Amazon Echo จากฝันสู่ความเป็นจริงในการสร้างคอมพิวเตอร์ Star Trek ของ Jeff Bezos

เฉกเช่นเดียวกับโปรเจกต์อื่น ๆ อีกหลายโปรเจกต์ที่ Amazon ได้ทำการสร้างสรรค์ออกมา ต้นกำเนิดของโปรเจกต์ Doppler (ชื่อแรกของ Echo) ต้องย้อนกลับไปที่การพูดคุยระหว่าง Jeff Bezos และทีมที่ปรึกษาทางด้านเทคนิคของเขา

และชายที่ปรึกษาคนสำคัญของ Bezos ในช่วงระหว่างปี 2009 ถึง 2011 คือ Greg Hart ผู้บริหารของ Amazon ซึ่งมีประสบการณ์ในธุรกิจค้าปลีกช่วงแรก ๆ ของการก่อตั้งบริษัท

Hart ได้พูดคุยกับ Bezos เกี่ยวกับเทคโนโลยี speech recognition ในช่วงปลายปี 2010 ที่ Blue Moon Burgers ในซีแอตเทิล

Hart ได้โชว์ศักยภาพของเทคโนโลยีการค้นหาด้วยเสียงของ Google บนโทรศัพท์ Android ให้ Bezos ดู แต่ตัวของ Bezos ยังสงสัยในเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ว่ามันจะ work บนมือถือจริง ๆ หรือ

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นธุรกิจคลาวด์ของ Amazon กำลังเติบโตแบบฉุดไม่อยู่ Bezos เองก็พยายามสรรหาวิธีว่าจะทำอะไรเพื่อช่วยเหลือเทคโนโลยี AWS (บริการคลาวด์ของ Amazon) ได้บ้าง

ด้วยแรงบันดาลใจในการสนทนากับ Hart และคนอื่น ๆ เกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยี speech recognition ตัว Bezos เองก็เริ่มปิ๊งไอเดียโดยได้ส่งอีเมลไปยังทีมผู้บริหารระดับสูงของบริษัทในหัวข้อที่ว่า

“เราควรสร้างอุปกรณ์ราคา 20 เหรียญสหรัฐที่มีสมองอยู่ในนั้น ระบบคลาวด์ที่ถูกควบคุมด้วยเสียงมันจะ perfect มาก!!!”

Bezos และเหล่าพนักงานหัวกะทิของเขาถกเถียงเรื่องนี้กันอย่างเมามันใน mailing list ยิ่งคุยกันไอเดียมันก็เริ่มพรั่งพรู ถึงขั้นที่ว่า Bezos ต้องจดไอเดียของตัวเขาเองไว้บนไวท์บอร์ด

เกณฑ์ปรกติที่ Bezos มักจะใช้ในการประเมินโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ประกอบด้วย : มันจะเติบโตกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้หรือไม่? , ถ้าเราไม่รีบชิงโอกาสทำซะตอนนี้จะพลาดไหม?

ในที่สุด Bezos และ Hart ก็ขีดฆ่ารายการทั้งหมด ยกเว้นเพียงสิ่งเดียวตามแนวคิดของ Bezos นั่นก็คือ “คอมพิวเตอร์คลาวด์ที่สั่งงานด้วยเสียง”

และก่อนที่พวกเขาจะแยกย้าย Bezos ได้แสดงแนวคิดของเขาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เสียงแบบไร้หน้าจอบนไวท์บอร์ด

มันฉายภาพให้เห็นอุปกรณ์ Alexa เป็นครั้งแรก ประกอบด้วยลำโพง ไมโครโฟน และปุ่มปิดเสียง โดย Hart ได้ถ่ายรูปวาดของต้นแบบด้วยโทรศัพท์ของเขา

และตัว Hart เองก็ได้กลายมาเป็นผู้ดูแลทีมหลัก ซึ่งทีมลับใหม่นี้จะอยู่ฝั่งตรงข้ามถนนจากสำนักงานของ Bezos ในอาคาร Fiona

Greg Hart ผู้ที่ต้องมาสานฝันของ Bezos ให้สำเร็จ (CR:The Wrap)
Greg Hart ผู้ที่ต้องมาสานฝันของ Bezos ให้สำเร็จ (CR:The Wrap)

ในไม่กี่เดือน Hart ได้จ้างกลุ่มคนเล็ก ๆ จากในและนอกบริษัท โดยส่งอีเมลไปยังผู้สนใจโดยมีหัวข้อที่มีความลึกลับว่า “มาเข้าร่วมภารกิจลับกับฉันไหม?”

ส่วนคำถามที่ใช้ในการสัมภาษณ์ เช่น “คุณจะออกแบบ Kindle สำหรับคนตาบอดอย่างไร” Hart เรียกได้ว่าหมกมุ่นอยู่กับความลับไม่ต่างจาก Boss ของเขา

ผู้มาสัมภาษณ์คนหนึ่งเล่าถึงการเดาของเขาว่าโปรเจกต์ลับนี้คงจะเป็นสมาร์ทโฟนที่มีข่าวลืออย่างหนาหูภาายใน Amazon แต่ Hart ได้ตอบกลับมาว่า “มีอีกทีมหนึ่งที่สร้างโทรศัพท์อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราจะทำมันน่าจะสนใจกว่ามาก”

ทีมงาน Alexa รุ่นแรก ๆ ทำงานด้วยความเร่งรีบเนื่องจากเจ้านายของเขาอย่าง Bezos นั้นมีความอดทนต่ำมาก ๆ โดยต้องการที่จะเปิดตัวอุปกรณ์ใหม่ตัวนี้ภายใน 6-12 เดือน

ข่าวร้ายสำหรับทีมงานครั้งแรกปรากฎขึ้นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2011 เมื่อ Apple ได้เปิดตัวผู้ช่วยเสมือนจริงอย่าง Siri ใน iPhone 4S ซึ่งถือได้ว่าเป็นโปรเจกต์สุดท้ายที่ Steve Jobs เข้ามาคลุกคลีก่อนที่จะเสียชีวิต

Apple ได้เปิดตัวผู้ช่วยเสมือนจริงอย่าง Siri ใน iPhone 4S (CR:AnandTech)
Apple ได้เปิดตัวผู้ช่วยเสมือนจริงอย่าง Siri ใน iPhone 4S (CR:AnandTech)

และเพื่อเร่งการพัฒนาสู่สปีดขั้นสุดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของ Bezos ทาง Hart และทีมงานของเขาเริ่มมองหาสตาร์ทอัพที่จะเข้าซื้อกิจการ

โดยบริษัทแรกที่ Amazon เข้าซื้อคือ Yap ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพขนาดเล็กมีพนักงานประมาณ 20 คนในเมืองชาร์ลอตต์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา ที่สร้างเทคโนโลยีในการแปลคำพูดของมนุษย์ เช่น เปลี่ยนเสียงพูดเป็นข้อความโดยอัตโนมัติ

หลังจากการซื้อกิจการสิ้นสุดลงด้วยมูลค่าประมาณ 25 ล้านดอลลาร์ Amazon ก็ไล่ผู้ก่อตั้งบริษัทออก แต่ยังคงกลุ่มทีมงานหัวกะทิไว้ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ และสร้างสำนักงาน R&D แห่งใหม่ขึ้นใน Kendall Square ใกล้กับมหาวิทยาลัย MIT

และเพียงไม่กี่เดือนหลังจากการซื้อ Yap สำเร็จ Hart และเพื่อนร่วมงานของเขาก็สามารถแก้ไขปริศนา Doppler ได้อีกอย่างหนึ่ง โดยมันเป็นสิ่งตรงข้ามกับเทคโนโลยีของ Yap ซึ่งจะแปลงคำพูดเป็นข้อความ

Ivona สตาร์ทอัพสัญชาติโปแลนด์ทำการสร้างคำพูดที่สังเคราะห์ด้วยคอมพิวเตอร์ซึ่งมีลักษณะคล้ายเสียงของมนุษย์

Ivona ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2011 โดย Lukasz Osowski นักศึกษาสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่ Gdan´sk University of Technology โดย Osowski มีแนวคิดที่เรียกว่า ““text to speech” หรือ TTS ซึ่งสามารถอ่านออกเสียงข้อความดิจิทัลด้วยเสียงที่เป็นธรรมชาติ

Osowski รู้ว่าเทคโนโลยีของเขาทรงพลังมากเพียงใด เขาได้จ่ายเงินให้กับนักแสดงชื่อดังชาวโปแลนด์ชื่อ Jacek Labijak เพื่อนำเอาเสียงพูดมาเป็นฐานข้อมูลเสียงสำหรับซอฟต์แวร์ของเขา

