มะเร็งที่เพิ่มขึ้น โดยไม่ทราบสาเหตุในหมู่คนรุ่นมิลเลนเนียล

เป็นอีกหนึ่งบทความที่น่าสนใจจาก Financial Time ที่อยากจะมาเล่าให้ฟัง เกี่ยวกับโรคมะเร็งที่สถานการณ์ในตอนนี้เรียกได้ว่ามีอัตราการเกิดที่สูงขึ้นอย่างน่าประหลาดใจในหมู่คนรุ่นมิลเลนเนียล

มีการวิเคราะห์ข้อมูลจาก Institute for Health Metrics and Evaluation ของ Unversity of Washington School of Medicine ซึ่งแสดงให้เห็นว่าช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา อัตราการเกิดมะเร็งในประเทศกลุ่ม G20 ซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำนั้นมีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นในหมู่คนที่มีอายุ 25-29 ปี ในขณะที่ตรงกันข้ามในกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 75 ปี พบว่าอัตราการเกิดมะเร็งได้ลดลงจากจุดสูงสุดเมื่อปี 2005

ความน่ากังวลก็คือเหล่านักวิจัยไม่มีคำอธิบายแน่ชัดว่าเหตุใดคนในยุคมิลเลนเนียลจึงมีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากกว่าคนรุ่นก่อนหน้าอย่างชัดเจนมาก ๆ

ซึ่งจากงานวิจัยมีข้อมูลพบว่า ในบรรดาผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-39 ปี โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีอัตราเพิ่มขึ้น 70% ในกลุ่มประเทศ G20 ระหว่างปี 1990 ถึง 2019 เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้น 24% ของมะเร็งทั้งหมด

Michelle Mitchell ผู้บริหารระดับสูงของ Cancer Research UK หรือ CRUK กล่าวว่า “การเพิ่มขึ้นของอัตราการเกิดมะเร็งในคนอายุน้อยเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เราต้องทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงนั้นโดยด่วน” ซึ่งแน่นอนว่าการเพิ่มขึ้นในเคสของคนที่มีอายุน้อย ๆ นั้นกลายเป็นเป็นประเด็นที่น่ากังวล”

Shahnawaz Rasheed ศัลยแพทย์ที่ Royal Marsden โรงพยาบาลรักษาด้านมะเร็งที่มีชื่อเสียงของลอนดอน ได้เล่าถึงประสบการณ์น่าตกใจของเขาในช่วงสองสัปดาห์ เมื่อเขาได้ผ่าตัดผู้หญิง 4 คนที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี คนไข้รายล่าสุดอีกรายเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรง เป็นนักกีฬาหญิงวัย 30 ปี

การวินิจฉัยโรคในกลุ่มคนหนุ่มสาวนั้นส่งผลกระทบต่อ Rasheed อย่างหนัก มันทำให้เขามีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมากในการหาคำตอบเหล่านี้
“คนเหล่านี้คือคนที่ควรจะดำเนินชีวิตต่อไป… สร้างอาชีพ และเลี้ยงดูลูก” เขากล่าว “มันทำให้หัวใจฉันแตกสลาย”

บทบาทของ Microbiome

เหล่านักวิทยาศาสตร์ที่ค้นหาข้อมูลเชิงลึกมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าการเปลี่ยนแปลงด้านโภชนาการและวิถีชีวิตที่เริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่แล้วเป็นกุญแจไขปริศนาอย่างน้อยส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่เกิดขึ้น

Dr Frank Sinicrope ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้องอกวิทยาและแพทย์ระบบทางเดินอาหารที่ Mayo Clinic ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่เริ่มมีอาการระยะแรก กล่าวว่า อุบัติการณ์ของโรคนี้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในผู้ที่เกิดหลังปี 1960 การเพิ่มขึ้นของคนหนุ่มสาวที่มาหาเขาเพื่อรับการักษาในช่วงไม่กี่ปีทีผ่านมานั้น “ค่อนข้างน่าตกใจ” เขากล่าว

Dr Frank Sinicrope ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้องอกวิทยาและแพทย์ระบบทางเดินอาหารที่ Mayo Clinic (CR:Youtube)
Dr Frank Sinicrope ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้องอกวิทยาและแพทย์ระบบทางเดินอาหารที่ Mayo Clinic (CR:Youtube)

การรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตในวัยเด็กมีแนวโน้มที่จะเป็นปัจจัยในการเพิ่มขึ้นเหล่านี้ เขากล่าว โดยชี้ไปที่โรคอ้วนในเด็กซึ่งแพร่หลายมากขึ้นและเป็นปัญหามากขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

ในขณะที่มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงกับเรื่องอาหาร นักวิจัยกำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่การเปลี่ยนแปลงของ Microbiome ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในตัวเรา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในลำไส้ ที่กำลังเพิ่มความเสี่ยงที่มากขึ้นต่อการเกิดมะเร็ง

มีความเชื่อกันว่า Microbiome มีบทบาทสำคัญในสุขภาพโดยรวม รวมถึงการย่อยอาหารและการควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน เช่นเดียวกับการป้องกันแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคและช่วยในการผลิตวิตามินที่สำคัญ

การบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและน้ำตาลสูงจะทำให้องค์ประกอบของ Microbiome เปลี่ยนแปลงไปในทางที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของแต่ละคน

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคนทุกวัย นักวิจัยเชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่กรณีของมะเร็งที่เริ่มแสดงอาการในระยะเริ่มต้นเริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ประมาณปี 1990

คนที่เกิดในทศวรรษที่ 1960 เป็นกลุ่มคนรุ่นแรกที่สัมผัสได้ตั้งแต่ทารกไปจนถึงการรับประทานอาหารที่ทันสมัย ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเริ่มกลายเป็นบรรทัดฐานของโลกคนรวยในปี 1950

“มะเร็งมักจะพัฒนาในช่วงหลายทศวรรษ ผู้คนสามารถสะสมเนื้องอกที่เติบโตช้าไว้ได้นานหลายปี ดังนั้นสำหรับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยในช่วงอายุ 20,30,40 ปี การสัมผัสปัจจัยเสี่ยงบางอย่างอาจเกิดขึ้นเมื่อยังเป็นทารกหรือแม้แต่ในครรภ์” Prof Shuji Ogino ศาสตราจารย์ผู้เชียวชาญด้านการระบาดวิทยาแห่ง Harvard TH Chan School of Public Health ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มการวิจัย CRUK/NCI กล่าว

ความจริงที่ว่ามะเร็งที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในวัยหนุ่มสาวนั้นอยู่ในระบบทางเดินอาหารหลายชนิด เช่น ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เช่นเดียวกับในหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ตับอ่อน ท่อน้ำดี ตับ และถุงน้ำดี

มะเร็งชนิดอื่น ๆ บางชนิดพบมากขึ้นในคนอายุน้อย เช่น มะเร็งเต้านม ไต และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก รวมทั้งมะเร็งเม็ดเลือดบางชนิด ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบจากทั้งโรคอ้วนและสภาวะของ Microbiome

นอกจากนี้ การใช้ยาปฏิชีวนะและยาโดยทั่วไปอาจส่งผลต่อ Microbiome ของแต่ละคน ซึ่งบางครั้งเรียกว่า “bacterial fingerprint”

Ogino ชี้ให้เห็นว่าในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ประเภทของยาที่ใช้รักษาภาวะต่างๆ ได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น เหล่ายาลดความอ้วนรุ่นใหม่ ๆ ซึ่งผลที่ตามมายังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าพวกมันทำอะไรบ้างในระยะยาวกับร่างกายของมนุษย์

Valerie McCormack นักระบาดวิทยาผู้ศึกษารูปแบบการเกิดโรคมะเร็งในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งโรคติดเชื้อเป็นภาระด้านสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดมาอย่างยาวนาน ชี้ว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่อาจเพิ่มอัตราการเกิดโรคไม่ติดต่อ รวมทั้งมะเร็งในกลุ่มประเทศเหล่านี้

สาเหตุการตาย 10 อันดับแรกของผู้ที่มีอายุ 15 ถึง 39 ปี (CR:FT.com)
สาเหตุการตาย 10 อันดับแรกของผู้ที่มีอายุ 15 ถึง 39 ปี (CR:FT.com)

ผู้หญิงในประเทศเหล่านี้มีลูกน้อยลงโดยรวม และเมื่ออายุมากขึ้น หมายความว่าพวกเขาใช้เวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยลงเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อน เพราะในยุคก่อนนั้นการมีครอบครัวที่ใหญ่ มักจะนำไปสู่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเวลานาน และการคลอดลูกเป็นครั้งแรกตั้งแต่อายุน้อยเป็นปัจจัยที่ทราบกันดีว่าสามารถป้องกันมะเร็งเต้านมได้

สำหรับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตส่วนอื่นๆ เช่น การใช้ชีวิตแบบนั่งนิ่ง ๆ มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนอนหลับ และการเปิดรับแสงจ้าซ้ำ ๆ ในตอนกลางคืน หรือพฤติกรรมอื่น ๆ เช่น การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ ก็มีผลกระทบเช่นเดียวกัน

บทสรุป

ต้องบอกว่าการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่เกิดขึ้นเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากว่าปัจจัยใดที่เป็นผู้ร้ายที่ชัดเจน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการดำรงชีวิตของมนุษย์เราตั้งแต่ช่วงปี 1960 เป็นต้นมามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำงานร่วมกันและส่งผลกระทบให้อัตราการเกิดของโรคมะเร็งนั้นสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง

และแน่นอนว่ามันคงไม่หยุดที่แค่มะเร็ง ปัจจัยเสี่ยงเดียวกันนี้อาจทำให้เกิดโรคอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวานและโรคลำไส้อักเสบ หรือโรคในกลุ่ม NCDs ซึ่งมีแนวโน้มที่โรคเรื้อรังเหล่านี้จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตด้วยเช่นกัน

มันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมอย่างชัดเจน เพราะหากแนวโน้มมะเร็งเกิดขึ้นในผู้ที่มีอายุน้อยลง ประเทศก็จะสูญเสียประชากรวัยทำงานที่สามารถมีส่วนร่วมในการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ หรือ แม้กระทั่งผู้ที่รอดจากการรักษา ก็ไม่สามารถที่จะฟื้นฟูร่างกายได้ 100% เหมือนเดิม ซึ่งสุดท้ายแล้วมันก็จะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ที่พบกับปัญหาเหล่านี้ได้ในระยะยาวนั่นเองครับผม

References :
https://www.ft.com/content/90d5f2e3-d539-4149-a503-2114ac3ef355
https://pixabay.com/photos/doctor-surgeon-ct-scan-mri-7000103/


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube