Fire Phone อีโก้ ความเชื่อมั่น สู่ความล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของ Amazon ในธุรกิจมือถือ

ต้องบอกว่าเทคโนโลยีบางอย่างอาจจะดูเหมือนประสบความสำเร็จในช่วงแรก ๆ หลังเปิดตัว แต่ก็มีโอกาสที่จะล้มเหลวได้ในท้ายที่สุด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือผลิตภัณฑ์ที่หวังจะชนะสงครามสมาร์ทโฟนโดย Jeff Bezos อย่าง Fire Phone

เมื่อ Kindle Fire ได้ออกสู่ตลาดในฤดูใบไม้ร่วงปี 2011 ในขณะนั้น Fire Phone กำลังอยู่ในช่วงการวิจัยและพัฒนา ซึ่งใช้เวลาหนึ่งปีกว่าแล้ว มีข่าวลือออกมามากมายว่า Amazon กำลังซุ่มเงียบทำมือถือสมาร์ทโฟนอยู่ มีภาพหลุดในการแสดง Prototype ของมันให้กับเครือข่ายโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่อย่าง AT&T ตั้งแต่ปี 2011

ซึ่งหากเราย้อนเวลากลับไปในช่วงนั้น Steve Jobs ยังกุมบังเหียนเป็น CEO ของ Apple อยู่และกำลังเปิดตัว iPhone รุ่นใหม่ที่มาพร้อมดีไซน์รูปแบบใหม่อย่าง iPhone 4

Steve Jobs ที่กำลังเปิดตัว iPhone 4 (CR:Techoffside)
Steve Jobs ที่กำลังเปิดตัว iPhone 4 (CR:Techoffside)

Amazon ไม่ได้หวังแค่จะยึดตลาดมือถือสมาร์ทโฟน แต่พวกเขาได้ปล่อยผลิตภัณฑ์อย่าง Kindle Fire Tablet ที่ถือได้ว่าสามารถทำกำไรให้กับพวกเขาได้อย่างต่อเนื่องทุกปีได้แล้วในขณะนั้น

แต่ตลาดแท็ปเล็ตหรือเครื่องอ่าน ebook มันมีขนาดที่เล็กกว่ามือถือสมาร์ทโฟนเป็นอย่างมาก Jeff Bezos เองพยายามทุกวิถีทางที่จะฉกชิงส่วนแบ่งการตลาดของสมาร์ทโฟนที่เป็นขุมทรัพย์ใหม่ที่ตัวเขาเองหวังจะพิชิตมันให้จงได้

Bezos เองได้เข้ามาลุยคลุกคลีการพัฒนาโทรศัพท์ Fire Phone อย่างใกล้ชิด เขาต้องการให้ทุกการตัดสินใจไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ต้องผ่านเขาเพื่อตรวจสอบว่าทุกองค์ประกอบของมือถือเรือธงของ Amazon จะสมบูรณ์แบบ

Bezos ได้ยัดเอาฟีเจอร์เทพ ๆ มาใส่มือถือรุ่นนี้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Dynamic Perspective ที่ทาง Amazon ลงทุนทุ่มเททรัพยากรจำนวนมหาศาลในการออกแบบจอแสดงผลแบบ 3 มิติ รวมถึงกล้องหน้า 5 ตัวและเทคโนโลยี eye-tracking

หรือฟีเจอร์อย่าง Firefly ซึ่งทำให้ Fire Phone เป็นมือถือสมาร์ทโฟนเครื่องแรกที่นำเสนอเทคโนโลยีในการสแกนบาร์โค้ด โดยลูกค้าสามารถใช้กล้องของโทรศัพท์เพื่อสแกนบาร์โค้ดบนผลิตภัณฑ์ในร้านค้าแล้วซื้อสินค้าผ่าน Amazon ได้ทันที รวมถึงการพัฒนาระบบปฏิบัติการขึ้นมาใหม่อย่าง Fire OS ซึ่งเป็นเวอร์ชันของ Android ที่ถูกแยกออกมาทำเอง

แม้บริษัทจะเก็บข้อมูลการพัฒนาโทรศัพท์มือถือไว้เป็นความลับ แต่การทดสอบ Fire Phone มีขึ้นตลอดช่วงปี 2012 ถึงปี 2013 มันเป็นเรื่องยากที่ Amazon จะปิดบังสมาร์ทโฟนของตนเอง แม้ว่าจะมีรายงานข่าวลือมากมายเกี่ยวกับบริษัทที่ Amazon อาจจะทำงานด้วย เช่น HTC, HP, AT&T แต่ Amazon ปฏิเสธข่าวลือทั้งหมด

ในปีต่อมา Amazon ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า Fire Phone นั้นมีอยู่จริง และสามารถสั่งจองล่วงหน้าได้ Jeff Bezos ก็ได้เป็นคนประกาศเองที่งานใหญ่ของบริษัทใน Fremont Theatre ในซีแอตเติล ซึ่งในเดือนกรกฎาคม 2014 Fire Phone ก็ได้ออกวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ

Jeff Bezos เปิดตัว Fire Phone ที่คาดว่าจะเป็นมือถือเรือธงของบริษัท (CR:TechCrunch)
Jeff Bezos เปิดตัว Fire Phone ที่คาดว่าจะเป็นมือถือเรือธงของบริษัท (CR:TechCrunch)

สัญญาณแรกของความล้มเหลว

แม้ Fire Tablet ผลิตอีกหนึ่งชิ้นของ Amazon จะได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ Fire Phone กลับได้รับคำวิจารณ์อย่างหนัก ทั้งเรื่องราคาที่สูงเว่อร์ ระบบปฏิบัติการที่ดูเลอะเทอะ ไม่มีอะไรโดดเด่น และการผูกขาดกับเครือข่ายมือถือเพียงแห่งเดียวคือ AT&T

ซึ่งแม้ Fire Phone จะได้รับการชื่นชนจากนวัตกรรมบางอย่างเช่น Dynamic Perspective และ Firefly แต่มันก็เป็นเหมือนลูกเล่นมากกว่าซึ่งผู้ใช้งานส่วนใหญ่มองว่ามันเป็นสิ่งไร้ค่า

แถมยังถูกเบียดบังด้วยคำวิจารณ์ที่รุนแรงในเรื่องอื่น ๆ เช่น ระบบปฏิบัติการใหม่อย่าง Fire OS นั้นทำให้ผู้ใช้งานไม่สามารถเข้าถึงแอปของ Google และ Android ที่ได้รับความนิยมสูงสุดบางแอปได้

นอกเหนือจากความสามารถในด้านเทคโนโลยีแล้ว ผู้ใช้บางคนมีปัญหากับตัวเครื่องด้วย รู้สึกว่ามันดูราคาถูก และมาพร้อมกับหูฟังที่ไม่สามารถแข่งขันกับ iPhone ได้ ยิ่งไปกว่านั้นแบตเตอรี่ ยังไม่สามารถที่จะอยู่ได้ข้ามวันเสียด้วยซ้ำ

ไม่นานหลังจากออกวางขายในช่วงฤดูร้อนปี 2014 ร้านค้าของ AT&T ได้กล่าวถึงยอดขายที่น้อยมาก ๆ หรือแทบไม่มีเลยทั่วประเทศ เหล่าลูกค้าแม้จะมีความสนใจอุปกรณ์แต่พวกเขาก็ไม่ได้ควักเงินเพื่อซื้อมัน ความอยากรู้อยากเห็นไม่ได้แปลงเป็นยอดขายแต่อย่างใด โดยเฉพาะเมื่อลูกค้าเหล่านั้นหันไปซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นคู่แข่งโดยตรงอย่าง iPhone หรือ Samsung Galaxy

จบเห่อย่างรวดเร็ว

ต้องบอกว่า Fire Phone ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในเวลาเพียงไม่กี่วัน มีการคาดการณ์ว่า Fire Phone มีส่วนแบ่งการตลาดเพียงแค่ 0.02% เท่านั้น ซึ่งแปลว่ามันสามารถทำยอดขายได้น้อยกว่า 35,000 เครื่อง

Amazon มักจะเป็นบริษัทที่ไม่เปิดเผยยอดขายของผลิตภัณฑ์ แม้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะประสบความสำเร็จก็ตาม แน่นอนว่าพวกเขาไม่มีทางที่จะเปิดเผยยอดขายที่แท้จริงของ Fire Phone ที่ล้มเหลวอย่างรุนแรงแน่นอน

แต่กุญแจสำคัญที่ไขความเข้าใจทั้งหมดของการล่มสลายของ Fire Phone ก็คือราคาหุ้นของบริษัท เพราะในไตรมาสที่ 3 ของปี 2014 เพียงไม่กี่เดือนหลังจากการเปิดตัว Fire Phone บริษัทขาดทุนไป 170 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่หลังจากผ่านไป 1 ปีที่ทาง Amazon เลิกจำหน่าย Fire Phone ไปแล้ว แต่พวกเขายังคงมีสินค้าค้างสต็อกอยู่อีกมูลค่าหลายสิบล้านเหรียญ

ทำไม Fire Phone ถึงล้มเหลว?

ความล้มเหลวของ Fire Phone มาจากทั้งเรื่องอีโก้ ความมั่นใจจนเกินเหตุของผู้นำอย่าง Jeff Bezos ที่มองว่าแบรนด์ของพวกเขาอยู่ในใจผู้บริโภคอยู่แล้วคงจะครอบครองส่วนแบ่งการตลาดได้ไม่ยาก ซึ่ง Bezos สันนิษฐานผิดไปทั้งหมด

Amazon ไม่ได้อยู่ในกลุ่มแบรนด์ที่ลูกค้าหลงรักเฉกเช่นแบรนด์อย่าง Apple , Nike หรือ Disney โดย Amazon ไม่ได้เจ๋งหรือเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคอย่างที่ Bezos คาดหวัง

Amazon ล้มเหลวอย่างยิ่งในการทำการวิจัยอย่างละเอียดเพื่อทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้า ส่งผลให้ Fire Phone ถึงจุดจบอย่างรวดเร็ว Bezos พยายามยัดเยียดสิ่งต่าง ๆ ตามแนวคิดของเขาเอง แทนที่จะส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าต้องการจริง ๆ

หลักการของ Amazon แต่เดิมนั้นเริ่มต้นจากความต้องการของลูกค้ามาโดยตลอด แต่เมื่อพูดถึง Fire Phone ลูกค้ารายนั้นกลับกลายเป็น Jeff Bezos แทน และนั่นคือสาเหตุที่สำคัญที่สุดของความล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่ครั้งนี้ที่เป็นบทเรียนที่สำคัญมาก ๆ ของ Amazon ในยุคหลัง

แล้วทำไม iPhone ถึงประสบความสำเร็จ

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า Fire Phone นั้นล้มเหลวอย่างรุนแรง มันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องการตามรอยความสำเร็จของ iPhone แต่ความแตกต่างอยู่ที่ iPhone นั้นถูกสร้างขึ้นด้วยจิตวิญญาณที่เข้าใจผู้บริโภคอย่างแท้จริงของ Steve Jobs พวกเขาสร้างนวัตกรรมใหม่ออกมาและไม่เคยที่จะหยุดยั้งในการสร้างสรรค์มัน ซึ่งต้องบอกว่าเรื่องนวัตกรรมเป็นความสำคัญลำดับสูงสุดของ Apple

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า Fire Phone นั้นไม่มีนวัตกรรมอะไรเลย เพราะฟีเจอร์อย่าง Dynamic Perspective , Firefly และ X-Ray แทบจะไม่มีในสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ ในตลาด อย่างไรก็ตามฟีเจอร์เหล่านี้แม้จะดูแปลกใหม่ แต่ไม่มีประโยชน์ต่อผู้ใช้งาน

ฟีเจอร์ของ Fire Phone ที่ดูเหมือนล้ำ แต่ไร้ประโยชน์สำหรับผู้บริโภคทั่วไป (CR:Youtube)
ฟีเจอร์ของ Fire Phone ที่ดูเหมือนล้ำ แต่ไร้ประโยชน์สำหรับผู้บริโภคทั่วไป (CR:Youtube)

โทรศัพท์ที่ดีต้องมีความเร็ว ฟังก์ชันการใช้งานที่ดี และเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย iPhone มีแทบจะทั้งหมดนี้ รวมถึงประสบการณ์ผู้ใช้งานไม่ว่าจะเป็นเรื่องการโทรศัพท์ ส่งข้อความ และแอปพลิเคชันที่ผสานรวมกันได้อย่างลงตัวที่สุด ซึ่งนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ iPhone ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

References :
https://www.fastcompany.com/3039887/under-fire
https://history-computer.com/the-real-reason-fire-phone-failed-spectacularly/
https://maestrolearning.com/blogs/amazon-fire-phone/

“น้ำดื่มสิงห์” จับมือแบรนด์แฟชั่นรักษ์โลก PIPATCHARA เนรมิตกระเป๋าจากฝาขวดน้ำดื่มสู่คอลเล็กชั่น White Balance สร้างมูลค่า ปลุกพลังผู้บริโภค ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

“น้ำดื่มสิงห์” ได้ร่วมมือพันธมิตรอย่าง PIPATCHARA (ภิพัชรา) แบรนด์แฟชั่นรักษ์โลกสัญชาติไทย นำฝาขวดน้ำดื่มสิงห์ไปสร้างสรรค์เป็นกระเป๋าคอลเล็กชั่นใหม่ “INFINITUDE WHITE BALANCE” สร้างเอ็นเกจเมนต์กับผู้บริโภคด้านรักษ์โลกดูแลสิ่งแวดล้อม

นายธิติพร ธรรมาภิมุขกุล Chief Marketing Officer บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด เปิดเผยว่า “การทำตลาดของน้ำดื่มสิงห์ นอกจากให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสินค้าด้วยมาตรฐานการผลิต และเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง Smart Micro Filter ระบบกรองอัจฉริยะเพื่อให้ได้น้ำดื่มสิงห์ที่ใสสะอาดและคงแร่ธาตุที่ดีต่อร่างกาย

นอกจากนี้น้ำดื่มสิงห์ยังคงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการดูแลสังคมและใส่ใจสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ในปีนี้น้ำดื่มสิงห์ได้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานแฟชั่นกับแบรนด์ “PIPATCHARA” ในงานเปิดตัวคอลเล็กชั่นใหม่ INFINITUDE WHITE BALANCE โดยนำฝาขวดน้ำสิงห์ PET สีขาวและสีฟ้า จากฉลากดีไซน์ Toy Story ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้เข้าสู่กระบวนการนำไปใช้ใหม่หรือ Up-Cycling ดีไซน์เป็นกระเป๋าคอลเล็กชั่นพิเศษที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแบรนด์ PIPATCHARA เพื่อเชิญชวนให้ผู้คนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมทั้งนำวัสดุเหลือใช้มาใช้ให้เกิดประโยชน์

สำหรับแบรนด์ PIPATCHARA แบรนด์แฟชั่นสัญชาติไทย ได้นำไอเดีย Sustainability มาผสมผสานกับไฮเอนด์แฟชั่น โดยเลือกใช้วัสดุที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลหรือวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยแบรนด์เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมไปทั่วโลกในการถัก Macrame โดยฝีมือของชาวบ้านในเขตภาคเหนือและใช้วัตถุดิบหลักในการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วโลกอย่าง Infinitude Collection ที่ทำจากขยะพลาสติกกำพร้าและขยะพลาสติกในครัวเรือนเกิดเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์

การร่วมงานกันระหว่างน้ำดื่มสิงห์และแบรนด์ PIPATCHARA ด้วยการนำฝาขวดน้ำดื่มสิงห์สีขาวและสีฟ้ามารังสรรค์แฟชั่นกระเป๋าในครั้งนี้ ยังตอกย้ำภาพลักษณ์น้ำดื่มสิงห์ในการเป็นแบรนด์สร้างแรงบันดาลใจ และปลุกพลังผู้บริโภคให้มีส่วนร่วมรักษ์โลกของเรามากยิ่งขึ้น สำหรับกระเป๋า Infinitude Bag คอลเล็กชั่น White Balance ที่ทั้งสองแบรนด์ทำร่วมกันนี้ สามารถหาซื้อ ได้ที่ PIPATCHARA SHOP หรือช่องทางออนไลน์ที่ https://pipatchara.com/