iTunes Phone เมื่อการร่วมสร้างมือถือเครื่องแรกของ Steve Jobs ไม่ใช่ iPhone

หนึ่งในลางร้ายที่เกิดขึ้นบนเวทีการเปิดตัวมือถือรุ่นแรกที่ Apple ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการผลิต คือ การที่ สตีฟ จ็อบส์ ซีอีโอของ Apple สะดุดล้มในการสาธิตบนเวทีเกี่ยวกับหนึ่งในคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของ ROKR นั่นก็คือ การสวิตช์เปลี่ยนจากเครื่องเล่น MP3 ไปเป็นโทรศัพท์

มันไม่เหมือนกับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ Apple เคยทำมาที่ทุกอย่างต้องพร้อมเสมอ แต่ครั้งนี้หลังจากทดลองรับสายจากเพื่อนร่วมงาน จ็อบส์ก็ได้พยายามที่จะสวิตช์กลับมาในโหมดการเล่น MP3 แต่ดูเหมือนว่า มันจะไม่ทำงาน และจ็อบส์ดูงุนงงบนเวที และกล่าวว่า “ฉันควรที่จะสามารถเปิดเพลงต่อไปได้นะ…” จากนั้นจ็อบส์กล่าว่า “อุ๊ย! ฉันกดปุ่มผิด”

แน่นอนว่ามันดูเหมือนจะไม่ใช่ความผิดพลาดของมือถือ ROKR แต่เนื่องจากการนำเสนอของจ็อบส์มักจะทำได้อย่างไร้ที่ติ สิ่งที่เกิดขึ้นมันคงไม่ใช่ลางดีอย่างแน่นอน

แม้ว่าทาง Apple จะสร้าง iPod ให้กลายเป็นสินค้ายอดฮิตยอดขายถล่มทลาย กลายเป็นปรากฏการณ์ไปทั่วโลก แต่ในปี 2004 หากพูดถึงบริษัทอย่าง Apple กับธุรกิจโทรศัพท์มือถือนั้น คงไม่มีใครคาดคิดว่า Apple บริษัทที่เริ่มต้นด้วยการขายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั้นจะพลิกตัวเองมาลุยในตลาดมือถืออย่างแน่นอน

สิ่งแรกคือเรื่องของ Knowhow ต่าง ๆ ในเรื่องมือถือนั้นต้องเรียกได้ว่า Apple แทบจะไม่เคยย่างกรายเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้เลยด้วยซ้ำ และการครองตลาดอย่างเบ็ดเสร็จของ Nokia ที่มีทีมงานที่พร้อมทุกอย่างทั้งเรื่อง Hardware , Software รวมถึง Knowledge ด้านโทรคมนาคมคงเป็นเรื่องยากที่ใครจะสามารถล้ม Nokia ลงได้ในขณะนั้น

แนวคิดแรกของ Apple กับมือถือนั้น เป็นเพียงการร่วมเป็น Partner กับ Motorola ในการผลิตมือถือเพื่อนำ iTunes เข้าไปลงเป็นส่วนของ Software จัดการเพลงเพียงเท่านั้น

ตลาดโทรศัพท์มือถือนั้นเป็นตลาดที่ใหญ่โตมหาศาลเมื่อเทียบกับตลาดเครื่องเล่นเพลงแบบดิจิทัลที่ iPod สามารถเอาชนะได้สำเร็จ เรียกได้ตลาดเครื่องเล่นพลงดิจิทัลเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของตลาดขนาดใหญ่มหึมาที่ Apple ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน

และการได้ร่วมมือกับ Motorola เป็นอีกหนึ่งในวิธีในการต่อต้านภัยคุกคามที่มีต่อ iPod โดยตรง ซึ่งครองตลาดเครื่องเล่นเพลงในสหรัฐฯ อยู่แล้ว ในช่วงเวลานั้นผู้บริโภคทั่วโลกคาดว่าจะซื้อเครื่องเล่น MP3 75 ล้านเครื่อง แต่พวกเขาจะซื้อโทรศัพท์มือถือในจำนวนที่สูงถึงกว่า 10 เท่า

แน่นอนว่าหากเครื่องเล่นเพลงกลายเป็นมาตรฐานในโทรศัพท์มือถือ iPod ก็อาจจะประสบปัญหาได้ การพันธมิตรกับ Motorola ทำให้ Apple มีช่องทางในการเข้าสู่ตลาดและแถมยังเป็นการปกป้อง iPod ไปในตัว

ทั้ง Apple และ Motorola จึงได้ร่วมกันพัฒนา ROKR มือถือรุ่นใหม่ของ Motorola และยังได้ร่วมมือกับ  Cingular ซึ่ง ณ ขณะนั้นเป็นค่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดของอเมริกา และหวังจะลองชิมลางเพื่อเข้าสู่ตลาดที่ใหญ่โตมหาศาลอย่างตลาดโทรศัพท์มือถือ

iPod Suffle บนโทรศัพท์ของคุณ

ในเดือนกันยายนปี 2005 ทั้งโลกได้ยลโฉมมือถือเครื่องแรกที่มี iTunes ของ Apple ซึ่งทำให้ผู้ใช้มีอินเทอร์เฟซการใช้งานแบบเดียวกับ iPod

ทั้งสองบริษัทต่างตั้งความหวังไว้กับมือถือรุ่นนี้สูงมาก ๆ เพราะมองว่ามันจะเป็นการมอบประสบการณ์ iTunes บนโทรศัพท์ช่วยให้เจ้าของสามารถโหลดคลังเพลงใน iTunes ของตนหรือแม้กระทั่ง Audio book และ podcast ลงบนมือถือเครื่องนี้ได้

ซึ่งตามคำพูดของจ็อบส์ระหว่างการเปิดตัว Motorola ROKR “มันคือ iPod Suffle บนโทรศัพท์ของคุณ”

มือถือที่หวังว่าจะเป็น iPod Suffle บนโทรศัพท์ (CR:GSMArena)
มือถือที่หวังว่าจะเป็น iPod Suffle บนโทรศัพท์ (CR:GSMArena)

แต่กระบวนการสร้าง มือถือ ROKR นั้น เต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย ด้วยการที่ต้องมีการร่วมมือกันของหลาย ๆ บริษัทที่เกี่ยวข้อง ระบบบริหารที่ล้าหลังของ Motorola ก็เป็นหนึ่งในอุปสรรคที่สำคัญในการกีดขวางกระบวนการออกแบบ

ความทะเยอทะยานของทั้งสองบริษัทที่ดูเหมือนจะสอดคล้องกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วแนวคิดของพวกเขาทั้งคู่มีความขัดแย้งกันตั้งแต่แรกเพราะ Motorola ใฝ่ฝันที่จะนำ iPod ไปสู่กลุ่มผู้ซื้อโทรศัพท์มือถือ ในขณะที่ Apple พยายามปกป้อง iPod ผลิตภัณฑ์แสนรักแสนหวงของพวกเขาในตอนนั้น

เมื่อร่วมงานจริง ๆ ทีมงานจากทั้งสองบริษัทก็ต้องพบกับฝันร้ายอย่างรวดเร็ว ทาง Motorola พบว่าการทำงานร่วมกับ Apple ไม่ใช่เรื่องง่ายต้องยอมประนีประนอมในหลายๆ อย่าง

ตัวอย่างเช่นเรื่องซอฟต์แวร์ในการจัดการลิขสิทธิ์ของทางฝั่ง Apple ที่เรียกว่า FairPlay ที่มันเป็นเหมือนปราการป้องกันไม่ให้มือถือ ROKR เล่นเพลงจากร้านค้าออนไลน์รายใหญ่อื่น ๆ ได้นอกจาก iTunes ซึ่งทำเพื่อเป็นการปกป้อง iPod นั่นเอง

สุดท้ายเมื่อเปิดตัวออกมา ROKR เป็นเพียงแค่โทรศัพท์ดาด ๆ ในปี 2005 ที่มีจอแสดงผลขนาดเล็กเพียง 1.9 นิ้วที่วางอยู่เหนือแผงปุ่มกดตัวอักษรและตัวเลข และมีกล้อง VGA ที่ด้านหลัง คุณสมบัติอื่น ๆ ได้แก่ ลำโพงสเตอริโอคู่ หูฟังสเตอริโอ ปุ่มเพลงเฉพาะที่ใช้เปิด iTunes ไฟด้านข้างแบบดิสโก้

นอกจากนี้ดูเหมือนว่า ROKR ไม่ได้เป็นโทรศัพท์รุ่นใหม่เลยซะทีเดียว แต่มันเป็นการเปลี่ยนโฉมจากรุ่น Motorola E398 ในปี 2004 เพียงเท่านั้น

และที่สำคัญมาก ๆ ก็คือวัฒนธรรมองค์กรของ Motorola นั้นมันแตกต่างกันราวฟ้ากับเหวเมื่อเทียบกับฝั่งของ Apple ที่เน้นไปที่ประสบการณ์ของผู้ใช้งานเป็นหลัก สุดท้าย ROKR มันได้กลายเป็นมือถือที่ห่วยแตก เหมือนสินค้าด้อยคุณภาพ ไม่ต่างจาก iPod ห่วย ๆ ที่มีฟังก์ชั่นในการโทรศัพท์ได้นั่นเอง

รวมถึงรูปแบบการโอนเพลงเข้าโทรศัพท์ที่ใช้สาย USB กับคอมพิวเตอร์เพื่อเชื่อมต่อกับ iTunes ซึ่งแน่นอนว่าจ็อบส์ อยากให้ Ecosystem ของ Apple นั้นคงไว้เหมือนกับที่ทำสำเร็จกับ iPod

แต่มันเป็นที่ถูกใจของบริษัทเครือข่ายมือถืออย่าง Cingular ที่ต้องการขายเพลงผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของพวกเขาเท่านั้น และมันได้ทำให้เรื่อง Promotion ที่ปรกติต้องทำกับเครือข่ายนั้นถูกตัดออกทันที ทำให้ผู้ซื้อที่ต้องการใช้ ROKR นั้นต้องจ่ายราคาเต็มของมือถือที่ 250 ดอลลาร์ แถมยังต้องจ่ายค่าบริการรายเดือนอีกด้วย

การร่วมมือกับ Cingular ที่ต้องการขายเพลงผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของพวกเขาเท่านั้น (CR:ebay)
การร่วมมือกับ Cingular ที่ต้องการขายเพลงผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของพวกเขาเท่านั้น (CR:ebay)

ซึ่งแน่นอนว่า ROKR นั้นมันคือหายนะอย่างแท้จริงสำหรับ Apple ในการที่จะก้าวเข้าสู่ตลาดโทรศัพท์มือถือ ทำให้ตัวจ็อบส์นั้นหงุดหงิดหัวเสียกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และเป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่ต้องการจะตัดคนกลางทั้งหลายออกจากวงจรนี้

Apple นั้นต้องการควบคุมทุกอย่างแบบเบ็ดเสร็จ แบบที่พวกเขาทำได้กับ iPod ทั้ง Hardware , Software หรือแม้กระทั่งเครือข่ายโทรศัพท์ก็ตามและต้องการที่จะนำผลิตภัณฑ์ของ Apple ส่งไปถึงมือของลูกค้าได้โดยตรง

และไม่ใช่ว่าในช่วงนั้นจะไม่มีคู่แข่งเลยเสียทีเดียวสำหรับ บริษัทมือถือที่ต้องการเข้ามาลุยในตลาดเพลง แน่นอนว่าบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Nokia ก็ได้ออก Nokia N91 ที่สามารถเก็บเพลงได้กว่า 1,000 เพลง คล้าย ๆ iPod Mini แต่สุดท้าย Nokia ก็ไม่สามารถที่จะผลักดันตัวเองให้เข้าไปสู่ธุรกิจเพลงอย่างที่คาดหวังได้เช่นกัน เพราะเหล่าค่ายโทรศัพท์มือถือในสหรัฐอเมริกาไม่ยอมนั่นเอง

Nokia N91 ที่ออกมาท้าชนในตลาดเดียวกับ (CR:IMEI.info)
Nokia N91 ที่ออกมาท้าชนในตลาดเดียวกับ (CR:IMEI.info)

รวมถึงยังมีอีกหลายคนที่ตัดสินใจซื้อโทรศัพท์มือถือ และ iPod แยกกันยังดูจะคุ้มซะกว่า ซึ่ง Apple ก็ได้เปิดตัว iPod Nano ในช่วงเวลาเดียวกันพอดี โดยรุ่น 1 GB สามารถเก็บเพลงได้ 240 เพลง ซึ่งมากกว่า ROKR สองเท่า

ซึ่งเราจะเห็นได้ถึงบทสรุปของการลุยเข้าไปสู่ตลาดมือถือของ Apple ครั้งแรกนั้น ต้องจบลงด้วยความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะ ROKR ไม่ได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีเหมือนที่ลูกค้าคาดหวังจาก Apple และเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความตกต่ำของ Motorola ในคราเดียวกัน

แต่อย่างน้อย ROKR ได้กลายเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าของทีมงาน Apple ทุก ๆ คนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะตัวจ็อบส์เอง และมันได้ทำให้จ็อบส์นั้นค้นพบว่า Apple ควรทำอะไรที่แท้จริงในตลาดโทรศัพท์มือถือ

มันเหมือนเป็นการปลุกไฟของ จ๊อบส์ ให้มีความอยากที่จะสร้างมือถือที่จะปฏิวัติวงการไปแบบสิ้นเชิง มันได้ปลุกไฟของจ๊อบส์ให้กลับมาลุกโชติช่วงอีกครั้งหลังจากได้ปฏิวัติวงการเพลงสำเร็จไปแล้วด้วย iPod

ซึ่งแน่นอนว่าจ็อบส์จะไม่ยอมให้ใครมาครอบงำการสร้างผลิตภัณฑ์ของ Apple อีกต่อไปมันได้เป็นบทเรียนครั้งสำคัญ ว่าหาก Apple ไม่สามารถ Control ทุกอย่างได้เหมือนที่พวกเขาเคยทำ หายนะก็มาเยือนอย่างที่ประสบพบเจอกับมือถือ ROKR นั่นเอง

References :
https://screenrant.com/motorola-rokr-itunes-phone-apple-history/
https://www.gsmarena.com/flashback_the_motorola_rokr_e1_was_a_dud_but_it_paved_the_way_for_the_iphone-news-38934.php
https://www.wired.com/2005/11/phone-2/
หนังสือ สตีฟ จ๊อบส์ : Steve Jobs
ผู้เขียน : Walter Isaacson (วอลเตอร์ ไอแซคสัน)
ผู้แปล : ณงลักษณ์ จารุวัฒน์ และคณะ


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube