ประวัติ Vladimir Putin ตอนที่ 11 : The Empire Strikes Back

สถานการณ์ที่โลกเราอยู่ในภาวะสงครามเย็นต้องบอกว่าไม่เคยสิ้นสุดจริง ๆ การฟื้นฟูอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซีย เริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนผ่านรัสเซียไปสู่ระบบตลาดเสรี กลุ่มของ KGB มองว่าทุนนิยมเป็นเครื่องมือสำหรับวันหนึ่งที่รัสเซียจะปีนป่ายไปสู้กับตะวันตก

แต่การรุกล้ำทางตะวันตกผ่าน NATO เข้าใกล้พรมแดนรัสเซียมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นภัยคุกคามที่มีอยู่จริง ในขณะที่กระบวนการประชาธิปไตยที่ล้มล้างรัฐบาลที่สนับสนุนรัสเซียในยูเครนและจอร์เจียถูกมองว่าเป็นการปฏิวัติที่ได้รับทุนจากสหรัฐฯ ไม่ใช่การแสดงออก หรือ เป็นเจตจำนงที่เสรีของประชาชนอย่างแท้จริง

ความหวาดระแวงนี้เกิดขึ้นจาการล่มสลายของจักรวรรดิ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากความพ่ายแพ้อันขมขื่นของระบอบคอมมิวนิสต์

Putin ได้ตำแหน่งที่ชัดเจนที่สุดเมื่อเขาพูดคุยกับผู้นำโลกเป็นครั้งแรกในการประชุมความมั่นคงที่มิวนิคเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2007

หลายคนต่างเชื่อว่านี่จะเป็นปีสุดท้ายในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา เพราะกำลังจะครบเทอมในวาระที่สอง และตามรัฐธรรมนูญเขาต้องก้าวลงจากตำแหน่ง

ในช่วงปีสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งในวาระที่สอง เขาได้โจมตีการขยายตัวของ NATO ไปยังประเทศต่าง ๆ ของสนธิสัญญาวอร์ซอในอดีต เขาประณามแผนการของอเมริกาในการสร้างเกราะป้องกันขีปนาวุธในโปแลนด์และสาธารณรัฐเช็ก

สหรัฐฯ อ้างอย่างข้าง ๆ คู ๆ ว่า สิ่งนี้จำเป็นในการปกป้องยุโรปจากขีปนาวุธจากอิหร่านและเกาหลีเหนือ แต่รัสเซียไม่ได้มองอย่างงั้น เกราะป้องกันนี้มีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อบ่อนทำลายขีดความสามารถของรัสเซียในการโจมตีด้วยนิวเคลียร์เพียงเท่านั้น

คำด่าของ Putin จบลงด้วยการเตือนตะวันตก ว่ามันเป็นระบบที่มีสองมาตรฐาน สหรัฐฯ ใหญ่มาจากไหนถึงครอบงำทุกอย่างได้แต่เพียงผู้เดียว “นี่มันไม่ใช่โลกของสหรัฐฯเพียงประเทศเดียว ที่ทำทุกอย่างแล้วถูกต้องไปหมด”

Putin ได้สังเกตเห็นโลกอย่างเงียบ ๆ ว่า กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประเทศที่เรียกว่า BRIC ซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ทั้งบราซิล รัสเซีย อินเดีย และ จีน กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และกำลังท้าทายเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว

ทว่าในสิ้นปีนั้น ชาติตะวันตกตั้งความหวังในชายที่ Putin หวังให้สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาอย่าง Dmitry Medvedev

Medvedev อดีตทนายความร่างจิ๋วที่พูดจาแผ่วเบา ซึ่งดำรงตำแหน่งรองจาก Putin ตั้งแต่สมัยอยู่ที่เซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก

Medvedev เป็นพวกเสรีนิยมที่ประกาศตัวว่าเป็นพวกเสรีนิยมแบบสุดขั้ว เขาเติบโตมาในย่านชานเมืองของเลนินกราดในฐานะหนอนหนังสือ เขาสนใจทั้งงานวรรณกรรมคลาสสิกและเพลงร็อคตะวันตก

เขาได้ให้คำมั่นว่าจะลดบทบาทของรัฐในระบบเศรษฐกิจ ฝ่ายตะวันตกก็เริ่มมีความหวังว่ารัสเซียจะกลับไปสู่เส้นทางการเป็นเศรษฐกิจแบบตลาดปกติหลังจากมีการเปลี่ยนผ่านผู้นำเป็น Medvedev

ซึ่งไม่นานหลังจาก Barack Obama เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม 2008 สหรัฐฯ ได้ประกาศการรีเซ็ตความสัมพันธ์กับรัสเซียใหม่ แม้กระทั่งหลังความขัดแย้งทางการทหารของรัสเซียกับจอร์เจียอดีตเพื่อนบ้านโซเวียตที่เอนเอียงไปทางตะวันตกในเดือนสิงหาคม 2008

ต้นเดือนนั้น การสู้รบระหว่างกองทัพจอร์เจียและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในสาธารณรัฐเซาท์ออสซีเซียซึ่งใช้อาวุธหนักของรัสเซียได้ทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นสงครามห้าวัน

รัสเซียและจอร์เจียต่างตำหนิกันและกัน ขณะที่การต่อสู้ดำเนินไปอย่างควบคุมไม่ได้ เครื่องบินรัสเซียทิ้งระเบิดใส่ตำแหน่งของกองทหารจอร์เจีย ในขณะที่รถถังของรัสเซียเคลื่อนเข้าสู่ดินแดนจอร์เจีย

ความขัดแย้งดังกล่าวนำไปสู่ดินแดนขนาดใหญ่ที่ถูกแยกออกจากจอร์เจีย รัสเซียยอมรับเอกราชของเซาท์ออสซีเพียงฝ่ายเดียว

ในตอนนั้นมีเพียงไม่กี่คนที่สังเกตเห็นว่าการตอบสนองเชิงรุกของรัสเซียแสดงให้เห็นถึงความแน่วแน่ในการจัดการกับปัญหา หากประเทศเพื่อนบ้านเรือนเคียงคิดจะเข้าร่วมกับ NATO

แม้จะมีการรุกราน รัฐบาลชุดใหม่ของ Barack Obama ก็ส่งสัญญาณว่าต้องการเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ การทะเลาะวิวาทต้องหยุดลง

Medvedev แสดงความปรารถนาของรัสเซียที่จะรวมเข้ากับระบบการเงินโลก และพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในความพยายามอย่างเต็มที่กับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปแลพันธมิตรอื่น ๆ และต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างสถาปัตยกรรมการเงินโลกใหม่

ประเด็นสำคัญประการหนึ่งในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาคือการผลักดันให้มอสโกเป็น “ศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ” แห่งใหม่

ในระหว่างการเยือนมอสโกครั้งแรกของ Obama ในปี 2009 เขาและ Medvedev ดูเหมือนจะเข้ากันได้ดี และเมื่อ Medvedev เดินทางไปสหรัฐฯ ในปีต่อไป ความสัมพันธ์ทางธุรกิจของทั้งสองประเทศก็มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

 Obama เยือนมอสโกในปี 2009 เขาและ Medvedev ดูเหมือนจะเข้ากันได้ดี (CR:The Guardian)
Obama เยือนมอสโกในปี 2009 เขาและ Medvedev ดูเหมือนจะเข้ากันได้ดี (CR:The Guardian)

Medvedev พยายามสร้างตัวตนให้เป็นคนที่ทันสมัย เป็นคนรุ่นใหม่ที่ใช้ iPad ใช้ทวิตเตอร์ เขาไปที่ซิลิคอนแวลลีย์โดยแสดงความหวังที่จะแสวงหาความร่วมมือในการช่วยพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงของรัสเซีย

แต่หลังจากก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี Putin ก็เข้ามาแทนที่ Medvedev ในฐานะนายกรัฐมนตรี และเบื้องหลังการจัดการทั้งหมดเขาก็เป็นคนดำเนินการ Medvedev ตัดสินใจอย่างอิสระเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น

Putin เลือกให้ Medvedev สืบทอดตำแหน่งของเขาเพราะในบรรดาคนวงในทั้งหมดของเขานั้น Medvedev มีโอกาสน้อยสุดที่จะท้าทายอำนาจเขา มันเป็นแผนการตั้งแต่แรกเพื่อให้ Putin กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งหลังจาก Medvedev ลงจากตำแหน่ง

