The Transformative Power กับการเปลี่ยนถ่ายอำนาจครั้งสำคัญของมวลมนุษยชาติ

ต้องบอกว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ มักมาพร้อมกับภัยคุกคามใหม่ ๆ เสมอ ซึ่งโลกเราได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งไหนที่จะส่งผลกระทบรุนแรงได้เท่าครั้งนี้

ในอดีตปืนใหญ่ทำให้กองกำลังพลขนาดเล็กสามารถทำลายป้อมปราการและกองทัพขนาดใหญ่ได้ ทหารเพียงไม่กี่นายจากเมืองเล็ก ๆ ก็สามารถรัฐประหารชนพื้นเมืองหลายพันคนด้วยอาวุธที่ทันสมัยกว่าได้แบบง่ายดาย

แท่นพิมพ์ช่วยให้โรงพิมพ์แห่งเดียวสามารถผลิตแผ่นใบปลิวได้หลายพันชิ้น ทำให้แพร่กระจายความคิดได้อย่างง่ายดาย ซึ่งถ้าย้อนกลับไปมันเป็นสิ่งที่นักบวชในยุคกลางแทบจะจินตนาการไม่ออกเลยด้วยซ้ำ

กำลังจากเครื่องจักรไอน้ำทำให้โรงงานแห่งเดียวสามารถทำงานได้เท่ากับหมู่บ้านทั้งหมู่บ้าน

อินเทอร์เน็ตยกระดับความสามารถเหล่านี้สู่จุดสูงสุด เพียงแค่ทวีตเดียวหรือภาพเพียงภาพเดียวอาจแพร่กระจายไปทั่วโลกได้ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วินาที

หรืออัลกอริธึมเจ๋ง ๆ ซักอันอาจช่วยให้บริษัทสตาร์ทอัพขนาดเล็กเติบโตเป็นบริษัทระดับพันล้านได้อย่างรวดเร็วได้เช่นเดียวกัน

ต้องบอกว่าปัจจุบันผลกระทบในรูปแบบดังกล่าวนั้นมันยิ่งชัดเจนมากยิ่งขึ้น คลื่นเทคโนโลยีใหม่ได้ปลดปล่อยศักยภาพที่น่าสะพรึงกลัว เข้าถึงได้ง่าย และมีราคาที่ถูกแสนถูก

สิ่งนี้ชัดเจนว่ามันนำมาซึ่งความเสี่ยง มันไม่ใช่แค่ในแวดวงทหาร ตัวอย่างยูเครนหรือกองกำลังกะเหรี่ยงพม่าที่กล้าท้าชนคู่ต่อสู้ที่แข็งกว่าโดยใช้อาวุธอย่างโดรนราคาไม่กี่ร้อยเหรียญ

Audrey Kurth Croni ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงกล่าวว่า “แทบไม่เคยมียุคไหนที่คนมากมายมีสิทธิ์เข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถก่อให้เกิดความตายและความวุ่นวายได้เท่าในยุคนี้”

ในทุกวันหน่วยโดรนจากกองทัพยูเครน สามารถเข้าโจมตีและทำลายชิ้นส่วนปืนใหญ่ หรือรถถังราคาแพงมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มันแสดงให้เห็นถึงบทบาทของเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนสนามรบยุคใหม่

ในการปะทะนอกกรุงเคียฟ โดรนที่ใช้เป็นเหมือนของเล่นของคนทั่วไป บริษัท DJI ซึ่งตั้งอยู่ในเซินเจิ้น ผลิตสินค้าราคาไม่แพงและเข้าถึงได้ง่าย เช่น Phantom camera quadcopter ราคา 1,399 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมันมีคุณภาพดีจนกองทัพสหรัฐฯต้องนำมาใช้งาน

หากความก้าวหน้าด้าน AI โดรนราคาถูกแต่มีประสิทธิภาพ ผนวกกับความคืบหน้าในสาขาต่าง ๆ ตั้งแต่หุ่นยนต์ไปจนถึงเทคโนโลยี Computer Vision ก็จะได้อาวุธที่มีพลังทำลายล้างสูง แม่นยำ และอาจจะถึงขั้นไม่สามารถที่จะตรวจจับได้ง่าย ๆ

แน่นอนว่าฝ่ายตั้งรับที่เราเห็นกันมาหลายเคสแล้วว่าทำได้ไม่ง่ายแม้จะมีสรรพกำลังที่มากกว่า ตัวอย่างเคสของกองทัพพม่าน่าจะบอกเรื่องราวนี้ได้อย่างดี

