จาก Toutiao สู่ TikTok กับการเปลี่ยนโลกด้วยคอมพิวเตอร์อัลกอริทึม

การที่จะสร้างธุรกิจให้ impact ระดับโลกไม่ใช่เรื่องง่าย คีย์สำคัญของธุรกิจโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีนั้นส่วนใหญ่วัดกันที่คอมพิวเตอร์อัลกอริทึม เช่น PageRank ของ Google , NewsFeed ของ Facebook ซึ่งเป็นคีย์สำคัญในการพลิกจากบริษัทเล็ก ๆ ให้กลายเป็นธุรกิจขนาดยักษ์ขนาดใหญ่มหึมาระดับแสนล้านได้

โลกที่เต็มไปด้วยโปรแกรมเมอร์ยอดอัจฉริยะมากมาย หากใครคิดจะแหวกว่ายขึ้นไปอยู่ระดับท็อปได้นั้น มันไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่าย ๆ ต้องมีความฉลาดเป็นกรด และแน่นอนว่าองค์กรธุรกิจก็ต้องประกอบไปด้วยเหล่าทวยเทพแบบนี้เป็นจำนวนมาก จึงจะสามารถผลักดันองค์กรธุรกิจให้พุ่งทะยานไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว

เคสของ TikTok เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจมาก ๆ ในเรื่องของคอมพิวเตอร์อัลกอริทึม ที่มันสามารถสร้างธุรกิจระดับแสนล้านเหรียญ และยังไม่มีทีท่าว่าความร้อนแรงจะลดลงไปเลย ด้วย Recommendation Engine ของพวกเขา

ในช่วงต้นปี 2012 วิศวกรที่แทบไม่มีใครรู้จักอย่าง Zhang Yiming กำลังหมกมุ่นอยู่กับแนวคิดเกี่ยวกับการทำเหมืองข้อมูลและการแนะนำข้อมูล ค้นคว้าเกี่ยวกับแพลตฟอร์มเนื้อหาออนไลน์ที่สำคัญทั้งหมดจากทั้งตลาดจีนและอเมริกา

เขาได้สังเกตเห็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างนึงก็คือ แอปอันดับต้น ๆ ที่ไม่ใช่เกมบน App Store ของจีนนั้นจะเน้นไปที่เรื่องของความบันเทิง

ก่อนที่จะจดทะเบียนบริษัท ByteDance อย่างเป็นทางการ ทีมงานชุดแรก ๆ ก็ได้ลองสร้างแอปแรกของพวกเขาในชื่อ “Hilarious Goofy Pics (ภาพตลกขบขัน)” ซึ่งเต็มไปด้วยมีมต่าง ๆ ที่สนุกสนานและรูปภาพที่ไร้สาระมากมาย

แอปที่สองชื่อ “Implied Jokes” โดยเน้นที่มีมในอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะ และมันก็โด่งดังเป็นกระแสขึ้นมาทันที มีผู้ใช้นับล้านรายภายในไม่กี่เดือน

โดยรวมแล้ว บริษัทได้ทดลองเผยแพร่แอปมากกว่าหนึ่งโหลสำหรับการทดสอบในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2012 โดยทดลองกับธีมและทิศทางที่หลากหลาย

ก่อนหน้านี้ที่ 99Fang ทีมงานของ Yiming ได้สร้างแอปอสังหาริมทรัพย์ห้าแอปเพื่อทดสอบตลาดต่าง ๆ ในขณะที่ ByteDance เขาได้ปรับปรุงกลยุทธ์นี้ให้กลายเป็นหนึ่งในการทดลองอย่างรวดเร็ว ผลักดันแนวคิดใหม่ ๆ และปล่อยออกสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว ทดสอบคุณสมบัติที่หลากหลาย และให้ตลาดตรวจสอบว่าสิ่งใดมีมูลค่า ซึ่งกลายเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของ ByteDance ในภายหลัง

เป็นเรื่องโชคดีของ ByteDance ในตอนนั้น เพราะการพัฒนาแอปในจีนยังเป็นเรื่องใหม่มาก แอปของคู่แข่งจำนวนมากมีขนาดที่ใหญ่เทอะทะ ทำให้กว่าจะดาวน์โหลดเสร็จใช้เวลานานมาก ๆ

แอปของ ByteDance นั้นเน้นไปที่ขนาดเล็กและเบา มีเพียงไม่กี่เมกะไบต์ โดยเนื้อหาของพวกเขาได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องโดยเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์ด้วยระบบแบ็กเอนด์ที่รวบรวมข้อมูลและจัดประเภทเนื้อหาจากทั่วทั้งเว็บเป็นประจำ

การบริโภคเนื้อหา เช่น บทความ รูปภาพ หรือวีดีโอบนสมาร์ทโฟนเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างอย่างมากจากอินเทอร์เน็ตบนเดสก์ท็อปพีซี Yiming ได้ทำการวิเคราะห์ถึง painpoint ไว้สามจุด ก็คือ หน้าจอที่มีขนาดเล็ก เวลาดาวน์โหลดที่นานเกินรอ และจำนวนข้อมูลที่เกินพิกัด ซึ่งเท่าที่เขาเห็น ไม่มีผลิตภัณฑ์ใดในจีนที่จัดการกับปัญหาทั้งสามนี้พร้อมกันได้

ทีมงานเริ่มสร้างแอปที่มีความทะเยอทะยานมากขึ้นด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลเพื่อรวบรวมและจัดระเบียบรูปแบบเนื้อหามากมายจากอินเทอร์เน็ต แอปที่ขับเคลื่อนโดย Big Data และ Machine Learning ที่จะให้บริการผู้คนด้วยฟีดที่ปรับแต่งตามความชอบส่วนบุคคลด้วยเทคโนโลยี AI แบบไม่ต้องพึ่งพามนุษย์

สถานการณ์ในปี 2012 พอร์ทัลข่าวของจีนส่วนใหญ่จ้างบรรณาธิการที่เป็นมนุษย์และจัดการเนื้อหาด้วยตัวเอง Yiming เชื่อว่าสิ่งนี้จะใช้ไม่ได้อีกต่อไปในยุคมือถือ

ในขณะที่เทคโนโลยีกำลังก้าวไปข้างหน้า เขารู้สึกว่ามนุษย์จะถูกกำจัดออกจากกระบวนการจัดการข่าวทั้งหมด และแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติที่ใช้ประโยชน์จาก Big Data และ Machine Learning

Jinri Toutiao เป็นแอปใหม่ ซึ่งมีความหมายว่า “หัวข้อข่าวของวันนี้” และต่อมาถูกเรียกว่า “Toutiao” หรือ “หัวข้อข่าว” ซึ่งชื่อนี้ชนะเลิศจากการนำเสนอโดยทีมงานกว่าร้อยชื่อ

แอปข่าวถือเป็นธุรกิจที่สร้างเงินได้มหาศาล เพราะมีการใช้งานต่อเนื่อง เนื่องจากผู้คนเปิดแอปข่าว แม้ว่าจะมีเวลาว่างเพียงนาทีเดียวในการอ่านพาดหัวข่าว ความต้องการรับทราบข้อมูลใหม่ตลอดเวลาเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เมื่อสร้างนิสัยดังกล่าวแล้ว แอปข่าวจะไม่ถูกลบไปจากมือถือของผู้คน

เมื่อ Toutiao เปิดตัว ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก ด้วยประสบการณ์ใช้งานที่เหนือกว่า แม้จะอยู่ในหมวดหมู่ข่าวที่จำกัด แต่ก็ยังแซงหน้าแอปอื่น ๆ ในด้านนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ ทั้ง Weibo , Wechat หรือแม้กระทั่ง Baidu

Toutiao เปิดตัว ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก ด้วยประสบการณ์ใช้งานที่เหนือกว่า (CR:Nanjing Marketing Group)

กลยุทธ์ที่น่าสนใจของ Yiming ก็คือการรวมเครือข่ายของแอปต่างๆ ที่เขาปล่อยไปก่อนหน้านี้ แล้วแปลงผู้ใช้งานมายัง Toutiao ซึ่งแอปที่มีอยู่ก่อนหน้าของเขาทำหน้าที่ในการเป็นช่องทางการได้มาของกลุ่มลูกค้าเป็นหลัก

ตลอดปี 2012 พวกเขาใช้จ่ายเพียงแค่หนึ่งล้านหยวน (158,000 ดอลลาร์) ในการโปรโมตแอป และมีผู้ใช้งานมากกว่าหนึ่งล้านคนภายในสิ้นปี ต้นทุนการได้มาของผู้ใช้งานต่อผู้ใช้นั้นน้อยกว่า 0.1 หยวน การสร้างแอปมีมต่างๆ ก่อนหน้านี้เป็นวิธีที่โครตฉลาดในการดึงดูดผู้ใช้ในราคาถูก ซึ่งสามารถแปลงมาสู่แพลตฟอร์มหลักอย่าง Toutiao ได้ในภายหลัง

Recommendation Engine

ในปี 2011 Google ได้เริ่มใช้ระบบ Machine Learning ใหม่ที่เรียกว่า Sibyl เพื่อให้คำแนะนำบน Youtube ผลกระทบของ Sibyl นั้นเกิดขึ้นแทบจะทันที วิศวกรของ Youtube พบว่าตัวเลขการเข้าชมของ Youtube พุ่งกระฉูดขึ้นแบบฉุดไม่อยู่

Machine Learning ทำงานได้ดีจนในไม่ช้าผู้คนจำนวนมากเลือกว่าจะดูอะไรตาม “วีดีโอแนะนำ” มากกว่าวิธีการอื่น ๆ ในการเลือกวีดีโอ เช่น การค้นหาทางเว็บหรือการอ้างอิงทางอีเมล

Google พบขุมทรัพย์ทำเงินใหม่ผ่านอัลกอริธึม Machine Learning พวกเขาได้พัฒนาพวกมันขึ้นไปอีกขั้น โดยสิ่งที่เรียกว่า Google Brain ซึ่งพัฒนาโดยกลุ่ม Moonshot อันโด่งดังของบริษัท Google X ที่นำโดยศาสตราจารย์ Andrew Ng จากสแตนฟอร์ด

Andrew Ng มหาเทพด้าน Machine Learning อันดับต้น ๆ ของโลก (CR:Tech in Asia)
Andrew Ng มหาเทพด้าน Machine Learning อันดับต้น ๆ ของโลก (CR:Tech in Asia)

Google Brain ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าครั้งใหม่ของเทคโนโลยี Deep Learning แม้ผลกระทบจาก Sibyl นั้นจะน่าประทับใจ แต่ผลกระทบจาก Google Brain นั้นสร้าง Impact ที่สูงกว่ามาก

ในช่วงสามปี 2014-2017 เวลารวมที่ใช้ในการดูวีดีโอบนหน้าแรกของ Youtube เพิ่มขึ้น 20 เท่า คำแนะนำผลักดันมากกว่า 70% ของเวลาทั้งหมดบน Youtube วีดีโอแนะนำของ Youtube กลายเป็นเรื่องน่าขนลุกที่จะคาดเดาสิ่งที่คุณสนใจได้อย่างแม่นยำ

ที่ประเทศจีน Yiming ได้กลายเป็นผู้นำในเทคโนโลยีดังกล่าว เขาไม่เพียงแค่เห็นถึงศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของมันเท่านั้น แต่ยังดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับมันอย่างรวดเร็วอีกด้วยเพื่อไม่ให้ยักษ์ใหญ่รายอื่น ๆ รู้ตัวทัน

ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ขับเคลื่อนความสำเร็จของ ByteDance คือวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในช่วงต้นของ Yiming ที่พวกเขามุ่งมั่นที่จะใช้เทคนิคใหม่ ๆ เหล่านี้ และจังหวะเวลาของตัดสินใจนั้นมีองค์ประกอบร่วมกันก็คือ การเติบโตอย่างบ้าคลั่งของสมาร์ทโฟนและการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี AI

มันได้กลายเป็นเครื่องจักรที่ทรงพลังอย่างเหลือเชื่อ Yiming มองว่าสิ่งที่เขาจะต้องทำโดยด่วนก็คือ การเปลี่ยนจาก “คนที่กำลังมองหาข้อมูลเป็นข้อมูลกำลังหาผู้คน”

อัลกอริธึมคำแนะนำรูปแบบใหม่ จะฉีกหนีไปจากเดิมอย่างชัดเจน ที่สถานการณ์ในตอนนั้นโลกถูกขับเคลื่อนด้วยพลังของโซเชียลมีเดียที่ต้องการคำแนะนำเพียงเล็กน้อยแต่จะถูกขับเคลื่อนด้วยพลังของการเชื่อมต่อเพื่อการสื่อสารระหว่างกลุ่มคนเพียงเท่านั้น

อัลกอริธึมคำแนะนำรูปแบบใหม่ กำลังใกล้จะสุกงอมเต็มที่ Yiming ต้องคว้าโอกาสนี้ไว้ เนื่องจากคำแนะนำแทบไม่ต้องการข้อกำหนดในการติดตามเพื่อการเชื่อมต่อเหมือนในเครือข่ายโซเชียลมีเดีย

คำแนะนำที่ดีต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ด้วย search engine ผู้ใช้จะแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนโดยสิ่งที่พวกเขาพิมพ์ลงในแถบค้นหา และมีการตั้งค่าของผู้ใช้ตามพฤติกรรมก่อนหน้าเพียงอย่างเดียว

โดยทั่วไประบบการแนะนำต้องอาศัยกระบวนการหลักสองประการ : “content-based filtering (การกรองตามเนื้อหา)” และ “collaborative filtering (การกรองการทำงานร่วมกัน)”

แนวคิดทั้งสองนี้ค่อนข้างง่ายต่อการเข้าใจ ระบบการกรองตามเนื้อหาจะแนะนำเนื้อหาให้กับผู้ใช้ ในสิ่งที่คล้ายกับที่พวกเขาต้องการอยู่แล้ว หากผู้ใช้สนุกกับการดูวีดีโอสุนัขและถูกแท็กว่าเป็น “คนรักสุนัข” ระบบจะแนะนำวีดีโอสุนัขเพิ่มเติม

ส่วนระบบการกรองการทำงานร่วมกันจะยึดตามคำแนะนำในการค้นหากลุ่มผู้ใช้ที่ชอบเนื้อหาที่คล้ายคลึงกัน ตัวอย่างเช่น ความสนใจของ Jane และ Tracey มีความสัมพันธ์กันอย่างมาก หาก Jane ดูวีดีโอซ้ำ ๆ จนจบ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความสนใจที่เชื่อถือได้ ระบบจะแนะนำวีดีโอนั้นให้กับ Tracey ด้วย

ในช่วงกลางปี 2012 Yiming ได้ส่งอีเมลไปยังทีมเทคนิคของ ByteDance ด้วยชื่อที่เป็นลางไม่ดี “Recommended Engine General Meeting”

Yiming มุ่งมันที่จะผลักดันในหัวข้อที่เขาเห็นว่ามีความสำคัญต่ออนาคตของบริษัท ในเนื้อหาอีเมลยังระบุด้วยว่า “ในการเป็นแพลตฟอร์มข้อมูล จำเป็นต้องทำงานได้ดีกับเครื่องมือแนะนำส่วนบุคคล พวกคุณต้องการเริ่มต้นสิ่งนี้ในตอนนี้หรือไม่”

ระบบการแนะนำเบื้องต้นของ Toutiao ซึ่งเรียกว่า “personalization technology (เทคโนโลยีการปรับเปลี่ยนในแบบของคุณ)” โดยเมื่อเปิดแอปขึ้นมา แล้วผู้ใช้จะได้รับบทความที่อ่านแล้วติดอันดับต้น ๆ เพื่อให้พวกเขาติดใจในทันที

หลังจากนั้นจะเป็นการรวมบทความ clickbait ที่ตรงเป้าหมายมากขึ้นซึ่งดึงดูดผู้ใช้เฉพาะกลุ่มเพื่อทดสอบและตัดสินใจว่าใครคือผู้อ่าน ผู้ใช้ที่คลิกบทความที่มีภาพตัวอย่างขนาดใหญ่ของนางแบบรถยนต์น่าจะเป็นผู้ชาย ผู้ใช้รายอื่นที่อ่านบทความ “ซุปไก่เพื่อจิตวิญญาณ” น่าจะเป็นผู้สูงอายุ การเสริมการคาดเดานี้คือข้อมูลพื้นฐาน เช่น รุ่นโทรศัพท์ของผู้ใช้ ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และวันเวลาที่พวกเขาเปิดแอป

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2014 เมื่อ ByteDance ได้ไปขโมยตัว Yang Zhenyuan รองผู้อำนวยการฝ่ายการค้นหามาจาก Baidu ซึ่งเขาทำงานกับ Baidu มาเป็นเวลา 9 ปีแล้ว Yang ได้รับตำแหน่งรองประธานฝ่ายเทคโนโลยีของ ByteDance ทันที และเตรียมพร้อมสำหรับการอัปเกรดทางเทคนิคครั้งใหญ่

 Yang Zhenyuan มือดีที่คว้าตัวมาจาก Baidu (CR:PingWest)
Yang Zhenyuan มือดีที่คว้าตัวมาจาก Baidu (CR:PingWest)

การได้พนักงานระดับเรือธงอย่าง Yang เข้ามานั้น กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ ByteDance ซึ่งเปิดประตูให้กับวิศวกรของ Baidu คนอื่น ๆ ที่ติดตามเขามาร่วมงานด้วย

ด้วยความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคที่เพิ่มขึ้นจากทีมของ Baidu ภายในปี 2016 พวกเขาสามารถทดลองวิธีการต่าง ๆ ในการสร้างเนื้อหาด้วยอัลกอริธึม ในระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปีนั้น บอทที่พัฒนาโดย ByteDance ได้เขียนข่าวต้นฉบับ เผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญ ๆ ได้เร็วกว่าสื่อแบบดั้งเดิม และเพลิดเพลินกับระดับของการมีส่วนร่วมจากผู้ใช้ที่เทียบได้กับบทความที่เขียนขึ้นโดยนักเขียนที่เป็นมนุษย์จริง ๆ

ในเดือนมกราคมปี 2018 ByteDance ได้จัดประชุมสาธารณะในกรุงปักกิ่งเพื่อเปิดเผยว่าอัลกอริธึมของพวกเขาทำงานอย่างไร เป้าหมายเพื่อบรรเทาการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อของรัฐและหน่วยเฝ้าระวังทางอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับการเผยแพร่ภาพลามกอนาจารควบคู่ไปกับความกังวลเกี่ยวกับการขาดการดูแลของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

ในงานดังกล่าวผู้นำทีมอัลกอริธึมระดับอาวุโสของบริษัท Cao Huanhuan ได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับหลักการของระบบการแนะนำของ ByteDance

ระบบของ ByteDance ใหม่นั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่ 3 โปรไฟล์ : content profile (โปรไฟล์เนื้อหา) , user profile (โปรไฟล์ผู้ใช้) และ environment profile (โปรไฟล์สภาพแวดล้อม)

สำหรับโปรไฟล์เนื้อหา Cao ได้ยกตัวอย่างบทความข่าวเกี่ยวกับการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษระหว่างลิเวอร์พูลกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด โดยคำหลักจะถูกดึงออกมาจากบทความโดยใช้เทคโนโลยี Natural Language Processing (NLP)

ซึ่งในกรณีดังกล่าวก็คือ “สโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล” “สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด” “พรีเมียร์ลีกอังกฤษ” และชื่อผู้เล่นหลักหลายคนจากเกมดังกล่าว เช่น “ดาวิด เด เคอา”

จากนั้นจะมีการกำหนดค่าความเกี่ยวข้องกับคำหลัก ในตัวอย่าง “สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด” เท่ากับ 0.9835 และ “ดาวิด เด เคอา” เท่ากับ 0.9973 ซึ่งทั้งคู่ถือว่าสูงมากตามที่คาดไว้ โปรไฟล์เนื้อหายังรวมถึงเวลาที่เผยแพร่บทความ ซึ่งช่วยให้ระบบคำนวณว่าบทความนั้นล้าสมัยเมื่อใดและหยุดการแนะนำ

โปรไฟล์ผู้ใช้สร้างขึ้นจากแหล่งต่าง ๆ รวมถึงประวัติการท่องเว็บ ประวัติการค้นหา ประเภทของอุปกรณ์ที่พวกเขาใช้ ตำแหน่งของอุปกรณ์ อายุ เพศ และลักษณะพฤติกรรม ผู้ใช้ถูกแบ่งออกเป็นละติจูดหลายหมื่นตามข้อมูลโซเชียลและการขุดพฤติกรรมผู้ใช้เพื่อสร้างโปรไฟล์ที่แตกต่างกัน

เมื่อคุณอ่านโพสต์ที่แพลตฟอร์มแนะนำ มันจะเรียนรู้การตั้งค่าของคุณโดยติดตามพฤติกรรมของคุณ : สิ่งที่คุณเลือกอ่าน สิ่งที่คุณเลือกที่จะยกเลิกอ่าน คุณใช้เวลานานแค่ไหนกับเนื้อหา บทความที่คุณแสดงความคิดเห็น และเรื่องราวใดที่คุณ เลือกที่จะแชร์

สุดท้ายโปรไฟล์สภาพแวดล้อมจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ผู้ใช้เสพเนื้อหา เช่น ที่ทำงาน ที่บ้าน หรือระหว่างการเดินทางบนรถไฟใต้ดิน เนื่องจากความชอบของผู้คนแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ต่าง ๆ ลักษณะด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ได้แก่ สภาพอากาศและแม้กระทั่งความเสถียรของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของผู้ใช้และเครือข่ายที่พวกเขาใช้ ( เช่น Wi-Fi หรือ China Mobile 4G)

ระบบจะคำนวณการจับคู่ทางสถิติที่รัดกุมที่สุดระหว่างโปรไฟล์เนื้อหา โปรไฟล์ผู้ใช้ และโปรไฟล์สภาพแวดล้อม ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพเปอร์เซ็นต์ของบทความที่อ่านและเปอร์เซ็นต์ของบทความที่อ่านเสร็จสิ้นแล้ว (เช่นเวลาที่ใช้)

จากนั้นกระบวนการเผยแพร่เนื้อหาจะจัดสรร “ค่าคำแนะนำ” ให้กับเรื่องราวที่ตีพิมพ์ใหม่แต่ละรายการโดยพิจารณาจากคุณภาพและจำนวนผู้อ่านที่เป็นไปได้ ยิ่งมีมูลค่าสูงเท่าใด ก็จะยิ่งแจกจ่ายบทความให้คนที่เหมาะสมมากขึ้นเท่านั้น

ค่าการแนะนำจะเปลี่ยนไปเมื่อผู้ใช้ตอบโต้กับมัน ปฏิสัมพันธ์ในเชิงบวก เช่น การชอบ การแสดงความคิดเห็น และการแชร์ ช่วยเพิ่มมูลค่าของคำแนะนำ

ส่วนการกระทำเชิงลบ เช่น ไม่ชอบและเวลาในการอ่านสั้น ค่าจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไปเนื่องจากเนื้อหาเริ่มล้าสมัย สำหรับหมวดหมู่ข่าวด่วน เช่น ข่าวกีฬา หรือ ราคาหุ้น วันหรือสองวันอาจเพียงพอสำหรับมูลค่าที่จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับเนื้อหาหมวดหมู่ที่มีระยะเวลายืนยาว (Evergreen Content) เช่น ไลฟ์สไตล์หรือการทำอาหาร กระบวนการจะช้าลง

ความสวยงามของการพึ่งพาคำแนะนำในการปรับปรุงการมีส่วนร่วมคือการสร้างวัฏจักรที่ดีของการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งมักเรียกกันว่า “data network effect” ยิ่งใช้เวลากับแอปมากเท่าไหร่ โปรไฟล์ผู้ใช้ก็จะยิ่งสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเท่านั้น ซึ่งนำไปสู่การจับคู่เนื้อหาที่แม่นยำยิ่งขึ้นและประสบการณ์ผู้ใช้ที่ดีขึ้น

Recommendation Engine คือเครื่องจักรอันทรงพลังใหม่ของ ByteDance ที่พวกเขาสามารถที่จะคิดการณ์ใหญ่ มันผลักดันให้ Toutiao แอปอ่านข่าวของพวกเขาแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแพลตฟอร์มอื่นๆ และสามารถทำรายได้ให้กับพวกเขาอย่างเป็นกอบเป็นกำ

เหมือนตัว Yiming จะเห็นขุมทรัพย์ขนาดมหึมาจากคอมพิวเตอร์อัลกอริทึมนี้ มันเป็นสิ่งที่ทำให้ ByteDance แตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่น ๆ ซึ่งการเริ่มทดลองกับ Toutiao นี่เองที่สุดท้าย เมื่อนำอัลกอริทึมนี้มาสร้างแอปอย่าง TikTok ก็สามารถผลักดันให้แพลตฟอร์มวีดีโอสั้นรูปแบบใหม่นี้เติบโตอย่างบ้าคลั่ง และยึดครองโลกเราอย่างที่ได้เห็นกันในทุกวันนี้นั่นเองครับผม

References :
หนังสือ Attention Factory : The Story of TikTok & China’s ByteDance โดย Brennan Matthew
หนังสือ TikTok Boom : China’s Dynamite App and the Superpower Race for Social Media โดย Chris Stokel-Walker
https://pandaily.com/zhang-yiming-5-common-characteristics-outstanding-youth/



 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube