ประวัติ Tim Cook ตอนที่ 9 : Into the Future

เมื่อเข้าสู่วันที่ 2 สิงหาคม ปี 2018 Apple ได้กลายเป็นบริษัทแรกที่มีมูลค่าสูงถึง 1,000,000,000,000 ดอลลาร์ นั่นก็คือล้านล้านดอลลาร์ แน่นอนว่ากำไรส่วนใหญ่นั้นเกิดขึ้นภายใต้ยุคของการบริหารงานโดย Tim Cook

ตั้งแต่ Cook ขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดของ Apple หุ้น AAPL มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้แม้จะมาจากผลิตภัณฑ์หลักอย่าง iPhone โดยเฉพาะ iPhone X ที่ทำการออกแบบใหม่ ทำให้ Apple สามารถขึ้นราคาขายได้ ส่งผลให้รายได้เพิ่มมากขึ้นแม้จำนวนเครื่องที่ขายได้จะน้อยลงก็ตาม

คงไม่เกินเลยที่จะกล่าวได้ว่า Steve Jobs เป็นผู้ให้กำเนิด iPhone แต่ Cook ได้นำผลิตภัณฑ์เรือธงของบริษัทนี้ขึ้นไปอยู่ในจุดที่สูงที่สุด พร้อมกับการเติบโตของบริษัทอย่างที่เราได้เห็นกันนั่นเองครับ

แม้เราจะไม่รู้ว่า Apple กำลังวางแผนอะไรต่อไปในอนาคต สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ของบริษัทที่ยังดูสดใส แน่นอนว่าความสำเร็จของ Apple มันคงไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้ ซึ่ง Cook และทีมงานของเขาก็ไม่พลาดที่จะมองไปยังธุรกิจในอนาคต อย่างเรื่องของรถยนต์ และอุตสาหกรรมสุขภาพ ซึ่งต้องบอกว่าเป็นสองอุตสาหกรรมที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

การดูแลสุขภาพเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา มีมูลค่ากว่า 24.5 พันล้านเหรียญ ส่วนด้านโลจิสติกส์และการขนส่งนั้นอยู่ในอันดับที่ 4 ซึ่งมีมูลค่ากว่า 12.8 พันล้านเหรียญ ซึ่งแน่นอนว่า Apple Watch กำลังเข้าไปช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่มหึมานี้ ส่วนโครงการ Titan ทีว่ากันว่าเป็นโครงการรถยนต์ในอนาคตของ Apple ดูเหมือนจะยังมีอนาคตที่ไม่ชัดเจนนัก

Project Titan หนึ่งในการพัฒนาที่มีความทะเยอทะยานและน่าสนใจที่สุดภายใต้การนำของ Tim Cook เป็นโครงการรถยนต์ขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติที่ถูกปิดไว้เป็นความลับ โดยมีรายงานว่า Cook ได้อนุมัติ Project Titan ในปี 2014 และมอบหมายให้ Steve Zadesky อดีตวิศวกรของ Ford ซึ่งทำงานเป็นรองประธานฝ่ายออกแบบผลิตภัณฑ์ของ Apple เป็นผู้ดูแลโปรเจ็คดังกล่าว

 Steve Zadesky ผู้มาดูแล Project Titan ให้กับ Apple
Steve Zadesky ผู้มาดูแล Project Titan ให้กับ Apple

ซึ่ง Zadesky เองได้ทำการรวบรวมวิศวกรด้านรถยนต์ รวมถึงทีมงานในส่วนต่าง ๆ ในการผลิตรถยนต์กว่า 1 พันคน ในการสร้าง Project Titan ซึ่งการจะได้ทีมงานคุณภาพมาร่วมทีมนั้น ก็ต้องเปิดศึกแย่งชิงตัวมาจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้ ไม่ว่าจะเป็น BMW , Mercedes-Benz หรือแม้กระทั่งเหล่าวิศวกรอัจฉริยะจากบริษัท Tesla เองก็ตาม

Apple ยังถูกฟ้องร้องโดยบริษัท A123 Systems ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในรัฐแมสซาชูเซตส์ ที่ถูก Apple ดึงตัวพนักงานของพวกเขาไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่า Apple เองก็กำลังพัฒนาแผนกแบตเตอรี่ขนาดใหญ่เพื่อแข่งขันในสนามเดียวกับบริษัท A123 Systems ซึ่งการเสียวิศวกรไปจำนวนมากเช่นนี้ก็ทำให้ A123 นั้นต้องถูกบีบบังคับให้ปิดโครงการของพวกเขาไป

ซึ่งเหล่าทีมงานของ Project Titan ได้ย้ายถิ่นฐานมายังศูนย์บัญชาการใหญ่ของ Apple ที่ คูเปอร์ติโน่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรถยนต์คันแรกของ Apple โดยพวกเขาเริ่มต้นด้วยการศึกษาวิธีการต่าง ๆ ที่จะเป็นการคิดค้นทุกอย่างแบบใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นประตูรถ หรือ เครื่องยนต์ที่สามารถเปิดและปิดโดยใช้เสียงที่เงียบที่สุด หรือแม้กระทั่งการตรวจสอบความเป็นไปได้ในการสร้างพวงมาลัยแบบใหม่โดยทำให้มันเป็นทรงกลม ซึ่งจะช่วยให้การเคลื่อนไหวด้านข้างนั้นสามารถทำได้ดียิ่งขึ้น

แต่เมื่อเริ่มโปรเจ็คจริง ๆ Apple ก็พบความจริงที่ว่า การสร้างรถยนต์ขึ้นมาจากศูนย์นั้นมันไม่ได้เป็นเรื่องง่ายเลย

ในเดือน กรกฎาคม ปี 2016 หัวหน้าทีมอย่าง Zadesky ก็ลาออกจาก Apple ด้วยเหตุผลส่วนตัว และเริ่มมีข่าวลือถึงความวุ่นวายที่เกิดขึ้นกับโปรเจ็ค Titan เหล่าทีมผู้บริหารไม่มีความชัดเจนในสิ่งที่พวกเขาต้องการให้ Project Titan

แผนการของ Zadesky ที่ทำการส่งมอบให้กับบริษัทนั้น เป็นการสร้างรถยนต์แบบกึ่งอัตโนมัติ แต่ยังคงต้องพึ่งพาการขับขี่โดยมนุษย์อยู่ แต่ทาง Jony Ive ต้องการผลักดันให้โปรเจ็คนี้เป็นรถยนต์แบบขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ซึ่งจะให้ลูกค้าได้ประสบการณ์ใหม่แบบเต็มที่ในรถยนต์คันแรกของ Apple

ในเดือนกรกฎาคมปี 2016 Apple ได้ทำการมอบหมาย Project Titan ให้กับ Bob Mansfield อดีตรองประธานอาวุโสด้านวิศวกรรมฮาร์ดแวร์ของ Mac ที่ได้เกษียณไปแล้วให้กลับมาช่วยดูแลโปรเจ็คดังกล่าวแทน Zadesky

แต่หลังจากนั้น ก็มีรายงานว่า ในเดือน กันยายนปี 2016 มีพนักงานหลายสิบคนถูกปลดออกจากโครงการดังกล่าว เนื่องจาก Apple ต้องการที่จะ Reboot โครงการนี้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงอีกครั้ง และหลังจากนั้นอีก 1 เดือนต่อมาก็มีพนักงานในโครงการดังกล่าวต้องออกไปอีกกว่า 100 คน

