Search War ตอนที่ 10 : Partnership

ในเมื่อมีการประกาศอย่างชัดเจนจาก Microsoft ว่า google คือ ศัตรูหมายเลขหนึ่งที่กำลังจะรุกรานธุรกิจต่าง ๆ ของ Microsoft และในโลกของ Search Engine นั้นดูเหมือนว่า Microsoft จะเพลี่ยงพล้ำให้กับ google ไปเสียแล้ว ทางเลือกใหม่ของ Microsoft จึงเป็นการหาพันธมิตรใหม่ในโลกออนไลน์แทน

และแน่นอนว่าบริการใดที่เป็นที่นิยมในโลกอินเตอร์เน็ต บริการนั้นก็ถือเป็นภัยคุกคามของ google เช่นเดียวกัน ในปี 2007 บริการ Social Network น้องใหม่อย่าง facebook เริ่มปรากฏกายออกมาเป็นภัยคุกคุมใหม่กับ google เสียเอง

สาเหตุสำคัญก็เนื่องมาจาก มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก พยายามปลุกปั้น facebook ด้วยความชาญฉลาด โดย facebook จะทำการซ่อนเนื้อหาทั้งหมดไว้ ไม่ให้ Search Engine รายใดเข้ามาย่างกรายใน platform ของ facebook ผ่านเนื้อหาของไฟล์ “robot.txt”

มันเปรียบเสมือนปราการยักษ์คอยป้องกันไม่ให้ google เข้ามาสอดส่องข้อมูลภายใน facebook เพราะมันเป็นเรื่องของข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน มาร์ค จึงไม่อยากให้ข้อมูลเหล่านี้ถูกค้นหาได้ทั่วไปในระบบอินเตอร์เน็ต เพราะหากจะค้นหาต้องเข้ามา join ใน platform ของเขาเท่านั้นที่เป็นระบบปิด

google ที่เคยเป็นพี่ใหญ่คอยสอดส่องไปทั่วทั้งระบบ internet เริ่มรู้สึกหงุดหงิด เพราะเนื้อหาใน facebook นั้น google ไม่มีอำนาจที่จะเข้าถึงได้ และที่สำคัญมันกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อคนหันมาเล่น social network เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มันทำให้ google ไม่สามารถทำการโฆษณาให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้เลย

แต่ตอนนี้ เหมือน google จะโดนกับตัวเองบ้าง เพราะตอนนี้ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์กก็มอง google เหมือนที่ google มองไปยัง Microsoft ในช่วงแรก ๆ มาร์ค ไม่อยากให้ facebook ถูกกลืนกินโดย google เช่นกัน

facebook เติบโตอย่างรวดเร็วจน ก้าวขึ้นมาต่อกรกับ google
facebook เติบโตอย่างรวดเร็วจน ก้าวขึ้นมาต่อกรกับ google

และเป็นพี่ใหญ่อย่าง Microsoft นี่เอง ที่แทนที่จะรบกับ google ที่สดกว่าด้วยน้ำมือตัวเอง จึงใช้แผนใหม่ด้วยการ ซื้อหุ้น เพียง 1.6% ด้วยมูลค่ากว่า 240 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตอนนั้น facebook มีผู้ใช้งานเพียงแค่ 42 ล้านคนเท่านั้น แต่เป็นแผนของ Microsoft เองที่ต้องการเตะตัดขา google ที่กำลังคิดการณ์ใหญ่ ทำให้มูลค่า facebook ในตอนนั้นพุ่งสูงขึ้นถึงกว่า 1.5 หมื่นล้านเหรียญเลยทีเดียว

แม้นี่จะเป็นชัยชนะเล็ก ๆ ของ Microsoft ต่อ google แต่อย่างไรก็ตามสัดส่วนของ Bing นั้นก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นในระดับที่ทำให้เหล่าผู้บริหารสบายใจ ไม่ว่าจะเป็นตลาดในสหรัฐ หรือ ทั่วโลก ซึ่ง Bing นั้นได้ครองส่วนแบ่งเพียงเล็กน้อยในตลาดการค้นหา และอยู่ได้ด้วยอาศัยความเป็นใหญ่ของ Microsoft เพียงเท่านั้น

ซึ่ง Microsoft ก็ต้องเลือกทางเดิมเพื่อหาพันธมิตรต่อไป เพราะสู้กับ google แบบตรง ๆ ไม่ได้เลย ช่วงต้นปี 2008 Microsoft เสนอราคาซื้อ Yahoo สูงถึง 4.5 หมื่นล้านเหรียญ เป้าหมายของ Microsoft ก็เพื่อที่จะเพิ่มอำนาจการค้นหาของบริษัท โดยการขยายธุรกิจ ซึ่งตอนนั้น Yahoo ก็เป็นอันดับสองรองจาก google เพียงเท่านั้น

Microsoft ต้องการซื้อ Yahoo มาเสริมศักยภาพให้กับ Bing
Microsoft ต้องการซื้อ Yahoo มาเสริมศักยภาพให้กับ Bing

Yahoo ครองส่วนแบ่งการตลาดโฆษณาออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดบนเว๊บไซต์ มีทั้งเนื้อหาข่าว บริการ email และเป็นส่วนเติมเต็มที่ดีให้กับ Bing ได้อย่างแน่นอน

แต่ครั้งนี้ ดูเหมือน ผู้บริหารฝั่ง Yahoo จะตัดสินใจพลาดครั้งใหญ่ เพราะได้ปฏิเสธข้อเสนอของ Microsoft ไปอย่างไม่ใยดี ซึ่งเจอร์รี่ หยาง ก็ได้กลายเป็นคนต้องรับผิดชอบถูกกดดันให้ลาออกไปในที่สุด ซึ่งการปฏิเสธครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมโฆษณาออนไลน์ 

แม้จะมีการสร้าง Partnership กันระหว่าง Microsoft และ Yahoo ในเรื่องการค้นหา ภายหลัง โดย Microsoft จะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องการค้นหาแทน แต่ตอนนั้นต้องบอกว่ามันสายไปเสียแล้วเมื่อ facebook ก็กำลังเติบโตและได้ฉกฉวยรายได้จากโฆษณาออนไลน์ไป ทำให้รายรับของ Yahoo ลดลง หลังจากนั้น Yahoo ก็ดำดิ่งจนสุดท้ายก็ต้องขายกิจการไปในที่สุด

ต้องบอกว่า ตลาดโฆษณา online ก่อนหน้ายุค facebook เกิดนั้น google ครองตลาดส่วนนี้แบบแทบจะเบ็ดเสร็จ เหลือช่องว่างไว้ให้ bing ของ microsoft เพียงเล็กน้อยเท่านั้น 
การส่ง facebook ไปตีกับ google แทน และเป็นการถ่วงดุลอำนาจของ google หลังจากที่ไม่ได้มีคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อมานาน ถือเป็นแผนที่เหนือชั้นมากของ Microsoft แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับ สงครามการค้นหาต่อไป Bing จะพลิกเกมส์กลับมาได้หรือไม่ โปรดอย่าพลาดติดตามต่อตอนหน้าครับผม

–> อ่านตอนที่ 11 : The Shadow of Antitrust Law

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Beginning of Search *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Image References : 
https://www.fastcompany.com/90235366/bill-gates-is-throwing-some-shade-at-mark-zuckerbergs-philanthropy

Search War ตอนที่ 6 : Unstoppable Growth

เมื่อได้ เอริค ชมิดต์ เข้ามาบริหารงาน เขาได้เพิ่มมิติของ google ให้ขยายขอบเขตขึ้น ซึ่งจากประสบการณ์บริษัทเก่าที่เขาเคยทำงานด้วยไม่ว่าจะเป็น Novell และ Sun Microsystem เขาล้วนมีประสบการณ์ที่ดีในการสู้กับยักษ์ใหญ๋อย่าง Microsoft ในสงครามกฏหมายในรอบทศวรรษที่ผ่านมา

ชมิดต์ นั้นมักเตือน บรินและเพจ อยู่เสมอว่า อย่าไปท้าทายยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft เหมือนที่ NetScape ทำ พยายามแอบอยู่ในมุมมืด และอย่าพยายามวาดภาพว่า google นั้นเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่จะมาแข่งกับ Microsoft

ซึ่งส่วนนี้จะทำให้ Microsoft นั้นยังไม่สนใจ และคิดว่า google ทะเยอะทะยานต้องการทำธุรกิจมากกว่าการค้นหา ซึ่งแม้จะเป็นความจริงก็ตาม แต่ไม่จำเป็นต้องประกาศให้คนรับรู้ ยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดของ google คือ กันตัวเองห่างออกจาก Microsoft ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้นั่นเอง

ในราว ๆ ปี 2002 ในที่สุด Google ก็ได้เริ่มพิสูจน์ตัวเองในฐานะธุรกิจที่สามารถทำเงินได้จริง ๆ จัง ๆ เสียที เหล่านักลงทุนเริ่มได้มองเห็นถึงศักยภาพทางธุรกิจของ Google ที่กำลังจะมีอิทธิพลใหญ่หลวงต่อโลกอินเทอร์เน็ต

โปรแกรมค้นหาของ Google ถูกนำไปติดตั้งเป็นโปรแกรมค้นหาหลักของเว๊บไซต์ชื่อดังมากมาย ซึ่งหนึ่งในเว๊บไซต์ที่มีอิทธิพลสูงต่อชาวอเมริกันในขณะนั้น ก็คือ AOL หรือ American Online ซึ่งมีฐานผู้ใช้งานกว่า 34 ล้านคน

Deal กับ AOL คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ google อีกครั้งหนึ่ง
Deal กับ AOL คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ google อีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งความใหญ่โตของ AOL นี่เองที่มันเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของก้าวใหม่ของ Google มันได้ช่วยให้การเข้าถึง Google นั้นขยายตัวอย่างมหาศาลมากกว่า partner รายอื่นๆ  ก่อนหน้าที่ Google เคยสร้างพันธมิตรไว้

และความคิดในการนำ Google เข้าไปเป็นโปรแกรมค้นหาหลักของ AOL สืบเนื่องมาจากตัว สตีฟ เคส ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง AOL เองที่ประทับใจในการใช้งาน Google เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การที่ บริน และ เพจ ให้ความสำคัญกับผู้ใช้เป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถค้นหาข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและได้ผลที่น่าเชื่อถือนั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ไปเตะตาเข้ากับผู้ร่วมก่อตั้ง AOL อย่าง สตีฟ เคส

ต้องเรียกได้ว่าเป็น Deal ที่ Win-Win ทั้งคู่ทั้งฝั่ง AOL เองที่ได้โปรแกรมค้นหาระดับคุณภาพมาเป็นโปรแกรมค้นหาหลักในเว๊บไซต์ของตัวเอง ส่วน Google นั้นแน่นอนว่าจะทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าได้อีกในปริมาณมหาศาล

ซึ่งทำให้ Google สามารถที่จะทำโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาบนเว๊บไซต์ AOL มีการแบ่งส่วนแบ่งรายได้จากการทำโฆษณา

แม้สองผู้ก่อตั้งอย่างบริน และ เพจ ต้องการจะให้ Google เติบโตอย่างรวดเร็ว และพร้อมจะจ่ายเงินเต็มที่เพื่อให้ได้ร่วมธุรกิจกับ AOL ก็ตาม แต่ เอริก ชมิดต์ นั้น ค่อนข้างเป็นคนที่รอบคอบกว่า เพราะตอนนั้นสถานการณ์ทางด้านการเงินของ Google มีเงินสดอยู่เพียงแค่ 9 ล้านเหรียญในบัญชีเท่านั้น การทุ่มเงินจำนวนมากอาจจะทำให้ Google เดือดร้อนในภายหลังได้ แต่ สุดท้าย บริน และ เพจก็พร้อมที่จะเสี่ยง และผลก็คือสองผู้ก่อตั้งคิดถูกอย่างยิ่งกับ Deal ของ AOL ครั้งนี้

ซึ่งไม่เพียงแค่ AOL เท่านั้น Google ยังเดินหน้าทำสัญญาให้บริการค้นข้อมูลแก่ EarthLink รวมถึง อีก Deal ที่สำคัญกับ ask jeeves ที่เป็นโปรแกรมค้นหาคู่แข่ง ในการจัดหาโฆษณาที่เป็นข้อความให้ รวมถึง Ask Jeeves ยังคงเสนอผลการค้นหาของตนบนฐานของเทคโนโลยีที่ตนเป็นเจ้าของ ซึ่งการเป็นหุ้นส่วนกับคู่แข่งที่สำคัญนี่เอง มันคือสัญญาณบอกว่า Google กำลังโตขึ้นอีกระดับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

มันทำให้ Google ได้เงินทุกครั้งที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์คลิกบนโฆษณา ที่มันแสดงขึ้นบนผลการค้นหา และมันถูกทำงานแบบอัตโนมัติ โดยระบบการประมูลออนไลน์ ซึ่งมันทำให้ Google มั่นใจได้ว่า จะได้รับราคาที่ดีที่สุดอยู่เสมอ และสร้างกระแสเงินสดปริมาณมหาศาลให้ Google มากขึ้นเรื่อย ๆ 

มันได้ทำให้เกิดธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกมากมาย ทั้งระบบทำงานแบบอัตโนมัติ หรือ การเกิดขึ้นของเหล่านักการตลาดมืออาชีพ ผู้ซึ่งเชี่ยวชาญการทำการตลาดผ่าน Google หรือ เหล่านักสร้าง Content ให้ติดอันดับการค้นหาใน Google ในผลการค้นหาแรก ๆ 

Deal กับ Askjeeves ทำให้ google ยิ่งทะยานเติบโตอย่างรวดเร็ว
Deal กับ Askjeeves ทำให้ google ยิ่งทะยานเติบโตอย่างรวดเร็ว

บริษัททั้งขนาดใหญ่ และ ขนาดเล็กนั้น ได้เข้ามาร่วมการประมูลคำหลัก ๆ เหล่านี้ และทำการส่งเงินมาให้ Google ทุก ๆ วันกว่าหลายล้านเหรียญ การที่สามารถเข้าไปใช้งานด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาสื่อเก่า ๆ อย่าง ทีวี หรือ วิทยุ ทำให้ เหล่าธุรกิจขนาดย่อมสามารถที่จะร่วมในการแข่งประมูลคำเหล่านี้ได้

แต่อย่างไรก็ดีนั้น การประมูลราคาที่สูงสุด ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้โฆษณาขึ้นไปอยู่จุดสูงสุดของผลการค้นหา Google นั้นจะพิจารณา เรื่องความน่าสนใจของโฆษณาเป็นอีกปัจจัยด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ราคาประมูลที่สูงที่สุดเท่านั้น มันทำให้เหล่านักโฆษณาต้องมีการปรับปรุงโฆษณาให้ดึงดูดผู้ใช้งานให้มาคลิกให้มากที่สุด

การได้ทั้ง Yahoo , AOL , EarthLink และ Ask Jeeves มาเป็นหุ้นส่วนนั้น ทำให้อิทธิพลของ Google ต่อโลกอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น และกลายเป็นที่รู้จักมากที่สุด ซึ่งผลจากการกลายเป็นโปรแกรมหลักในเครือข่ายการค้นหาเหล่านี้ สุดท้ายก็ทำให้ผู้คนรู้จัก Google มากยิ่งขึ้น กลายเป็นเครือข่ายผลิตเงินให้ Google ในที่สุด

และมันส่งผลให้ฐานะทางการเงินของ Google เติบโตขึ้นแบบฉุดไม่อยู่ ในปี 2002 นั้น Google สร้างรายได้ 440 ล้านเหรียญ และสามารถทำกำไรได้ถึงกว่า 100 ล้านเหรียญ ซึ่งกำไรทั้งหมดมันมาจากการที่ผู้ใช้คลิกข้อความโฆษณาที่วางอยู่ทางขวาในหน้ารายงานผลการค้นหาบน Google.com

มันทำให้ บริน เพจ และ เอริก ชมิดต์ สามารถจะผลักดันให้ Google เติบโตได้อย่างเต็มที่ พวกเขาแทบจะปิดปากเงียบสนิท เกี่ยวกับตัวเลขทางการเงินเพื่อไม่ให้คนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Microsoft และ Yahoo รู้ว่าการค้นข้อมูลออนไลน์และธุรกิจการโฆษณาของตนนั้นทำกำไรได้มหาศาลขนาดไหน ซึ่งกว่าที่เหล่ายักษ์ใหญ่เหล่านี้จะรู้เท่าทัน Google ก็ได้พัฒนาบริการของตนเองจน ยากที่คู่แข่งจะตามทันเสียแล้ว

การเป็นผู้ริเริ่มทำเป็นคนแรก และการเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัทอเมริกาของ Google มันได้ย้ายเงินโฆษณาที่เดิมต้องจ่ายให้สื่อเก่า ๆ อย่าง ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ และ นิตยสาร มายังอินเทอร์เน็ตแทน และตอนนี้ บริษัทซึ่งตั้งเป้าหมายแรกเพียงแค่ต้องการเป็นผู้สนองการค้นข้อมูลเพียงอย่างเดียวอย่าง Google ได้ก้าวขึ้นมาท้าทายอำนาจของบริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกอินเทอร์เน็ต ผ่านการโฆษณาทางอินเทอร์เน็ตได้สำเร็จแล้ว 

แล้วเหล่ายักษ์ใหญ่ จะรู้ตัวเมื่อไหร่ ว่าพวกเขากำลังถูกแย่งชิงเค้กเม็ดเงินโฆษณาทางออนไลน์จำนวนมหาศาลที่ Google ดึงมาได้สำเร็จ และจะตอบโต้กับ การเติบโตที่รวดเร็วของ Google ได้อย่างไร Google จะทะยานไปทางไหนต่อ โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 7 : The Underdog Project

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Beginning of Search *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Search War ตอนที่ 3 : Search & Microsoft

ในช่วงขณะที่ google กำลังเริ่มทะยานในธุรกิจด้านการค้นหา แต่ในขณะเดียวกันนั้น Microsoft กำลังเจอคดีที่เกี่ยวกับการต่อต้านการผูกขาดจากศาลรัฐบาลกลางสหรัฐ ซึ่งได้ทำลายชื่อเสียงของ Microsoft ในวงการธุรกิจอย่างย่อยยับ

และการที่ google เป็นบริษัทน้องใหม่เต็มไปด้วยเด็กหนุ่มที่มาพร้อมกับความทะเยอทะยาน มันได้กลายเป็นเรื่องดีสำหรับ ผู้ที่ใช้งาน Search Engine ในยุคแรกที่ต้องการลองของใหม่ทางออนไลน์ในขณะที่กำลังเบื่อกับความยิ่งใหญ่ของ Microsoft ซึ่งตอนนั้นต้องบอกว่า Microsoft นั้นอยู่ไกลเกินไปจนไม่ใส่ใจ หรือ สังเกตเห็น google เลยด้วยซ้ำ

บรินและเพจ เริ่มพยายามสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ เพื่อดึงดูดคนหนุ่มสาวเข้ามาเปลี่ยนโลกกับเขา ด้วยทุนทรัพย์ที่จำกัดทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าจ้างแพง ๆ ได้ แต่พวกเขาได้ สร้างวัฒนธรรมอย่าง การให้หุ้น อาหารและเครื่องดื่มที่ฟรี และ เป้าหมายที่ใหญ่มากของพวกเขาที่จะให้คนทั่วโลกนับล้านได้ใช้งาน google มันก็เป็นแรงดึงดูดสำคัญให้เหล่าคนรุ่นใหม่สนใจจะมาทำงานกับ google มากยิ่งขึ้น

ซึ่งเพจและบริน นั้นคิดอยู่เพียงอย่างเดียวที่จะพัฒนาบริการของเขาให้ดีที่สุด เรื่องการหาเงินนั้นพวกเขายังไม่สนใจใด  ๆด้วยซ้ำในช่วงแรกของการก่อตั้ง Google พวกเขาต้องการสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุด ซึ่งทำให้มีผู้ใช้งานใหม่ ๆ เข้ามามาก และเพื่อให้มั่นใจในความแม่นยำ ความเร็วในการตอบสนอง ทั้งสองก็ได้ลงทุนสร้างฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์เพิ่มด้วยเงินที่่หามาได้แทบจะทั้งหมด

ฟากฝั่ง Microsoft นั้นไม่เคยคิดว่าการค้นหาเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ และไม่เกี่ยวข้องกับศูนย์ของธุรกิจของตัวเอง Microsoft นั้นผลักให้ส่วนของการค้นหาเป็นแค่ส่วนหนึ่งของกลุ่ม MSN (Microsoft Network) และอยู่นอกผลิตภัณฑ์หลักของ Microsoft

Microsoft โฟกัสใน content online อย่าง MSN มากกว่า
Microsoft โฟกัสใน content online อย่าง MSN มากกว่า

และอีกเหตุผลที่สำคัญนั้น ก็ต้องบอกว่า ในตอนนั้นยังไม่มีใครมองเห็นว่า การค้นหานั้นจะทำเงินได้อย่างไร หากเราลองจินตนาการย้อนกลับไปในยุคนั้น ก็ต้องบอกว่า ก็ไม่มีใครคาดคิดเหมือนกันว่าธุรกิจค้นหานั้น จะทำเงินได้มหาศาลเหมือนในยุคปัจจุบันเช่นนี้

Microsoft นั้นมองหน่วยงานการสร้างโปรแกรมการค้นหา เป็นเพียงหน่วยงานที่มีแต่รายจ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และไม่รู้วิธีการที่จะทำเงินจากโปรแกรมเหล่านี้ได้อย่างไร Microsoft มุ่งเน้นไปทาง content online เพื่อดึงดูดผู้ใช้งานผ่าน MSN มากกว่า

ซึ่งทุกคนต่างรู้ดีในขณะนั้นว่า Search Engine นั้นไม่มีวี่แววว่าจะทำเงิน เพราะโดยตัวมันเองนั้น เมื่อคนคลิกค้นหาคำค้นหาใด ๆ คนก็จะออกจากเว๊บไซต์การค้นหาเพื่อไปยังเว๊บไซต์ปลายทางอยู่ดี และมันไม่สามารถที่จะควบคุมเว๊บไซต์ปลายทางได้ในขณะนั้น มันจึงเป็นเพียงแค่จุดเชื่อมต่อเพื่อไปยังเว๊บไซต์ปลายทางและสุดท้ายก็ไปสร้างรายได้ให้กับเว๊บไซต์ปลายทางเพียงเท่านั้น

ในขณะนั้น มีเว๊บไซต์มากมายในอินเตอร์เน็ตที่ไม่ใช่ Yahoo.com หรือ MSN.com หรือ Askjeeves.com ซึ่งหากมองถึงพื้นฐานจริง ๆ แล้วนั้นหาก Search Engine ยิ่งประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะเสียโอกาสในการได้โฆษณามากขึ้นเท่านั้น และเหล่านักลงทุนก็มองมันเป็นธุรกิจที่ไม่ก่อรายได้ในยุคนั้น มันเป็นเพียงแค่ของเล่นเท่านั้น

 และแน่นอนว่า Search Engine นั้นไม่ใช่วิถีทางธุรกิจในยุคนั้น แม้กระทั่ง เจอร์รี่ หยาง CEO ของ Yahoo ก็ได้ปฏิเสธ google อย่างไม่ใยดี เพราะคิดว่าเหล่านักท่องอินเตอร์เน็ตคงไม่หาวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ ผ่านออนไลน์เหมือนในยุคนี้ 

ซึ่งแนวคิดของ Yahoo จะต่าง เพราะพวกเขาอยากให้ผู้ใช้อยู่กับ เว๊บไซต์ Yahoo นาน ๆ แต่การมีส่วนของการค้นหาแบบที่ Google ทำนั้น เป็นการส่งผู้ใช้งานไปยังเว๊บไซต์อื่นๆ  โดยรวดเร็ว ซึ่งดูจะไม่เหมาะกับโมเดลธุรกิจของ Yahoo ในตอนนั้น

เจอร์รี่ หยาง มองว่า google ไม่ตอบโจทย์ธุรกิจของ Yahoo
เจอร์รี่ หยาง มองว่า google ไม่ตอบโจทย์ธุรกิจของ Yahoo

ซึ่งไม่มีใครในขณะนั้นคิดว่า เราสามารถที่จะสร้างความภักดีของลูกค้าได้ โดยมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แบบที่ google ทำ ซึ่งแน่นอนว่า หากลูกค้าใช้ google แล้วได้สิ่งที่พวกเขาต้องการ แต่ไปใช้ Search Engine ตัวอื่นนั้นทำไม่ได้ ซึ่งนั่นคือจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่คนแห่มาใช้ google กันอย่างถล่มทลาย โดยที่เหล่าคู่แข่งแทบจะไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ

ในขณะที่ Microsoft ดิ้นรนต่อสู้ในการพิจารณาคดีของกระทรวงยุติธรรม google ซึ่งอาศัยจังหวะที่ยักษ์ใหญ่กำลังหัวปั่นกับคดีต่าง ๆ และมองข้ามขุมทองคำใหม่บนโลกออนไลน์ ซุ่มพัฒนาและบริการอยู่เงียบ ๆ จนพุ่งทะยานจนใครที่คิดจะตามมาทีหลังนั้น ยากที่จะตาม google ได้ทันอีกต่อไป แล้ว Microsoft จะรู้ตัวเมื่อไหร่ว่ากำลังพลาดตกขบวนรถไฟแห่ง Search Engine ที่กำลังกลายเป็นขุมทรัพย์มหาศาลแห่งใหม่ โปรดอย่างพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 4 : An Engineering Culture

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Beginning of Search *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Image References : https://cdn.vox-cdn.com/thumbor/4auA8IwQPpiBi25jCDejhoI_z8g=/0x0:3200×1800/1200×675/filters:focal(1174×423:1686×935)/cdn.vox-cdn.com/uploads/chorus_image/image/59774405/microsoft_antitrust_getty_ringer.0.jpg

Search War ตอนที่ 2 : Google Search

ในปี 1997 เพจและบริน ได้ทำการพยายามที่จะขายแนวความคิดของ PageRank ให้กับบริษัทหลายแห่ง เพราะพวกเขาทั้งสองไม่ได้ต้องการเข้าสู่วงการธุรกิจเลยเสียด้วยซ้ำ โดยทั้งคู่ได้พยายามขายให้กับยักษ์ใหญ่ทางด้านการค้นหาในขณะนั้นอย่าง Excite และ Yahoo

ซึ่งไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ดูเหมือน คู่หู ลาร์รี่ เพจ และ เซอร์เกย์ บริน ในตอนนั้นยังไม่ได้สนใจจะเข้าสู่โลกของธุรกิจนัก พวกเขาต้องการทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ก็จริง แต่อยากทำในด้านวิชาการมากกว่า ทั้งสองก็ยังถกเถียงกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง คอมพิวเตอร์ ปรัชญา หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เพิ่งคิดได้ พวกเขาจะเถียงกันเอาเป็นเอาตาย แต่ใช้เหตุผลมาสู้กัน เพราะพวกเขานั้นถือเป็นยอดอัจฉริยะทั้งคู่ที่ดูเหมือนจะไม่มีใครยอมใครได้เลย

ซึ่งแน่นอนว่าเทคโนโลยี PageRank ที่ทั้งสองคิดนั้นเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมาก ๆ แต่ด้วยกระแสตอนนั้น ที่ยังไม่มีใครรู้จัก Search Engine มากนัก ซึ่งทั้ง Excite และ Yahoo นั้นก็มองว่ายังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องซื้อโปรแกรม Search Engine ที่ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะทั้งสองต่างมีเครื่องมือของตัวเองอยู่แล้ว

Yahoo ของ เจอร์รี่ หยาง นั้น ดูเหมือนจะเป็นผู้ที่เหมาะสมที่น่าจะสนใจ Google เพราะตอนนั้น Yahoo เป็นเพียงเว๊บ ไดเรคทอรี่ ที่จัดโดยบรรณาธิการ ซึ่งเว๊บไซต์กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และในท้ายที่สุด มนุษย์จะไม่สามารถคัดกรองเหล่าเว๊บไซต์หน้าใหม่ที่มีเข้ามาทุกวันได้อีกต่อไป

แต่ดูเหมือนแนวคิดของ Yahoo จะต่าง เพราะพวกเขาอยากให้ผู้ใช้อยู่กับ เว๊บไซต์ Yahoo นาน ๆ แต่การมีส่วนของการค้นหาแบบที่ Google ทำนั้น เป็นการส่งผู้ใช้งานไปยังเว๊บไซต์อื่นๆ  โดยรวดเร็ว ซึ่งดูจะไม่เหมาะกับโมเดลธุรกิจของ Yahoo ในตอนนั้น

Jerry Yang ไม่ได้สนใจ Google เลยด้วยซ้ำ โดยมองว่าไม่ตรงกับ Business Model ของ Yahoo
Jerry Yang ไม่ได้สนใจ Google เลยด้วยซ้ำ โดยมองว่าไม่ตรงกับ Business Model ของ Yahoo

หลังจากถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่าอยู่เป็นเวลาหลายเดือน บริน และ เพจ ก็เริ่มท้อแท้ผิดหวัง แต่พวกเขาก็ยังมีความมุ่งมั่น โดยเริ่มมาปรับปรุงหน้าเว๊บ Google ให้ดีที่สุดสำหรับผู้ใช้งานก่อน และยังไม่ตัดสินใจเรื่องอนาคตว่าจะทำอย่างไรต่อกับ Google ดี

ซึ่งในฤดูร้อนปี 1998 เพจและบรินนั้นแทบจะหมดตัว ทั้งคู่รูดบัตรเครดิตจนแทบจะหมดตัวเพื่อหมุนมาใช้งานเพื่อพยุงโปรแกรมค้นหาของพวกเขาให้เดินต่อไปข้างได้ให้ได้ ถึงขนาดที่ว่าโต๊ะทำงานชิ้นแรกนั้น ได้ใช้ประตูที่พาดบนขาตั้งของโต๊ะเลื่อยไม้เพื่อให้ทำงานได้เท่านั้น

ซึ่งพวกเขาได้เก็บเรื่องราว ๆ ต่างของโปรเจคลับนี้ ไม่ให้แพร่งพรายให้ใครรู้ด้วยซ้ำ 
โดยชื่อแรกของโปรแกรมค้นหาตัวนี้คือ “แบ็ครับ” และเพจ คิดว่ามันต้องมีชื่อใหม่ที่เรียกง่าย ๆ พวกเขาและทีมวิจัย ได้คิดชื่อต่าง ๆ มากมายจนไอเดียสุดท้ายคือ กูเกิลเพล็กส์ ซึ่งคือจำนวนมาก ๆ สุดท้ายได้ตัดมาเหลือแค่ Google

ซึ่งเพจ เห็นว่ามันยอมรับได้และได้รีบไปจดทะเบียนชื่อโดเมน google.com ทันที แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งที่เขาจดทะเบียนนั้น เป็นสิ่งที่สะกดผิด ที่จริงมันควรจะเป็น G-o-o-g-o-l แต่ทุกอย่างมันเสร็จสิ้นไปแล้ว และต้องเลยตามเลยในชื่อนี้ไปในที่สุด

ทั้งคู่นั้นจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ กับปัจจัยสำคัญต่าง ๆ เกี่ยวกับประสบการณ์ใช้งานในหน้าเว๊บของ google ซึ่งต้องมีความเร็ว โหลดหน้าแรกได้อย่างรวดเร็ว และผลการค้นหาต้องออกมาอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน

เพราะตอนนั้นด้วยอินเตอร์เน็ตที่ช้าเหมือนเต่าถ้าเทียบกับปัจจุบัน ทำให้ความเร็วสำคัญแทบจะเท่ากับความถูกต้องของผลการค้นหาเสียด้วยซ้ำ และความแตกต่างที่สำคัญคือหน้าเว๊บที่เรียบง่าย ไม่รบกวนผู้ใช้งาน

ส่วนหน้าตาของเว๊บ Search Engine อื่น ๆ ที่มีอยู่ในตลาดในขณะนั้น ล้วนมีหน้าตาที่แทบจะเหมือนกัน นั่นคือ มีป้ายโฆษณาอยู่ด้านบนสุด มีแท็บ และการแบ่งข้อความในแนวตั้ง คล้าย ๆ ข้อมูลในสมุดโทรศัพท์ หน้าค้นหาของ google จึงได้นำเอาความแปลกใหม่เข้ามาสู่วงการเว๊บอย่างชัดเจน

และด้วยรูปแบบที่ง่ายที่สุด มีแค่ตัวโลโก้กับช่องให้กรอกข้อความค้นหาเพียงเท่านั้น ผู้ใช้จะรู้ทันทีเลยว่านี่คือ Google เพียงแค่เริ่มพิมพ์ในกล่องค้นหา และคลิก และผลการค้นหาจะแสดงให้ผู้ใช้เห็นอย่างรวดเร็ว

และจากความต้องการให้หน้าเว๊บสะอาดและเป็นระเบียบนั้น ทั้งคู่จึงปฏิเสธข้อเสนอกว่า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ของ Altavista ที่ต้องการซื้อพื้นที่โฆษณาบนโฮมเพจของ google ในปี 2000

หลังจากได้ทำการเปิดตัวไปได้ไม่นาน ผู้คนบอกปากต่อปากกับอย่างรวดเร็ว google นั้นได้รับการชื่มชมยกย่องเป็นอย่างดีจากผู้ใช้งาน ในเดือน ธันวาคมปี 1998 สก็อตต์ โรเซนเบิร์ก เขียนชมเชยไว้ใน salon.com ว่า “ผมเพิ่งเจอ google เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง ผมประทับใจมากกับประโยชน์และความเที่ยงตรง จนกระทั่งเลือกใช้ google เป็นเจ้าแรกทุกครั้งที่ต้องการค้นหา”

แม้โปรแกรมทดสอบรุ่นแรกที่เป็นเบต้า version ของ google นั้นจะมีการทำการ index ข้อมูลจากไซต์ทั่ว www เพียงแค่ 60 ล้านหน้าเว๊บ google ในยุคแรกก็ได้เสนอบริการแบบพิเศษขึ้นมาเช่น Standford Search หรือ Linux Search ที่เจาะกลุ่มลูกค้าในยุคแรก ๆ ของ google เป็นพิเศษ

Standford Search และ Linux Search ที่ Google สร้างมาเพื่อลูกค้ากลุ่มแรก
Standford Search และ Linux Search ที่ Google สร้างมาเพื่อลูกค้ากลุ่มแรก

และ Google ได้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในเดือน กรกฏาคมปี 1999 google ได้บรรลุข้อตกลงในการเป็นโปรแกรมการค้นหาให้กับ NetScape ซึ่งในขณะนั้นกำลังต่อสู้กับ Microsoft ในชั้นศาล 

และเพียงไม่กี่นาทีหลังจากประกาศข้อตกลงดังกล่าวทำให้ มีคนเข้าไปใช้งาน google เพิ่มขึ้นสูงถึง 7 เท่า จนถึงกับว่าต้องปิดการให้บริการกับผู้ใช้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของ NetScape ถึง 2 ชม. ซึ่งทำให้ google ได้รับบทเรียนที่สำคัญว่าจะต้องเตรียมความพร้อมให้มากกว่านี้ และนั่นเป็นการล่มครั้งใหญ่ครั้งแรกของ google เลยก็ว่าได้

ในเดือนกันยายายน ปี 1999 google ได้ประกาศว่ามีการค้นหามากถึง 3.5 ล้านครั้งต่อเดือนซึ่งถือเป็นตัวเลขทีสูงมากในขณะนั้น  แม้เชิงสถิตินั้น Yahoo จะเป็นผู้นำในตลาดนี้ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 38 ล้านครั้งต่อเดือน แต่หารู้ไม่ว่าตอนนี้เกมส์ของตลาดการค้นหามันได้ถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากกระแสแบบปากต่อปาก และการร่วม Deal ที่ทาง google นั้นวิเคราะห์มาอย่างดีว่าจะทำให้ยอดผู้ใช้งานพุ่งขึ้นแบบฉุดไม่อยู่กับ NetScape แล้ว Microsoft ยักษ์ใหญ่ที่แทบจะครองโลกอยู่ในขณะนั้นกำลังทำอะไรอยู่ ได้ระแคะระคายกับการเกิดขึ้นของ google ครั้งนี้หรือไม่ โปรดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 3 : Search & Microsoft

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Beginning of Search *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Search War ตอนที่ 1 : The Beginning of Search

ไม่ว่ามันเป็นโชคชะตา หรือ เรื่องบังเอิญให้ ลาร์รี่ เพจ ได้มาพบกับ เซอร์เกย์ บริน ในฤดูใบไม้ผลิของปี 1995 ปีที่ อินเตอร์เน็ตกำลังเติบโตอย่างสุดขีด มันได้กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของคนทั่วโลกกับกระแสของ อินเตอร์เน็ตที่เกิดขึ้น

เซอร์เกย์ นั้นเป็นยอดอัจฉริยะทางด้านคณิตศาสตร์ ที่หาตัวจับยากคนหนึ่งในสแตนฟอร์ดเลยก็ว่าได้ เขาสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีด้วยวัยเพียงแค่ 19 ปีเพียงเท่านั้น เป็นคนที่ชื่นชอบการเล่นกีฬา โดยเฉพาะ ว่ายน้ำ และ ยิมนาสติก เขาเป็นคนชอบเข้าสัมคมมากกว่า ลาร์รี่ ที่ดูเหมือนจะรู้สึกอึดอัดกับการเป็นนักเรียนระดับปริญญาเอกของสแตนฟอร์ด

หลังจากการพบกัน ทั้งคู่ก็เริ่มตัวติดกัน ไปไหนมาไหนด้วยกัน และมักจะทำงานด้วยกันอยู่เสมอ ทั้งคู่มีความคิดว่าอินเตอร์เน็ตนั้นจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ในอนาคตอย่างแน่นอน อินเตอร์เน็ตมันมีพลังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงของโลกให้เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว

การแจ้งเกิดของ NetScape เว๊บ Browser ตัวแรก  ๆที่สามารถสร้างมูลค่าบริษัทได้กว่าพันล้านเหรียญ ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ทั้งที่ยังไม่สร้างกำไรเลยเสียด้วยซ้ำ ตอนนั้นนักลงทุนต่างพร้อมแล้วที่จะเสี่ยงกับเทคโนโลยีใหม่อย่างอินเตอร์เน็ต ที่กำลังจะมาเปลี่ยนโลก

และเรื่องราวของ NetScape ที่เองที่ทำให้เกิดความคึกครื้นขึ้นกับกระแสของเงินทุน และมันได้หลั่งไหลเข้ามาสู่ภาควิชาคอมพิวเตอร์ของสแตนฟอร์ด ด้วยเช่นกัน ซึ่งได้เริ่มเป็นที่ฟูมฟักให้เหล่านักธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีหน้าใหม่ที่พร้อมจะเปลี่ยนโลก

NetScape ทำให้กระแสดอทคอมเฟื่องฟู
NetScape ทำให้กระแสดอทคอมเฟื่องฟู

และทั้งเพจและบริน ก็ได้เริ่มทำการสร้าง Index หรือ ดัชนีให้กับเหล่าเว๊บไซต์ทั้งหลายทั่วโลก ซึ่งแม้วิธีเริ่มต้นในสิ่งที่ทั้งคู่ทำนั้นจะไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในขณะนั้น มีหลายบริษัทก็ทำอยู่เช่นกัน แต่ปัญหาก็คือ ตอนนั้นไม่มีใครคาดคิดถึง Model ธุรกิจของ Search Engine ว่าจะทำเงินจากมันได้อย่างไร เพราะกระแสในขณะนั้นกำลังแห่ไปทาง Web Directory อย่าง Yahoo ที่กำลังดังอยู่ในขณะนั้น

เนื่องจากเว๊บเพจได้เริ่มเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดจึงทำให้ Yahoo นั้นได้เริ่มสร้าง Directory ให้กับเหล่าเว๊บไซต์หน้าใหม่เหล่านี้ โดยใช้การคัดเลือกจากบรรณาธิการที่เป็นมนุษย์ และแน่นอนว่า พอจำนวนเว๊บไซต์ยิ่งมากขึ้น มันก็เริ่มที่จะลำบากขึ้นเรื่อย ๆ ในการคัดเลือกเหล่านี้

อีกฝากฝั่งหนึ่งนั้น Microsoft และเหล่าผู้บริหาร แทบจะไม่ยินดียินร้ายกับการเกิดขึ้นของเหล่าบริการค้นหาทางออนไลน์เลยเสียด้วยซ้ำ ต้องเข้าใจว่า Microsoft นั้นชัดเจนว่าเกิดมาจาก Software ด้านองค์กร ไม่ว่าจะเป็น Windows หรือ ชุด Microsoft Office ซึ่งพวกเขาก็ขายกันไม่ทันอยู่แล้วแค่เพียง product สองตัวนี้

มันไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ว่า Microsoft แทบไม่แยแสกับกระแสออนไลน์ บ้าเห่อ ของเหล่าบริษัทหน้าใหม่ในขณะนั้น เพราะมันมีจำนวนผู้ใช้งานเพียงน้อยนิด และยังไม่มีใครคิดว่าจะทำเงินจากมันได้อย่างไร

แต่ด้วยความเป็นยักษ์ใหญ่ จึงได้ทำการกระจายความเสี่ยงไว้ โดยในปี 1997 นั้น Microsoft ได้สร้างเว๊บท่าขนาดใหญ่ แต่จะใช้บริการค้นหาจริง ๆ ของอีกหนึ่งบริษัทคือ Inktomi ซึ่งตอนนั้นเริ่มทำบริการที่เป็นลักษณะเว๊บ Crawler เพื่อไปดึงดูดข้อมูลต่าง ๆ ทั่ว WWW มาทำ Index หรือดัชนี

Microsoft เริ่มต้นโปรแกรมค้นหาด้วยการพึ่งพา Inktomi
Microsoft เริ่มต้นโปรแกรมค้นหาด้วยการพึ่งพา Inktomi

แต่ Microsoft ก็ไม่ได้เพิ่มเทคโนโลยีการค้นหาที่วิเศษอะไรเลยให้กับ  Inktomi และไม่ได้จริงจังกับมันมากนักในขณะนั้น ทำให้หลาย ๆ บริการค้นหาในออนไลน์ในขณะนั้น แทบจะมีความสามารถไม่ต่างกัน

ซึ่งในรายปลายทศวรรษ 1990 แม้จะมี Search Engine มากมาย เช่น Yahoo , Altavista , Lycos , Excite , AOL , Infoseek แต่ดูเหมือนว่าเหล่า Search Engine เหล่านี้นั้น ไม่มีตัวไหนเลย ที่ทำให้เหล่าผู้บริโภคถูกใจและแก้ปัญหาสำคัญของเหล่า User เมื่อมาค้นหาได้

ตอนนี้ยังไม่มีใครที่เข้าใจอย่างลึกซึ้งจริง ๆ ในเรื่องการค้นหา ทำให้ผลการค้นหาไม่ได้ดั่งใจคนใช้งานเท่าที่ควร คือมีแค่ให้ใช้ แต่ไม่มีตัวไหนที่ประทับใจผู้ใช้งาน แม้กระทั่ง Microsoft เองก็ตามก็ยังไม่เข้าใจจริง ๆ ของความต้องการของ User

ซึ่งในช่วงเวลานั้นนั่นเอง ขณะที่เหล่าผู้ใช้งานกำลังเบื่อกับ โปรแกรมการค้นหาที่มีอยู่เต็มไปหมดในตลาด เพจและบริน ได้สร้างอัลกอริทึมสำหรับจัดลำดับเว๊บเพจที่เรียกว่า “PageRank” ภายใน Lab ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

ซึ่งตอนนั้น พวกเขาทั้งสองเองก็ตามก็ยังไม่รู้เลยว่าสิ่งยิ่งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้น การทดลองที่บังเอิญของพวกเขา สิ่งที่ทั้งสองต้องการนั่นคือ การนำไปสู่หัวข้อวิทยานิพันธ์ปริญญาเอก โดยใช้เพจแรงค์ กับ อินเตอร์เน็ต ซึ่งตอนแรกนั้น พวกเขาทั้งสองรวมถึง อาจารย์ที่ปรึกษาไม่ได้คิดถึงการสร้างโปรแกรมค้นหาเลยด้วยซ้ำ แต่เมื่อทำไประยะหนึ่ง กับพบกับความเป็นจริงที่ว่า สิ่งที่พวกเขาร่วมกันสร้าง มันได้ยิ่งใหญ่เกินกว่างานวิชาการเสียแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปหลังจากนั้น อย่าพลาดติดตามชมตอนหน้าครับผม

–> อ่านตอนที่ 2 : Google Search