ผลลัพธ์ที่ได้คือผลิตภัณฑ์แรกของพวกเขาอย่าง Spiker ซึ่งกลายเป็นเสียงคอมพิวเตอร์ที่มียอดขายสูงที่สุดในโปแลนด์อย่างรวดเร็ว และมีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในรถไฟใต้ดิน ลิฟต์ หรือที่อื่นๆ อีกมากมาย

การซื้อกิจการครั้งนี้ Amazon ได้จ่ายเงินไปกว่า 30 ล้านดอลลาร์ และดีลเสร็จสิ้นในปี 2012 แต่ถูกเก็บไว้เป็นความลับราวๆ หนึ่งปี โดย Amazon ได้สร้างศูนย์ R&D แห่งใหม่ที่ Gdan´sk ซึ่งได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการสร้างเสียงของ Doppler

ในขณะที่ทีม Doppler จ้างวิศวกรและเข้าซื้อสตาร์ทอัพหลายแห่ง ก็มีการถกเถียงกันอย่างถึงพริกถึงขิงในสำนักงานของ Amazon ที่ซีแอตเทิลว่าอุปกรณ์ดังกล่าวควรจะไปในทิศทางใด

Hart มองว่าการนำมาเล่นเพลงน่าจะเป็นคุณสมบัติที่เข้าท่า มีตลาดใหญ่รองรับ และสามารถทำการตลาดได้ง่าย

แต่ Bezos นั้นมีความคิดที่ทะเยอทะยานกว่านั้น โดยเริ่มพูดคุยเกี่ยวกับ “คอมพิวเตอร์ Star Trek” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถจัดการกับคำถามใด ๆ และทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยส่วนตัวได้

ด้วยความหลงใหลในนิยายวิทยาศาสตร์ Bezos บังคับให้ทีมของเขาคิดให้ใหญ่ขึ้นและผลักดันขอบเขตของเทคโนโลยีที่มีอยู่ กลับกัน Hart ต้องเผชิญกับแรงกดดันที่จะต้องผลักดันวิสัยทัศน์ดังกล่าวให้กลายเป็นความจริง เขาต้องการแค่ฟีเจอร์พื้นฐานที่เชื่อว่าจะทำได้ เช่น การรายงานสภาพอากาศ การตั้งเวลาและการเตือน เป็นต้น

สิ่งที่ถกเถียงกันอีกเรื่องนึงก็คือการปลุกให้อุปกรณ์นี้มันเริ่มทำงานจะเรียกมันว่าอะไร? ทางฝั่ง Bezos ต้องการคำที่ไพเราะ มีการแนะนำคำเรียกต่าง ๆ เช่น “Finch” ชื่อนวนิยายนักสืบแฟนตาซีโดย Jeff VanderMeer , “Friday” ตามชื่อผู้ช่วยส่วนตัวในนวนิยายของโรบินสัน ครูโซ และ “Samantha” แม่มดที่สามารถกระพริบตาและทำภารกิจใด ๆ ในรายการทีวีชื่อดังอย่าง Bewitched หรือแม้กระทั่งยังเสนอชื่อเรียกง่าย ๆ ว่า “Amazon” ไปซะเลย

ผู้นำทีม Doppler ถกเถียงกันอย่างหนักว่าจะเอาชื่ออะไรกันแน่ แต่มีคำแนะนำหนึ่งจาก Bezos ที่ทุกคนต่างสนใจ “Alexa” ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพต่อห้องสมุดโบราณแห่งอเล็กซานเดรีย ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงแห่งความรู้

หลังจากมีการถกเถียงและทดสอบในห้องปฏิบัติการชื่ออย่าง “Alexa” และ “Amazon” ดูเหมือนจะเข้าท่าที่สุด ซึ่งกลายมาเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ

อุปกรณ์เริ่มถูกทดลองแบบจำกัดเฉพาะในบ้านของพนักงาน Amazon ในช่วงต้นปี 2013 ซึ่งอุปกรณ์รุ่นนี้ เหล่าพนักงานมองว่ามันไม่ฉลาดเอาซะเลย โดยรวมแล้วถือว่าช้าและแทบจะเป็นใบ้

แม้กระทั่งการทดลองด้วยตนเองโดย Bezos ที่นำอุปกรณ์มาติดตั้งที่บ้านในซีแอตเทิลของเขา ด้วยความหงุดหงิดและไม่ค่อยเข้าใจฟังก์ชันการทำงานของมัน เขาถึงกับบอกให้ Alexa ไปยิงหัวตัวเองซะ

มันแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสิ่งที่ Bezos ฝันหวานไว้นั้น ไม่ได้เป็นเรื่องง่ายที่จะสร้างมันขึ้นมา และ Alexa ต้องได้รับการปลูกถ่ายสมองครั้งใหญ่เพื่อให้มันฉลาดขึ้น

และมันนำไปสู่การซื้อกิจการครั้งที่สาม ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพด้านปัญญาประดิษฐ์ในเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ชื่อ Evi โดยผู้ประกอบการชาวอังกฤษ William Tunstall-Pedoe ซึ่งดีลนี้ Amazon ทุ่มเงินไปกว่า 26 ล้านดอลลาร์

ในปี 2012 Tunstall-Pedoe ได้รับแรงบันดาลใจจากการเปิดตัวของ Siri โดยเริ่มเปิดตัวแอป Evi บน App Store และ Play Store ผู้ใช้สามารถถามคำถามโดยการพิมพ์หรือพูด โดย Evi จะทำการประเมินคำถามและพยายามเสนอคำตอบแบบ Realtime ซึ่งคล้ายๆ กับสิ่งที่เราเห็นใน ChatGPT ณ ปัจจุบันนั่นเอง

การบูรณาการเทคโนโลยีของ Evi ช่วยให้ Alexa ตอบคำถามที่เป็นข้อเท็จจริง เช่น การร้องขอให้ตั้งชื่อดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ โดยพื้นฐานทางเทคโนโลยีของ Evi จะใช้เทคนิคที่เรียกว่า Knowledge Graph ซึ่งจะเชื่อมโยงแนวคิดและหมวดหมู่ในโดเมนที่เกี่ยวข้อง

แต่ดูเหมือนว่าเทคนิคการใช้ Knowledge Graph ของ Evi นั้นจะไม่ทำให้ Alexa มีสติปัญญาแบบล้ำเลิศอย่างแท้จริงที่จะสนองความฝันของ Bezos ที่ต้องการผู้ช่วยอเนกประสงค์ที่สามารถพูดคุยกับผู้ใช้และตอบคำถามใด ๆ ก็ได้

อีกหนึ่งเทคนิคที่กำลังกลายเป็นที่ฮือฮาในยุคนั้นก็คือ Deep Learning ที่เป็นเทคโนโลยีหลักของ ChatGPT อย่างที่เราใช้กันในทุกวันนี้นั่นเอง

Deep Learning จะได้รับข้อมูลจำนวนมหาศาลเกี่ยวกับวิธีการสนทนาของผู้คนและคำตอบใดที่น่าพึงพอใจ จากนั้นจึงตั้งโปรแกรมฝึกตนเองเพื่อคาดเดาคำตอบที่ดีที่สุด และผู้ที่ผลักดันแนวคิดนี้ก็คือ Rohit Prasad ที่เป็นบุคลากรภายใน Amazon

ในขณะที่ทีม Doppler พยายามปรับปรุงความสามารถของ Alexa อยู่นั้น Bill Barton ซึ่งเป็นผู้บริหารสำนักงานในบอสตันของ Amazon ได้แนะนำ Prasad ให้กับ Greg Hart ได้รู้จัก

Prasad เป็นพนักงานคนสำคัญที่สนับสนุนให้ Alexa ใช้เทคโนโลยี Deep Learning เพราะมองว่า Knowledge Graph ของ Evi จะให้คำตอบที่กว้างจนเกินไป ด้วยการใช้การฝึกอบรมข้อมูลผ่านเทคโนโลยี Deep Learning ระบบสามารถตอบคำถามได้รวดเร็วกว่ามาก

Rohit Prasad ผู้มาผลักดันเทคโนโลยี Deep Learning แบบเต็มตัว (CR:GeekWire)
Rohit Prasad ผู้มาผลักดันเทคโนโลยี Deep Learning แบบเต็มตัว (CR:GeekWire)

แม้ว่าแนวทางในการใช้เทคโนโลยี Deep Learning จะได้ผล แต่ Prasad ไม่ต้องการเปิดตัวระบบที่ไม่ฉลาดจริง เพราะลูกค้าจะไม่ใช้มัน ข้อมูลที่มีอยู่ใน Amazon มันยังไม่เพียงพอ เขาต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อฝึกอบรมระบบให้ชาญฉลาดยิ่งขึ้น

Bezos สั่งลุยทันทีโดยให้ Amazon ทำสัญญากับบริษัทรวบรวมข้อมูลของออสเตรเลียที่มีชื่อว่า Appen โดยทำงานร่วมกับทีม Alexa ทำการเช่าบ้านและอพาร์ตเมนต์ โดยเริ่มจากในเมืองบอสตันเป็นอันดับแรก

จากนั้น Amazon ก็ได้วางอุปกรณ์ เช่น ไมโครโฟนแบบตั้งพื้น เครื่องเกม Xbox โทรทัศน์ และแท็บเล็ต โดยทำการสอดแนมด้วยอุปกรณ์ของ Alexa ประมาณ 20 ชิ้นที่ติดตั้งอยู่รอบ ๆ ห้องที่มีความสูงแตกต่างกัน โดยแต่ละชิ้นหุ้มด้วยผ้ากันเสียงเพื่อซ่อนอุปกรณ์เหล่านั้นจากการมองเห็น แต่ปล่อยให้เสียงลอดผ่านได้

จากนั้น Appen ก็ได้ทำการเซ็นสัญญากับบริษัท outsource ว่าจ้างคนงานให้มาอยู่ในห้องดังกล่าว แปดชั่วโมงต่อวัน หกวันต่อสัปดาห์ อ่านสคริปต์จาก iPad ที่มีประโยคและคำถามปลายเปิด เช่น “ขอให้เล่นเพลงโปรดของคุณ” หรือ “ถามอะไรก็ได้ที่คุณอยากให้ผู้ช่วยทำ”

ลำโพงจะถูกปิด ดังนั้น Alexa จึงไม่ได้ยินเสียงใด ๆ แต่ไมโครโฟนทั้งเจ็ดตัวในแต่ละอุปกรณ์จะจับทุกอย่างและสตรีมเสียงไปยังเซิร์ฟเวอร์ของ Amazon

เหล่ากองทัพคนงาน outsource จะมีการใส่คำอธิบายประกอบการถอดเสียง โดยจัดประเภทคำถามที่อาจทำให้เครื่องสะดุด เช่น “เปิด Hunger Games” ซึ่งเป็นการร้องขอให้เล่นภาพยนตร์ของ Jennifer Lawrence เพื่อที่ครั้งต่อไป Alexa จะได้เรียนรู้

ต้องบอกว่าการทดสอบครั้งใหญ่ในบอสตันเหมือนจะเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ดังนั้น Amazon จึงขยายโครงการโดยเช่าบ้านและอพาร์ตเมนต์เพิ่มเติมในซีแอตเทิลและเมืองอื่น ๆ อีก 10 เมืองในช่วงหกเดือนเพื่อบันทึกเสียงและรูปแบบคำพูดของอาสาสมัครที่ได้รับค่าจ้างอีกหลายพันคน

มันทำให้ทีมงาน Amazon ได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับข้อมูลของการวางตำแหน่งอุปกรณ์ สภาพแวดล้อมของเสียง เสียงพื้นหลัง สำเนียงที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค และวิธีที่มนุษย์อาจะใช้วลีคำของ่าย ๆ เพื่อฟังสภาพอากาส เป็นต้น หรือให้เล่นเพลงฮิตของ Justin Timberlake

ภายในปี 2014 บริษัทได้เพิ่มการจัดเก็บข้อมูลคำพูดสูงขึ้นหมื่นเท่า และสามารถปิดช่องว่างทางด้านข้อมูลเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง Apple และ Google ได้สำเร็จ

แต่เมื่อ Alexa มันใกล้จะเสร็จสมบูรณ์เต็มทีแล้ว ทีมงานยังไม่รู้ว่าจะตั้งชื่อเจ้าอุปกรณ์ตัวนี้ว่าอย่างไร มันเป็นเวลาเกือบสี่ปีที่ทีมงานต่างถกเถียงกันในเรื่องชื่อที่แท้จริงของอุปกรณ์ตัวนี้

ทีมงานต่างถกเถียงกันไม่รู้จบว่าควรจะมีหนึ่งหรือสองชื่อสำหรับผู้ช่วยเสมือน (Alexa) และชื่อของอุปกรณ์ที่เป็นฮาร์ดแวร์

แต่ไม่ถึงหนึ่งเดือนก่อนที่จะเปิดตัว Bezos ได้ตัดสินใจเลือกที่จะนำเอาฟีเจอร์ของ Alexa นั่นก็คือ Echo ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่ผู้ใช้งานสามารถขอให้ Alexa พูดคำหรือวลีซ้ำออกมาได้ (หลังจากนั้นคำสั่งนี้ถูกเปลี่ยนเป็น “Simon Says”)

การเปิดตัว Amazon Echo เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2014 เกิดขึ้นหลังจากความล้มเหลวของ Fire Phone เพียงไม่กี่เดือนก่อนหน้า ไม่มีการแถลงข่าวหรือการกล่าวสุนทรพจน์โดย Bezos แต่อย่างใด

ในทางกลับกัน Bezos ดูจะสบายใจกว่าด้วยแนวทางใหม่ที่เรียบง่าย : ทีมงานได้ประกาศเรื่องอุปกรณ์ Echo พร้อมข่าวประชาสัมพันธ์และวีดีโออธิบายความยาวสองนาทีบน Youtube ที่มีครอบครัวหนึ่งพูดคุยกับ Alexa อย่างร่าเริงเพียงเท่านั้น

เหล่าผู้บริหาร Amazon เองก็ยังไม่ค่อยมั่นใจอุปกรณ์ตัวนี้เท่าไหร่นัก พยายามที่จะบอกกับกลุ่มลูกค้าว่ามีหลายๆ โดเมนที่พวกเขามั่นใจว่ามีประโยชน์ เช่น การส่งข่าวสารและสภาพอากาศ การตั้งเวลา การซื้อของ และการเล่นเพลง

หลังจากสี่ปีของการพัฒนาอย่างยากลำบาก เหล่าทีมงาน Doppler หลายคนเริ่มวิตกกังวลว่า Amazon Echo จะเจริญรอยตามความล้มเหลวของ Fire Phone เพราะพวกเขายังแทบไม่มั่นใจในผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาสร้างมันขึ้นมาเลยด้วยซ้ำ

แต่สิ่งที่เหลือเชื่อคือ ไม่กี่สัปดาห์ถัดมา ลูกค้าจำนวนหนึ่งแสนเก้าพันรายได้ลงทะเบียนเพื่อรอรับ Echo แถมยังได้รับการวิจารณ์เชิงบวกจากสื่อต่างๆ โดยบางสื่อถึงกับเล่นข่าวว่า “นี่คืออุปกรณ์ที่ล้ำสมัยที่สุดที่ Amazon ผลิตในรอบหลายปี”

Amazon Echo รุ่นแรกที่ประสบความสำเร็จแทบจะทันทีที่วางจำหน่าย (CR:Life Mobile)
Amazon Echo รุ่นแรกที่ประสบความสำเร็จแทบจะทันทีที่วางจำหน่าย (CR:Life Mobile)

เรียกได้ว่าสัญชาตญาณของ Bezos นั้นถูกต้อง มันเป็นอุปกรณ์มหัศจรรย์ตามความฝันของ Bezos ที่เข้ามาอยู่ในบ้านของชาวอเมริกันหลายล้านคน ลำโพงที่สามารถตอบสนองได้ดั่งมีเวทย์มนต์โดยที่ผู้คนแทบจะไม่ต้องแตะหน้าจอสมาร์ทโฟน

ณ สิ้นปี 2016 Amazon Echo ถูกจำหน่ายไปกว่าแปดล้านเครื่อง ผลักดันให้ Amazon บริษัทลำโพงที่มียอดขายสูงที่สุดในโลก และขึ้นมาสู่แนวหน้าของการเป็นบริษัทด้าน AI ชั้นนำของโลก

ต้องบอกว่าวิสัยทัศน์พร้อมกับความกล้า บ้าบิ่นของ Bezos เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุปกรณ์ตัวใหม่อย่าง Echo ประสบความสำเร็จ แน่นอนว่าการเข้ามาคลุกคลีแบบถึงลูกถึงคนของ Bezos นั้นอาจจะทำให้ทีมงานแทบไม่ได้หลับนอน แต่สุดท้ายมันก็ให้ผลลัพธ์ที่ประเมินค่าไม่ได้อย่างที่ Echo ได้กลายเป็นอุปกรณ์ที่เข้ามาปฏิวัติวงการได้สำเร็จนั่นเองครับผม

References :
หนังสือ Amazon Unbound: Jeff Bezos and the Invention of a Global Empire โดย Brad Stone
https://en.wikipedia.org/wiki/Amazon_Echo
https://www.businessinsider.com/the-inside-story-of-how-amazon-created-echo-2016-4
https://www.wired.com/story/how-amazon-made-alexa-smarter/


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube