เมื่อบริการออนไลน์จากจีน ไม่สามารถที่จะก้าวผ่านกำแพงเมืองจีนได้เสียที

ยักษ์ใหญ่ทางด้านบริการออนไลน์ของประเทศจีน หรือ BAT ที่ประกอบไปด้วย Baidu , Alibaba และ Tencent นั้น กำลังพยายามที่จะก้าวข้ามผ่านการเป็นเพียงแค่บริการในประเทศจีนเท่านั้น แต่ดูเหมือนมันเป็นสิ่งที่ยากเย็นแสนเข็ญเหลือเกินสำหรับพวกเขา

เรียกได้ว่า ตัวเลขรายได้นอกประเทศจีนของทั้งสามบริการนั้นมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อย Baidu ที่ 1% , Tencent ที่ 5% ส่วน Alibaba ที่มากหน่อยก็ทำได้เพียงแค่ 11% ซึ่งด้วยความพยายามรุกตลาดสากลของ Alibaba โดยการผลักดันโฆษณา ในฐานะผู้สนับสนุนหลักของโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2018 ในประเทศเกาหลีใต้

แน่นอนว่าการเข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกานั้น เป็นความท้าทายมาก ๆ ของ BAT เครื่องมือค้นหาของ Baidu นั้นเคยมีความพยายามในการเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น เมื่อปี 2007 ด้วยการสร้างเครื่องมือค้นหาภาษาญี่ปุ่น ซึ่งมีอักขระคล้ายกับภาษาจีน แต่ในที่สุด ก็ถูกตีพ่ายยับ จากคู่แข่งที่แข็งแกร่งกว่าอย่าง Google และ Yahoo ทำให้ Baidu ต้องหนีออกจากตลาดไปในท้ายที่สุด

Jack Ma นั้นเคยกล่าวไว้ว่าเป้าหมายของ Alibaba คือการได้ยอดขายครึ่งหนึ่งจากนอกประเทศจีน แต่ก็ต้องดิ้นรนอย่างมากเพื่อให้สามารถที่จะตั้งหลักได้ในอเมริกา Jack Ma ได้ขึ้นข่าวพาดหัวหลายครั้ง ในการสัญญากับประธานาธิบดี ทรัมป์ ในการสร้างงานในอเมริกาให้มากขึ้น และเพื่อดึงดูดธุรกิจขนาดเล็กในอเมริกาให้มาใช้บริการของ Alibaba

แต่สงครามการค้าที่ยิ่งทวีความรุนแรงระหว่างจีน กับ อเมริกา ก็ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างพังทลายลงไปอย่างรวดเร็ว

ในฟากฝั่ง Tencent นั้น บริการอย่าง Wechat ที่ความนิยมแบบผูกขาดในประเทศจีน ไม่ได้ทำให้พวกเขาเข้มแข็งมากนักนอกประเทศจีน แม้ขนาดประเทศไทย Wechat ยังไม่สามารถที่จะต่อกรกับ Line จากประเทศ ญี่ปุ่น ได้เลย มีผู้ใช้บริการเพียงแค่น้อยนิด ซึ่งไม่ต้องพูดถึงในอเมริกา ที่ส่วนใหญ่ ผู้ใช้งานก็มีแค่ ชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ที่ต้องติดต่อทำมาค้าขายกับประเทศบ้านเกิดเพียงเท่านั้น

แม้ว่ามีความพยายาม ที่จะปรับบริการให้เข้ากับวัฒนธรรมของอเมริกา ไม่มีการเก็บข้อมูลประวัติของข้อความ หรือเพิ่มบริการชำระเงินเข้าไป ก็ไม่สามารถที่จะต่อกรกับบริการเจ้าถิ่นอย่าง Paypal หรือ Stripe ได้

ซึ่งส่วนใหญ่แอปสำหรับชำระเงินของ Wechat นั้นก็มีไว้เพื่อบริการ ผู้บริหารชาวจีน นักท่องเที่ยว หรือ นักเรียนที่มีบัญชีธนาคารจีน และบัตรประจำตัวประชาชนจีนเป็นหลักเพียงเท่านั้น

นวัตกรรมทางด้านออนไลน์ของจีนเจ๋งจริงหรือ?

ต้องบอกว่า อย่าคาดหวังกับนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีชั้นนำจากประเทศจีน ที่จะก้าวไปสู่กระแสหลักในประเทศอย่างอเมริกาในเร็ววันนี้

เนื่องด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรม แบรนด์ที่ชาวอเมริกาไม่เหลียวแล และกฏระเบียบต่าง ๆ ของรัฐบาล รวมถึงความกลัวว่าบริการออนไลน์จากจีนจะไม่ปลอดภัย เป็นเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลของการก้าวไปสู่ระดับโลกของ แบรนด์ทางด้านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตจากจีน เพราะมันเป็นเรื่องของปัจจัยทางจิตใจและอารมณ์เสียเป็นส่วนใหญ่

แต่ถามว่า เมื่อดูจากการเจาะตลาดไปยังประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อเมริกานั้น บริการเหล่านี้ ก็ยังถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นเอเชียด้วยกันเอง อย่าง ญี่ปุ่น หรือ ไทย พวกเขาก็ไม่สามารถเจาะเข้ามาได้ มีบริการน้อยมากที่จะฮิตกลายเป็นกระแสหลักนอกประเทศจีน เหมือนบริการจากประเทศอเมริกา

ต้องบอกว่าแม้บริการออนไลน์ของพวกเขาจะเจ๋ง มีนวัตกรรมล้ำเลิศแค่ไหนในประเทศจีน แต่ดูเหมือนว่า นอกกำแพงเมืองจีน นั้น แทบจะไม่มีใครสนใจบริการของพวกเขาแต่อย่างใดนั่นเองครับผม

References : https://chinafund.com/great-firewall-of-china/

Google vs Naver : ทำไม Google ถึงครองตลาดการค้นหาของเกาหลีใต้ไม่สำเร็จ

แม้ว่าปัจจุบัน Google ถือครองตลาดการค้นหาทั่วโลกถึง 83% แต่ก็มีหลายประเทศที่หลุดมือจากพวกเขา หนึ่งในนั้นก็คือเกาหลีเกาหลีใต้ ซึ่งแน่นอนถ้าถามคนเกาหลีว่าใช้เครื่องมือค้นหาอะไรและน่าจะเป็นคำตอบคือ Naver

Naver ปัจจุบันเป็นเครื่องมือค้นหาอันดับหนึ่งของเกาหลีและคิดเป็นกว่า 70% ของตลาดการค้นหาที่นั่น เสิร์ชเอนจิ้น ที่เปิดตัวในปี 1999 โดยกลุ่มอดีตพนักงานของซัมซุงและได้ครองวงการการค้นหาของเกาหลีนับตั้งแต่นั้นมา

หากคุณยังไม่เคยไปที่หน้าแรกของ Naver สิ่งที่น่าจะทำให้คุณรู้สึกได้ทันทีคือความคล้ายคลึงกับ Yahoo หน้าแรกของ Naver และหน้าผลการค้นหาของมันยุ่งกว่าของ Google มากด้วยรูปภาพจำนวนมาก แบนเนอร์ และแฟลช ฯลฯ

หน้าจอที่แตกต่างระหว่าง Google และ Naver
หน้าจอที่แตกต่างระหว่าง Google และ Naver

นั่นเป็นเพราะผู้ดูแลเว็บเกาหลีจำนวนมากบล็อก Google และเครื่องมือค้นหาทั่วโลกอื่น ๆ ไม่ให้เข้าถึงเว็บไซต์ของพวกเขาด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย แล้วทำไมเว็บไซต์ส่วนใหญ่ของเกาหลี จึงไม่จำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งของ Google

ประการแรกเมื่อพูดถึงนวัตกรรม Naver มักเป็นผู้นำ Google:

  • ในปี 2002 Naver ได้เปิดตัว Knowledge In ซึ่งเป็นระบบนำทางของ Yahoo! Answer ซึ่งฐานข้อมูลความรู้ในการถาม & ตอบยังคงเป็นที่นิยมอย่างมากกับผู้ใช้
  • Naver เริ่มนำเสนอผลการค้นหาประเภทต่างๆก่อนที่การค้นหาทั่วไปของ Google จะปรากฏ
  • Naver เป็นเครื่องมือค้นหาโซเชียลมากขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นในขณะที่ Google ยังเป็นเพียงการค้นหาผ่านเว๊บไซต์เพียงเท่านั้น
  • me.naver.com ของ Naver นั้นมีมานานก่อนที่ Google จะมาพร้อมกับ Search Plus My World (SPYW)

Naver นั้นกำลังรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับหัวข้อยอดนิยมซึ่งมักสร้างโดยผู้ใช้เอง (บล็อกและการค้นหาคำถามและคำตอบ) และการนำเสนอข้อมูลดังกล่าวในลักษณะที่เป็นมิตรกับมนุษย์มาก ซึ่งมีความต่างจาก Google ไม่ต้องพึ่งพาประสิทธิภาพการทำงานของ Search Algorith ซึ่งดูเหมือนหุ่นยนต์มากกว่า “

ดังนั้นโดยพื้นฐานแล้ว Naver คือ Yahoo! Answer , Blogger, YouTube และการค้นหาของ Google Paid Search รวมกัน ผู้ค้นหามองหาข้อมูลที่จำเป็นโดยการสืบค้นผลการค้นหาของ Naver ประเภทต่างๆ เช่น ฐานข้อมูล ถาม & ตอบ การค้นหาข่าว การค้นหาบล็อก เป็นต้น

Naver สามารถทำอะไรได้บ้างซึ่ง Google ไม่สามารถทำได้

สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ Algorithm การค้นหาของ Naver ถูกสร้างขึ้นผ่านภาษาเกาหลีซึ่งช่วยให้ Naver แสดงผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องมากกว่า Google ในหลาย ๆ ครั้ง เนื่องจากไวยากรณ์ภาษาเกาหลีนั้นแตกต่างจากภาษาอังกฤษค่อนข้างมาก

ตัวอย่างเช่นลองค้นหา 이브닝가운 ( ชุดราตรี ) ใน Naver.com และ Google.co.kr เราจะเห็นได้ว่า Naver ให้ผลการค้นหาที่เป็น สารานุกรมความรู้ 3 รายการ, ผลลัพธ์ 5 ข่าว, 5 ข้อมูลผลลัพธ์ระดับมืออาชีพ (เอกสาร PDF), 3 ผลลัพธ์วิดีโอ และ 5 รูปภาพผลลัพธ์ในหน้าแรก

ความแตกต่างที่ Google ไม่สามารถเลียนแบบได้
ความแตกต่างที่ Google ไม่สามารถเลียนแบบได้

หากเราไปที่ Google.co.kr ตรงข้ามกับหน้าผลลัพธ์ที่ฟุ่มเฟือยของ Naver เราเห็นเฉพาะผลลัพธ์รูปภาพ 5 รายการและผลลัพธ์ 1 ข่าว ผลลัพธ์ที่เหลือจะคล้ายกันมากใน Search Engine ทั้งสอง (และส่วนใหญ่มาจากบล็อก):

ซึ่งอาจพูดได้ว่าเป็นเพราะ Google ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดทำดัชนีเว็บไซต์เหล่านั้นจำนวนมาก แต่ก็มีแนวโน้มมากกว่าที่มองได้ว่า Naver นั้นคุ้นเคยกับข้อมูลเฉพาะของเว็บเกาหลีและภาษาเกาหลีมากกว่า Google ดังนั้นทำให้ Naver ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า สำหรับผลการค้นหาส่วนใหญ่

เหตุผลที่ทำให้ Google โกรธมากๆ ในตลาดการค้นหาในประเทศเกาหลีใต้ ก็คือ เหล่าเว็บมาสเตอร์ชาวเกาหลีจำนวนมากไม่กังวลเกี่ยวกับปัญหาความเป็นส่วนตัวกับ Naver เนื่องจากพวกเขารู้ว่า Naver จะไม่สร้างดัชนีข้อมูลบางอย่าง เหมือนที่ Google ทำ ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดความปลอดภัย พวกเขาก็เพียงแค่บล็อก Google bot จากการรวบรวมข้อมูลเว็บไซต์ของพวกเขา

แต่หากมีการนับจำนวนไซต์ที่มีการจัดทำดัชนีใน Naver มันจะมีขนาดเล็กกว่าจำนวนไซต์ที่จัดทำดัชนีใน Google อย่างแน่นอน แต่คุณภาพของเว็บไซต์เหล่านั้นที่ผ่านการเก็บข้อมูลของ Naver อาจจะทำได้ดีกว่า ซึ่งทาง Naver ชอบที่จะทำให้มีเนื้อหาน้อยลงในการเก็บดัชนีเว๊บไซต์ต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งนั้นเป็นของจริงและตรงตามความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุดนั่นเอง

สิ่งที่ Google พยายามทำทั้งหมด คือการวางเนื้อหาที่เป็นภาษาเกาหลีให้ได้มากที่สุด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้จะต้องโน้มน้าวให้ผู้ดูแลเว็บเกาหลี และนักธุรกิจที่พวกเขาต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการค้นหาสำหรับ Google นั่นเอง เพราะหากสิ่งนี้ไม่เกิดขึ้น Google จะไม่สามารถให้ผลลัพธ์การค้นหาที่ดีกว่า Naver นำเสนอได้

และปัญหาสำหรับ Google ก็คือผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเกาหลีส่วนใหญ่ดูเหมือนจะค่อนข้างมีความสบายใจกับการใช้งาน Naver แน่นอนว่าผลการค้นหาของเนื้อหาจากเกาหลีนั้นจะปรากฏบนเว็บ แต่มันสามารถมองเห็นผ่าน Naver ในรูปแบบสไตล์การแสดงผลที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ Google ไม่สามารถเลียนแบบได้ 

สถานะของ SEO กับ Search Engine ในประเทศเกาหลี

แล้วการทำ SEO ของเกาหลีใต้นั้น มีอยู่จริงหรือไม่? ต้องบอกว่ามันไม่มีอยู่ในรูปแบบที่ปรากฏในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแต่ละส่วนของการค้นหาใน Naver นั้น (การค้นหาด้านความรู้ การค้นหาบล็อก การค้นหาข่าว ฯลฯ ) ต่างมีอัลกอริทึมเป็นของตัวเอง ดังนั้นจึงไม่มีสูตรการเพิ่มประสิทธิภาพที่เหมาะกับการทำ SEO ให้กับเว๊บไซต์ในแต่ละรูปแบบ เหมือนที่ เหล่านักการตลาดออนไลน์ทำสำเร็จกับ Google

ในประเทศเกาหลีนั้น มันค่อนข้างเป็นการผสมผสานระหว่างการโฆษณาแบบจ่ายต่อคลิก และการจ่ายต่อเวลาควบคู่ไปกับการโปรโมตใน Knowledge In ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของบล็อก ข่าว รูปภาพ วิดีโอและผลลัพธ์ประเภทอื่น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างจากการทำ SEO ในแบบของ Google ในที่อื่น ๆ ทั่วโลก

บทสรุป

ต้องบอกว่าอุตสาหกรรมการค้นหาของเกาหลีนั้น เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ๆ ที่ Google ไม่สามารถที่จะครองตลาดแบบเบ็ดเสร็จเหมือนที่อื่น ๆ ในโลกได้ มันมาจากรากฐานทางวัฒนธรรม ความเป็นชาตินิยม และอีกหลาย ๆ อย่างที่เราได้เห็นศักยภาพของบริการ หรือ ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากประเทศนี้ สามารถต่อสู้ในระดับโลกได้

สำหรับ ตัวผมเอง ถ้าถามว่าชาติไหนเจ๋งที่สุด ก็ต้องบอกว่า เกาหลีอยู่ในลำดับต้น ๆ เพราะพวกเค้าต้องต่อสู้มาตั้งแต่ความยากลำบาก ในระดับประเทศที่ยากจนข้นแค้น หลังจบสงคราม ก่อสร้างประเทศ สร้างผลิตภัณฑ์ และบริการต่าง ๆ ที่มีคุณภาพแข่งขันได้ในระดับโลก

ซึ่งทั้งที่ประเทศพวกเขานั้นไม่ได้มีประชากรมากมาย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์และใช้ Economy of scale เอาชนะคู่แข่งได้ง่ายกว่า แต่เกาหลีเป็นประเทศเล็ก ๆ และคิดใหญ่ ทำใหญ่ และทำมันออกมาได้ดีมาก ๆ ในหลากหลายสินค้าและบริการ และตัวอย่างหนึ่งก็คือสิ่งที่ Naver ทำได้สำเร็จกับตลาด Search Engine ที่สามารถเอาชนะยักษ์ใหญ่อย่าง Google ได้นั่นเองครับ

–> อ่าน Blog Series : Rise of South Korea

References : https://www.theegg.com/sem/korea/paid-search-in-korea-naver-ads-vs-google-ads/
https://www.minttwist.com/blog/google-vs-naver-googles-struggles-south-korea-focus/
https://www.twinword.com/blog/4-reasons-why-seo-in-korea-is-difficult/

PayPal Wars ตอนที่ 7 : The Monopolist Strikes

OCTOBER 2000—FEBRUARY 2001

การกลับมากุมบังเหียนบริษัทอีกครั้งของ Peter Thiel เขาได้วางยุทธศาสตร์หลักให้ PayPal เป็นโมเดลธุรกิจหลักของบริษัท Thiel มอบหมายให้ Sacks เข้ามาดูแลรีบปรับธุรกิจโดยด่วน ลดการฉ้อโกงที่เกิดขึ้นกับช่องโหว่ของระบบ และที่สำคัญที่สุดก็คือ ลดภาระค่าธรรมเนียมของบัตรเครดิตออกไปให้ได้มากที่สุดนั่นเอง

รวมถึงส่วนของ X.com ที่มีบริการอย่าง X-Finance ซึ่งเป็นบริการที่คิดจะเลียนแบบธนาคารพานิชย์แบบดั้งเดิม Thiel ต้องการตัดบริการที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของเขาออกไป การที่ X-Finance นั้นเปรียบเสมือนธนาคารที่ปล่อยบัตรเดบิต และวงเงินเบิกเกินบัญชีได้ ถึง 500 เหรียญ โดยแทบจะไม่ต้องตรวจสอบเครดิต มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง

และที่สำคัญ การออกจากบริการที่เปรียบเสมือนธนาคารออนไลน์นั้น หมายความว่าสถานะของพวกเขา ที่ต้องถูกกำกับดูแลก็ต้องถูกตีความใหม่ ซึ่ง Thiel ได้สั่งให้ทีมงานด้านกฏหมายคอยประสานกับหน่วยงานที่กำกับดูแล เพื่อค้นหาว่าบริการของ PayPal ควรจัดอยู่ในหมวดหมู่ใด

Thiel ได้แต่งตั้ง Roelof Botha นักคณิตศาสตร์ประกันภัยอายุ 47 ปี ให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง CFO ซึ่ง Roelof นั้นมองว่าโปรแกรมการคุ้มครองผู้ซื้อและผู้ขายที่ใจกว้างมาก ๆ ของบริษัทนั้น เป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสียและเรื่องการฉ้อโกง

Roelof สรุปว่านโยบายการคุ้มครองผู้ขายนั้น สามารถที่จะคงอยู่ได้ แต่ผู้ใช้จะต้องปฏิบัติตามแนวทางที่เข้มงวดเพื่อให้มีคุณสมบัติที่เพียงพอในการคุ้มครองดังกล่าว

Roelof Botha นักคณิตศาสตร์ประกันภัยมารับตำแหน่ง CFO
Roelof Botha นักคณิตศาสตร์ประกันภัยมารับตำแหน่ง CFO

Max Levchin ที่เป็นส่วนสำคัญในการดึง Thiel กลับมานั้น เป็นผู้นำในการพัฒนระบบต่อต้านการทุจริต เพื่อติดตามกิจกรรมในบัญชีที่น่าสงสัย ส่วน Sacks นั้นพยายามลดค่าใช้จ่ายในการประมวลผลด้วยบัตรเครดิต เพื่อสนับสนุนให้ผู้ใช้ชำระเงินผ่าน ACH

และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การลดบทบาทของ X.com ลง มีการเปลี่ยนภาพในโลโก้การประมูลของบริษัทจาก X.com กลับสู่ PayPal ซึ่งแน่นอนว่า เหล่าผู้ใช้งานนั้นสนับสนุนเต็มที่ในเรื่องดังกล่าว เพราะเบื่อกับคำถามจากผู้ซื้อเกี่ยวกับความหมายของ X.com นั่นเอง

เรื่องที่ยากที่สุดก็คงเป็นเรื่องการผลักดันให้ผู้ใช้งานเชิงธุรกิจนั้นอัพเกรดบัญชีมาใช้เป็นแบบธุรกิจเพื่อเสียค่าธรรมเนียม ซึ่ง แน่นอนว่า ต้องมีผู้ใช้งานออกมาคัดค้านเป็นจำนวนมาก ส่วนนึงก็เข้าใจว่า PayPal ไม่ใช่องค์กร การกุศล พวกเขาต้องหารายได้ ไม่งั้นก็ไม่มีบริการดี ๆ แบบนี้ออกมาให้ผู้ใช้

ทีมงาน PayPal จึงต้องใช้ไม้แข็ง โดยดูจากพฤติกรรมการใช้งานว่า ใช้งานเพื่อธุรกิจหรือไม่ ซึ่งคนเหล่านี้มีรายได้ ที่พอจะจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับ PayPal อยู่แล้ว ซึ่งหลังจากมีการบังคับใช้นโยบายใหม่ในเดือนตุลาคม ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดี ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน 95% ของบัญชีส่วนบุคคลที่ใช้งานแบบธุรกิจ ก็ได้ทำการอัพเกรดไปเป็นบัญชีธุรกิจในที่สุด

และเมื่อฝั่ง ebay และ billpoint เห็น PayPal พยายามที่ผลักดับลูกค้าให้ใช้บัญชีที่เสียค่าธรรมเนียม จึงใช้ประโยชน์จากจุดนี้ตีโต้กลับ PayPal ทันที โดยร่วมมือกับ Visa เหมือนเคย

โดย ebay ประกาศในเดือนตุลาคมช่วงเดียวกันว่าจะยกเว้นค่าธรรมเนียมของ Billpoint ทั้งหมดสำหรับการชำระเงินด้วย Visa และมันเป็นช่วงเทศกาลช็อปปิ้งของคนอเมริกา ซึ่งทำให้ Billpoint จะสามารถทำรายได้ได้ถูกกว่า PayPal ตลอดช่วงเทศกาลวันหยุด

แม้ Thiel จะรู้ว่ามันเสี่ยง แต่พวกเขาก็ต้องตัดใจทำ เพราะมันดีต่อธุรกิจในระยะยาว และที่สำคัญพวกเขามั่นใจกับแบรนด์ PayPal ที่เหล่าผู้ใช้งานใน ebay นั้นหลงรักและใช้มันเป็นอันดับหนึ่งใน แพลตฟอร์ม

และผลลัพธ์ก็ออกมาน่าสนใจหลังผ่านเทศกาลวันหยุดดังกล่าว PayPal ก็ยังเป็นผู้นำในการชำระเงินมากกว่า Billpoint แม้ตัวเลขการเติบโตของ Billpoint จะเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าแต่ PayPal ก็ไม่ได้เติบโตลดลงแต่อย่างใด เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ยังเชื่อมันในแบรนด์ของ PayPal นั่นเอง

หลังจากนั้นไม่นาน ebay ก็ได้แก้เกมต่อ โดยการเปิดตัวการทำธุรกรรมแบบใหม่ ในราคาคงที่ ภายใต้ชื่อ “Buy It Now” หรือ BIN ebay เป็นทางเลือกให้แก่ผู้ขายในการตั้งราคาที่พวกเขายินดีที่จะข้ามขั้นตอนการประมูลออกไป และขายสินค้าให้ผู้ซื้อได้แบบทันที

แม้ตัว Buy It Now นั้นจะไม่ได้คุกคาม PayPal โดยตรง แต่หารู้ไม่ว่า ebay นั้นใช้ช่องทางนี้กับผู้ซื้อให้ชำระเงินผ่าน Billpoint ได้เท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีการเดียวที่พวกเขาอนุญาตให้ชำระเงินสำหรับสินค้าของผู้ขายที่จะเข้าร่วมในโปรแกรม Buy It Now

PayPal นั้นเดิมเข้าไปแทรกตัวอยู่ในวิธีการชำระเงินในกระบวนการประมูลสินค้าได้ แต่ใน Buy It Now นั้น กระบวนการจะจบลงทันที ไม่ต้องมีการรอให้ผู้ซื้อมาเลือกวิธีการชำระเงินแต่อย่างใด เพราะ ปุ่มการดำเนินการที่ ebay ฝังไว้ใหม่นี้ จะพาไปยังหน้าชำระเงินของ Billpoint แบบทันที

ซึ่งแน่นอนว่า มันคือวิธีที่แยบยลมาก ๆ ของ ebay เพราะหากไม่สามารถที่จะขับไล่ PayPal ออกจาก ebay ได้ พวกเขาจึงเปลี่ยนวิธีการต่อสู้เป็น เปลี่ยน Billpoint ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ ebay แทนนั่นเอง

Buy It Now ที่ตั้งใจมากำจัด PayPal
Buy It Now ที่ตั้งใจมากำจัด PayPal

แต่แม้ความพยายามของ ebay ที่จะขับไล่ PayPal ออกไปให้ได้นั้น ดูเหมือนจะยังไม่เข้าใกล้ความเป็นจริงแต่อย่างใด PayPal มีผู้ใช้งานพุ่งสูงขึ้นถึง 5 ล้านรายเป็นบริษัทแรก ในไตรมาสที่ 4 ของปี ปริมาณการชำระเงินของ PayPal สูงขึ้นถึง 29% สร้างรายได้กว่า 7.4 ล้านเหรียญ

ซึ่งการเพิ่มขึ้นของรายได้ ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนจากค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต รวมถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องการฉ้อโกงภายในแพลตฟอร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้อัตรากำไรจากธุรกรรมการชำระเงินของ ebay เพิ่มขึ้นจาก -3.28% ในไตรมาสสาม เป็น -0.92% ในไตรมาสสี่ แสดงให้เห็นทิศทางของบริษัทที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน

และตลาดการประมูลนั้น ebay ไม่ได้ครอบครองตลาดนี้ทั้งหมดแต่อย่างใดเพราะยังมีสองผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Yahoo และ Amazon ที่ให้บริการประมูลบนเว๊บไซต์ของพวกเขาด้วย

โดย Yahoo คือผู้ท้าทายตัวจริงของ ebay เพราะมีจำนวนรายการประมูลสูงถึง 2.4 ล้านรายการ ซึ่งต่ำกว่า ebay ที่มีจำนวนรายการประมูล 3.7 ล้านรายการ และแน่นอนนั่นทำให้ส่งผลดีต่อ PayPal อย่างชัดเจนเพราะพวกเขาสามารถใช้งานได้ในทั้งสองแพลตฟอร์มนั่นเอง

Yahoo นั้นวางแผนมาเพื่อเป็นคู่แข่งของ ebay ตั้งแต่ต้น พวกเขาแทบจะไม่คิดค่าธรรมเนียมสำรหับการนำรายการขึ้นสู่เว๊บไซต์ รวมถึงสร้างระบบให้รองรับการนำเข้าข้อมูล Profile ต่าง ๆ จาก ebay สำหรับผู้ขายที่ต้องการย้ายมาอยู่ที่ Yahoo เพราะจะทำให้ดูมีความน่าเชื่อถือขึ้นนั่นเอง

แต่ Yahoo ก็ใช้กลยุทธ์นีได้เพียงไม่นาน เนื่องจากรายรับที่ลดลงต่อเนื่องของ Yahoo หลังจากเกิดวิกฤติฟองสบู่ดอทคอม ราคาหุ้นของ Yahoo ลดลงจาก 200 เหรียญ มาแตะที่ 30 เหรียญในระยะเวลาไม่ถึง 8 เดือนเท่านั้น Yahoo จึงต้องเริ่มประกาศยุติการประมูลฟรี และยอดผู้ใช้งานของพวกเขาก็ร่วงลงไปเรื่อย ๆ จนเหลือหลักหมื่นรายการในระยะเวลาเพียงไม่นาน เนื่องจากผู้ขายส่วนใหญ่ กลับไปยัง ebay แทบจะทั้งสิ้น

ฟากฝั่ง PayPal ก็ได้ออกแคมเปญ PayPal Preferred ซึ่งเป็นไดเรกทอรี่ ที่ให้ผู้ขายมาเข้าร่วม เพื่อแสดงรายชื่อร้านค้าออนไลน์ของพวกเขา ในเว๊บไซต์อื่น ๆ ที่ผู้ซื้อสามารถเข้าถึงได้ และเป็นการสนับสนุนเหล่าผู้ใช้งานให้ไปทำธุรกรรมนอก ebay นั่นเอง

เรียกได้ว่า เป็นศึกที่ กินกันไม่ลงเลยทีเดียวสำหรับ PayPal และ ebay ที่ต่างฝ่าย ต่างชิงไหวชิงพริบ เพื่อสร้างแต้มต่อทางธุรกิจ เรียกได้ว่าเป็นการผลัดกันรุก ผลัดกันรับ หาช่องทางที่จะโจมตีเข้าหากันโดยตลอด ต้องบอกว่าเป็นศึกทางธุรกิจที่ต่อสู้ได้เข้มข้นที่สุดครั้งนึงในประวัติศาสตร์ธุรกิจอเมริกา เพราะรางวัลสำหรับผู้ชนะ คือ ผู้ปฏิวัติวงการชำระเงินออนไลน์โลกตัวจริงนั่นเอง จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปกับศึกครั้งนี้ โปรดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 8 : High Stakes

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The New Recruit *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Excite กับการปฏิเสธซื้อ Google ในมูลค่าเพียง 1 ล้านเหรียญ

ถือเป็น Business Case Study ครั้งยิ่งใหญ่ในวงการเทคโนโลยีโลกเลยก็ว่าได้สำหรับการปฏิเสธการเข้าซื้อ Google ของ Excite ในปี 1999 ก่อนที่ Google จะท้อใจในการขายกิจการและสองผู้ร่วมก่อตั้งที่ต้องทิ้งการเรียนมาสร้างธุรกิจจนกลายเป็นธุรกิจแสนล้านอย่างในปัจจุบัน

Excite เปิดตัวในปี 1995 มาแข่งกับ Yahoo เว๊บไซต์ยักษ์ใหญ่ที่เป็นพอร์ทัล ที่ผู้ใช้งานสามารถรับข่าวสารสภาพอากาศ เครื่องมือค้นหา การจัดการอีเมล รวมถึงการส่งข้อความ ราคาหุ้น และหน้าแรกของผู้ใช้ที่ปรับแต่งได้

ซึ่งแน่นอนว่าในขณะนั้นมันเป็นเหมือนตัวตายตัวแทนของหนังสือพิมพ์ เพื่อให้เห็นภาพว่า Excite มีขนาดใหญ่เพียงใด ต้องบอกว่ามันเป็นเว็บไซต์ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลกในปี 1996

และในปี 2000 Excite เป็นเว็บไซต์ที่มีผู้เข้าชมมากเป็นอันดับ 4 ของโลก Excite ได้เจรจาข้อตกลงกับ AOL ที่ AOL ตกลงที่จะทำให้ Excite เป็นบริการค้นหาหลักและบริการไดเรกทอรีพิเศษของ AOL

Excite ที่เป็นเว๊บไซต์ยักษ์ใหญ่ของโลกในขณะนั้น
Excite ที่เป็นเว๊บไซต์ยักษ์ใหญ่ของโลกในขณะนั้น

ซึ่งหากยังจำกันได้ AOL ในขณะนั้นถือว่าเป็นเว๊บไซต์ที่ยิ่งใหญ่มาก ๆทำให้ดีลนี้เป็นดีลที่ยิ่งใหญ่และมีความพิเศษอย่างมากสำหรับ Excite โดยในปี 1999 Excite ถูกซื้อโดยเครือข่ายของบริษัท @Home

การควบรวมกิจการของ บริษัท เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสองรายนี้เป็นหนึ่งใน บริษัท ที่ใหญ่ที่สุดในเวลานั้นและมันควรจะเป็นจุดเปลี่ยนของวงการอินเตอร์เน็ตในขณะนั้น โดย หลังจากการควบรวมกิจการ ทำให้บริการของ Excite นั้นยิ่งใหญ่มากโดย Excite ได้เข้าไปเป็นสปอนเซอร์ให้กับบริการต่าง ๆ มากมายทั่วสหรัฐอเมริกา

แต่การควบรวมกิจการดังกล่าวได้กลายเป็นหายนะ ด้วยการโฆษณาออนไลน์ที่ลดลงในขณะที่รายได้ของเครือข่ายเคเบิลและอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ซึ่งในเวลาไม่ถึง 2 ปีหลังจากการควบรวมกิจการ Excite และ @ home ต้องยื่นฟ้องล้มละลายและต้องทำการขายเครือข่ายใยแก้วนำแสงความเร็วสูงให้กับ AT&T ในที่สุด

แต่เรื่องราวด้านหนึ่งได้เกิดขึ้นและจะเปลี่ยนโลกของเทคโนโลยีอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนโดยในปี 1999 (ก่อนการควบรวมกิจการ Excite และ @Home) นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสองคนชื่อ Sergey Brin และ Larry Page ตัดสินใจว่าโครงการด้านเล็ก ๆ ของพวกเขาที่รู้จักกันในนาม Google

ซึ่งในขณะนั้นพวกเขาไม่พร้อมที่จะออกมาทำธุรกิจ เนื่องจากเวลาเรียนที่มากเกินไปของทั้งสองผู้ก่อตั้ง โดยพวกเขาได้ไปที่ Excite และเสนอขาย Google ให้กับ Excite มูลค่า 1 ล้านดอลลาร์ Excite ปฏิเสธข้อเสนอ

Vinold Khosla ผู้ร่วมทุนทุน Excite จากนั้นเจรจากับ Brin และ Page เพื่อขอลดราคาขาย Google ให้ Excite ในราคา 750,000 ดอลลาร์เท่านั้น และ George Bell CEO ของ Excite ยังคงปฏิเสธข้อเสนอ ดังกล่าวอย่างไม่ใยดี

สองหนุ่มคู่หูจาก สแตนฟอร์ด ที่ยื่นข้อเสนอพิเศษแต่โดนปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย
สองหนุ่มคู่หูจาก สแตนฟอร์ด ที่ยื่นข้อเสนอพิเศษแต่โดนปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย

ซึ่งเหตุผลที่ Excite ไม่ต้องการทำข้อตกลงดังกล่าว คือ รายละเอียดของสัญญาที่ Page และ Brin เสนอมาก็คือ Excite ต้องแทนที่เทคโนโลยีการค้นหาด้วย Google นั่นเอง ซึ่งพวกเขามองเป็นโปรเจคนักศึกษาเพียงเท่านั้น ไม่ได้เห็นศักยภาพที่แท้จริงของ Google แต่อย่างใด

แต่ในวันนี้อย่างที่เราได้ทราบ ๆ กัน Google มีมูลค่ากว่า 7 แสนล้านเหรียญ ซึ่งเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลกและเป็นหนึ่งใน icon ของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี

ในทางตรงกันข้ามในตอนนี้ Excite ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเว็บไซต์อันดับที่ 3616 ในสหรัฐอเมริกา กลายเป็นเว๊บไซต์ขนาดเล็ก ๆ ธรรมดา ๆ ในที่สุดอย่างที่เราได้เห็นในปัจจุบัน

ข้อผิดพลาดเกิดขึ้น:

แน่นอนว่าหากลองมองในทางธุรกิจ หากคุณมีความสามารถในการซื้อ บริษัท คู่แข่งขันที่มีศักยภาพไม่ว่าคุณจะทำเงินได้แค่นิดเดียวในขณะนั้น แต่มันเป็นการกำจัดการแข่งขันในอนาคตใช่หรือไม่?

มันเคยมีบทเรียนครั้งสำคัญของนักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่อย่าง John D. Rockefeller ซึ่งทำให้ บริษัท สแตนดาร์ดออยล์เป็น บริษัท ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในการไล่ซื้อกิจการคู่แข่งไม่ว่าจะเล็กจะใหญ่ขนาดไหน เพราะต้องการทำให้ สแตนดอร์ดออยส์ ผูกขาดตลาดนั่นเอง

ความจริงที่ว่า Google ได้เสนอให้ Excite อีกครั้งด้วยจำนวนเงินที่น้อยลงและยังคงถูกปฏิเสธมันถือว่าเป็นความผิดพลาดซ้ำสองที่ไม่น่าให้อภัยเป็นอย่างยิ่ง

แม้ตัวเพจและบรินวางข้อตกลงเกี่ยวกับข้อเสนอที่ทำให้ยากต่อการยอมรับ แต่การที่ George Bell ปฏิเสธข้อเสนอเพียงเพราะ Google ยืนยันว่า Excite ใช้เครื่องมือค้นหาของตนมันดูเหมือนเป็นวิธีการคิดที่ผิดมหันต์

ซึ่งแน่นอนว่า George Bell อาจจะคิดอย่างดีแล้วว่าเสิร์ชเอ็นจิ้นของพวกเขาอย่าง Excite ติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของเว็บไซต์ในโลกในขณะนั้น ทำไมจึงควรเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้เพื่อฟังนักศึกษาที่ยังเรียนไม่จบจากสแตนฟอร์ดด้วยซ้ำ

ซึ่งการคิดแบบนั้นทำให้ Excite ประมาทและไม่คิดเปลี่ยนแปลง ในอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างอินเตอร์เน็ต ไม่มีทดลองใด ๆ ของ Excite ในการใช้ Google มาเป็นโปรแกรมค้นหาดูก่อนเลยด้วยซ้ำ

ซึ่งพวกเขาควรลองใช้ดูเพื่อดูว่ามันดีแค่ไหนและมันจะทำให้ Excite ดีขึ้นได้อย่างไร Excite ทำข้อผิดพลาดมากมายตลอดประวัติศาสตร์ของบริษัท แต่ไม่สำคัญมากไปกว่าการปฏิเสธการเข้าซื้อ Google ในราคาที่ต่ำและต่ำมาก ๆ เพียงแค่ 750,000 ดอลลาร์ เท่านั้น ซึ่งอาจจะเปลี่ยนโฉมหน้าบริษัทของพวกเขาไปตลอดกาล ก็เป็นได้ครับ

References : https://mwmblog.com

ประวัติ Bill Gates ตอนที่ 7 : Enemy at the Gates

ในขณะที่ Microsoft ชนะศึกทางด้านเทคโนโลยีมาได้ทุกครา ไม่ว่าจะเป็นศึกใหญ่กับ IBM หรือ การบดขยี้เด็กน้อยอย่าง NetScape ให้ตายออกไปจากตลาด Web Browser ได้สำเร็จ และถึงเวลานั้นมันก็ได้เข้าสู่ยุคเริ่มต้นของธุรกิจ Internet แบบเต็มตัว เพราะเกิดเว๊บไซต์ใหม่ ๆ ขึ้นเป็นดอกเห็ด เกิด Business Model ใหม่ๆ ขึ้นบนโลกออนไลน์มากมาย

ซึ่งในเวลาเดียวกันนั้นเอง ลาร์รี่ เพจ และ เซอร์เกย์ บริน สองหนุ่มนักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย Stanford ได้เริ่มทำการสร้าง Index หรือ ดัชนีให้กับเหล่าเว๊บไซต์ทั้งหลายทั่วโลก

ซึ่งแม้วิธีเริ่มต้นในสิ่งที่ทั้งคู่ทำนั้นจะไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในขณะนั้น มีหลายบริษัทก็ทำอยู่เช่นกัน แต่ปัญหาก็คือ ตอนนั้นไม่มีใครคาดคิดถึง Model ธุรกิจของ Search Engine ว่าจะทำเงินจากมันได้อย่างไร เพราะกระแสในขณะนั้นกำลังแห่ไปทาง Web Directory อย่าง Yahoo ที่กำลังดังอยู่ในขณะนั้น

เนื่องจากเว๊บเพจได้เริ่มเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดจึงทำให้ Yahoo นั้นได้เริ่มสร้าง Directory ให้กับเหล่าเว๊บไซต์หน้าใหม่เหล่านี้ โดยใช้การคัดเลือกจากบรรณาธิการที่เป็นมนุษย์ และแน่นอนว่า พอจำนวนเว๊บไซต์ยิ่งมากขึ้น มันก็เริ่มที่จะลำบากขึ้นเรื่อย ๆ ในการคัดเลือกเหล่านี้

Yahoo เว๊บไดเรคทอรี่ ที่เป็นที่นิยมในขณะนั้น
Yahoo เว๊บไดเรคทอรี่ ที่เป็นที่นิยมในขณะนั้น

อีกฝากฝั่งหนึ่งนั้น Gates และ Microsoft แทบจะไม่ยินดียินร้ายกับการเกิดขึ้นของเหล่าบริการค้นหาทางออนไลน์เลยเสียด้วยซ้ำ Microsoft นั้นสามารถล้มศัตรูมาได้ทั้งหมด และพวกเขาก็ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่จะกลัวใครหน้าไหนอีกต่อไป

ตอนนี้ผลิตภัณฑ์ของพวกเขามีการใช้งานอยู่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Windows หรือ ชุด Microsoft Office ซึ่งพวกเขาก็ขายกันไม่ทันอยู่แล้วแค่เพียง product สองตัวนี้ที่มีอยู่ เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่แทบจะผูกขาดการใช้งานทั่วทั้งโลก

มันไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ว่า Microsoft แทบไม่แยแสกับกระแสออนไลน์ บ้าเห่อ ของเหล่าบริษัทหน้าใหม่ในขณะนั้น เพราะมันมีจำนวนผู้ใช้งานเพียงน้อยนิด และยังไม่มีใครคิดว่าจะทำเงินจากมันได้อย่างไรเลยด้วยซ้ำ

แต่ด้วยความเป็นยักษ์ใหญ่ จึงได้ทำการกระจายความเสี่ยงไว้ โดยในปี 1997 นั้น Microsoft ได้สร้างเว๊บท่าขนาดใหญ่ แต่จะใช้บริการค้นหาจริง ๆ ของอีกหนึ่งบริษัทคือ Inktomi ซึ่งตอนนั้นเริ่มทำบริการที่เป็นลักษณะเว๊บ Crawler เพื่อไปดึงดูดข้อมูลต่าง ๆ ทั่ว WWW มาทำ Index หรือดัชนี

ซึ่งในรายปลายทศวรรษ 1990 แม้จะมี Search Engine มากมาย เช่น Yahoo , Altavista , Lycos , Excite , AOL , Infoseek แต่ดูเหมือนว่าเหล่า Search Engine เหล่านี้นั้น ไม่มีตัวไหนเลย ที่ทำให้เหล่าผู้บริโภคถูกใจและแก้ปัญหาสำคัญของเหล่า User เมื่อมาค้นหาได้

Search Engine ที่มีอยู่อย่างมากมายแต่ยังไม่โดนใจผู้บริโภคในขณะนั้น
Search Engine ที่มีอยู่อย่างมากมายแต่ยังไม่โดนใจผู้บริโภคในขณะนั้น

ตอนนี้ยังไม่มีใครที่เข้าใจอย่างลึกซึ้งจริง ๆ ในเรื่องการค้นหา ทำให้ผลการค้นหาไม่ได้ดั่งใจคนใช้งานเท่าที่ควร คือมีแค่ให้ใช้ แต่ไม่มีตัวไหนที่ประทับใจผู้ใช้งาน แม้กระทั่ง Microsoft เองก็ตามก็ยังไม่เข้าใจจริง ๆ ของความต้องการของ User จากระบบ Search Engine

ซึ่งในช่วงเวลานั้นนั่นเอง ขณะที่เหล่าผู้ใช้งานกำลังเบื่อกับ โปรแกรมการค้นหาที่มีอยู่เต็มไปหมดในตลาด เพจและบริน ได้สร้างอัลกอริทึมสำหรับจัดลำดับเว๊บเพจที่เรียกว่า “PageRank” ภายใน Lab ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดขึ้นมาได้สำเร็จ

ซึ่งตอนนั้น พวกเขาทั้งสองเองก็ตามก็ยังไม่รู้เลยว่าสิ่งยิ่งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้น การทดลองที่บังเอิญของพวกเขา สิ่งที่ทั้งสองต้องการนั่นคือ การนำการวิจัยดังกล่าวไปสู่หัวข้อวิทยานิพันธ์ปริญญาเอก โดยใช้เทคโนโลยีเพจแรงค์ กับโลกของอินเตอร์เน็ต

ซึ่งตอนแรกนั้น พวกเขาทั้งสองรวมถึงอาจารย์ที่ปรึกษาไม่ได้คิดถึงการสร้างโปรแกรมค้นหาเลยด้วยซ้ำ แต่เมื่อพวกเขาได้ทำไประยะหนึ่ง กับพบกับความเป็นจริงที่ว่า สิ่งที่พวกเขาร่วมกันสร้าง มันยิ่งใหญ่เกินกว่าจะเป็นเพียงงานวิชาการเสียแล้ว สิ่งที่เขาค้นพบนั้นมันคือประตูไปสู่ธุรกิจใหม่ ที่มีมูลค่ามหาศาล มันคือขุมทรัพย์ทาง Digital รูปแบบใหม่ ที่ไม่มีบริษัทไหน ๆ ในโลกนี้ เคยคาดคิดมาก่อน

Bill Gates และ Microsoft กำลังหลงระเริง อยู่กับความสำเร็จซ้ำแล้วซ้ำเล่าของพวกเขา โดยแทบจะไม่รู้ตัวเลยว่า ขณะนี้ ศัตรูรายใหม่ ได้ก่อกำเนิดขึ้นแล้ว และกำลังจะกลายเป็นศัตรูที่แข็งแกร่งที่สุด ฉลาดที่สุด เท่าที่พวกเขาเคยเจอมานับตั้งแต่ก่อตั้งธุรกิจเลยก็ว่าได้ จะเกิดอะไรขึ้นต่อกับ Gates และ Microsoft เมื่อธุรกิจเทคโนโลยีกำลังขับเคลื่อนไปยังโลก Internet โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 8 : The Internet Trap

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 A Revolution Begins *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