Apple Dream(Team) กับ 5 อรหันต์ผู้เปลี่ยนซากปรักหักพังสู่ความรุ่งโรจน์ครั้งใหม่ของ Apple

หลาย ๆ ท่านอาจจะคิดว่า iPhone เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของบริษัท Apple ให้กลายมาเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ของโลกได้จวบจนถึงทุกวันนี้ แต่นั่นเป็นเพียงส่วนนึงเท่านั้น แนวคิดของ Apple รูปแบบใหม่ ที่หันมาสร้างนวัตกรรมและเปลี่ยนจากบริษัทคอมพิวเตอร์ให้กลายมาเป็นบริษัทที่จำหน่ายสินค้า consumer product มันเริ่มมาจาก iPod 

ในปี 1985 สตีฟ จ็อบส์ ในวัยขึ้นเลขสาม เริ่มปีที่ 30 ของอายุด้วยการถูกไล่ออกจาก Apple บริษัทที่เขาสร้างมากับมือ แต่หลังจากนั้นในอีก 10 ปีต่อมา ในปี 1995 เมื่อ สตีฟ จ็อบส์ อายุครบ 40 ปีบริบูรณ์ เขาก็กลับมาสู่จุดที่รุ่งเรืองอีกครั้ง

ปีนั้นเป็นปีที่ภาพยนต์เรื่อง Toy Story ออกฉาย และในปีต่อมา Apple ก็ได้เข้ามาซื้อกิจการ NeXT ทำให้เขากลับมาสู่บริษัทที่เขาสร้างมากับมืออีกครั้ง 

ในขณะนั้น CEO ของ Apple คือ กิล เอเมลิโอ ซึ่งได้เป็นคนชักจูงนำ จ็อบส์ กลับมาที่ Apple โดยให้เข้ามารับตำแหน่งที่ปรึกษาแบบพาร์ทไทม์ แต่จ็อบส์นั้นหวังมากกว่านั้นเขาต้องการกลับมาทวงคืนตำแหน่งของเขา สภาพของ Apple ในช่วงเวลาดังกล่าว กลายเป็นซากปรักหักพัง สถานการณ์ทางการเงินก็ย่ำแย่ เป็นอย่างมาก

ในการกลับมาครั้งนี้ จ็อบส์ เริ่มจัดแจง คนที่เขาไว้ใจมารับตำแหน่งระดับสูงที่ Apple อย่างไม่รอช้า และเริ่มกำจัดคนที่เขาไม่ต้องการออกไป โดยจะนำคนที่เก่ง  ๆ จาก NeXT บริษัทเก่าของเขาเข้ามาแทนในตำแหน่งสำคัญ ๆ 

และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนครั้งที่เขาต้องก้าวออกจาก Apple ในครั้งแรก จ็อบส์ ก็ได้เสนอให้เปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทใหม่ โดยจัดการคนที่เคยปลดเขาออกก่อน เพื่อคุมอำนาจเต็มที่ในการบริหารบริษัท

จ็อบส์ นั้นสามารถที่จะกลับควบคุมทุกอย่างของ Apple ได้อย่างเบ็ดเสร็จได้อีกครั้ง สถานการณ์ในตอนนั้น Apple ถูก Microsoft เบียดออกจากธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มันถึงเวลาที่เขาต้องสร้างบริษัทขึ้นมาใหม่เพื่อทำอย่างอื่น อาจจะเป็นบริษัทผลิตเครื่องมือหรือสินค้าเพื่อผู้บริโภคอะไรซักอย่างที่จะพา Apple กลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง

Jony Ive

ในวันที่จ็อบส์ เรียกเหล่าผู้บริหารระดับสูงมาชุมนุมปลุกใจ หลังเข้ารับตำแหน่ง CEO รักษาการ ในเดือนกันยายน 1997 นั้น หนึ่งในผู้ฟังจำนวนนั้นเป็นชายหนุ่มชาวอังกฤษ วัย 30 ปี ผู้มีอารมณ์ละเมียดละไม และมีควาทุ่มเทกับงานมากถึง มากที่สุด เขาคือ โจนาธาน ไอฟฟ์ หรือ ที่ทุกคนรู้จักในนาม “จอนนี่”

ในช่วงก่อน จ็อบส์ จะเข้ามาในรอบที่สองนั้น สถานการณ์ของบริษัทเรียกได้ว่าย่ำแย่ ไอฟฟ์ ในขณะนั้นกำลังคิดจะลาออกเพราะเบื่อหน่ายกับบริษัทที่มุ่งเน้นผลกำไรเพียงอย่างเดียว และไม่มีความสนใจในเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์เลย

แต่เป็นคำพูดของ จ็อบส์ ในวันที่ก้าวเข้ามากู้วิกฤติของ Apple รอบที่สอง ที่ทำให้ ไอฟฟ์ เปลี่ยนใจที่จะอยู่ต่อเพราะ จ็อบส์ นั้นชัดเจนอยู่แล้วว่า เป้าหมายของ Apple ไม่ใช่อยู่ที่เรื่องของการหาเงินเพียงอย่างเดียว แต่คือการสร้าง ผลิตภัณฑ์ชั้นเยี่ยม ซึ่งมันเป็นการเปลี่ยนวิสัยทัศน์จากการบริหารที่ผ่านมาของผู้บริหาร Apple คนก่อน ๆ 

ชีวิตของ ไอฟฟ์ นั้น เข้ามาโคจรเข้าสู่วงการคอมพิวเตอร์ เนื่องมาจากบริษัท แทงเจอรีน บริษัทเก่าของเขานั้น ได้ถูกว่าจ้างจากบริษัท Apple ให้ทำการออกแบบเครื่อง Powerbook โดยเขาได้แหกกฏพื้นฐานของการออกแบบหมดสิ้น เนื่องมาจากเขาคิดว่าอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์กำลังประสบปัญหากับเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพราะส่วนใหญ่เป็นการสร้างโดยเหล่าวิศวกรที่ไม่ได้คิดถึงเรื่องการดีไซน์เลยด้วยซ้ำ

ก่อนหน้าที่ ไอฟฟ์ จะเข้ามาปฏิวัตินั้นคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องที่ดูน่ากลัวสำหรับผู้ใช้งาน มีขนาดใหญ่เทอะทะ และไม่มีความ friendly กับผู้ใช้งานเลยด้วยซ้ำ วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ดูไม่น่าใช้งานและแทบจะดีไซน์เหมือน ๆ กันหมดในทุก ๆ บริษัทที่ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลขึ้นมา

หลังจากผลงานการออกแบบ Powerbook จึงทำให้ ไอฟฟ์ ถูกดึงตัวมาทำงานเต็มตัวที่ Apple ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ ซึ่ง Apple เดิมจะใช้บริษัทจากข้างนอกมาช่วยออกแบบให้ แต่ ไอฟฟ์ จะได้สร้างทีมของตัวเองขึ้นมา เพื่อปฏิวัติการออกแบบคอมพิวเตอร์เสียใหม่ทั้งหมด

ไอฟฟ์ ที่เข้ามาปฏิวัติการออกแบบคอมพิวเตอร์เสียใหม่ทั้งหมด (CR:Cult of Mac)
ไอฟฟ์ ที่เข้ามาปฏิวัติการออกแบบคอมพิวเตอร์เสียใหม่ทั้งหมด (CR:Cult of Mac)

และนั่นเป็นเหตุทำให้ทั้งคู่ได้เจอกันในที่สุด จ็อบส์ นั้นตระหนักดีว่าเขาจำเป็นต้องมีคนอย่าง ไอฟฟ์ เพื่อปฏิรูป Apple ขึ้นมาใหม่อีกครั้งและจึงเริ่มต้นกับโครงการ iMac รุ่นใหม่ และต่อมาก็ได้เป็นคนพลิกโฉมดีไซน์ของ iPod ที่ทำให้ทั้งโลกต้องตะลึง

Jon Rubinstein

จอน รูบินสไตน์ ถือได้ว่าเป็นขุนพลคู่ใจของ จ็อบส์ ที่ตามมาจาก NeXT ซึ่ง รูบินสไตน์เป็นผู้พัฒนา NeXT RISC Workstation โดยหลังจากที่ Apple ได้เข้าซื้อกิจการ NeXT จ็อบส์ก็ได้ดึงตัวรูบินสไตน์ให้มาช่วยงานที่ Apple ในตำแหน่งรองประธานอาวุโสฝ่ายวิศวกรรมฮาร์ดแวร์

รูบินสไตน์ ได้เข้ามาช่วยจ็อบส์จัดการในเรื่องลดต้นทุน เนื่องจากทางจ็อบส์เองได้ยกเลิกผลิตภัณฑ์ที่ล้มเหลวหลายรายการจากผลงานการสร้างจากเหล่าผู้บริหารในยุคที่เขาไม่อยู่

จอน รูบินสไตน์ ที่แพ็คกระเป๋าตามจ็อบส์มาจาก NeXT (CR:IEEE Spectrum)
จอน รูบินสไตน์ ที่แพ็คกระเป๋าตามจ็อบส์มาจาก NeXT (CR:IEEE Spectrum)

จ็อบส์เองได้มุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ที่เรียบง่ายสำหรับผู้บริโภคและเหล่ามืออาชีพ เช่น Power Mac G3 และ iMac G3 ซึ่งช่วยให้ Apple กลับมาแข่งขันในตลาดได้อีกครั้ง และเป็นรูบินสไตน์นี่เองที่ไปชักชวน โทนี่ ฟาเดลล์ ให้มาร่วมงานกับ Apple เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์พลิกโลกอย่าง iPod

Tim Cook

ใปี 1998 จ็อบส์ ได้เจอกับ ทิม คุก ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อและซัพพลายเชนของ Compaq Computers ซึ่งในขณะนั้นเป็นหนุ่มโสด วัย 37 ปี  คุก นั้นตกหลุมเสน่ห์ของจ็อบทันทีเมื่อได้สัมภาษณ์งานกับจ็อบ เขาใช้เวลาเพียง 5 นาที ในการตัดสินใจมาร่วมงานกับจ็อบส์ ซึ่งการร่วมงานกับ Apple นั้นเป็นโอกาสเดียวในชีวิตที่จะได้ทำงานกับ อัจฉริยะด้านความคิดสร้างสรรค์อย่าง จ็อบส์

บทบาทหลักของ คุก ที่ Apple คือการนำสิ่งที่จ็อบส์คิด มาลงมือปฏิบัติ การที่เขาเป็นหนุ่มโสดทำให้เขาสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ เขาตื่นตีสี่ครึ่งในทุกวัน ออกกำลังกายเสร็จ เขาก็จะเข้ามาที่ office ของ Apple ในเวลาหกโมงเศษ

การได้จิ๊กซอว์ ชิ้นสำคัญอย่าง คุก มานั้น ทำให้ Apple สามารถลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมหาศาล คุกนั้นได้ลดจำนวนซัพพลายเออร์รายสำคัญของ Apple จาก 100 รายให้เหลือเพียง 24 ราย เขาได้เกลี้ยกล่อมให้ซัพพลายเออร์หลายราย ย้ายโรงงานมาอยู่ใกล้ ๆ โรงงานของ Apple

สิ่งที่จ็อบส์ทำได้คือ เคยลดสินค้าคงคลังจากเดิมที่มีปริมาณเท่ากับ 2 เดือน ให้เหลือเพียงเดือนเดียวได้ในปี 1998 แต่ คุก นั้นสามารถทำให้ จ็อบส์ เซอร์ไพรซ์อย่างมาก ด้วยการทำให้มันลดเหลือเพียงแค่ 2 วัน ซึ่งนับว่าน่าทึ่งมาก และเขายังสามารถที่จะลดระยะเวลาในการผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ของ Apple แต่ละเครื่องลงจาก 4 เดือน เหลือเพียงแค่ 2 เดือน ซึ่งทั้งหมดนี้นอกจากจะช่วยประหยัดเงินแล้วนั้น ยังทำให้คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องได้ใช้ชิ้นส่วนล่าสุดที่มีอยู่ในท้องตลาดอีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างตลาดคอมพิวเตอร์

และที่สำคัญนั้น ทิม คุก นั้นเป็นคนเดียวที่รู้ว่า จ็อบส์ ต้องการอะไร มีวิสัยทัศน์ ในด้านการผลิตแบบเดียวกับจ็อบส์ และสามารถคุยสื่อสารเรื่องยุทธศาสตร์ระดังสูงได้ ทำให้ คุก กลายมาเป็นคนที่ จ็อบส์ ไว้ใจมากที่สุด

ทิม คุก ที่จ็อบส์ไว้ใจมากที่สุด (CR:Apple Insider)
ทิม คุก ที่จ็อบส์ไว้ใจมากที่สุด (CR:Apple Insider)

Tony Fadell

ถ้าโลกนี้ไม่มีคนที่ชื่อ โทนี่ ฟาเดลล์ มันก็ไม่อาจจะทำให้ สตีฟ จ็อบส์ สามารถพลิกฟื้น Apple กลับมาได้สำเร็จ โปรแกรมเมอร์หนุ่ม มาดกร่าง หน้าตา และการแต่งตัวออกไปทางแนว ไซเบอร์พังค์ เป็นคนมีสเน่ห์ที่รอยยิ้ม และมีหัวคิดแบบเจ้าของกิจการ และมีความเชี่ยวชาญทางด้าน ฮาร์ดแวร์ โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการฟังเพลง

และเป็น รูบินสไตน์ ที่เป็นไปค้นพบ โทนี่ ฟาเดลล์ เข้า ฟาเดลล์ นั้น เคยตั้งบริษัท ถึง 3 แห่งสมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัย มิชิแกน พอเรียนจบก็ได้เข้าไปทำงานที่ General Magic ผู้ผลิตอุปกรณ์อเล็กทรอนิกส์แบบพกพา แล้วย้ายข้ามห้วยไปยัง Philips บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก

ฟาเดลล์ นั้นมีไอเดียอย่างแรงกล้าที่จะทำเครื่องเล่นเพลงที่ดีกว่าเครื่องที่มีขายอยู่ในท้องตลาด เขาเคยไปนำเสนอ ไอเดียที่ RealNetwork , Sony และ Philips แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ  และในวันหนึ่งที่ฟาเดลล์กำลังเล่นสกีอยู่กับลุงที่เมือง เวล รัฐโคโลราโด ระหว่างที่นั่งลิฟต์ขึ้นเขา เพื่อไปเล่นสกี เหมือนอย่างที่เคยทำมาเป็นประจำ

เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น ปลายสายคือ รูบินสไตน์ ที่เป็น ผู้อำนวยด้านด้านฮาร์ดแวร์ ของ Apple ซึ่งได้แจ้งเขาว่ากำลังหาคนที่จะมาช่วยทำ “อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก” ซึ่งคนระดับฟาเดลล์นั้นมีความมั่นใจเต็มเปี่ยมอยู่แล้ว เขาทำอุปกรณ์พวกนี้เก่งในระดับที่หาตัวจับยาก รูบินสไตน์ จึงได้เชิญ ฟาเดลล์ เขาไปพบ ที่ office ของ Apple ใน คูเปอร์ติโน่

ฟาเดลล์ เข้าใจว่า Apple นั้นจะจ้างไปทำเครื่อง PDA แต่เมื่อได้พบตัวจริงกับ รูบินสไตน์ การสนทนาเปลี่ยนเป็นเรื่องเกี่ยวกับ iTunes ที่ Apple เพิ่งได้ทำเสร็จก่อนหน้านั้นไม่นาน ปัญหาในตอนนั้น คือ ทาง Apple พยายามที่จะใช้เครื่องเล่น mp3 ที่มีในตลาด เพื่อใช้งานกับ iTunes  ซึ่งพบว่า ไม่มีอุปกรณ์ไหนที่สามารถตอบโจทย์ของ Apple ได้เลย ตอนนั้น มีแต่อุปกรณ์เล่น mp3 ที่ห่วย ๆ อยู่เต็มตลาดไปหมด Apple อยากที่จะสร้างเวอร์ชั่นของตัวเองขึ้นมา

และมันทำให้ ฟาเดลล์ รู้สึกตื่นเต้นมาก ๆ ฟาเดลล์ นั้นเป็นคนที่รักในเสียงดนตรี และเคยพยายามนำ idea ที่เขาคิด ไปเสนอที่ RealNetworks เหมือนกัน ตอนที่ RealNetworks กำลังนำเสนอเครื่องเล่นไฟล์ mp3 ให้กับ บริษัท Palm แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ฟาเดลล์ เจ้าของฉายา
ฟาเดลล์ เจ้าของฉายา “บิดาแห่ง iPod” (CR:The Sydney Morning)

แต่ฟาเดลล์ นั้นเป็นคนที่รักอิสระ เขาไม่อยากที่จะเป็นพนักงานเต็มตัวของ Apple เขาแค่อยากร่วมงานในฐานะที่ปรึกษาเพียงเท่านั้น

แต่ รูบินสไตน์ นั้น บีบบังคับให้ ฟาเดลล์ ทิ้งไพ่ในมือ โดยจับมัดมือชกด้วยการยืนกรานว่าหากฟาเดลล์ต้องการที่จะเป็นหัวหน้าทีม ก็ต้องเข้ามาเป็นพนักงานเต็มตัวของ Apple เพียงอย่างเดียวเท่านั้น และมีการเรียกทีมงานทั้งหมดที่จะทำโปรเจคนี้กว่า 20 คนเข้ามารวมตัว แล้วยื่นคำขาดกับ ฟาเดลล์ ว่าต้องให้ฟาเดลล์ นั้นตัดสินใจในโอกาสครั้งนี้เดี่ยวนั้น ซึ่ง มันก็เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธ แม้ตัวฟาเดลล์จะไม่ค่อยเต็มใจนักก็เสนอตอบรับมาร่วมทีมในที่สุด

และสุดท้าย Apple ก็ได้ว่าจ้าง ฟาเดลล์ ในปี 2001 และได้สร้างทีมพัฒนาขนาด 30 คนให้มีทั้ง Designer , Programmers รวมถึง Hardware Engineers เพื่อทำโครงการ iPod

Phil Schiller

ชิลเลอร์ เริ่มงานครั้งแรกกับ Apple ในปี 1987 ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดและผลิตภัณฑ์ และได้ลาออกไปทำงานกับ FirePower Systems และรองประธานฝ่ายการตลาดที่ Macromedia ก่อนที่จะกลับมาทำงานที่ Apple อีกรอบ

ชิลเลอร์ กลับมาร่วมงานกับ Apple ในตำแหน่งรองประธานอาวุโสฝ่ายการตลาดทั่วโลก ในปีเดียวกับที่ จ็อบส์ กลับมากุมบังเหียน Apple อีกครั้งในปี 1997

ฟิล ชิลเลอร์ นั้นได้รับเครดิตเป็นอย่างมากเพราะได้ออกไอเดียที่สำคัญที่สุดของ iPod ที่ทำให้แตกต่างจากเครื่องเล่น MP3 อื่น ๆ ในตลาด

ชิลเลอร์ ที่ออกมาในงานพรีเซ็นนต์ผลิตภัณฑ์ของ Apple อยู่เสมอ (CR:Reason Why)
ชิลเลอร์ ที่ออกมาในงานพรีเซ็นนต์ผลิตภัณฑ์ของ Apple อยู่เสมอ (CR:Reason Why)

โดยชิลเลอร์ นั้นเสนอ ล้อกลม ๆ สำหรับใช้เลือกเพลง ( trackwheel ) แค่ใช้นิ้วโป้งหมุนวงล้อ ผู้ใช้จะสามารถเลือกเพลงใน Playlist ได้ ยิ่งหมุนนานก็ยิ่งไล่เพลงได้เร็วขึ้น ถึงจะมีเพลงเป็นร้อยเป็นพันเพลง ก็สามารถไล่ดูได้ง่าย ซึ่งไอเดียนี้ จ็อบส์ถึงกับร้องอุทาน “นั่นแหละใช่เลย!!!” แล้วสั่งให้ฟาเดลล์ กับทีมวิศวกร ลงมือทำทันที

Dream Team

เมื่อจ็อบส์ได้ทีมงานที่เปรียบเสมือนดรีมทีมเขาก็ไม่เคยกลัวสิ่งใดอีกต่อไป ในเดือนเมษายนปี 2001 มีการประชุมนัดสำคัญ วันนั้นจ็อบส์ต้องตัดสินใจเลือกองค์ประกอบพื้นฐานสำหรับเครื่อง iPod ซึ่งฟาเดลล์เป็นคนนำเสนอโดยมี รูบินสไตน์ ,ชิลเลอร์ และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

การประชุมเริ่มด้วยการนำเสนอเรื่องของศักยภาพของตลาด และเนื้อหาทางการตลาดอื่น ๆ ที่เหล่านักการตลาดมักจะทำกัน แต่จ็อบส์ เป็นคนที่มีความอดทนต่ำ สไลด์ชุดไหน ที่มีความยาวเกินหนึ่งนาที เขาจะไม่สนใจทันที และเมื่อถึงฟาเดลล์ ที่ต้องกล่าวถึงเรื่องคู่แข่งในตลาด ที่ขณะนั้น มีทั้ง Sony  , Creative หรือ Rio ที่่อยู่ในตลาดเครื่องเล่น MP3 เหมือนกัน

แต่จ็อบส์โบกมืออย่างไม่แยแส จ็อบส์ไม่เคยสนใจคู่แข่งเลยด้วยซ้ำ โปรเจค iPod ที่ยังเป็นความลับอยู่ เหล่าคู่แข่งยังไม่รู้ว่า Apple กำลังทำอะไรด้วยซ้ำ

จ็อบส์ชอบให้เอาสิ่งที่จับต้องได้มาโชว์ เพื่อเขาจะได้สัมผัส ลูบคลำ สำรวจ ฟาเดลล์จึงได้นำโมเดล 3 แบบเข้ามาในห้องประชุมด้วย รูบินสไตน์ ได้สอนเทคนิคให้จ็อบส์ดูเรียงตามลำดับเพื่อให้ชิ้นที่เขาชอบที่สุดเป็นชิ้นที่เด่นที่สุดทีมงานจึงซ่อนโมเดลที่ชอบไว้ใต้โต๊ะประชุม

จากนั้น ฟาเดลล์ เริ่มเอาโมเดลออกมาโชว์ ซึ่งโมเดลเหล่านี้ทำจากโฟมแบบเดียวกับที่ใช้ทำกล่องอาหาร ยัดไส้ตะกั่วเพื่อให้ได้น้ำหนักที่เหมาะสม ตัวอย่างแรกมีช่องใส่เมมโมรี่การ์ดสำหรับบันทึกเพลงแบบถอดได้ จ็อบส์ตัดตัวอย่างนี้ออกทันทีมันดูซับซ้อนไป

จากนั้นแบบที่สามคือ ฟาเดลล์ ได้ทำการจับชิ้นส่วนต่อกันเหมือนเลโก้เพื่อให้ดูว่าเครื่องเล่นบรรจุฮาร์ดไดร์ฟขนาด 1.8 นิ้วจะมีหน้าตาอย่างไร ซึ่งโมเดลนี้จ็อบส์ดูสนใจมาก ๆ  ซึ่งสุดท้ายจ็อบส์ก็เลือกแบบดังกล่าวซึ่งทำให้ฟาเดลล์ ถึงกับทึ่งมาก เพราะปรกติการประชุมแบบนี้ที่บริษัทอื่นจะต้องตัดสินใจแล้ว ตัดสินใจอีก แต่กับ Apple จ็อบส์ ถือเป็นสิทธิ์ เด็ดขาด สามารถฟันธงได้ทันที ทำให้ทุกอย่างสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว

โดยหลังจากเริ่มโครงการอย่างเป็นทางการ จ็อบส์ ก็เข้ามาคลุกคลีด้วยทุกวัน จ็อบส์ให้ concept หลักของ iPod คือ “ทำให้ง่ายเข้าไว้!” ทุกฟังก์ชัน ต้องทำได้ภายใน 3 click ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะบางครั้งทีมงาน ต้องพยายามแก้ไขปัญหาในส่วนของ User Interface แบบไม่ได้หลับไม่ได้นอน

แต่จ็อบส์ก็พยายามหาจุดอ่อน ไปเรื่อย ๆ และให้ทีมงานไปคิดหาวิธีแก้มา ซึ่งบางครั้งทีมงานก็คิดไม่ออกว่าจะไปถึงสิ่งที่จ็อบส์ต้องการได้อย่างไร มันเป็นเรื่องที่บ้ามาก ๆ ในหลายเรื่องที่ทีมงานต้องมานั่งแก้ไขเพื่อให้จ็อบส์นั้นพอใจ จนตอนนั้น มันทำให้ปัญหาเล็ก ๆ ต่าง ๆ แทบมลายหายไปเลยทีเดียว เพราะจ็อบส์จะเห็นรายละเอียดในทุก ๆ จุด และสั่งให้แก้ไขมันทันที

ในที่สุดจ็อบส์ได้เผยโฉมเครื่อง iPod ครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2001 ในงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจนเป็นแบบฉบับของตัวเอง ในบัตรเชิญที่ส่งไปยังสื่อนั้นมีข้อความยั่วยวนว่า “คำใบ้: คราวนี้ไม่ใช่ Mac” 

นาทีประวัติศาสตร์ที่จ๊อบส์ หยิบ เจ้า iPod ออกมาจากกระเป๋า (CR:Cult of Mac)
นาทีประวัติศาสตร์ที่จ๊อบส์ หยิบ เจ้า iPod ออกมาจากกระเป๋า (CR:Cult of Mac)

iPod ได้กลายเป็นแก่นสำคัญของทุกอย่างที่ apple ถูกชะตาได้กำหนดมาแล้ว ทั้งบทกวี ที่เชื่อมโยงกับวิศวกรรม ศิลปะ และ ความคิดสร้างสรรค์ มาบรรจบกับเทคโนโลยี การออกแบบที่กล้าแต่เรียบง่าย การใช้งานที่ง่ายมาก ๆ ซึ่งมันเป็นผลจากการทำงานอย่างหนัก และทำอย่างบูรณาการตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่ FireWire ถึงตัวเครื่อง ซอฟต์แวร์ และการจัดการคอนเทนต์ เมื่อลูกค้าหยิบเครื่อง iPod ออกจากกล่อง มันสวยจนดูคล้ายเรืองแสงได้ เทียบกันแล้วดูเหมือนเครื่องเล่นเพลงยี่ห้ออื่น ๆ ถูกออกแบบและผลิตในดินแดนที่ล้าหลังเลยทีเดียว

ต้องยอมรับว่า ตอนนั้น iPod โครตที่จะสมบูรณ์แบบเลย มันแทบจะสุดยอดนวัตกรรมใหม่ ที่คนทั่วโลกต่างตื่นเต้นกับเจ้า iPod เครื่องนี้ และเพียงไม่นาน ผู้บริโภคก็ทำให้มันกลายเป็นสินค้าขายดี และพลิกบริษัท Apple จากธุรกิจคอมพิวเตอร์ให้กลายมาเป็นบริษัทผลิตสินค้า consumer product ได้สำเร็จ เข้าสู่ยุครุ่งเรืองใหม่ของ Apple อย่างเป็นทางการ

… 

ต้องบอกว่าการเริ่มต้นยุคใหม่ของ จ็อบส์ โดยการเข้ามาคุม Apple ในคำรบที่สองนั้นแทบจะติดลบด้วยซ้ำ ตอนที่ จ็อบส์ เข้ามากู้วิกฤตินั้น สถานการณ์ของ Apple แทบจะเป็นซากปรักหักพังเป็นบริษัทที่รอวันล้มละลายเท่านั้น แต่ จ็อบส์ สามารถพลิก Apple กลับมาได้ โดยใช้ระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีด้วยนวัตกรรมที่เขาสร้างขึ้นมาใหม่ล้วน ๆ 

และสิ่งสำคัญที่จ็อบส์ทำมาตลอดในช่วงดังกล่าว คือ การโฟกัส ซึ่ง เขาโฟกัส ในสิ่งที่ทำ การสร้าง iPod นั้นเต็มไปด้วยอุปสรรค ทั้งทางด้านวิศวกรรม และ การออกแบบมากมาย แต่จ็อบส์ เชื่อมั่นว่า ทีมของเขาจะทำได้ เขาทำให้ทีมของเขาทำสิ่งที่ใครในโลก ไม่คิดว่าจะทำได้  iPod มันจึงกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่วิเศษที่สุด มันเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมดนตรีได้เลยด้วยซ้ำ และมันเป็นการพลิกโฉมของ Apple เข้าสู่ยุคใหม่อย่างที่เห็นในปัจจุบันได้อย่างแท้จริง

และเพราะ iPod นี่เอง ที่ทำให้ จ็อบส์ กล้าที่จะสร้าง iPhone หรือ iPad ตามมาได้ เพราะเขาสามารถทำเรื่องที่เหลือเชื่อ ด้วยทีมงานดรีมทีมที่มีความพร้อมขนาดนี้ได้แล้ว มันทำให้จ็อบส์ กล้าที่จะทำอะไรแหกกฏ ที่เคยมีมา

ลองจินตนาการกลับไปทั้งยุคของเครื่องเล่น MP3 ก่อน ที่จะมี iPod หรือมือถือสมาร์ทโฟนก่อนที่ iPhone จะเปิดตัวออกมา ไม่มีใครจินตนาการถึงมือถือสมาร์ทโฟนแบบ iPhone หรือเครื่องเล่น mp3 อย่าง iPod ในยุคก่อนหน้าได้เลยด้วยซ้ำ

จ็อบส์ ทำในสิ่งที่ไม่มีใครคิดว่าจะทำได้ทั้งนั้น เพราะมันแตกต่าง มันไม่เหมือนใคร และมันเป็น DNA ของการ Think Different ที่เป็น DNA หลักของ Apple เลยก็ว่าได้ เมื่อจ็อบส์ พร้อมจะลุย ลูกทีมของเขาก็พร้อมจะสู้กับจ็อบส์ เพราะไม่ว่าอุปสรรคจะยากหรือท้าทายมากเพียงใด พวกเขาก็ไม่เคยกลัวมันอีกต่อไปนั่นเองครับผม

References :
https://9to5mac.com/guides/phil-schiller/
https://www.apple.com/th/leadership/phil-schiller/
https://apple.fandom.com/wiki/Jon_Rubinstein
หนังสือ สตีฟ จ๊อบส์ : Steve Jobs
ผู้เขียน : Walter Isaacson (วอลเตอร์ ไอแซคสัน)
ผู้แปล : ณงลักษณ์ จารุวัฒน์ และคณะ
หนังสือ IPOD…แบรนด์ นวัตกรรมและจักรกลบันเทิง
ผู้เขียน : Dylan Jones
ผู้แปล : กรกฎ พงศ์พีระ



 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube