Compaq Computer ผู้ปฏิวัติวงการ PC ตัวจริงที่ถูกลืม

ถ้ากล่าวถึงแบรนด์อย่าง Compaq คิดว่าหลายคนคงจะลืมกันไปแล้วว่ามีแบรนด์ นี้อยู่ในโลกด้วยหรือ แต่ถ้าย้อนไปในยุคเริ่มต้นของการกำหนดของ PC หรือ ยุคคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั้น ต้องถือว่า Compaq เป็นแบรนด์แรก ๆ ที่กล้ามาต่อกรกับยักใหญ่อย่าง IBM ในสมัยนั้นได้

ต้องบอกว่า Compaq นั้นมีประวัติที่น่าสนใจ ที่ไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงกันนัก ซึ่ง Campaq นั้นเกิดขึ้นในช่วงประมาณปี 1982 ซึ่งเป็นยุคตั้งไข่ของ PC พอดิบพอดี ซึ่งก่อตั้งโดยอดีตพนักงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ในสมัยนั้นอย่าง Texus Intrument ซึ่งเหล่าผู้ก่อตั้งทั้ง 3 คนประกอบไปด้วย Rod Canion , Jim Harris และ Bill Murto

ต้องบอกว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัวเลยทีเดียวสำหรับการเริ่มธุรกิจ ซึ่ง Rod Canion นั้นถนัดทางด้านบริหารธุรกิจ Murto ถนัดทางด้านการตลาด ส่วน Harris นั้น จะถนัดทางด้าน Engineer แต่ต้องบอกว่า การที่ทั้งสามออกจากบริษัทยักษ์ และมั่นคงอย่าง Texus Intrument แล้วมาเริ่มธุรกิจนั้น มีแต่คนหาว่าพวกเขาบ้าแม้กระทั่งครอบครัวของพวกเขาเองก็ตาม

เริ่มต้นจากงานอดิเรก และความคิดบ้า ๆ

มันเป็นการเริ่มต้นจากงานอดิเรกพร้อมกับความคิดบ้า ๆ ของทั้งสามคน ที่ต้องการจะก่อตั้งบริษัท ซึ่งตอนนั้นต้องบอกว่าทั้งสามไม่ได้มีเงินมากมายรวมถึงไม่ได้มีแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงง่ายอย่าง Startup ในปัจจุบัน ทั้งสามต้องจำนองบ้าน รวมถึงขายรถเพื่อมาเป็นทุนในการเริ่มต้นเปิดบริษัท

ในยุคนั้นต้องบอกว่า IBM นั้นถือเป็นยักษ์ใหญ่มาก ๆ ของวงการธุรกิจของอเมริกาควบคุมทุกอย่างอย่างเบ็ดเสร็จในโลกเทคโนโลยี ทำทุกอย่างตั้งแต่ computer mainframe สำหรับองค์กร ไปจนถึง คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล การที่จะมาสู้กับยักษ์ใหญ่อย่าง IBM นั้นถือว่าไม่ใ่ช่เรื่องที่ควรจะทำเป็นอย่างยิ่ง

แต่อย่างไรก็ดีเหล่า 3 ผู้ก่อตั้งแห่ง Compaq นั้นได้เห็นช่องว่างทางการตลาดบางอย่าง ที่ IBM ยังครอบครองแบบไม่เบ็ดเสร็จนั่นก็คือตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่สามารถพกพาได้ หรือ ตลาด notebook ในปัจจุบันนั่นเอง

ถ้าย้อนกลับไปในยุคนั้น ต้องบอกว่าแม้จะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สามารถพกพาได้ แต่ขนาดเครื่องก็มีขนาดใหญ่เทอะทะ และมีรูปร่างไม่สวยรวมถึงไม่ได้มีแบตเตอรี่ที่รองรับการใช้งานแบบไม่ต้องเสียบปลั๊กเหมือนในยุคปัจจุบัน

การเริ่มหาทุนในการตั้งบริษัทนั้น ในขณะที่ทั้งสามมีแต่ไอเดียและร่างแบบคร่าว ๆ ของคอมพิวเตอร์แบบพกพา ก็ต้องบอกว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะหาทุนเริ่มต้นในสมัยนั้น

ทาง Rod Canion จึงได้เขียนแผนธุรกิจคร่าว ๆ ขึ้นมา และได้มีโอกาสไปพบกับ Ben Rosen โดยเริ่มลงทุนให้ 750,000 เหรียญเป็นทุนตั้งต้นในการเริ่มธุรกิจ ซึ่งถ้าย้อนกลับไปในยุคนั้น Silicon Valley ยังคงเป็นเพียงแค่ทุ่งและ สวนผลไม้

ทั้งสามคนก็ได้เริ่มว่าจ้างทีมงานจากเงินลงทุนเริ่มต้น และเริ่มทำการผลิตตัว Compaq Portable ตัวแรกออกมา โดยใช้วิธีการ Reverse Engineer หรือ วิศวกรรมย้อนกลับจาก IBM PC  เนื่องจาก IBM ขณะนั้นประสบความสำเร็จ และขายได้ติดตลาดไปแล้ว ต้องทำทุกอย่างให้สามารถ Run Software ของ IBM ได้ทั้งหมด ก็จะเข้าถึงตลาดขนาดมหาศาลที่ IBM ได้เริ่มเปิดตลาดไว้แล้ว

การเริ่มต้นคือต้องทำการลอก Code ของ IBM ที่เป็นตัว Chip หลักที่ใช้ Control PC เพราะส่วนประกอบอื่น ๆ ของ PC นั้นสามารถหาได้ตามท้องตลาดทั่วไป สิ่งที่เป็นจุดต่างคือ Chip ที่มีรหัสพิเศษของ IBM เท่านั้น เครื่องก็จะสามารถทำงานกับ Software และ Hardware ต่าง ๆ ของ IBM ได้

ผลิตภัณฑ์ตัวแรก Compaq Portable PC
ผลิตภัณฑ์ตัวแรก Compaq Portable PC

ในทีุ่สดพวกเขาก็ทำสำเร็จ และสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ตัวแรกอย่าง Compaq Portable PC ออกมาได้ และสามารถใช้งานได้กับ Software ของ IBM ได้ทุกอย่าง โดยมีขนาดเบากว่าและราคาที่ถูกกว่า บริษัทได้เชิญสื่อมามากมายในวันเปิดตัวปี 1982 ใน นิวยอร์ก

จากการเปิดตัวทำให้บริษัทเริ่มมีชื่อเสียงผู้คนเริ่มชอบในผลิตภัณฑ์ของ Compaq ซึ่งต้องบอกว่าพวกเขาได้สร้างผลิตภัณฑ์ตัวแรกมาได้อย่างดีมาก พนักงานที่ขายผลิตภัณฑ์ของ IBM อยู่แล้วก็ไม่ยากเลยที่จะขายผลิตภัณฑ์ของ Compaq เพราะมันสามารถทำงานได้เหมือนกัน ต้องบอกว่าสินค้าขายดีมากและผลิตแทบจะไม่ทันกันเลยทีเดียวในปีแรกที่ออกวางจำหน่าย

แค่ปีแรกเพียงปีเดียว Compaq สามารถขาย Portable PC ของตัวเองไปได้ถึง 53,000 เครื่อง สื่อถึงกับยกให้บริษัท Compaq นั้นเป็นบริษัทที่เติบโตได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกา

สู้กับยักษ์ใหญ่อย่าง IBM

หลังจากนั้น IBM ก็ได้ออก Portable PC เพื่อมาตอบโต้กลับในปี 1984  โดยออกมาเพื่อจะฆ่า Compaq โดยเฉพาะ แต่สิ่งที่พวกเขาพลาดไปและมั่นใจเกินไปนั่นคือ Portable PC ของ IBM นั้นไม่สามารถรัน Software บางส่วนของ IBM PC เดิมได้

และนั่นได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของอุตสาหกรรม PC เลยก็ว่าได้  Compaq แทบไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะ Portable PC นั้นสามารถ run ทุกอย่างของ IBM PC ได้ ทำให้ยอดขายยิ่งกระฉูดขึ้นไปอีก มีการขยายโรงงานการผลิต รวมถึงรับพนักงานมากจนถึงกว่า 1000 คนภายในเวลาเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น

สร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับ Silicon Valley

ถ้าถามว่าวัฒนธรรมการแจกอาหารฟรี รวมถึงบริการต่าง ๆ ที่ให้กับพนักงานได้อย่างเต็มที่ของบริษัท Startup ในปัจจุบันนั้นใครเป็นคนริเริ่ม ก็ต้องบอกว่า Compaq นี่แหละเป็นผู้ที่สร้างวัฒนธรรมนี้ให้กับ Silicon Valley

เพราะ Compaq เป็นบริษัทแรกที่มีการแจกอาหารและเครื่องดื่ม ให้พนักงานได้รับประทานกันแบบฟรี ๆ ในยุคนั้น ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่แปลกใหม่พอสมควร ทำให้คนสนใจที่จะมาทำงานกับ Compaq มากยิ่งขึ้น และสามารถ Focus กับงานที่ทำได้อย่างเต็มที่

แล้วบริษัทอย่าง Apple หายไปไหนในช่วงนั้น

ช่วงปีต้น ๆ ของ Compaq นั้น Apple ก็ได้ออกวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตัวเองเป็นที่เรียบร้อย แต่ก็ต้องยอมรับว่า ขนาดตลาดของ Apple เมื่อเทียบกับขนาดตลาดของ PC ที่ IBM เป็นคนเปิดตลาดมีความแตกต่างกันอย่างมาก ถ้าเทียบตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทั้งหมดนั้น Apple สามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดได้เพียงแค่ 4-5% เท่านั้น


และการที่ Apple เป็บระบบปิดไม่สามารถเชื่อมต่อกับใครได้ software ก็รันของตัวเอง ก็ทำให้ครองส่วนแบ่งการตลาดได้น้อยมาก ๆ แม้จะวางจำหน่ายแมคอินทอชพร้อมระบบ Inteface ใหม่ พร้อม mouse ที่เป็นการปฏิวัติวงการในขณะนั้น

แต่ก็ต้องยอมรับว่าสุดท้ายแล้ว Apple เป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ ไปเลยเมื่อเทียบกับตลาด PC ที่ IBM ครองตลาดอยู่ในตอนนั้น ซึ่ง Compaq มาแย่งส่วนแบ่งการตลาดของ IBM ซึ่งใหญ่มาก ๆ ทำให้ Compaq แทบจะเป็นบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์การก่อตั้งบริษัทของประเทศอเมริกา

การเติบโตแบบก้าวกระโดด

ด้วยความผิดพลาดของ IBM รวมถึง Apple ก็ไม่สามารถแจ้งเกิดได้กับแมคอินทอชรวมถึงลิซ่า ทำให้ Steve Jobs ก็ต้องถูกบีบให้ออกจาก apple ไปในที่สุด เมื่อถึงตอนนั้น ก็ไม่มีใครจะมาขัดขวางการเติบโตของ compaq ได้อีกต่อไปแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องของเทคโนโลยีรวมถึงการตลาด ที่เริ่มนำเอาผู้มีเชื่อเสียงมาช่วยในงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทำให้ยอดขายของ Compaq เติบโตขึ้นเกินกว่าปีละ 100% ตลอดในช่วงแรกเริ่มและพุ่งไปถึงกว่า 500 ล้านเหรียญในปี 1985

จุดเปลี่ยนที่สำคัญกับการเข้ามาของ Intel Chipset 386

IBM นั้นมักจะได้สิทธิ์ Exclusive กับ Chip ของบริษัทชื่อดังอยู่เสมอ แต่ครั้งนี้ต้องบอกว่าเป็นครั้งแรกที่ IBM ถูกปฏิเสธโดย Intel ซึ่ง Chipset 386 นั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมครั้งใหญ่ รวมถึงเรื่องของประสิทธิภาพการทำงานของ Chip ที่ทำให้การทำงานของ PC ก้าวกระโดดไปอีกขั้น

เมื่อ Intel ไม่ได้ Exclusive ตัว Chip 386 กับ IBM แล้ว  Compaq ก็เร่งในการสร้างผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่ใช้ Chipset 386 เพื่อออกสู่ตลาดให้เร็วที่สุด

ผลิตภัณฑ์อย่าง Desktop386 ขายดีสุด ๆ
ผลิตภัณฑ์อย่าง Desktop386 ขายดีสุด ๆ

ไม่เพียงแค่ Chipset Intel 386 เท่านั้น เมื่อ Compaq ออกผลิตภัณฑ์อย่าง Desktop386 ก็ได้มีการร่วมมือกับ Microsoft ของ Bill Gate ที่ยอมให้ระบบปฏิบัติการของ Windows สามารถรันได้บน Compaq ได้แบบที่ว่าไม่ต้องไปทำการ Copy Chip Code ใด ๆ จาก IBM อีกต่อไป  เป็นการเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอย่างสิ้นเชิงและปลดแอกจาก IBM ในที่สุด

ความสุดยอดของ Chipset 386 ทำให้ Compaq เติบโตอย่างก้าวกระโดด และเริ่มฉีกหนี IBM ออกไป และสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดจาก IBM ไปได้อย่างมาก

แม้ตลาดองค์กร IBM จะเป็นเจ้าตลาดอยู่ก็ตามแต่ตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั้นต้องบอกว่า Compaq ได้ทำยอดขายแซง IBM ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว Compaq ใช้เวลาเพียง 3 ปีก็เข้าสู่ทำเนียบ Fortune 500 ได้สำเร็จ

สามผู้ก่อตั้งต่างร่ำรวยจากมูลค่าหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่พนักงานกลุ่มแรก ๆ ที่ได้หุ้น ก็ทยอยกลายเป็นเศรษฐีกันไปด้วย ต้องบอกว่า Compaq เป็นบริษัทที่ใช้เวลาสร้างกิจการได้รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา และสามารถทำยอดขายแตะ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐได้เร็วที่สุดอีกด้วย

ความผิดพลาดซ้ำสองของ IBM

การพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของ IBM ถือเป็นครั้งแรก ๆ ในประวัติศาสตร์ของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง IBM ที่ต้องพ่ายแพ้ให้กับบริษัทที่เพิงเกิดใหม่เพียงไม่กี่ปีอย่าง Compaq

IBM ต้องเริ่มใช้การฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิบัตรของ Compaq โดยใช้การ Reverse Engineer ที่ Compaq ทำมาตั้งแต่ต้น ซึ่งก็ถือว่ามีความสุ่มเสี่ยงเหมือนกันที่ Compaq จะถูกฟ้องร้องจนอาจต้องถูกปิดบริษัทไปเลย แต่สุดท้าย Rod Canion ก็ใช้วิธีการเจรจาและชดใช้ค่าเสียหายจนตกลงกันได้ที่ประมาณ 130 ล้านเหรียญสหรัฐ

IBM PS2 ความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัยของ IBM
IBM PS2 ความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัยของ IBM

ความผิดพลาดที่ร้ายแรงที่สุดของ IBM คือการต้องการออกแบบระบบใหม่ทั้งหมด เพื่อไม่ให้ Compaq สามารถลอกเลียนแบบได้ โดยออกระบบปฏิบัติการใหม่คือ PS/2 ที่ยากที่คู่แข่งจะเลียนแบบ ซึ่งต้องบอกว่า IBM ต้องการฆ่าทุกคนในธุรกิจนี้เลยก็ว่าได้

แต่หารู้ไม่การสร้างระบบปฏิบัติการใหม่ที่ไม่สามารถเข้ากับผลิตภัณฑ์ตัวเดิมของ IBM ได้เลยนั้นถือเป็นการฆ่าตัวตายของ IBM เอง เพราะองค์กรใหญ่หลาย ๆ องค์กรในสหรัฐได้สั่งซื้อเครื่อง computer ของ IBM ไปเป็นจำนวนมากแล้ว ซึ่งหากต้องการเปลี่ยนต้องมีการเปลี่ยนแบบยกองค์กรและต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ทำให้องค์กรหลาย ๆ องค์กรไม่ต้องการซื้อ PS/2 ของ IBM เพราะต้องมาเริ่มเรียนรู้กันใหม่หมดซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่มหาศาลมาก ๆ

เหมือนยื่นดาบให้ศัตรูมาฆ่าตัวเองเลยก็ว่าได้สำหรับ IBM ชัดเจนว่าต่อจากนี้ ตลาด PC นั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว IBM ไม่ได้เป็นผู้กำหนดตลาดอีกต่อไป มีการรวมตัวของผู้ผลิต PC ขนาดใหญ่จำนวน 9 ราย รวมถึงมีการเจรจากับ Bill Gate จาก Microsoft และพัฒนามาตรฐานของพวกเค้าเองในชื่อ EISA (Extended Industry Standard Architecture) โดยที่ไม่เกี่ยวข้องใด  ๆ กับ IBM อีกต่อไปเป็นการถีบ IBM ออกจากตลาด PC แบบถาวรเลยก็ว่าได้

เมื่อ Compaq เข้าสู่ยุคตกต่ำ

แม้การรวมตัวจะเป็นผลดีและทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้นและที่สำคัญสามารถกำจัด IBM ออกจากตลาดได้สำเร็จ แต่ขนาดองค์กรของ Compaq ก็ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนเริ่มยากที่จะบริหารให้ได้เหมือนตอนเริ่มต้นกิจการ

Compaq เริ่มมีการขยายตลาดไปยังยุโรป ทำให้ได้เจอกับ Eckhard Pfeiffer ที่ถนัดในเรื่องการผลิตในปริมาณมาก ๆ แต่ตัว Rod Canion เองนั้นอยากให้ผลิตภัณฑ์ยังมีคุณภาพเหมือนเดิมต่อไป รวมถึงผู้ผลิตจากญี่ปุ่นอย่างโตชิบ้าก็สามารถผลิตในราคาที่ถูกกว่าซึ่งเป็นการเข้ามากำจัดจุดเด่นของ Compaq ในยุคแรก ๆ ไปเลยก็ว่าได้

ปัญหาต่าง ๆ เริ่มรุมเร้าตัว Rod Canion เองและไม่สามารถแก้ปัญหาได้เริ่มมีการตีตลาดจากแบรนด์นอก รวมถึงดาวรุ่งที่พุ่งแรงขึ้นมาอย่าง Dell ที่สามารถผลิตสินค้าในราคาถูกกว่า Compaq

ทำให้ยอดขายของ Compaq เริ่มตก บริษัทเริ่มปลดพนักงานออกไป Rod Canion เริ่มถูกกดดันจากกรรมการบริษัทคล้าย ๆ กรณีของ Steve Jobs ที่ถูกกดดันให้ออกจาก Apple

Rod Canion เริ่มทนกระแสกดดันไม่ไหวจนต้องยอมถอนตัวออกไป เป็นการสิ้นสุด Compaq ของยุคผู้ก่อตั้งทั้งสามและให้ Eckhard Pfeiffer เข้ามาเป็น CEO แทน

ซึ่งสุดท้ายก็มีการควบรวมกิจการกับ HP เพื่อกลายเป็นบริษัทคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2002 เป็นการสิ้นสุดแบรนด์ Compaq ไปในท้ายที่สุดนั่นเองครับผม

References :
https://www.wikipedia.org
https://history-computer.com/the-real-reason-compaq-failed-spectacularly/
https://www.pcmag.com/news/the-golden-age-of-compaq-computers
https://www.wnyc.org/story/unlikely-pioneers-who-founded-compaq-and-transformed-tech/

Geek Daily EP22 : MISIM กับเครื่องมือการเขียนโปรแกรมใหม่ที่ไม่ต้องพึ่งพา Programmer

MISIM เครื่องมือการเขียนโปรแกรมใหม่ที่หวังว่า ในวันหนึ่งการเขียนซอฟต์แวร์จะทำเพียงแค่อธิบายสิ่งที่ต้องการทำในรูปแบบคำพูด แล้วเครื่องมือเหล่านี้จะเปลี่ยนมันเป็น Software ให้เองโดยอัตโนมัติ

MISIM ไม่ได้เชื่อมโยงกับไวยากรณ์ของโปรแกรมเฉพาะ จึงมีสิ่งต่าง ๆ อีกมากมาย ที่มันสามารถทำได้ ตัวอย่างเช่น สามารถใช้เพื่อแปลรหัสที่เขียนด้วยภาษาเก่า ๆ เช่น COBOL เป็นภาษาที่ทันสมัยกว่า เช่น Python 

เนื่องจากยังมีบริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ อีกจำนวนมากรวมถึงหน่วยงานรัฐบาลหลายแห่ง ที่ยังคงพึ่งพาซอฟต์แวร์ที่เขียนเป็นภาษาซึ่งผู้เขียนโค้ดบางคนรู้วิธีการบำรุงรักษาหรือปรับปรุงเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://bit.ly/314BKSV

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://apple.co/2lEqPPg

🎧 ฟังผ่าน Google Podcast : 
https://bit.ly/2BRfYcU

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://spoti.fi/3hSBqgU

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/12ByXhPzVOk

References : https://www.technologyreview.com/2020/07/29/1005768/neural-network-similarities-between-programs-help-computers-code-themselves-ai-intel/

NetScape Time ตอนที่ 5 : The Investor

แม้ในช่วงแรก ๆ นั้น Jim จะพยายามจัดการเรื่องเงินลงทุนให้เพียงพอกับการดำเนินธุรกิจได้ตามแผนงานที่เขาตั้งไว้ เพื่อที่จะยังไม่จำเป็นต้องไปร้องขอเงินทุนก้อนใหม่จากเหล่าบริษัท Venture Capital

แต่ด้วยสถานการณ์หลาย ๆ อย่างที่เกินความคาดหมาย ตอนนี้บริษัทได้ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการคือ Mosaic Communication ส่วนตัวโปรแกรมแม้จะยังไม่เสร็จเรียบร้อยดีนัก แต่ ก็มีลูกค้าหลาย ๆ รายสนใจที่จะมาใช้บริการเสียแล้ว รวมถึง การจ้างงานที่เริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจจะเกิดหายนะกับภาระทางด้านการเงินได้ หากไม่จัดเรื่องเงินลงทุนให้เรียบร้อย

และดูเหมือนตัวเลือกแรก ๆ ของ Jim สำหรับการระดมทุนรอบสอง นั่นก็คือ กองทุน Mayfield  แม้จะเคยมีปัญหากันบ้างในบริษัทแรกของเขาอย่าง SGI ที่ Mayfield เข้าถือหุ้นถึงกว่า 40%

แต่ดูเหมือนเมื่อติดต่อทาง Mayfield ไปนั้น ก็แทบจะไม่ได้รับคำตอบจากพวกเขาอีกเลย จากนั้น Jim ก็ได้ลองพยายามหาบริษัทลงทุนใหม่ ๆ เช่น กองทุน NEA แต่ก็ได้รับการตอบสนองด้วยความระมัดระวัง ซึ่ง Jim เองนั้นก็ยังไม่ค่อยพอใจกับท่าทีจากบริษัทลงทุนทั้งสอง

ดังนั้นเขาจึงคิดว่ากองทุนอื่นที่ไม่เคยรู้จักเขา น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า โดยเฉพาะในแง่ที่เขาเคยเป็นผู้ก่อตั้งของ SGI และรู้ไส้รู้พุง นักลังทุนกลุ่มนี้หมดแล้ว และที่สำคัญในยุคนั้นบริษัทกองทุนร่วมทุน มีอยู่เต็มไปหมดใน Silicon Valley เขาไม่จำเป็นต้องแคร์ในเรื่องการถูกปฏิเสธแต่อย่างใด เพราะมีทางเลือกอื่น ๆ อีกมากมาย พร้อมโอกาสใหม่ ๆ อีกเพียบ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในอดีต ก็คือ Arthur Rock ที่เคยถูกปฏิเสธกว่า 30 ครั้ง ในช่วงที่กำลังมองหาเงินลงทุน ในช่วง ปี 1960 เพื่อที่จะก่อตั้งบริษัท Fairchild Semiconductor แต่สุดท้ายความพยายามของพวกเขาก็สำเร็จเมื่อเขาได้ร่วมมือกับ Robert Noyce และ Gordon Moore ก่อตั้ง intel ให้ยิ่งใหญ่อย่างที่เราได้เห็นในปัจจุบัน

Arthur Rock ตำนานแห่ง Silicon Valley ผู้เคยถูกปฏิเสธกว่า 30 ครั้ง
Arthur Rock ตำนานแห่ง Silicon Valley ผู้เคยถูกปฏิเสธกว่า 30 ครั้ง

จนเขาได้ติดต่อไปยัง John Doerr แห่งกองทุน KPCB ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนักลงทุนยุคใหม่ที่น่าจับตา และมีบทบาทที่ค่อนข้างสำคัญมาก ๆ ในยุคปฏิวัติข้อมูลข่าวสาร และประสบความสำเร็จมาแล้วในหลากหลายอุตสาหกรรมที่ได้เข้าไปลงทุน

โดย John นั้นจบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า และ ในสาขาบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาเป็นหนึ่งในผู้ถือครองลิขสิทธิ์ของการประดิษฐ์ หน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ (RAM) และเป็นคนที่เข้าใจเทคโนโลยีไฮเทคใหม่ ๆ เหล่านี้ได้อย่างลึกซึ้ง และเข้าใจสิ่งที่ Jim และ Marc กำลังสรรค์สร้างขึ้นมาได้อย่างเต็มที่

ซึ่ง Jim ได้พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว พบว่า ข้อเสนอของ John จาก KPCB นั้นดูจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบริษัท ซึ่งมีเหตุผลหลัก ๆ อยู่ 2 ประการก็คือ

หนึ่ง John นั้นมักจะกล่าวอยู่เสมอว่าไม่ต้องการเข้าไปก่อตั้งบริษัทใหม่อีกแล้ว แต่มีความต้องการที่จะสร้างอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมาทั้งหมด และสิ่งที่ Jim และ Marc กำลังทำอยู่นั้นถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งน่าจะตรงกับ concept การลงทุนของ John มากที่สุด

ohn Doerr อีกหนึ่งตำนานนักลงทุนแห่ง Silicon Valley
John Doerr อีกหนึ่งตำนานนักลงทุนแห่ง Silicon Valley

ส่วนประการที่สอง ก็คือ John มักเข้าไปมีส่วนอย่างยิ่งสำหรับการคัดเลือกพนักงานในธุรกิจใหม่ ๆ นี้ และที่สำคัญเขายังมีความสามารถอย่างยิ่งในการหาผู้บริหารที่เหมาะสมกับงาน ซึ่งการมีคนอย่าง John มาช่วยเหลือในเรื่องนี้ ถือว่าส่งผลดีอย่างยิ่งต่อบริษัท

ซึ่ง John ก็คงมองออกเหมือนกับสิ่งที่ Jim และ Marc มองเห็นในขณะนั้น หากพวกเขาสามารถยึดครองส่วนแบ่งทางการตลาดสำหรับโปรแกรม Browser ในการเข้าถึง internet ได้สำเร็จ มันก็จะตามมาด้วยเงินจำนวนมหาศาลนั่นเอง

ซึ่ง Deal สุดท้ายของ KPCB นั้น จะทำการลงทุนด้วยเงินจำนวน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ และตัว Jim จะเพิ่มการลงทุนเข้าไปอีก 2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อรักษาส่วนแบ่งของเขาไม่ให้ถูกลดทอนลงไปนั่นเอง และให้ John เข้ามาเป็นกรรมการของบริษัทในที่สุด

ต้องบอกว่าสถานการณ์ ณ ตอนนี้ โปรแกรม Browser ของพวกเขาก็พร้อมใกล้เสร็จสมบูรณ์เต็มที่แล้ว และที่สำคัญยังได้เงินทุนระลอกใหม่จาก KPCB และ ชายผู้มีวิสัยทัศน์ที่ยอดเยี่ยมอย่าง John Doerr เข้ามาเป็นกรรมการบริษัท ก็ต้องมาตามกันต่อว่า เมื่อผลิตภัณฑ์ออกมาได้สำเร็จจริง ๆ มันจะเป็นไปตามแผนที่พวกเขาวาดไว้หรือไม่ โปรดติดตามต่อตอนหน้าครับผม

–> อ่านตอนที่ 6 : True Leader

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Billion Dollar Company *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

ประวัติ Bill Gates ตอนที่ 3 : Deal With The Devil

ในช่วงฤดูร้อนปี 1980 ตัวแทนจาก IBM สองคนได้เดินทางมาที่สำนักงานใหญ่ของ Microsoft เพื่อหารือเรื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ IBM กำลังตัดสินใจครั้งสำคัญว่าจะสร้างมันดีหรือไม่?

แม้ในยุคนั้น IBM จะเป็นเจ้าตลาด Hardware ครอบครองส่วนแบ่งการตลาดคอมพิวเตอร์แบบเมนเฟรมถึงกว่า 80% เรียกได้ว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในตลาดครองตลาดได้แบบเบ็ดเสร็จสำหรับ IBM

แต่ดูเหมือนคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กนั้นจะเป็นปัญหาสำหรับ IBM เพราะพวกเขาคุ้นเคยกับการขายคอมพิวเตอร์ขนาดมหึมาในราคาแพง และลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าธุรกิจที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกในขณะนั้น

ซึ่งการเข้ามาคุยกับ Microsoft เนื่องจาก ฝ่ายผู้บริหารระดับสูงเล็งเห็นว่า จำเป็นต้องดึงคนนอกเข้ามาช่วยเหลือในตลาดใหม่อย่าง คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นการขายให้กับผู้บริโภครายย่อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ IBM นั้นไม่ถนัดเป็นอย่างยิ่ง

และ IBM ต้องการเข็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลออกตลาดให้ได้ภายในปีนั้น โดย IBM ได้ตัดสินใจสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ที่หาซื้อได้ทั่วไปในท้องตลาด และทำสิ่งที่เซอร์ไพรซ์เป็นอย่างยิ่งคือ การสร้างระบบแบบเปิดและง่ายต่อการเลียนแบบ

แม้ว่าในเครื่องเมนเฟรมขนาดใหญ่นั้น IBM จะออกแบบ Microprocessor เองทั้งหมด แต่ในตลาดใหม่อย่างคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล IBM ได้ตัดสินใจใช้ Microprocessor ของ intel และที่สำคัญที่สุด คือ IBM ได้ตัดสินใจที่จะให้คนอื่นเขียนระบบปฏิบัติการขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่านี่คือโอกาสทองครั้งสำคัญของ Microsoft

และแน่นอนว่า Gates ไม่มีทางที่จะพลาดโอกาสทองครั้งยิ่งใหญ่แบบนี้ ที่น้อยคนนักที่จะมีโอกาสแบบที่ Gates ได้รับจาก IBM ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นเรื่องท้าทายครั้งสำคัญของ Gates และ Microsoft แต่อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ต้องการมีส่วนร่วมกับธุรกิจยักษ์ใหญ่นี้

โดย Gates ได้ไปซื้อโปรแกรมที่เคยพัฒนามาแล้วจากบริษัทเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในเมืองซีแอตเติล และได้จ้าง Tim Paterson หัวหน้าวิศวกรจากบริษัทดังกล่าวมาร่วมงานกับ Microsoft และนำโปรแกรมดังกล่าวมาปรับแต่งให้กับ Hardware ของ IBM

gates เลือกทางลัดในการสร้าง MS-DOS ด้วยการซื้อ Software พร้อมหัวหน้าทีมพัฒนาอย่าง Tim Paterson มาร่วมงาน

ซึ่งผลที่ได้มันก็คือ MS-DOS (Microsoft Disk Operating System) และ IBM นี่เองที่เป็นลูกค้ารายแรกของ Microsoft ที่ซื้อลิขสิทธิ์ MS-DOS ไป และเปลี่ยนชื่อมันให้กลายเป็น PC-DOS และทำการออกวางขายเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของ IBM ในปี 1981

และมันประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น ทำยอดขายได้ดีมาก ๆ เป็นการเริ่มต้นตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแบบจริง ๆ จัง ๆ ครั้งแรกของ IBM ทำให้ชื่อ PC (Personal Computer) นั้นกลายเป็นที่รู้จักไปทั่ว

กลยุทธ์ของ Gates สำหรับการ Deal กับ IBM ครั้งนี้นั้น ถือว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่เป็น Case Study ที่น่าสนใจของวงการธุรกิจโลก เพราะ Microsoft ยื่นข้อเสนอที่ดีมาก ๆ ให้กับ IBM โดยเปิดให้เต็มที่กับ IBM นำลิขสิทธิ์ MS-DOS ไปใช้กี่เครื่องก็ได้ที่ IBM ต้องการขาย

Gates นั้นมองเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่า คือ การสร้าง MS-DOS ให้กลายเป็นระบบปฏิบัติการที่ดีที่สุด เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง UCSD Pascal P-System และ CP/M-86 ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่เสนอขายให้ IBM เช่นเดียวกันในยุคนั้น

Gates ต้องการให้ MS-DOS กลายเป็นระบบปฏิบัติการหลักของ PC และกระตุ้นให้บริษัทเขียน Software รายอื่น ๆ เขียนโปรแกรมโดยใช้พื้นฐานของ MS-DOS ของ Microsoft นั่นเอง

ซึ่งแน่นอนว่าข้อเสนอของ Gates นั้นดีกว่าคู่แข่งอย่างเห็นได้ชัดทำให้ราคา PC ที่มีระบบปฏิบัติการ MS-DOS ราคาถูกกว่าใคร และทำให้ IBM ผลักดัน MS-DOS แบบเต็มที่

เป้าหมายของ Gates และ Microsoft นั้นไม่ได้อยู่ที่รายรับที่ได้จาก IBM แต่จะเป็นกำไรในการขายลิขสิทธิ์ MS-DOS ให้กับบริษัทคอมพิวเตอร์อื่น ๆ ที่ต้องการใช้ MS-DOS เพราะตอนนั้นมันได้กลายเป็นระบบเปิดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ทุกรายสามารถใช้ MS-DOS ได้ทั้งหมด และเมื่อ MS-DOS กลายเป็นมาตรฐาน กำไร ก็หลั่งไหลมาที่ Microsoft แทนนั่นเอง

และแน่นอนว่าหลังจากออกวางจำหน่ายได้ไม่นานดูเหมือน IBM PC มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นมาตรฐานของตลาดในอุตสาหกรรมใหม่นี้ ดูเหมือน IBM จะประสบความสำเร็จแล้วแถมยังเป็นระยะเวลาอันสั้นมาก ๆ ด้วย

IBM ประสบความสำเร็จในการสร้างมารตรฐานคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

แต่หารู้ไม่ว่า คนที่ชนะจริง ๆ ในการสร้างมาตรฐานให้อุตสาหกรรมนี้คือ Microsoft ต่างหากที่ทุกคนต้องใช้ MS-DOS เป็นระบบปฏิบัติการหลัก เหล่าบริษัท Software รายเล็กใหญ่ต่างพัฒนาโปรแกรมขึ้นมาบนพื้นฐานของ MS-DOS ไม่ใช่บนพื้นฐานของ IBM-PC

ไม่นานหลังจากนั้น Software คุณภาพเยี่ยมตัวใหม่ ๆ อย่าง Lotus 1-2-3 โปรแกรมที่ปฏิวัติรูปแบบของการสร้างสเปรดชีทก็ได้รับการพัฒนาขึ้นมาให้รันบนระบบปฏิบัติการของ MS-DOS และตลาด Software การใช้งานนับพัน ๆ โปรแกรม ก็ได้เกิดขึ้นมาใน Ecosystem ของ MS-DOS โดยใช้มาตรฐานทาง Hardware ของ IBM-PC นั่นเอง

ซึ่งแม้ IBM จะสร้างมาตรฐาน PC ขึ้นมาก็จริง แต่เป็นมาตรฐานให้ทุกคนเลียนแบบได้ง่าย และบริษัทอื่นก็สามารถสร้างคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแบบที่ IBM ทำได้เช่นกัน และแน่นอนว่าเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน บริษัทอื่นก็อาจจะมาครองตลาดแทน IBM

และนี่เองเป็นสิ่งที่ IBM พลาดครั้งสำคัญในการดำเนินธุรกิจ พวกเขาพลาดที่ไปร่วมมือกับ Microsoft และ intel ในการสร้าง PC ขึ้นมาให้กลายเป็นมาตรฐานทางด้าน Hardware เพียงเท่านั้น มันคือจุดผิดพลาดครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของยักษ์ใหญ่วงการเทคโนโลยีโลกอย่าง IBM แล้วสถานะอันสั่นคลอนของ IBM ในตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนี้จะยืนหยัดอยู่ได้นานเพียงใด แผนต่อไปของ Gates และ Microsoft คืออะไร? อย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 4 : The Downfall of IBM

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 A Revolution Begins *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://spectrum.ieee.org/image/MjgxMDc1OA.jpeg

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

Wheelie กับเทคโนโลยีคอนโทรลวีลแชร์ด้วย Facial Recognition

Hoobox Robotics ของบราซิลได้ร่วมมือกับ Intel ในการผลิตชุดอะแดปเตอร์ที่ช่วยให้รถเข็นไฟฟ้าเกือบทุกตัวสามารถควบคุมได้ด้วยการแสดงออกทางสีหน้าของผู้ใช้

ชุด Wheelie 7 จะทำการบังคับรถเข็นวีลแชร์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อตรวจจับการแสดงออกของผู้ใช้และประมวลผลข้อมูลแบบเรียลไทม์เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของเก้าอี้

การยิ้ม ยกคิ้ว ย่นจมูก หรือย่นริมฝีปากราวกับว่าเป็นการจูบ เป็นหนึ่งใน 10 รูปแบบการแสดงทางสีหน้าที่ได้รับการยอมรับจากต้นแบบของ Wheelie 7

การใช้การจับการเคลื่อนไหวของสีหน้าเพื่อขับเคลื่อนรถเข็น
การใช้การจับการเคลื่อนไหวของสีหน้าเพื่อขับเคลื่อนรถเข็น

ผู้ใช้สามารถปรับได้ว่าจะใช้ 10 รูปแบบการแสดงสีหน้า ได้ในแต่ละทิศทางที่สามารถเป็นไปได้

“ เราเชื่อว่าเราสามารถใช้ประโยชน์จากความสามารถที่ดีที่สุดของบุคคลในการแก้ไขข้อ จำกัด ไม่เพียง แต่ปรับปรุงความคล่องตัวและความเป็นอิสระเพียงเท่านั้น” Hoobox กล่าว

โดยฮาร์ดแวร์ของชุด Wheelie นั้นใช้เทคโนโลยีของ Intel ซึ่งรวมถึงกล้อง 3D RealSense Depth เพื่อจับภาพการแสดงออกทางสีหน้าและมินิคอมพิวเตอร์ออนบอร์ดสำหรับใข้ในการประมวลผล

รวมกับซอฟต์แวร์จดจำใบหน้าที่กำหนดเองของ Hoobox ซึ่งใช้อัลกอริทึมทางด้าน Machine Learning เพื่อถอดรหัสการแสดงออกได้อย่างแม่นยำ

“ เพื่อพัฒนา Wheelie เราต้องสร้างการวิเคราะห์ใบหน้ารุ่นต่อไปที่สามารถตรวจจับการแสดงออกทางสีหน้าได้แม่นยำมากขึ้นโดยไม่คำนึงถึงสภาพแสง” Hoobox กล่าว

“ซึ่งความแม่นยำที่สูงมากนั้นจะทำให้เราสามารถตรวจจับพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น ความง่วง ระดับความเจ็บปวด 10 ระดับ ความตื่นเต้น หรือความใจเย็น และอาการกระตุก และเราสามารถตรวจจับได้เมื่อบุคคลนั้นจะจามก่อนที่จะจามจริง ๆ “

ขับเคลื่อนรถเข็นให้กับผู้ที่ป่วยเป็นอัมพาต
ขับเคลื่อนรถเข็นให้กับผู้ที่ป่วยเป็นอัมพาต

ต้นแบบ Wheelie 7 กำลังได้รับการทดสอบโดยผู้ใช้ในสหรัฐอเมริการวมถึงผู้ที่เป็นอัมพาตและอัมพาตของเซลล์ประสาทรวมถึงผู้สูงอายุ 

คาดว่าจะวางจำหน่ายจริงได้ภายในปี 2019 โดยจะสามารถใช้งานร่วมกับเก้าอี้ล้อเลื่อนที่ใช้เครื่องยนต์ได้

Hoobox ก่อตั้งขึ้นที่ São Paulo ในปี 2017 โดย Paulo Gurgel Pinheiro ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์จดจำใบหน้าของ Wheelie 7 นั้นมีพื้นฐานมาจากการวิจัยหลังปริญญาเอกของเขา

โดยบริษัท ได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองฮุสตันในปี 2018 เพื่อเข้าร่วมศูนย์บ่มเพาะ JLABS ของ Johnson & Johnson ที่ศูนย์การแพทย์เท็กซัส

โดย ชุด Wheelie 7 นี้จะเป็นหนึ่งในนวัตกรรมจำนวนหนึ่งที่มอบความเป็นอิสระแก่ผู้ใช้รถเข็นที่มีอยู่ทั่วโลกนั่นเอง

References : 
https://www.dezeen.com/2019/01/15/hoobox-wheelie-7-wheelchair-facial-expressions-design/