Search War ตอนที่ 10 : Partnership

ในเมื่อมีการประกาศอย่างชัดเจนจาก Microsoft ว่า google คือ ศัตรูหมายเลขหนึ่งที่กำลังจะรุกรานธุรกิจต่าง ๆ ของ Microsoft และในโลกของ Search Engine นั้นดูเหมือนว่า Microsoft จะเพลี่ยงพล้ำให้กับ google ไปเสียแล้ว ทางเลือกใหม่ของ Microsoft จึงเป็นการหาพันธมิตรใหม่ในโลกออนไลน์แทน

และแน่นอนว่าบริการใดที่เป็นที่นิยมในโลกอินเตอร์เน็ต บริการนั้นก็ถือเป็นภัยคุกคามของ google เช่นเดียวกัน ในปี 2007 บริการ Social Network น้องใหม่อย่าง facebook เริ่มปรากฏกายออกมาเป็นภัยคุกคุมใหม่กับ google เสียเอง

สาเหตุสำคัญก็เนื่องมาจาก มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก พยายามปลุกปั้น facebook ด้วยความชาญฉลาด โดย facebook จะทำการซ่อนเนื้อหาทั้งหมดไว้ ไม่ให้ Search Engine รายใดเข้ามาย่างกรายใน platform ของ facebook ผ่านเนื้อหาของไฟล์ “robot.txt”

มันเปรียบเสมือนปราการยักษ์คอยป้องกันไม่ให้ google เข้ามาสอดส่องข้อมูลภายใน facebook เพราะมันเป็นเรื่องของข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน มาร์ค จึงไม่อยากให้ข้อมูลเหล่านี้ถูกค้นหาได้ทั่วไปในระบบอินเตอร์เน็ต เพราะหากจะค้นหาต้องเข้ามา join ใน platform ของเขาเท่านั้นที่เป็นระบบปิด

google ที่เคยเป็นพี่ใหญ่คอยสอดส่องไปทั่วทั้งระบบ internet เริ่มรู้สึกหงุดหงิด เพราะเนื้อหาใน facebook นั้น google ไม่มีอำนาจที่จะเข้าถึงได้ และที่สำคัญมันกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อคนหันมาเล่น social network เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มันทำให้ google ไม่สามารถทำการโฆษณาให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้เลย

แต่ตอนนี้ เหมือน google จะโดนกับตัวเองบ้าง เพราะตอนนี้ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์กก็มอง google เหมือนที่ google มองไปยัง Microsoft ในช่วงแรก ๆ มาร์ค ไม่อยากให้ facebook ถูกกลืนกินโดย google เช่นกัน

facebook เติบโตอย่างรวดเร็วจน ก้าวขึ้นมาต่อกรกับ google
facebook เติบโตอย่างรวดเร็วจน ก้าวขึ้นมาต่อกรกับ google

และเป็นพี่ใหญ่อย่าง Microsoft นี่เอง ที่แทนที่จะรบกับ google ที่สดกว่าด้วยน้ำมือตัวเอง จึงใช้แผนใหม่ด้วยการ ซื้อหุ้น เพียง 1.6% ด้วยมูลค่ากว่า 240 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตอนนั้น facebook มีผู้ใช้งานเพียงแค่ 42 ล้านคนเท่านั้น แต่เป็นแผนของ Microsoft เองที่ต้องการเตะตัดขา google ที่กำลังคิดการณ์ใหญ่ ทำให้มูลค่า facebook ในตอนนั้นพุ่งสูงขึ้นถึงกว่า 1.5 หมื่นล้านเหรียญเลยทีเดียว

แม้นี่จะเป็นชัยชนะเล็ก ๆ ของ Microsoft ต่อ google แต่อย่างไรก็ตามสัดส่วนของ Bing นั้นก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นในระดับที่ทำให้เหล่าผู้บริหารสบายใจ ไม่ว่าจะเป็นตลาดในสหรัฐ หรือ ทั่วโลก ซึ่ง Bing นั้นได้ครองส่วนแบ่งเพียงเล็กน้อยในตลาดการค้นหา และอยู่ได้ด้วยอาศัยความเป็นใหญ่ของ Microsoft เพียงเท่านั้น

ซึ่ง Microsoft ก็ต้องเลือกทางเดิมเพื่อหาพันธมิตรต่อไป เพราะสู้กับ google แบบตรง ๆ ไม่ได้เลย ช่วงต้นปี 2008 Microsoft เสนอราคาซื้อ Yahoo สูงถึง 4.5 หมื่นล้านเหรียญ เป้าหมายของ Microsoft ก็เพื่อที่จะเพิ่มอำนาจการค้นหาของบริษัท โดยการขยายธุรกิจ ซึ่งตอนนั้น Yahoo ก็เป็นอันดับสองรองจาก google เพียงเท่านั้น

Microsoft ต้องการซื้อ Yahoo มาเสริมศักยภาพให้กับ Bing
Microsoft ต้องการซื้อ Yahoo มาเสริมศักยภาพให้กับ Bing

Yahoo ครองส่วนแบ่งการตลาดโฆษณาออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดบนเว๊บไซต์ มีทั้งเนื้อหาข่าว บริการ email และเป็นส่วนเติมเต็มที่ดีให้กับ Bing ได้อย่างแน่นอน

แต่ครั้งนี้ ดูเหมือน ผู้บริหารฝั่ง Yahoo จะตัดสินใจพลาดครั้งใหญ่ เพราะได้ปฏิเสธข้อเสนอของ Microsoft ไปอย่างไม่ใยดี ซึ่งเจอร์รี่ หยาง ก็ได้กลายเป็นคนต้องรับผิดชอบถูกกดดันให้ลาออกไปในที่สุด ซึ่งการปฏิเสธครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมโฆษณาออนไลน์ 

แม้จะมีการสร้าง Partnership กันระหว่าง Microsoft และ Yahoo ในเรื่องการค้นหา ภายหลัง โดย Microsoft จะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องการค้นหาแทน แต่ตอนนั้นต้องบอกว่ามันสายไปเสียแล้วเมื่อ facebook ก็กำลังเติบโตและได้ฉกฉวยรายได้จากโฆษณาออนไลน์ไป ทำให้รายรับของ Yahoo ลดลง หลังจากนั้น Yahoo ก็ดำดิ่งจนสุดท้ายก็ต้องขายกิจการไปในที่สุด

ต้องบอกว่า ตลาดโฆษณา online ก่อนหน้ายุค facebook เกิดนั้น google ครองตลาดส่วนนี้แบบแทบจะเบ็ดเสร็จ เหลือช่องว่างไว้ให้ bing ของ microsoft เพียงเล็กน้อยเท่านั้น 
การส่ง facebook ไปตีกับ google แทน และเป็นการถ่วงดุลอำนาจของ google หลังจากที่ไม่ได้มีคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อมานาน ถือเป็นแผนที่เหนือชั้นมากของ Microsoft แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับ สงครามการค้นหาต่อไป Bing จะพลิกเกมส์กลับมาได้หรือไม่ โปรดอย่าพลาดติดตามต่อตอนหน้าครับผม

–> อ่านตอนที่ 11 : The Shadow of Antitrust Law

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Beginning of Search *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Image References : 
https://www.fastcompany.com/90235366/bill-gates-is-throwing-some-shade-at-mark-zuckerbergs-philanthropy

Search War ตอนที่ 4 : An Engineering Culture

บรินและเพจ เริ่มพยายามสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ เพื่อดึงดูดคนหนุ่มสาวเข้ามาเปลี่ยนโลกกับเขา ด้วยทุนทรัพย์ที่จำกัดทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าจ้างแพง ๆ ได้ แต่พวกเขาได้ สร้างวัฒนธรรมอย่าง การให้หุ้น อาหารและเครื่องดื่มที่ฟรี และ เป้าหมายที่ใหญ่มากของพวกเขาที่จะให้คนทั่วโลกนับล้านได้ใช้งาน google มันก็เป็นแรงดึงดูดสำคัญให้เหล่าคนรุ่นใหม่สนใจจะมาทำงานกับ google มากยิ่งขึ้น

ซึ่งเพจและบริน นั้นคิดอยู่เพียงอย่างเดียวที่จะพัฒนาบริการของเขาให้ดีที่สุด เรื่องการหาเงินนั้นพวกเขายังไม่สนใจใด  ๆด้วยซ้ำในช่วงแรกของการก่อตั้ง Google พวกเขาต้องการสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุด ซึ่งทำให้มีผู้ใช้งานใหม่ ๆ เข้ามามาก และเพื่อให้มั่นใจในความแม่นยำ ความเร็วในการตอบสนอง ทั้งสองก็ได้ลงทุนสร้างฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์เพิ่มด้วยเงินที่่หามาได้แทบจะทั้งหมด

แต่การเติบโตอย่างรวดเร็วของ Google นั้นมันทำให้เงินจากนักลงทุนหมดลงไปอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน แม้พวกเขาใช้ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลราคาถูกและได้สร้างซอฟท์แวร์เลียนแบบการทำงานของซุเปอร์คอมพิวเตอร์ขึ้นมาเองเสียด้วยซ้ำ แต่การเติบโตอย่างรวดเร็วจนการค้นหาเพิ่มขึ้นถึง 500,000 รายต่อวันนั้น มันทำให้แค่เพียงสิ้นปี 1998 เงินลงทุนกว่า 1 ล้านเหรียญแรกที่ได้รับจากนักลงทุน รวมถึงเงินส่วนตัวของทั้งสองก็หมดลงไปในที่สุด

พอถึงต้นปี 2000 google นั้นก็ได้กลายเป็นเว๊บไซต์ยอดนิยม ของเหล่านักค้นหา แต่ข่าวร้ายก็มาถึงเช่นเดียวกัน เพราะ เกิดวิกฤติดอทคอมขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมปี 2000 ซึ่งทำให้พวกเหล่าเศรษฐีอินเตอร์เน็ตพากันล้มหายตายจากไปพอสมควร รวมถึงเหล่านักวิจารณ์ก็พากันวิจารณ์ google ว่ามันเป็นเพียงแค่ของเล่น เพราะไม่มี โมเดลธุรกิจที่ชัดเจน ซึ่งคงมีจุดจบไม่ต่างจากบริษัทดอทคอมรายอื่น ๆ ที่ล้มหายตายจากกันเป็นว่าเล่นในขณะนั้น

วิกฤติดอทคอม ที่นักวิจารณ์ว่า google ไม่น่าจะรอดได้
วิกฤติดอทคอม ที่นักวิจารณ์ว่า google ไม่น่าจะรอดได้

ด้วยความที่ google นั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงทำให้องค์กรเต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน มีการสลับสับเปลี่ยนหน้าที่ความรับผิดชอบอยู่ตลอดเวลา ทุกคนต้องเปลี่ยนแปลงหน้าที่ตัวเองไปตามความต้องการของธุรกิจ 

แต่สิ่งที่เป็นจุดเด่นที่สำคัญที่สุดของ google คงจะเป็นเรื่องของการตัดสินใจต่าง ๆ โดยทุกครั้งนั้น google จะเอาข้อมูลเป็นตัวตั้งเสมอ ทั้งเรื่องการตลาด ผลิตภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งเรื่องเทคนิคอลต่าง ๆ ภายใน google เพราะหากไม่มีข้อมูลที่มาสนับสนุนการตัดสินใจได้ดีพอ คนที่เสนออาจจะถูกตอกกลับหน้าหงายโดยสองผู้ก่อนตั้งไปเลยก็ได้

แม้วัฒนธรรมแบบวิศวกรที่เป็น DNA หลักของสองผู้ก่อตั้ง ได้ฉายภาพ google ออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งมันเป็นความแตกต่างที่ชัดเจน ระหว่าง วิธีของ google  , apple และ Microsoft 

โดย apple จะเน้นใช้วิธีเชิงวิสัยทัศน์ผ่านผู้นำอย่างจ๊อปส์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สว่น Microsoft นั้นจะเน้นที่การตลาด ที่แตกต่าง มันจึงกลายเป็นวิธีการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนของ 3 บริษัทเทคโนโลยีชื่อดังในขณะนั้น

ตัวอย่างวัฒนธรรมดังกล่าวของ google คือเรื่องราวของการออกแบบโลโก้ ที่ มาริสา เมเยอร์ ที่ตอนนั้นเป็นหัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์การค้นหา ตัดสินใจเรื่องเฉดสีในการออกแบบระหว่าง 2 สีที่ทีมออกแบบได้ทำการสร้างขึ้นมา

เมเยอร์ได้ตัดสินใจอย่างวิทยาศาสตร์ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล โดยให้ทีมสร้างสีน้ำเงินขึ้นมาสี่สิบเฉดสี โดยการทดสอบแบบ A/B Testing อย่างถี่ถ้วน ซึ่งมีการแบ่งผู้ใช้ google mail เป็น 40 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะทดสอบร้อยละ 2.5 ของสีน้ำเงินทั้ง 40 เฉดนั้น

โดยเมื่อกลุ่มทดลองเข้ามาใช้เว๊บคนละวัน หรือคนละเวลา จะเจอสีที่แตกต่างกัน จากนั้นก็เฝ้าดูพฤติกรรมการคลิก และปฏิสัมพันธ์กับหน้าจอของโปรแกรม ซึ่งจะได้ผลข้อมูลทางสถิติที่แม่นยำและละเอียดถี่ถ้วน

ซึ่งถ้าอยู่ที่ apple ทีมออกแบบคงทำงานได้อย่างสบายใจ เพราะจะอยู่บนพื้นฐานของความสวยงาม ตามความต้องการของผู้นำอย่าง สตีฟ จ๊อบส์เป็นหลัก แต่ google นั้นพึ่งพาข้อมูลเหล่านี้ เพื่อให้เข้าถึงคนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ซึ่งการตัดสินใจต่าง ๆ ใน google นั้นจะต้องอิงอยู่บนพื้นฐานที่ว่า อะไรใช้ดีที่สุดกับคนจำนวนมากที่สุด เพียงแค่เรื่องเฉดสี ก็มีผลต่อจำนวนผู้ใช้งาน ลองจินตนาการว่า หากเป็นผู้ใช้หลักพันล้านคนเหมือนในปัจจุบัน รายละเอียดเล็กน้อยที่ทำให้คนใช้งานมากขึ้นเพียง 1% ก็มีสัดส่วนถึง 10 ล้านคน และจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีกมากมายนั่นเอง

ในขณะที่ Microsoft ก็มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจำนวนมหาศาล ผ่านผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทคือ Windows และ Microsoft Office ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ของ Desktop ทำให้ปรับแต่งเพิ่มเติมได้ไม่มีที่สิ้นสุด Microsoft จึงเลือกใช้วิธีการทุกอย่างมาแก้ปัญหา โดยแทบจะไม่ตัดฟีเจอร์ใด ๆ ออกไปเลย โดยเฉพาะหากเป็นความต้องการของผู้ใช้งานจากบริษัทใหญ่ ๆ 

Microsoft นั้นไม่มีทางที่จะทิ้งฟีเจอร์เหล่านั้นไปเป็นเด็ดอันขาด ซึ่งแน่นอนว่า software ของ Microsoft นั้นทำให้คนจำนวนมากพอใจ เพราะรับรองว่ามีฟีเจอร์ทุกอย่างที่คุณต้องการ แต่มันก็แถมมาด้วยอีกนับ 100 ฟีเจอร์ที่คุณไม่ต้องการด้วย ไม่เชื่อลองถามตัวคุณเองตอนนี้ว่า คุณใช้ฟีเจอร์ของชุด office ของ Microsoft เพียงกี่อย่าง แต่สิ่งที่ชุด office ของ Microsoft ทำได้นั้นมีมหาศาล

ชุด office ของ Microsoft ที่มีฟีเจอร์มหาศาลแต่คนแทบไม่ได้ใช้
ชุด office ของ Microsoft ที่มีฟีเจอร์มหาศาลแต่คนแทบไม่ได้ใช้

ซึ่งการเก็บองค์ประกอบทุกอย่างไว้แบบที่ Microsoft ทำนั้น มันขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับการออกแบบที่แท้จริง และขัดแย้งกับประสบการณ์ของผู้ใช้งานอีกด้วย ซึ่งวิธีนี้มันไม่เหมาะกับวิถีของ google อย่างแน่นอน และใช้ไม่ได้กับวิถีของ apple ที่ทำตามแนวทางของ สตีฟ จ๊อบส์ และ โจนาธาน ไอฟฟ์ หัวหน้าฝ่ายออกแบบมาหลายปีแล้ว ซึ่งสรุปก็คือ การออกแบบนั้นเป้นเรื่องของสิ่งที่ตัดทิ้ง ไม่ใช่สิ่งที่เก็บไว้นั่นเอง

ซึ่งวัฒนธรรมการคิดแบบ Engineer ของ google นี่เอง ที่ google ได้ส่วนแบ่งการค้นหาอย่างรวดเร็ว ซึ่งในปี 2000 นั้นมีคนเข้ามาค้นหาถึง 8 ล้านครั้งต่อวัน และเพิ่มเป็น 9 ล้านครั้งต่อวัน ในเพียงไม่กี่สัปดาห์ต่อมา มันเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด

และในเดือนเดียวกันนั้น google ได้ทำสัญญาเป็น Search Engine ของ Yahoo ซึ่งเป็นข้อตกลงเดียวกันกับ NetScape และการเริ่มธุรกิจกับ Yahoo นี่เอง ที่จะทำให้ google มีผูัใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

แต่ตอนนั้น ต้องบอกว่าสถานะทางการเงินของ google เริ่มสั่นคลอนเสียแล้ว ทุนที่มีก็แทบจะหมดไปแล้ว และยังหาโมเดลการทำงานจากจำนวนผู้ใช้งานมหาศาลเช่นนี้ยังไม่ได้ แต่ถ้าพูดถึงตัวเลขการเติบโต ถือเป็นประวัติศาสตร์ของธุรกิจด้านเทคโนโลยีเลยก็ว่าได้ที่มีการเติบโตรวดเร็วเช่นนี้ แล้ว google จะทำอย่างไรต่อไป กับเงินทุนที่เหลือเพียงน้อยนิด ที่เริ่มไม่พอที่จะมาซื้อ hardware เพื่อรองรับ Deal กับ Yahoo เสียแล้ว ส่วน Microsoft นั้นก็ยังคงก้าวช้าเหมือนเต่า ด้วยความที่เป็นองค์กรใหญ่ทำให้เคลื่อนตัวได้ช้า พวกเขาจะไล่ตาม google ที่เป็นบริษัทคนรุ่นใหม่ และมีไฟเต็มเปี่ยมได้อย่างไร อย่าพลาดติดตามต่อตอนหน้าครับผม

–> อ่านตอนที่ 5 : Money Making Machine

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Beginning of Search *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Image References : https://timedotcom.files.wordpress.com/2017/10/google-searches-for-its-voice.jpg

Blog Series : Search War Google vs Microsoft

แน่นอนว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ ของบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีทั้งสอง ทั้ง Google และ Microsoft นั้นได้เกิดการปะทะกันขึ้นหลายครั้ง ซึ่งต้องบอกว่าในยุคก่อนหน้า internet นั้น Microsoft ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ใครจะล้มได้

แต่การเกิดขึ้นของ Search Engine จากสองหนุ่มแห่งสแตนฟอร์ด ที่ได้ค้นพบสิ่งที่กำลังเปลี่ยนโลกโดยบังเอิญ พวกเขาเพียงแค่ต้องการทำวิทยานิพนธ์ เพื่อให้ตัวเองเรียนจบเพียงเท่านั้น แต่หัวข้อที่พวกเขาทำนั้น มันมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนโลกได้

แน่นอนว่า บริษัทหน้าใหม่ในขณะนั้นอย่าง Google ที่ต้องมาเจอกับพี่ใหญ่ที่เจนศึกอย่าง Microsoft ที่ล้มใครที่คิดว่าแน่มาแล้วนับไม่ถ้วน จนหลายๆ  คนขยาดที่จะสู้กับพี่ใหญ่อย่าง Microsoft แล้วมันเกิดอะไรขึ้นบ้างระหว่างทั้งสองบริษัทนี้ในสงครามชิงความเป็นหนึ่งของ Search Engine โปรดอย่าพลาดติดตามจาก Blog Series ชุดนี้ครับผม

–> อ่านตอนที่ 1 : The Beginning of Search