอร์มันกำหนดสถานการณ์หลายอย่างที่โลกเราอาศัยอยู่ กำหนดรูปแบบทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ โครงสร้างเศรษฐกิจของโลก และดุลอำนาจทางทหาร

การพัฒนาชิปไม่ได้ถูกกำหนดโดยเฉพาะบริษัทเอกชนหรือว่าเหล่าผู้บริโภคเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรัฐบาลที่มีความทะเยอทะยานและความจำเป็นในเรื่องของสงคราม เรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ ที่เรื่องของชิปเข้าไปมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการเป็นปัจจัยชี้ขาดของสงครามหลายๆ ครั้ง

ต้องบอกว่าโลกเราผ่านสงครามที่เน้นใช้จำนวนกำลังพลหรือว่าอาวุธยุทโธปกรณ์มาอย่างยาวนาน แน่นอนว่าใครมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีความได้เปรียบกว่าก็มีโอกาสที่จะชนะสงครามได้มากกว่าไล่มาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง , สอง มาจนถึงสงครามใหญ่อย่างในเวียดนาม

ตอนนั้นยังไม่ได้เกิดการปฏิวัติของซิลิกอนวัลเลย์ทำให้เหล่าอาวุธหลายอย่างของสหรัฐอเมริกาเป็นอาวุธที่มีเทคโนโลยีที่แม้จะมีความล้ำหน้ามากที่สุดมากกว่าใครในยุคนั้น แต่เมื่อต้องเจอสงครามแบบกองโจรของทหารเวียดนาม ก็ไม่ สามารถที่จะจัดการได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทำให้ดูเหมือนว่าใกล้จะชนะแต่สุดท้ายพวกเขาก็ไม่สามารถเอาชนะทางฝั่งเวียดนามได้จึงต้องถอนกำลังออกไปในท้ายที่สุด

สงครามแบบกองโจรของทหารเวียดนาม ที่เทคโนโลยีอาวุธที่ไม่มีควาแม่นยำ ยากที่จะเอาชนะได้ (CR: Military-history.org)
สงครามแบบกองโจรของทหารเวียดนาม ที่เทคโนโลยีอาวุธที่ไม่มีควาแม่นยำ ยากที่จะเอาชนะได้ (CR: Military-history.org)

ซึ่งทางอเมริกาเองก็ได้มีการวางระเบิดปูพรมมากมายใช้งบประมาณประมาณศาล แต่ว่าด้วยความเก่าของเทคโนโลยีตอนนั้นซึ่งเป็นรูปแบบของหลอดสุญญากาศที่ใช้ในการนำทาง ทำให้อาวุธที่เดินทางไปถึงศัตรูมันก็ไม่ได้มีความแม่นยำมากเพียงพอ

แต่หลังจากการปฏิวัติของซิลิคอนวัลเลย์มีการผลิตชิปคุณภาพสูงขนาดเล็กเพิ่มขึ้นมามันส่งผลกระทบโดยตรงต่อนโยบายทางด้านการทหารโดยเฉพาะอาวุธสงคราม เพราะว่าบริษัทชิปในซิลิคอนวัลเลย์มีลูกค้ากลุ่มหลักๆ ของพวกเขาก็คือกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาเป็นกลุ่มแรก ๆ

พวกเขาต้องการปรับปรุงยุทธวิธีรวมถึงอาวุธให้มีความทันสมัยมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีชิปชั้นสูงเพื่อนำทางอาวุธเหล่านี้ให้มีความแม่นยำ สร้างระบบป้องกันต่างๆ ที่มีความแม่นยำเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งในช่วงนั้นก็เข้าสู่ยุคท้าย ๆ ของสงครามเย็น ทางสหภาพโซเวียตเองก็เริ่มเห็นภัยคุกคามที่น่าตกใจมากจากอาวุธของสหรัฐฯ ที่เริ่มพัฒนาโดยมีชิปที่ทันสมัยเข้าไปเกี่ยวข้อง

สหภาพโซเวียตเองก็เริ่มหันมาสร้างอุตสาหกรรมชิปในประเทศตนเอง มีการใช้การสายลับเพื่อทำการขโมยและลอกเลียนแบบเทคโนโลยีชิปของสหรัฐ

แต่ด้วยการที่การสร้างชิปมันไม่ง่ายเหมือนพวกแอปพลิเคชันหรือเทคโนโลยีอย่าง AI ที่มันสามารถเลียนแบบได้ง่ายๆแต่การผลิตชิปมันต้องใช้องค์ประกอบหลายอย่างมากๆ ทั้งเรื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตซึ่งส่วนใหญ่ถูกควบคุมโดยพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา

ต้องเรียกได้ว่ามันเป็นการวางยุทธศาสตร์ของอเมริกาไว้แล้ว ถึงแม้พวกเขาจะไม่ชนะในสงครามชิป ในอุปกรณ์ของผู้บริโภคที่โดนญี่ปุ่น,เกาหลีใต้รวมถึงไต้หวันเอาชนะไปได้ แต่ในเรื่องการทหารพวกเขาไม่ปล่อยให้ศัตรูของตนเองได้รับเทคโนโลยีเหล่านี้ไปง่ายๆ อย่างแน่นอน

เทคโนโลยีชิปมันส่งผลต่อเรื่องภูมิศาสตร์ทางการเมือง ความมั่นคง และอำนาจของอเมริกา การมีพันธมิตรอย่างญี่ปุ่น,เกาหลีใต้ ,เนเธอร์แลนด์หรือสิงคโปร์ ทำให้พวกเขามีประสิทธิภาพมากกว่าในการกระจายต้นทุน R&D และการผลิตในตลาดเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่กว่าสหภาพโซเวียตเป็นอย่างมาก

สหภาพโซเวียตเองมีพันธมิตรไม่กี่รายส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เยอรมันตะวันออกที่ตอนนั้นปกครองโดยโซเวียตก็มีอุตสาหกรรมชิปที่ก้าวหน้าพอๆ กับสิ่งที่โซเวียตมี ความพยายามหลายๆอย่างของโซเวียดก็ทำให้ได้ชิปที่มีคุณภาพต่ำ ความก้าวหน้ายังน้อยกว่าประเทศญี่ปุ่นด้วยซ้ำในราคาต้นทุนที่สูงกว่าเป็น 10 เท่า

อุปกรณ์ในการผลิตขั้นสูงของโลกตะวันตกโดยพันธมิตรของอเมริกาก็สามารถเข้าถึงได้ยาก ในขณะที่เยอรมันตะวันออกไม่มีแรงงานราคาถูก ทว่าบริษัทในซิลิกอนวัลเลย์สามารถจ้างงานไปทั่วเอเชียได้และกลายมาเป็นพันธมิตรที่สำคัญของพวกเขา

ความพยายามของโซเวียตในการฟื้นฟูผู้ผลิตชิปเรียกได้ว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงทั้งโซเวียตและพันธมิตรสังคมนิยมไม่สามารถไล่ตามทันโลกตะวันตกได้แม้จะมีหน่วยสืบราชการลับจำนวนมาก เงินจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลเข้ามาในศูนย์ วิจัยในมอสโควเองก็ตาม

และสุดท้ายพวกเขาก็ได้เห็นภาพที่น่าสะพรึงกลัวมากๆ กับการปฏิวัติอุตสาหกรรมชิปของอเมริกาเมื่อมันถูกแสดงให้โลกเห็นในสมรภูมิรบของอ่าวเปอร์เซีย

เมื่อรัสเซียต้องช็อคกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสงครามอ่าว

ในวันที่ 17 มกราคมปี 1991 เครื่องบินทิ้งระเบิดล่องหน F-117 ของอเมริการะลอกแรกได้ออกจากฐานทัพอากาศของพวกเขาในซาอุดิอาระเบีย เครื่องบินสีดำของพวกเขาหายไปอย่างรวดเร็วในท้องฟ้าทะเลทรายอันมืดมิดเป้าหมายของพวกเขาคือกรุงแบกแดด

สหรัฐอเมริกาไม่เคยสู้รบในสงครามใหญ่มาตั้งแต่สงครามเวียดนาม แผนทำลายโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารของอิรัก มีการส่งเครื่องบินสองลำบินเข้าหาเป้าหมายปล่อยระเบิดนำวิถีเลเซอร์ Paveway หนัก 2,000 ปอนด์ ทำลายโรงงานและทุกอย่างแทบจะราบเป็นหน้ากลองทันที

ภายในปี 1991 บริษัท Texas Instruments ได้ปรับปรุงระเบิด Paveway หลายครั้งโดยแต่ละเวอร์ชั่นใหม่จะแทนที่วงจรที่มีอยู่ด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ลดจำนวนส่วนประกอบเพิ่มความแม่นยำและเพิ่มคุณสมบัติใหม่ให้กับมันอย่างต่อเนื่อง

ระเบิดนำวิถีเลเซอร์ Paveway ที่ติดชิปชั้นสูง (CR:Wikipedia)
ระเบิดนำวิถีเลเซอร์ Paveway ที่ติดชิปชั้นสูง (CR:Wikipedia)

พวกมันสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายไม่จำเป็นต้องเลือกเป้าหมายล่วงหน้า แต่สามารถเลือกได้ในสนามรบ ในขณะเดียวกันอัตราความแม่นยำก็สูงมาก ๆ

เครื่องบินที่ใช้เลเซอร์นำวิถีในการโจมตีด้วยระเบิดเป้าหมาย สามารถทำลายล้างได้มากกว่าถึง 30 เท่าเมื่อเทียบกับเครื่องบินที่ไม่มีอาวุธนำวิถี

ระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์เป็นหนึ่งในระบบทางการทหารหลายสิบระบบที่ได้รับปฏิวัติโดยซิลิกอนวัลเลย์ทำให้สามารถเฝ้าระวังการสื่อสารและประมวลผลได้ดีขึ้น

สงครามอ่าวเปอร์เซียเป็นการทดสอบครั้งใหญ่ครั้งแรกของการปฏิวัติครั้งนี้ มันมีความแม่นยำมากกว่าในสงครามเวียดนามถึง 6 เท่า

นักวิเคราะห์ทางทหารคนนึงได้อธิบายกับสื่อถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสงครามอ่าวเปอร์เซียว่า “มันเป็นชัยชนะของซิลิกอนเหนือเหล็ก”

เรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญมากๆ เมื่อทางรัสเซียได้เห็นศักยภาพที่สุดยอดมากๆ ของอาวุธใหม่จากอเมริกาทำให้พวกเขาเริ่มกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการป้องกันภัยทางอากาศของตนเอง นั่นเองไม่แปลกใจที่หลังจากนั้นไม่นานรัสเซียก็รู้ตัวว่าพวกเขาไม่สามารถสู้อเมริกาได้อีกต่อไป

ซึ่งมันส่งผลมาถึงยุคปัจจุบันอย่างสงครามยูเครนที่เราเห็นในปัจจุบันก็ต้องบอกว่าตอนนี้มันไม่ใช่โลกของสงครามที่การที่มีจำนวนกำลังพลที่มากกว่าจะสามารถเอาชนะได้อีกต่อไปแล้ว

การปฏิวัติซิลิกอนวัลเลย์ได้ปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของสงครามไปอย่างสิ้นเชิง การมีอาวุธด้วยชิปที่มีนวัตกรรมที่สูงกว่า สามารถเอาชนะกองทัพที่มีจำนวนกำลังพลมากกว่าได้อย่างง่ายดายแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและรวดเร็วมากๆ

ยูเครนก็เป็นหนึ่งในพันธมิตรของอเมริกาในตอนนี้พวกเขาก็ได้รับอาวุธจากนาโตหรืออเมริกาซึ่งมีชิปที่มีคุณภาพสูงที่ สามารถต่อกรกับรัสเซียได้มาจวบจนถึงปัจจุบัน

รัสเซียแม้จะมีกำลังมากมายมหาศาลแต่พวกเขาก็ไม่สามารถเอาชนะยูเครนได้อย่างง่ายดาย แน่นอนว่าอุตสาหกรรมชิปคือส่วนสำคัญและเป็นปัจจัยสำคัญมากๆ ที่ชี้ขาดสงครามยูเครนได้

เรื่องชิปไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับประเทศจีน

เช่นเดียวกันในประเทศจีนที่นำโดย สีจิ้นผิง แม้พวกเขาจะมีนวัตกรรมมากมายทางแอพพลิเคชั่นหรือเทคโนโลยีด้าน AI ระดับสูง

แต่ว่าเรื่องของการผลิตชิปมันเป็นอีกเรื่องนึง มันเป็นคนละโลกกันเลย ในประเทศจีนแม้จะมีนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำที่มีความสามารถสูงมากๆ แต่พวกเขาก็ไม่สามารถที่จะผลิตชิปคุณภาพสูงออกมาได้ด้วยตนเอง

สิ่งที่สำคัญมากๆในความคิดของ สีจิ้นผิง ก็คือชิปที่ขับเคลื่อนเหล่าคอมพิวเตอร์สมาร์ทโฟน และ ศูนย์ข้อมูลของจีน เพราะว่าตอนนี้แม้พวกเขาจะมีแอพพลิเคชั่นมากมายที่ใช้ภายในประเทศ แต่ว่าสุดท้ายสิ่งต่างๆเหล่านี้ถูกขับเคลื่อนด้วยชิปที่มาจากอเมริกาล้วนๆ

ช่วงปี 2000 และปี 2010 จีนได้ใช้จ่ายในการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์มากกว่าน้ำมัน ชิปพลังงานสูงมีความสำคัญเทียบเท่าน้ำมันในการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน แต่มันต่างจากน้ำมันตรงที่อุปทานของชิปถูกผูกขาดโดยคู่แข่งทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีนแทบจะทั้งสิ้นโดยเฉพาะเหล่าพันธมิตรของอเมริกา

เรียกได้ว่าปัญหาของจีนไม่ได้อยู่ที่การผลิตชิปเท่านั้นแต่ว่ามันอยู่ในเกือบทุกขั้นตอนกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์จีนพึ่งพาเทคโนโลยีดังกล่าวจากต่างประเทศซึ่งเกือบทั้งหมดถูกควบคุมโดยคู่แข่งทางภูมิศาสตร์ของจีนไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้หรือสหรัฐอเมริกา

ในขณะที่บริษัทเทคโนโลยีของจีนเองผลักดันในเรื่องอื่นๆ เช่น คลาวด์คอมพิวติ้ง ยานพาหนะไร้คนขับ หรือปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI

บริษัทเทคโนโลยีของจีนเองผลักดันในเรื่องอื่นๆ เช่น คลาวด์คอมพิวติ้ง ยานพาหนะไร้คนขับ หรือปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (CR:Cloud Employee)
บริษัทเทคโนโลยีของจีนเองผลักดันในเรื่องอื่นๆ เช่น คลาวด์คอมพิวติ้ง ยานพาหนะไร้คนขับ หรือปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (CR:Cloud Employee)

แต่ความต้องการของพวกเขาในชิปเซิร์ฟเวอร์ x86 ที่ต้องใช้ในศูนย์ข้อมูลสมัยส่วนใหญ่ก็ยังถูกครอบงำโดย AMD และ Intel ไม่มีบริษัทจีนที่สามารถผลิต GPU ที่สามารถแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์ พวกเขาจึงต้องพึ่งพาทั้ง Nvidia และ AMD เป็นหลัก

จีนที่ต้องการกลายเป็นมหาอำนาจด้าน AI ก็ต้องยิ่งพึ่งพาชิปจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น เว้นแต่ว่าจีนจะค้นพบวิธีการออกแบบและผลิตมันได้เอง

รัฐบาลที่ได้กำหนดแผนการที่เรียกว่า Made in China 2025 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะลดส่วนแบ่งการนำเข้าของจีนในการผลิตชิปจาก 85% ในปี 2015 ให้เหลือเพียง 30% ภายในปี 2025

แต่ก็ต้องบอกว่ามันเป็นเป้าหมายที่ไกลเกินฝันมากๆ สำหรับจีนเอง เนื่องจากพวกเขาเสียเปรียบเป็นอย่างมาก เพราะว่าประเทศอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ และไต้หวันเข้ามามีอำนาจเหนือขั้นตอนสำคัญของกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์โดยมีการบูรณาการอย่างลึกซึ้งกับอุตสาหกรรมชิปของสหรัฐ

ซึ่งจากเรื่องราวทั้งหมดมันแสดงให้เห็นถึงความยากในเรื่องอุตสาหกรรมชิปและการวางแผนกลยุทธ์ไว้อย่างดีของสหรัฐอเมริกา เพราะชิปเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกของสหรัฐอเมริกามาจวบจนถึงทุกวันนี้นั่นเองครับผม

References :

เรียบเรียงจากหนังสือ Chip War: The Fight for the World’s Most Critical Technology โดย Chris Miller
https://www.theatlantic.com/international/archive/2022/10/biden-export-control-microchips-china/671848/