Uber กำลังถูกท้ายทายตำแหน่งในตลาดขนาดใหญ่หลาย ๆ แห่งทั่วโลก และญี่ปุ่นกำลังเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ Uber ต้องประสบกับความพ่ายแพ้อีกครั้ง
Ichiro Kawanabe เป็นประธานบริษัท Nihon Kotsu ซึ่งเป็นบริษัทแท็กซี่ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ซึ่งก่อตั้งโดยปู่ของเขาเมื่อเกือบศตวรรษก่อน
Kawanabe รู้จักกันในชื่อเจ้าชายแห่งแท็กซี่ของญี่ปุ่น เขาเป็นคนรณรงค์ให้แอปเรียกรถอย่าง Ube ใช้งานได้เฉพาะกับแท็กซี่ญี่ปุ่นที่มีใบอนุญาตเท่านั้น และเมื่อ Uber เข้ามาเดินในเกมที่ Kawanabe ต้องการแล้ว เขาก็ได้จัดตั้งบริการแอปเรียกแท็กซี่ของตนเองที่ชื่อว่า Go
Go ในปัจจุบันต้องบอกว่ากลายเป็นผู้นำในตลาดของญี่ปุ่น สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดเกือบสามในสี่ ซึ่งส่วนที่เหลือนั้นเป็นการแย่งชิงกันระหว่าง Uber และอีกสองบริษัทขนาดเล็ก
Uber ได้อัดเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงในบริการ Uber Eats ที่ประความสำเร็จ และมองว่าตลาดประเทศญี่ปุ่นเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์ตลาดโลกของ Uber
Uber ลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในแผนการขยายธุรกิจไปทั่วโลก และมีเป้าหมายที่จะให้รถแท็กซี่ทั่วโลกเข้ามาอยู่ในแอปของพวกเขาภายในปี 2025 ซึ่งกำลังมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะข้อตกลงในปีที่ผ่านมาในนำแท็กซี่ในมหานครนิวยอร์กทั้งหมดมาอยู่บนแอปของพวกเขา
Uber ทำธุรกิจในกว่า 70 ประเทศ แต่ตลาดที่ใหญ่ที่สุดสองแห่งคือ สหรัฐฯ และ อเมริกา ซึ่งคิดเป็นเกือบสามในห้าของรายได้ทั้งหมดของพวกเขา
Kawanabe นอกจากบริหารบริษัทแท็กซี่ของครอบครัวแล้ว เขายังเป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรมแท็กซี่หลักของญี่ปุ่น และแต่งงานกับหลานสาวของอดีตนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้เขายังเป็นคนที่เชี่ยวชาญในธุรกิจของสหรัฐฯ เป็นอย่างดี โดยสำเร็จการศึกษาจาก Kellogg School of Management แห่งมหาวิทยาลัย Northwestern และ เคยทำงานในบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกอย่าง McKinsey
Uber ที่เข้าสู่ญี่ปุ่นในปี 2014 ด้วยการวิ่งเต้น Lobby โดยมีเป้าหมายเพื่อโน้มน้าวให้รัฐบาลยอมรับรูปแบบการเรียกรถส่วนตัว Kawanabe ได้โต้เถียงในเวลานั้นว่ารูปแบบธุรกิจดังกล่าว อาจจะนำปัญหามาสู่ประเทศที่ผู้โดยสารหวังว่าคนขับจะสวมถุงมือสีขาวในรถแท็กซี่ที่สะอาดสะอ้าน ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลของโตเกียวก็เห็นด้วย
มีข้อบังคับวุ่นวายหลายอย่างสำหรับธุรกิจรถโดยสารเชิงพาณิชย์ รวมถึงวิธีกำหนดค่าโดยสารหรือแม้แต่ตำแหน่งที่จะติดป้ายทั้งภายในและภายนอกรถ ผู้ขับขี่ต้องได้รับอนุญาตโดยผ่านการสอบรวมถึงการทดสอบภาคปฏิบัติที่เข้มข้น โดยมีการห้ามใช้ยานพาหนะส่วนตัวและคนขับที่ไม่มีใบอนุญาตใช้งานแอป Uber ในประเทศญี่ปุ่น
ในปี 2018 Dara Khosrowshahi ซีอีโอคนใหม่ของ Uber กล่าวว่าบริษัทจะปฏิบัติตามกฎระเบียบของญี่ปุ่นและพยายามหาแท็กซี่ที่ได้รับใบอนุญาตเพื่อสมัครใช้งานแอป
แน่นอนว่ามันเป็นอุปสรรคครั้งสำคัญของ Uber ทันที นักวิเคราะห์ได้กล่าวว่าบางที Uber อาจจะต้องใช้เวลาถึง 4 ปีในการเจรจาความร่วมมือกับบริษัทแท็กซี่ โดยต้องส่งพนักงานไปยังอู่แท็กซี่ที่อยู่ห่างไกลเพื่อเอาชนะใจคนขับและเจ้านายของพวกเขา
Kazutaka Tomita เจ้าของบริษัทแท็กซี่ชั้นนำอีกแห่งของญี่ปุ่น ได้เซ็นสัญญาเป็นหุ้นส่วนกับ Uber ทำให้ Kawanabe เรียก Tomita เข้ามาประชุมที่สำนักงานใหญ่ของกลุ่มอุตสาหกรรมแท็กซี่ในโตเกียว
อาคารที่มีมีรูปปั้นครึ่งตัวหุ้มด้วยทองสัมฤทธิ์อันศักดิ์สิทธิ์ของผู้ก่อตั้งรุ่นปู่ของ Kawanabe อันน่าเกรงขาม การเผชิญหน้ากันระหว่างทั้งสอง โดย Kawanabe ได้ขู่ Tomita ว่าให้ถอนคนขับออกจากบริการของ Uber ไม่อย่างงั้นต้องสละตำแหน่งประธานคณะกรรมการในอุตสาหกรรมนี้ทันที
Tomita เลือกที่จะอยู่กับ Uber และยอมสละตำแหน่ง
ด้วยการสนับสนุนจาก Tomita และบริษัทแท็กซี่อื่น ๆ Uber ได้บุกเข้ามาในตลาดญี่ปุ่นได้สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มหลั่งไหลกลับเข้ามาในญี่ปุ่นหลังจากมีการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นได้อีกครั้งในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว
แต่ถึงกระนั้น Go ก็เป็นที่ 1 ได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าหลักในท้องถิ่นที่เลือกแบรนด์ Go เป็นอันดับ 1
หนึ่งในไม่กี่แห่งที่ Uber ให้บริการแชร์รถได้คือ Tangocho เมืองชายฝั่งห่างไกลที่มีประชากรประมาณ 5,900 คนทางตะวันตกของญี่ปุ่น และเน้นให้บริการสำหรับผู้สูงอายุเพียงเท่านั้น ซึ่งต้องการวิธีการเดินทางหลังจากรถประจำทางหยุดให้บริการ
Stephanie Hui นายธนาคารของ Goldman Sachs ที่ลงทุนใน Go ประมาณการว่า ประมาณ 15% ของการนั่งแท็กซี่ในญี่ปุ่นมีการจองผ่านแอป เพิ่มขึ้นจากประมาณ 5% ในปี 2020 โดยภายในหกปี Goldman คาดการณ์ว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยเป็น 30-40%
Nihon Kotsu บริษัทแท็กซี่ของ Kawanabe ยึดครองบริการของ Go แทบจะทั้งหมด ซึ่งเหล่าผู้คนในแวดวงธุรกิจกล่าว่า Kawanabe ได้ผลักดันคนอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมที่เขามี connection ให้มาลุยด้วยกันกับ Go และให้หนีห่างจาก Uber ไปซะ ไม่งั้นจะเจอปัญหาแบบเดียวกับ Tomita
บทสรุป
จากข้อมูลข้างต้นเราจะเห็นได้ว่า ปัจจัยที่สำคัญที่ Uber ไม่สามารถเข้าแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากกฎข้อบังคับที่เข้มงวดของประเทศญี่ปุ่นเอง ซึ่งทำให้บริการแชร์รถไม่สามารถที่จะเกิดได้เหมือนในประเทศอื่น ๆ
นั่นทำให้แท็กซี่ของญี่ปุ่น มีคู่แข่งจากภายนอกเพียงไม่กี่รายเท่านั้น ทำให้ราคาค่าโดยสารแท็กซี่ในญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก การเดินทางปกติ 8 กิโลเมตร (5 ไมล์) ในโตเกียวมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2,700 เยน หรือ ราวๆ 24 ดอลลาร์ เทียบกับเพียงแค่ 18 ดอลลาร์สำหรับการเดินทางด้วย UberX ใน ซานฟรานซิสโก
“อุตสาหกรรมแท็กซี่ของญี่ปุ่นไม่มีการแข่งขันอย่างแน่นอน” Mitsuhiro Kunisawa นักวิเคราะห์ด้านการขนส่งอิสระ กล่าว
“ราคาแท็กซี่ในประเทศนี้มีราคาแพงมาก ประเทศนี้กำหนดกฎเกณฑ์ค่าโดยสาร และอุตสาหกรรมแท็กซี่มีการ Lobby อย่างรุนแรง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ซึ่งหากปราศจากการ Lobby เหล่านี้ ก็ไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่ Uber จะไม่สามารถสู้กับคู่แข่งในท้องถิ่นได้”
ซึ่งหากมองถึงข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น บางทีคำเรียกที่ว่า “เจ้าชายแห่งแท็กซี่” ของญี่ปุ่นมันก็อาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะคำว่า “ยากูซ่าแห่งแท็กซี่” ของญี่ปุ่น น่าจะเป็นอะไรที่เหมาะสมกว่านั่นเองครับผม
References :
https://www.financialexpress.com/industry/meet-ichiro-kawanabe-the-taxi-prince-who-is-fighting-to-make-sure-uber-wont-win-in-japan/934144/
https://www.wsj.com/amp/articles/the-taxi-prince-is-taking-on-uberand-winning-60f883df
https://www.thestar.com.my/tech/tech-news/2017/11/15/the-taxi-prince-fighting-to-make-sure-uber-wont-win-in-japan
https://phys.org/news/2018-09-uber-teams-japan-taxi-firm.html