Spotify vs Apple เมื่อเกิดศึกระหว่างนักพัฒนากับผู้คุมกฎที่แข่งขันทางธุรกิจกันโดยตรง

การได้ควบคุม ecosystem ทั้งหมดของแพลตฟอร์มนั้น ก็คงไม่ต่างจากมาเฟียที่คุมถิ่นของตนเอง ใครคิดจะทำอะไรออกนอกหน้า หรือ คิดจะมาหากินในถิ่นของพวกเขา ก็ต้องมีเรื่องกระทบกระทั่งกันเป็นเรื่องธรรมดา

มันไม่ใช่เคสแรกที่เกิดขึ้น ที่ Apple มีปัญหากับบริษัททางด้านเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่อาศัย ecosystem ของ Apple ในการทำมาหากิน

ก่อนหน้านี้มีประเด็นกับทั้งบริษัทเกมอย่าง Epic ในเรื่องส่วนแบ่งรายได้ ที่ Epic มองว่า Apple นั้นขูดรีดขูดเนื้อพวกเขามากจนเกินไป หรือ การปรับ policy ครั้งใหม่ที่ Apple อ้างว่าข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้นั้นพวกเขาหวงแหนเป็นอย่างมากและส่งผลกระทบต่อ Facebook โดยตรง แต่ตรงกันข้าม ตอนนี้ Apple กำลังรุกเข้าสู่ธุรกิจโฆษณาโดยอาศัยข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้แบบเต็มตัว

Epic ที่เคยมีปัญหากับ Apple มาก่อนในประเด็นเดียวกันนี้ (CR:CNN)
Epic ที่เคยมีปัญหากับ Apple มาก่อนในประเด็นเดียวกันนี้ (CR:CNN)

ศึกครั้งใหม่นี้ ในที่สุดก็ต้องมาปะทะกันอีกครั้ง เอาจริง ๆ Apple ก็แทบไม่ชอบขี้หน้า Spotify เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นคู่แข่งโดยตรงในบริการสตรีมมิ่งเพลงที่ Apple นั้นส่ง Apple Music ลงสนาม

Spotify เป็นผู้มาก่อน และเป็นคนแรกที่ปฏิวัติวงการสตรีมมิ่งให้เกิดขึ้นจริง เปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ จากเดิมที่อุตสาหกรรมเพลงนั้นเกือบจะล้มละลายกันอยู่แล้ว เนื่องจากปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์

แต่ Daniel Ek กับเหล่าวิศวกรยอดอัจฉริยะของเขา ก็ได้สร้างสิ่งที่คนในวงการเพลงต้องตกตะลึง ด้วยการสตรีมมิ่งที่ใช้เวลาในการรอฟังน้อยมาก ๆ ทำให้คนส่วนใหญ่เลิกไปโหลดเพลงจากเว็บไซต์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์เพลง ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของวงการเพลงเลยก็ว่าได้

Daniel Ek ต้องการให้บริษัทของเขาเป็นช่องทางหลักในโลกของเสียง แต่เมื่อเขาผลักดันบริการสมัครสมาชิกนอกเหลือจากเพลงและ podcast อย่าง Audiobooks เขาก็ได้พบอุปสรรคที่เหมือนกำแพงยักษ์คอยกั้นขวางไว้นั่นก็คือ Apple

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา Apple ผู้ดูแล App Store ได้ปฏิเสธแอปของ Spotify ถึงสามครั้ง โดยกล่าวว่าฟีเจอร์ Audiobooks ใหม่ของ Spotify นั้นละเมิดกฎของ Apple ที่ควบคุมวิธีที่นักพัฒนาสื่อสารกับลูกค้าเกี่ยวกับการซื้อออนไลน์

Daniel Ek ที่มองว่า Apple ขัดขวางคู่แข่ง (CR:Celebrity Net Worth)
Daniel Ek ที่มองว่า Apple ขัดขวางคู่แข่ง (CR:Celebrity Net Worth)

มันเป็นสงครามที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนานระหว่าง Spotify และ Apple ซึ่งเป็นเวลากว่า 7 ปีแล้วที่บริษัทต่าง ๆ ไม่เห็นด้วยกับกฎเกณฑ์ของ Apple ในการเก็บค่าธรรมเนียม 30% สำหรับบริการและผลิตภัณฑ์ที่ขายใน App Store

Spotify มองว่าความขัดแย้งเกี่ยวกับ Audiobooks นั้นเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของวิธีที่ Apple ขัดขวางคู่แข่ง ซึ่งนับตั้งแต่มีการร้องเรียนเรื่องการต่อต้านการผูกขาดกับ Apple ในยุโรปในปี 2019

Spotify ได้เรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลและผู้ร่างกฎหมายให้อิสระแก่นักพัฒนาแอปในการบอกลูกค้าเกี่ยวกับวิธีการซื้อผลิตภัณฑ์และบริการนอกระบบการชำระเงินของ Apple ซึ่งมันเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับแอปจำนวนมาก

ส่วนฝั่งของ Google Play นั้นน Spotify แทบไม่มีปัญหาใด ๆ ทาง Google อนุมัติแอป Android ของ Spotify ให้ผู้ฟังคลิกปุ่มและรับอีเมลเกี่ยวกับวิธีการซื้อหนังสือเสียงออนไลน์ได้

บทสรุป

มันก็ต้องมองทั้งสองมุมนะครับในเรื่องนี้เพราะ Apple ก็กำหนดทุกสิ่งทุกอย่างไว้ตั้งแต่แรก เมื่อเหล่านักพัฒนาคิดจะทำอะไรบนแพลตฟอร์มของ Apple มันก็มีกฎเกณฑ์ที่ระบุไว้ตั้งแต่การเริ่มพัฒนาอยู่แล้ว

Apple ก็สามารถมองได้ว่าการจัดจำหน่าย iPhone และ iPad หลายพันล้านเครื่องช่วยให้ Spotify และแอปอื่นๆ ประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกัน และพวกเขาทำทุกอย่างเพื่อความปลอดภัยของลูกค้าใน ecosystem ของพวกเขา

มุมมองฟากฝั่งนักพัฒนาก็อยากที่จะได้รายได้มากที่สุดจากหยาดเหงื่อแรงกายของพวกเขาในการสร้างฟีเจอร์หรือนวัตกรรมต่าง ๆ ขึ้นมา

มันคงเป็นเรื่องโต้เถียงกันไปอีกนานสำหรับเรื่องนี้ โดยเฉพาะกับบริษัทที่มีปัญหากับ Apple มาก่อนอย่าง Spotify ซึ่งท้ายที่สุด ใครก็ตามที่คุม ecosystem ทุกอย่างได้แบบเบ็ดเสร็จ ก็จะเปิดช่องทางให้พวกเขาสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ทุกอย่างได้อย่างที่พวกเขาต้องการเหมือนที่ Apple กำลังทำอยู่ในตอนนี้นั่นเองครับผม

References :
https://www.theverge.com/2022/10/25/23423384/spotify-apple-competitive-behavior-antitrust-commission-audiobooks
https://www.nytimes.com/2022/10/25/business/spotify-apple-audiobooks-app.html

Geek Daily EP152 : หนึ่งปีให้หลังกับการทดลอง Bitcoin ของเอลซัลวาดอร์ได้รับการพิสูจน์ว่าล้มเหลวจริงหรือ?

ปีที่แล้วเอลซัลวาดอร์กลายเป็นประเทศแรกที่เสนอ Bitcoin ให้ถูกกฎหมาย ควบคู่ไปกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อแทนที่สกุลเงินของตัวเองคือโคลอน ประธานาธิบดี Nayib Bukele ผู้ที่ชื่นชอบคริปโตเคอเรนซี ได้ส่งเสริมความคิดริเริ่มที่จะให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจหลายประการ

หนึ่งปีผ่านไป มีหลักฐานมากเกินพอที่จะสรุปว่า Bukele ผู้ซึ่งเรียกตัวเองว่า ” เผด็จการที่เจ๋งที่สุดในโลก ” กับการทดลองทางการเงินที่กล้าหาญนี้พิสูจน์แล้วว่าเป็นความล้มเหลวที่เกือบจะสมบูรณ์

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://bit.ly/3DqJYYX

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://apple.co/3D8GVnL

🎧 ฟังผ่าน Google Podcast : 
https://bit.ly/3SuncVq

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://spoti.fi/3W27cNu

🎧 ฟังผ่าน Youtube : 
https://youtu.be/hQc7PXCkxnA

Credit Image : bitcoinist

กับดัก Self-driving Car เมื่อการปฏิวัติรถยนต์ไร้คนขับยังคงติดหล่มกับการพัฒนาที่ล่าช้า

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องบอกว่า ยังไม่มีบริษัทยานยนต์ที่พัฒนารถยนต์แบบอัตโนมัติไร้คนขับ กล้าการันตีความปลอดภัยได้แบบ 100% เต็ม เพราะฉะนั้น ใครที่กำลังใช้งานอยู่ ก็ยังต้องพบกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์นัก

Elon Musk CEO ของ Tesla ยอมรับว่าซอฟต์แวร์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองเต็มรูปแบบยังไม่พร้อมที่จะใช้งานโดยไม่มีใครนั่งอยู่หลังพวงมาลัย 

Mobileye หน่วยขับเคลื่อนอัตโนมัติของ Intel ได้ลดความคาดหวังในการประเมินมูลค่าจาก 50 พันล้านดอลลาร์เหลือ เพียงแค่ 16 พันล้านดอลลาร์ สื่อหลายแห่งได้ตีพิมพ์เรื่องราวที่เย้ยหยันภาคธุรกิจนี้สำหรับความล้มเหลวหลังจากการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์

แน่นอนว่ามันเป็นความพยายามที่แพงมาก McKinsey ทุ่มเงินลงทุนทั้งหมดกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2010 ปีที่แล้วเพียงปีเดียว การระดมทุนในบริษัทยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติมีมูลค่ามากกว่า 12 พันล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลของ CB Insights

การพัฒนาก็ช้ากว่าที่คาดไว้มากเช่นกัน ความฝันของรถยนต์ไร้คนขับมีมานานมาก ๆ  ยุคสมัยใหม่สามารถย้อนไปถึงโครงการขับเคลื่อนด้วยตนเองของ Google ซึ่งปัจจุบันคือ Waymo ที่เริ่มในปี 2009

Waymo ของ Google ที่เริ่มต้นพัฒนาในปี 2009 (CR:CNBC)
Waymo ของ Google ที่เริ่มต้นพัฒนาในปี 2009 (CR:CNBC)

ในปี 2018 ดูเหมือนว่าความฝันที่จะได้เห็นรถยนต์แบบไร้คนขับอยู่บนถนนทุกสายจะใช้เวลาอีกเพียงไม่กี่เดือน Uber อ้างว่าอีกไม่นานจะเลิกใช้คนขับที่เป็นมนุษย์ ในขณะที่ Waymo และ Lyft กำลังเปิดตัวโครงการ robotaxi  บริษัทร่วมทุนยักษ์ใหญ่ไล่ตั้งแต่ SoftBank ไปจนถึง Apple ต่างก็ลงทุนในเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทุกอย่างก็ดิ่งลงเหว ในปีเดียวกันนั้นเอง รถยนต์ไร้คนขับของ Uber ได้ฆ่าผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังข้ามถนนในรัฐแอริโซนา การทดสอบหยุดลงและการมองโลกในแง่ดีนั้นล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง สองปีต่อมา Uber ขายหน่วยรถยนต์ไร้คนขับให้กับ Aurora ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพในท้องถิ่น

ความท้าทายยังคงมีอยู่มาก รถยนต์ไร้คนขับไม่เพียงต้องควบคุมกลไกของยานพาหนะเท่านั้น แต่ยังต้องเข้าใจโลกรอบตัวและตัดสินใจอย่างรวดเร็วเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป 

เนื่องจากมนุษย์เราไม่ได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถยนต์ไร้คนขับไว้ตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยถนนที่วุ่นวายและยุ่งเหยิง เต็มไปด้วยผู้ขับขี่นับล้านที่ตัดสินใจอย่างไม่สมเหตุสมผล รถยนต์ต้องไม่เพียงแค่ต้องมองสิ่งกีดขวางข้างหน้า แต่ต้องรู้ตัวเองว่ากำลังจะเคลื่อนตัวหรือไม่ และถ้าเห็นสิ่งกีดขวางจะต้องไปในทิศทางใด

การทดสอบ robotaxi ของ Cruise นั้นค่อนข้างมีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม รถยนต์สามารถขับได้ระหว่างเวลา 22:00 น. – 05.30 น. เท่านั้น ถ้าต้องการแสดงให้ผู้เยี่ยมชมเห็นถึงความมหัศจรรย์ของยานยนต์ไร้คนขับ ก็ต้องรอตอนกลางคืนและต้องแน่ใจว่าการขับขี่อยู่ในส่วนที่ถูกต้องของเมือง

robotaxi ของ Cruise ที่แสดงศักยภาพได้เฉพาะตอนกลางคืน (CR:Electrek)
robotaxi ของ Cruise ที่แสดงศักยภาพได้เฉพาะตอนกลางคืน (CR:Electrek)

แต่อย่างไรก็ตามแวดวงยานยนต์ไร้คนขับก็สามารถระดมทุนได้เงินมาเรื่อยๆ รถยนต์ไร้คนขับเป็นตัวอย่างหนึ่งของความผิดพลาดด้านต้นทุน ซึ่งการเริ่มต้นที่ช้าไม่ได้ถูกมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการนำไปใช้ในท้ายที่สุด 

Uber ได้ลงนามในข้อตกลงกับ Motional ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่ทำงานร่วมกับ Lyft เพื่อเสนอบริการขับขี่อัตโนมัติในเวกัส Cariad บริษัทซอฟต์แวร์ยานยนต์ของ Volkswagen กำลังลงทุน 2 พันล้านดอลลาร์ในความร่วมมือกับ Horizon Robotics ผู้ผลิตชิปสัญชาติจีน 

Waymo กำลังวางแผนที่จะขยายบริการ robotaxi ไปยังลอสแองเจลิส และ Cruise หวังว่าจะได้รับการอนุมัติด้านกฎระเบียบสำหรับ robotaxis โดยไม่ต้องใช้คันเหยียบหรือพวงมาลัย

ต้องบอกว่าเส้นทางของเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับนั้นมันเป็นเส้นทางที่ขรุขระและมีราคาแพง อาจยังต้องใช้เวลาหลายปีก่อนที่รถยนต์เหล่านี้จะแพร่หลายและมีความปลอดภัยจริง ๆ  

แต่สำหรับบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกหลายแห่ง ยานยนต์ไร้คนขับยังคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่พวกเขาต้องเข้าไปมีส่วนร่วม ไม่ให้ตกขบวนในการพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตนี้นั่นเองครับผม

References :
https://www.ft.com/content/cf443342-fb39-4877-bedd-3385f33be062
https://www.roboticsbusinessreview.com/consumer/self-driving-car-features-to-know-before-you-get-behind-the-wheel/
https://www.ft.com/content/134a2249-dac6-42e9-a825-ce212bfc5b59
https://www.ft.com/content/ced77258-936e-42a0-b3d9-e916273ba671

Geek Monday EP152 : เมื่อแอป Delivery Service เหลือรอดเพียงไม่ถึงครึ่งหลังหมดยุคการแพร่ระบาด

ในขณะที่ผู้บริโภคที่กังวลใจหลีกเลี่ยงซูเปอร์มาร์เก็ตในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีจึงมองหาโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนในการคิดค้นธุรกิจส่งอาหารแบบด่วน ๆ เพื่อตอบรับการ lockdown ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ภายในกลางปี ​​2021 มีบริษัทสตาร์ทอัพมากกว่าโหลเปิดตัวทั่วสหรัฐอเมริกาและยุโรป โดยสัญญาว่าจะจัดส่งของชำ, อาหารผ่านบริการจัดส่งภายในเวลาเพียง 10 นาที แต่กลายเป็นว่าภายในฤดูร้อนปี 2022 บริษัทเหล่านั้นยังคงหลงเหลืออยู่เพียงไม่ถึงครึ่ง

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://bit.ly/3z8WqLj

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://apple.co/3gD5p0M

🎧 ฟังผ่าน Google Podcast : 
https://bit.ly/3TsXEJB

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://spoti.fi/3MXGpO4

🎧 ฟังผ่าน Youtube : 
https://youtu.be/LyLNWyTjl3I

Credit Image : lexpansion.lexpress.fr

Virtual Duopoly กับการแข่งขันที่ไม่มีอยู่จริงเมื่อเหลือคู่แข่งเพียงแค่ 2 ราย

กลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์ที่มีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดกับ hashtag อย่าง #หยุดผูกขาดมือถือ กับข่าวการควบรวมกิจการของเบอร์สองและเบอร์สามอย่าง True และ Dtac

ก็ต้องบอกว่ารูปแบบของ Duopoly นั้น มีเคส study ในหลากหลายธุรกิจมาก ๆ ที่เมื่อคู่แข่งเหลือเพียงแค่ 2 ราย การแข่งขันก็ถึงจุดสิ้นสุดทันที แทบจะจับมือกับขูดรีดผู้บริโภคแบบเนียน ๆ

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่เห็นภาพมาก ๆ ธุรกิจ ecommerce ในไทยตอนนี้ที่เหลือแทบจะเพียงแค่ Lazada และ Shopee นั้น แทบจะไม่แข่งขันกันแล้ว หากไปดูอัตราค่าคอมมิชชั่นที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีทีท่าจะหยุด หรือค่าบริการต่าง ๆ ที่ชาร์จกับโดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เมื่อนำตัวเลขมาเปรียบเทียบกันทั้งสองแพลตฟอร์มนั้น แทบจะไม่มีการแข่งขันกันอีกต่อไป

แต่ในธุรกิจคมนาคม สิ่งนี้ก็มีเคส study ที่น่าสนใจในประเทศอินเดียเช่นเดียวกัน

ต้องบอกว่า อินเดียมีประชากรมากมายมหาศาลเป็นพันล้านคน โดยมีบริษัทด้านโทรคมนาคมเพียงแค่ 12 แห่งที่ให้บริการภายในประเทศของพวกเขา

แต่หลายรายก็ต้องยอมแพ้ในธุรกิจไป และกำลังส่งผลให้ภาคโทรคมนาคมของอินเดียนั้นค่อย ๆ กลายเป็น duopoly คล้าย ๆ กับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีเพียงแค่ Jio และ Airtel เท่านั้นที่กลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ ซึ่งสร้างภัยคุกคามต่อตลาดที่มีการแข่งขันที่ดีมาโดยตลอด

Jio นั้นเข้าสู่ตลาดอินเดียในปี 2016 พร้อมกับโปรโมชั่นด้านราคา ส่งผลต่อการแข่งขันในตลาด ทำให้บริษัทรายอื่น ๆ เช่น BSNL และ Vodafone ต้องเผชิญกับวิกฤติทางการเงิน

นั่นทำให้แนวโน้มของธุรกิจโทรคมนาคมของอินเดียกำลังเปลี่ยนไปสู่การผูกขาด

ในขณะที่ BSNL มีส่วนแบ่งการตลาด 10% ส่วน Vodafone มี 25% และส่วนแบ่งก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง BSNL นั้นอยู่ในภาวะวิกฤติจนไม่สามารถที่จะจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานได้ ในขณะที่ Vodafone กำลังเข้าสู่ภาวะล้มละลายทางด้านการเงิน

การเกิด Duopoly ของอินเดีย จะนำไปสู่การแข่งขันที่ลดลงอย่างน่าตกใจ ซึ่งอาจจะทำให้ราคาสูงขึ้น และมีการอัพเกรดเทคโนโลยีน้อยลง และคุณภาพบริการที่ต่ำลง ภาครัฐของอินเดียจึงใส่ใจกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก

สิ่งที่รัฐบาลอินเดียทำ

รัฐบาลอินเดียมองเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นจึงพยายามทำหลายอย่างเพื่อหยุดอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจากการผูกขาด หนึ่งในนั้นคือการจำกัดการถือครองคลื่นไว้ที่ 35% ของผู้ให้บริการแต่ละราย

อีกทางเลือกคือการเลื่อนการชำระหนี้สัมปทานคลื่นความถี่ให้กับผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่มีปัญหา โดยยืดเวลาให้ถึง 2 ปี รวมถึงลดค่าปรับต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากปัญหาการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นกับผู้บริการโทรคมนาคมที่มีปัญหา

แม้จะมีนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาล แต่ผู้ให้บริการอย่าง Vodafone ก็ยังต้องการความช่วยเหลืออย่างมากเพื่อความอยู่รอด ซึ่งพวกเขาต้องการได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้พวกเขาต้องถอนตัวจากการแข่งขัน

บทสรุป

ต้องบอกว่าบริการด้านโทรคมนาคม เป็นบริการที่สำคัญอย่างยิ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีที่มีความสำคัญต่อประเทศมาก ๆ

แทบจะทุกธุรกิจ ในปัจจุบันหรือแม้กระทั่งหน่วยงานรัฐเองก็ต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ทั้งด้านบริการทางการแพทย์ ขนส่ง การชอปปิ้งออนไลน์ แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง เครือข่ายโซเชียลมีเดีย หรืออื่น ๆ อีกมากมายที่บริการด้านโทรคมนาคมนั้นเป็นสิ่งสำคัญต่อการขับเคลื่อนธุรกิจ

แม้มันจะไม่ใช่รูปแบบของ Monopoly แบบผูกขาดเบ็ดเสร็จ เหมือนในหลาย ๆ ธุรกิจที่เกิดขึ้น แต่การมีคู่แข่งเพียงแค่สองรายกับอุตสาหกรรมที่สำคัญเช่นนี้ มันก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลหลาย ๆ ประเทศไม่อยากให้เกิดขึ้นน

เราได้เห็นปัญหาเรื่องซีเรียสแบบนี้ที่รัฐบาลอินเดียต้องเข้ามาแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะเมื่อก่อนมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ผู้บริโภคได้รับสิ่งที่ดีที่สุด แต่การเหลือคู่แข่งเพียงสองรายทำให้ผู้บริโภคเหลือตัวเลือกไม่มากนัก

มันเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาลอินเดีย และหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ในการปกป้องผู้บริการอย่าง Vodafone และ BSNL ให้อยู่ในตลาด เพื่อหยุดแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นของการผูกขาด

มันก็น่าตกใจเหมือนกันนะครับว่าเหตุใดประเทศไทยจึงเดินมาถึงจุดนี้ได้?

References:
https://scandasia.com/true-and-dtac-shareholders-approve-the-creation-of-thailands-largest-operator/
https://blog.finology.in/recent-updates/virtual-duopoly-telecom-sector
https://www.lightreading.com/asia/is-india-moving-towards-duopoly/d/d-id/770753
https://timesofindia.indiatimes.com/blogs/toi-editorials/two-is-too-few-telecom-is-a-huge-growing-and-critical-market-it-needs-more-than-a-duopoly/