Virtual Duopoly กับการแข่งขันที่ไม่มีอยู่จริงเมื่อเหลือคู่แข่งเพียงแค่ 2 ราย

กลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์ที่มีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดกับ hashtag อย่าง #หยุดผูกขาดมือถือ กับข่าวการควบรวมกิจการของเบอร์สองและเบอร์สามอย่าง True และ Dtac

ก็ต้องบอกว่ารูปแบบของ Duopoly นั้น มีเคส study ในหลากหลายธุรกิจมาก ๆ ที่เมื่อคู่แข่งเหลือเพียงแค่ 2 ราย การแข่งขันก็ถึงจุดสิ้นสุดทันที แทบจะจับมือกับขูดรีดผู้บริโภคแบบเนียน ๆ

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่เห็นภาพมาก ๆ ธุรกิจ ecommerce ในไทยตอนนี้ที่เหลือแทบจะเพียงแค่ Lazada และ Shopee นั้น แทบจะไม่แข่งขันกันแล้ว หากไปดูอัตราค่าคอมมิชชั่นที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีทีท่าจะหยุด หรือค่าบริการต่าง ๆ ที่ชาร์จกับโดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เมื่อนำตัวเลขมาเปรียบเทียบกันทั้งสองแพลตฟอร์มนั้น แทบจะไม่มีการแข่งขันกันอีกต่อไป

แต่ในธุรกิจคมนาคม สิ่งนี้ก็มีเคส study ที่น่าสนใจในประเทศอินเดียเช่นเดียวกัน

ต้องบอกว่า อินเดียมีประชากรมากมายมหาศาลเป็นพันล้านคน โดยมีบริษัทด้านโทรคมนาคมเพียงแค่ 12 แห่งที่ให้บริการภายในประเทศของพวกเขา

แต่หลายรายก็ต้องยอมแพ้ในธุรกิจไป และกำลังส่งผลให้ภาคโทรคมนาคมของอินเดียนั้นค่อย ๆ กลายเป็น duopoly คล้าย ๆ กับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีเพียงแค่ Jio และ Airtel เท่านั้นที่กลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ ซึ่งสร้างภัยคุกคามต่อตลาดที่มีการแข่งขันที่ดีมาโดยตลอด

Jio นั้นเข้าสู่ตลาดอินเดียในปี 2016 พร้อมกับโปรโมชั่นด้านราคา ส่งผลต่อการแข่งขันในตลาด ทำให้บริษัทรายอื่น ๆ เช่น BSNL และ Vodafone ต้องเผชิญกับวิกฤติทางการเงิน

นั่นทำให้แนวโน้มของธุรกิจโทรคมนาคมของอินเดียกำลังเปลี่ยนไปสู่การผูกขาด

ในขณะที่ BSNL มีส่วนแบ่งการตลาด 10% ส่วน Vodafone มี 25% และส่วนแบ่งก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง BSNL นั้นอยู่ในภาวะวิกฤติจนไม่สามารถที่จะจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานได้ ในขณะที่ Vodafone กำลังเข้าสู่ภาวะล้มละลายทางด้านการเงิน

การเกิด Duopoly ของอินเดีย จะนำไปสู่การแข่งขันที่ลดลงอย่างน่าตกใจ ซึ่งอาจจะทำให้ราคาสูงขึ้น และมีการอัพเกรดเทคโนโลยีน้อยลง และคุณภาพบริการที่ต่ำลง ภาครัฐของอินเดียจึงใส่ใจกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก

สิ่งที่รัฐบาลอินเดียทำ

รัฐบาลอินเดียมองเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นจึงพยายามทำหลายอย่างเพื่อหยุดอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจากการผูกขาด หนึ่งในนั้นคือการจำกัดการถือครองคลื่นไว้ที่ 35% ของผู้ให้บริการแต่ละราย

อีกทางเลือกคือการเลื่อนการชำระหนี้สัมปทานคลื่นความถี่ให้กับผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่มีปัญหา โดยยืดเวลาให้ถึง 2 ปี รวมถึงลดค่าปรับต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากปัญหาการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นกับผู้บริการโทรคมนาคมที่มีปัญหา

แม้จะมีนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาล แต่ผู้ให้บริการอย่าง Vodafone ก็ยังต้องการความช่วยเหลืออย่างมากเพื่อความอยู่รอด ซึ่งพวกเขาต้องการได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้พวกเขาต้องถอนตัวจากการแข่งขัน

บทสรุป

ต้องบอกว่าบริการด้านโทรคมนาคม เป็นบริการที่สำคัญอย่างยิ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีที่มีความสำคัญต่อประเทศมาก ๆ

แทบจะทุกธุรกิจ ในปัจจุบันหรือแม้กระทั่งหน่วยงานรัฐเองก็ต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ทั้งด้านบริการทางการแพทย์ ขนส่ง การชอปปิ้งออนไลน์ แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง เครือข่ายโซเชียลมีเดีย หรืออื่น ๆ อีกมากมายที่บริการด้านโทรคมนาคมนั้นเป็นสิ่งสำคัญต่อการขับเคลื่อนธุรกิจ

แม้มันจะไม่ใช่รูปแบบของ Monopoly แบบผูกขาดเบ็ดเสร็จ เหมือนในหลาย ๆ ธุรกิจที่เกิดขึ้น แต่การมีคู่แข่งเพียงแค่สองรายกับอุตสาหกรรมที่สำคัญเช่นนี้ มันก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลหลาย ๆ ประเทศไม่อยากให้เกิดขึ้นน

เราได้เห็นปัญหาเรื่องซีเรียสแบบนี้ที่รัฐบาลอินเดียต้องเข้ามาแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะเมื่อก่อนมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ผู้บริโภคได้รับสิ่งที่ดีที่สุด แต่การเหลือคู่แข่งเพียงสองรายทำให้ผู้บริโภคเหลือตัวเลือกไม่มากนัก

มันเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาลอินเดีย และหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ในการปกป้องผู้บริการอย่าง Vodafone และ BSNL ให้อยู่ในตลาด เพื่อหยุดแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นของการผูกขาด

มันก็น่าตกใจเหมือนกันนะครับว่าเหตุใดประเทศไทยจึงเดินมาถึงจุดนี้ได้?

References:
https://scandasia.com/true-and-dtac-shareholders-approve-the-creation-of-thailands-largest-operator/
https://blog.finology.in/recent-updates/virtual-duopoly-telecom-sector
https://www.lightreading.com/asia/is-india-moving-towards-duopoly/d/d-id/770753
https://timesofindia.indiatimes.com/blogs/toi-editorials/two-is-too-few-telecom-is-a-huge-growing-and-critical-market-it-needs-more-than-a-duopoly/