The Greate Cloud กับกฏหมายความปลอดภัยข้อมูลใหม่ ที่บริษัทเอกชนในจีนต้องย้ายข้อมูลไปยัง Cloud ของรัฐ

หลายคนน่าจะรู้จัก The Greate Firewall ของประเทศจีนเป็นอย่างดี ที่เป็นกำแพงเซ็นเซอร์ข้อมูลขนาดยักษ์ที่รัฐบาลจีน ใช้กรองข้อมุลในเรื่องความมั่นคงต่าง ๆ ที่ไหลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตของประเทศจีน

แต่จากการออกมาปราบปรามครั้งใหญ่กับบริษัทเทคชั้นนำหลายแห่งในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมาก ต้องบอกว่าก้าวต่อไปของรัฐบาลจีนนั้นมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก

ซึ่งกฏหมายความปลอดภัยข้อมูลใหม่ที่กำลังจะออกมานั้น เป็นการบังคับให้เหล่าบริษัทเอกชนย้ายข้อมูลจากบริการ cloud ของตนเอง เช่นในบริการของ Alibaba หรือ Tencent มายังระบบ Cloud ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล

เรียกได้ว่าเป็นการออกกฏหมายที่สร้างปั่นป่วนให้กับธุรกิจเทคโนโลยีของจีนอย่างต่อเนื่องเลยทีเดียว ซึ่ง เมืองแรกที่ได้ออกมาจัดการเรื่องนี้แบบเด็ดขาดก็คือเทียนจิน

เทียนจิน เมืองแรกที่จะมีการจัดการอย่างเด็ดขาด (CR:wikimedia.org)
เทียนจิน เมืองแรกที่จะมีการจัดการอย่างเด็ดขาด (CR:wikimedia.org)

โดยข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกย้ายไปยังโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลที่ควบคุมโดยคณะกรรมการกำกับและดูแลทรัพย์สินของรัฐ (Sasac) ภายในสองเดือนหลังจากสิ้นสุดสัญญาเช่าที่มีอยู่เดิม

“ข้อมูลของรัฐวิสาหกิจเป็นทรัพย์สินของรัฐและต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแล” เป็นคำประกาศที่ค่อนข้างมีท่าทีที่แข็งกร้าวจากรัฐบาลจีน

Sasac ดูแลบริษัทในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุด 97 แห่งของประเทศจีน ซึ่งรวมถึง China National Petroleum Corporation , Baowu Steel และ China Mobile โดยดูแลทรัพย์สินประมาณ 70 ล้านล้านหยวน (10.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

ซึ่งกฏหมายดังกล่าวที่ออกมานั้น ที่เริ่มด้วยเมืองเทียนจิน มีบทลงโทษที่รุนแรงมาก ๆ หากมีการละเมิด

มีค่าปรับสูงสุด 10 ล้านหยวนสำหรับเรื่องการถ่ายโอนข้อมูลไปยังต่างประเทศที่ไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลจีน ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ธุรกิจของประเทศจีนที่โดนเท่านั้น แต่ธุรกิจต่างชาติที่มาทำธุรกิจในประเทศจีนและเก็บข้อมูลผู้ใช้ชาวจีนก็โดนในลักษณะเดียวกัน

แน่นอนว่า มันส่งผลกระทบโดยตรงต่อหลาย ๆ ธุรกิจ ตัวอย่างเช่น Tesla ที่ได้รับเงินทุนจากการระดมทุนในต่างประเทศ ตอนนี้ Tesla ก็ต้องมีการปรับตัวให้มาเก็บข้อมูลภายในประเทศจีนเช่นเดียวกัน

หากวิเคราะห์กันจริง ๆเรื่องนี้ น่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานในประเทศจีนโดยตรง ซึ่งตลาดนี้มีการเติบโต 49.7% และมีมูลค่าตลาดสูงถึง 19.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมาก

สำหรับกลุ่มบริษัทที่ได้รับผลกระทบได้แก่ Alibaba ซึ่งเป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่งการตลาด 40.6% รองลงมือคือ Tencent และ Huawei ที่ 11% ส่วน China Telecom มีส่วนแบ่งอยู่ที่ราว ๆ 8.7%

Alibaba Cloud ที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดอาจโดนผลกระทบไปเต็ม ๆ (CR:Data Center Dynamics)
Alibaba Cloud ที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดอาจโดนผลกระทบไปเต็ม ๆ (CR:Data Center Dynamics)

และเมื่อเดือนที่แล้ว หน่วยงานกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมของเจ้อเจียง กล่าวหาว่า Alibaba Cloud ละเมิดกฏหมายความปลอดภัยทางไซเบอร์ของจีน ภายหลังการร้องเรียนเกี่ยวกับการรั่วไหลของข้อมูลในปี 2019

ซึ่ง ปัจจัยหลักและสำคัญที่สุดของความกังวลของรัฐบาลจีนนั้น น่าจะมาจากเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ที่บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้เก็บข้อมูลสำคัญ ๆ ไว้จำนวนมหาศาล

และต้องบอกว่ามันมีข้อมูลบางส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐโดยตรง อย่างเคสของ Didi Chuxing ซึ่งได้ถูกเรียกสอบสวนหลังจากการทำ IPO ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ต้องบอกว่าเป็นการรุกลุยหนักเลยทีเดียวนะครับสำหรับรัฐบาลจีน ในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมา ยิ่งการเข้ามาจัดการเรื่องข้อมูลให้เก็บในระบบ cloud ของรัฐถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ๆ

เหมือนว่าเราทำธุรกิจ แต่สิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลของเราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะมีมือที่สามเข้ามายุ่มย่ามในข้อมูล ที่เราหามาได้จากธุรกิจ

และดูเหมือนว่า การบีบเข้ามาเรื่อย ๆ แบบนี้ของรัฐบาลจีน นั้น สุดท้ายเป้าหมายใหญ่ที่สุดของพวกเขา อาจจะเป็นการควบรวมแบบเบ็ดเสร็จ อาจจะเป็นของรัฐเลย 100% หรือ อยู่ในรูปแบบรัฐวิสาหกิจเหมือนกับหลายๆ กิจการยักษ์ใหญ่ในจีนตอนนี้ก็เป็นได้

ก็ต้องมาติดตามดูกันต่อไปนะครับว่าศึกระหว่างบริษัทเทคของจีน กับรัฐบาลที่มีอำนาจล้นฟ้าของประเทศจีนนั้น สุดท้ายจะเป็นเช่นไร แต่แน่นอนว่า ตอนนี้เหล่านักลงทุนต่างขวัญผวาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากปัญหาเหล่านี้ ซึ่งได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญสำหรับนักลงทุนที่คิดจะลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีของประเทศจีนไปแล้วนั่นเองครับผม

References : https://www.scmp.com/economy/china-economy/article/3146743/data-security-law-china-orders-state-firms-migrate-government
https://www.msn.com/en-in/news/world/now-china-asks-private-firms-to-migrate-data-to-government-run-cloud-services/ar-AANRN2n
https://www.reuters.com/technology/tianjin-asks-govt-firms-move-data-out-alibaba-tencent-clouds-document-2021-08-27/

The Great Firewall สื่อของรัฐและการเซ็นเซอร์จัดการกับ coronavirus ในจีนอย่างไร

ต้องบอกว่าเป็นคำถามที่สนใจมาก ที่สาเหตุใด ประเทศจีน ที่ดูเหมือนจะใช้วัคซีน ที่ผลิตในประเทศตัวเองเป็นหลักอย่าง sinopharm หรือ sinovac ที่กำลังเป็นประเด็นปัญหาในทั่วโลกอยู่ตอนนี้ในเรื่องความสามารถในการจัดการกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๆ เช่น สายพันธุ์ เดลต้า ที่กำลังระบาดหนักอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ แต่จัดการกับการแพร่ระบาดได้สำเร็จ

ต้องบอกว่า key หลักสำคัญหนึ่งประการในการจัดการการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในครั้งนี้ ก็คือเรื่อง ความสามารถในการควบคุมสื่อได้แบบเบ็ดเสร็จของรัฐบาลจีนผ่าน The Greate Firewall นั่นเอง

ซึ่งในช่วงต้นของการระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศจีนนั้น มีการแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลนับพัน ปรากฏขึ้นบนเครือข่าย Social Media ในประเทศจีน โดยมีการตั้งคำถามกับรัฐบาลว่ากำลังปกปิดเรื่องไวรัสที่คล้ายกับซาร์หรือไม่

แม้ในช่วงแรก ๆ รัฐบาลก็พยายามปิดกั้น เซ็นเซอร์ ข้อความต่าง ๆ เหล่านี้บนแพลตฟอร์ม เช่น Sina Weibo แต่มันก็มีปริมาณมากจนหลายคนยังสามารถที่จะมองเห็นได้

การเซ็นเซอร์ในช่วงแรก ๆ ของการแพร่ระบาดนั้นเป็นไปได้ช้า เนื่องจากความโมโหของประชาชนชาวจีน ซึ่งในช่วงเดือนมกราคม และ กุมภาพันธ์ปี 2020 นั้น สื่อหลายแห่งได้ใช้โอกาสนี้ ในการเผยแพร่การสืบสวน ซึ่งได้ถูกแชร์อย่างกว้างขวางบน Social Media ของจีน

ถึงขนาดที่ว่า ในช่วงการระบาดหนัก ๆ ในช่วงแรกนั้น มีการตำหนิไปทุกทิศทุกทางจากประชาชนชาวจีน ในช่วงกลางเดือนมกราคม ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง แทบจะหายไปจากหน้าสื่อของประเทศจีน เขาแทบไม่ถูกพบเห็นในที่สาธารณะเลยด้วยซ้ำ มีการคาดเดาว่าเขากำลังหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับประชาชนในช่วงวิกฤติหนักของการแพร่ระบาด

ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน เมื่อปักกิ่งมีกลยุทธ์ใหม่ในการโฆษณาชวนเชื่อ รายงานเหล่านี้ ก็ถูกกำจัดหายไปจนหมดสิ้นบนโลกออนไลน์ของประเทศจีน

ภายในหนึ่งสัปดาห์ สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนไปอย่างมาก เจ้าหน้าที่ระดับสูงเริ่มเตือนรัฐบาลท้องถิ่นในอู่ฮั่นว่า “จะถูกตอกย้ำถึงความอับอายทางประวัติศาสตร์ตลอดไป” หากพวกเขาไม่เปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ในพื้นที่ของตน

นั่นทำให้ สื่อจีนและ social media นั้นยิงคำถามตรงไปที่รัฐบาลท้องถิ่นของอู่ฮั่นทันที โดยหนังสือพิมพ์อย่าง Beijing News ได้เขียนบทวิพากษ์วิจารณ์แบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนว่า “ทำไมอู่ฮั่นไม่แจ้งให้สาธารณชนทราบเร็วกว่านี้”

จากนั้นประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ก็ปรากฏตัวขึ้นอีกครั้ง ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ในฐานะเสาหลักแห่งความเชื่อมั่น และความแข็งแกร่งท่ามกลางการฟื้นตัวของจีน

ในช่วงที่สังคมกำลังสับสน ดร.หลี่ เหวินเหลียง กลายเป็นที่รู้จักในระดับสากลในฐานะแพทย์ “ผู้แจ้งเบาะแส” ซึ่งพยายามเตือนเพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับไวรัสที่มีลักษณะคล้ายซาร์ แต่เรื่องเหลือเชื่อก็เกิดขึ้นเมื่อ ดร.หลี่ ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ หลังจากพบกว่าเขาถูกสอบสวนในเรื่อง “แสดงความคิดเห็นที่เป็นเท็จ” ต่อสาธารณะ

ดร.หลี่ เหวินเหลียง ผู้เสียสละตัวจริง (CR:VOANews)
ดร.หลี่ เหวินเหลียง ผู้เสียสละตัวจริง (CR:VOANews)

แม้รัฐบาลจีนจะยอมรับอย่างเป็นทางการว่า ดร. หลี่ เหวินเหลียง เป็นผู้เสียสละ แต่นักเคลื่อนไหวอีกหลายคน ก็ประสบพบเจอชะตากรรมเดียวกันไม่ต่างจาก ดร. หลี่

ในช่วงการระบาดของอู่ฮั่น นักข่าวพลเมืองจำนวนหนึ่งได้ทำการหลีกเลี่ยง “The Great Firewall” เพื่อกระจายข่าวเรื่องการระบาดในอู่ฮั่นออกไปทั่วโลก

ซึ่งรวมถึง เฉิน กุ้ยฉี ฝาง ถัง และ จาง จ้าน พวกเขาได้สร้างวีดีโอบน youtube ที่มียอดวิวกว่าหลายแสนครั้ง ที่พวกเขาได้ฉายภาพที่แท้จริงของสิ่งที่เกิดขึ้นในอู่ฮั่น

แต่พวกเขาก็ไม่รอดพ้นเงื้อมมือของรัฐบาล เพราะสุดท้ายได้ถูกจับกุมเข้าคุก และ youtube เองก็ถูกบล็อกในประเทศจีน ทำให้มีคนไม่กี่คนในประเทศที่ทราบถึงเรื่องราวที่แท้จริงดังกล่าวที่เกิดขึ้น

ตั้งแต่เดือนมีนาคม เป็นต้นมา จีนต้องการแสดงให้โลกเห็นว่า พวกเขาเอาชนะ COVID-19 ได้สำเร็จ แต่เห็นได้ชัดว่า การเซ็นเซอร์ ก็ได้พยายามกลบหลักฐานของความไม่พอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่กลุ่มคนหนุ่มสาว

เมื่อประวัติศาสตร์ได้ถูกบันทึกใหม่ผ่านเรื่องราวที่ถูกจัดสร้างโดยรัฐบาล

ฝาง ฟาง นักเขียนชาวจีนได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางเมื่อต้นปีที่ผ่านมา สำหรับการบันทึกชีวิตของเธอในอู่ฮั่น และเผยให้เห็นถึงความกลัวและความหวังของชาวอู่ฮั่นที่หาดูได้ยาก

อย่างไรก็ตามไดอารี่ออนไลน์ของเธอ ได้ตกเป็นเป้าหมายของรัฐบาลจีน ที่กล่าวหาว่าเธอพยายามที่จะทำร้ายชาติและสร้างมุมมองลบของจีนให้กับชาวโลก

ฝาง ฟาง ที่ถ่ายทอดเรื่องราวแท้จริงก็ถูกรํฐบาลจีนจ้องเล่นงาน
ฝาง ฟาง ที่ถ่ายทอดเรื่องราวแท้จริงก็ถูกรํฐบาลจีนจ้องเล่นงาน

สื่อของรัฐได้พยายามส่งเสริมหนังสืออื่น ๆ รวมทั้งหนังสือของชาวต่างชาติ ที่ส่งเสริมเรื่องราวในแง่ดีของรัฐบาลเกี่ยวกับการจัดการไวรัสของทางการ

แต่ในบางกรณี ก็มีการโต้กลับจากพลเมือง ที่ไม่เห็นด้วยกับสื่อของรัฐที่พยายามเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการจัดการ การระบาดของอู่ฮั่น

สิ่งนี้ชัดเจนมาก ในเดือนกันยายนปี 2020 เมื่อ Heroes in Harm’s Way ละครเรื่องแรก ที่อิงจากเรื่องราวในชีวิตจริง ของพนักงานแนวหน้าที่ต้องรับมือกับการระบาด ได้ถูกวิจารณ์เกี่ยวกับ การดูถูกบทบาทที่ผู้หญิงมีต่อการระบาดครั้งนี้

แน่นอนว่านอกเหนือจากการบอกพลเมืองของตนเองว่าจีนสามารถเอาชนะสงครามเหนือ COVID-19 ได้สำเร็จแล้ว จีนยังต้องการบอกให้โลกได้รับรู้ด้วย

จีนพยายามส่งเสริมแนวคิดที่ว่าความสำเร็จในการจัดการ COVID-19 ของจีน หมายถึงรูปแบบทางการเมือง (ปกครองแบบคอมมิวนิสต์) ที่ประสบความสำเร็จมากกว่าของตะวันตกอีกด้วย

บทเรียนที่น่าสนใจจากการควบคุมสื่อแบบเบ็ดเสร็จของจีน

จะเห็นได้ว่า แนวความคิดในการจัดการกับ COVID-19 ของจีนนั้น ไม่ได้โฟกัสไปที่เรื่องของวัคซีนเป็นหลักเหมือนประเทศแถบตะวันตก ที่สามารถที่จะเอาชนะศึกได้ด้วยวัคซีนที่มีคุณภาพ

แต่จีน ใช้ความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งรูปแบบการปกครอง และการจัดการสื่อต่าง ๆ ทั้ง online หรือ offline ได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมาก ๆ

และด้วยการที่โลกเราในตอนนี้โดยเฉพาะในแพล็ตฟอร์ม Social Media ต่าง ๆ นั้น ใครจะลุกขึ้นมาเป็นสื่อก็ได้ และสามารถสร้างข่าวปลอม ข่าวปั่น ที่ต้องการยอดไลค์ ยอดแชร์ ที่ดูเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไขได้ โดยเฉพาะเรื่อง COVID-19 ที่ยิ่งทำให้โลกเราปั่นป่วนมากยิ่งขึ้น

ซึ่งบางครั้ง เราก็อยู่ในโลกออนไลน์ที่แทบจะแยกกันไม่ออกแล้วว่าเรื่องใดเป็นข่าวจริง เรื่องใดเป็นข่าวเท็จในยุคปัจจุบันที่มีข้อมูลมหาศาลจำนวนมากมายผ่านตาเรา ที่ถูกส่งตรงผ่านเครือข่าย Social Media เหล่านี้

เราได้เห็นปัญหานี้เกิดขึ้นมากมาย แม้กระทั่งสื่อกระแสหลักก็ตาม ก็ยังหลุดปล่อยข่าวปลอมออกมาได้ ซึ่งเมื่อข่าวปลอมต่าง ๆ นั้นถูกแพร่กระจายไปแล้ว สิ่งที่ยากก็คือ การแก้เรื่องราวความจริงให้กลับมา มันเป็นสิ่งที่ยากมาก ๆ เพราะคนต่างเชื่อไปแล้ว

ซึ่งจากเรื่องราวทั้งหมดคงไม่น่าแปลกใจ ว่า ทำไมประเทศจีน จึงสามารถจัดการปัญหาเหล่านี้ได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้วัคซีน นั้นจะไม่ใช่อาวุธหลักในการแก้ปัญหาของพวกเขาก็ตามที

แต่ประเทศเราคงจะเลียนแบบจีนได้ยาก เพราะเราเป็นประเทศประชาธิปไตย (หรือกึ่งประชาธิปไตย) ที่อย่างน้อยทุกคนมีสิทธิ์มีเสียง ที่รัฐบาลคงไม่สามารถที่จะไปปิดกั้น เซ็นเซอร์สิ่งต่างๆ แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หรือใช้อำนาจการจัดการแบบเด็ดขาด แบบที่จีนทำได้

เพราะฉะนั้นทางรอดของเราก็คงมีทางเดียว นั่นคือการเดินทางตามแบบตะวันตก ด้วยการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ และ ทำการระดมฉีดประชาชนให้มากที่สุด และ เร็วที่สุด อย่างที่ โลกตะวันตกสามารถทำได้สำเร็จมาแล้วนั่นเองครับผม

References : https://www.nytimes.com/2020/12/19/technology/china-coronavirus-censorship.html
https://www.bbc.com/news/world-asia-china-55355401
https://edition.cnn.com/interactive/2021/02/asia/china-wuhan-covid-truthtellers-intl-hnk-dst/
https://www.hrw.org/news/2021/01/26/chinas-covid-success-story-also-human-rights-tragedy
https://theconversation.com/chinas-coronavirus-cover-up-how-censorship-and-propaganda-obstructed-the-truth-133095

TikTok กับการสูญเสียอธิปไตยทาง Data ครั้งแรกของอเมริกา

กลายเป็นข่าวใหญ่เลยทีเดียวสำหรับข่าว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เตรียมออกคำสั่งแบนการดำเนินการของ TikTok ในสหรัฐอเมริกา หลังจากบริการดังกล่าวกำลังฮิตติดลมบนอยู่ในสหรัฐอเมริกาในขณะนี้

โดยทางรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาอย่าง Mike Pompeo ก็ได้ออกมาสนับสนุนการแบนในครั้งนี้เช่นกัน โดย Mike ได้เปิดเผยว่าตอนนี้ทางรัฐนั้นกำลังมีการพิจารณาการแบนแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียจากประเทศจีน โดยอ้างว่าแอปเหล่านี้นั้นมีการแบ่งปันข้อมูลให้กับทางรัฐบาลจีน

ซึ่งถือเป็นการบุกเข้าไปในอเมริกาได้เป็นครั้งแรกสำหรับ app แนว social media ของจีนอย่าง TikTok ที่เราจะเห็นได้ว่าบริการของจีนส่วนใหญ่นั้นจะดังอยู่แค่ในประเทศจีนเท่านั้น น้อยนักที่จะบุกออกมายังต่างประเทศ โดยเฉพาะการบุกเข้าไปในประเทศยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกาถือเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่ง

แน่นอนว่าปัญหาของ TikTok มันมาจากเรื่องของประเด็นข้อมูลส่วนตัว รวมถึงข้อมูลทางธุรกิจต่าง ๆ ที่ทางอเมริกาเกรงว่าจะมีการส่งกลับไปยังรัฐบาลจีน ซึ่งข้อมูลหลายตัวนั้นเป็นสิ่งที่ Sensitive มาก ๆ แต่ข้อมูลพวกนี้กลายเป็นขุมทองคำของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั้งจาก ซิลิกอน วัลเลย์ หรือแม้กระทั่ง TikTok จากจีนเองก็ตาม

บริการเหล่านี้ กำลังดูดข้อมูลของเราไป ผ่านบริการต่าง ๆ ที่อาจจะใช้ฟรีบ้างหรือไม่ฟรีบ้าง ซึ่งแน่นอนว่า ทุกอย่างมันมีต้นทุน บริการเหล่านี้ไม่เคยให้เราใช้ฟรี ๆ เราต้องจ่ายไม่ว่าจะผ่านเงินค่าโฆษณาหรือ แลกเปลี่ยนกับข้อมูลส่วนตัวของเราที่ต้องเสียไปให้บริการยักษ์ใหญ่เหล่านี้

ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านพฤติกรรมผ่าน Social Network ต่าง ๆ อย่าง facebook , instagram หรือ TikTok จากจีนเองก็ตาม รวมถึงข้อมูลด้านธุรกิจอย่างการส่งข้อมูลผ่าน email ที่ให้บริการฟรีอย่าง google gmail , yahoo , microsoft hotmail,outlook

ซึ่งเช่นเดียวกับสิ่งที่รัฐบาลอเมริกาทำ ทางรัฐบาลจีนก็มี The Great Firewall ที่ทำให้บริการออนไลน์จากอเมริกาเหล่านี้นั้นไม่สามารถเจาะตลาดจีนได้เลย หากเป็นบริการที่จะเป็นการล้วงข้อมูลทางดิจิตอลของประชาชนชาวจีน โดยที่ประเทศจีนจะเกิดบริการแบบเดียวกันขึ้นมาเพื่อใช้กันในจีนโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น weibo , youkou , alibaba หรืออื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นบริษัทอินเตอร์เน็ตของประเทศจีน

Great Firewall ที่เซ็นเซอร์เนื้อหาทุกอย่าง
Great Firewall ที่เซ็นเซอร์เนื้อหาทุกอย่าง (Credit : https://globalvoices.org)

ซึ่งส่วนนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะสินค้า และ บริการอื่นๆ  ที่ไม่ใช่บริการที่ใช้ข้อมูลดิจิตอลของคนจีน นั้น จีนได้เปิดเสรีเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็น Brand สินค้าอุปโภคบริโภค หรือ เชน ร้านอาหาร fastfood ชื่อดังของสหรัฐไม่ว่าจะเป็น KFC , McDonald , Starbuck ฯลฯ 

เราจะเห็นได้ชัดว่าบริการเหล่านี้นั้น ไม่ได้ถูกปิดกั้นแต่อย่างใด เหมือนกับบริการที่เป็น ข้อมูลเชิงลึกของพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้ใช้งานชาวจีนที่เป็นดิจิตอล

ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือ อุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน เพราะจีนเป็นคอมมิวนิสต์ ส่วนอเมริกา นั้นเป็นประชาธิปไตย การปล่อยให้บริการต่าง ๆ ที่เป็นบริการออนไลน์เข้าไปสู่จีนได้นั้น น่าจะเป็นเรื่องไม่ปลอดภัยเท่าไหร่กับแนวคิดของเหล่านักการเมืองชาวจีน ส่วนฝั่งอเมริกา ก็เกรงกลัวข้อมูลที่จะหลุดรั่วไปยังรัฐบาลจีนเช่นเดียวกันผ่านบริการอย่าง TikTok

ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ TikTok นั้นต้องบอกว่าน่าสนใจมาก ๆ ที่ จีนสามารถสร้างบริการที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเกิดขึ้นของการระบาดของไวรัส COVID-19 นั้นทำให้ TikTok แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงในอเมริกาเองที่ต้องบอกว่า เป็นครั้งแรก ๆ ที่อเมริกาต้องสูญเสียอธิปไตยทางด้าน Data ให้กับแอปจากประเทศจีนผ่านบริการอย่าง TikTok นั่นเองครับ

References : https://www.cnet.com/news/trump-plans-to-ban-tiktok-in-the-us-report-says/

Tiktok กับความเสี่ยงที่จะโดนเซ็นเซอร์จากรัฐบาลจีน

จาก Feed ของ Instagram, Twitter หรือ Facebook ในการค้นหาเรื่องการประท้วงที่ฮ่องกง เราจะได้เห็นวิดีโอของนักประท้วงที่แฝงตัวอยู่หลายคนในเมืองจีน เช่นเดียวกับการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลหรือภาพตำรวจที่ยิงสาดผู้ประท้วงด้วยสเปรย์พริกไทย

ทำให้การค้นหาเดียวกันกับวิดีโอบนแอพพลิเคชั่นชื่อดังอย่าง TikTok ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน แม้ว่าและเราจะอาจไม่ทราบว่ามีการประท้วงทั้งหมดทุกแห่งก็ตาม โดย TikTok ซึ่งเจ้าของคือ ByteDance ดูเหมือนจะต้องทำตามนโยบายของรัฐบาลจีน และแน่นอนว่านี่เป็นตัวอย่างที่น่ากลัวของวิธีการที่สื่อสังคมออนไลน์ สามารถจัดการรูปแบบของการควบคุมทางสังคมที่มีอยู่จริงได้สำเร็จ

นักวิจัยมีความกังวลว่าจีนจะทำการตัดผู้ใช้ภาษาจีนของแอปเพื่อบีบเหล่ากลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงและยับยั้งการแพร่กระจายไปยังทั่วโลกของข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการประท้วง ตามที่ วอชิงตันโพสต์เสนอ  โดยการประท้วงในฮ่องกงครั้งแรกจุดประกายเมื่อสามเดือนที่ผ่านมาในการต่อต้านการกฏหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่การประท้วงได้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเรียกร้อง “ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ” และการแสดงความรับผิดชอบของตำรวจ

ByteDance ปฏิเสธที่จะพูดคุยกับ วอชิงตันโพสต์ เกี่ยวกับ“ ความเป็นอิสระจากการเซ็นเซอร์ในปักกิ่ง” โดยเป็นการออกแถลงการณ์ที่อ้างว่าแอปนั้นเป็น “สถานที่เพื่อความบันเทิงไม่ใช่การเมือง”

นั่นเป็นข้อเรียกร้องที่น่าสงสัย แอปนี้เป็นหนึ่งใน “การส่งออกของสื่อสังคมออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดของแอปที่มาจากประเทศจีน” โดยปัจจุบันติดตั้งบนโทรศัพท์กว่า 1.3 พันล้านเครื่องทั่วโลก

ไม่ว่านักพัฒนาแอพจะวางแผนหรือไม่ก็ตามโซเชียลมีเดียยังคงส่งเสียงต่อสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองและสังคมทำให้ประชาชนในประเทศที่ถูกเซ็นเซอร์มากที่สุดและภูมิภาคต่าง ๆ พยายามที่จะส่งต่อความเชื่อของพวกเขาไปสู่ผู้ชมที่มีอยู่ทั่วโลก 

แต่ปัญหาเดียวก็คือ: นักพัฒนาเหล่านี้นั้นสามารถตัดสินใจที่จะคลิกปุ่มปิดได้ทันทีหากถูกกดดันจากรัฐบาลจีน ตามรายงานของวอชิงตันโพสต์ แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบอกว่าเนื้อหาใดถูกเซนเซอร์โดย TikTok บ้าง ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอของการประท้วงหรือคำพูดสร้างความเกลียดชังต่าง ๆ ในแอป  ซึ่งการขาดหายไปของวิดีโอประท้วงของฮ่องกงอาจเกิดจากความกลัวของผู้ใช้ว่ารัฐบาลจีนนั้นกำลังติดตามเนื้อหาภายในแอปอย่างใกล้ชิด

ซึ่งการดำเนินงานและนโยบายของ TikTok ในเรื่องนี้นั้น ได้ก่อให้เกิดความกังวลใจสำหรับผู้ใช้แอพที่มีอยู่ทั่วโลก ซึ่งวิธีการเซ็นเซอร์แบบเดียวกันนี้ สามารถขยายขอบเขตการตรวจสอบไปยังผู้ชมทั่วโลก ที่ต้องบอกว่า TikTok กำลังมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้ใช้งานทั่วโลกในขณะนี้นั่นเองครับ

References : https://www.washingtonpost.com