มะเร็งที่เพิ่มขึ้น โดยไม่ทราบสาเหตุในหมู่คนรุ่นมิลเลนเนียล

เป็นอีกหนึ่งบทความที่น่าสนใจจาก Financial Time ที่อยากจะมาเล่าให้ฟัง เกี่ยวกับโรคมะเร็งที่สถานการณ์ในตอนนี้เรียกได้ว่ามีอัตราการเกิดที่สูงขึ้นอย่างน่าประหลาดใจในหมู่คนรุ่นมิลเลนเนียล

มีการวิเคราะห์ข้อมูลจาก Institute for Health Metrics and Evaluation ของ Unversity of Washington School of Medicine ซึ่งแสดงให้เห็นว่าช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา อัตราการเกิดมะเร็งในประเทศกลุ่ม G20 ซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำนั้นมีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นในหมู่คนที่มีอายุ 25-29 ปี ในขณะที่ตรงกันข้ามในกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 75 ปี พบว่าอัตราการเกิดมะเร็งได้ลดลงจากจุดสูงสุดเมื่อปี 2005

ความน่ากังวลก็คือเหล่านักวิจัยไม่มีคำอธิบายแน่ชัดว่าเหตุใดคนในยุคมิลเลนเนียลจึงมีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากกว่าคนรุ่นก่อนหน้าอย่างชัดเจนมาก ๆ

ซึ่งจากงานวิจัยมีข้อมูลพบว่า ในบรรดาผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-39 ปี โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีอัตราเพิ่มขึ้น 70% ในกลุ่มประเทศ G20 ระหว่างปี 1990 ถึง 2019 เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้น 24% ของมะเร็งทั้งหมด

Michelle Mitchell ผู้บริหารระดับสูงของ Cancer Research UK หรือ CRUK กล่าวว่า “การเพิ่มขึ้นของอัตราการเกิดมะเร็งในคนอายุน้อยเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เราต้องทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงนั้นโดยด่วน” ซึ่งแน่นอนว่าการเพิ่มขึ้นในเคสของคนที่มีอายุน้อย ๆ นั้นกลายเป็นเป็นประเด็นที่น่ากังวล”

Shahnawaz Rasheed ศัลยแพทย์ที่ Royal Marsden โรงพยาบาลรักษาด้านมะเร็งที่มีชื่อเสียงของลอนดอน ได้เล่าถึงประสบการณ์น่าตกใจของเขาในช่วงสองสัปดาห์ เมื่อเขาได้ผ่าตัดผู้หญิง 4 คนที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี คนไข้รายล่าสุดอีกรายเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรง เป็นนักกีฬาหญิงวัย 30 ปี

การวินิจฉัยโรคในกลุ่มคนหนุ่มสาวนั้นส่งผลกระทบต่อ Rasheed อย่างหนัก มันทำให้เขามีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมากในการหาคำตอบเหล่านี้
“คนเหล่านี้คือคนที่ควรจะดำเนินชีวิตต่อไป… สร้างอาชีพ และเลี้ยงดูลูก” เขากล่าว “มันทำให้หัวใจฉันแตกสลาย”

บทบาทของ Microbiome

เหล่านักวิทยาศาสตร์ที่ค้นหาข้อมูลเชิงลึกมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าการเปลี่ยนแปลงด้านโภชนาการและวิถีชีวิตที่เริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่แล้วเป็นกุญแจไขปริศนาอย่างน้อยส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่เกิดขึ้น

Dr Frank Sinicrope ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้องอกวิทยาและแพทย์ระบบทางเดินอาหารที่ Mayo Clinic ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่เริ่มมีอาการระยะแรก กล่าวว่า อุบัติการณ์ของโรคนี้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในผู้ที่เกิดหลังปี 1960 การเพิ่มขึ้นของคนหนุ่มสาวที่มาหาเขาเพื่อรับการักษาในช่วงไม่กี่ปีทีผ่านมานั้น “ค่อนข้างน่าตกใจ” เขากล่าว

Dr Frank Sinicrope ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้องอกวิทยาและแพทย์ระบบทางเดินอาหารที่ Mayo Clinic (CR:Youtube)
Dr Frank Sinicrope ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้องอกวิทยาและแพทย์ระบบทางเดินอาหารที่ Mayo Clinic (CR:Youtube)

การรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตในวัยเด็กมีแนวโน้มที่จะเป็นปัจจัยในการเพิ่มขึ้นเหล่านี้ เขากล่าว โดยชี้ไปที่โรคอ้วนในเด็กซึ่งแพร่หลายมากขึ้นและเป็นปัญหามากขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

ในขณะที่มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงกับเรื่องอาหาร นักวิจัยกำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่การเปลี่ยนแปลงของ Microbiome ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในตัวเรา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในลำไส้ ที่กำลังเพิ่มความเสี่ยงที่มากขึ้นต่อการเกิดมะเร็ง

มีความเชื่อกันว่า Microbiome มีบทบาทสำคัญในสุขภาพโดยรวม รวมถึงการย่อยอาหารและการควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน เช่นเดียวกับการป้องกันแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคและช่วยในการผลิตวิตามินที่สำคัญ

การบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและน้ำตาลสูงจะทำให้องค์ประกอบของ Microbiome เปลี่ยนแปลงไปในทางที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของแต่ละคน

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคนทุกวัย นักวิจัยเชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่กรณีของมะเร็งที่เริ่มแสดงอาการในระยะเริ่มต้นเริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ประมาณปี 1990

คนที่เกิดในทศวรรษที่ 1960 เป็นกลุ่มคนรุ่นแรกที่สัมผัสได้ตั้งแต่ทารกไปจนถึงการรับประทานอาหารที่ทันสมัย ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเริ่มกลายเป็นบรรทัดฐานของโลกคนรวยในปี 1950

“มะเร็งมักจะพัฒนาในช่วงหลายทศวรรษ ผู้คนสามารถสะสมเนื้องอกที่เติบโตช้าไว้ได้นานหลายปี ดังนั้นสำหรับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยในช่วงอายุ 20,30,40 ปี การสัมผัสปัจจัยเสี่ยงบางอย่างอาจเกิดขึ้นเมื่อยังเป็นทารกหรือแม้แต่ในครรภ์” Prof Shuji Ogino ศาสตราจารย์ผู้เชียวชาญด้านการระบาดวิทยาแห่ง Harvard TH Chan School of Public Health ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มการวิจัย CRUK/NCI กล่าว

ความจริงที่ว่ามะเร็งที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในวัยหนุ่มสาวนั้นอยู่ในระบบทางเดินอาหารหลายชนิด เช่น ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เช่นเดียวกับในหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ตับอ่อน ท่อน้ำดี ตับ และถุงน้ำดี

มะเร็งชนิดอื่น ๆ บางชนิดพบมากขึ้นในคนอายุน้อย เช่น มะเร็งเต้านม ไต และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก รวมทั้งมะเร็งเม็ดเลือดบางชนิด ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบจากทั้งโรคอ้วนและสภาวะของ Microbiome

นอกจากนี้ การใช้ยาปฏิชีวนะและยาโดยทั่วไปอาจส่งผลต่อ Microbiome ของแต่ละคน ซึ่งบางครั้งเรียกว่า “bacterial fingerprint”

Ogino ชี้ให้เห็นว่าในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ประเภทของยาที่ใช้รักษาภาวะต่างๆ ได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น เหล่ายาลดความอ้วนรุ่นใหม่ ๆ ซึ่งผลที่ตามมายังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าพวกมันทำอะไรบ้างในระยะยาวกับร่างกายของมนุษย์

Valerie McCormack นักระบาดวิทยาผู้ศึกษารูปแบบการเกิดโรคมะเร็งในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งโรคติดเชื้อเป็นภาระด้านสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดมาอย่างยาวนาน ชี้ว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่อาจเพิ่มอัตราการเกิดโรคไม่ติดต่อ รวมทั้งมะเร็งในกลุ่มประเทศเหล่านี้

สาเหตุการตาย 10 อันดับแรกของผู้ที่มีอายุ 15 ถึง 39 ปี (CR:FT.com)
สาเหตุการตาย 10 อันดับแรกของผู้ที่มีอายุ 15 ถึง 39 ปี (CR:FT.com)

ผู้หญิงในประเทศเหล่านี้มีลูกน้อยลงโดยรวม และเมื่ออายุมากขึ้น หมายความว่าพวกเขาใช้เวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยลงเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อน เพราะในยุคก่อนนั้นการมีครอบครัวที่ใหญ่ มักจะนำไปสู่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเวลานาน และการคลอดลูกเป็นครั้งแรกตั้งแต่อายุน้อยเป็นปัจจัยที่ทราบกันดีว่าสามารถป้องกันมะเร็งเต้านมได้

สำหรับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตส่วนอื่นๆ เช่น การใช้ชีวิตแบบนั่งนิ่ง ๆ มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนอนหลับ และการเปิดรับแสงจ้าซ้ำ ๆ ในตอนกลางคืน หรือพฤติกรรมอื่น ๆ เช่น การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ ก็มีผลกระทบเช่นเดียวกัน

บทสรุป

ต้องบอกว่าการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่เกิดขึ้นเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากว่าปัจจัยใดที่เป็นผู้ร้ายที่ชัดเจน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการดำรงชีวิตของมนุษย์เราตั้งแต่ช่วงปี 1960 เป็นต้นมามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำงานร่วมกันและส่งผลกระทบให้อัตราการเกิดของโรคมะเร็งนั้นสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง

และแน่นอนว่ามันคงไม่หยุดที่แค่มะเร็ง ปัจจัยเสี่ยงเดียวกันนี้อาจทำให้เกิดโรคอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวานและโรคลำไส้อักเสบ หรือโรคในกลุ่ม NCDs ซึ่งมีแนวโน้มที่โรคเรื้อรังเหล่านี้จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตด้วยเช่นกัน

มันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมอย่างชัดเจน เพราะหากแนวโน้มมะเร็งเกิดขึ้นในผู้ที่มีอายุน้อยลง ประเทศก็จะสูญเสียประชากรวัยทำงานที่สามารถมีส่วนร่วมในการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ หรือ แม้กระทั่งผู้ที่รอดจากการรักษา ก็ไม่สามารถที่จะฟื้นฟูร่างกายได้ 100% เหมือนเดิม ซึ่งสุดท้ายแล้วมันก็จะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ที่พบกับปัญหาเหล่านี้ได้ในระยะยาวนั่นเองครับผม

References :
https://www.ft.com/content/90d5f2e3-d539-4149-a503-2114ac3ef355
https://pixabay.com/photos/doctor-surgeon-ct-scan-mri-7000103/