Project Muscle สู่ Gorilla Glass จากโปรเจ็กต์ที่ถูกลืมสู่นวัตกรรมหน้าจอมือถือเปลี่ยนโลก

ยุคก่อนที่ iPhone จะถือกำเนิดขึ้นมนุษย์เราแทบจะใช้จอมือถือห่วย ๆ ตกนิดตกหน่อยจอก็แตก แถมเป็นพลาสติกที่มีรอยขีดข่วนง่ายมาก ๆ สร้างความปวดหัวให้กับผู้ใช้ทั่วโลก

ในเดือนกันยายนปี 2006 เพียงสี่เดือนก่อนที่ Steve Jobs วางแผนที่จะเปิดเผย iPhone ให้โลกได้เห็น

เขาได้ปรากฎตัวขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของ Apple ด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว

“ดูนี่สิ” เขาพูดกับผู้บริหารระดับกลาง โดยถือ iPhone เครื่องต้นแบบที่มีรอยขีดข่วนอยู่ทั่วจอแสดงผลแบบพลาสติกเหมือนกับที่มือถือในยุคนั้นทำกัน ซึ่งเพียงแค่กระทบกับกุญแจในกระเป๋ากางเกงก็แทบมีรอยเต็มไปหมดแล้ว

“เรามีจอแก้วต้นแบบ แต่มันล้มเหลวในการทดสอบตกจากที่สูงหนึ่งเมตร ที่ทดสอบ 100 ครั้งก็พัง 100 ครั้ง” ผู้บริหารกล่าวกับ Jobs

“ฉันแค่อยากรู้ว่านายจะทำมันสำเร็จหรือเปล่า” Jobs กล่าวอย่างโมโห

แผนเดิมคือการจัดส่ง iPhone ด้วยจอแสดงผลแบบเดียวกับที่ Apple ทำกับ iPod แต่จากการสั่งการของ Jobs ทำให้ทีม iPhone มีเวลาไม่ถึงหนึ่งปีในการหาจอทดแทนที่ต้องผ่านการทดสอบการตก

ปัญหาคือ ไม่มีจอแบบแก้วที่ทำได้อย่างที่ Jobs ต้องการจริง ๆ เพราะแก้วที่นำเสนอโดยบริษัทส่วนใหญ่จะเปราะบางและแตกง่าย หรือไม่ก็หนาจนเกินไป

Jobs ที่ต้องการให้ iPhone ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ perfect ที่สุด (CR:Linkedin)
Jobs ที่ต้องการให้ iPhone ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ perfect ที่สุด (CR:Linkedin)

แน่นอนว่าทาง Apple เองก็พยายามหาวิถีทางที่จะเสริมความแข็งแกร่งของกระจกด้วยตัวของพวกเขาเอง แต่ก็อย่างที่เราทราบ ๆ กัน Apple คือบริษัทเทคโนโลยีไม่ได้มีแผนกที่เกี่ยวข้องกับวัสดุศาสตร์ที่จะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทำให้การทดลองของพวกเขาล้มเหลวไม่เป็นท่า

แต่เหมือนฟ้าลิขิตมาให้ iPhone ต้องมีหน้าจอที่แตกต่าง เพราะมีเพื่อนคนหนึ่งของ Jobs ได้แนะนำให้เขาติดต่อกับชายที่ชื่อ Wendell Weeks ซึ่งเป็นซีอีโอของบริษัทแก้วในนิวยอร์กชื่อ Corning

โปรเจ็กต์ที่ถูกลืม

ในช่วงปลายทศวรรษ 1950 Bill Decker ประธานบริษัท Corning ที่ตอนนั้นผลิตจานแก้วสำหรับ Microwave ได้พูดคุยกับ William Armistead หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาของบริษัท ในเรื่องกระจกที่แตกง่าย ซึ่ง Decker ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมไม่ยอมแก้ไขปัญหานี้เสียที

ด้วยเหตุนี้ Corning จึงเปิดตัว Project Muscle โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างกระจกใสที่แข็งแรงขึ้น ทีมวิจัยได้สำรวจวิธีการเสริมความแข็งแกร่งของกระจกทุกรูปแบบ