ซึ่งหลังจากที่ Apple ได้รับใบอนุญาตจากกรมยานยนต์ของแคลิฟอร์เนียเพื่อทดสอบรถยนต์ที่ขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติ ในปี 2017 Apple ก็ได้เริ่มนำแพลตฟอร์มการขับเคลื่อนรถยนต์แบบอัตโนมัติมาใช้บนถนน โดยมันถูกทดสอบโดยรถ SUV Lexus RX450h จำนวนหนึ่ง ซึ่งแต่ละคันจะมีกล้องเรดาห์และเซ็นเซอร์มากมายติดอยู่กับรถ เพื่อทำการทดสอบ

ทดสอบเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติของ Apple ด้วย SUV ของ Lexus
ทดสอบเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติของ Apple ด้วย SUV ของ Lexus

Tim Cook ได้ออกมาพูดถึง Project Titan เป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายมปี 2017 เมื่อเขายืนยันว่า รถยนต์ของ Apple นั้นจะขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติโดยสมบูรณ์แบบ ซึ่ง Cook ได้กล่าวว่า เทคโนโลยีการขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติดังกล่าวนั้นเป็นเทคโนโลยีหลักที่มีความสำคัญกับ Apple มาก เขามองมันว่า จะเป็นแม่แบบที่สำคัญของโครงการ AI ทั้งหมดของ Apple ในอนาคตนั่นเอง

และแน่นอนว่า Cook นั้นให้ความสำคัญกับการผลิตเป็นอย่างมาก อย่างที่ประสบความสำเร็จมาในผลิตภัณฑ์หลักต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น iPhone , iPad หรือ เครื่อง Mac แต่สำหรับ Project Titan เขาต้องการหาวิธีใหม่ ๆ ในการผลิตรถยนต์

ซึ่ง Cook เองก็มีแนวโน้มที่จะพิจารณาทุกอย่างใหม่ในการะบวนการผลิต ตั้งแต่วัสดุทางเลือกใหม่ ๆ ที่อาจจะไม่ใช้เหล็กเหมือนทางเลือกปรกติที่ทั้งอุตสาหกรรมใช้กัน รวมถึงการจัดการบริหารซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนต่าง ๆ ซึ่งอาจจะเป็นงานหนักอีกครั้งของ Tim Cook ที่ต้องมา Design ทุกอย่างเหล่านี้ใหม่ทั้งหมด เพื่อสร้างรถยนต์แห่งอนาคตที่แท้จริงให้กับ Apple

แม้ตอนนี้ดูเหมือนสถานะของ Project Titan ยังดูไม่ชัดเจนนัก แต่ก็อย่างที่เราได้เห็นในหลาย ๆ โปรเจ็คของ Apple ที่มีขนาดใหญ่ ล้วนประสบกับปัญหาในการพัฒนาแทบจะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น iPod , iPhone ก็ล้วนไม่มีอะไรที่ถูกต้องตั้งแต่แรก เพราะทุก ๆ อย่างที่ Apple ทำ มันเป็นนวัตกรรมใหม่ และมักจะเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

แต่สุดท้ายเราก็ได้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็สามารถแก้ปัญหาจนออกมาขายเชิงพาณิชย์ได้และที่สำคัญมันก็สามารถประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งแฟน ๆ Apple ก็หวังว่า Project Titan รถยนต์แห่งอนาคตของ Apple ก็จะสามารถผลิตออกมาได้ในท้ายที่สุด และสามารถปฏิวัติอุตสาหกรรมรถยนต์ได้ เหมือนอย่างที่ Apple เคยทำมากับ อุตสาหกรรมเครื่องเล่นเพลงผ่าน iPod หรือนวัตกรรมชิ้นเอกในการปฏิวัติวงการมือถือผ่าน iPhone ได้ในท้ายที่สุดนั่นเองครับ

สำหรับตอนหน้าจะเป็นตอนสุดท้ายของ Series เรื่องราวของ Tim Cook กันแล้วนะครับ จะเป็นบทสรุปทั้งหมดของเรื่องราว อย่าลืมติดตามกันด้วยนะครับผม

–> อ่านตอนที่ 10 : Apple’s Best CEO ? (ตอนจบ)

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Death of God *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : http://www.roamingbuzz.com/tech-giant-apple-will-release-self-driving-car-project-titan/

ประวัติ Tim Cook ตอนที่ 8 : One More Thing

แม้ผลงานในเรื่องรายได้และการสร้างเติบโตนั้น Cook จะทำได้อย่างยอดเยี่ยม แต่เขาก็อยู่ภายใต้แรงกดดันที่จะต้องรักษาความก้าวหน้าของบริษัทด้วยผลิตภัณฑ์ , นวัตกรรม และบริการใหม่ ๆ ที่ก้าวล้ำนำหน้าคู่แข่งเหมือนในยุค Jobs ที่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาตลอดเวลา 

แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่อยู่ในใจ Cook ตั้งแต่เริ่มเข้ามารับตำแหน่ง CEO ในปี 2011 Cook ได้เริ่มการถกเถียงกับเหล่าผู้บริหารในเรื่องผลิตภัณฑ์ในอนาคตของบริษัท ในช่วงต้นปี 2012 ไม่กี่เดือนหลังจากที่ Jobs เสียชีวิต 

Cook และเหล่าผู้บริหารต้องใช้เวลาหยุดคิดว่า Apple จะไปที่จุดไหนในอนาคต รวมถึงสิ่งใดที่จะกระตุ้น Apple ให้มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมา ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า Apple ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ทำให้เทคโนโลยีที่เข้าใจยากและไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งก็เป็น Jobs ที่ได้สร้างผลิตภัณฑ์ให้เข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย ๆ

ต้องบอกว่าเรื่องของสุขภาพเป็นสิ่งที่ Apple ให้ความสนใจเป็นอย่างมากเมื่อเข้าสู่ยุคของ Cook ในปี 2014 บริษัท ได้เปิดตัวแอปสุขภาพรวมถึงแพลตฟอร์มสำหรับนักพัฒนาที่ชื่อว่า HealthKit แนวคิดก็เพื่อให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถสร้างแอปเพื่อสุขภาพที่ทำงานร่วมกับแอปของ Apple ได้

ซึ่งส่วนสำคัญคือความสามารถในการรวบรวมข้อมูลสุขภาพของผู้คน เช่น อัตราการเต้นของหัวใจหรือแม้กระทั่งผลการทดลองเกี่ยวกับสุขภาพ เพื่อสร้างภาพรวมเกี่ยวกับข้อมูลสุขภาพของผู้ใช้ และ Cook ก็ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลเพื่อทดลองเทคโนโลยีด้านสุขภาพของ Apple ซึ่ง Cook มองว่า Apple Watch จะต้องมีความ professional มากขึ้น และ สามารถใช้งานได้จริง มีความแม่นยำสูง

Apple ได้ทำการเปิดตัว ResearchKit ซึ่งเป็นกรอบสำหรับนักพัฒนาในการสร้างแอปที่รวบรวมข้อมูลผู้ใช้ สำหรับการวิจัยโดยสมัครใจ CareKit เป็นอีกแพลตฟอร์มหนึ่งของ Apple ที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับผู้ป่วยและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ResearchKit สำหรับผู้ป่วยและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ResearchKit สำหรับผู้ป่วยและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

และแน่นอนด้วย Trend ด้านสุขภาพที่เกิดขึ้น และ Cook มองเห็นอนาคตในอุตสาหกรรมนี้ โดยมีข้อมูลว่า 70% ขององค์กรด้านการดูแลสุขภาพทั่วโลกต่างตั้งวงเงินในการลงทุนในแอปพลิเคชั่นมือถือ ที่เกี่ยวข้องกับ ผู้บริโภค, เครื่องแต่งตัว, การตรวจสอบสุขภาพระยะไกลและการดูแลเสมือน

บริษัท เทคโนโลยีสำคัญ ๆ จำนวนมากซึ่งรวมถึง Samsung และ Google ได้ให้ความสำคัญกับอุปกรณ์และซอฟต์แวร์สำหรับผู้ใช้ในการติดตามเรื่องสุขภาพของพวกเขา อุปกรณ์สวมใส่ที่ข้อมือ สามารถใช้ในการวัดอัตราการเต้นของหัวใจในการวัดอื่น ๆ และ Cook ก็หวังว่า Apple Watch จะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพได้เช่นเดียวกัน

ซึ่งหลังจากได้ซุ่มพัฒนา Apple Watch มาถึง 2 ปีนับตั้งแต่เริ่มต้นแนวคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ของ Cook ในปี 2012 ก็ถึงเวลาที่จะต้องเปิดเผยให้สาวก Apple ยลโฉม โดย Cook ได้ทำการเปิดตัว Apple Watch รุ่นแรก ในเดือนกันยายนปี 2014 ซึ่ง Cook ได้กล่าวขนานนาม Apple Watch ว่าเป็น ” Apple Watch เป็นอุปกรณ์ส่วนตัวที่สุดที่ Apple เคยสร้างมา ”

การเปิดตัวของนาฬิกาที่เหล่าสาวกเริ่มส่งเสียงเชียร์ดังสนั่นและเสียงโห่ร้องสนั่นลั่นฮอลล์จัดงาน ที่ฟลินท์เซ็นเตอร์ ซึ่งบรรยากาศเก่าๆ ในสมัยที่ Jobs ยังอยู่นั้นได้กลับมาให้เหล่าสาวก Apple ได้ชื่นใจอีกครั้ง กับนวัตกรรมใหม่ตัวแรกที่ผ่านคิดค้นและพัฒนาโดย CEO คนใหม่ของพวกเขาอย่าง Tim Cook

มีการประโคมข่าวและโฆษณาแสดงความยินดีกับ Apple Watch ซึ่งดูเหมือนว่ามันจะยิ่งใหญ่เกินกว่าผลิตภัณฑ์ที่ตั้งใจจะเป็นหัวใจสำคัญของการประกาศผลิตภัณฑ์ในเดือนกันยายนอย่าง iPhone 6 และ iPhone 6 plus ที่เป็น iPhone ที่มีหน้าจอขนาดใหญ่รุ่นแรกของ Apple

แต่น่าเสียดายที่แฟน ๆ เหล่าสาวกของ Apple ต้องรอถึงถึงเดือน เมษายนปี 2015 เพื่อจะได้เป็นเจ้าของ Apple Watch เป็นครั้งแรก ซึ่ง Apple ต้องการให้นักพัฒนามีเวลาในการสร้างแอปสำหรับมัน ซึ่งตัว Cook เองต้องการความมั่นใจว่า ลูกค้าจะสามารถดาวน์โหลดแอปที่ชื่นชอบได้ในวันที่รับ Apple Watch นั่นเอง

และในงานเดียวกันนั้น Cook ยังได้แนะนำ Apple Pay บริการชำระเงินมือถือที่ดูเหมือนจะเป็นคู่แข่งกับ Google Wallet Apple Pay ช่วยให้ผู้คนสามารถชำระเงินซื้อสินค้าได้อย่างรวดเร็วที่เคาน์เตอร์ชำระเงินด้วย iPhone และ Apple Watch โดยไม่ต้องเปิดกระเป๋าเงินหรือใช้บัตรเครดิตอีกต่อไป

ต้องยอมรับว่า Cook ทำการการบ้านในเรื่อง Apple Watch มาอย่างดี เน้นไปในเรื่องของสุขภาพอย่างเห็นได้ชัด โดยอัดเซ็นเซอร์ต่าง ๆ เข้าไปมากมายให้กับผู้ใช้ ได้วัดค่าต่าง ๆ ของร่างกายได้ง่ายยิ่งขึ้น จึงกลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ตลาดใหม่ของ Apple ซึ่งก็ต้องถือว่า Apple watch นั้นเป็นผลงานชิ้นแรก ของ Tim Cook หลังจากการจากไปของ Steve Jobs ที่สามารถประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ โดยไม่อยู่ใต้เงาของผลิตภัณฑ์ที่ Jobs เป็นผู้สร้างมาอีกต่อไป

แม้หลังจากวางออกจำหน่าย Apple นั้นจะไม่เปิดเผยตัวเลขยอดขายที่ชัดเจนนัก แต่จากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญนั้นพบว่า หลังจากการออกวางจำหน่ายเพียงแค่ 24 ชม. Apple Watch นั้นสามารถทำยอดขายแซงหน้าคู่แข่งไม่ว่าจะเป็น Samsung , Motorola หรือ LG ที่ใช้ Android Wear รวมกันเสียอีก โดยขายไปได้มากกว่า 720,000 เครื่อง ภายใน 24 ชม.แรกเท่านั้น

Apple Watch เอาชนะคู่แข่งสำคัญอย่าง Android Wear ได้อย่างขาดลอย
Apple Watch เอาชนะคู่แข่งสำคัญอย่าง Android Wear ได้อย่างขาดลอย

และเพียงแค่ 4 ปีหลังจากออกรุ่นอัพเดท เพิ่มความสามารถรวมถึง เซ็นเซอร์ใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น เซ็นเซอร์ ตัวใหม่ ซึ่งเรียกว่า Electrocardiogram หรือในศัพท์ทางการแพทย์จริง ๆ ก็คือ การวัด ECG ที่เราใช้ตรวจคลื่นหัวใจเพื่อวัดความผิดปรกติของหัวใจ

ทำให้สุดท้าย Apple Watch ได้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์เรือธงตัวใหม่ที่ไม่น้อยหน้า iPhone ที่มีผู้ใช้งานกว่า 40 ล้านคนทั่วโลก และมียอดขายเพิ่มขึ้น 50% ในไตรมาสต่อไตรมาส Cook ได้สร้างธุรกิจนาฬิกาเพื่อสุขภาพของ Apple ให้ยิ่งใหญ่แซงหน้ามูลค่าตลาดของบริษัท Rolex บริษัทนาฬิกายักษ์ใหญ่ของโลกที่อยู่ในธุรกิจนี้มาอย่างยาวนานได้อย่างขาดลอย

ต้องบอกว่าเป็นการเดินทางมาไกลมาก ๆ ของชายที่ชื่อ Tim Cook ที่ต้องมารับภารกิจอันหนักอึ้งในการสานต่อบริษัท Apple ที่ Steve Jobs ทำไว้อย่างยิ่งใหญ่ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาเป็นตัวจริง ที่สามารถยกระดับ Apple ให้สูงขึ้นไปอีก และไม่มีทีท่าว่าจะหยุดการเติบโตแต่อย่างใด ทั้งเรื่องการบริหาร การปฏิบัติการ การสร้างนวัตกรรม Cook ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเขานั้นสามารถทำให้ Apple ประสบความสำเร็จได้ แล้วอนาคตข้างหน้ากับแผนการในอนาคตของเขากับ Apple จะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 9 : Into the Future

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Death of God *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://www.hodinkee.com/magazine/jony-ive-apple https://www.cnbc.com/2016/05/24/tim-cook-why-the-apple-watch-is-key-in-the-enormous-health-care-market.html https://www.forbes.com/sites/chuckjones/2019/10/07/apples-tim-cook-does-not-get-the-credit-he-deserves/#78c2706e7cdb

ประวัติ Tim Cook ตอนที่ 6 : Stepping Forward

วันแรกของ Cook ในฐานะ CEO ของ Apple คือวันพุธที่ 24 สินหาคม ปี 2011 ใน ขณะนั้น ไม่มีใครได้ทันสังเกตว่า ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นกับ Apple ภายในใจของ Cook นั้นต้องการนำพา Apple ออกจากการอยู่ภายใต้ร่มเงาของ Steve Jobs กว่า 2 ทศวรรษเสียที

ถึงแม้ตัว Cook เองนั้นจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการบริหาร Apple มาบ้างแล้วในฐานะ CEO ชั่วคราว รวมถึง การรับตำแหน่งเบอร์ 2 ของ Apple ในฐานะ COO มาอย่างยาวนาน แต่ก็ต้องยอมรับความจริงที่ว่าตัวเขาเองนั้นก็ไม่ได้มีประสบการณ์อะไรมากนัก เมื่อต้องมารับบทหนักที่ต้องแบกรับภาระทุกอย่างที่ Jobs สร้าง Apple ไว้อย่างยิ่งใหญ่

การก้าวข้ามยุคของ Jobs นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เหล่านักวิจารณ์ก็มองเช่นเดียวกันว่า Apple ภายใต้การกุมบังเหียนของ Cook จะตกต่ำลงเรื่อย ๆ อย่างแน่นอน แทบไม่มีใครเชื่อฝีมือของ Tim Cook ในขณะนั้น

ต้องบอกว่า 2-3 เดือนแรกในฐานะ CEO ของ Cook นั้นเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายตัวเขาเป็นอย่างมาก และที่สำคัญ Jobs ก็ได้เสียชีวิตลงหลังจากที่ Cook เข้ามากุมบังเหียน Apple แบบเต็มตัวเพียงไม่กี่เดือน

สิ่งแรกที่ Cook ต้องจัดการก็คือ การที่ Apple ถูกฟ้องร้องโดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ที่กล่าวหา Apple ว่ามีการสมคบคิดกับสำนักพิมพ์หลายแห่งในการกำหนดราคาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคดีดังกล่าวนั้นดำเนินมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ส่งผลให้ Apple ต้องยอมจ่ายค่าปรับและดำเนินการตามกฏหมายป้องกันการผูกขาด

จากนั้น พายุ ก็ถาโถมเข้าสู่ Cook แบบรวดเร็ว และไม่ทันตั้งตัว เพราะ รายงานผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง เมื่อ iPhone ทำยอดขายได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ นักวิเคราะห์คาดว่า iPhone จะขายได้ 28.9 ล้านเครื่อง แต่สามารถทำยอดขายได้เพียงแค่ 26 ล้านเครื่อง ทำให้หุ้นของ Apple ดิ่งลงอย่างรวดเร็ว

ยอดขายของ iPhone ที่น่าผิดหวัง อาจเป็นเพราะการแข่งขันที่ดุเดือนจากฝั่ง Android เมื่อ Samsung เริ่มกลายมาเป็นภัยคุกคามอย่างรวดเร็ว ซึ่ง Samsung สามารถเอาชนะ Apple ได้ในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะบ้านเกิด Samsung อย่างเกาหลีใต้ที่ Apple แพ้อย่างราบคาบ

นั่นเป็นเหตุให้ Cook ต้องใช้ไม้แข็งครั้งแรก โดยการปลดผู้นำในการดูแลตลาดเกาหลีใต้ของ Apple อย่าง Dominique Oh แบบทันที เนื่องจากยอดขายที่ซบเซาเป็นอย่างมากของ Apple หลังจากตัว Oh ได้มารับหน้าที่เพียงแค่ 7 เดือนเท่านั้น

ภายในปี 2012 Cook ยังทำได้การไล่ผู้บริหารระดับสูงอีก 2 ราย หนึ่งในนั้นคือ John Browett ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งรองประธานอาวุโสของ Apple Store ในช่วงต้นปี 2012 ที่ผ่านมาเท่านั้น ซึ่งต้องบอกว่า Browett นั้นมาพร้อมกับ Profile ที่สวยหรู เขาย้ายมาจาก Dixons Retail หนึ่งในร้านค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปที่มีพนักงานกว่า 4 หมื่นคน Browett จบปริญญาตรีจากมหาวิทลัยแคมบริดจ์ และ ปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจาก Wharton School

Apple Store เป็นส่วนสำคัญอย่างมากต่อธุรกิจของ Apple และ Browett นั้นก็เป็นผู้บริหารระดับสูงรายแรก ๆ ที่ Cook เป็นคนรับเข้ามาทำงาน อย่างไรก็ตามในไม่ช้าเขาก็พบกับปัญหา ที่ดูเหมือนตั้งแต่เริ่มต้น Browett นั้นดูจะไม่เหมาะกับวัฒนธรรมของ Apple เลย

ที่ Dixon Retail นั้นมีชื่อเสียงในฐานะผู้จำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ราคาถูก พร้อมบริการลูกค้าที่น้อยที่สุดในยุโรป และทันทีที่ Browett เข้ามารับงานที่ Apple เขาก็พยายามที่จะลดค่าใช้จ่าย โดยการลดการจ้างงาน และ ลดจำนวนชั่วโมงการทำงานของพนักงานลง เขาพยายามโฟกัสไปที่เรื่องของการขาย ที่ไม่ใช่หัวใจหลักของ Apple ทำให้มีเหล่าลูกค้าร้องเรียนเข้ามามายกับบริการของ Apple ที่เปลี่ยนไปหลังจากการเข้ามาของ Browett และ Cook ก็ไม่รอช้า ทำการดับไฟแต่ต้นลมด้วยการปลด Browett ออกจากตำแหน่งทันที

คนที่สองที่ Cook ทำการจัดการอย่างเร่งด่วนก็คือ Scott Forstall ผู้บริหารอีกคนที่มีความทะเยอทะยานสูง และมีสายสัมพันธ์ที่ดีมาก ๆ กับ Jobs เขามักได้รับการสนับสนุนจาก Jobs ในการขับเคลื่อนความสามารถของเขาอยู่ตลอด เมื่อสมัยที่ Jobs ยังมีชีวิตอยู่

Scott Forstall ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ Jobs เป็นอีกรายที่ถูก Cook เชือดออกไป
Scott Forstall ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ Jobs เป็นอีกรายที่ถูก Cook เชือดออกไป

แต่เมื่อ Jobs เสียชีวิตลง ก็ไม่มีใครคอยปกป้องเขาอีกต่อไป ผลงานสุดท้ายที่ Forstall ฝากไว้ก็คือ Siri ผู้ช่วย AI ของ Apple ที่ปล่อยออกมาพร้อมกับ iPhone 4S และเขาก็เป็นผู้บริหารระดับสูงรายที่สองที่ถูก Cook จัดการ เนื่องจากปัญหาของ Apple Maps ที่เปิดตัวมาพร้อมกับปัญหาที่มากมาย การนำทางที่ผิดพลาด และแทบจะสู้กับบริการของ Google Maps ไม่ได้เลย

ซึ่งเบื้องเหลังเหตุการณ์นี้มีรายงานข่าวว่า Forstall นั้นปฏิเสธคำสั่งโดยตรงจาก Cook เพื่อให้ขอโทษต่อสาธารณชนเรื่องปัญหาของ Google Maps ซึ่งถือว่าเป็นการท้าทายอำนาจของ Cook โดยตรง ซึ่งทำให้ Cook ต้องตัดสินใจอย่างเด็ดขาดในการไล่ Forstall ออกจาก Apple

Cook ได้ทำการจัดทีมผู้บริหารใหม่ ให้ทำงานร่วมกัน มีความสื่อสัตย์และตรงไปตรงมา และต้องพร้อมยอมรับผิดเมื่อทำอะไรที่ผิดพลาด และกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลง Cook ต้องการให้ Apple ปลอดจากการเมือง เป็นบริษัทที่คล่องตัวและเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกอย่างของ Cook ก็คือ การปฏิวัติในเรื่องของห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดของ Apple เขาต้องการปรับปรุงสภาพการทำงานของเหล่าแรงงานที่ผลิตสินค้าให้กับ Apple โดยเฉพาะที่ Foxconn ที่เป็นฐานการผลิตใหญ่ของ Apple

Cook ได้ทำการว่าจ้างสมาคมแรงงานยุติธรรม (FLA) เพื่อให้ช่วยตรวจสอบสวัสดิภาพของพนักงานของ Foxconn ในเมือง เซินเจิ้นและเฉิงตู ในประเทศจีน Cook พยายามทำทุกวิถีทางที่จะรับประกันสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย และการจ่ายเงินค่าแรงที่เป็นธรรม ซึ่งเขาเคยแข็งกร้าวขนาดที่เคยบอกไว้ว่า ซัพพลายเออร์รายใด ที่ไม่ได้ดูแลพนักงานของพวกเขาจะถูกยกเลิกสัญญา

ปีแรกของ Cook ในตำแหน่ง CEO อาจจะไม่สวยหรูนัก กับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่น่าผิดหวังและดูเหมือนว่ายอดขายจะต่ำลง แต่ที่หลาย ๆ ฝ่ายต่างชื่นชมน่าจะเป็นเรื่องการตอบสนองของเขาต่อ Foxconn ในเรื่องสวัสดิภาพของแรงงานในห่วงโซ่อุปทานของ Apple รวมถึงสิ่งสำคัญอีกอย่างนั่นก็คือเรื่องเกี่ยวกับเรื่องข้อมูล ที่เป็นปรับนโยบายการรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ของเหล่าผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ของ Apple นั่นเอง

แต่เมื่อถึงช่วงปลายปี 2012 ผลิตภัณฑ์ใหม่อย่าง iPhone5 ที่ออกตลาดในเดือนกันยายน ก็ได้ทำให้ความกังวลของเกี่ยวกับเรื่องผลิตภัณฑ์ของ Apple ผ่อนคลายลงไปจากเหล่านักวิจารณ์ เนื่องจาก iPhone รุ่นแรกหลังยุคของ Steve Jobs ได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยม

เพียงแค่ 24 ชม.แรก iPhone5 สามารถทำยอดขายได้มากกว่า 2 ล้านเครื่อง และมีจำนวนการ preorders มากกว่า 2 เท่าจากสถิติก่อนหน้าเมื่อเทียบกับ iPhone 4S และเมื่อถึงสุดสัปดาห์แรก ก็สามารถทำยอดขายได้กว่า 5 ล้านเครื่อง ซึ่งเป็นการไต่ระดับสูงขึ้นของยอดขาย iPhone ผลิตภัณฑ์หลักของ Apple เป็นครั้งแรก ในยุคของ Tim Cook

iPhone5 กับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ Apple ในยุคของ Tim Cook
iPhone5 กับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ Apple ในยุคของ Tim Cook

Cook พิสูจน์ให้โลกเห็นว่า เขาสามารถนำพา Apple ต่อไปข้างหน้าได้ และทำการรักษามรดกของ Jobs ให้คงอยู่ Apple ไม่ได้ล้มเหลวหลังจากการเสียชีวิตของ Jobs ตามที่หลายคนคาดคิด และที่สำคัญ Cook ได้นำพาบริษัท ไปสู่จุดสูงสุดใหม่ ที่ทำให้โลกต้องจารึกชายที่ชื่อ Tim Cook เป็นครั้งแรก เมื่อเขาได้รับการยกย่องให้ติดหนึ่งในร้อยรายชื่อ ผู้มีอิทธิพลมากที่สุดในโลกของนิตยสาร Time

และทุกอย่างมันก็เริ่มเข้าที่เข้าทาง เมื่อหุ้นของ Apple พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 413 เหรียญ ส่งผลให้มูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 390,000 ล้านเหรียญ ก่อนที่จะทะยานต่อเนื่องอย่างฉุดไม่อยู่ จนมูลค่าหุ้นของ Apple พุ่งไปแตะที่ 447.61 เหรียญ และมันได้ทำให้ Apple ก้าวแซง Exxon Mobil ขึ้นเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกได้สำเร็จ มันเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ของ Apple อย่างแท้จริงภายใต้การนำของ Cook และที่สำคัญมันยังไม่หยุดเพียงเท่านั้น Cook จะนำพา Apple บดทำลายทุกสถิติของ Apple ที่เคยมีมาได้อย่างไร โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 7 : The Next Chapter

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Death of God *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://www.pinterest.com/pin/242490761171533757

ประวัติ Tim Cook ตอนที่ 5 : The Outsourcer

ความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงปีแรกที่ Cook ได้เข้ามาร่วมงานกับ Apple เห็นผลอย่างชัดเจนกับผลิตภัณฑ์เรือธงตัวใหม่อย่าง iMac ซึ่งทำให้ Apple สามารถสร้างกำไรได้ 309 ล้านเหรียญ เมื่อสิ้นปี 1998 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่ Apple สามารถสร้างการเติบโตได้เร็วกว่าบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรม

แม้จะมีกำไร แต่ Cook ก็ยังพยายามหาวิธีที่จะประหยัดในทุกวิถีทาง Cook ได้ตรวจสอบความสามารถของผลิตภัณฑ์แต่ละตัวของ Apple และทำการถ่ายเทงานออกไปให้กับซัพพลายเออร์ภายนอกให้มากที่สุด โดยไม่ให้สูญเสียคุณภาพของผลิตภัณฑ์ดั่งที่ Jobs ต้องการ

โดยผลิตภัณฑ์ตัวหลักอย่าง iMac นั้นเดิมที ได้ว่าจ้างให้ LG บริษัทจากเกาหลีใต้ที่ตอนแรกทำเพียงแค่หน้าจอและส่วนประกอบอื่น ๆ บางส่วนก่อนที่ LG จะควบคุมการผลิตของ iMac แบบเบ็ดเสร็จในปี 1999

แต่เมื่อคำสั่งซื้อเริ่มมากขึ้น Apple จึงมองหาลู่ทางอื่นโดยการหาผู้ผลิตมือดีในใต้หวันอย่าง Hon Hai Precision Industry Company Ltd. หรือที่รู้จักกันดีในนาม Foxconn และสัญญาของ iMac นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าบริษัททั้งสองไปตลอดกาล ซึ่งมี Cook เป็นหัวหอกในการดูแลเรื่องดังกล่าว

Foxconn นั้นก่อตั้งขึ้นในเวลาเดียวกันกับการถือกำเนิดของ Apple แต่ห่างออกไปอีก 6,000 ไมล์ ที่อีกฟากหนึ่งของโลก Terry Gou ที่ตอนนั้นอายุได้ 24 ปี ได้ยืมเงิน 7,500 เหรียญ ( เทียบได้กับ 37,000 เหรียญสหรัฐในปัจจุบัน) จากแม่ของเขาเพื่อมาเริ่มต้นธุรกิจ

Terry Gou ผู้ก่อตั้ง Foxconn
Terry Gou ผู้ก่อตั้ง Foxconn

Gou นั้นมีความมุ่งมั่นอย่างสูงในเรื่องการผลิตแบบมีคุณภาพ เขาจึงได้สร้างวัฒนธรรมที่ Foxconn ที่จะไม่อดทนต่อความผิดพลาดใด ๆ หรือความไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน หากมีแรงงานที่ทำงานผิดพลาด จะถูกต่อว่าต่อหน้าคนอื่นทันที และหากผิดพลาดซ้ำสองก็จะถูกไล่ออก และที่ Foxconn มีชื่อเสียงในเรื่องการทำงานหนัก คนงานมักต้องทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ หรือบางครั้งอาจจะต้องทำถึง 7 วันเลยทีเดียวหากเป็นงานเร่งด่วน

ความสำเร็จที่สำคัญของ Foxconn นั้นไม่ใช่เพียงแค่เรื่องแรงงานราคาถูกเพียงอย่างเดียวเหมือนที่ทั่วโลกมอง เพราะพวกเขามีกระบวนการผลิตที่มีความยืดหยุ่น Foxconn มีแรงงานหลายแสนคนอยู่ในที่ทำงาน จึงมีความยืดหยุ่นมากในการรวบรวมกองทัพคนงานได้ในชั่วข้ามคืน หรือ จ้างแรงงานเพิ่มเติมในระดับหมื่น ๆ คนได้ในไม่กี่ชั่วโมง

ตัวอย่างที่น่าสนใจในเรื่องความยืดหยุ่นนี้ เกิดขึ้นกับ iMac เมื่อวิศวกรออกแบบของ Apple ได้เพิ่มปุ่มใหม่สำหรับเครื่องในยามดึก และปุ่มนั้นยังไม่ได้ทำการทดสอบดีนัก และวิศวกรก็กังวลว่าอาจจะมีปัญหาได้หากมีการผลิตออกมาจริง ๆ

แต่ที่ Foxconn พวกเขาสามารถเรียกคนงานมาได้ตลอดเวลา และสั่งให้ทดสอบปุ่มดังกล่าวตลอดทั้งคืนได้เพื่อให้ Apple สบายใจ ซึ่งรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในยุคของ Jobs ที่มักจะปรับเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลาในนาทีสุดท้าย และ Foxconn ก็สามารถทำให้ Apple ได้นั่นเอง

ในปี 2002 เป็นเวลา 4 ปีหลังจากที่ Cook ได้เข้ามาปรับเปลี่ยนอะไรหลาย ๆ อย่างใน Apple เขาได้รับการมอบหมายจาก Jobs ให้มาดูแลเรื่องการขายและการดำเนินงานควบคู่กันไปด้วย รวมถึงยังให้ไปดูแลงานด้านฮาร์ดแวร์ของ Macintosh เพิ่มอีกหนึ่งงาน

ก่อนที่ในปี 2005 Cook จะได้รับโปรโมตขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดที่เป็นรองเพียงแค่ Jobs คนเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ ตำแหน่ง COO กลายมาเป็นมือขวาของ Jobs อย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญมาก ๆ ของ Cook ในอาชีพการทำงาน หลังฝากผลงานไว้มากมายจนเป็นที่ไว้วางใจของ Steve Jobs มากขึ้นเรื่อย ๆ

ต้องบอกว่า Cook นั้นรับผิดชอบมากกว่า COO ขององค์กรทั่วไป เนื่องจากต้องดูแลพนักงานกลุ่มใหญ่ที่สุด ที่มีขอบเขตงานกว้างขวางมาก ๆ แม้ Apple นั้นจะไม่ได้เปิดเผยผังองค์กรที่ชัดเจนออกมา แต่ทุกคนใน Apple รู้กันว่า ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ที่ Cook ดูแลอยู่นั้น มีเหล่าพนักงานในสังกัดกว่า 40,000 คน จากพนักงาน 50,000 คนที่ทำงานอยู่ในฐานบัญชาการหลักของ Apple ที่ คูเปอร์ติโน ซึ่งแน่นอนว่า Cook จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อวัฒนธรรมของบริษัททั้งหมดนั่นเอง

แม้ว่า Jobs และ Cook นั้นจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเป็นเวลาหลายปีก็ตาม แต่พวกเขาก็มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการจัดการอารมณ์ และวิธีในการจัดการและบริหารบริษัท

Jobs เป็นหนึ่งในคนอารมณ์ร้อน และเอาแต่ใจตัวเองมาก ๆ มีความเป็นศิลปินสูง ความคิดของเขาค่อนข้างเด็ดขาด หากมีปัญหากับซัพพลายเออร์ เขาก็จะยกหูโทรศัพท์ เพื่อโทรไปด่าได้ทันที และอาจจะด้วยคำที่หยาบเคยเลยด้วยซ้ำ ซึ่งเขาทำบ่อยมากในช่วงที่ยังดำรงตำแหน่ง CEO ของ Apple

ส่วน Cook นั้น ต่างกันสุดขั้ว เขาเป็นผู้นำที่เงียบขรึมมาก ๆ เป็นคนที่สงบนิ่ง และ มั่นคง แต่จะพยายามค้นหาคำตอบผ่านคำถาม เพื่อรับรู้ปัญหาได้อย่างแท้จริง Cook มักจะเจาะลึกลงไปในปัญหาและให้แน่ใจว่าเหล่าพนักงานต้องรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ และผิดพลาดตรงไหน

ในฐานะ COO นั้น Cook คาดหวังว่าทีมงานของเขาจะทำงานอย่างหนักเป็นเชิงรุกและใส่ใจในทุกรายละเอียด เหล่าผู้จัดการภายใต้การบริหารของ Cook ก็ใช้เทคนิคหลาย ๆ อย่างในการเป็นผู้นำที่ได้เรียนรู้จาก Cook นั่นเอง

แต่แม้ Cook จะเน้นถึงความสำคัญของการใส่ใจในรายละเอียด และการแก้ปัญหา แต่ Cook ก็ไว้วางใจและมอบอำนาจให้พนักงานของเขาในการตัดสินใจด้วยตัวเอง เขาได้สร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานของเขา เชื่อว่า ทุกอย่างเป็นไปได้ และใช้ความพยายามให้มากขึ้น ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อแก้ไขกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

Tim Cook เริ่มมีบทบาทสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ และดูแลพนักงานส่วนใหญ่ของ Apple
Tim Cook เริ่มมีบทบาทสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ และดูแลพนักงานส่วนใหญ่ของ Apple

และสิ่งที่น่าสนใจที่สุดของ Cook ก็คือ เขาทำงานกับ Apple ให้เหมือนกับกีฬา งานของ Cook คือ รูปแบบของความอดทดในกีฬา และเห็นได้ชัดเจนว่าทุกสิ่งที่เขาทำแม้กระทั่งวิธีที่เขาตัดผมสั้น ทำให้นึกถึงวีรบุรุษนักกีฬาคนหนึ่งของ Cook อย่าง แลนซ์ อาร์มสตรอง

ในปี 2010 หนึ่งปีก่อนที่เขาจะกลายมาเป็น CEO เต็มตัวของ Apple เขาเคยกล่าวสุนทรพจน์ที่ Auburn Unversity ไว้ว่า “ในโลกของธุรกิจก็เปรียบเหมือนกีฬา ชัยชนะส่วนใหญ่จะถูกกำหนดก่อนเริ่มเกม เราไม่สามารถจะควบคุมจังหวะเวลาของโอกาสได้ แต่เราสามารถควบคุมการเตรียมการของเราได้” ต้องเรียกได้ว่าความหลงใหลในเรื่องกีฬาของ Cook เป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของเขาที่ Apple นั่นเอง

สิบปีแรกในอาชีพของ Cook ที่ Apple แม้จะดูเหมือนค่อนข้างเงียบ แทบจะไม่มีคนรู้จัก เพราะทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่ชายที่ชื่อ Steve Jobs แต่ Cook นั้นซ่อนตัวอยู่หลังม่านลับของ Apple อยู่ตลอดเวลา

แต่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่เขาต้องออกมาอยู่ฉากหน้า ก็คือ เมื่อ Jobs ถูกบีบบังคับให้ลาพักรักษาตัวในปี 2009 มันก็ถึงเวลาของ Cook เสียทีที่ต้องออกมาแสดงศักยภาพที่ตัวเขามี ให้โลกได้รู้ แน่นอนว่าถึงตอนนั้น Jobs ก็ไว้วางใจ Cook ถึงระดับสูงสุดแล้ว และพร้อมส่งมอบตำแหน่งที่สำคัญที่สุดในการนำพา Apple เข้าสู่ยุคต่อไปให้กับเขานั่นเอง

มาถึงตอนนี้ก็ใกล้ที่จะถึงยุคเปลี่ยนผ่านของ Apple กันแล้วนะครับ ตัวของ Jobs เองก็เริ่มมีปัญหาทางด้านสุขภาพ ส่วน Cook นั้นก็ได้เรียนรู้ในแทบทุก ๆ อย่างที่ Apple ทำ ในฐานะ COO มาอย่างยาวนาน แล้วจะเกิดอะไรต่อไป กับเรื่องราวของชายที่ชื่อ Tim Cook กับ Apple ที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางด้านเทคโนโลยีของโลก โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 6 : Stepping Forward

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Death of God *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://www.wired.it/economia/finanza/2016/08/25/apple-tim-cook-grafici/

ประวัติ Tim Cook ตอนที่ 3 : Jobs in Time

ต้องบอกว่าการได้งานที่ IBM ถือเป็นช่วงเวลาที่โชคดีอย่างยิ่งของ Cook เพราะอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์กำลังอยู่ในช่วงเริ่มเฟื่องฟู ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 เหล่าผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลต่างกำลังต่อสู้เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่กำลังคิดจะมีคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องแรก

คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของ IBM ถือเป็นเครื่องจักรที่ล้ำสมัยในยุคนั้น ที่ราคาขายราว ๆ 1,565 เหรียญ การใช้งานภาษา BASIC ซึ่งเป็นภาษาเขียนโปรแกรมยอดนิยมในยุคนั้น และให้ความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพสูง มีการใช้งานไมโครโพรเซสเซอร์ขนาด 16 บิต , Ram 16 กิโลไบต์ และสามารถเก็บข้อมูลได้ 40 กิโลไบต์ ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่มาก ๆ ในยุคสมัยนั้น

โดยแผนกคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของ IBM ตั้งอยู่ในโรงงานขนาดใหญ่ที่ Research Triangle Park โดยกลยุทธ์ของ IBM ก็คือการว่าจ้างบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยดัง ๆ จำนวนมาก มาฝึกอบรม และมาทำการโปรโมตเลื่อนตำแหน่งในกลุ่มของตนเอง

และ Cook ก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับบัณฑิตจบใหม่เหล่านั้น เขาได้ร่วมงานที่โรงงาน RTP ที่มีขนาดกว่าหกแสนตารางฟุต มีจำนวนการผลิต ถึง 6 สายการผลิตทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันจันทร์ถึงศุกร์ สามารถผลิตคอมพิวเตอร์ได้ราว ๆ นาทีละเครื่อง

โดยประมาณครึ่งหนึ่งของพนักงานในโรงงานทั้งหมด 12,000 คนนั้น เป็นผู้ประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ และแทบจะทั้งหมดนั้นทำด้วยมือ โดยสามารถประกอบคอมได้ราว ๆ 6-8 พันเครื่องต่อวัน และอาจเพิ่มขึ้นถึงหมื่นเครื่องต่อวันในช่วงพีค

IBM PC ที่เป็นเจ้าตลาดและทันสมัยมากในยุคนั้น
IBM PC ที่เป็นเจ้าตลาดและทันสมัยมากในยุคนั้น

โดยโรงงานของ IBM ใช้แนวคิดการผลิตแบบลีน โดยใช้ระบบการผลิตแบบทันเวลา (JIT) โดยปรัชญาของ JIT ในสหรัฐอเมริกาได้รับการออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในขณะที่หลีกเลี่ยงสินค้าส่วนเกิน ซึ่งมันได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่นในช่วงปี 1960 และ 1970 ซึ่งนำโดยบริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota ที่ใช้ JIT เป็นเสาหลักของระบบการผลิตทั้งหมดเพื่อให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมาขึ้นและให้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูงนั่นเอง

และเป็นบทบาทแรกของ Cook ที่ IBM ที่เขาได้เรียนรู้ความซับซ้อนของ JIT (just-in-time) ซึ่งเขาจะใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตทั้งหมดของ Apple ในภายหลัง ซึ่งานแรกที่ IBM นั้นเขาอยู่ในสายการผลิตจากโรงงาน และเขามีหน้าที่ในการจัดการไปป์ไลน์เพื่อให้แน่ใจว่าโรงงานมีชิ้นส่วนเพียงพอที่จะสร้างคอมพิวเตอร์ ซึ่งถือเป็นงานที่ท้าทายมาก ๆ งานแรกที่ Cook ได้ทดสอบฝีมือ

และเพียงแค่ 2-3 ปีหลังจากได้เข้าร่วมงานกับ IBM ตัว Cook เองก็ได้รับการประเมินให้เป็นพนักงานที่มีศักยภาพสูงหรือ “HiPo” ซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะของ IBM ซึ่งเป็นการวางเส้นทางสำหรับผู้นำในอนาคตของบริษัท ซึ่งในทุก ๆ ปีนั้นผู้บริหารระดับสูงในโรงงานจะเขียนรายชื่อพนักงานที่มีแนวโน้มมากที่สุด 25 คน โดยมีรายเอียดของสิ่งต่าง ๆ เช่น ประสิทธิภาพการทำงาน ความรับผิดชอบ ศักยภาพในการเป็นผู้นำ และแน่นอนว่าที่นั่น Cook คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งอยู่เสมอ

ซึ่งต้องบอกว่าเพื่อนร่วมงานหลายคนก็พูดในทำนองเดียวกันถึงความโดดเด่นของ Cook เพราะเขาฉายแววผู้นำมาตั้งแต่เข้าทำงานใหม่ ๆ เขามีความโดดเด่น แต่มีความสุภาพ ซึ่ง IBM ก็ช่วยส่งเสริมเขาในเรื่องความเป็นผู้นำ และเริ่มสร้างเสริมทักษะเขาด้วยการส่ง Cook ไปศึกษาเพิ่มเติมด้านธุรกิจที่มหาวิทยาลัย Duke

โดยตัว Cook นั้นได้เข้าเรียนตอนเย็นที่ Fuqua School of Business ของ Duke University ซึ่งทำให้เขาได้รับปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจในปี 1988 และการได้ดีกรีด้านบริหารธุรกิจนี่เองที่ช่วยพัฒนาอาชีพของเขาที่ IBM ที่ทำให้เขาเรียนรู้เรื่องของธุรกิจมายิ่งขึ้น ไม่ใช่เก่งเพียงแค่ทางด้านวิศวกรรมอย่างเดียวอีกต่อไป

เมื่อ Cook ทำงานกับ IBM เป็นเวลา 12 ปี เขาก็ได้เริ่มหาความท้าทายใหม่โดยมารับบทบาทหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของแผนกผู้จำหน่ายคอมพิวเตอร์ที่บริษัท Intelligent Electrics ในเมืองเดนเวอร์ มันดูเหมือนอาชีพเขาจะ Drop ลงหลังจากย้ายมาอยู่กับบริษัทเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับ IBM ที่เป็นยักษ์ใหญ่วงการเทคโนโลยีโลก

เขาช่วยให้ Intelligent Electrics เปิดตัวโปรแกรมที่เรียกว่า PowerCorps ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อเพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์ Apple ผ่านตัวแทนจำหน่ายของ Intelligent Electrics โดยทำให้รายรับของ Intelligent Electrics มีรายรับเพิ่มขึ้น 21% แต่สุดท้าย Intelligent Electrics ก็เจอปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเกี่ยวกับการขยายราคาหุ้นทำให้ตัว Cook เองแนะนำให้ผู้บริหารขายบริษัทให้กับ General Electric ในราคา 136 ล้านเหรียญ

และมันได้ทำให้เขาพบกับจุดเปลี่ยนสำคัญในอาชีพซึ่งก็คือ การได้เข้ามาร่วมงานกับ Compaq ในตำแหน่งรองประธานฝ่ายสื่อสารองค์กร เนื่องจาก Compaq เองเป็นซัพพลายเออร์รายหนึ่งของ Intelligent Electrics หลังจากขายกิจการสำเร็จ Compaq จึงได้ดึงตัว Cook เข้ามาร่วมงานเนื่องจากมองเห็นในศักยภาพของเขา

ในช่วงนั้น Compaq ได้กลายเป็นผู้ผลิต PC รายใหญ่ที่สุดของโลก แซงหน้า Apple และ IBM ได้สำเร็จ ทำให้ดูเหมือนชีวิตของ Cook จะเข้าสู่วงโคจรที่รุ่งโรจน์อีกครั้ง

สถานการณ์การแข่งขันในขณะนั้น ได้มีแนวคิดในการสร้างคอมพิวเตอร์ในราคาไม่แพงที่ต่ำกว่า 1,000 เหรียญออกมาแข่งกัน ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์สามารถเข้าถึงได้มากขึ้นทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้น

Compaq ที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของโลกในยุคนั้น
Compaq ที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของโลกในยุคนั้น

Intel ได้เปิดตัว Celeron ซึ่งเป็น CPU ราคาประหยัดในเดือนเมษายน ปี 1998 รวมถึง AMD ก็ผลิตชิปในราคาถูกเข้ามาแข่งขัน ทำให้ราคาของเครื่องคอมพิวเตอร์ลดลงเป็นอย่างมาก

และแน่นอนว่า ราคา PC ที่ลดลงส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อ Apple เป็นอย่างมาก ในขณะที่เครื่อง PC ราคาถูกลง ทำให้ผู้คนเมินที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ของ Apple ที่มีราคาแพง ทำให้มีสินค้าของ Apple ขายไม่ออกและค้างอยู่ในโกดังเป็นจำนวนมาก

ตัว Cook เองในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งที่ Compaq นั้น ได้ช่วยให้บริษัท เปลี่ยนไปสู่รูปแบบการผลิตตามคำสั่ง ซึ่งเป็นแนวคิดต่อยอดจาก JIT ที่เขาเคยได้เรียนรู้ที่ IBM นั่นเอง โดยใช้ชื่อว่า “Optimized Distribution Model” ซึ่งแทนที่จะลงทุนสร้างเครื่องจักรเพื่อคาดการณ์อุปสงค์ แต่ Compaq จะเริ่มกระบวนการผลิตหลังจากได้รับคำสั่งซื้อแทน

สิ่งนี้นี่เองที่ทำให้การผลิตคอมพิวเตอร์ของ Compaq มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และช่วยลดปริมาณสินค้าคงคลัง แต่ในทางกลับกัน บริษัทต้องจัดการซัพพลายเออร์ของตนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการได้อย่างรวดเร็วและคุ้มค่า

Cook เป็นผู้ที่บทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลง Optimized Distribution Model ที่ Compaq และทำให้ชื่อของเขากลายเป็นที่จับตามองในวงการผลิตคอมพิวเตอร์ ซึ่งที่ Compaq นี่เอง ที่ Cook ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับเหล่าซัพพลายเออร์ เพื่อให้เปลี่ยนมาใช้รูปแบบ Model ใหม่ดังกล่าว

และสถานการณ์ในขณะนั้นบริษัทอย่าง Apple ที่เริ่มหมดหวังกับการที่จะปรับปรุงกระบวนการผลิตที่สุดยุ่งเหยิงของตัวเอง เพื่อให้สามารถกลับมาแข่งขันกับคู่แข่งในวงการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ที่ดูเหมือนจะเริ่มหมดหวังเข้าไปทุกที สถานการณ์ของบริษัทย่ำแย่ถึงภาวะใกล้ล้มละลาย

แต่ก็เป็น Steve Jobs ที่ได้กลับมากุมบังเหียน Apple ในรอบที่สองอีกครั้ง และงานสำคัญของเขาก็คือมองหาวิธีแก้ไขปัญหา ในเรื่องการผลิต และหาคนที่เหมาะสมสำหรับงานดังกล่าว และ Cook เองก็เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดที่จะช่วยพลิก Apple ให้กลับมารุ่งเรืองได้อีกครั้ง

ต้องบอกว่า เมื่อทั้งสองได้มาเจอกัน มันคือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวงการคอมพิวเตอร์ ที่ Jobs และ Cook สองผู้นำที่แตกต่างกันจะมาร่วมมือกันเพื่อสร้างระบบการผลิตแบบ Just-in-Time ให้กับ Apple จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อสองผู้นำที่จะได้มาร่วมมือกันเปลี่ยนโลกอีกครั้งให้กับ Apple ที่ใกล้ล้มละลายเต็มที โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 4 : The Operations Guy

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Death of God *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

ติดตาม ด.ดล Blog เพิ่มเติมได้ที่
Fanpage :facebook.com/tharadhol.blog
Blockdit :blockdit.com/tharadhol.blog
Twitter :twitter.com/tharadhol
Instragram :instragram.com/tharadhol