ธนาคารบีบขายประกัน กับผลพวงจากพายุ disruption ของธุรกิจธนาคาร

ต้องบอกว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดในยุคปัจจุบันเลยทีเดียวสำหรับธุรกิจธนาคาร ที่ต่างฝ่ายต่างงัดกลยุทธ์ต่างๆ มากมายเพื่อเข้าสู่โลก digital จากผลพวงที่เกิดขึ้นกับพายุ disruption ที่เกิดขึ้นในธุรกิจนี้

ซึ่งก็ต้องบอกว่าเป็นผลดีกับลูกค้า ที่บริการหลาย ๆ อย่างนั้น เริ่มที่จะไม่ต้องมีค่าธรรมเนียม ซึ่งในอดีตเราเสียค่าธรรมเนียมต่าง ๆ มากมายในธุรกิจธนาคาร ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งรายได้หลักช่องทางนึงของธุรกิจธนาคารเลยก็ว่าได้

ตอนนี้ app ของทุก ๆ ธนาคารแทบจะทำธุรกรรมทุกอย่างได้เกือบ 100% โดยที่เราแทบจะไม่ต้องก้าวเท้าไปยังธนาคารที่เป็นสาขาแบบ physical อีกต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับสภาพของสาขาธนาคาร โดยเฉพาะสาขาที่ไม่ได้อยู่ในห้าง ที่เรียกได้ว่า ตอนนี้คนเข้ามาใช้บริการน้อยกว่าในยุคก่อนหน้านี้เยอะมาก

ผลกระทบต่อพนักงานจากพายุ Digital Disruption

มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่การปรับตัวต่าง ๆ เหล่านี้ของธนาคาร ซึ่งลงทุนไปมหาศาลกับเรื่องของ infrastructure ใหม่ ที่พยายามผลักดันให้ลูกค้ามาใช้งานผ่านแอปให้ได้มากที่สุด เราจะเห็นตามสาขาต่าง ๆ ที่มีพนักงานมาคอยแนะนำให้ลูกค้าหันไปใช้แอปแทนการเข้ามาทำธุรกรรมบางอย่างที่สาขา

ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือการลงทุนเรื่องทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะสาย IT ตอนนี้ มันได้ทำให้ตลาดปั่นป่วนจากการดึงตัวพนักงานเป็นว่าเล่นของกลุ่มธุรกิจธนาคาร ที่ต่างต้องการพนักงานด้านนี้มาขยายธุรกิจด้านเทคโนโลยีของธนาคาร ซึ่งแน่นอนว่าทำให้อาชีพสาย IT โดยเฉพาะ Programmer นั้นมีค่าตัวที่กระโดดสูงขึ้นมาก เพราะแน่นอนว่าเงินเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการดึงตัวพนักงานหัวกะทิเหล่านี้จากอุตสาหกรรมอื่น ๆ

ซึ่งก็สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของธนาคารหลาย ๆ แห่งที่ต่างประกาศตัวว่า พวกเขาไม่ได้ทำแค่ธุรกิจธนาคารอีกต่อไป เป้าหมายของพวกเขาเป็นมากกว่าแอปธนาคาร แต่ต้องการ Data จากทุกภาคส่วน ซึ่งจะเห็นได้จากการเข้าซื้อกิจการหรือการลงทุนในกิจการต่าง ๆ มากมายของธนาคารยักษ์ใหญ่ในตอนนี้

ซึ่งจากข่าวที่เกิดขึ้นกับพนักงานกลุ่มเดิม ๆ ของธนาคารที่อยู่ตามสาขา มันไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ที่ต้องมีการบีบให้ทำงานอย่างอื่นเพิ่มมากขึ้น เช่น การบีบให้ทำยอดจากการขายประกัน

ผมว่าเรื่องนี้มันเกิดขึ้นมาซักระยะหนึ่งแล้ว และคนใกล้ตัวผมเองก็โดนเรื่องนี้กันเยอะมาก ๆ บางครั้งก็อาจจะทำให้ฉุกคิดเหมือนกันว่าการตั้งเป้ายอดประกันสูง ๆ สำหรับธนาคารแล้วพวกเขาทำเพื่อเป้าหมายทางธุรกิจ หรือ ทำเพื่อบีบคนให้ออกไปกันแน่

เพราะจะเห็นได้ว่าตอนนี้เหล่าพนักงานเริ่มลาออกกันละลอกใหญ่ เพราะปัญหาเหล่านี้ที่เกิดขึ้นจากความเครียดความกดดันต่าง ๆ นา ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพจิตของพวกเขาเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับยุคก่อนหน้า

แต่ถ้ามองในมุมของธนาคารพวกเขาก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อปรับโครงสร้างทางธุรกิจใหม่ ให้เทคโนโลยีนำ แทนที่จะใช้มนุษย์ตามสาขาแบบเดิม ๆ เพราะต้นทุนโดยรวมยังไงก็ถูกกว่า การพัฒนาแอปพลิเคชั่น หรือ เทคโนโลยี AI ต่าง ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีสุดล้ำ แน่นอนว่าพวกมันไม่เหนื่อย ไม่บ่น ไม่ร้องขอสวัสดิการเพิ่ม และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีข้อผิดพลาดน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการทำงานของมนุษย์นั่นเองครับผม

Credit Image : https://today.line.me/th/v2/article/DR359vw

สหภาพแรงงาน! ตัวช่วยพนักงาน หรือ ภาระอังหนักอึ้งขององค์กร?

นายจ้างและลูกจ้างนั้น ดูเหมือนจะมีมุมมองเรื่ององค์กรที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในอดีตสหภาพแรงงานนั้น ถือเป็นองค์กรที่สำคัญมาก ๆ ในการเป็นตัวแทนของลูกจ้างเพื่อไปเจรจากับนายจ้างมานานหลายศตวรรษ ซึ่งจุดเริ่มต้นของการเกิดสหภาพแรงงานนั้นก็คงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเลยทีเดียว

การผลิตในยุคเก่านั้น แรงงานเป็นสิ่งสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ นายจ้างค่อนข้างที่จะแคร์ลูกจ้างมาก ๆ มีการปรับสถานที่ทำงาน การให้สวัสดิการต่าง ๆ ที่ดีเลิศ ซึ่งยุคเริ่มต้นนั้น สหภาพแรงงานนั้นจะมีการก่อตั้งในโรงงานเหล็ก โรงงานสิ่งทอ และเหมืองแร่

แต่เมื่อเวลาได้ดำเนินผ่านไป สหภาพแรงงานได้แพร่กระจายไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่นั้นจะเกี่ยวข้องกับ เศรษฐกิจยุคเก่า ตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา และเริ่มลามมาถึง อุตสาหกรรมด้านการขนส่ง สาธารณูปโภค รวมถึงรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคหลัง

แต่ด้วยอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเข้าสู่ยุค Digital Disruption ที่หลายๆ องค์กรนั้นถูก Disruption อย่างหนักจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้การตั้งสหภาพแรงงานแบบดั้งเดิมนั้นทำได้ยากขึ้นมาก ๆ

เราจึงได้เห็นเฉพาะสหภาพแรงงาน ที่เก่าแก่ อย่างในไทย ก็มีหลายองค์กรที่แข็งแกร่งมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น สหภาพแรงงานของการบิน หรือ รัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ของไทยนั้นก็มักจะมีสหภาพแรงงานเหล่านี้ ที่มีอำนาจต่อรองค่อนข้างสูง

