เมื่อฮาร์ดแวร์ถึงทางตัน กับกลยุทธ์ในการสร้างเครื่องจักรทำเงินใหม่ของ Apple ผ่านธุรกิจการเงิน

การปล่อยมือถือรุ่นเรือธงล่าสุดอย่าง iPhone 14 ที่ออกมานั้น เรียกได้ว่า อาจจะสร้างความผิดหวังไม่ใช่น้อยให้กับเหล่าสาวก Apple ที่มือถือรุ่นใหม่ที่ออกมาล่าสุด ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนมากมายอย่างที่หลาย ๆ คนคิด

แน่นอนว่ายังไงชื่อของ iPhone มันก็ยังขายได้ จากยอดจองถล่มทลาย คนต่อคิวกันเป็นว่าเล่นในช่วงเปิดตัว ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าเซอร์ไพรส์แต่อย่างใด

แต่ถ้ามองแบบโฟกัสในเรื่องฟีเจอร์ โดยเฉพาะความสามารถของฮาร์ดแวร์นั้น ก็ต้องบอกว่า Apple ทำได้อย่างดีเยี่ยมมาตั้งหลายปีแล้ว และมันแทบจะสุดทางของอุปกรณ์อย่างมือถือ ที่จะได้เห็นอะไรว้าว ๆ เหมือนในรุ่นก่อน ๆ หน้ามันเริ่มยากเต็มที

สอดรับกับข่าวหลังจากการจากลาของ Jony Ive ที่ชัดเจนว่าค่อนข้างมีปัญหากับแนวนโยบายของ Apple ยุคใหม่ที่เริ่มเปลี่ยนไป เพราะ Tim Cook เริ่มหันมาหาหนทางสร้างรายได้ใหม่กับธุรกิจบริการมากยิ่งขึ้น

และหนึ่งในนั้นก็มีการประกาศออกมาล่าสุดอย่างที่เป็นข่าวใหญ่ว่า Apple กำลังเปิดตัวบัญชีออมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมโดยร่วมมือกับ Goldman Sachs สำหรับลูกค้า Apple Card

Ecosystem สุด Exclusive ของ Apple นั้นยากที่คู่แข่งจะไล่ตามทัน การใช้ระบบแบบปิดตั้งแต่แรก มันทำให้ทุกอย่างมันสามารถ control ง่ายกว่า และสามารถเสกสรรค์บริการใหม่ ๆ ให้แก่ผู้ใช้งานที่อยู่ใน Ecosystem ของพวกเขาได้ง่าย

Tim Cook เริ่มหันมาหาหนทางสร้างรายได้ใหม่กับธุรกิจบริการมากยิ่งขึ้น (CR:CNBC)
Tim Cook เริ่มหันมาหาหนทางสร้างรายได้ใหม่กับธุรกิจบริการมากยิ่งขึ้น (CR:CNBC)

มันคือกลยุทธ์ธุรกิจที่สุดยอดมาก ๆ ตั้งแต่ Steve Jobs ได้ออกแบบมันไว้แต่แรก แม้ในรอบแรกศึกคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั้นจะพ่ายแพ้ไปให้กับ Microsoft อย่างราบคาบก็ตาม แต่ในยุคสมาร์ทโฟน พวกเขามีบทเรียนและไม่ยอมให้มันเกิดขึ้นแบบเดียวกับในศึกคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

มันได้แสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยานที่เพิ่มขึ้นของ Apple ในด้านการเงิน เนื่องจากพยายามนำบริการเข้าสู่กระเป๋าเงินดิจิทัลโดยตรง

กลุ่มลูกค้าที่มากมายมหาศาลใน Ecosystem ของ Apple นั้น แน่นอนว่าก่อนหน้านี้พวกเขาอาจจะเป็นเพียงแค่กระเป๋าเงินให้กับผู้บริโภค แต่ก้าวใหม่ในครั้งนี้ Apple ต้องการมอบประสบการณ์ใหม่ซึ่งอาจจะกลายเป็นธนาคารขนาดย่อมบนมือถือในอนาคต

สำหรับ Apple Card นั้นเปิดตัวในเดือนสิงหาคม 2019 และให้บริการในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ซึ่งทาง Apple Card นั้นเสนอ cashback 1% ในขณะที่ Apple Pay ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินแบบไม่ต้องสัมผัสเสนอให้ 2%

ซึ่ง Apple Pay นั้นถือเป็นหนึ่งของแผนกบริการของ Apple ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่โมเดลธุรกิจใหม่อย่างธุรกิจบริการซึ่งมีอัตรากำไรที่สูง และสร้างเครื่องจักรทำเงินใหม่ให้กับ Apple ในช่วงเวลาที่การเติบโตของ iPhone เริ่มจำกัด

ที่น่าสนใจก็คือ ในไตรมาสที่ผ่านมา รายได้จากธุรกิจบริการซึ่งรวมถึง App Store และบริการ Subscription ทั้งหลายของ Apple เพิ่มขึ้น 12% เป็น 19.6 พันล้านดอลลาร์ โดยมีผู้ใช้ 860 ล้านคนทั่วโลกใช้บริการ subscription แบบประจำอย่างน้อยหนึ่งครั้ง

ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า Ecosystem หรือแพลตฟอร์ม Super App ขนาดใหญ่ ๆ ทั่วโลก กำลังมุ่งหน้าเข้าสู่โมเดลเดียวกันนั่นก็คือธุรกิจทางด้านการเงิน อย่างที่เราได้เห็นในแพลตฟอร์มอย่าง shopee , grab หรือ Wechat ในประเทศจีน ซึ่งล้วนแล้วมีจุดหมายปลายทางเดียวกันนั่นคือธุรกิจการเงิน

การเดินเกมใหม่ของ Apple นั้นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า พวกเขาจะ balance ในเรื่องข้อมูล พฤติกรรมต่างๆ ของผู้บริโภคได้อย่างไร กับนโยบายปกป้องความเป็นส่วนตัวของพวกเขา เพราะสุดท้ายหากจะมาลุยธุรกิจทางด้านการเงินแบบเต็มตัว อย่างไรเสียก็ต้องแลกกับการลุกล้ำข้อมูลส่วนตัวของกลุ่มสาวก Apple ในท้ายที่สุดนั่นเองครับผม

References :
https://www.ft.com/content/f956de93-e505-4c84-a1ab-2bd23c041004
https://www.apple.com/newsroom/2022/10/apple-card-will-let-users-grow-daily-cash-rewards-while-saving-for-the-future/
https://www.cnbc.com/2022/10/13/apple-goldman-sachs-introduce-interest-bearing-savings-accounts.html