Compaq Computer ผู้ปฏิวัติวงการ PC ตัวจริงที่ถูกลืม

ถ้ากล่าวถึงแบรนด์อย่าง Compaq คิดว่าหลายคนคงจะลืมกันไปแล้วว่ามีแบรนด์ นี้อยู่ในโลกด้วยหรือ แต่ถ้าย้อนไปในยุคเริ่มต้นของการกำหนดของ PC หรือ ยุคคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั้น ต้องถือว่า Compaq เป็นแบรนด์แรก ๆ ที่กล้ามาต่อกรกับยักใหญ่อย่าง IBM ในสมัยนั้นได้

ต้องบอกว่า Compaq นั้นมีประวัติที่น่าสนใจ ที่ไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงกันนัก ซึ่ง Campaq นั้นเกิดขึ้นในช่วงประมาณปี 1982 ซึ่งเป็นยุคตั้งไข่ของ PC พอดิบพอดี ซึ่งก่อตั้งโดยอดีตพนักงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ในสมัยนั้นอย่าง Texus Intrument ซึ่งเหล่าผู้ก่อตั้งทั้ง 3 คนประกอบไปด้วย Rod Canion , Jim Harris และ Bill Murto

ต้องบอกว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัวเลยทีเดียวสำหรับการเริ่มธุรกิจ ซึ่ง Rod Canion นั้นถนัดทางด้านบริหารธุรกิจ Murto ถนัดทางด้านการตลาด ส่วน Harris นั้น จะถนัดทางด้าน Engineer แต่ต้องบอกว่า การที่ทั้งสามออกจากบริษัทยักษ์ และมั่นคงอย่าง Texus Intrument แล้วมาเริ่มธุรกิจนั้น มีแต่คนหาว่าพวกเขาบ้าแม้กระทั่งครอบครัวของพวกเขาเองก็ตาม

เริ่มต้นจากงานอดิเรก และความคิดบ้า ๆ

มันเป็นการเริ่มต้นจากงานอดิเรกพร้อมกับความคิดบ้า ๆ ของทั้งสามคน ที่ต้องการจะก่อตั้งบริษัท ซึ่งตอนนั้นต้องบอกว่าทั้งสามไม่ได้มีเงินมากมายรวมถึงไม่ได้มีแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงง่ายอย่าง Startup ในปัจจุบัน ทั้งสามต้องจำนองบ้าน รวมถึงขายรถเพื่อมาเป็นทุนในการเริ่มต้นเปิดบริษัท

ในยุคนั้นต้องบอกว่า IBM นั้นถือเป็นยักษ์ใหญ่มาก ๆ ของวงการธุรกิจของอเมริกาควบคุมทุกอย่างอย่างเบ็ดเสร็จในโลกเทคโนโลยี ทำทุกอย่างตั้งแต่ computer mainframe สำหรับองค์กร ไปจนถึง คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล การที่จะมาสู้กับยักษ์ใหญ่อย่าง IBM นั้นถือว่าไม่ใ่ช่เรื่องที่ควรจะทำเป็นอย่างยิ่ง

แต่อย่างไรก็ดีเหล่า 3 ผู้ก่อตั้งแห่ง Compaq นั้นได้เห็นช่องว่างทางการตลาดบางอย่าง ที่ IBM ยังครอบครองแบบไม่เบ็ดเสร็จนั่นก็คือตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่สามารถพกพาได้ หรือ ตลาด notebook ในปัจจุบันนั่นเอง

ถ้าย้อนกลับไปในยุคนั้น ต้องบอกว่าแม้จะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สามารถพกพาได้ แต่ขนาดเครื่องก็มีขนาดใหญ่เทอะทะ และมีรูปร่างไม่สวยรวมถึงไม่ได้มีแบตเตอรี่ที่รองรับการใช้งานแบบไม่ต้องเสียบปลั๊กเหมือนในยุคปัจจุบัน

การเริ่มหาทุนในการตั้งบริษัทนั้น ในขณะที่ทั้งสามมีแต่ไอเดียและร่างแบบคร่าว ๆ ของคอมพิวเตอร์แบบพกพา ก็ต้องบอกว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะหาทุนเริ่มต้นในสมัยนั้น

ทาง Rod Canion จึงได้เขียนแผนธุรกิจคร่าว ๆ ขึ้นมา และได้มีโอกาสไปพบกับ Ben Rosen โดยเริ่มลงทุนให้ 750,000 เหรียญเป็นทุนตั้งต้นในการเริ่มธุรกิจ ซึ่งถ้าย้อนกลับไปในยุคนั้น Silicon Valley ยังคงเป็นเพียงแค่ทุ่งและ สวนผลไม้

ทั้งสามคนก็ได้เริ่มว่าจ้างทีมงานจากเงินลงทุนเริ่มต้น และเริ่มทำการผลิตตัว Compaq Portable ตัวแรกออกมา โดยใช้วิธีการ Reverse Engineer หรือ วิศวกรรมย้อนกลับจาก IBM PC  เนื่องจาก IBM ขณะนั้นประสบความสำเร็จ และขายได้ติดตลาดไปแล้ว ต้องทำทุกอย่างให้สามารถ Run Software ของ IBM ได้ทั้งหมด ก็จะเข้าถึงตลาดขนาดมหาศาลที่ IBM ได้เริ่มเปิดตลาดไว้แล้ว

การเริ่มต้นคือต้องทำการลอก Code ของ IBM ที่เป็นตัว Chip หลักที่ใช้ Control PC เพราะส่วนประกอบอื่น ๆ ของ PC นั้นสามารถหาได้ตามท้องตลาดทั่วไป สิ่งที่เป็นจุดต่างคือ Chip ที่มีรหัสพิเศษของ IBM เท่านั้น เครื่องก็จะสามารถทำงานกับ Software และ Hardware ต่าง ๆ ของ IBM ได้

ผลิตภัณฑ์ตัวแรก Compaq Portable PC
ผลิตภัณฑ์ตัวแรก Compaq Portable PC

ในทีุ่สดพวกเขาก็ทำสำเร็จ และสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ตัวแรกอย่าง Compaq Portable PC ออกมาได้ และสามารถใช้งานได้กับ Software ของ IBM ได้ทุกอย่าง โดยมีขนาดเบากว่าและราคาที่ถูกกว่า บริษัทได้เชิญสื่อมามากมายในวันเปิดตัวปี 1982 ใน นิวยอร์ก

จากการเปิดตัวทำให้บริษัทเริ่มมีชื่อเสียงผู้คนเริ่มชอบในผลิตภัณฑ์ของ Compaq ซึ่งต้องบอกว่าพวกเขาได้สร้างผลิตภัณฑ์ตัวแรกมาได้อย่างดีมาก พนักงานที่ขายผลิตภัณฑ์ของ IBM อยู่แล้วก็ไม่ยากเลยที่จะขายผลิตภัณฑ์ของ Compaq เพราะมันสามารถทำงานได้เหมือนกัน ต้องบอกว่าสินค้าขายดีมากและผลิตแทบจะไม่ทันกันเลยทีเดียวในปีแรกที่ออกวางจำหน่าย

แค่ปีแรกเพียงปีเดียว Compaq สามารถขาย Portable PC ของตัวเองไปได้ถึง 53,000 เครื่อง สื่อถึงกับยกให้บริษัท Compaq นั้นเป็นบริษัทที่เติบโตได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกา

สู้กับยักษ์ใหญ่อย่าง IBM

หลังจากนั้น IBM ก็ได้ออก Portable PC เพื่อมาตอบโต้กลับในปี 1984  โดยออกมาเพื่อจะฆ่า Compaq โดยเฉพาะ แต่สิ่งที่พวกเขาพลาดไปและมั่นใจเกินไปนั่นคือ Portable PC ของ IBM นั้นไม่สามารถรัน Software บางส่วนของ IBM PC เดิมได้

และนั่นได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของอุตสาหกรรม PC เลยก็ว่าได้  Compaq แทบไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะ Portable PC นั้นสามารถ run ทุกอย่างของ IBM PC ได้ ทำให้ยอดขายยิ่งกระฉูดขึ้นไปอีก มีการขยายโรงงานการผลิต รวมถึงรับพนักงานมากจนถึงกว่า 1000 คนภายในเวลาเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น

สร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับ Silicon Valley

ถ้าถามว่าวัฒนธรรมการแจกอาหารฟรี รวมถึงบริการต่าง ๆ ที่ให้กับพนักงานได้อย่างเต็มที่ของบริษัท Startup ในปัจจุบันนั้นใครเป็นคนริเริ่ม ก็ต้องบอกว่า Compaq นี่แหละเป็นผู้ที่สร้างวัฒนธรรมนี้ให้กับ Silicon Valley

เพราะ Compaq เป็นบริษัทแรกที่มีการแจกอาหารและเครื่องดื่ม ให้พนักงานได้รับประทานกันแบบฟรี ๆ ในยุคนั้น ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่แปลกใหม่พอสมควร ทำให้คนสนใจที่จะมาทำงานกับ Compaq มากยิ่งขึ้น และสามารถ Focus กับงานที่ทำได้อย่างเต็มที่

แล้วบริษัทอย่าง Apple หายไปไหนในช่วงนั้น

ช่วงปีต้น ๆ ของ Compaq นั้น Apple ก็ได้ออกวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตัวเองเป็นที่เรียบร้อย แต่ก็ต้องยอมรับว่า ขนาดตลาดของ Apple เมื่อเทียบกับขนาดตลาดของ PC ที่ IBM เป็นคนเปิดตลาดมีความแตกต่างกันอย่างมาก ถ้าเทียบตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทั้งหมดนั้น Apple สามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดได้เพียงแค่ 4-5% เท่านั้น


และการที่ Apple เป็บระบบปิดไม่สามารถเชื่อมต่อกับใครได้ software ก็รันของตัวเอง ก็ทำให้ครองส่วนแบ่งการตลาดได้น้อยมาก ๆ แม้จะวางจำหน่ายแมคอินทอชพร้อมระบบ Inteface ใหม่ พร้อม mouse ที่เป็นการปฏิวัติวงการในขณะนั้น

แต่ก็ต้องยอมรับว่าสุดท้ายแล้ว Apple เป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ ไปเลยเมื่อเทียบกับตลาด PC ที่ IBM ครองตลาดอยู่ในตอนนั้น ซึ่ง Compaq มาแย่งส่วนแบ่งการตลาดของ IBM ซึ่งใหญ่มาก ๆ ทำให้ Compaq แทบจะเป็นบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์การก่อตั้งบริษัทของประเทศอเมริกา

การเติบโตแบบก้าวกระโดด

ด้วยความผิดพลาดของ IBM รวมถึง Apple ก็ไม่สามารถแจ้งเกิดได้กับแมคอินทอชรวมถึงลิซ่า ทำให้ Steve Jobs ก็ต้องถูกบีบให้ออกจาก apple ไปในที่สุด เมื่อถึงตอนนั้น ก็ไม่มีใครจะมาขัดขวางการเติบโตของ compaq ได้อีกต่อไปแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องของเทคโนโลยีรวมถึงการตลาด ที่เริ่มนำเอาผู้มีเชื่อเสียงมาช่วยในงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทำให้ยอดขายของ Compaq เติบโตขึ้นเกินกว่าปีละ 100% ตลอดในช่วงแรกเริ่มและพุ่งไปถึงกว่า 500 ล้านเหรียญในปี 1985

จุดเปลี่ยนที่สำคัญกับการเข้ามาของ Intel Chipset 386

IBM นั้นมักจะได้สิทธิ์ Exclusive กับ Chip ของบริษัทชื่อดังอยู่เสมอ แต่ครั้งนี้ต้องบอกว่าเป็นครั้งแรกที่ IBM ถูกปฏิเสธโดย Intel ซึ่ง Chipset 386 นั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมครั้งใหญ่ รวมถึงเรื่องของประสิทธิภาพการทำงานของ Chip ที่ทำให้การทำงานของ PC ก้าวกระโดดไปอีกขั้น

เมื่อ Intel ไม่ได้ Exclusive ตัว Chip 386 กับ IBM แล้ว  Compaq ก็เร่งในการสร้างผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่ใช้ Chipset 386 เพื่อออกสู่ตลาดให้เร็วที่สุด

ผลิตภัณฑ์อย่าง Desktop386 ขายดีสุด ๆ
ผลิตภัณฑ์อย่าง Desktop386 ขายดีสุด ๆ

ไม่เพียงแค่ Chipset Intel 386 เท่านั้น เมื่อ Compaq ออกผลิตภัณฑ์อย่าง Desktop386 ก็ได้มีการร่วมมือกับ Microsoft ของ Bill Gate ที่ยอมให้ระบบปฏิบัติการของ Windows สามารถรันได้บน Compaq ได้แบบที่ว่าไม่ต้องไปทำการ Copy Chip Code ใด ๆ จาก IBM อีกต่อไป  เป็นการเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอย่างสิ้นเชิงและปลดแอกจาก IBM ในที่สุด

ความสุดยอดของ Chipset 386 ทำให้ Compaq เติบโตอย่างก้าวกระโดด และเริ่มฉีกหนี IBM ออกไป และสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดจาก IBM ไปได้อย่างมาก

แม้ตลาดองค์กร IBM จะเป็นเจ้าตลาดอยู่ก็ตามแต่ตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั้นต้องบอกว่า Compaq ได้ทำยอดขายแซง IBM ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว Compaq ใช้เวลาเพียง 3 ปีก็เข้าสู่ทำเนียบ Fortune 500 ได้สำเร็จ

สามผู้ก่อตั้งต่างร่ำรวยจากมูลค่าหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่พนักงานกลุ่มแรก ๆ ที่ได้หุ้น ก็ทยอยกลายเป็นเศรษฐีกันไปด้วย ต้องบอกว่า Compaq เป็นบริษัทที่ใช้เวลาสร้างกิจการได้รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา และสามารถทำยอดขายแตะ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐได้เร็วที่สุดอีกด้วย

ความผิดพลาดซ้ำสองของ IBM

การพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของ IBM ถือเป็นครั้งแรก ๆ ในประวัติศาสตร์ของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง IBM ที่ต้องพ่ายแพ้ให้กับบริษัทที่เพิงเกิดใหม่เพียงไม่กี่ปีอย่าง Compaq

IBM ต้องเริ่มใช้การฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิบัตรของ Compaq โดยใช้การ Reverse Engineer ที่ Compaq ทำมาตั้งแต่ต้น ซึ่งก็ถือว่ามีความสุ่มเสี่ยงเหมือนกันที่ Compaq จะถูกฟ้องร้องจนอาจต้องถูกปิดบริษัทไปเลย แต่สุดท้าย Rod Canion ก็ใช้วิธีการเจรจาและชดใช้ค่าเสียหายจนตกลงกันได้ที่ประมาณ 130 ล้านเหรียญสหรัฐ

IBM PS2 ความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัยของ IBM
IBM PS2 ความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัยของ IBM

ความผิดพลาดที่ร้ายแรงที่สุดของ IBM คือการต้องการออกแบบระบบใหม่ทั้งหมด เพื่อไม่ให้ Compaq สามารถลอกเลียนแบบได้ โดยออกระบบปฏิบัติการใหม่คือ PS/2 ที่ยากที่คู่แข่งจะเลียนแบบ ซึ่งต้องบอกว่า IBM ต้องการฆ่าทุกคนในธุรกิจนี้เลยก็ว่าได้

แต่หารู้ไม่การสร้างระบบปฏิบัติการใหม่ที่ไม่สามารถเข้ากับผลิตภัณฑ์ตัวเดิมของ IBM ได้เลยนั้นถือเป็นการฆ่าตัวตายของ IBM เอง เพราะองค์กรใหญ่หลาย ๆ องค์กรในสหรัฐได้สั่งซื้อเครื่อง computer ของ IBM ไปเป็นจำนวนมากแล้ว ซึ่งหากต้องการเปลี่ยนต้องมีการเปลี่ยนแบบยกองค์กรและต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ทำให้องค์กรหลาย ๆ องค์กรไม่ต้องการซื้อ PS/2 ของ IBM เพราะต้องมาเริ่มเรียนรู้กันใหม่หมดซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่มหาศาลมาก ๆ

เหมือนยื่นดาบให้ศัตรูมาฆ่าตัวเองเลยก็ว่าได้สำหรับ IBM ชัดเจนว่าต่อจากนี้ ตลาด PC นั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว IBM ไม่ได้เป็นผู้กำหนดตลาดอีกต่อไป มีการรวมตัวของผู้ผลิต PC ขนาดใหญ่จำนวน 9 ราย รวมถึงมีการเจรจากับ Bill Gate จาก Microsoft และพัฒนามาตรฐานของพวกเค้าเองในชื่อ EISA (Extended Industry Standard Architecture) โดยที่ไม่เกี่ยวข้องใด  ๆ กับ IBM อีกต่อไปเป็นการถีบ IBM ออกจากตลาด PC แบบถาวรเลยก็ว่าได้

เมื่อ Compaq เข้าสู่ยุคตกต่ำ

แม้การรวมตัวจะเป็นผลดีและทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้นและที่สำคัญสามารถกำจัด IBM ออกจากตลาดได้สำเร็จ แต่ขนาดองค์กรของ Compaq ก็ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนเริ่มยากที่จะบริหารให้ได้เหมือนตอนเริ่มต้นกิจการ

Compaq เริ่มมีการขยายตลาดไปยังยุโรป ทำให้ได้เจอกับ Eckhard Pfeiffer ที่ถนัดในเรื่องการผลิตในปริมาณมาก ๆ แต่ตัว Rod Canion เองนั้นอยากให้ผลิตภัณฑ์ยังมีคุณภาพเหมือนเดิมต่อไป รวมถึงผู้ผลิตจากญี่ปุ่นอย่างโตชิบ้าก็สามารถผลิตในราคาที่ถูกกว่าซึ่งเป็นการเข้ามากำจัดจุดเด่นของ Compaq ในยุคแรก ๆ ไปเลยก็ว่าได้

ปัญหาต่าง ๆ เริ่มรุมเร้าตัว Rod Canion เองและไม่สามารถแก้ปัญหาได้เริ่มมีการตีตลาดจากแบรนด์นอก รวมถึงดาวรุ่งที่พุ่งแรงขึ้นมาอย่าง Dell ที่สามารถผลิตสินค้าในราคาถูกกว่า Compaq

ทำให้ยอดขายของ Compaq เริ่มตก บริษัทเริ่มปลดพนักงานออกไป Rod Canion เริ่มถูกกดดันจากกรรมการบริษัทคล้าย ๆ กรณีของ Steve Jobs ที่ถูกกดดันให้ออกจาก Apple

Rod Canion เริ่มทนกระแสกดดันไม่ไหวจนต้องยอมถอนตัวออกไป เป็นการสิ้นสุด Compaq ของยุคผู้ก่อตั้งทั้งสามและให้ Eckhard Pfeiffer เข้ามาเป็น CEO แทน

ซึ่งสุดท้ายก็มีการควบรวมกิจการกับ HP เพื่อกลายเป็นบริษัทคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2002 เป็นการสิ้นสุดแบรนด์ Compaq ไปในท้ายที่สุดนั่นเองครับผม

References :
https://www.wikipedia.org
https://history-computer.com/the-real-reason-compaq-failed-spectacularly/
https://www.pcmag.com/news/the-golden-age-of-compaq-computers
https://www.wnyc.org/story/unlikely-pioneers-who-founded-compaq-and-transformed-tech/

Ken Olsen ผู้บุกเบิกมินิคอมพิวเตอร์คนแรกของโลก

Ken Olsen เป็นหนึ่งในชายหนุ่มผู้โชคดีที่ ที่ได้มีโอกาสอยู่ร่วมในการพัฒนาที่น่าตื่นเต้นที่สุดในวงการคอมพิวเตอร์ ในห้องทดลองของมหาวิทยาลัยในระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง 

แต่ความเป็นนักวิชาการนั้นไม่เหมาะสำหรับ Olsen ซึ่งเป็นวิศวกรที่เก่งกาจ โดยเขาได้ใช้เวลาช่วงฤดูร้อนในวัยเด็กของเขาทำงานในร้านขายเครื่องจักร และซ่อมวิทยุในห้องใต้ดินของเขา 

การร่วมมือกันในช่วงต้นปี 1957 กับเพื่อนนักวิจัย Harlan Anderson โดยตัว Olsen ได้รับเงิน 70,000 ดอลลาร์จากศาสตราจารย์ Georges Doriot ของ Harvard Business School ซึ่งได้จัดตั้งกองทุนการลงทุนที่เน้นเทคโนโลยีซึ่งเขาเรียกว่า “Venture Capital” เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่อายุน้อยและยังขาดแคลนเรื่องของเงินทุน

Olsen และ Anderson ออกจาก MIT และย้ายไปอยู่ในโรงงานสิ่งทอที่มีระบบปิด ในเมืองอุตสาหกรรมเก่าของ Maynard และทำการตั้งบริษัทใหม่ของพวกเขาอย่าง Digital Equipment Corporation (DEC)

DEC ขายคอมพิวเตอร์สายพันธุ์ใหม่โดยใช้ส่วนประกอบของทรานซิสเตอร์และตั้งโปรแกรมได้โดยมีขนาดและราคาเพียงแค่เศษเสี้ยวของคอมพิวเตอร์เมนเฟรม ที่ IBM ยึดครองตลาดอยู่

Olsen เรียกมันว่า “โปรแกรมประมวลผลข้อมูล” หรือ PDP โดยมีการขายปลีกในราคาต่ำกว่า 20,000 ดอลลาร์ในช่วงเวลาที่เมนเฟรมอาจมีราคาสูงกว่า 1 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวนี้เองที่ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการในคอมพิวเตอร์รุ่นต่อไปที่ Steve Jobs หรือ Bill Gates ได้ริเริ่มสร้างมันขึ้นมาภายหลัง

ด้วยเครื่องที่มีขนาดเท่าตู้เย็น ต้องบอกว่ายังคงเป็นหนทางไกลจากคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปส่วนบุคคลที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า แต่มันเป็นครั้งแรกที่คนทั่วไปสามารถตั้งโปรแกรมและดำเนินการกับคอมพิวเตอร์ได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนบนโลกใบนี้ 

คอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเท่าตู้เย็นในยุคนั้น
คอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเท่าตู้เย็นในยุคนั้น

ต้องบอกว่าในตอนนั้นทำให้เด็กมหาลัยและนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษาที่เคยเป็นนักเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ได้กลายมาเป็นนักเขียนโค้ดรุ่นเยาว์ การเขียนโปรแกรมแรก ๆ ของพวกเขาก็ด้วยการมาของคอมพิวเตอร์ของ DEC ทำให้สุดท้ายทำให้เด็ก ๆ เหล่านี้เกิดความฝันในด้านคอมพิวเตอร์ ที่พัฒนากลายเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจอเมริกาในยุคถัดไปได้สำเร็จ

และที่สำคัญ DEC ได้เปลี่ยนบอสตันให้กลายเป็นเมืองหลวงของการประมวลผลขนาดเล็กซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่จ้างคนหลายแสนคนและสร้างรายได้นับพันล้านมานานกว่าสองทศวรรษ 

DEC ได้กลายเป็นบริษัทแรกที่สร้างเครื่องจักรคอมพิวเตอร์รุ่นแรก ๆ โดยใช้ทรานซิสเตอร์มาเพื่อมาปลดแอกการครอบงำตลาดของไอบีเอ็มในตลาดเมนเฟรมส่วนใหญ่ได้เป็นครั้งแรก

ในปี 1965 Digital ได้นำ PDP-8 ซึ่งเป็นมินิคอมพิวเตอร์ที่ผลิตจำนวนมากเครื่องแรกของโลกออกมา ในปี 1970 DEC ได้ผลิต PDP-11 ซึ่งกลายเป็นมินิคอมพิวเตอร์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประวัติศาสตร์

DEC ได้นำคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก เข้าไปยังห้องปฏิบัติการอิเล็กทรอนิกส์ในทั่วประเทศหลังสงคราม ซึ่งทำให้เกิดจิตวิญญาณแบบเดียวกับที่เป็นจุดเด่นของ บริษัท ใน Silicon Valley ไล่ตั้งแต่ HP ไปจนถึง Dell ในยุคหลังเป็นต้นมา

แต่ต้องบอกว่า Olsen เอง ถือเป็นคนที่เรียบง่าย และไม่มีความทะเยอทะยานสูง มีความสนใจเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับความมั่งคั่ง เขาชอบใช้เวลาว่างในการพายเรืออย่างเงียบ ๆ บนสระน้ำในนิวอิงแลนด์ในเรือแคนูที่เขาโปรดปราน 

แม้ว่าจะทำให้ Olsen นั้นไม่ได้สนใจมากนัก ในเรื่องความแตกต่างของธุรกิจและตลาดผู้บริโภค เหมือนอย่างที่ สตีฟ จ๊อบส์ และ บิลล์ เกตส์ ทำได้ในยุคหลัง แต่มันก็ทำให้ บริษัท ของเขามีประสิทธิภาพอย่างน่าทึ่งในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรต้องการ และเป็นที่มาของการปฏิวัติอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ครั้งสำคัญในยุคหลังจากนั้น

ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 DEC กลายเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่อันดับสามของโลก เงินลงทุน 70,000 ดอลลาร์ของ Doriot ซึ่งตอนนั้นเขาได้รับสัดส่วนการถือหุ้น 70 เปอร์เซ็นต์ใน บริษัท มีมูลค่า 350 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นหนึ่งในข้อตกลงที่ร่ำรวยที่สุดในประวัติศาสตร์ไฮเทค 

References : หนังสือ Code Silicon Valley and the Remaking of America
https://www.milforddailynews.com/article/20110208/NEWS/302089913

ประวัติ Tim Cook ตอนที่ 3 : Jobs in Time

ต้องบอกว่าการได้งานที่ IBM ถือเป็นช่วงเวลาที่โชคดีอย่างยิ่งของ Cook เพราะอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์กำลังอยู่ในช่วงเริ่มเฟื่องฟู ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 เหล่าผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลต่างกำลังต่อสู้เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่กำลังคิดจะมีคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องแรก

คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของ IBM ถือเป็นเครื่องจักรที่ล้ำสมัยในยุคนั้น ที่ราคาขายราว ๆ 1,565 เหรียญ การใช้งานภาษา BASIC ซึ่งเป็นภาษาเขียนโปรแกรมยอดนิยมในยุคนั้น และให้ความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพสูง มีการใช้งานไมโครโพรเซสเซอร์ขนาด 16 บิต , Ram 16 กิโลไบต์ และสามารถเก็บข้อมูลได้ 40 กิโลไบต์ ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่มาก ๆ ในยุคสมัยนั้น

โดยแผนกคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของ IBM ตั้งอยู่ในโรงงานขนาดใหญ่ที่ Research Triangle Park โดยกลยุทธ์ของ IBM ก็คือการว่าจ้างบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยดัง ๆ จำนวนมาก มาฝึกอบรม และมาทำการโปรโมตเลื่อนตำแหน่งในกลุ่มของตนเอง

และ Cook ก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับบัณฑิตจบใหม่เหล่านั้น เขาได้ร่วมงานที่โรงงาน RTP ที่มีขนาดกว่าหกแสนตารางฟุต มีจำนวนการผลิต ถึง 6 สายการผลิตทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันจันทร์ถึงศุกร์ สามารถผลิตคอมพิวเตอร์ได้ราว ๆ นาทีละเครื่อง

โดยประมาณครึ่งหนึ่งของพนักงานในโรงงานทั้งหมด 12,000 คนนั้น เป็นผู้ประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ และแทบจะทั้งหมดนั้นทำด้วยมือ โดยสามารถประกอบคอมได้ราว ๆ 6-8 พันเครื่องต่อวัน และอาจเพิ่มขึ้นถึงหมื่นเครื่องต่อวันในช่วงพีค

IBM PC ที่เป็นเจ้าตลาดและทันสมัยมากในยุคนั้น
IBM PC ที่เป็นเจ้าตลาดและทันสมัยมากในยุคนั้น

โดยโรงงานของ IBM ใช้แนวคิดการผลิตแบบลีน โดยใช้ระบบการผลิตแบบทันเวลา (JIT) โดยปรัชญาของ JIT ในสหรัฐอเมริกาได้รับการออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในขณะที่หลีกเลี่ยงสินค้าส่วนเกิน ซึ่งมันได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่นในช่วงปี 1960 และ 1970 ซึ่งนำโดยบริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota ที่ใช้ JIT เป็นเสาหลักของระบบการผลิตทั้งหมดเพื่อให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมาขึ้นและให้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูงนั่นเอง

และเป็นบทบาทแรกของ Cook ที่ IBM ที่เขาได้เรียนรู้ความซับซ้อนของ JIT (just-in-time) ซึ่งเขาจะใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตทั้งหมดของ Apple ในภายหลัง ซึ่งานแรกที่ IBM นั้นเขาอยู่ในสายการผลิตจากโรงงาน และเขามีหน้าที่ในการจัดการไปป์ไลน์เพื่อให้แน่ใจว่าโรงงานมีชิ้นส่วนเพียงพอที่จะสร้างคอมพิวเตอร์ ซึ่งถือเป็นงานที่ท้าทายมาก ๆ งานแรกที่ Cook ได้ทดสอบฝีมือ

และเพียงแค่ 2-3 ปีหลังจากได้เข้าร่วมงานกับ IBM ตัว Cook เองก็ได้รับการประเมินให้เป็นพนักงานที่มีศักยภาพสูงหรือ “HiPo” ซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะของ IBM ซึ่งเป็นการวางเส้นทางสำหรับผู้นำในอนาคตของบริษัท ซึ่งในทุก ๆ ปีนั้นผู้บริหารระดับสูงในโรงงานจะเขียนรายชื่อพนักงานที่มีแนวโน้มมากที่สุด 25 คน โดยมีรายเอียดของสิ่งต่าง ๆ เช่น ประสิทธิภาพการทำงาน ความรับผิดชอบ ศักยภาพในการเป็นผู้นำ และแน่นอนว่าที่นั่น Cook คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งอยู่เสมอ

ซึ่งต้องบอกว่าเพื่อนร่วมงานหลายคนก็พูดในทำนองเดียวกันถึงความโดดเด่นของ Cook เพราะเขาฉายแววผู้นำมาตั้งแต่เข้าทำงานใหม่ ๆ เขามีความโดดเด่น แต่มีความสุภาพ ซึ่ง IBM ก็ช่วยส่งเสริมเขาในเรื่องความเป็นผู้นำ และเริ่มสร้างเสริมทักษะเขาด้วยการส่ง Cook ไปศึกษาเพิ่มเติมด้านธุรกิจที่มหาวิทยาลัย Duke

โดยตัว Cook นั้นได้เข้าเรียนตอนเย็นที่ Fuqua School of Business ของ Duke University ซึ่งทำให้เขาได้รับปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจในปี 1988 และการได้ดีกรีด้านบริหารธุรกิจนี่เองที่ช่วยพัฒนาอาชีพของเขาที่ IBM ที่ทำให้เขาเรียนรู้เรื่องของธุรกิจมายิ่งขึ้น ไม่ใช่เก่งเพียงแค่ทางด้านวิศวกรรมอย่างเดียวอีกต่อไป

เมื่อ Cook ทำงานกับ IBM เป็นเวลา 12 ปี เขาก็ได้เริ่มหาความท้าทายใหม่โดยมารับบทบาทหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของแผนกผู้จำหน่ายคอมพิวเตอร์ที่บริษัท Intelligent Electrics ในเมืองเดนเวอร์ มันดูเหมือนอาชีพเขาจะ Drop ลงหลังจากย้ายมาอยู่กับบริษัทเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับ IBM ที่เป็นยักษ์ใหญ่วงการเทคโนโลยีโลก

เขาช่วยให้ Intelligent Electrics เปิดตัวโปรแกรมที่เรียกว่า PowerCorps ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อเพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์ Apple ผ่านตัวแทนจำหน่ายของ Intelligent Electrics โดยทำให้รายรับของ Intelligent Electrics มีรายรับเพิ่มขึ้น 21% แต่สุดท้าย Intelligent Electrics ก็เจอปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเกี่ยวกับการขยายราคาหุ้นทำให้ตัว Cook เองแนะนำให้ผู้บริหารขายบริษัทให้กับ General Electric ในราคา 136 ล้านเหรียญ

และมันได้ทำให้เขาพบกับจุดเปลี่ยนสำคัญในอาชีพซึ่งก็คือ การได้เข้ามาร่วมงานกับ Compaq ในตำแหน่งรองประธานฝ่ายสื่อสารองค์กร เนื่องจาก Compaq เองเป็นซัพพลายเออร์รายหนึ่งของ Intelligent Electrics หลังจากขายกิจการสำเร็จ Compaq จึงได้ดึงตัว Cook เข้ามาร่วมงานเนื่องจากมองเห็นในศักยภาพของเขา

ในช่วงนั้น Compaq ได้กลายเป็นผู้ผลิต PC รายใหญ่ที่สุดของโลก แซงหน้า Apple และ IBM ได้สำเร็จ ทำให้ดูเหมือนชีวิตของ Cook จะเข้าสู่วงโคจรที่รุ่งโรจน์อีกครั้ง

สถานการณ์การแข่งขันในขณะนั้น ได้มีแนวคิดในการสร้างคอมพิวเตอร์ในราคาไม่แพงที่ต่ำกว่า 1,000 เหรียญออกมาแข่งกัน ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์สามารถเข้าถึงได้มากขึ้นทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้น

Compaq ที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของโลกในยุคนั้น
Compaq ที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของโลกในยุคนั้น

Intel ได้เปิดตัว Celeron ซึ่งเป็น CPU ราคาประหยัดในเดือนเมษายน ปี 1998 รวมถึง AMD ก็ผลิตชิปในราคาถูกเข้ามาแข่งขัน ทำให้ราคาของเครื่องคอมพิวเตอร์ลดลงเป็นอย่างมาก

และแน่นอนว่า ราคา PC ที่ลดลงส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อ Apple เป็นอย่างมาก ในขณะที่เครื่อง PC ราคาถูกลง ทำให้ผู้คนเมินที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ของ Apple ที่มีราคาแพง ทำให้มีสินค้าของ Apple ขายไม่ออกและค้างอยู่ในโกดังเป็นจำนวนมาก

ตัว Cook เองในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งที่ Compaq นั้น ได้ช่วยให้บริษัท เปลี่ยนไปสู่รูปแบบการผลิตตามคำสั่ง ซึ่งเป็นแนวคิดต่อยอดจาก JIT ที่เขาเคยได้เรียนรู้ที่ IBM นั่นเอง โดยใช้ชื่อว่า “Optimized Distribution Model” ซึ่งแทนที่จะลงทุนสร้างเครื่องจักรเพื่อคาดการณ์อุปสงค์ แต่ Compaq จะเริ่มกระบวนการผลิตหลังจากได้รับคำสั่งซื้อแทน

สิ่งนี้นี่เองที่ทำให้การผลิตคอมพิวเตอร์ของ Compaq มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และช่วยลดปริมาณสินค้าคงคลัง แต่ในทางกลับกัน บริษัทต้องจัดการซัพพลายเออร์ของตนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการได้อย่างรวดเร็วและคุ้มค่า

Cook เป็นผู้ที่บทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลง Optimized Distribution Model ที่ Compaq และทำให้ชื่อของเขากลายเป็นที่จับตามองในวงการผลิตคอมพิวเตอร์ ซึ่งที่ Compaq นี่เอง ที่ Cook ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับเหล่าซัพพลายเออร์ เพื่อให้เปลี่ยนมาใช้รูปแบบ Model ใหม่ดังกล่าว

และสถานการณ์ในขณะนั้นบริษัทอย่าง Apple ที่เริ่มหมดหวังกับการที่จะปรับปรุงกระบวนการผลิตที่สุดยุ่งเหยิงของตัวเอง เพื่อให้สามารถกลับมาแข่งขันกับคู่แข่งในวงการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ที่ดูเหมือนจะเริ่มหมดหวังเข้าไปทุกที สถานการณ์ของบริษัทย่ำแย่ถึงภาวะใกล้ล้มละลาย

แต่ก็เป็น Steve Jobs ที่ได้กลับมากุมบังเหียน Apple ในรอบที่สองอีกครั้ง และงานสำคัญของเขาก็คือมองหาวิธีแก้ไขปัญหา ในเรื่องการผลิต และหาคนที่เหมาะสมสำหรับงานดังกล่าว และ Cook เองก็เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดที่จะช่วยพลิก Apple ให้กลับมารุ่งเรืองได้อีกครั้ง

ต้องบอกว่า เมื่อทั้งสองได้มาเจอกัน มันคือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวงการคอมพิวเตอร์ ที่ Jobs และ Cook สองผู้นำที่แตกต่างกันจะมาร่วมมือกันเพื่อสร้างระบบการผลิตแบบ Just-in-Time ให้กับ Apple จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อสองผู้นำที่จะได้มาร่วมมือกันเปลี่ยนโลกอีกครั้งให้กับ Apple ที่ใกล้ล้มละลายเต็มที โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 4 : The Operations Guy

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Death of God *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

ติดตาม ด.ดล Blog เพิ่มเติมได้ที่
Fanpage :facebook.com/tharadhol.blog
Blockdit :blockdit.com/tharadhol.blog
Twitter :twitter.com/tharadhol
Instragram :instragram.com/tharadhol

IBM ‘s cobalt-free กับแบตเตอรี่ชนิดใหม่ที่ใช้วัสดุสกัดจากน้ำทะเล

แน่นอนว่ายานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ากำลังจะมีบทบาทสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำร้ายโลกของเรามาอย่างยาวนาน แต่มันก็ยังไม่ถือว่าเป็นทางออกที่สมบูรณ์แบบนัก โดยในปัจจุบัน พาหนะ EVs ส่วนใหญ่ทำงานบนแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ทำด้วยโลหะหนัก เช่น โคบอลต์ ซึ่งก็เป็นผลเสียต่อโลกเราอยู่ดี

แต่ตอนนี้ IBM Research Battery Lab อาจกำลังมีวิธีแก้ไขครั้งใหม่: ด้วยแบตเตอรี่ใหม่ที่สร้างขึ้นโดยไม่มีโลหะหนัก ซึ่งทำขึ้นมาแทนด้วยวัสดุที่สามารถสกัดได้จากน้ำทะเล

ตามการออกแบบครั้งใหม่ของ IBM ซึ่งพวกเขากล่าวว่า สามารถใช้งานได้ดีกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบปัจจุบันในราคาต้นทุนเพียงแค่ 80% ของแบตเตอรี่เดิม ๆ และสามารถทำเวลาในการชาร์จน้อยกว่าห้านาที รวมถึงเรื่องของประสิทธิภาพการใช้พลังงาน  แบตเตอรี่ยังติดไฟได้น้อยและสามารถใช้ในเครื่องบิน, รถยนต์ไฟฟ้าและรถบรรทุกได้อีกด้วย

ภาพจาก IBM Research
ภาพจาก IBM Research

แบตเตอรี่ใช้วัสดุใหม่สามชนิดรวมถึงวัสดุแคโทดที่ไม่มีโคบอลต์ , นิกเกิลและอิเล็กโทรไลต์ ซึ่งรูปแบบการผสมผสานที่ไม่เหมือนใครนี้สามารถยับยั้งปฏิกิริยา dendrites ในโลหะลิเธียมระหว่างการชาร์จซึ่งช่วยลดโอกาสที่แบตเตอรี่จะติดไฟขึ้นได้นั่นเองแ

และเพื่อที่จะนำแบตเตอรี่ใหม่นี้ไปใช้ IBM ได้ร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำอย่าง เมอร์เซเดส – เบนซ์ ร่วมด้วย ผู้ผลิตแบตเตอรี่อิเลคโทรไลต์อย่างบริษัท Central Glass และ บริษัท Sidus ในขณะที่ทีมวิจัยจาก IBM Research จะมีการใช้ AI เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของแบตเตอรี่และค้นหาวัสดุที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและปลอดภัยยิ่งขึ้นในอนาคต

ความเห็นเพิ่มเติมจากผู้เขียน

ถือเป็นหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจสำหรับเรื่องของแบตเตอรี่ EV ที่เหล่ายานพาหนะในอนาคตต้องใช้ ซึ่งแน่นอนว่า แม้ตัวรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างที่เราเห็นในปัจจุบันนั้นจะใช้พลังงานสะอาดจากไฟฟ้าก็ตาม

แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องเจอปัญหาในเรื่องของแบตเตอรี่ ที่ดูเหมือนยังเป็นสิ่งที่ยากในการทำให้เป็นผลดีต่อโลกเรา 100% แต่แนวคิดใหม่ของ IBM ที่มาวิจัยด้านนี้ ก็ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และถือเป็นอีกหนึ่งในตลาดที่ใหญ่มาก ๆ ในอนาคต หากสามารถที่จะเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้เป็นวัสดุใหม่อย่างที่ IBM กำลังทำการวิจัยอยู่ได้

ซึ่งแทนที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง IBM จะ โฟกัสไปที่การวิจัยในเรื่องพาหนะแบบขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติ เหมือน google , tesla หรือบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ทำ กลับเลือกหาโอกาสใหม่ ๆ จากเรื่องของแบตเตอรี่แทน ซึ่ง หากพวกเขาทำได้สำเร็จจริงก็สามารถสร้างมูลค่าให้กับบริษัทได้อย่างมหาศาลในอนาคตอย่างแน่นอน

และในท้ายที่สุด IBM ก็จะทำให้เทคโนโลยีทั้งหมดของยานพาหนะ EV ในอนาคตนั้นสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยพลังสะอาดแบบ 100% ได้นั่นเองครับ

References : https://www.engadget.com/2019/12/18/ibm-research-ev-battery-cobalt-free/

Geek Monday EP31 : Honda กับการตรียมพร้อมสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

แม้ว่า บริษัท Honda จะเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์รายใหญ่ที่สุด แต่พวกเขาก็มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีรวมถึงนวัตกรรมนอกโลกยานยนต์มากขึ้นเรื่อย ๆ 

การลงทุนของ บริษัท ในด้านการวิจัยและพัฒนานั้นอยู่ในรายชื่อ“ 20 อันดับผู้ใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนามากที่สุดในโลก ” โดยนวัตกรรมที่ฮอนด้าได้เปิดเผยกับสาธารณชนนั้น พวกเขาเขาได้ทุ่มงบประมาณด้าน R&D เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยใช้ AI และ Big Data ซึ่งไม่เพียง แต่จะออกแบบรถยนต์ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการลงทุนในการสร้างหุ่นยนต์เพื่อช่วยเหลือมนุษย์ในด้านอื่น ๆ เพิ่มอีกด้วย 

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน Podbean : http://bit.ly/2S4uML1

ฟังผ่าน Apple Podcast : https://apple.co/2lEqPPg

ฟังผ่าน Google Podcast : http://bit.ly/2PKPL2x

ฟังผ่าน Spotify : https://spoti.fi/2YPlX8T

ฟังผ่าน Youtube : https://youtu.be/VNmB9BNp44o

References : https://www.dezeen.com/2017/10/28/honda-makes-artificial-intelligence-more-approachable-at-tokyo-motor-show-2017/