ส่วนใหญ่แบ่งออกเป็นสองวิธีคือ เทคนิคการชุบแข็งแบบเก่า หรือการเสริมความแข็งแกร่งให้กระจกด้วยความร้อน และกระจกแบบ Layering รุ่นใหม่ที่ขยายตัวต่างกัน เมื่อแก้วหลายชั้นเย็นตัวลง นักวิจัยหวังว่าพวกมันจะบีบอัดและเสริมความแข็งแกร่งให้กับผลิตภัณฑ์ในขั้นตอนสุดท้าย

การทดลองของ Project Muscle ในไม่ช้าก็นำไปสู่วัสดุใหม่ที่แข็งแกร่งเป็นพิเศษได้สำเร็จ

ซึ่งกระบวนการเสริมความแข็งแกร่งทางเคมีอันชาญฉลาดนี้อาศัยวิธีใหม่ที่เรียกว่าการแลกเปลี่ยนไอออน สิ่งแรกคือทรายซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของแก้วส่วนใหญ่ ผสมกับสารเคมีเพื่อผลิตอะลูมิโนซิลิเกตที่มีโซเดียมสูง

จากนั้นนำแก้วไปแช่ในเกลือโพแทสเซียมและให้ความร้อนสูงถึง 400 องศาเซลเซียส เนื่องจากโพแทสเซียมจะหนักกว่าโซเดียมในส่วนผสมแบบดั้งเดิม

ไอออนขนาดใหญ่ถูกยัดลงในพื้นผิวแก้ว ทำให้เกิดสภาวะบีบอัด พวกเขาเรียกวัสดุแก้วใหม่นี้ว่า Chemcor ซึ่งมันแข็งแกร่งกว่ากระจกธรรมดามากถึง 50 เท่า สามารถทนแรงกดดันได้สูงถึง 100,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว และยังสามารถที่จะมองทะลุผ่านมันได้

ในปี 1962 Corning คิดว่ากระจกใหม่ของพวกเขาพร้อมแล้วสำหรับตลาด แต่ Corning ไม่รู้ว่าจะทำตลาดกับ Chemcor อย่างไร เพราะดูเหมือนว่าคุณสมบัติของมันจะเทพเกินกว่าที่จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ในตอนนั้น

Corning ได้จัดงานแถลงข่าวใหญ่ใจกลางแมนฮัตตันของเมืองนิวยอร์ก เพื่ออวดโฉมกระจกพิเศษนี้ให้โลกได้เห็น พวกเขาได้ทดสอบการกระแทก งอและบิด ซึ่งแทบไม่มีสิ่งใดสามารถทำลายมันได้เลย

แต่ดูเหมือนจะมีผู้สนใจกระจกเทพตัวนี้เพียงไม่กี่รายเพียงเท่านั้น ทั้งที่ Corning จินตนาการว่ามันสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย ทั้งหน้าต่างที่ทนทานสำหรับเรือนจำ หรือกระจกหน้ารถที่ป้องกันการแตกได้

ในปี 1969 ได้มีการลงทุนวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมูลค่า 42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ Chemcor ก็พร้อมที่จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับโลก แต่ตลาดกับตอบรับไปในทางตรงกันข้าม ไม่มีใครต้องการกระจกแก้วที่แข็งแรงและมีราคาแพง มันแพงเกินไป ท้ายที่สุด Chemcor และ Project Muscle ถูกทิ้งร้างอย่างไม่ใยดีในปี 1971

ตัดภาพมาในปี 2005 เมื่อโทรศัพท์ฝาพับอย่าง Razr ได้ถือกำเนิดขึ้นมา Corning เองได้รื้อฟื้นความพยายามของโปรเจ็กต์ Chemcor ที่ถูกทิ้งร้างไว้ของบริษัทมาตั้งแต่ยุคปี 1960 อีกครั้ง

พวกเขาต้องการทดสอบว่ามันอาจจะมีวิธีในการสร้างกระจกที่ทนทาน ราคาไม่แพง และป้องกันรอยขีดข่วนให้กับโทรศัพท์มือถือได้ โดยพวกเขาได้ตั้งชื่อโค้ดเนมว่า “Gorilla Glass”

เมื่อทีมงานของ Apple เดินทางไปที่บริษัท Corning ที่สำนักงานใหญ่ทางตอนเหนือของนิวยอร์ก Weeks จึงมีความพยายามที่จะรื้อฟื้นงานวิจัยที่มีอายุครึ่งศตวรรษอย่างเต็มกำลัง

Jobs บอก Weeks ถึงสิ่งที่พวกเขามองหา และ Weeks ได้บอก Jobs เกี่ยวกับ Gorilla Glass

ทั้งคู่ต่างถกเถียงกันอย่างถึงพริกถึงขิง ต่างคนต่างคุยโวถึงเทคโนโลยีที่สุดยอดในผลิตภัณฑ์ของตน เป็นเพียงไม่กี่ครั้งที่ Jobs ถึงกับผงะในการประชุมร่วมกับ Weeks ที่ขัดจังหวะและสั่งสอน Jobs เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์

Wendell Weeks ที่รื้อฟื้นโปรเจ็กต์ในอดีตของบริษัทขึ้นมาอีกครั้ง (CR:Cornell Chronicle)
Wendell Weeks ที่รื้อฟื้นโปรเจ็กต์ในอดีตของบริษัทขึ้นมาอีกครั้ง (CR:Cornell Chronicle)

บทสรุปคือจอแก้วของ Weeks นั้นเหนือกว่าสิ่งที่ทีมงานของ Jobs ได้ทำการวิจัยด้วยตัวเองเป็นอย่างมาก

Jobs จึงสั่งเดินหน้าลุยและบอกให้ Weeks ผลิต Gorilla Glass ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อนที่ iPhone จะเปิดตัว

“เราไม่มีความสามารถที่จะผลิตได้ขนาดนั้น มันผลิตไม่ทันอย่างแน่นอน” Weeks ตอบกลับ

“ไม่ต้องกลัว” Jobs ตอบ “จงตั้งสติให้ดี คุณสามารถทำมันได้”

Coring ได้สร้างต้นแบบของงานวิจัยเมื่อ 50 ปีก่อน แต่พวกเขาไม่เคยผลิตจำนวนมาก ๆ อย่างมีนัยสำคัญเหมือนที่ Jobs ต้องการ แต่ประวัติศาสตร์มันได้กำหนดไว้แล้ว ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีสมาร์ทโฟนเกือบทุกเครื่องบนโลกต่างใช้ Gorilla Glass

Gorilla Glass ของ Corning ถูกหล่อหลอมขึ้นในโรงงานที่ตั้งอยู่ระหว่างทุ่งยาสูบและฟาร์มปศุสัตว์ของ Harrodsburg รัฐเคนตักกี้ ซึ่งมีประชากรอยู่ราวๆ 8,000 คน ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญของ iPhone ที่ถูกผลิตขึ้นในสหรัฐอเมริกา

Gorilla Glass ได้กลายเป็นหนึ่งในวัสดุที่สำคัญที่สุดในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค ครอบคลุมทั้งโทรศัพท์และแท็บเล็ต ซึ่งในไม่ช้าก็ครอบคลุมเกือบทุกอย่าง

การได้สัญญาการผลิตครั้งใหญ่จาก Apple ช่วยให้บริษัทเติบโตได้ และไม่เพียงเพราะ iPhone เองที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเทคโนโลยีของ Corning เทพขนาดไหน

เพราะหลังจากนั้นไม่นาน Samsung , Motorolla , LG และผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือแทบทุกรายที่ต้องการเข้าสู่ธุรกิจสมาร์ทโฟนต้องหันมาพึ่ง Gorilla Glass

iPhone ช่วยปลุกเทคโนโลยีหลังจากที่รอมาหลายทศวรรษในห้องทดลองวิจัยที่เคยถูกปิดตัวลงไป เพื่อป้องกันรอยขีดข่วนให้กับโลกสมัยใหม่ ที่มนุษย์กว่าค่อนโลกต้องสัมผัสกับหน้าจอนี้ในทุก ๆ วัน อย่างที่เราได้เห็นกันในทุกวันนี้นั่นเองครับผม

References :
เรียบเรียงจากหนังสือ The One Device: The Secret History of the iPhone โดย Brian Merchant
https://9to5mac.com/2022/01/09/steve-jobs-original-iphone-announcement-15-years/


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube