Geek Story EP70 : The Google Story (ตอนที่ 7 – ตอนจบ)

การที่ Google ทำให้ข้อมูลทั่วโลกเข้าถึงได้ผ่านทางออนไลน์  และการที่ Google สามารถที่จะดึงดูดเอาวิศวกรที่ฉลาดที่สุดจากทั่วโลกได้พร้อมกันนั้น มันส่งผลอย่างชัดเจนต่อการเติบโตขึ้นและพัฒนามาจนถึงขั้นนี้ได้

ตอนนี้ Microsoft เริ่มที่จะหนาว ๆ ร้อน ๆ แล้วกับการเติบโตอย่างรวดเร็ว และ ดึงเอาคนเก่ง ๆ ฉลาด ๆ จากแทบทั่วทั้งโลกของ Google แล้ว Microsoft จะแก้หมากเกมส์นี้อย่างไร ก่อนที่จะยักษ์ใหญ่ที่ทำลายคู่แข่งให้ย่อยยับมามากมายจะถูก Google แซงหน้าไปได้สำเร็จ ติดตามรับฟังกันต่อได้เลยครับผม

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://bit.ly/37bHqia

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://apple.co/2lEqPPg

🎧 ฟังผ่าน Google Podcast : 
http://bit.ly/2kxHtQ3

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://spoti.fi/2m0PTzR

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/i_27B6zIWPo

References : https://www.tharadhol.com/blog-series-the-google-story/

ประวัติ Google ตอนพิเศษ : Microsoft Strikes Back

หลายท่านอาจจะยังคลางแคลงใจว่า ศึกระหว่าง Microsoft กับ Google นั้นดำเนินต่อไปอย่างไรจาก Blog Series ชุดนี้ ที่จะเห็นได้ว่า Google เริ่มที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ที่เริ่มจะเข้ามารุกรานตลาดของ Microsoft มากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ 

อย่างที่เราทราบว่าตอนนี้ Google นั้นมีผลิตภัณฑ์ที่ออกมาท้าทาย Microsoft โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นบริการต่าง ๆ ที่มุ่งสู่ online ตัวอย่างเช่น Google Docs ที่มาท้าชน Microsoft Offices ของ Microsoft โดยตรง รวมถึงบริการต่าง ๆ ที่อยู่บน cloud ที่ทั้งคู่มีผลิตภัณฑ์ใกล้เคียงกันเป็นอย่างมาก

ต้องบอกว่าศึกระหว่างทั้งคู่นั้น เป็นการต่อสู้กันอย่างยาวนาน เพราะมันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี ที่มีการดึงตัวพนักงานระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา เพื่อมาสร้างผลิตภัณฑ์เดียวกัน ฝั่ง Microsoft เองก็พยายามปั้น  Bing ที่เป็นบริการด้าน Search Engine เพื่อมาแย่งส่วนแบ่งเค้กโฆษณาออนไลน์จาก Google เหมือนกัน

Microsoft พยายามปั้น Bing มาสู้กับ Google
Microsoft พยายามปั้น Bing มาสู้กับ Google

แต่การโต้ตอบที่น่าสนใจที่สุดของ Microsoft ต่อ Google นั้นในมุมมองผมคือ facebook ที่เป็นตัวแปรสำคัญ ที่มาตัดกำลัง Google ที่กำลังทะยานไปข้างหน้าอย่างน่ากลัว ก่อนการเกิดขึ้นของ facebook ในขณะนั้น

ซึ่งต้องบอกว่า ตลาดโฆษณา online ก่อนหน้ายุค facebook เกิดนั้น google ครองตลาดส่วนนี้แบบแทบจะเบ็ดเสร็จ เหลือช่องว่างไว้ให้ bing ของ microsoft เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ซึ่งสถานการณ์ในตอนนั้นถือว่า Microsoft ค่อนข้างสั่นคลอนเลยทีเดียว กับการสร้างผลิตภัณฑ์รวมถึง นวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องของ Google รวมถึงตลาด Search Engine นั้นดูเหมือนยากที่จะโค่น Google ลงไปได้

เพราะฉะนั้น มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ที่เมื่อ Social Network กำลังกลายเป็น Trend ใหม่ Microsoft จะพยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำการเตะตัดขา google ไม่ให้ take over facebook ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว 

สำหรับ facebook นั้นก็มีการเติบโตด้านผู้ใช้งานขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงในปี 2007 เรื่องไปถึงหูของ google ซึ่งต้องการที่จะ take over facebook ซึ่ง Microsoft ไม่มีทางยอมอย่างแน่นอน เพราะตอนนั้นกำลังขับเคี่ยวกันในหลายตลาด ทั้ง search engine , email ,  document tool ซึ่ง social เป็นเรื่องใหม่ที่ microsoft ไม่ยอมให้ google มายึดไปอีกแน่นอน

Microsoft จึงทำเรื่อง surprise อย่างยิ่งด้วยการลงทุน ซื้อหุ้นเพียง 1.6% ด้วยเม็ดเงินสูงถึง 240 ล้านเหรียญ ทำให้มูลค่าของ facebook พุ่งขึ้นไปสูงถึง 15,000 ล้านเหรียญ ซึ่ง ตอนนั้น บริษัท ยังแทบจะไม่มีรายได้เข้ามามากมายเหมือนในปัจจุบัน แต่เป็นการเตะตัดขา google เพื่อไม่ให้มา take over facebook เพียงเท่านั้น

Microsoft เข้าถือหุ้นใน facebook เพื่ออัดฉีดเงินไปสู้กับ Google
Microsoft เข้าถือหุ้นใน facebook เพื่ออัดฉีดเงินไปสู้กับ Google

และที่สำคัญแทนที่จะสู้กับ Google ด้วยกำลังพลของตัวเอง Microsoft ทำการส่ง facebook ไปตีกับ google แทน และเป็นการถ่วงดุลอำนาจของ google หลังจากที่ไม่ได้มีคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อมานาน เนื่องจากตัว Microsoft เองนั้นพ่ายแพ้ให้กับ Google ในหลายศึก จึงเปลี่ยนแผนด้วยการส่ง บริษัทคนรุ่นใหม่ ที่มีความคิดใหม่  ๆ อย่าง facebook ไปทำการรบกับ Google แทนเสียเลย

และนั่นเอง มันได้เป็นจุดเปลี่ยน ที่สำคัญที่ทำให้ Microsoft นั้นมีเวลาหายใจมาพัฒนา service ของตัวเองให้กลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้งเหมือนปัจจุบัน ที่ข่าวล่าสุด ได้มีมูลค่า บริษัท แซงหน้า apple กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดได้อีกครั้ง ที่ว่าเป็นเกมส์ที่เดินถูกต้องอย่างยิ่งของ microsoft ในการใช้กลยุทย์นี้

facebook ถือเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงอย่างยิ่งต่อ google เพราะมันเป็นการทยอยแย่งตลาดโฆษณา online จาก google ไปเรื่อย ๆ จากเดิมที่ นักการตลาดออนไลน์มีทางเลือกไม่มากที่จะใช้เม็ดเงินในการโฆษณา online

facebook และ google ต้องมาประมือกันในศึก social network ที่ google ได้ส่งบริการ google+ เข้ามาแข่ง ซึ่งก็ต้องบอกว่าพ่ายแพ้ไปอย่างหมดรูป แทบจะไม่เหลือคนใช้บริการ google+ แล้วในตอนนี้ และคิดว่าไม่น่าจะสร้างรายได้ให้ google ได้อีกต่อไป

google นั้นไม่ได้เข้าใจอย่างแท้จริงในเรื่องของเครือข่ายสังคม online การ design ผลิตภัณฑ์ google+ ออกมานั้น แม้จะมี features มากมายก่ายกอง แถมยังทำทุกอย่างได้เหมือน facebook ทำด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่สามารถแย่งชิงส่วนแบ่งจาก facebook ได้เลย ต้องบอกว่า พี่มาร์ค เข้าใจ user ในเรื่องเครือข่ายสังคมได้อย่างถ่องแท้ หลังจากมีประสบการณ์อยู่กับ platform มาอย่างยาวนาน

google plus ที่ google หวังจะมาเอามาใช้ล้ม facebook
google plus ที่ google หวังจะมาเอามาใช้ล้ม facebook

ซึ่งการที่ google ไม่เข้าใจความต้องการของ user อย่างแท้จริง ทำให้ user จาก facebook ไม่ได้ย้ายหนีไปใช้ google+ เลยซะทีเดียว หลังจากการออกผลิตภัณฑ์ ออกมา และgoogle นั้นได้ทำการโปรโมตอย่างรุนแรงมาก แต่สุดท้ายกลายเป็นที่สิงสถิต ของเหล่า geek แทนมากกว่า เป็นสังคม online ของเหล่า geek ซึ่งออกแบบมาโดย วิศวกร geek ขนานแท้จาก google

hanouts features เด้ดที่ google จะมาจัดการ facebook
hanouts features เด้ดที่ google จะมาจัดการ facebook

ต้องยอมรับว่า social network นั้น facebook แข็งแกร่งจริง ๆ มี features หลัก ๆ ที่โดนใจผู้ใช้ ทำให้ผู้ใช้ไม่หนีไปไหน แม้ว่าเกือบจะเพลี่ยงพล้ำในตอนแรกที่ google+ เปิดบริการ video call hangout แต่ facebook ก็ได้กองหนุนจากพี่ใหญ่อย่าง Microsoft ที่ส่ง skype มาช่วยเหลือ facebook ได้ทันเวลา

ต้องบอกว่า ทุกอย่างนั้นเป็นแผนการของ Microsoft อยู่แล้วที่ต้องการให้ Google นั้น เจอคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อ และ facebook นั้นก็เป็นบริษัทของคนรุ่นใหม่ มีพลังอย่างเหลือล้น พร้อมที่จะสู้กับ Google อย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งเป็นสถานการณ์เดียวกันกับตอนที่ Microsoft มาเจอคู่แข่งอย่าง Google ในช่วงแรกนั่นเอง ซึ่งสุดท้ายเราจะได้เห็นถึงความเก๋าของพี่ใหญ่อย่าง Microsoft ที่ถือว่า Win ในศึกนี้ อย่างที่เราเห็นในปัจจุบันที่ Microsoft กำลังจะก้าวขึ้นเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดของโลกเราได้อีกครั้งนั่นเอง

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :When Larry Met Sergey *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

รวม Blog Series ที่มีผู้อ่านมากที่สุดรวม Blog Series ที่มีผู้อ่านมากที่สุด

ประวัติ Google ตอนที่ 14 : Googling Your Genes

บริน และ เพจ นั้น ได้นำพา Google จากงานวิจัยในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่แทบจะไม่มีความสนใจใด ๆ จากนักลงทุนในขณะนั้น เขาได้สร้างสิ่งมหัศจรรย์ขึ้นมา ทำให้โลกเรานั้นเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อเทียบกับยุคก่อนที่จะมี Google กำเนิดขึ้นมา ซึ่งมันทั้งทำให้โลกเราเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น และ ยังเป็นเครื่องจักรผลิตเงินที่สำคัญให้กับ Google สามารถนำเงินไปลงทุนและวิจัยในแขนงต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับโลกเราได้อีกมากขึ้น

แม้ Google จะมีโปรเจคสุดล้ำมากมาย แต่ มีโครงการระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับชีววิทยาและพันธุศาสตร์ โดยเป็นการหลอมรวมเอา วิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นเป้าหมายใหญ่ของผู้ก่อตั้งทั้งสองอย่าง บรินและเพจ ที่จะนำเอาข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อพัฒนาการดำรงชีวิตที่มีสุขภาพที่ดีขึ้น เมื่อสามารถที่จะป้องกันและรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ได้ โดยนำเอานวัตกรรม และ สมรรถนะในการค้นข้อมูลที่ไม่มีใครเทียบกับทรัพยากรด้านคอมพิวเตอร์อันมากมายมหาศาลของ Google

ตอนนี้ Google เริ่มเติบโตในทุก ๆ ด้านที่เกี่ยวกับนวัตกรรมที่กำลังจะส่งผลกระทบต่ออนาคตของโลกเราแทบจะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ AI ( เทคโนโลยีทางด้านปัญญาประดิษฐ์) การหาวิธีการใหม่ ๆ ในการแปลภาษา ซึ่งบริน และ เพจนั้นมองอยู่เสมอว่า ความพยายามต่าง ๆ ที่ Google กำลังทำนั้น ก็เพื่อใช่ให้ผู้คนทั่วโลก มีหนทางในการที่จะเข้าถึงข้อมูล และความรู้ในแขนงต่าง ๆ ได้โดยไร้ข้อจำกัดและอุปสรรคจากความแตกต่างด้านภาษา สถานที่ รวมถึงการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

และแน่นอนว่า โครงการที่น่าสนใจที่สุดของ Google จะเป็นอื่นใดไปไม่ได้นอกเสียจาก การวิจัยทางชีววิทยาและพันธุศาสตร์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการทะลุทะลวงที่สำคัญ ๆ ในด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการนำเอาเทคโนโลยีชั้นสูง ที่จะทำความเข้าใจถึงลักษณะพันธุกรรมของแต่ละคนอย่างถูกต้อง 

Google ได้มาช่วยเหลือในเรื่องยาก ๆ อย่าง ทำความเข้าใจถึงลักษณะพันธุกรรมของมนุษย์เรา
Google ได้มาช่วยเหลือในเรื่องยาก ๆ อย่าง ทำความเข้าใจถึงลักษณะพันธุกรรมของมนุษย์เรา

ซึ่งจะช่วยให้แพทย์เพิ่มความสามารถในการดูและรักษาคนไข้ ได้ดีกว่า การใช้ข้อมูลของคนไข้บนพื้นฐานด้านสถิติหรือค่าเฉลี่ย ที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งการวิจัยดังกล่าวเหล่านี้ จะก่อให้เกิดความรู้ใหม่ ๆ รวมถึงเทคโนโลยีในการผลิตยาใหม่ ๆ และการใช้หรือการเลี่ยง อาหารและยาบางอย่างในคนที่มีลักษณะพันธุกรรมเฉพาะ ซึ่งแน่นอนว่ามันจะต้องเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

Google นั้นสามารถสร้าง ฐานข้อมูลทางพันธุศาสตร์ขึ้น และทำการวิเคราะห์ ด้วยข้อมูลจำนวนมหาศาล และ จำนวน server ที่มีจำนวนต่อกันมากที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ สามารถที่จะช่วยให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ สามารถใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อทำแผนที่ Genome ของมนุษย์ 

การใช้เทคโนโลยี Data Mining ด้วยข้อมูลมหาศาลของ Google ช่วยให้สามารถที่จะวิเคราะห์ลำดับทางพันธุกรรม (Genetic Sequence) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และภายใน 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีอาจจะสร้างสิ่งใหม่ชนิดที่หลาย ๆ คนไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นจริงขึ้นมาได้ เพราะสุดท้ายไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม Google นั้นมีพันธกิจหลักที่สำคัญ ก็คือ การสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อให้มนุษย์เราอาศัยอยู่ในโลกที่น่าอยู่ขึ้นนั่นเอง

แล้วเราได้อะไรจากการเรื่องราวของ Google จาก Blog Series ชุดนี้

จากประวัติของ Google นั้นเราจะได้เห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรม และงานวิจัยอย่างชัดเจนมาก แม้เริ่มแรกนั้น PageRank จะเป็นแค่หัวข้อวิทยานิพนธ์สำหรับปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเพียงเท่านั้น

ใครจะไปคิดว่า การทดลองบ้า ๆ ของบรินและเพจ กับการเข้ามาจัดระเบียบข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ต ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเพ้อฝันในตอนนั้น จะกลายมาเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่อย่างที่เราเห็นกับ Google ในทุกวันนี้

Google ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ของมนุษย์เราไปเป็นอย่างมาก คลังความรู้มหาศาลที่หาได้เพียงแค่หนึ่งคลิก เราก็สามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ได้แทบทุกเรื่อง มันคือการให้ความเท่าเทียมในการรับรู้ข้อมูลให้กับมนุษย์เราทุกคน

Google ยังได้ทำให้การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาได้โดยใช้เวลาน้อยลงเป็นอย่างมาก เพราะเราสามารถหาข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เราจะเห็นวิวัฒนาการหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วหลังจากการเกิดขึ้นของ Google เพราะได้ทลายกำแพงเดิม ๆ ในการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ให้สามารถใช้ข้อมูลต่าง ๆ มาวิเคราะห์เพื่อสรรสร้างสิ่งใหม่ ๆ นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับโลกเราได้มากขึ้น

แม้เรื่องราวของ Google จะมีอีกมากมายหลังจากเรื่องราวใน Series ชุดนี้ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของ Android ระบบปฏิบัติการที่เชื่อมคนทั่วโลกให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส หรือ นวัตกรรมอื่น ๆ อีกมากมายที่สร้างขึ้นมาโดย Google

แต่สิ่งสำคัญที่ขับเคลื่อน Google มาได้จนถึงทุกวันนี้นั้น มันก็คือ การไม่หยุดสร้างนวัตกรรม การวิจัย และพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ที่มีตลอดมาของ Google ทำให้พวกเขาเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ และ ยังคงสร้างความแข็งแกร่งด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าไม่ใช่ทุกอย่างที่ Google ทำนั้นจะประสบความสำเร็จเสมอไป แต่พวกเขาก็ไม่เคยที่คิดจะหยุดการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมา ซึ่งคิดว่าผู้ประกอบการหลายท่านน่าจะเคยเจอ แม้บางครั้งความคิดของท่านอาจจะเป็นเรื่องเพ้อฝัน เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ไม่มีใครเห็นด้วยในตอนแรก แต่ซักวันหนึ่งมันก็อาจจะพิสูจน์ได้ว่า นวัตกรรม หรือ งานวิจัยที่พวกท่านสรรค์สร้างขึ้นมานั้น อาจจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนโลกได้เหมือนที่ Google เคยทำมาก็เป็นได้ครับ 

–> อ่านตอนพิเศษ : Microsoft Strikes Back

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :When Larry Met Sergey *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

รวม Blog Series ที่มีผู้อ่านมากที่สุดรวม Blog Series ที่มีผู้อ่านมากที่สุด

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

อย่าลืมติดตามผลงานเรื่องต่อ ๆ ไปของผมก่อนใครได้ที่ blockdit นะครับ โหลดได้เลย

อย่าลืม ค้นหา “ด.ดล Blog” แล้ว กด follow กันด้วยนะครับผม

ประวัติ Google ตอนที่ 13 : Broadcast Yourself

ในยุคปัจจุบันดูเหมือนเราจะปฏิเสธไม่ได้ว่า Youtube คือแหล่งข้อมูลสำคัญของโลกไม่แพ้ google เลยทีเดียว ใครคนไหนอยากจะหาข้อมูลอะไรสักอย่างจะต้องเข้าเว็บไซด์ google เพื่อค้นหาข้อมูล แต่ถ้าใครอยากหาข้อมูลเกี่ยวกับภาพเคลื่อนไหว วีดีโอคลิป แน่นอนว่า Youtube จะต้องเป็นตัวเลือกแรกๆของทุกคนอย่างแน่นอน

Youtube คือ เว็บไซต์ที่ให้บริการแบ่งปัน (share) วิดีโอ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถอัพโหลด แชร์ หรือดูวิดีโอผ่านเว็บไซต์ได้ ในรูปแบบคลิป วิดีโอต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หนัง ละคร มิวสิควิดีโอ หรือการโชว์ความสามารถต่างๆ จากทางบ้าน โดยยูทูบ มีสโลแกนสั้นๆ ได้ใจความ 
ว่า “Broadcast Yourself”

Youtube เกิดจากพนักงานระดับล่าง 3 คนของบริษัท PayPal คือ Chad Hurley, Steve Chen และ Jawed Karim ซึ่งทั้ง 3 คน นั้นเรียนจบทางด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ 
โดย Chad ได้เข้ามหาวิทยาลัยอินเดียนาแห่งเพนสิเวอร์เนีย ด้านการออกแบบ Steve กับ Jawed ศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ ด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ โดยในตอนแรก Chad และ Steve เป็นเพื่อนสนิทกันซึ่งทำงานด้วยกันในบริษัท Paypal

Chad , Steve และ Jawed สามผู้ก่อตั้ง Youtube
Chad , Steve และ Jawed สามผู้ก่อตั้ง Youtube

ไอเดียการคิดค้น youtube นั้นได้เริ่มต้นขึ้นจริง ๆ จัง ๆ ในปี 2005 ซึ่ง Chad อยากจะแชร์คลิปวีดีโอที่มีความยาวมากกว่า 1 นาที ให้กับ Steve ได้เห็น แต่เว็บไซด์ที่ฝากไฟล์วีดีโอนั้นหายากมากๆ และความยาวที่เกินกว่า 1 นาทียิ่งไม่ต้องพูดถึง ในงานปาร์ตี้ที่อพาร์ทเมนต์ของ Steve เขาจึงเริ่มแชร์ไอเดียว่าเขาอยากที่จะสร้างเว็บไซด์ที่ฝากไฟล์วีดีโอและแชร์ได้ในเวลาเดียวกัน ง่ายต่อการค้นหา ง่ายต่อการอัพโหลดลงในอินเตอร์เน็ต แต่ดูๆแล้วมันเป็นไปไม่ได้เลย เมื่อมองถึงเทคโนโลยีและความเป็นไปได้ในขณะนั้น ความคิดนี้ของพวกเขาจึงหายไปช่วงเวลาหนึ่ง

สำหรับ Jawed นั้น เขาเป็นลูกครึ่งเยอรมันและบังกลาเทศ ได้ทำการย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่ประเทศอเมริกา ในปี 2004 ซึ่งในปีเดียวกันนั้น ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศอินเดีย รวมถึงหลาย ๆ ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีผู้เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก

 ตัว Jawed เองนั้นพยายามค้นหาคลิปวีดีโอเหตุการณ์นั้นแต่หายากมาก เขาจึงเริ่มคิดอยากจะสร้างเว็บไซด์ในการฝากไฟล์วีดีโอที่ง่ายต่อการค้นหา แต่ความคิดนี้ก็ตกไปเพราะต้องใช้ทุนในการสร้างสูงมาก รวมถึงอินเทอร์เน็ตแบบความเร็วสูงยังคงเป็นเรื่องใหม่ในสมัยนั้น ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะดึงดูดผู้คนให้มาใช้กัน

โดยที่ทั้ง 3 คนมารู้จักกันในการทำงานที่บริษัท Paypal และมีความคิดไปในทางเดียวกัน พวกเขาจึงระดมทุนได้จากเหล่า venture capital ซึ่งได้เงินลงทุนตั้งต้นมา 11.5 ล้านเหรียญ จากกองทุน Sequoia Capital ของมหาเศรษฐี Don Valentine ผู้เคยสร้างชื่อมาแล้วกับบริษัทหลายๆแห่งไม่ว่าจะเป็น Apple, Yahoo, Oracle Corporation, Cisco รวมถึงบริษัทเกมอย่าง Electronic Arts

Youtube จดทะเบียนเป็นบริษัทและมีโดเมนเนมว่า www.youtube.com ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2005 มีสำนักงานใหญ่อยู่บนชั้นสองของร้านอาหารญี่ปุ่นเล็กๆในเมือง San Mateo, California และคลิปวีดีโอแรกที่ถูกอัพโหลดขึ้นเว็บไซด์ครั้งแรกเป็นของ Jawed โดยใช้ชื่อว่า “Me at the zoo”

ในปีเดียวกันนั้นเอง คลิปวีดีโอที่แตะหลักล้าน Views เป็นครั้งแรกเป็นคลิปโฆษณาของ Nike โดยใช้นักฟุตบอลชื่อดังอย่างโรนัลดินโญ่มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ พร้อมกับการสนับสนุนเงินอีก 3.5 ล้านเหรียญของ Sequoia Capital ทำให้บริษัทใหญ่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่ง Google นั้นเห็นการเติบโตอย่างรวดเร็วของ Youtube จนต้องสร้างบริการ Google Video เข้ามาร่วมแข่งขัน

Youtube นั้นได้พัฒนาเทคโนโลยีของการเล่นวีดีโอ ที่สามารถอัดเก็บไว้ได้และนำมานำเล่นได้ใหม่ โดยจะใช้พื้นฐานของการโปรแกรม Macromedia’s Flash Player  และใช้โปรแกรมบันทึกวิดีโอแบบ Sorenson Spark H.263 อีกทั้งเทคโนโลยีนี้ยังทำให้ Youtube สามารถใช้วิดีโอเล่นภาพและเสียงได้อย่างมีคุณภาพเทียบเคียงได้กับวิดีโอที่เล่นอยู่ที่บ้านและสามารถนำกลับมาเล่นซ้ำได้เหมือนกับ Windows Media Player, Realplayer หรือ Quicktime Player ของ Apple

แต่การใช้โปรแกรม Flash ของ Youtube ในยุคเริ่มต้นนั้น สามารถที่จะตอบสนองต่อการเล่นของผู้ใช้ได้ดีราว ๆ 90 % เมื่อทำการเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต หรือในอีกทางหนึ่งผู้ใช้ สามารถเข้าไปใช้โดยเข้าเป็นสมาชิกของ เว็บไซต์เพื่อที่จะทำการ Download วิดีโอมาติดตั้งไว้ในคอมพิวเตอร์ของตนเองก็สามารถทำได้

Youtube version แรกใช้การแสดงผลด้วยโปรแกรม Flash Player
Youtube version แรกใช้การแสดงผลด้วยโปรแกรม Flash Player

ซึ่งการใช้วิดีโอเพื่อเล่นภาพและเสียงได้กลายเป็นที่ชื่นชอบและเป็นองค์ ประกอบสำคัญที่ทำให้ Youtube ประสบความสำเร็จ และการยอมให้ผู้ชมเข้าไปดูวิดีโอได้ทันทีทันใด โดยไม่ต้องทำการติดตั้งโปรแกรมหรือต้องไปจัดการกับปัญหาเดิม ๆ ที่ผู้ใช้เคยมีประสบการณ์กับเทคโนโลยีวิดีโอจากเว็บไซต์อื่น ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีที่เข้ากันไม่ได้ หรือมีการใช้วีดีโอสำหรับผู้เล่นวีดีโอหลายรูปแบบมาก ๆ 

ด้วยการใช้งานที่ง่ายดายแตกต่างจากบริการวีดีโอ ออนไลน์ อื่น ๆ ทำให้ YouTube เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลาสั้นๆ และได้รับความ สนใจเป็นอันมาก โดยเฉพาะการบอกแบบปากต่อปากที่ทำให้การเติบโตของ YouTube เป็นไปอย่างรวดเร็ว YouTube มาเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายต่อเนื่อง

โดยจุดเปลี่ยนสำคัญคือเมื่อมีการนำภาพวิดีโอช่วง Lazy Sunday ของรายการ Saturday Night Live มาแสดงบนเว็บ ซึ่งต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2006 ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซี (NBC) ก็ได้เรียกร้องให้ทาง YouTube เอาคลิปวิดีโอที่มีลิขสิทธิ์ทั้งหลายออกจากเว็บ ซึ่ง YouTube เองก็มีนโยบายที่จะไม่เอาคลิปที่ละเมิดลิขสิทธิ์มาแสดงเช่นกัน นั่นทำให้ต่อมา You Tube กำหนดนโยบายที่ชัดเจนขึ้นในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามกรณีพิพาทกับสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซีก็ได้ทำให้ YouTube เป็นข่าวและเพิ่มความดังมากขึ้นไปอีกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

คลิปช่วย Lazy Sunday ของรายการ Saturday Night Live ทำให้ Youtube ดังเป็นพลุแตก
คลิปช่วย Lazy Sunday ของรายการ Saturday Night Live ทำให้ Youtube ดังเป็นพลุแตก

ในช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 2006 เว็บไซต์อย่าง Youtube ได้กลายเป็นเว็บไซต์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีวิดีโอที่ถูกอัปโหลดมากถึง 65,000 วิดีโอ ในเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกันนั้นเอง Youtube มีผู้เข้าชมเฉลี่ยแล้วได้ถึง 100 ล้านครั้งต่อวัน เว็บไซต์ยังติดอันดับที่ 15 ของเว็บไซต์ที่มียอดผู้เข้าชมมากที่สุดในโลก จัดอันดับโดย Alexa

ซึ่งทำให้มี myspace เว๊บไซต์ทางด้าน Social Network ชื่อดังในขณะนั้น ตกอันดับลงมาได้สำเร็จ Youtube เป็นเว็ปไซต์ที่มีผู้เข้าชม 20 ล้านคนต่อเดือนตามการบันทึกของ Nielsen/NetRatings โดยแยกออกมาเป็นผู้ชมเพศหญิง ร้อยละ 44 และเพศชาย ร้อยละ 56 โดยอยู่ในช่วงอายุประมาณ 12-17 ปีที่เข้าเว็ปไซต์มากที่สุดใน Youtube  ความโดดเด่นของ Youtube คือการตลาดที่เป็นรูปธรรม เว็ปไซต์ Hitwise.com ได้กล่าวว่า Youtube ได้ทำส่วนแบ่งทางการตลาดวิดีโอออนไลน์ในสหราชอาณาจักรถึง ร้อยละ 64 ซึ่งถือว่าเป็นส่วนแบ่งที่สูงมากที่สุดในบรรดา บริการวีดีโอ ออนไลน์ทั้งหมด

ซึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ทำให้เป็นที่ต้องตาของทั้งบริน และ เพจ เป็นอย่างมาก ที่ต่อมา ในวันที่ 9 ตุลาคม 2006 Google ได้ตกลงตัดสินใจเข้าซื้อ YouTube ด้วยมูลค่า 1,650 ล้านเหรียญสหรัฐ ในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนหุ้น อย่างไรก็ตาม YouTube ก็ยังคงดำเนินกิจกรรม ของบริษัทไปตามปกติ โดยเป็นอิสระจากการควบคุมของ google การรวมกันของสองบริษัทนี้จะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสบการณ์ที่ดีขึ้นและเข้าใจได้มากขึ้น สำหรับผู้ใช้ที่สนใจในการอัพโหลด การดูวิดีโอ และการแชร์ภาพวิดีโอ รวมถึงการนำเสนอโอกาสใหม่ๆ สำหรับผู้เป็นเจ้าของ ข้อมูล (content) ที่เป็นมืออาชีพที่จะนำเสนองานของพวกเขาไปสู่คนวงกว้างได้นั่นเอง

การที่ Google สามารถเข้าซื้อ Youtube ได้สำเร็จ นั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญครั้งหนึ่งของ Google ที่ได้ยกระดับขึ้นมากลายเป็นบริษัท ที่พร้อมที่จะสู้กับ Microsoft หรือบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ รายอื่นๆ  ได้อย่างสมศักดิ์ศรี แม้ Youtube นั้นจะยังคงให้บริการฟรี และยังไมสามารถทำรายได้นั้น ก็ไม่เป็นปัญหากับ Google แต่อย่างใด เพราะแน่นอนอยู่แล้วว่าเหล่าเครือข่ายโฆษณาของ Google ที่เป็นเครื่องจักรทำเงินของพวกเขา จะเข้ามาสู่ Youtube อย่างแน่นอน ซึ่งเมื่อถึงวันนั้น ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะหยุด Google อยู่แล้วสำหรับความทะเยอทะยานครั้งใหม่นี้ สำหรับตอนหน้า จะเป็นตอนสุดท้ายของ Blog Series ชุดนี้แล้วนะครับ มาดูกันว่าบทสรุปของ Google จะเป็นอย่างไร โปรดอย่าพลาดติดตามนะครับผม

–> อ่านตอนที่ 14 : Googling Your Genes (ตอนจบ)

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :When Larry Met Sergey *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Google ตอนที่ 12 : The China Syndrome

ในปี 2005 จีนเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร็วที่สุดในโลก และมันได้ทำให้เหล่าคนชนชั้นกลางของจีนจำนวนกว่าร้อยล้านคน ได้ใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ ผ่านคอมพิวเตอร์ และ อินเทอร์เน็ต

และแน่นอนว่าตลาดอันหอมหวนเช่นนี้ มันดึงดูดใจบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกทุก ๆ แห่งให้มาลองชิมลางกับตลาดใหญ่อย่างประเทศจีน Microsoft ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ทำการลงทุนในประเทศจีนโดยมีการจ้างงานกว่าหนึ่งพันตำแหน่ง

Google ก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทเทคโนโลยีที่ต้องการเข้าสู่ตลาดที่มีขนาดมหาศาลนี้เช่นกัน บริน และ เพจต้องการที่จะสร้าง ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นในประเทศจีนโดยเฉพาะ จีนจึงประเทศที่มีความหมายกับ Google มาก

ซึ่งแน่นอนว่าศึกในอเมริกานั้น Google ดูเหมือนว่าจะเป็นฝ่ายชนะในทุก ๆ ครั้งที่ Microsoft พยายามออกผลิตภัณฑ์ใหม่มาเพื่อสกัดกั้นการเติบโตของ Google แม้ความน่าเกรงขามของ Microsoft ยังคงไม่เสื่อมคลายลงแต่อย่างใด ด้วยขนาดบริษัทที่ใหญ่กว่า 3 เท่าของ Google ในขณะนั้น รวมถึงการที่ Microsoft ยังคงมีรายได้อย่างมั่นคงในตลาดที่เขาครองแบบเบ็ดเสร็จทั้งระบบปฏิบัติการ Windows และ โปรแกรมชุดสำนักงานอย่าง Microsoft Office 

และด้วยความที่ทั้งสองบริษัทนั้นเติบโตมาในยุคที่แตกต่างกัน Google ที่เติบโตมาทีหลัง ถูกมองว่าเป็นขวัญใจของชาวอินเทอร์เน็ตมากกว่า ด้วยภาพลักษณ์ของความ Cool วัฒนธรรมองค์กรรูปแบบใหม่ที่ Google สร้างขึ้น มันทำให้ดึงดูดเหล่าวิศวกรอัจฉริยะยุคใหม่ ๆ ไปได้มากโข

ซึ่งมันส่งผลโดยตรงต่อ Microsoft ทำให้บิลล์ เกตส์ ต้องตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งใน Microsoft โดยมีหน้าที่เดียวคือ หาทางกำจัด Google โดยเฉพาะไม่ว่าโดยวิธีการใดก็ตาม เพราะช่วงหลังวิศวกรจาก Microsoft เริ่มที่จะถูกพลังดูดจากบริษัทอินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ออกไปเรื่อย ๆ 

บิลล์ เกตส์ ต้องการบี้ Google ให้ตายเหมือนคู่แข่งรายอื่น ๆ ที่เขาเคยทำมา
บิลล์ เกตส์ ต้องการบี้ Google ให้ตายเหมือนคู่แข่งรายอื่น ๆ ที่เขาเคยทำมา

Microsoft ต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะรั้งวิศวกรเหล่านี้ไว้ ซึ่งต้องใช้ทั้งแรงกาย และ เงินทุนมากกว่า ต้องเสนอเงินและโบนัสพิเศษให้มากกว่า ซึ่งอาการสมองไหลแบบนี้ Microsoft แทบจะไม่เคยประสบพบเจอมาก่อนไม่ว่าจะแข่งกับคู่แข่งที่แข็งแกร่งเพียงใดก่อนหน้านี้ 

และคนที่ Microsoft โกรธแค้นที่สุด จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ดร. ไค ฟู ลี ดีกรี ด็อกเตอร์จาก คาร์เนกี เมลอน ผู้ที่เริ่มทำงานกับ Microsoft ประเทศจีนในปี 1998 ซึ่งเป็นปีที่ Google ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นมานั่นเอง

ไค ฟู ลี ถือเป็นบุคคลสำคัญในตลาดจีนของ Microsoft ดูและการดำเนินงานและยุทธศาสตร์หลักทั้งหมดในจีนของ Microsoft เขายังมี connection ที่สำคัญกับทางฝั่งรัฐบาลจีน เป็นคนริเริ่มก่อตั้งศูนย์วิจัย Microsoft ขึ้นในเมืองหลวงของประเทศจีนอย่างเมืองปักกิ่ง

ไค ฟู ลี พนักงานคนสำคัญในตลาดจีนของ Microsoft
ไค ฟู ลี พนักงานคนสำคัญในตลาดจีนของ Microsoft

แต่แล้วในปี 2005 เมื่อ Google ต้องการรุกเข้าสู่ตลาดจีน และนี่เป็นสิ่งที่ ไค ฟู ลี นั้นใฝ่หาความท้าทายที่จะได้ทำงานกับ Google มานานแล้ว แม้ตอนนั้นเขาจะเป็นลูกจ้างของ Microsoft อยู่ก็ตามที ซึ่ง Google นั้นก็ต้องการได้มือดีอย่างเขาเพื่อมาเป็นหัวหน้าศูนย์วิจัยในประเทศจีนเช่นเดียวกัน

มันเป็นการแย่งชิงตัวบุคลากรระดับสูงสุดรายแรกที่ Google สามารถช่วงชิงมาจาก Microsoft ได้ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ Microsoft โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงเลยทีเดียว และพร้อมจะโจมตีกลับด้วยการดำเนินการทางกฏหมายกับ Google 

แต่คำขู่จาก Microsoft ดูเหมือนจะไม่ได้ผล เพราะ ในเดือน กรกฏาคม ปี 2005 ไค ฟู ลี ก็เดินตามคนอื่นๆ  ที่ทิ้ง Microsoft เข้าหา Google ซึ่งทำให้ Google ยิ่งแข่งแกร่งมากขึ้นไปอีกขั้น เพราะได้รับพนักงานระดับสูงที่มีความรู้และ Connection ที่ดีกับรัฐบาลจีน รวมถึงชุมชนนักพัฒนาในประเทศจีนอีกด้วย

Google ต้องการให้ ไค ฟู ลี มาดูแลตลาดจีนเช่นเดียวกัน
Google ต้องการให้ ไค ฟู ลี มาดูแลตลาดจีนเช่นเดียวกัน

เมื่อถูก Google หยามถึงเพียงนี้ Microsoft จึงต้องเล่นไม้แรง ด้วยการฟ้องร้องทางกฏหมายต่อ Google และ ไค ฟู ลี ทันที ซึ่ง Microsoft ได้กล่าวหาว่า Google นั้นได้ยั่วยุให้ ลี ไค ฟู ฉีกสัญญาจ้างที่ได้เซ็นไว้กับ Microsoft ทั้งที่รู้ว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ซึ่ง ไค ฟู ลี นั้นเป็นผู้บริหารระดับสูงที่ เอื้อต่อการเข้าสู่จีนหรือการพัฒนาเทคโนโลยีค้นหาของ Google ในประเทศจีน

ซึ่งสุดท้าย Microsoft ได้ชัยชนะครั้งนี้ชั่วคราว จากคำสั่งศาลที่ห้าม ไค ฟู ลี ร่วมงานที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาข้อมูล แต่ผู้พิพากษายังยอมให้ ไค ฟู ลี สามารถทำงานในจีนต่อได้ และช่วยส่งสารไปยังเหล่าพนักงานอาวุโสของ Microsoft ไม่ให้ย้ายไปอยู่กับ Google 

ขณะที่คดีของ ไค ลี ฟู ยังอยู่ในกระบวนการคลี่คลาย ตลาดอินเทอร์เน็ตในจีนก็ได้เกิดความร้อนแรงขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อ Yahoo ได้ประกาศลงทุนหนึ่งพันล้านเหรียญใน อาลีบาบา บริษัท อินเทอร์เน็ตชั้นนำของจีน 

ส่วน Google นั้นหลังจากคดีของ ไค ฟู ลี จึงต้องหาแผนสำรองด้วยการซื้อหุ้น Search Engine ชื่อดังของจีนอย่าง Baidu.com ที่มี Design และ Concept เรียบง่ายแบบเดียวกับ ที่ Google ทำ

และเมื่อ Baidu ทำ IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ มันได้เพิ่มมูลค่าตลาดนับพันล้านเหรียญให้แก่ Google และทำให้มูลค่าของ Google ในขณะนั้นมีมูลค่ามากกว่า amazon และ ebay รวมกันเสียอีกด้วยซ้ำ ตอนนี้ Google เติบโตจนเหลือเพียงแค่ Microsoft เท่านั้นที่พวกเขายังล้มไม่ได้

Google เลือกถือหุ้นใน  Baidu เป็นแผนสำรองแทน
Google เลือกถือหุ้นใน Baidu เป็นแผนสำรองแทน

ในขณะที่ Google คิดว่าตัวเองเป็นบริษัททางด้านเทคโนโลยี แต่ความจริงแล้วนั้น Google ทำเงินด้วยการโฆษณา ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับสื่อแบบดั้งเดิมส่วนใหญ่ ปีแรกที่เข้าตลาดนั้น Google มีมูลค่าในตลาดมากกว่าบริษัทสื่อที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Time Warner เสียด้วยซ้ำ

การที่ Google ทำให้ข้อมูลทั่วโลกเข้าถึงได้ผ่านทางออนไลน์  และการที่ Google สามารถที่จะดึงดูดเอาวิศวกรที่ฉลาดที่สุดจากทั่วโลกได้พร้อมกันนั้น มันส่งผลอย่างชัดเจนต่อการเติบโตขึ้นและพัฒนามาจนถึงขั้นนี้ได้ ตอนนี้ Microsoft เริ่มที่จะหนาว ๆ ร้อน ๆ แล้วกับการเติบโตอย่างรวดเร็ว และ ดึงเอาคนเก่ง ๆ ฉลาด ๆ จากแทบทั่วทั้งโลกของ Google แล้ว Microsoft จะแก้หมากเกมส์นี้อย่างไร ก่อนที่จะยักษ์ใหญ่ที่ทำลายคู่แข่งให้ย่อยยับมามากมายจะถูก Google แซงหน้าไปได้สำเร็จ โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 13 : Broadcast Yourself

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :When Larry Met Sergey *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