สิ่งที่พวกเราควรต่อสู้อย่างแท้จริงในโลกยุค Digital Bias

ต้องบอกว่าเป็นหัวข้อที่ผมสนใจเป็นอย่างมาก ในเรื่องราวของโลกยุค Digital Bias ที่กำลังเปลี่ยนแปลงสังคมของมนุษย์เราอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

พอดีวันนี้ได้มีโพสต์นึงที่มีความน่าสนใจที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้มาก และ เป็น Quotes ที่โดนใจผมมาก ๆ ของคุณ Patai Padungtin ที่ผมอยากจะมาแตกประเด็นต่อในเรื่องดังกล่าวนี้

“ท่ามกลางการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ที่ตั้งคำถามกับระบอบการปกครองและเรียกร้องเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น… นอกจากการตั้งคำถามเรื่องรัฐธรรมนูญแล้ว เราควรตั้งคำถามกับ ”ระบบ” ที่เราใช้ชีวิตดิจิทัลกันอยู่ด้วยมั้ย? คุณเห็นโพสต์นี้ของผมเพราะอะไร ทำไมมีเพื่อนอีกหลายคนของผมไม่เห็น… ใครกำหนด แล้วมันแฟร์มั้ย? บางทีมันอาจจะแย่พอๆ กับ 250 เสียงที่เอาเปรียบกันอยู่ในรัฐสภาก็ได้… เราควรลุกมาเรียกร้องบ้างมั้ย? กติกาที่เราใช้ชีวิตดิจิทัลอยู่นี่ กำหนดโดยคนหัวทองไม่กี่คน ที่สร้างปัญหาไปทั่วโลก”

ต้องบอกว่าเป็น Quotes ที่สะท้อนปัญหาหลัก และเป็น Key ที่สำคัญที่สุดของสังคมมนุษย์เราในยุคปัจจุบัน และไม่ได้เป็นเพียงแค่สังคมในประเทศไทยเท่านั้น แต่ตอนนี้ มันได้ส่งผล Impact ต่อเรื่องใหญ่ ๆ ทั่วโลก สำหรับ พลังของ Digital Bias ที่มีต่อโลกของเราในขณะนี้

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก หรือแม้กระทั่งการเมืองระดับโลกที่ พลังของ Digital Bias กำลังมีบทบาทที่สำคัญต่อการกำหนดความเป็นไปของสถานการณ์ต่าง ๆ ในโลกเรา

ไม่ว่าจะเรื่องสงครามก่อการร้าย การเลือกตั้ง การเมืองในแทบจะทุกประเทศ แม้กระทั่งการให้ข้อมูลผิด ๆ ในเรื่องสำคัญของโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาวะโลกร้อน การเหยียดผิวแบบสุดโต่ง โรคระบาดอย่าง COVID-19 ข่าวปลอมเรื่องทางการเมือง การใส่ร้ายป้ายสีคู่แข่งทางการเมือง ที่มีอยู่ในทุก ๆ แห่งทั่วโลก

มันได้ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนที่สุดต่อเรื่องของชุดความคิดของมนุษย์ ที่เชื่อในความคิดตัวเองแบบสุดโต่ง ซึ่งเราจะเห็นได้ถึงการถกเถียงในเรื่องต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหลาย ที่เถียงกันไปแบบ 100 ปี ก็ไม่มีวันจบ เพราะเป็นเรื่องของความเชื่อในชุดข้อมูลของตัวเอง

แล้วชุดความคิดของพวกเราเหล่านี้มาจากไหนล่ะ ?

แน่นอนว่าในยุคปฏิวัติข้อมูลข่าวสารที่ข้อมูลต่าง ๆ นั้น หาได้ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้ว ทำให้ทุกคนต่างหาข้อมูลในทุกเรื่อง ๆ ได้ แต่คุณจะได้ความจริงหรือไม่นั้น เป็นคำถามที่น่าสนใจ

แน่นอนว่า พวกเราค้นหาข้อมูลผ่าน แพล็ตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Google ,Youtube , Facebook หรือ Twitter ซึ่งก็จะได้ชุดข้อมูล และชุดความคิดมาอย่างนึง จากเรื่องนั้น ๆ

มีการยกตัวอย่างที่น่าสนใจจากสารคดี The Social Dilemma ก็คือ หากเราเข้า Google และค้นหาคำว่า “ภาวะโลกร้อน” เราจะได้เห็นผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เราอาศัยอยู่ ในบางเมืองนั้นอาจจะมีการแนะนำคำค้นหาว่า “ภาวะโลกร้อนคือเรื่องลวงโลก” แต่ในบางสถานที่ เราจะได้เห็นการแนะนำคำค้นหาว่า “ภาวะโลกร้อนทำให้ธรรมชาติพังทลาย” ซึ่งมันเป็นชุดข้อมูลที่ต่างกันแบบสุดขั้ว

ต้องบอกว่าจุดสำคัญก็คือ เมื่อเทคโนโลยีอยู่บนพื้นฐานของเรื่องการสร้างรายได้ เพราะฉะนั้นกลไกเบื้องหลังของอัลกอริธึมเหล่านี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความจริงจากตัวอย่างที่กล่าวในเรื่องภาวะโลกร้อนแต่อย่างใด มันอยู่ที่ เรื่องต่าง ๆ ที่ Google , Youtube , Facebook , Twitter หรือ แพล็ตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เรียนรู้เกี่ยวกับความสนใจของเราต่างหาก

เรื่องนี้ผมเคยทดสอบด้วยตัวเอง ด้วยการแยกร่างตัวเองด้วยมือถือสองเครื่องที่มีแนวความคิดทางการเมืองที่ตรงข้ามกันแบบสุดขั้ว และ engage กับมันให้มากที่สุดกับทุกแพล็ตฟอร์มในทั้งสองขั้วการเมืองนั้น ซึ่งพบว่าผลลัพธ์มันเป็นอย่างงั้นจริง ๆ มันเหมือนร่างผมทั้งสองร่างนั้นอยู่กันคนละโลกเลยทีเดียวผ่านข้อมูลที่ได้รับจากมือถือทั้งสองเครื่อง เดี๋ยวผมจะเอาผลการทดสอบมาเล่ารายละเอียดให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง

แต่ถ้าไม่เชื่อ ลองเปิดมือถือ ของคนที่มีแนวคิดทางการเมืองที่ตรงข้ามคุณดูสิ แล้วลองแลกกันดูข้อมูลต่าง ๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่คุณกำลังถกเถียงกันผ่านแพล็ตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้ แล้วดูว่า ผลลัพธ์ที่ได้มันเหมือนกันไหม? แล้วคุณจะตกใจว่าเรื่องไหนมันเป็นเรื่องจริงกันแน่

และแน่นอนว่า มันเป็นแบบนี้กับทุก ๆ เรื่องที่เราเสพข้อมูลผ่านแพล็ตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้ เราอาจจะไม่ได้รับความจริง จากแพล็ตฟอร์มเหล่านี้ในทุก ๆ เรื่อง แต่ละคนได้ข้อมูลที่แตกต่างกัน ตามความสนใจ และระบบอัลกอริธึมเบื้องหลังของแพล็ตฟอร์มเหล่านี้

และนั่น ทำให้ ในหลาย ๆ เรื่องที่เราถกเถียงกันนั้น ทุกคนต่างเชื่อในชุดข้อมูลของตัวเอง เราจะเห็นได้ในหัวข้อถกเถียงในหลาย ๆ ประเด็น ที่เถียงกันไปเถียงกันมาแบบไม่รู้จบ เพราะทุกคนต่างเชื่อว่า ชุดข้อมูลที่อยู่ในหัวตัวเองนั้นเป็นเรื่องจริงนั่นเอง

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมเห็นด้วยมาก ๆ ตาม Quotes ข้างบน คือ สิ่งที่เราควรต่อสู้อย่างแท้จริงในโลกยุคปัจจุบัน ก็คือ กฏ กติกาที่พวกเราต้องใช้ชีวิตในโลก Digital ที่กำหนดโดยคนหัวทองไม่กี่คน และมันกำลังสร้างปัญหาต่าง ๆ ไปทั่วโลกอย่างที่เราได้เห็นกันในทุกวันนี้นั่นเองครับ

Credit ต้นทาง post : https://www.facebook.com/patai/posts/10222306097861913


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube