ไม่รู้ว่ามันเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจหรือน่าเป็นห่วงดีนะครับ สำหรับข่าวล่าสุดที่มีการเปิดเผยจากสำนักข่าว reuters ว่า คนไทยเรากำลังบริโภคข่าวทาง TikTok ในสัดส่วนที่มากกว่าประเทศอื่นในโลก
พฤติกรรมที่น่าสนใจคือ คนไทยกว่า 40% ชอบบริโภคข่าวด้วยการดูคลิปวีดีโอมากกว่าการอ่าน ซึ่งตรงนี้ เป็นอะไรที่สวนทางกับเหล่าประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ เช่น เดนมาร์ก ที่บริโภคข่าวผ่าน TikTok เพียงแค่ 2% , ญี่ปุ่น 3% และเยอรมนีที่ประมาณ 3%
บนแพลตฟอร์มอย่าง TikTok นั้น ผู้คนสนใจคนดัง เหล่าผู้มีอิทธิพล (Influencers) และบุคคลในโซเชียลมีเดียที่สร้างเนื้อหาข่าว มากกว่านักข่าวมืออาชีพที่ผ่านการฝึกฝนมา
มันก็ค่อนข้างสอดรับกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคโดยเฉพาะชาวไทย ที่ตอนนี้แห่กันมาใช้งานแพลตฟอร์ม TikTok มากขึ้น และได้ทำการดึงเวลาใช้งานของแพลตฟอร์มอื่นไปค่อนข้างมาก
ความน่าสนใจคือ เหล่าผู้ใช้ TikTok ส่วนใหญ่นั้น ชอบข่าวเกี่ยวกับเรื่องราวที่บุคคลทั่วไปสร้างขึ้นมาประมาณ 44% มากกว่าสำนักข่าวกระแสหลักหรือนักข่าวมืออาชีพที่ 33% ซึ่งมันสะท้อนภาพลักษณ์ของแพลตฟอร์มได้ดีที่เหล่าพลเมืองคนทั่วไปมักจะรวบรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบ realtime และนำเสนอต่อสาธารณะ
มันได้เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในช่วงสงครามยูเครน-รัสเซีย เนื่องจากทหารโพสต์ภาพวีดีโอและบันทึกเรื่องราวประจำวันจากสนามรบ และอัปโหลดไปยัง TikTok นั่นทำให้คนที่เสพข่าวรู้สึกได้ว่ากำลังประสบกับเหตุการณ์โดยตรงรวมถึงรายละเอียดบางอย่างที่นักข่าวกระแสหลักเลือกที่จะละเว้นไม่เสนอออกมา
แต่ก็มีเหล่าผู้เชี่ยวชาญได้เตือนว่า การทำข่าวบนแพลตฟอร์มวีดีโอสั้นอย่าง TikTok นั้น สามารถผสมกับข้อมูลที่บิดเบือนได้ง่าย และทำให้เกิดความสับสนระหว่างข้อเท็จจริงและเรื่องที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา ตัวอย่างเช่น TikTokers บางคนแสร้งทำเป็นสตรีมสดจากยูเครนและเรี่ยไรเงินบริจาคโดยใช้ฟุตเทจที่ได้รับการตัดต่อหรือพากษ์เสียงให้เหมือนจริง
จากการสืบสวนของ NewsGuard พบว่าเกือบ 20% ของวีดีโอที่ครอบคลุมหัวข้อข่าวที่กลายเป็นกระแสร้อนแรงไปทั่วโลกนั้น มีข้อมูลที่ผิดเพี้ยน โดยหัวข้อเหล่านี้นั้นมีตั้งแต่เรื่องวัคซีนป้องกันโควิด ความรุนแรงจากการกราดยิงภายในโรงเรียน ไปจนถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา
ด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำในยุคปัจจุบันนั้น ทั้ง Photoshop , Deepfakes ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI ยุคใหม่ กำลังนำไปสู่การเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดบนแพลตฟอร์มวีดีโอรูปแบบสั้นได้ง่ายขึ้น
การตรวจสอบข้อเท็จจริงในวีดีโอสั้นที่เราได้เห็นใน TikTok นั้น อาจเป็นเรื่องยากและใช้เวลานานมาก เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลเหล่านั้นถูกต้อง
ตัวอย่างข่าวผิด ๆ จากการวิจัยจาก NewsGuard ที่น่าสนใจบนแพลตฟอร์ม TikTok
ในเดือนกันยายนปี 2022 นักวิเคราะห์ของ NewsGuard สี่คน ในสหรัฐฯ ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับข้อมูลต่าง ๆ บนแพลตฟอร์ม TikTok ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020 , โควิด-19,สงครามรัสเซีย-ยูเครน, การทำแท้ง และการกราดยิงในโรงเรียน
ใน TikTok เราสามารถค้นหาข่าวหรือข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดายโดยพิมพ์ keyword ในแถบค้นหา ซึ่งผลการทดสอบของ NewsGuard พบว่ามีการให้ข้อมูลเท็จในผลลัพธ์ 20 รายการแรก และมักจะอยู่ใน 5 อันดับแรก ซึ่งเมื่อเทียบกับ Google จะให้ผลลัพธ์ที่มีคุณภาพสูงกว่าและมีการแบ่งขั้วน้อยกว่า (โดยเฉพาะเรื่องการเมือง) โดยมีข้อมูลผิดน้อยกว่ามาก
NewsGuard ได้วิเคราะห์ผลลัพธ์ของ TikTok 540 รายการ โดยพิจารณาจากผลลัพธ์ 20 อันดับแรกจากการค้นหาข้อมูลข่าวสาร พบว่าวีดีโอ 105 รายการ หรือประมาณ 19.4% มีการกล่าวอ้างข้อมูลเท็จหรือทำให้เข้าใจผิด
ข่าวเหล่านี้ประกอบด้วยวลีที่เป็นกลาง เช่น “การเลือกตั้งปี 2022” และ “วัคซีน mRNA” รวมถึงถึงหัวข้อข่าวที่มีการโต้เถียง เช่น “6 มกราคม FBI” และ “Uvalde tx conspiracy” ในผลการค้นหาของ TikTok เสนอวลีที่ถูกกล่าวหาเหล่านี้จำนวนมากเมื่อทาง NewsGurad พิมพ์วลีที่มีความเป็นกลาง
ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้ใช้ป้อนคำว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” TikTok จะแนะนำให้ค้นหาคำว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ถูกหักล้าง” และ “ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” สำหรับผู้ใช้ที่ค้นหาข่าวเกี่ยวกับ “วัคซีนโควิด” TikTok แนะนำให้ค้นหา “การบาดเจ็บของวัคซีนโควิด” “ความจริงของวัคซีนโควิด” “การสัมผัสวัคซีนโควิด” “วัคซีนโควิดเอชไอวี” และ “คำเตือนวัคซีนโควิด”
ในทางตรงกันข้าม Google แนะนำคำค้นหาที่ตรงไปตรงมามากกว่า ตัวอย่างเช่น การค้นหา “วัคซีนโควิด” ใน Google จะแสดงข้อความว่า “วัคซีนโควิดชนิดใดดีที่สุด” และ “ชนิดของวัคซีนโควิด” ซึ่งแทบไม่มีข้อแนะนำเหล่านี้ในแพลตฟอร์มอย่าง TikTok เลย
ในบางกรณีเช่นเรื่องของการเมือง มีความน่าสนใจว่า แม้ TikTok จะให้ข้อมูลที่ผิดเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย แต่ผลลัพธ์มักจะมีการเอนเอียงไปทางขั้วทางการเมืองใดการเมืองหนึ่งมากกว่าของ Google
ตัวอย่างเช่น ผลการค้นหา 12 รายการจาก 20 อันแรก สำหรับ “2022 midterm” มีคำพูดที่เอนเอียงไปทางแนวคิดทางการเมืองฝั่งซ้ายมากกว่า
รวมถึงยังมีเรื่องของข้อมูลสุขภาพอีกมากมายที่เป็นตัวอย่างความมั่วมาก ๆ ของ TikTok ที่ทาง NewsGuard แสดงผลการวิจัยให้เห็น (สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ Link References แนบท้ายบทความ)
บทสรุป
ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่แค่แพลตฟอร์ม TikTok เท่านั้นที่มีปัญหาในเรื่องดังกล่าวนี้ แต่มันเป็นปัญหาในเรื่องทางเทคนิคของรูปแบบวีดีโอมากกว่า ซึ่ง ความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกันแทบจะทุกแพลตฟอร์มวีดีโอ ไม่ว่าจะเป็น Reels ของ Meta , Youtube & Youtube Shorts ฯลฯ
มันยังเป็นเรื่องท้าทายทางวิศวกรรมอยู่ค่อนข้างมากในการวิเคราะห์วีดีโอในปัจจุบัน ที่ต้องแข่งขันกับความเร็วในการเสพข้อมูลของผู้บริโภค ยิ่งวีดีโอสั้น มันเลยยิ่งกลายเป็นปัญหา การ extract meta data จาก vdo นั้นเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา และคงไม่สามารถเทียบได้กับข้อมูลพวก Text หรือ ภาพ จากการวิเคราะห์ของ Google Search ที่แน่นอนว่ามีความแม่นยำในการวิเคราะห์ข้อมูลสูงกว่ามาก
แต่การวิเคราะห์ในเรื่องวีดีโอว่า อันไหนเท็จ อันไหนจริงนั้น เป็นเรื่องท้าทายสำหรับทุกแพลตฟอร์ม สอดรับกับเทคโนโลยี การปลอมแปลงต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ AI ในยุคใหม่ ที่สามารถปลอมวีดีโอได้แนบเนียนจนแทบแยกไม่ออกว่า อะไรคือข้อมูลจริง หรือข้อมูลเท็จ เพราะฉะนั้นการเสพข้อมูลโดยเฉพาะรูปแบบวีดีโอต้องมีสติให้มาก และคอยเช็คข้อมูลกับแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถืออยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เป็นเหยื่อของสงครามข้อมูลที่กำลังถาโถมเข้ามาในยุคปัจจุบันนั่นเองครับผม
References :
https://www.zdnet.com/article/do-you-use-tiktok-as-a-news-source-heres-how-to-watch-for-misinformation/
https://www.blockdit.com/posts/648a9294fe76e7937c8dac11
https://www.newsguardtech.com/misinformation-monitor/september-2022/
https://edition.cnn.com/2022/02/24/media/russia-ukraine-social-media-reliable-sources/index.html
https://sn4.scholastic.com/issues/2022-23/022723/can-you-trust-tiktok.html
https://www.laverdad.es/sociedad/fake-body-tiktok-20220816084735-nt.html
หนังสือ The YouTube Formula: How Anyone Can Unlock the Algorithm to Drive Views, Build an Audience, and Grow Revenue โดย Derral Eves