ตัวอย่างที่เห็นภาพมาก ๆ คือบรรดาโรงงานการผลิตต่าง ๆ ในประเทศฐานการผลิตใหญ่ของโลกอย่างประเทศจีน ซึ่งมักจะคัดค้านการเกิดขึ้นของสหภาพเหล่านี้ ซึ่งใน Documentary ดังใน Netflix อย่าง American Factory นั้นก็ตีแผ่ภาพดังกล่าวให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ในเรื่องของความพ่ายแพ้ของคนอเมริกา ที่ไม่สามารถที่จะไปผลิตสู้โรงงานจากจีนได้เลย เพราะในสารคดีชุดนี้มันได้ชี้ให้เห็นความแตกต่างหลาย ๆ อย่างระหว่างแรงงานชาวอเมริกาและจีน

มันเป็นความแตกต่างทุก ๆ อย่าง ทั้งประสิทธิภาพ ความคล่องตัว ระเบียบวินัย แทบจะทุก ๆเรื่องนั้น ความสามารถของแรงงานจีนนั้นกินขาดอย่างเห็นได้ชัด แถมยังไม่ต้องมานั่งกังวลเรื่องสหภาพแรงงาน ที่ทางฝั่งอเมริกานั้นพยายามเรียกร้องอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย

ซึ่งแน่นอนว่า อิทธิพลของสหภาพแรงงานนั้นค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการต่อรองค่าจ้าง หรือการจัดการอุปทานด้านแรงงาน ซึ่งมีงานวิจัยที่น่าสนใจที่พบว่า การเจรจาต่อรองผ่านสหภาพแรงงานนั้น นายจ้างจะต้องจ่ายค่าแรงที่สูงกว่าจุดตัดสมดุลปรกติ (จุดตัดของเส้นอุปทานแรงงานและความต้องการแรงงาน)

ต้องเรียกว่าในอดีตนั้น สหภาพแรงงานเหล่านี้ ล้วนมีอิทธิพลอย่างมาก ไมว่าจะเป็นเรื่องการหาแรงงานเข้าสู่บริษัท การกดดันอัตราค่าจ้าง และมีกฏหมายรองรับที่คุ้มครองในระดับหนึ่งของกิจกรรมในสหภาพแรงงานเหล่านี้

ซึ่งอย่างที่กล่าวไปว่า ในเศรษฐกิจยุคเก่านั้น เป็นยุค ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ซึ่งทำให้สหภาพแรงงานเหล่านี้สามารถอยู่ต่อไปได้ และคงอิทธิพลต่อไปได้ นายจ้างก็ไม่ค่อยกล้าที่จะล้มสหภาพแรงงานเหล่านี้ และองค์กรส่วนใหญ่ก็เป็นแบบผูกขาด

แต่ในยุค Disruption อย่างที่เราได้เห็นในปัจจุบัน นั้นการเคลื่อนตัวที่ช้า การไม่สามารถตัดสินใจเชิงธุรกิจได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เนื่องจากเกรงกลัวอิทธิพลของสหภาพแรงงาน ในที่สุดก็ทำให้หลายองค์กรนั้นถึงจุดจบได้เช่นเดียวกัน เพราะมันได้กลายเป็นยุคของปลาเร็วกินปลาช้าไปเสียแล้ว การขับเคลื่อนองค์กรที่ช้า เราก็ได้เห็นถึงสภาพของหลาย ๆ องค์กรที่มีสหภาพแรงงานที่แข็งแกร่ง แต่พวกเขาก็ไม่สามารถแข่งขันได้ และสุดท้ายก็อาจต้องเข้าสู่ภาวะล้มละลายไปในที่สุดนั่นเองครับ

References : https://www.investopedia.com/articles/economics/09/unions-workers.asp https://www.investopedia.com/financial-edge/0113/the-history-of-unions-in-the-united-states.aspx

ประวัติ Reader’s Digest หนังสือขวัญใจนักอ่านทั่วโลก

ในปี 1922, วิลเลียม รอย เดอวิตต์ วอลเลซ (William Roy Dewitt Wallace) ได้ก่อตั้งนิตยสารฉบับหนึ่งตามความใฝ่ฝันของเขา ในขณะที่เขากำลังฟื้นตัวจากบาดแผลจากกระสุนที่ได้รับในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

โดยวอลเลซ มีความคิดที่จะรวบรวมตัวอย่างของบทความที่ชื่นชอบในหลาย ๆ เรื่องจากนิตยสารรายเดือนต่าง ๆ และในบางครั้งก็ทำการกลั่นกรองและนำมาเขียนใหม่และทำการรวมเรื่องน่าสนใจเหล่านี้ให้กลายเป็นนิตยสาร

โดย วอลเลซ นั้นได้ตกผลึกแนวคิดธุรกิจของตัวเองขึ้นมา โดยเขาคิดจะทำนิตยสารที่พร้อมสรรพทุกด้านทุกมุม มีความหลากหลายและเป็นบทความที่อ่านได้ง่าย เข้าถึงผู้คนได้จำนวนมาก

และเขากับภรรยา ไลลา เบลล์ แอชีสัน (Lila Bell Acheson)  ได้ร่วมกันปั่นต้นฉบับ และทำการตั้งสำนักงานใหญ่ของ Reader’s Digest กันที่โรงรถบนถนน Eastview Avenue ในพลีแซนต์วิลล์

และได้ทำการออกฉบับแรกสุดในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1922 โดยปกแรกสุดนั้นได้ทำการตีพิมพ์ออกมาจำนวน 5,000 เล่ม ขายในราคาเล่มละเพียง 25 เซ็นต์ และเพียงฉบับแรกก็ได้รับผลตอบรับอย่างล้นหลามจากเหล่าหนอนหนังสือทั่วประเทศอเมริกา

Reader's Digest ฉบับแรกในปี 1922
Reader’s Digest ฉบับแรกในปี 1922

นับตั้งแต่ก่อตั้ง บริษัท Reader’s Digest  มีจุดยืนอย่างแข็งแกร่งในเรื่องของความเป็นอนุรักษ์นิยม และต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยมุมมองเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองและสังคมผ่านการสะท้อนตัวตนของผู้ก่อตั้งอย่างวอลเลซได้เป็นอย่างดี

ขึ้นสู่จุดสูงสุด

พวกเขาใช้เวลาเพียงแค่ 2 ปี Reader’s Digest ก็สามารถคืนทุนทั้งหมดได้สำเร็จ และชดใช้หนี้สินที่พวกเขาทั้งคู่ได้กู้มาทำหนังสือได้จนหมดสิ้น และในปี 1926 มีผู้สมัครสมาชิกถึง 30,000 ราย ก่อนที่ตัวเลขจะพุ่งขึ้นไปสูงถึง 290,000 รายในปี 1929

โดยหนังสือในฉบับนานาชาติครั้งแรกถูกตีพิมพ์ในสหราชอาณาจักรในปี 1938 เมื่อครบรอบ 40 ปี Reader’s Digest มีฉบับต่างประเทศถึง 40 ฉบับใน 13 ภาษาและยังมีเวอร์ชั่นอักษรเบรลล์ และ ณ จุดหนึ่งมันได้กลายเป็นนิตยสารที่มียอดขายสูงที่สุดในหลาย ๆ ประเทศ เช่น แคนาดา, เม็กซิโก , สเปน , สวีเดน , เปรู และประเทศอื่น ๆ ด้วยยอดขายรวมระหว่างประเทศ กว่า 23 ล้านเล่ม 

เข้าสู่ประเทศไทย

สำหรับคนไทยรู้จักหนังสือ Reader’s Digest ที่แปลเป็นภาษาไทย ในนาม “Reader’s Digest สรรสาระ” ที่เข้ามาบุกตลาดคนไทยเมื่อปี 1995 และเล่มแรกที่ออกวางจำหน่ายเมื่อเดือนเมษายน 19969 ขนถึงปัจจุบันมียอดจำหน่ายต่อเดือนสูงถึง 116,314 ฉบับ 

จุดเริ่มต้นของ Reader’s Digest ในไทย เกิดจากความมั่นใจของบริษัทแม่ที่อเมริกาคาดว่าในอนาคต ตลาดนักอ่านในไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากประสบความสำเร็จในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ หรือญี่ปุ่นมาแล้ว 

ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการบุกตลาดไทย
ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการบุกตลาดไทย

และจากตัวเลขยอดขายที่ทำได้ระดับแสนเล่มภายในระยะไม่ถึง 2 ปี นับว่าประสบความสำเร็จมากทีเดียววในประเทศไทย ซึ่งเป็นการทำตลาดโดยใช้การส่งจดหมายไปตามที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งในจดหมายนั้นจะมีทั้งใบตอบรับสมาชิก ใบชิงโชครางวัลต่างๆ โดยผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกก็สามารถมีสิทธิ์ชิงรางวัลได้ ด้วยวิธีการทำตลาดดังกล่าวในไทยนี้ถือว่ายังใหม่อยู่มากและก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงในประเทศไทย

แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้ต่อกระแส Digital Disruption

กลุ่มนักลงทุนเอกชน บริษัท โฮลดิงส์ แอลแอลซี ที่ซื้อรีดเดอร์ส ไดเจสท์ มาในปี ค.ศ. 2007 ด้วยมูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.8 หมื่นล้านบาท) ก่อให้เกิดหนี้สินราว 800 ล้านดอลลาร์สหัรฐ (ราว 2.4 หมื่นล้านบาท) 

ซึ่งสาเหตุหลักก็มาจากที่ทุกสื่อเจอกัน ก็คือผลมาจากชาวอเมริกาเหนือนั้นได้หันไปบริโภคข่าวสารทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งสุดท้าย เป็นผลให้บริษัทถูกฟ้องล้มละลายในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2007 เนื่องจากขาดทุนในการใช้จ่ายด้านการโฆษณาและมีภาระหนี้สินที่มากขึ้นจากการซื้อกิจการครั้งนั้น

แต่ท้ายที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ ปี  2014 Mike Luckwell นักลงทุนจากอังกฤษก็เข้ามาซื้อกิจการ Reader’s Digest ในสหราชอาณาจักรไปและได้ทำการลงทุนเพิ่มเติม โดยตอนนี้ Reader’s Digest กำลังพยายามปรับตัวให้เข้าสู่โลกออนไลน์ ( https://www.rd.com)อย่างที่เราได้เห็นจนถึงทุกวันนี้นั่นเองครับ

References : 
https://en.wikipedia.org
http://info.gotomanager.com
https://www.mikeluckwell.com
https://stanglibrary.files.wordpress.com/2014/09/rd000.jpg

Bank Disruption กับศัตรูที่แท้จริง

พอดีได้มีโอกาสอ่านบทความในเรื่องเกี่ยวกับการเปิด License ให้กับ LINE ที่เป็น Chat Platform สามารถเข้ามาทำธนาคารอินเตอร์เน็ตอย่างเป็นทางการในไต้หวัน ด้วยฐานผู้ใช้งาน LINE กว่า 21 ล้านคนในไต้หวัน

ซึ่งแน่นอน ว่าในอนาคตประเทศเราก็ต้องมีการปรับตัวให้กับนวัตกรรมรวมถึงบริการทางการเงินใหม่ ๆ เหล่านี้เช่นกัน ซึ่งสิ่งที่ทำให้เหล่าธนาคารไทย กำลัง paranoid แบบเต็มที่ในตอนนี้ ไม่ใช่การแข่งขันจากธนาคารด้วยกันเอง แต่เป็นการแข่งขันจาก Platform อื่น ๆ ที่กำลังรุกล้ำธุรกิจธนาคารเข้ามาเรื่อย ๆ

ไม่ว่าจะเป็น Chat Platform , Social Platform , หรือแม้กระทัง E-Commerce Platform

ซึ่งสุดท้ายใครที่จะชนะศึกนี้ได้ ต้องเป็น ผู้ที่กอบโกย Data ของผู้ใช้งานให้มากที่สุด และมีความละเอียดที่สุด เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์ เป็นพื้นฐานในการทำธุรกิจ Bank ต่อไป

เพราะ พฤติกรรมของผู้ใช้งานใน Platform เหล่านีล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมทางการเงินของลูกค้าแต่ละราย เพื่อไปสร้าง Product ทางการเงินให้ตอบโจทย์ชีวิตของลูกค้าแต่ละคนได้นั่นเอง

สรุป Bank Next Gen สิ่งสำคัญที่สุด น่าจะอยู่ที่ Data ซึ่งแน่นอนว่าให้จับตามองเหล่าผู้บริหารยุคใหม่ ๆ ผลัดใบในยุคต่อไปต้องมาจากสายที่ดูแล Data เหล่านี้นั่นเอง และแน่นอน ว่าต้องเป็นคนสาย Computer Science , Data Scientist ฯลฯ จะมามีบทบาทสำคัญกับวงการการเงินและธนาคารอย่างแน่นอน

Geek Monday EP12 : Digital Disruption by Facebook

ก่อนหน้านี้ facebook ได้ทำลายธุรกิจ สื่อหนังสือพิมพ์ หรือ นิตยสาร ที่ต่างปิดตัวกันถ้วนหน้าหากไม่มีการปรับตัวเข้าสู่ยุค digital และขณะนี้ facebook กำลังเข้าสู่ตลาดที่ใหญ่กว่าเดิมมาก ๆ คือตลาด live TV และ VDO

เดิมนั้นการวัดเรทติ้งต้องอาศัยการวัดโดยประมาณจากองค์กรหลัก ๆ ตัวอย่างเช่น neilsen แต่ต่อไปนั้นกลุ่ม target ของการถ่ายทอดสดจะชัดเจนขึ้น เราสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจนผ่าน facebook และรู้ได้แบบ realtime ว่ามีผู้ชมจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งจะส่งผลต่องบโฆษณาทางทีวีเดิม ก็จะเทเข้ามาสู่ facebook แทนเพราะสามารถวัดกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเที่ยงตรงที่สุด

ซึ่งถือเป็นก้าวใหญ่ที่สำคัญก้าวหนึ่งเลยก็ว่าได้ และกำลังเข้าไปกินเค้กที่ใหญ่กว่ามาก คือตลาดโฆษณาทางทีวี รวมถึงในด้านการเงิน Libra Coin ที่ facebook เพิ่งทำการเปิดตัวนั้น แสดงให้เห็นว่า Facebook กำลังเข้าสู่วงการการเงิน ที่เป็นตลาดใหญ่มหาศาลเช่น


การขับเคลื่อนธุรกิจของ facebook ในด้านต่าง ๆ  ถือว่าสำคัญต่ออนาคตของ facebook เป็นอย่างมาก และเราอาจจะได้เห็น facebook ล้มยักษ์ใหญ่อย่าง google ได้ในเร็ว ๆ วันนี้ก็อาจเป็นไปได้ มาฟังเรื่องราวของการ Disruption ของ Facebook กันผ่าน EP ได้เลยครับ

ฟังผ่าน Podbean : 
https://tharadhol.podbean.com/e/geek-monday-ep12-digital-disruption-by-facebook/

ฟังผ่าน Spotify : https://open.spotify.com/episode/39btHhqggqi5IpWYpkvTIX?si=OoHmrbTUT6G1A0lEm_XIXQ

ฟังผ่าน Youtube :
https://youtu.be/EvH8vxZpBX4

*** ผมพูดผิดตรงหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ความจริงจะกล่าวถึง The Nation ครับ ต้องขออภัยด้วย ***