จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า AI ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์?

เอาจริง ๆ ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจนะครับว่า ในอนาคต ด้วยเทคโนโลยีโดยเฉพาะทางด้าน AI ที่ก้าวล้ำไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เราได้เห็น model ทางการแพทย์ใหม่ ๆ ที่นำเอาอัลกอริธึมทางด้าน AI ไปประยุกต์ใช้ และประสบความสำเร็จอย่างสูง

ซึ่งในเบื้องต้น ยังต้องมีมนุษย์คอยช่วยพัฒนาวิธีการเหล่านี้อยู่ แต่ถ้าในอนาคตเราสามารถตัดมนุษย์ออกจากกระบวนการดังกล่าวได้ทั้งหมด แล้วปล่อยให้ AI มันทำงานแล้วสามารถค้นพบงานวิจัยระดับ breakthrough ของวงการได้ล่ะ AI ควรจะได้รับรางวัลโนเบลไหม?

เป็นบทความจาก the economist ที่ถือว่าน่าสนใจเลยทีเดียว เมื่อมีการทำนายอนาคตว่าในปี 2036 นั้น รางวัลโนเบลสาขาการแพทย์จะถูกมอบให้กับปัญญาประดิษฐ์

ต่อไปนี้คือเรื่องราวที่ถูกสมมิตขึ้น

ลองจินตนาการว่า มันจะวุ่นวายขนาดไหนหากมันเกิดขึ้นจริง AI ที่มีชื่อว่า YULYA ซึ่งเป็นเทคโนโลยี Machine Learning ที่รู้จักกันอย่างเป็นทางการว่า System for Automated Lymphoma Diagnosis

มันสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีประสิทธิภาพในการต่อต้านแบคทีเรีย มันเกิดขึ้นเนื่องจากอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความล้มเหลวของยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

YULYA ได้ช่วยชีวิตผู้คนได้ประมาณ 4 ล้านคน ทั้งที่ผ่านการรักษาโรคติดเชื้อโดยตรง รวมถึงในกระบวนการการผ่าตัดทั้งผ่าคลอด ซึ่งถือว่าอันตรายเกินไปหากไม่มียาปฏิชีวนะ

เดิมที YULYA ถูกสร้างขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาที่แตกต่างกัน : ค้นหาวิธีในการรักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ระบบนี้เป็นหนึ่งในปัญญาประดิษฐ์รุ่นใหม่ที่รวมเอาที่รวมเอาเทคโนโลยี Neural Network และ Deep Learning ขั้นสูง

มันทำงานโดยการตรวจสอบบันทึกจากฐานข้อมูลผู้ป่วย ร่วมกับคลังเอกสารจากวารสารทางการแพทย์และข้อมูลในอดีตจากบริษัทยา นอกจากนี้ยังได้รับการตั้งโปรแกรมให้ประเมินประสิทธิภาพของการรักษาต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการรักษาแบบผสมผสาน เพื่อแนะนำสูตรการรักษาใหม่ที่สามารถทดสอบในผู้ป่วยได้

อย่างไรก็ตามมันได้เกิดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในปี 2034 โดยไม่ตั้งใจ ซึ่ง YULYA ได้เข้าถึงเอกสารล่าสุดทั้งหมดในวารสารทางการแพทย์แทนที่จะเป็นเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง

YULYA เริ่มเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดื้อยาปฏิชีวนะ และได้เข้าไปเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และสามารถแนะนำแนวทางใหม่ในการรักษาได้สำเร็จ

YULYA ซึ่งถูกสร้างโดย Dr. Anisha Rai แต่มันบังเอิญไปเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างนอกเหนือจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่เคยได้รับอนุญาต แต่ผลลัพธ์ที่ออกมามันกลับน่าทึ่ง Dr.Rai จึงเลือกที่จะเสนองานวิจัยดังกล่าวออกสู่สาธารณะ

มันได้กลายเป็นข้อถกเถียงกันอย่างดุเดือดว่า YULYA หรือ ผู้สร้างมัน ควรได้รับเครดิตสำหรับงานวิจัยนี้ แต่ Dr. Rai ยืนยันว่า YULYA สมควรได้รับเครดิตแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งท้ายที่สุดงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับรางวัลโนเบล

บทสรุป

โดยทั่วไปแล้ว AI จะใช้ทำนายการเริ่มมีอาการของโรค เช่น อัลไซเมอร์ ให้คำแนะนำการรักษาเฉพาะบุคคล และเพิ่มความสามารถในการวินิจฉัยของแพทย์ เช่น การอ่านผล X-RAY หรือ ช่วยในการค้นคว้ายาใหม่ ๆ

แต่ก็มีอีกหลากหลายเทคโนโลยีที่ตอนนี้เรียกได้ว่าก้าวล้ำไปมาก ๆ แล้ว แม้จะเป็นเรื่องที่สมมติขึ้น แต่อยู่บนพื้นฐานของการก้าวกระโดดครั้งสำคัญของเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้นจริง

และท้ายที่สุด YULYA จะไม่ใช่ปัญญาประดิษฐ์สุดท้ายที่ได้รับรางวัลโนเบล เพราะในแขนงอื่น ๆ ทั้งเคมี ฟิสิกส์ ระบบ AI กำลังถูกใช้เพื้อค้นหาวัสดุและสารประกอบเคมีใหม่ ๆ ที่เหมาะสำหรับใช้ในแบตเตอรี่ แผงโซลาเซลล์ และอื่นๆ อีกมากมาย

และสุดท้ายมนุษย์ก็แทบไม่จำเป็นในกระบวนการวิจัยเหล่านี้อีกต่อไปเหมือนสิ่งที่ YULYA ทำ อยู่ที่ว่าเราจะยอมรับความจริงหรือไม่ว่าเราได้พ่ายแพ้ให้กับพวกมันแล้ว และต้องมอบรางวัลทางวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่อย่างรางวัลโนเบลให้กับพวกมันนั่นเองครับผม

References :
https://www.economist.com/what-if/2021/07/03/what-if-an-ai-wins-the-nobel-prize-for-medicine
https://www.worldquant.com/ideas/the-next-imitation-game-ai-wins-the-nobel/