กลุ่มต่อต้านรัฐประหารของพม่าซึ่งเชี่ยวชาญด้านการทำสงครามด้วยโดรน ในตอนแรกพวกเขาใช้เพียงแค่โดรนขนาดเล็กที่มีน้ำหนักเบา แต่สถานการณ์ในปัจจุบันกลุ่มต่อต้านดังกล่าวใช้ระบบที่มีความซับซ้อนกว่าเดิมเป็นอย่างมากเพื่อทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายทางการทหารได้อย่างแม่นยำจนสามารถยึดจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ๆ ได้อย่างง่ายดาย

หรือในเคสของกองทัพอเมริกันและอิสราเอลที่ต้องใช้ขีปนาวุธ Patriot ราคา 3 ล้านดอลลาร์ เพื่อยิงโดรนที่มีราคาเพียงสองร้อยดอลลาร์

ปัจจุบันอุปกรณ์รบกวนสัญญาณ ขีปนาวุธ และระบบต่อต้านโดรนยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นเพียงเท่านั้น และไม่ค่อยได้รับการทดสอบในสนามรบจริงมากนัก

การพัฒนาเหล่านี้จะนำไปสู่การถ่ายโอนอำนาจครั้งใหญ่จากรัฐและกองทัพแบบดั้งเดิม ไปสู่กลุ่มคนทั่วไป ใครก็ตามที่มีศักยภาพและแรงจูงใจในการนำอุปกรณ์เหล่านี้มาใช้

คนบ้า ๆ คนหนึ่งที่มีเงินตรา ก็สามารถที่จะซื้อและบังคับควบคุมโดรนนับพันตัวได้อย่างง่ายดาย

โปรแกรม chatbot AI เพียงตัวเดียวก็สามารถที่จะสรรสร้างข้อความได้มากเท่ากับมวลมนุษยชาติรวมกันแทบจะทั้งหมด

โมเดลการสร้างภาพขนาด 2 กิกะไบต์ที่รันบนแล็ปท็อปของทุกคนสามารถที่จะบีบอัดภาพทั้งหมดบนเว็บที่มีอยู่บนโลกนี้ได้ง่ายดาย

การทดลองด้านจุลชีววิทยาเพียงครั้งเดียวอาจก่อให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่ เหตุการณ์ขนาดเล็กในระดับโมเลกุลที่มีผลกระทบในวงกว้าง

คอมพิวเตอร์ควอนตัมที่ใช้การได้เพียงเครื่องเดียวอาจทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านการเข้ารหัสของโลกล้าสมัยทันที

ความเชื่อมโยงและขนาดของคลื่นเทคโนโลยีใหม่นี้สร้างความเสี่ยงในระบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งความล้มเหลวเพียงจุดเดียวอาจนำไปสู่ผลกระทบที่ลุกลามไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ยิ่งเทคโนโลยีเปิดมากขึ้นเท่าไหร่ มันก็ยิ่งยากที่จะควบคุมได้

ลองคิดถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ อุบัติเหตุจราจรที่มีมาตั้งแต่ในอดีต ที่ล้วนแล้วเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์จะลดน้อยลงไป

ในอนาคตฝูงรถยนต์แสนฉลาดจะเชื่อมโยงกันได้ หรือมีระบบที่สามารถควบคุมยานพาหนะอัตโนมัติทั้งหมด แม้จะมีมาตรการรักษาความปลอดภัยและระบบรักษาความปลอดภัยมากมาย แต่ขนาดของผลกระทบกลับกว้างใหญ่กว่าที่เคยเป็นมา

AI จะสร้างความเสี่ยงที่จะขยายไปยังสังคมทั้งระบบ ทำให้มันไม่ใช่ถูกใช้เป็นเพียงแค่เครื่องมือเท่านั้น แต่มันจะสร้างผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งไม่แปลกที่เหล่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ พวกเขาไม่เพียงแต่ต้องการมีส่วนร่วม และไม่ตกขบวนรถนี้เท่านั้น แต่ต้องการที่จะมีอำนาจเหนือมัน

เราอยู่ในยุคของระบบโลกที่เชื่อมโยงกันอยู่แล้ว ในคลื่น AI ที่กำลังมาถึงนี้ เพียงแค่จุดเดียว โปรแกรมเพียงโปรแกรมเดียว การเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมเพียงครั้งเดียว อาจจะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างไปแบบสิ้นเชิง

References :
หนังสือ The Coming Wave :  Technology, Power, and the Twenty-first Century’s Greatest Dilemma โดย Mustafa Suleyman
https://www.aljazeera.com/news/2024/4/4/myanmar-opposition-launches-drone-attack-on-militarys-stronghold-capital
https://www.reuters.com/graphics/UKRAINE-CRISIS/DRONES/dwpkeyjwkpm/

Geek Daily EP226 : Mark Zuckerberg กับการเตรียมเท Metaverse สู่การเดิมพันครั้งใหญ่กับ AI

Mark Zuckerberg ซีอีโอของ Meta ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Facebook ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าล่าสุดของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของยักษ์ใหญ่ด้านโซเชียลมีเดีย รวมถึงผลการดำเนินงานทางการเงินในระหว่างการรายงานผลประกอบการไตรมาสล่าสุด

Zuckerberg เน้นย้ำว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ขับเคลื่อนเนื้อหามากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์บน Instagram และเนื้อหามากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์บน Facebook เขายืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นของ Meta ที่มีต่อ AI และแผนการที่จะทุ่มอย่างเต็มที่เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ 

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://tinyurl.com/yehj6bwu

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://tinyurl.com/2a4j9yzx

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://tinyurl.com/ye24edze

🎧 ฟังผ่าน Google Podcast : 
https://tinyurl.com/yc7vymr8

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/vDZRxo4AQ-c

สุขภาพจิตแย่จริงหรือ? ผลกระทบที่แท้จริงกับเวลาในการเสพติดหน้าจอมือถือของเด็ก

ต้องเรียกได้ว่ามีรายงานวิจัยออกมาเรื่อย ๆ สำหรับผลกระทบของเวลาที่ใช้กับสมาร์ทโฟนที่มีผลกระทบต่อเด็ก ๆ

กลุ่มที่มีชื่อว่า Smartphone-Free Childhood ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 60,000 คน ที่มาร่วมถกเถียงกันในเรื่องการหาวิธีการให้ลูก ๆ ของพวกเขาไม่ให้เข้าใกล้มือถือสมาร์ทโฟนที่พวกเขามองว่ามีพิษร้ายแรงต่อเด็ก

กลุ่มนี้ตั้งอยู่ในประเทศอังกฤษ ไม่ใช่กลุ่มเดียวที่มีความกังวลกับผลกระทบของสมาร์ทโฟนกันเด็ก

เมื่อเดือนที่ผ่านมารัฐฟลอริดาได้ออกกฎหมายห้ามเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปีใช้โซเชียลมีเดีย ฟากฝั่งรัฐบาลอังกฤษก็กำลังพิจารณาห้ามไม่ให้ขายโทรศัพท์มือถือให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี

ต้องบอกว่าข้อกังวลเหล่านี้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ในหนังสือเล่มใหม่ที่มีชื่อว่า “The Anxious Generation” ของ Jonathan Haidt ซึ่งกล่าวว่าสมาร์ทโฟนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายโซเชียลมีเดียที่เข้าถึงได้ผ่านสมาร์ทโฟนนั้นกำลังเปลี่ยนแปลงวัยเด็กไปในทิศทางที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง

ในการถกเถียงกันในหัวข้อดังกล่าวมีสองเรื่องที่ค่อนข้างชัดเจนมาก ๆ ก็คือ สมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนสำคัญของวัยเด็กไปแล้ว

ตามการวิจัยในประเทศอังกฤษเมื่ออายุได้ 12 ปี เด็กเกือบทุกคนจะมีโทรศัพท์มือถือ และเมื่อพวกเขาได้รับโทรศัพท์ไปแล้ว โซเชียลมีเดียจะเป็นสิ่งที่พวกเขาใช้เวลาส่วนใหญ่บนหน้าจอ

จากการสำรวจของ Gallup วัยรุ่นชาวอเมริกันใช้เวลากับแอปโซเชียลมีเดียประมาณ 5 ชั่วโมงต่อวัน Youtube , TikTok และ Instagram เป็นที่นิยมมากที่สุด ส่วน Facebook ที่เป็นเครือข่ายโซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่อันดับรั้งท้ายสำหรับกลุ่มวัยรุ่น

ส่วนที่สองก็คือ ส่วนใหญ่จะเห็นพ้องต้องกันว่าในหมู่ประเทศพัฒนาแล้ว จะมีการเสื่อมถอยของสุขภาพจิตในหมู่เยาวชน

สัดส่วนของวัยรุ่นอเมริกันที่รายงานว่าตนเองมีภาวะซึมเศร้าอย่างหนักอย่างน้อยหนึ่งครั้งในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมากกว่า 150%

โดยใน 17 ประเทศที่มีฐานะร่ำรวยหรือเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีการเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจของอัตราการฆ่าตัวตายในหมู่วัยรุ่นโดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง

ต้องบอกว่าปรากกฎการณ์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความเชื่อมโยงกันแทบจะทั้งสิ้น สุขภาพจิตของเด็กเริ่มตกต่ำลงพร้อม ๆ กับการเติบโตของสมาร์ทโฟนและแอปเครือข่ายโซเชียลมีเดียในช่วงทศวรรษ 2010

ในปี 2017 Roberto Mosquery จาก Unversidad de las Americas และเพื่อนร่วมงาน ให้กลุ่มทดลองที่เป็นผู้ใช้ facebook ในอเมริกาหยุดใช้แพลตฟอร์มนี้เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ผู้ที่งดใช้ facebook รายงานพวกเขามีอารการซึมเศร้าน้อยลง และมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น แถมยังบริโภคข่าวสารน้อยลง

ในปี 2018 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและนิวยอร์กได้ทำการทดลองในลักษณะเดียวกันอีกครั้งโดยให้กลุ่มตัวอย่างในอเมริกาหยุดใช้ facebook เป็นเวลาหนึ่งเดือน

นั่นทำให้คนกลุ่มดังกล่าวรู้สึกมีความสุขเพิ่มขึ้น ใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์น้อยลง ใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนมากขึ้น และมีความคิดเห็นทางการเมืองแบบสุดโต่งที่น้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม การทดลองแบบสุ่มดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่แล้วทำกับผู้ใหญ่ ซึ่งไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลักที่น่ากังวล และส่วนใหญ่เน้นศึกษาไปที่ facebook เป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันไม่ได้เป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นอีกต่อไปแล้ว

และที่สำคัญความสัมพันธ์ของมนุษย์เราก็เครือข่ายโซเชียลมีเดียก็มีความซับซ้อนเกินกว่าที่จะจำแนกมันง่าย ๆ เหมือนในอดีต

การทดลองของ Mosquery ที่พบว่า แม้คนจะบอกว่าเขามีความสุขมากขึ้นเมื่อไม่ได้ใช้ facebook แต่ยังไง facebook ก็ยังมีประโยชน์อีกด้านหนึ่งเช่นเดียวกัน

หลังจากงดใช้งาน facebook เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ กลุ่มทดลองดังกล่าวกลับพบว่าพวกเขาประเมินคุณค่าของ facebook สูงขึ้นกว่าเดิมเสียอีก

การถามว่าโซเชียลมีเดีย ดีหรือไม่ดี ต่อสุขภาพจิตนั้นผิดตั้งแต่ต้นแล้ว Peter Etechells จากมหาวิทยาลัย Bath Spa ผู้แต่งหนังสือ “Unlocked” ซึ่งมีมุมมองที่เป็นกลางมากกว่าเกี่ยวกับเวลาในการใช้กับหน้าจอมือถือ กล่าวว่า คำถามที่น่าสนใจคือ “ทำไมบางคนจึงประสบความสำเร็จมากขึ้นจากการเสพสิ่งเหล่านี้?”

แล้วทำไมถึงต้องมีการห้ามเพียงแค่โซเชียลมีเดีย ทั้งที่มันมีอีกหลายสิ่งเช่นเกมอย่าง “Fornite” ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเด็ก ๆ ได้เช่นเดียวกัน

Dr. Gentzkow ผู้ที่สนับสนุนให้เพิ่มอายุขั้นต่ำสำหรับโซเชียลมีเดียบางแพลตฟอร์ม เตือนว่าไม่ควรที่จะจำกัดทั้งหมดในมาตรฐานเดียวกัน เพราะแอปโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่มีฟังก์ชันที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถนำมาใช้ในทางที่เป็นมุมบวกหรือมุมลบก็ได้

แม้ผู้เชี่ยวชาญจะพยายามเสนอแนะให้ควบคุมเครือข่ายโซเชียลมีเดีย แต่สถานการณ์ ณ ปัจจุบันต้องบอกว่า ผู้ใช้ทั่วไปส่วนใหญ่กำลังทำสิ่งนั้นด้วยตนเอง

การโพสต์เกี่ยวกับตนเองต่อสาธารณะกำลังลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในปีที่แล้วมีเพียง 28% ของชาวอเมริกันที่บอกว่าชอบโชว์ชีวิตตนเองบนโลกออนไลน์ ลดลงจาก 40% ในปี 2020 ตามการสำรวจของบริษัทวิจัย

การสื่อสารในเครือข่ายโซเชียลมีเดียเหล่านี้กำลังเปลี่ยนแปลงจากการเปิด publc แบบสาธารณะไปสู่การสนทนาแบบส่วนตัวมากยิ่งขึ้น บนเครือข่ายอย่าง Instagram ขณะนี้มีการแชร์ภาพผ่าน inbox message ส่วนตัวมากกว่าการโพสต์บนฟีดหลัก

ในขณะที่ผู้ใหญ่บางคนกำลังกลัวปัญหาของเครือข่ายโซเชียลมีเดียเหล่านี้ แต่คนรุ่นใหม่อาจจะก้าวข้ามสิ่งที่พวกเขากังวลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

บทสรุป

แม้จะมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านลบของการใช้สมาร์ทโฟนและเครือข่ายโซเชียลมีเดียต่อสุขภาพจิตของเด็ก แต่หลักฐานเชิงประจักษ์นั้นยังมีอยู่อย่างจำกัดมาก ๆ

การศึกษาส่วนใหญ่ที่ผ่านมาจะมุ่งเน้นไปที่ผู้ใหญ่และแพลตฟอร์มเฉพาะอย่าง facebook มากกว่าแอปอื่น ๆ ที่ได้รับความนิยมมากกว่าในหมู่กลุ่มวัยรุ่น

ความสัมพันธ์ของมนุษย์เรากับสื่อสังคมออนไลน์ก็เริ่มมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ บางคนดูจะได้ประโยชน์จากมันในขณะที่บางคนก็ประสบกับปัญหา การแบนหรือบังคับห้ามใช้งานนั้นดูเหมือนมันจะไม่ใช่ทางออกของปัญหาในระยะยาว

เพราะตอนนี้มันเริ่มมีสัญญาณโดยเฉพาะจากกลุ่มคนรุ่นใหม่เองที่กำลังปรับตัวเพื่อใช้ประโยชน์จากเครือข่ายโซเชียลมีเดียเหล่านี้ที่หลาย ๆ คนมองว่าเป็นพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเองครับผม

References :
https://www.economist.com/science-and-technology/2024/04/17/what-is-screen-times-doing-to-children
https://www.theguardian.com/technology/2024/feb/17/thousands-join-uk-parents-calling-for-smartphone-free-childhood
https://smartphonefreechildhood.co.uk/

Geek Talk EP41 : Together Treble Winners กับบทเรียนความเป็นผู้นำจาก Pep Guardiola

ในวงการผู้ฝึกสอนและผู้จัดการทีมมืออาชีพนั้นไม่มีชื่อไหนที่จะดังกระฉ่อนโลกได้มากไปกว่าชื่อของ Pep Guardiola โดยเขาเป็นที่รู้จักในด้านบุคลิกที่น่าสนใจ และความสำเร็จขั้นสูงสุดในการคุมทีมฟุตบอล แนวทางการนำทีมของ Guardiola นั้นได้ดึงดูดความสนใจทั้งจากคนในวงการกีฬาและผู้นำองค์กรธุรกิจเป็นอย่างมาก

จากสารคดีชุดใหม่ของ Netflix อย่าง Together : Treble Winners นั้นรูปแบบการคุมทีมของ Guardiola สามารถเปิดเผยบทเรียนที่มีค่าซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสภาพแวดล้อมธุรกิจที่ท้าทายได้ ซึ่งความคล้ายคลึงระหว่างปรัชญาการคุมทีมของ Guardiola กับการเป็นผู้นำองค์กรธุรกิจ วิธีการของเขาสามารถสร้างแรงบันดาลใจและสร้างพลังแก่ทีมงานระดับท็อปในสถานการณ์ที่มีความท้าทายสูงสุดได้อย่างไร

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://tinyurl.com/yxbcetjf

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://tinyurl.com/2wjhke24

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://tinyurl.com/2s3nj497

🎧 ฟังผ่าน Google Podcast : 
 https://tinyurl.com/mr29a53s

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/tp45mmnolNs

CHIP WAR จากการคัดลอกสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของญี่ปุ่น

ถ้าย้อนกลับไปมองประเทศญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเรียกได้ว่าญี่ปุ่นได้กลายเป็นประเทศที่แทบจะแตกสลาย ญี่ปุ่นเองโดนระเบิดนิวเคลียร์ไปถึงสองลูกที่เมืองนางาซากิและฮิโรชิมาอย่างที่เราได้รับรู้กัน

แต่พวกเขาสามารถที่จะพลิกประเทศกลับมารวดเร็วได้อย่างน่าเหลือเชื่อมากๆ ซึ่งก็ต้องบอกว่าอุตสาหกรรมชิปเองก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นพลิกประเทศให้กลายมาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถต่อสู้กับสหรัฐอเมริกาและกลายเป็นศัตรูที่สำคัญทางด้านเศรษฐกิจของอเมริกาได้

ในช่วงแรกแม้ญี่ปุ่นจะไม่มีผู้เชี่ยวชาญมีวิศวกรระดับสูงเหมือนที่ซิลิคอนวัลเลย์ในอเมริกามี แต่พวกเขาอาศัยรูปแบบของการก๊อปปี้หรือคัดลอกเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาเป็นหลักก่อน

มันเป็นเรื่องปรกติมากในยุคนั้นที่หลาย ๆ ประเทศก็ใช้วิธีการแบบนี้ คือการคัดลอกเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา เพื่อนำมาเรียนรู้และพัฒนาด้วยตัวเองด้วยต้นทุนด้านต่าง ๆ ที่ต่ำกว่า

สหรัฐอเมริกาอาจจะเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมที่สุดล้ำมากมาย แต่ก็นำไปใช้ในวงการทหารเป็นหลัก แต่ญี่ปุ่นมีวิสัยทัศน์อีกแบบนึง พวกเขาแทบจะไม่มีกองทัพเป็นของตนเองหลังจากสงครามโลก การที่จะสร้างอุตสาหกรรมใหม่และทำให้พวกเขาสามารถที่จะจำหน่ายไปทั่วโลกได้ก็ต้องเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการอุปโภคบริโภคโดยคนทั่วไป

ความน่าสนใจก็คือหลังจากที่โตเกียวถูกทิ้งระเบิดราบเป็นหน้ากอง พวกเขาสามารถที่จะเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ จากนักฟิสิกส์ชั้นนำของอเมริกา เพราะว่าสำนักงานใหญ่ขององค์กรต่าง ๆ ของสหรัฐอยู่ในโตเกียวแทบจะทั้งหมด และได้อนุญาตให้นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นเข้าถึง know-how ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องงานวิจัยที่เกี่ยวกับแอพพลายฟิสิกส์ รวมถึงเทคโนโลยีอื่น ๆ

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดนั่นก็คือ อากิโอะ โมริตะ ที่ได้ก้าวเข้ามาในธุรกิจนี้แม้ตอนแรก โมริตะ จะทำธุรกิจโรงกลั่นสาเกซึ่งถือว่าเป็นโรงกลั่นที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น

แต่โมริตะชื่นชอบในการซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เขาเรียนจบปริญญาด้านฟิสิกส์ ซึ่งความเชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์นี่เองที่ช่วยชีวิตเขา โดยโมริตะร่วมมือกับอดีตผู้ร่วมงานชื่อ มาซารุ อิบุกะ สร้างธุรกิจทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมา

ต่อมาพวกเขาก็ตั้งชื่อบริษัทว่า Sony มาจากภาษาละติน Sonus ที่แปลว่าเสียง และยังใช้ชื่อเล่นแบบอเมริกันว่า Sunny อุปกรณ์ชิ้นแรกของพวกเขาคือหม้อหุงข้าวไฟฟ้าที่ตอนนั้นต้องบอกว่ามันเป็นสินค้าที่ดูไร้เสน่ห์เป็นอย่างมาก

โมริตะร่วมมือกับอดีตผู้ร่วมงานชื่อ มาซารุ อิบุกะ สร้างบริษัท Sony ขึ้นมา (CR:GettyImage)
โมริตะร่วมมือกับอดีตผู้ร่วมงานชื่อ มาซารุ อิบุกะ สร้างบริษัท Sony ขึ้นมา (CR:GettyImage)

แต่โมริตะเห็นถึงศักยภาพของอุปกรณ์อิเล็กทรอนนิกส์ว่ามันคืออนาคตของเศรษฐกิจโลก Sony เองได้ประโยชน์จากการมีค่าแรงที่ถูกกว่าในญี่ปุ่น รวมถึงโมริตะมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบผลิตภัณฑ์และการตลาด

บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งมีชื่อเสียงในการผลิตเป็นเลิศ โดยสามารถสร้างตลาดใหม่ ด้วยวงจรเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของซิลิคอนวัลเลย์ แผนของโมริตะก็คือการชี้นำประชาชนด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แทนที่จะถามพวกเขาว่าต้องการผลิตภัณฑ์ประเภทใด  

มันเป็นสิ่งที่ที่ไม่น่าแปลกใจที่ สตีฟ จ็อบส์ อดีตซีอีโอผู้ล่วงลับของ Apple นั้นก็ได้รับแรงบันดาลใจที่สำคัญจากโมริตะ จนถึงขึ้นที่จ็อบส์เองต้องการสร้าง Apple ให้เหมือน Sony ซึ่งจ็อบส์มักจะนึกถึงการเปลี่ยนแปลงโลกมากกว่าการทำกำไรให้กับบริษัท และมีวิสัยทัศน์แบบเดียวกับโมริตะในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าต่างหลงรัก

ความสำเร็จแรกของ Sony ในการเข้าสู่ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ก็คือวิทยุทรานซิสเตอร์ แต่ตอนนั้นพวกเขาก็ไม่มีปัญญาที่จะสร้างชิปขึ้นมาเองต้องพึ่งพาบริษัทในสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะจากซิลิคอนวัลเลย์

ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ก็มีการป้อนชิปเหล่านี้ให้กับญี่ปุ่น ดังนั้นถ้าอเมริกาเองก็ไม่คิดว่าญี่ปุ่นจะสามารถสร้างเทคโนโลยีสุดล้ำอะไรได้มากมาย พวกเขาจึงไม่ได้มีการระแวดระวังมากนักในการป้องกันทรัพย์สินทางปัญญาของพวกเขา

ในช่วงแรกทั้งสองประเทศก็มีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างเกื้อหนุนกัน เพราะว่าในสหรัฐอเมริกาสามารถสร้างคอมพิวเตอร์ได้ดีที่สุด แต่ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในญี่ปุ่นอย่าง Sony ก็จะผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขับเคลื่อนการบริโภคชิปที่ผลิตโดยสหรัฐอเมริกา

ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่ออเมริกามาลงทุนเปิดโรงงานผลิตชิปที่ประเทศใดก็จะมีการถ่ายทอดเรื่องของเทคโนโลยีให้กับวิศวกรในประเทศนั้น ๆ ซึ่งจะได้เรียนรู้วิธีการผลิตหรือถึงขั้นอาจจะสามารถคัดลอกนวัตกรรมบางอย่างมาได้เลย

ยักษ์ใหญ่ด้านเซมิคอนดักเตอร์อย่างเท็กซัส อินสตรูเมนต์ ที่พยายามจะเข้ามาเปิดโรงงานในญี่ปุ่น แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านกฎหมายมากมาย แต่โมริตะสามารถไปช่วยเคลียร์กับหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ให้ทางเท็กซัส อินสตรูเมนต์มาสร้างโรงงานได้สำเร็จ

นั่นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการคิดที่จะสร้างชิปด้วยตัวเองของประเทศญี่ปุ่น และเมื่อเวลาผ่านไป บริษัทอเมริกันอย่างอินเทลหรือเท็กซัส อินสตรูเมนต์ รวมถึงบริษัทญี่ปุ่นอย่างโตชิบาหรือเอ็นอีซีก็สามารถที่จะสร้างชิปหน่วยความจำดีแรมของตัวเองขึ้นมาได้สำเร็จ

ตอนนั้นอเมริกาก็มองญี่ปุ่นแบบตลก ๆ ว่าคงเป็นนวัตกรรมที่ไม่ได้เลิศหรูอะไรแต่อย่างใด แต่ว่าเมื่อผลิตไปจริงๆ แล้ว กลับพบว่าชิปที่ผลิตจากญี่ปุ่นกลับมีคุณภาพที่ดีกว่าบริษัทคู่แข่งในสหรัฐอเมริกา  

ชิปที่ผลิตในสหรัฐฯ ทำงานผิดพลาดถึง 4 เท่าครึ่ง เมื่อเทียบกับการทำงานของชิปที่ผลิตโดยประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่างกันมาก นั่นทำให้ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แม้กระทั่งในอเมริกาเองก็ตาม เริ่มที่จะหันมามองชิปจากบริษัทในประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น

ชิปที่ผลิตโดยประเทศญี่ปุ่นได้รับการยอมรับมากขึ้นในตลาดโลก (CR:Escape Authority)
ชิปที่ผลิตโดยประเทศญี่ปุ่นได้รับการยอมรับมากขึ้นในตลาดโลก (CR:Escape Authority)

แล้วที่สำคัญก็คือพวกเขาสามารถทำราคาได้ถูกมากๆ ด้วยต้นทุนด้านแรงงานรวมถึงต้นทุนในการจัดหาเงินกู้ ด้วยการอุดหนุนจากรัฐบาลที่มีนโยบายช่วยเหลือเกื้อกูลบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น เพราะทางรัฐบาลต้องการผลักดันให้ประเทศเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์  

ความเข้าใจในยุคก่อนหน้าของผลิตภัณฑ์จากญี่ปุ่นที่เป็นสินค้าราคาถูก ไร้คุณภาพ แต่แบรนด์อย่าง Sony ได้ทำให้ชื่อเสียงด้านแย่ ๆ เหล่านี้หมดไป ด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์ราคาไม่แพง คุณภาพสูงเทียบเท่ากับคู่แข่งในอเมริกา

นั่นเองที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นกล้าที่จะตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้นไปอีก ในการท้าทายอุตสาหกรรมของอเมริกาตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งต้องบอกว่าทำให้อเมริกาเองต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากญี่ปุ่น

ในช่วงปี 1980 อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคได้กลายเป็นสินค้าเฉพาะของญี่ปุ่น ซึ่งพวกเขาได้กลายเป็นผู้นำในการเปิดตัวสินค้าอุปโภคบริโภคใหม่ ๆ และสามารถคว้าส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่งในอเมริกา

แม้ในช่วงแรกบริษัทญี่ปุ่นจะประสบความสำเร็จด้วยการเลียนแบบผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งในสหรัฐฯ โดยผลิตให้มีคุณภาพสูงขึ้นและราคาที่ถูกลง ชาวญี่ปุ่นบางคนมองว่าพวกเขาเก่งในการนำทฤษฎีไปปฏิบัติในขณะที่อเมริกาเก่งกว่าพวกเขาในด้านการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ

ในปี 1979  Sony ได้เปิดตัวอุปกรณ์อย่าง Walkman ซึ่งเป็นเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาที่ปฏิวัติวงการเพลงโดยสิ้นเชิงโดยการสร้างวงจรชิปที่ทันสมัยของบริษัท

อุปกรณ์อย่าง Walkman นี่เองที่วัยรุ่นทั่วโลกสามารถพกพาเพลงโปรดใส่ในกระเป๋าและใช้พลังงานจากชิปที่บุกเบิกจากซิลิคอนวัลเลย์แต่พัฒนาในญี่ปุ่น ทำให้ Sony ขายไปได้กว่า 385 ล้านเครื่องทั่วโลก ทำให้ Walkman กลายเป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำหรับผู้บริโภคที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประวัติศาสตร์และเป็นนวัตกรรมที่บริสุทธิ์ที่สุดที่ผลิตในญี่ปุ่น

Walkman ซึ่งเป็นเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาที่ปฏิวัติวงการเพลงโดยสิ้นเชิง (CR:The Verge)
Walkman ซึ่งเป็นเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาที่ปฏิวัติวงการเพลงโดยสิ้นเชิง (CR:The Verge)

ต้องบอกว่ามันมีหลายปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถก้าวเข้ามาเป็นผู้นำในอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคอิเล็กทรอนิกส์อย่างที่เราได้เห็นกันในทุกวันนี้ได้

ปัจจัยแรกก็คือเรื่องของรัฐบาลที่ช่วยอุดหนุนอุตสาหกรรมนี้อย่างเต็มที่ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากๆ ในการเข้าถึงเงินทุนเพราะว่าชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมีอัตราการออมที่สูงมาก ทำให้ธนาคารมีเงินสดเหลือเยอะมากๆ มาปล่อยกู้ในดอกเบี้ยที่แสนถูก

รวมถึงการที่พวกเขามีต้นทุนทางด้านแรงงานที่ต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับอเมริกา และนั่นเองที่ทำให้ในท้ายที่สุดพวกเขาก็สามารถเอาชนะอเมริกาในการแข่งขันด้านชิปในช่วงทศวรรษที่ 1980 ไปได้สำเร็จนั่นเองครับผม

References :
เรียบเรียงจากหนังสือ Chip War: The Fight for the World’s Most Critical Technology โดย Chris Miller
https://failurebeforesuccess.com/akio-morito/