เมื่อ TikTok กลายเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพที่มาแรงอันดับต้น ๆ ของคนอเมริกัน

ในยุคนี้ เราอาจจะได้เห็นญาติผู้ใหญ่ ทั้ง พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ที่มักแชร์อะไรมาแปลก ๆ โดยเฉพาะข้อมูลด้านสุขภาพ และที่น่าตกใจข้อมูลเหล่านั้นมักมาจาก TikTok

เรียกได้ว่าเป็นข้อมูลที่ซีเรียสมาก ๆ เลยทีเดียวนะครับ มันไม่ใช่แค่เกิดในประเทศไทยเท่านั้น แม้ในประเทศอย่างอเมริกาเองสิ่งเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ

จากการสำรวจครั้งใหญ่ของผู้ใหญ่ชาวอเมริกัน 2,000 คนโดยบริษัทบัตรส่วนลดตามใบสั่งแพทย์ CharityRx ชาวอเมริกันเกือบ 1 ใน 5 เลือกที่หาข้อมูลใน TikTok เพื่อหาคำแนะนำด้านสุขภาพ

มันกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของเรื่อง Information ในอินเทอร์เน็ตไปเสียแล้ว เมื่อ Google ถูกท้ายทายในด้านการหาข้อมูล โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพ

แต่ก็ต้องบอกว่ามันเป็นปัญหาที่ซีเรียสมาก ๆ เพราะถ้าเทียบกับ Google แล้วนั้น TikTok ดูจะห่างชั้นกว่ามากในเรื่องการกลั่นกรองข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลที่ ซีเรียสมาก ๆ อย่างข้อมูลด้านสุขภาพ

การเติบโตของแพลตฟอร์มอย่าง TikTok ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้น ทำให้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่หลายคนเลือกจะเชื่อในข้อมูลเกี่ยวกับ COVID ซึ่งแทบไม่ได้รับการกลั่นกรองข้อมูลใด ๆ

ถ้าใครเล่น TikTok จะรู้ว่าข้อมูล sensitive ต่าง ๆ นั้น น้อยมาก ๆ ที่จะถูกกลั่นกรองจากแพลตฟอร์มเหล่านี้ ซึ่งไม่แปลกที่ TikTok จะขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งในการกระจายข้อมูลผิด ๆ ไปทั่วโลก และด้วยเหตุผลที่ไม่กลั่นกรองนี่แหละที่ทำให้คลิปกลายเป็นไวรัลง่ายมาก ๆ และทำให้เติบโตได้เร็วมากเช่นเดียวกัน

ซึ่งการสำรวจของ CharityRx ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจหลายประการดังต่อไปนี้

  • ชาวอเมริกันจะปรึกษาอินเทอร์เน็ตก่อนปรึกษาแพทย์ โดย 65% เลือก Google , 33% เลือก Youtube และอีก 20% นั้นพึ่งพา TikTok และจำนวนทั้งหมดนี้มีถึง 33% ที่หันไปหาเหล่า influencers บนโลกออนไลน์ เพราะเข้าถึงได้ง่ายกว่าผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพตัวจริงเสียงจริง
  • ชาวอเมริกันมองหาความเกี่ยวข้องกับหัวข้อที่จะปรึกษาในตัว Influencers ในขณะที่ 55% ของชาวอเมริกันกล่าวว่าพวกเขามอง Influencers ที่มีใบรับรองทางการแพทย์ และ อีก 26% พวกเขามองแค่ความเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องการปรึกษา ส่วนหัวข้อยอดนิยมสามอันดับแรก ได้แก่ ความวิตกกังวล การลดน้ำหนัก และภาวะซึมเศร้า
  • แต่ก็มีข้อมูลในแง่ดีที่ว่า ชาวเมริกันส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อ Influencers โดย 89% เชื่อว่า Influencers มีส่วนทำให้เกิดข้อมูลที่ผิด และ 76% มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนว่าพวกเขากำลังพูดอะไรอยู่ แต่ก็มีอีก 17% ของชาวอเมริกันที่เชื่อเหล่า Influencers มากกว่าแพทย์ และ 51% มีความเห็นว่าการได้รับการรับรองจากคนดังช่วยให้พวกเขาตัดสินใจซื้อยาหรืออาหารเสริมได้ง่ายขึ้น

บทสรุป

แม้ข้อมูลจากการค้นหาออนไลน์จะไม่ได้ถูกต้อง 100% นัก แต่ก็มีบางแพลตฟอร์มที่พัฒนา algorithm ของพวกเขาได้ล้ำหน้ากว่าใคร

ตัวอย่างเช่น Google หรือ Youtube ที่ถือว่ามี algorithm ในการจัดการข้อมูล sensitive เหล่านี้ได้ดีกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ

ถ้าใครเป็นสาย SEO (Search Engine Optimization) น่าจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่า EAT (Expertise , Authoritativeness, Trustworthiness) ของ Google เป็นอย่างดีที่เข้ามากวาดล้างข้อมูลผิด ๆ โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพไม่ให้แสดงผลในลำดับต้น ๆ ของ Google

แต่มันต่างจากแพลตฟอร์มอื่น ๆ ทั้ง TikTok , Facebook หรือ Twitter ที่มีระบบการจัดการข้อมูลผิด ๆ พวกนี้น้อยมาก ๆ โดยเฉพาะข้อมูลที่มีความ Sensitive สูงอย่างข้อมูลสุขภาพ

มันก็เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงกับเทรนด์ที่เกิดขึ้น ที่คนรุ่นใหม่เริ่มใช้ TikTok หาข้อมูลแทน Google กันมากยิ่งขึ้น ซึ่งตัวแพลตฟอร์มเองมันไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับใช้ในการค้นหาข้อมูล เหมือนอย่างที่ Google ที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการสร้าง Algorithm ในด้านนี้มากกว่านั่นเองครับผม

References :
https://www.semrush.com/blog/eat-and-ymyl-new-google-search-guidelines-acronyms-of-quality-content/
https://mb.com.ph/2022/04/04/google-health-2022-the-vision-of-billions-of-healthier-people/
https://www.fastcompany.com/90793427/tiktok-health-information-doctors-google