และแทนที่จะเป็นการเปิดเสรีตามความหวังของ Medvedev สิ่งที่เกิดขึ้นจากการปกครองสี่ปีของเขากลับกลายเป็นระบบรัฐที่เข้ามายึดครองเศรษฐกิจยิ่งกว่าเก่าเสียอีก

ภายใต้ตำแหน่งประธานาธิบดีของ Medvedev เงินหลายพันล้านดอลลาร์ของรัฐบาลถูกเทลงในโครงการเรือธงของรัฐที่จะทำให้เศรษฐกิจมีความทันสมัย

อย่างแรกคือโครงการที่มีชื่อว่า Rosnano ซึ่งเป็นบริษัทที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์บ่มเพาะเพื่อพัฒนานาโนเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสาขาที่ Putin เชื่อว่ามีความสำคัญในการแข่งขันกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการทหารและปัญญาประดิษฐ์ของตะวันตก

หรือโครงการที่มีชื่อว่า Skolkovo ซึ่งเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีขั้นสูงที่สร้างขึ้นโดย Medvedev ในปี 2010 โดยวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการพัฒนาการเริ่มต้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งกิจการทั้งสองกลายเป็นหลุมดำขนาดมหึมาในการทุ่มใช้เงินของรัฐบาล

ทั้งสองโครงการยักษ์แทบจะไม่มีการกำกับดูแลหรือมีความโปร่งใสเกี่ยวกับวิธีการใช้จ่าย เมื่อ Rosnano ลงทุนมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ในบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ และ Skolkovo ได้กระชับความร่วมมือในซิลิคอนแวลลีย์ และกับสถานบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์หรือ MIT

หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐฯ เริ่มกังวลว่ารัสเซียกำลังหวนคืนสู่วิถีดั้งเดิมของสงครามเย็น FBI ได้เตือนผู้นำด้านเทคโนโลยีในบอสตันว่าในความเป็นจริงโครงการของรัฐรัสเซียเป็นเหมือนหน่วยงานแนวหน้าที่ซับซ้อนซึ่งมุ่งเป้าไปที่การเข้าถึงเทคโนโลยีการทหารของอเมริกา

หลังสี่ปีในตำแหน่งประธานาธิบดีของ Medvedev ในที่สุด Putin ก็กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง และในวาระที่สามของ Putin ทุกอย่างดูเหมือนว่าจะทวีความดุเดือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ครั้งแรกที่เครมลินส่งสัญญาณว่ารัสเซียอาจกำลังมุ่งหน้าไปสู่ความขัดแย้งอย่างลึกซึ้งกับยูเครนได้เกิดขึ้นเร็วมาก

ในเดือนกันยายาน 2013 Viktor Yanukovych ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี หลังจากที่กลุ่มพันธมิตรจากการปฏิวัติสีส้ม รวมถึงอดีตประธานาธิบดี Yushchenko ถูกจัดการจากข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตภายหลังข้อตกลงเกี่ยวกับก๊าซในปี 2006

แม้ว่าตัว Yanukovych จะเอนเอียงไปทางฝั่งเครมลิน แต่เขาก็ยังมีการเจรจาเกี่ยวกับการลงนามในข้อตกลงการค้าและความร่วมมือกับสหภาพยุโรปที่จะกระชับความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของยูเครนกับตะวันตก

Yanukovych มีกำหนดจะลงนามในข้อตกลงขอสหภาพยุโรปในเดือนพฤศจิกายน และเมื่อถึงเวลาที่ใกล้ลงนาม ระบอบการปกครองของ Putin ก็เริ่มกดดันเขา

ในเดือนกันยายนปีนั้น Sergei Glazyev ทูตของเครมลินได้เตือนต่อสาธารณชนว่ายูเครนต้องเผชิญกับหายนะหากได้ลงนามในข้อตกลงดังกล่าว

ความคาดหวังที่มีมาอย่างยาวนานว่าในที่สุดยูเครนจะเอนเอียงไปทางทิศตะวันตกได้ถูกทำลายอีกครั้ง ก่อให้เกิดการประท้วงที่สนับสนุนสหภาพยุโรปที่เพิ่มจำนวนขึ้น ผู้คนหลายแสนคนพากันออกมาชุมนุมตามท้องถนนอีกครั้ง

นักศึกษาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจในยูเครนเบื่อหน่ายกับการคอร์รัปชั่นของระบอบการปกครองของ Yanukovych ได้เริ่มตั้งเต็นท์อีกครั้งที่จตุรัส Maidan อันเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเคียฟ

เป็นเวลาสามเดือนที่กลุ่มประท้วงหลักยึดติดอยู่กับน้ำแข็งและหิมะ บางครั้งมีการปะทะกับตำรวจปราบจราจลในขณะที่ฝ่ายบริหารพยายามเคลียร์พื้นที่ ความรุนแรงทวีความรุนแรงมากขึ้น

Yanukovych ออกกฎหมายที่เข้มงวดห้ามการประท้วงและข่มขู่ผู้ประท้วงด้วยค่าปรับจำนวนมากรวมถึงโทษจำคุก

ผู้ประท้วงถูกกองกำลังฝ่ายขวาหัวรุนแรงแทรกซึมซึ่งมีการจัดระเบียบมากขึ้นเรื่อย ๆ นำโดยกลุ่มชาตินิยมที่ควบคุมเครื่องกีดขวางรอบจตุรัส แม้จะติดอาวุธด้วยเครื่องยิงหนังสติ๊ก พวกเขาอยู่ในแนวหน้าของการปะทะกับตำรวจปราบจราจล

ในช่วงเช้าของวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2014 เกิดเหตุสไนเปอร์ขึ้น ภายในสองชั่วโมง ผู้ประท้วงสี่สิบหกคนเสียชีวิต จนถึงสิ้นวัน ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งถึงเจ็ดสิบราย

Yanukovych กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาเรื่องวิกฤติเพื่อความอยู่รอดทางการเมืองของเขากับรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส เยอรมัน และโปแลนด์ การเจรจาสิ้นสุดลงโดยผู้นำยูเครนตกลงที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีก่อนสิ้นปี

แต่ทางเครมลินดูเหมือนจะไม่พอใจ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซียคนหนึ่งบอกกับ Financial Times ว่า หากยูเครนยังคงเอียงไปทางตะวันตก รัสเซียก็พร้อมที่จะทำสงครามกับแหลมไครเมียเพื่อปกป้องฐานทัพทหารที่นั่นรวมถึงประชากรที่มีชาติพันธุ์รัสเซีย

โลกตื่นขึ้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ Yanukovych ได้หลบหนีไปกลางดึก ละทิ้งการบริหารของเขา ดูเหมือนว่าเขาจะเชื่อว่าเขาไม่ปลอดภัยอีกต่อไป

ผู้นำฝ่ายค้านที่หัวรุนแรงปฏิเสธที่จะยอมรับข้อตกลงประนีประนอมกับเขา โดยจะประท้วงต่อไปจนกว่าเขาจะออกไป และในช่วงสุญญากาศนั่นเองที่รัฐบาลชั่วคราวที่สนับสนุนโดยสหภาพยุโรปเข้ามามีอำนาจ

แต่ในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ ก่อนรุ่งสางวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ทหารสวมหน้ากากไม่สวมเครื่องราชอิสริยาภรณ์บุกรัฐสภาไครเมีย ชักธงรัสเซียขึ้นเหนืออาคารยุคโซเวียต

ทหารรัสเซียบุกเข้าไปในไครเมีย (CR:UNIAN)
ทหารรัสเซียบุกเข้าไปในไครเมีย (CR:UNIAN)

มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีใหม่ของภูมิภาค และเรียกร้องให้มีการลงประชามติร่วมกับรัสเซีย

ในขณะเดียวกัน กองทหารรัสเซีย 150,000 นายระดมกำลังใกล้ชายแดนยูเครน ชาติตะวันตกกำลังสั่นคลอนจากการกระทำที่กล้าหาญของระบอบ Putin รัสเซียให้เหตุผลกับพวกเขาโดยอ้างว่าถูกบังคับให้ตอบโต้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเพื่อตอบโต้การรัฐประหารที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนในเคียฟ

สำหรับ Putin การผนวกไครเมียเป็นช่วงเวลาที่เหมือนเป็นการประกาศก้องให้โลกรู้ว่า เขากำลังประกาศระเบียบโลกใหม่หลังยุคสงครามเย็น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัสเซียเริ่มท้าทายสหรัฐฯ อีกครั้ง

หลังจากที่ไครเมียลงคะแนนเสียงสนับสนุนให้เข้าร่วมกับรัสเซียอย่างท่วมท้น Putin ก็ได้รับการต้อนรับด้วยการปรบมืออย่างก้องเกียรติ

ตอนนี้เขากำลังดำเนินการเพื่อฟื้นฟูอาณาจักรรัสเซียเป็นครั้งแรก ความนิยมของ Putin ก็เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 80

ฝ่ายตะวันตกต้องตื่นขึ้นมาพร้อมกับความแน่วแน่ของรัสเซียในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ระหว่างการทำสงครามชนะจอร์เจียช่วงสั้น ๆ ในปี 2008 ความกลัวก็คือสงครามตัวแทนของรัสเซียจะแพร่กระจายไปยังยุโรป ไม่มีใครเข้าใจว่า Putin กำลังคิดใหญ่แค่ไหน

สหภาพยุโรปร่วมมือกับอเมริกาคว่ำบาตรรัสเซียทางเศรษฐกิจ แต่ตลาดหุ้นรัสเซียก็ฟื้นตัวในไม่ช้า และกองทหารรัสเซียไม่ยอมแพ้ ยังมีกองกำลังอยู่ใกล้ชายแดนยูเครน

ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น นักสู้พร็อกซี่ ซึ่งรัสเซียยืนยันว่าเป็น อาสาสมัคร เริ่มมุ่งหน้าไปยังยูเครนตะวันออก เข้าร่วมกับกองกำลังติดอาวุธที่สนับสนุนรัสเซียในท้องถิ่นจำนวนมากที่ติดตั้งยุทโธปกรณ์ทางทหารของรัสเซีย

เมื่อถึงเดือนเมษายน พวกเขาก็เข้ารับตำแหน่งผู้บริหารในภูมิภาคยูเครนตะวันออกของโดเนตสค์ ลูกันสค์ และสโลเวียนสค์ สำหรับรัฐบาลตะวันตกและฝ่ายบริหารของยูเครน สถานการณ์ดูคล้ายคลึงกันอย่างมากกับวิธีที่หน่วยรัสเซียที่ไม่ปรากฎชื่อเข้ายึดครองและผนวกไครเมีย

ผลจากการคว่ำบาตรแม้เงินรูเบิลจะลดลงในเดือนธันวาคม 2014 แต่ในที่สุดเศรษฐกิจของประเทศก็ฟื้นตัวขึ้นได้

รัฐบาลรัสเซียได้ขุดเอาส่วนหนึ่งของกองทุนรักษาเสถียรภาพซึ่งได้รวบรวมจากรายได้จากน้ำมันมาเกือบทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับรัฐที่้ต้องใช้เงินทุนมากที่สุด เหนือสิ่งอื่นใดดูเหมือนว่าฝ่ายตะวันตกประเมินขอบเขตเศรษฐกิจนอกระบบของรัสเซียต่ำเกินไปเสียแล้ว

ต้องบอกว่าหากในยุคสหภาพโซเวียตได้มีการดำเนินกิจการที่มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งในตะวันออกกลางและแอฟริกา ตอนนี้ทุนนิยม KGB ของ Putin ก็ได้แทรกซึมเข้าไปในยุโรปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับรัฐบาลยูเครน สิ่งที่เครมลินทำกับประเทศของพวกเขาคือการเตือนว่ารัสเซียสามารถขยายอาณาจักรต่อไปได้เรื่อย ๆ หากยูเครนยังคิดจะยอมก้มหัวให้กับตะวันตก และที่สำคัญมันได้แสดงให้เห็นว่าจักรวรรดิรัสเซียพร้อมที่จะกลับมาเรืองอำนาจอีกครั้งนั่นเองครับผม

–> อ่านตอนที่ 12 : Russia’s Soft Power

ย้อนไปอ่านตั้งแต่ตอนแรก & Credit แหล่งข้อมูลบทความ