ประวัติ Michael Dell ตอนที่ 1 : Life’s Choices

เรื่องราวการกำเนิดขึ้นของ Dell Computer นั้นก็ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงวัยเด็กของ Michael Dell (Michael) ผู้ซึ่งแทบจะไม่เฉียดเข้าใกล้ความเป็นนักธุรกิจแม้แต่น้อยนิด เพราะครอบครัวของเขานั้นไม่ได้สนใจที่จะผลักดันให้ Michael มาฝักใฝ่ด้านการทำธุรกิจ

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของ Michael นั้นน่าจะเป็นเรื่องของสะสมง่าย ๆที่เด็ก ๆ มักมีในยุคนั้นอย่าง สแตมป์นั่นเอง ด้วยความที่พ่อของ Michael รวมถึงเพื่อนสนิทของเขานั้น ชอบสะสมสแตมป์ และ ทำให้ตัว Michael เองก็นิยมชมชอบในการสะสมแสตป์ไปด้วย

ต้องบอกว่าในช่วงปี 1973 ช่วงที่ Michael ยังเป็นเด็กนั้น ภาวะเศรษฐกิจในเมืองฮูสตัน เมืองที่เขาเกิด กำลังพุ่งถึงขีดสุด และแน่นอนว่าด้วยเศรษฐกิจที่คึกคักของเมืองก็พลอยให้งานอดิเรกอย่างการสะสมสแตมป์นั้น เป็นตลาดที่คึกคักตามไปด้วย และมูลค่าของมันก็สูงขึ้นทุก ๆ วัน

และ Michael เองก็ได้เริ่มเรียนรู้เรื่องธุรกิจจากการสะสมสแตมป์นี่เอง ด้วยวิธีการเปิดประมูล โดยตัวเขาได้รวมรวมบรรดาเพื่อนบ้านที่สะสมสแตมป์ และทำการลงโฆษณาในวารสารเกี่ยวกับการซื้อขายสแตมป์ ซึ่งสามารถทำเงินให้กับเขาได้สูงถึง 2,000 เหรียญเลยทีเดียว

หลังจากทดลองธุรกิจแรกและประสบความสำเร็จได้ด้วยดี เมื่ออายุได้ 16 ปี เขาก็ได้หาเงินเสริมในช่วงปิดเทอม โดยสมัครเป็นคนส่งหนังสือพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ในเมืองฮูสตัน ซึ่งแน่นอนว่า เขาก็พยายามหารายได้ให้มากที่สุดจากงานเสริมนี้

เขาสำรวจพบว่าคนที่จะสมัครรับหนังสือพิมพ์ใหม่นั้น มักจะเป็นคนที่เพิ่งแต่งงานหรือคนที่เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ เขาจึงได้ไปหาข้อมูลเหล่านี้ที่อำเภอ (ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลเปิดในขณะนั้น) เขาสามารถทำรายได้จากการส่งหนังสือพิมพ์ในช่วงปิดเทอมได้สูงถึง 16,000 เหรียญเลยทีเดียว

Michael นั้นเริ่มสนใจในคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เด็กเลยก็ว่าได้ เพราะ Michael นั้นถนัดในวิชาคณิตศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก และชอบในการคำนวณจึงสงสัยว่าเครื่องคิดเลขที่ใช้คำนวณมันทำอย่างได้อย่างไร

เขาได้เป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์ครั้งแรกเมื่ออายุได้ 15 ปี และเริ่มรื้อเจ้าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่พ่อเขาซื้อให้ทันที เพราะเขาสงสัยมานานแล้วว่าเจ้าคอมพิวเตอร์มันทำงานได้อย่างไร

และเหมือนกับสแตมป์ ที่เขามองว่าคอมพิวเตอร์นั้นสามารถที่จะสร้างเป็นธุรกิจทำเงินให้กับเขาได้เช่นเดียวกัน ในยุคนั้น IBM เพิ่งเปิดตัวคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) และทำสิ่งต่าง ๆ ได้มากมาย มีโปรแกรมต่าง ๆ มากกว่า เครื่อง apple ที่พ่อเขาซื้อให้เสียอีก

IBM เปิดตัว IBM PC ปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
IBM เปิดตัว IBM PC ปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

ทำให้ Michael พยายามซื้อทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับ PC ไม่ว่าจะเป็น RAM DISK Monitor หรือ Modem ที่เพิ่งมีการเริ่มใช้งานในขณะนั้น เพื่อมาศึกษาว่า PC มันทำงานยังไง เรียกได้ว่าเป็นการ Reverse Engineer นั่นเอง

และแล้วเหมือนโชคชะตาจะเข้าข้าง Michael เพราะในปี 1982 นั้น งาน National Computer Conference ซึ่งเป็นงานประชุมคอมพิวเตอร์ระดับประเทศนั้นมาจัดขึ้นที่เมือง ฮูสตัน ที่เป็นบ้านเกิดของเขานั่นเอง

และเขาได้ไปในงานดังกล่าว เพื่อดูคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ ๆ ที่กำลังจะวางตลาดที่มาโชว์ในงาน Conference ดังกล่าว และนี่เองที่ทำให้เขาได้เริ่มเห็นช่องว่างทางการตลาดครั้งใหญ่ ที่จะเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล

ปรกตินั้น เครื่องคอมพิวเตอร์โดยทั่วไปอย่าง IBM PC จะขายอยู่ที่ราคา 3,000 เหรียญ แต่ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ Michael นั้นรู้เป็นอย่างดี เพราะได้แกะเครื่องมาศึกษาชิ้นส่วนแทบจะทั้งหมด ทำให้รู้ว่าต้นทุนที่แท้จริง มันเพียงแค่ 600-700 เหรียญเพียงเท่านั้น

และตลาดค้าปลีกคอมพิวเตอร์ในสมัยนั้น ก็รับสินค้ามาเป็นเครื่องประกอบเสร็จแล้วอาจจะที่ราคา 2,000 เหรียญ ซึ่งแม้จะสามารถทำกำไรได้ถึง 1,000 เหรียญก็ตามที แต่แทบจะไม่มีบริการหลังการขายอะไรเลยด้วยซ้ำ

และร้านค้าปลีกเหล่านี้ก็ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วอเมริกา เพราะยุคนั้นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลกำลังบูมมาก ซึ่งแน่นอนว่า ด้วยความรู้เรื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ทำให้เขาสามารถที่จะทำคอมพิวเตอร์ได้ในราคาที่ถูกกว่า และสามารถสู้ร้านค้าปลีกเหล่านี้ได้แบบสบาย ๆ

และเมื่อเขาได้เข้าเรียนในปี 1 ที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน ตอนนั้นในหัวเขามีแต่คิดเรื่องดังกล่าววนเวียนอยู่ในหัวว่าจะทำอย่างไรถึงจะออกไปสร้างธุรกิจคอมพิวเตอร์ได้ เพราะตอนนั้น พ่อและแม่ของ Michael มองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน และ อยากให้เขาเรียนให้จบมหาวิทยาลัยก่อนเป็นอันดับแรก

แต่ในหัวของเขาเองนั้น รับรู้ได้อย่างชัดเจนว่าโอกาสที่เขาค้นพบนั้นมันยิ่งใหญ่ขนาดไหน ตอนนั้น Michael อายุได้ 18 ปี และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลกำลังกลายเป็นที่นิยมแบบสุด ๆ และเขามั่นใจมาก ๆ ว่า สามารถที่จะสร้างคอมพิวเตอร์ที่ดีกว่าของ IBM ได้อย่างแน่นอน และสามารถให้บริการที่ดีกว่า และสามารถเป็นอันดับหนึ่งในธุรกิจด้านนี้ได้

ซึ่งเขาก็ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ ในช่วงประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนสอบปลายภาค เขาได้จดทะเบียนบริษัทใหม่ชื่อ Dell Computer เพื่อดำเนินธุรกิจ ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นที่ 1,000 เหรียญ และย้ายจากคอนโดมิเนียมไปอยู่ในสำนักงานขนาด 1,000 ตร.ฟุต Michael ได้จ้างพนักงาน 2-3 คนในช่วงแรกของการก่อตั้ง เพื่อรับคำสั่งซื้อผ่านระบบโทรศัพท์ และอีก 2-3 คนที่ช่วยในการประกอบชิ้นส่วนทางคอมพิวเตอร์

Michael ที่ตัดสินใจครั้งสำคัญเมื่อเห็นโอกาสทางธุรกิจ
Michael ที่ตัดสินใจครั้งสำคัญเมื่อเห็นโอกาสทางธุรกิจ

แน่นอนว่าเขายังไม่ได้ออกจากการเรียนที่มหาวิทยาลัย แต่ใจของเขาตอนนี้อยู่ที่ Dell Computer เพียงอย่างเดียวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่การลาออกจากการเรียนเป็นสิ่งที่พ่อและแม่เขาคงรับไม่ได้เลย

แต่ในท้ายที่สุด เมื่อเขาเรียนจบชั้นปีที่ 1 Michael ก็ได้ตัดสินใจลาออกจากการเรียนทันที และมาเริ่มลุยธุรกิจที่ Dell Computer แบบเต็มตัว แต่ตอนนั้นก็ถือว่ายังโชคดีที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส นั้นยอมให้เขาพักการเรียนชั่วคราวโดยไม่ต้องถูกไล่ออก

ซึ่งทำให้เขาไม่ได้เสียอะไร นอกจากเวลา เพราะถ้า Dell Computer ไปไม่รอดจริง ๆ เขาก็สามารถที่จะกลับไปเรียนได้อีกครั้งนั่นเอง และสามารถทำตามความฝันของพ่อแม่เขาได้อีกครั้งหากพลาดพลั้งในธุรกิจในฝันของเขา

ต้องบอกว่าเรื่องราวของ Michael Dell ในการสร้างธุรกิจคอมพิวเตอร์ขึ้นมานั้น ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ๆ ตอนนี้เขาก็พร้อมที่จะมาลุยกับ Dell Computer แบบเต็มตัวแล้ว เพื่อตามความฝันด้านธุรกิจของเขาให้สำเร็จ ด้วยความเชื่อมั่นแบบเต็มร้อย จะเกิดอะไรขึ้นต่อกับ Michael หลังจากตัดสินใจครั้งสำคัญในการเลือกลาออกจากการเรียนมหาลัย เพื่อมาทำธุรกิจในครั้งนี้ โปรดติตตามตอนต่อไปครับผม

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Life’s Choices *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

–> อ่านตอนที่ 2 : Going Public

References : https://www.inc.com/eric-markowitz/michael-dell-isnt-going-anywhere.html

Geek Story EP7 : Compaq ผู้ปฏิวัติวงการ PC ตัวจริงที่ถูกลืม

ถ้ากล่าวถึง brand Compaq คิดว่าหลายคนคงจะลืมกันไปแล้วว่ามี Brand นี้อยู่ในโลกด้วยหรือ แต่ถ้าย้อนไปในยุคเริ่มต้นของการกำหนดของ PC หรือ ยุคคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั้น ต้องถือว่า Brand Compaq เป็น Brand แรก ๆ ที่กล้ามาต่อกรกับยักใหญ่อย่าง IBM ในสมัยนั้นได้

ต้องบอกว่า Compaq นั้นมีประวัติที่น่าสนใจ ที่ไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงกันนัก ซึ่ง Campaq นั้นเกิดขึ้นในช่วงประมาณปี 1982 ซึ่งเป็นยุคตั้งไข่ของ PC พอดิบพอดี ซึ่งก่อตั้งโดยอดีตพนักงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ในสมัยนั้นอย่าง Texus Intrument ซึ่งเหล่าผู้ก่อตั้งทั้ง 3 คนประกอบไปด้วย Rod Canion , Jim Harris และ Bill Murto

มันเป็นการเริ่มต้นจากงานอดิเรก พร้อมกับความคิดบ้า ๆ ของทั้งสามคน ที่ต้องการจะก่อตั้งบริษัท ซึ่งตอนนั้นต้องบอกว่าทั้งสามไม่ได้มีเงินมากมาย รวมถึง ไม่ได้มีแหล่งเงินทุน ที่เข้าถึงง่ายอย่าง Startup ในปัจจุบัน ทั้งสามต้อง จำนองบ้าน รวมถึงขายรถ เพื่อมาเป็นทุนในการเริ่มต้นเปิดบริษัท

ในยุคนั้นต้องบอกว่า IBM นั้นถือเป็นยักษ์ใหญ่มาก ๆ ของวงการธุรกิจของอเมริกา ควบคุมทุกอย่างอย่างเบ็ดเสร็จในโลกเทคโนโลยี ทำทุกอย่างตั้งแต่ computer mainframe สำหรับองค์กร ไปจนถึง คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล การที่จะมาสู้กับยักษ์ใหญ่อย่าง IBM นั้นถือว่าไม่ใ่ช่เรื่องที่ควรจะทำเป็นอย่างยิ่ง

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน Podbean : http://bit.ly/2VKPbEJ

ฟังผ่าน Apple Podcast :   https://apple.co/2lEqPPg

ฟังผ่าน Google Podcast :  http://bit.ly/2B6TsbW

ฟังผ่าน Spotify : https://spoti.fi/2Vz02Bg

ฟังผ่าน Youtube :   https://youtu.be/HHq5I2dqTTU

ประวัติ Bill Gates ตอนที่ 3 : Deal With The Devil

ในช่วงฤดูร้อนปี 1980 ตัวแทนจาก IBM สองคนได้เดินทางมาที่สำนักงานใหญ่ของ Microsoft เพื่อหารือเรื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ IBM กำลังตัดสินใจครั้งสำคัญว่าจะสร้างมันดีหรือไม่?

แม้ในยุคนั้น IBM จะเป็นเจ้าตลาด Hardware ครอบครองส่วนแบ่งการตลาดคอมพิวเตอร์แบบเมนเฟรมถึงกว่า 80% เรียกได้ว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในตลาดครองตลาดได้แบบเบ็ดเสร็จสำหรับ IBM

แต่ดูเหมือนคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กนั้นจะเป็นปัญหาสำหรับ IBM เพราะพวกเขาคุ้นเคยกับการขายคอมพิวเตอร์ขนาดมหึมาในราคาแพง และลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าธุรกิจที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกในขณะนั้น

ซึ่งการเข้ามาคุยกับ Microsoft เนื่องจาก ฝ่ายผู้บริหารระดับสูงเล็งเห็นว่า จำเป็นต้องดึงคนนอกเข้ามาช่วยเหลือในตลาดใหม่อย่าง คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นการขายให้กับผู้บริโภครายย่อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ IBM นั้นไม่ถนัดเป็นอย่างยิ่ง

และ IBM ต้องการเข็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลออกตลาดให้ได้ภายในปีนั้น โดย IBM ได้ตัดสินใจสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ที่หาซื้อได้ทั่วไปในท้องตลาด และทำสิ่งที่เซอร์ไพรซ์เป็นอย่างยิ่งคือ การสร้างระบบแบบเปิดและง่ายต่อการเลียนแบบ

แม้ว่าในเครื่องเมนเฟรมขนาดใหญ่นั้น IBM จะออกแบบ Microprocessor เองทั้งหมด แต่ในตลาดใหม่อย่างคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล IBM ได้ตัดสินใจใช้ Microprocessor ของ intel และที่สำคัญที่สุด คือ IBM ได้ตัดสินใจที่จะให้คนอื่นเขียนระบบปฏิบัติการขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่านี่คือโอกาสทองครั้งสำคัญของ Microsoft

และแน่นอนว่า Gates ไม่มีทางที่จะพลาดโอกาสทองครั้งยิ่งใหญ่แบบนี้ ที่น้อยคนนักที่จะมีโอกาสแบบที่ Gates ได้รับจาก IBM ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นเรื่องท้าทายครั้งสำคัญของ Gates และ Microsoft แต่อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ต้องการมีส่วนร่วมกับธุรกิจยักษ์ใหญ่นี้

โดย Gates ได้ไปซื้อโปรแกรมที่เคยพัฒนามาแล้วจากบริษัทเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในเมืองซีแอตเติล และได้จ้าง Tim Paterson หัวหน้าวิศวกรจากบริษัทดังกล่าวมาร่วมงานกับ Microsoft และนำโปรแกรมดังกล่าวมาปรับแต่งให้กับ Hardware ของ IBM

gates เลือกทางลัดในการสร้าง MS-DOS ด้วยการซื้อ Software พร้อมหัวหน้าทีมพัฒนาอย่าง Tim Paterson มาร่วมงาน

ซึ่งผลที่ได้มันก็คือ MS-DOS (Microsoft Disk Operating System) และ IBM นี่เองที่เป็นลูกค้ารายแรกของ Microsoft ที่ซื้อลิขสิทธิ์ MS-DOS ไป และเปลี่ยนชื่อมันให้กลายเป็น PC-DOS และทำการออกวางขายเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของ IBM ในปี 1981

และมันประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น ทำยอดขายได้ดีมาก ๆ เป็นการเริ่มต้นตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแบบจริง ๆ จัง ๆ ครั้งแรกของ IBM ทำให้ชื่อ PC (Personal Computer) นั้นกลายเป็นที่รู้จักไปทั่ว

กลยุทธ์ของ Gates สำหรับการ Deal กับ IBM ครั้งนี้นั้น ถือว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่เป็น Case Study ที่น่าสนใจของวงการธุรกิจโลก เพราะ Microsoft ยื่นข้อเสนอที่ดีมาก ๆ ให้กับ IBM โดยเปิดให้เต็มที่กับ IBM นำลิขสิทธิ์ MS-DOS ไปใช้กี่เครื่องก็ได้ที่ IBM ต้องการขาย

Gates นั้นมองเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่า คือ การสร้าง MS-DOS ให้กลายเป็นระบบปฏิบัติการที่ดีที่สุด เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง UCSD Pascal P-System และ CP/M-86 ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่เสนอขายให้ IBM เช่นเดียวกันในยุคนั้น

Gates ต้องการให้ MS-DOS กลายเป็นระบบปฏิบัติการหลักของ PC และกระตุ้นให้บริษัทเขียน Software รายอื่น ๆ เขียนโปรแกรมโดยใช้พื้นฐานของ MS-DOS ของ Microsoft นั่นเอง

ซึ่งแน่นอนว่าข้อเสนอของ Gates นั้นดีกว่าคู่แข่งอย่างเห็นได้ชัดทำให้ราคา PC ที่มีระบบปฏิบัติการ MS-DOS ราคาถูกกว่าใคร และทำให้ IBM ผลักดัน MS-DOS แบบเต็มที่

เป้าหมายของ Gates และ Microsoft นั้นไม่ได้อยู่ที่รายรับที่ได้จาก IBM แต่จะเป็นกำไรในการขายลิขสิทธิ์ MS-DOS ให้กับบริษัทคอมพิวเตอร์อื่น ๆ ที่ต้องการใช้ MS-DOS เพราะตอนนั้นมันได้กลายเป็นระบบเปิดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ทุกรายสามารถใช้ MS-DOS ได้ทั้งหมด และเมื่อ MS-DOS กลายเป็นมาตรฐาน กำไร ก็หลั่งไหลมาที่ Microsoft แทนนั่นเอง

และแน่นอนว่าหลังจากออกวางจำหน่ายได้ไม่นานดูเหมือน IBM PC มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นมาตรฐานของตลาดในอุตสาหกรรมใหม่นี้ ดูเหมือน IBM จะประสบความสำเร็จแล้วแถมยังเป็นระยะเวลาอันสั้นมาก ๆ ด้วย

IBM ประสบความสำเร็จในการสร้างมารตรฐานคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

แต่หารู้ไม่ว่า คนที่ชนะจริง ๆ ในการสร้างมาตรฐานให้อุตสาหกรรมนี้คือ Microsoft ต่างหากที่ทุกคนต้องใช้ MS-DOS เป็นระบบปฏิบัติการหลัก เหล่าบริษัท Software รายเล็กใหญ่ต่างพัฒนาโปรแกรมขึ้นมาบนพื้นฐานของ MS-DOS ไม่ใช่บนพื้นฐานของ IBM-PC

ไม่นานหลังจากนั้น Software คุณภาพเยี่ยมตัวใหม่ ๆ อย่าง Lotus 1-2-3 โปรแกรมที่ปฏิวัติรูปแบบของการสร้างสเปรดชีทก็ได้รับการพัฒนาขึ้นมาให้รันบนระบบปฏิบัติการของ MS-DOS และตลาด Software การใช้งานนับพัน ๆ โปรแกรม ก็ได้เกิดขึ้นมาใน Ecosystem ของ MS-DOS โดยใช้มาตรฐานทาง Hardware ของ IBM-PC นั่นเอง

ซึ่งแม้ IBM จะสร้างมาตรฐาน PC ขึ้นมาก็จริง แต่เป็นมาตรฐานให้ทุกคนเลียนแบบได้ง่าย และบริษัทอื่นก็สามารถสร้างคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแบบที่ IBM ทำได้เช่นกัน และแน่นอนว่าเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน บริษัทอื่นก็อาจจะมาครองตลาดแทน IBM

และนี่เองเป็นสิ่งที่ IBM พลาดครั้งสำคัญในการดำเนินธุรกิจ พวกเขาพลาดที่ไปร่วมมือกับ Microsoft และ intel ในการสร้าง PC ขึ้นมาให้กลายเป็นมาตรฐานทางด้าน Hardware เพียงเท่านั้น มันคือจุดผิดพลาดครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของยักษ์ใหญ่วงการเทคโนโลยีโลกอย่าง IBM แล้วสถานะอันสั่นคลอนของ IBM ในตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนี้จะยืนหยัดอยู่ได้นานเพียงใด แผนต่อไปของ Gates และ Microsoft คืออะไร? อย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 4 : The Downfall of IBM

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 A Revolution Begins *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://spectrum.ieee.org/image/MjgxMDc1OA.jpeg

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Bill Gates ตอนที่ 2 : The Standard

IBM ถือเป็นยักษ์ใหญ่ที่ปรับตัวไม่ทันตามการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและกระแสของตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่กำลังจะถือกำเนิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าในขณะนั้นสถานการณ์ของ IBM ในตลาดคอมพิวเตอร์องค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งก็ถือว่าเป็นฐานที่แข่งแกร่งมากสำหรับพวกเขา

ปัญหาใหญ่ของคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่เหล่านี้คือ การออกแบบมาเพื่อทำงานเฉพาะด้าน ใช้ระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์การใช้งานของตัวเอง ซึ่งใช้ในธุรกิจขนาดใหญ่ ๆ เพียงเท่านั้นเพราะมีราคาแพงมหาศาลมาก ๆ

ซึ่งต้องใช้ระบบปฏิบัติการที่แตกต่างกันเพื่อเป็นส่วนเชื่อมต่อการทำงานของอุปกรณ์แต่ละชิ้นของคอมพิวเตอร์ให้สามารถทำงานร่วมกันได้ ตลอดจนทำภารกิจอื่น ๆ อีกมากมาย และยังเป็นพื้นฐานของโปรแกรมประยุกต์ต่าง ๆ ในยุคนั้น เช่น ระบบบัญชี , ระบบเงินเดือน , โปรแกรม Word Processing

ซึ่ง IBM นั้นได้สร้างคอมพิวเตอร์ที่มี Segment ยิบย่อยเต็มไปหมด มีราคาที่แตกต่างกัน มีการออกแบบที่แตกต่างกัน บางรุ่นนั้นสร้างขึ้นมาเพื่อคำนวณทางวิทยาศาสตร์ ในขณะที่ในบางรุ่น ทำงานด้านธุรกิจเพียงเท่านั้น

Bill Gates เป็นคนที่มองถึงปัญหานี้ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง เพราะเขาใช้เวลาจำนวนมากในการแปลงซอฟต์แวร์จากคอมพิวเตอร์รุ่นหนึ่งไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์อีกรุ่น เป็นประจำผ่านโปรแกรมภาษา Basic ที่เขาถนัด

แม้ IBM จะทำการปรับสถาปัตยกรรมครั้งใหญ่อย่างการเกิดขึ้นของเครื่องคอมพิวเตอร์ในตระกูล system/360 ที่เริ่มหันมาใช้ระบบปฏิบัติการเดียวกันไม่ว่าเครื่องจะรุ่นใหญ่รุ่นเล็ก และถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามกับ System/360

System/360 กับการเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมครั้งใหญ่ของ IBM

แต่มันได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการ Software โลก เพราะ ในขณะที่ IBM สร้าง System/360 ที่สามารถเข้ากันได้กับเครื่องหลาย ๆ รุ่นนั้น มันก็ได้เกิด การสร้างโปรแกรมเลียนแบบให้สามารถทำงานร่วมกับเครื่อง System/360 ของ IBM ได้นั่นเอง

และกลายเป็นว่าบริษัทหน้าใหม่อย่าง Control , Data , Hitachi , iTel ก็สามารถผลิตเครื่องเมนเฟรมที่ทำงานร่วมกันกับเครื่องของ IBM ได้ และสามารถทำราคาได้ถูกกว่าที่ IBM ทำ

ซึ่งแม้ช่วงเวลาดังกล่าวนั้น Bill Gates ได้ก่อตั้ง Microsoft มาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เขาก็ยังคงศึกษาอยู่ที่ Harvard ยังไม่ได้ลาออกแต่อย่างใด

และเป็นช่วงนี้เองที่เขาได้มาพบกับคู่หูคนสำคัญที่บทบาทกับ Microsoft ในอนาคตอย่าง Steve Ballmer ซึ่งเป็นเพื่อนใหม่ของ Gates ในวิชาเอกคณิตศาสตร์ที่เพิ่งได้รู้จักกันในปีแรกของการเรียนมหาวิทยาลัย

และสุดท้ายทั้งคู่ก็ได้มาพักในห้องเดียวกันที่หอพักในมหาวิทยาลัย Harvard ซึ่งมันเป็นความแตกต่างที่สุดขั้วระหว่าง Gates และ Ballmer เพราะ Ballmer นั้นเป็นชายหนุ่มที่พลังเหลือล้น และเป็นคนเข้าสังคมตัวยง ใช้เวลาในมหาวิทยาลัยอย่างคุ้มค่า เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เต็มที่

Ballmer นั้นเป็นทั้งผู้จัดการทีมฟุตบอล เป็นผู้จัดการฝ่ายโฆษณาของหนังสือพิมพ์ Harvard Crimson ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ประจำของมหาวิทยาลัย Harvard รวมถึงยังเป็น ประธานวารสารวรรณกรรมของมหาวิทยาลัยอีกด้วย ซึ่งมีสิ่งเดียวที่ทั้งคู่เหมือนกันก็คือ เป็นจอมโดดเรียนเหมือนกันทั้งคู่

สำหรับบริษัท Microsoft ของ Gates นั้นตั้งสำนักงานแห่งแรกในเมืองแอลเบอเคอร์กี มลรัฐนิวเม็กซิโก ในปี 1975 สาเหตุที่สำคัญเนื่องมาจากพวกเขาต้องการเข้าใกล้แหล่งผลิตเครื่อง Altair 8800 ซึ่งผลิตโดยบริษัท MITS ซึ่งเป็นบริษัทเล็ก ๆ ที่ผลิตชุดคอมพิวเตอร์ประกอบเอง

ซึ่งรายได้หลักช่วงแรก ๆ ของ Microsoft ก็มาจากการเขียน Software ให้ MITS นี่เอง โดย MITS นั้นจะให้ค่าลิขสิทธิ์ Software กับ Microsoft ที่ขายไปพร้อมกับเครื่อง Altair 8800 ตลอดจนให้พื้นที่บางส่วนในการเป็นสำนักงานกับบริษัทน้องใหม่อย่าง Microsoft

รายได้หลักในช่วงแรกของ Microsoft กับการขาย software ให้ Altair 8800 ของบริษัท MITS

ซึ่ง Model การขายตรงไปยังผู้ผลิต Hardware ถือเป็นส่วนสำคัญมากกับการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของ Microsoft เพราะ การขายตรงไปยังผู้ใช้งานนั้นมันเป็นเรื่องยาก และที่สำคัญยังมีปัญหาในเรื่องลิขสิทธิ์ เพราะมักมีการลักลอบใช้งานจากผู้ใช้งานทั่วไปอยู่ในขณะนั้น

ซึ่งเป้าหลายหลักของ Microsoft ที่ Gates วางไว้นั้นอยู่ที่การเขียน Software ป้อนให้กับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นส่วนใหญ่ โดยจะไม่ไปเข้าร่วมในส่วนของการสร้างหรือขาย Hardware Computer โดย Gates นั้นยึดนโยบายการขายลิขสิทธิ์ให้ใช้ Software ของเขาในราคาที่ต่ำที่สุด และมองถึงปริมาณยอดขายในจำนวนมาก ๆ

ซึ่งกลยุทธ์ของ Gates นั้นได้ผลอย่างยอดเยี่ยม ซึ่งแทบจะกล่าวได้ว่า ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในตลาดเกือบทุกรายในขณะนั้น ซื้อลิขสิทธิ์ภาษา Basic ที่ใช้เขียนโปรแกรมจาก Microsoft แทบจะทั้งสิ้น

ซึ่งแม้ว่า Hardware ของแต่ละบริษัทจะแตกต่างกันเช่นไร แต่สามารถใช้โปรแกรมของ Microsoft ได้อย่างราบรื่น และการใช้งานร่วมกันได้นี้เองที่เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อคอมพิวเตอร์ ที่เหล่าผู้ผลิต Hardware ส่วนใหญ่ต่างโฆษณากันว่า โปรแกรมของ Microsoft นั้นสามารถ ใช้งานกับคอมพิวเตอร์ของพวกเขาได้

และเมื่อถึงปี 1977 บริษัท Apple , Commodore รวมถึง Radio Shack ก็ได้เริ่มเข้าสู่วงการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล โดย Microsoft ก็ได้กลายเป็นผู้สร้างโปรแกรมภาษา Basic ให้กับเครื่องส่วนใหญ่ในขณะนั้นแทบจะทั้งหมด

Steve Jobs ที่ได้นำ Apple เข้าสู่ตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

รวมถึงตลาดอีกแห่งที่สำคัญในเอเชียอย่าง ญี่ปุ่นก็ได้คู่ค้าที่สำคัญไปขยายตลาดในฝั่งเอเชียที่มีความต้องการสูงเป็นอย่างมากในช่วงเวลานั้นเพราะได้เกิดบริษัทขนาดใหญ่ขึ้นมามากมายพร้อม ๆ กับการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในขณะนั้น ทำให้ Microsoft ได้รับ อานิสงส์ไปเต็ม ๆ

และที่สำคัญตอนนี้ ภาษา Basic ของ Microsoft ได้กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของอุตสาหกรรม Software ในขณะนั้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทำให้ Gates ต้องลาออกจาการเรียนที่มหาวิทยาลัย Harvard เพื่อมุ่งมาที่ Microsoft แบบเต็มตัว

และเขาก็ได้ขยายทีมงานกว่าหลายสิบชีวิต เหล่าวิศวกรระดับเทพ โปรแกรมเมอร์มือฉมังมารวมตัวกันที่สำนักงานของ Microsoft พร้อมที่จะพา Microsoft พุ่งทะยานไปข้างหน้า และ Gates ก็ได้ชักชวนให้ Ballmer อดีต Roommate ของเขาที่ Harvard มาช่วยกับขับเคลื่อนธุรกิจ Microsoft แบบเต็มตัว เรียกได้ว่าตอนนี้ Microsoft มีกำลังพลที่พร้อมมาก ๆ ที่จะไปรบในศึกใหญ่

แถมชื่อของ Microsoft ก็ดังกระฉ่อนไปทั่วอเมริกา รวมถึงในญี่ปุ่นเป็นที่เรียบร้อยแล้วอีกด้วย ดูเหมือนการเดินกลยุทธ์ครั้งนี้ของ Gates นั้นจะเห็นผลสำเร็จอย่างรวดเร็วมาก ๆ และตอนนี้ Microsoft นั้นพร้อมจะก้าวขึ้นไปอีกระดับแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นกับ Bill Gates และ Microsoft โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 3 : Deal with The Devil

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 A Revolution Begins *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

References : https://www.channelbiz.es/wp/wp-content/gallery/steve-ballmer/01-ballmer.jpg

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

AI ใหม่ของ IBM กับการเรียนรู้ผ่านความทรงจำ

เมื่ออัลกอริทึม AI เริ่มมีการเรียนรู้ทักษะใหม่ ตัวอย่างการเล่น วิดีโอเกมเช่น StarCraft II  ซึ่งแน่นอนว่ามันดีพอที่จะโค่นล้มผู้เชี่ยวชาญเกมส์ StarCraft II ที่ดีที่สุดที่เป็นมนุษย์ได้ไม่ยากนัก

แต่นั่นเป็นเรื่องจริงถ้าทุกคนเล่นตามกฎเกณฑ์เดียวกัน แต่หากเราเปลี่ยนพารามิเตอร์ของเกม จะทำให้ AI พบว่าตัวเองไม่สามารถปรับตัวได้ทั้งหมด ตัวอย่างเช่น AI ที่เก่งในเกม Pong ไม่สามารถรับมือแม้แต่การเปลี่ยนระยะทางไปเพียงเล็กน้อยระหว่างไม้ตีทั้งสองนั่นเอง

ตอนนี้การวิจัยใหม่ของ IBM ที่จะนำเสนอในการประชุม AI ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา  บริษัท ด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ กล่าวว่าความสามารถใหม่ของ AI ตอนนี้ ทำให้มันสร้างอัลกอริทึมที่สามารถเรียนรู้ได้ทันที โดยใช้ประโยชน์จากสิ่งที่คล้ายกับหน่วยความจำเสมือนเพื่อปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนตั้งแต่เริ่มต้นใหม่เหมือน AI รูปแบบเดิม ๆ ที่เคยมีมา

ตัวอย่างเช่นเมื่อเล่นเกม Flappy Bird อัลกอริทึมสามารถเล่นต่อไปได้แม้ว่าระยะทางระหว่างท่อและสิ่งกีดขวางยังคงเปลี่ยนไป ตามรายงานการวิจัยล่าสุดโดยห้องปฏิบัติการ IBM-Watson AI ซึ่งตัวอย่างที่น่าทึ่งของ ของการปรับตัวเรียนรู้ได้ตามสถานการณ์ของ AI จาก IBM

เป้าหมายสุดท้ายของโครงการนี้ คือ การสร้างปัญญาประดิษฐ์ที่คล้ายมนุษย์มากที่สุด หรือ ทำให้มันเหมือน AI จากนิยายวิทยาศาสตร์นั่นเอง งานวิจัยใหม่นี้ยังไม่ได้เพียงแต่จะทำให้ AI เรียนรู้ในแบบมนุษย์มากขึ้นโดยเลียนแบบความยืดหยุ่นของสมอง และความสามารถในการปรับปรุงฐานความรู้เมื่อกาลเวลาผ่านพ้นไป หรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง

Matt Riemer นักวิทยาศาสตร์ของ IBM อธิบายว่าการวิจัยของทีมของเขาจัดการกับปัญหาของ AI ซึ่งโดยทั่วไปอัลกอริทึม AI จะตกเป็นเหยื่อของสิ่งที่เรียกว่า “catastrophic forgetting”  ซึ่งความหมายคือ AI ลืมการฝึกอบรมก่อนหน้าทั้งหมดทันทีที่พวกเขาได้รับการฝึกฝนเกี่ยวกับงานใหม่ที่เกิดขึ้น

นักวิทยาศาสตร์คนอื่นได้จัดการกับกับเรื่องดังกล่าวเฉกเช่นเดียวกับที่ IBM ทำ โดยทีมหนึ่งจาก DeepMind ของ Google ได้สร้างอัลกอริธึมด้วยวิธีการที่อนุญาตให้ AI เก็บ“ ความทรงจำ” ได้ดีขึ้น ซึ่งงานวิจัยใหม่นี้จัดการปัญหาที่คล้ายกันกับการวิจัย DeepMind แต่จากมุมมองที่ต่างออกไปนั่นเอง

แต่ Riemer เขียนว่าการป้องกันอัลกอริทึมจากการลืมสิ่งที่เคยเรียนรู้มานั้นไม่ดีเท่ากับการสร้าง AI ที่สามารถปรับและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้แบบเดียวกับทักษะของมนุษย์นั่นเอง

ความแตกต่างที่สำคัญคือทีมงานของ IBM พบวิธีการฝึกอบรม AI เพื่อให้ เมื่อพบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นระยะห่างระหว่างท่อในเกม Flappy Bird หรือสิ่งอื่นใด ความรู้ที่มีอยู่และการฝึกอบรมที่มีอยู่ถูกถ่ายโอนไปยังงานใหม่ได้อย่างมาประสิทธิภาพมากที่สุด

ในท้ายที่สุด Riemer เขียนเป้าหมายสูงสุดของ IBM คือการสร้าง AI ที่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เรียนรู้ และปรับตัวโดยไม่จำเป็นต้องมีมนุษย์คอยดูแลและคอยช่วยเหลือไปตลอดทางนั่นเอง

References : 
https://futurism.com