จากโควิดสู่มะเร็ง กับความหวังครั้งใหม่ของมวลมนุษยชาติที่มีต่อเทคโนโลยี mRNA ของ BioNTech

Uğur Şahin (อูเกอร์ ชาฮิน) ยังคงปั่นจักรยานเข้ามาที่สำนักงานใหญ่ของ BioNTech เหมือนเคย แม้ตอนนี้เขาจะกลายเป็นมหาเศรษฐีคนใหม่ หลังจากช่วยพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ขายดีที่สุดในตอนนี้

แม้ว่าวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA นั้นจะมีการพัฒนาร่วมกับบริษัทยาสัญชาติอเมริกาอย่าง Pfizer แต่ก็เป็นความภาคภูมิใจครั้งสำคัญมาก ๆ ของซาฮิน ที่ได้ช่วยชีวิตคนหลายล้านคนและนำเศรษฐกิจทั่วโลกกลับมามีชีวิตชีวาเหมือนยุคก่อนโควิด-19 อีกครั้ง

นั่นเองที่ทำให้ BioNTech ของ ซาฮิน และภรรยา อุซเล็ม ทูเรซี่ (Ozlem Tureci) ได้รับเงินจำนวนมหาศาลอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ซึ่งในขณะนี้บริษัทของเขามีทรัพย์สินประมาณ 19 พันล้านยูโร โดยคาดว่าจะมีรายรับเพิ่มขึ้นอีกเป็นพันล้านยูโร จากวัคซีนที่ยังมีการจำหน่ายแจกจ่ายไปทั่วทุกมุมโลก

ซาฮิน และ ทูเรซี่ เป็นมหาเศรษฐีที่ไม่เหมือนคนอื่น เงินก้อนใหม่ก้อนนี้เป็นทุนก้อนใหญ่ที่สำคัญมาก ๆ ต่อภารกิจของเขาในการเติมงบวิจัยให้กับแผนงานด้านมะเร็งวิทยา ความใฝ่ฝันของทั้้งคู่ ก็คือ การที่จะสามารถปรับแต่งยาให้เหมาะกับมะเร็งของผู้ป่วยแต่ละรายได้

ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้เองบริษัทกำลังดำเนินงานไปในทิศทางที่ถูกต้อง สร้างความหวังใหม่ให้กับผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลก โดยการทดลองในระยะเริ่มต้น 2 ครั้งแสดงข้อมูลที่มีแนวโน้มที่ดีมาก ๆ โดยการทดลองหนึ่งเกี่ยวกับมะเร็งตับอ่อน และอีกการทดลองที่มุ่งเป้าไปที่เนื้องอกที่เป็นก้อน ซึ่งรวมถึงมะเร็งรังไข่และอัณฑะ

ซึ่งหากความใฝ่ฝันของ ซาฮิน และ ทูเรซี่ เป็นจริงได้นั้น มันจะพลิกโฉมอุตสาหกรรมยาทั้งหมดไปตลอดกาล

ซาฮิน และ ทูเรซี่ กับความฝันในการสร้างวัคซีนเพื่อต่อสู้โรคมะเร็ง (CR:NU Online)
ซาฮิน และ ทูเรซี่ กับความฝันในการสร้างวัคซีนเพื่อต่อสู้โรคมะเร็ง (CR:NU Online)

หลังจากได้รับเงินจำนวนมหาศาลจากวัคซีนที่ผลิตร่วมกับบริษัทอย่าง Pfizer ทำให้ในปีนี้งบในการวิจัยและพัฒนาของ BioNTech เพิ่มสูงขึ้นสองเท่ากลายเป็น 1.5 พันล้านยูโร

ซาฮิน และ ทูเรซี่ ยังคงเป็นหนึ่งในทีมนักวิจัย ที่ทำงานกับเครื่องสังเคราะห์แม่แบบ DNA ที่ใช้สร้าง messengerRNA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ BioNTech เป็นผู้บุกเบิก

mRNA ทำหน้าที่เป็นชุดคำสั่งสำหรับเซลล์ โดยบอกให้สร้างโปรตีนบางชนิด ซึ่งการตอบสนองต่อโรคระบาดใหญ่ได้รับการพิสูจน์เป็นครั้งแรกว่าเทคโนโลยีนี้สามารถนำมาใช้เพื่อสร้างวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงได้

mRNA ถูกนำมาใช้ในวัคซีนเพื่อช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันรับรู้และต่อสู้กับผู้บุกรุก เช่น Coronavirus Sars CoV-2 ซึ่งในอนาคต BioNTech ต้องการทำในสิ่งเดียวกันนี้เพื่อกระตุ้นการป้องกันของร่างกายเพื่อจัดการกับมะเร็ง

BioNTech ต้องการใช้ mRNA เพื่อจัดการกับโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นปัญหาด้านสุขภาพเรื่องใหญ่ของมวลมนุษยชาติในขณะนี้ โดยทำงานร่วมกับการรักษาอื่น ๆ โดย ซาฮิน เชื่อว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการผสมผสานการรักษาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน รวมถึงการบำบัดด้วยเซลล์ แอนติบอดี และวิธีอื่น ๆ ในการปรับระบบภูมิคุ้มกัน

ต้องบอกว่าก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทอย่าง BioNTech แทบจะไม่ได้เป็นที่รู้จัก ในการทำ IPO เสนอขายหุ้นต่อสาธารณะชนครั้งแรกในปี 2019 BioNTech ระดมทุนได้เพียงแค่ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่สองปีถัดมาได้กลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพที่มีอนาคตสดใสมากที่สุดในยุโรป

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา BioNTech ได้เปิดเผยผลการศึกษาที่รวมเอา mRNA กับการบำบัดด้วย CAR-T-Cell เพื่อตั้งโปรแกรมระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยใหม่

CAR-T คือการรักษาที่ซับซ้อนซึ่งเกี่ยวข้องกับการรวมรวมและปรับเปลี่ยนเซลล์ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเพื่อต่อสู้กับมะเร็ง ซึ่งจนถึงตอนนี้มันได้ผลเฉพาะในมะเร็งเม็ดเลือดเท่านั้น

แต่นักวิทยาศาสตร์ของ BioNTech ได้สร้างตัวกระุต้น mRNA ซึ่งขยายจำนวนเซลล์ภูมิคุ้มกันและปรับปรุงความสามารถในการฆ่าเซลล์มะเร็งอื่นๆ ที่ทำให้มีประโยชน์ต่อการรักษามะเร็งส่วนอื่น ๆ ได้กว้างมาก

กลยุทธ์ของ BioNTech คือการลงทุนในเทคโนโลยีต่าง ๆ มากมายในคราวเดียวกัน ซาฮิน ได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับสมาร์ทโฟน ซึ่งจะมีประโยชน์มากขึ้นเมื่อเราค้นพบกับฟังก์ชันมากมายที่มันสามารททำได้มากกว่าเป็นแค่โทรศัพท์

“คุณเข้าใจดีว่ามันไม่ใช่แค่สมาร์ทโฟน แต่มันเป็นเครื่องคิดเลข มันช่วยให้คุณทำอะไรก็ได้” เขากล่าว “ซึ่งจากแพลตฟอร์มอันทรงพลังที่เรากำลังพัฒนา เราเชื่อว่าเราจะสามารถให้บริการโซลูชั่นที่แตกต่างกันมากมายสำหรับโรคต่าง ๆ ได้”

BioNTech มองว่าบริษัทของพวกเขาเปรียบดั่งวิศวกรของระบบภูมิคุ้มกัน นอกเหนือจากโรคมะเร็งและโรคติดเชื้อ ซึ่งบริษัทยังร่วมมือกับ Pfizer ในด้านวัคซีนอย่างต่อเนื่อง

บริษัทยังร่วมมือกับ Pfizer ในด้านวัคซีนอย่างต่อเนื่อง หลังประสบความสำเร็จอย่างสูงกับ COVID-19 (CR:News-Medical)
บริษัทยังร่วมมือกับ Pfizer ในด้านวัคซีนอย่างต่อเนื่อง หลังประสบความสำเร็จอย่างสูงกับ COVID-19 (CR:News-Medical)

พวกเขายังวางแผนที่จะจัดการกับภาวะภูมิต้านทานตนเองและเวชศาสตร์ฟื้นฟู ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูเซลล์ที่เสียหายหรือเป็นโรค โดยรวมแล้ว บริษัทได้ดำเนินการทดสอบระยะเริ่มต้น 19 รายการและโปรแกรมพรีคลินิก 12 โปรแกรม

สำหรับโครงการด้านมะเร็งวิทยาทางคลินิกชั้นสูงสุดของ BioNTech สำหรับวัคซีนมะเร็ง โดยวัคซีนเหล่านี้ไม่ได้ป้องกันผู้รับจากการเป็นมะเร็ง ซึ่งต่างจากวัคซีนทั่วไป แต่ใช้เป็นการรักษาเพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำลายเซลล์ที่กลายพันธุ์

แต่ก็ต้องบอกว่า BioNTech ไม่ได้เป็นบริษัทเดียวที่คิดการณ์ใหญ่ในเรื่องโรคมะเร็ง มีความพยายามในการสร้างวัคซีนหลายครั้งและประสบความล้มเหลวไปก่อนหน้านี้แล้ว

ปัญหาหนึ่งเกิดจากการที่การรักษาถูกนำมาใช้สายเกินไป การรักษาแบบใหม่จะถูกทดลองก่อนในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาตัวก่อน ๆ และมักจะเป็นมะเร็งระในยะท้าย ๆ ซึ่งมันมีโอกาสมากกว่าในการรักษาในมะเร็งระยะแรก ๆ เมื่อระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยแข็งแกร่งขึ้น

ซาฮิน มองว่าบริษัทของเขาสามารถเอาชนะอุปสรรคสำคัญบางอย่างแล้ว และข้อมูลเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าวัคซีนมะเร็ง mRNA สามารถกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งกว่าที่เคยรายงานไว้สำหรับวัคซีนมะเร็งทั่วไปหลายร้อยเท่า

แต่เช่นเดียวกับความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ BioNTech จะเผชิญกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่กว่า นั่นก็คือนวัตกรรมใหม่ของพวกเขากำลังเข้าไปขวางทางธุรกิจยาที่มีมูลค่าและผลประโยชน์จำนวนมหาศาล โดยเฉพาะยาที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคมะเร็ง

และที่สำคัญมันไม่เหมือนกับเคสของวัคซีนโควิด-19 ที่เป็นวาระเร่งด่วนฉุกเฉินของโลกทำให้ลดระยะเวลาในการพัฒนาไปมาก ซึ่งปรกตินั้นจะต้องฝ่าด่านหน่วยงานกำกับดูแลที่มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม ซึ่งต้องมีการใช้เวลาทดลองหลายปี ถึงจะนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุมัติให้ขายหรือใช้งานจริง ซึ่งเมื่อนำมันออกสู่ตลาดจริง เทคโนโลยีนั้นก็จะล้าสมัยไปแล้วนั่นเองครับผม

References :
https://www.ft.com/content/12ef99d4-063a-4a45-ae4d-e8115a9c3bb1
https://www.forbes.com/sites/roberthart/2022/04/11/mrna-cancer-treatment-covid-vaccine-giant-biontech-touts-promising-early-data
https://www.fiercebiotech.com/clinical-data/biontech-touts-early-data-roche-partnered-cancer-combo-hinting-it-could-dent-prostate
https://www.theatlantic.com/ideas/archive/2021/10/mrna-vaccines-cure-cancer-biontech/620383/

Katalin Kariko นักวิทยาศาสตร์ฮีโร่ผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาวัคซีน COVID-19

ด้วยการที่โลกเรานั้นต้องมีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก บนความหวังของมนุษยชาติที่จะเกิดขึ้นจากการระบาดใหญ่ของ COVID-19 แต่น้อยคนจะรู้นักที่จะรู้ว่าเทคโนโลยีหลักอย่าง mRNA เป็นผลงานของนักวิทยาศาสตร์ที่คนแทบไม่รู้จัก แต่ได้ปูทางสำหรับการพัฒนาวัคซีนที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลกเราอยู่ใน ขณะนี้

Katalin Kariko นักชีวเคมีที่เกิดในฮังการี เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเบื้องที่อยู่เบื้องหลัง RNA สารสังเคราะห์ (mRNA) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ Pfizer/BioNTech และ Moderna ใช้ในผลิตวัคซีน COVID-19 

เรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์ผู้ต่อสู้ดิ้นรน อดทน และไม่ยอมเลิกรา

Kariko ใช้เวลาส่วนใหญ่ในอาชีพการงานของเธอในการรับมือกับการถูกปฏิเสธ งานของเธอที่พยายามควบคุมพลังของ mRNA ในการต่อสู้กับโรค ถูกมองว่านอกรีตเกินไปสำหรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล เงินทุนขององค์กร และแม้กระทั่งการสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงานของเธอเอง

Kariko เกิดในปี 1955 เป็นลูกสาวของพ่อค้าเนื้อในเมือง Kisujszallas เล็กๆ ของฮังการี หลงใหลในวิทยาศาสตร์ตั้งแต่อายุยังน้อย Kariko สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย Szeged และทำงานเป็นนักศึกษาดุษฎีบัณฑิตที่ศูนย์วิจัยชีวภาพ 

ในปี 1985 เมื่อโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยไม่มีเงินเหลือ Kariko ได้ย้ายไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาพร้อมกับสามีและลูกสาววัย 2 ขวบของเธอในฐานะนักศึกษาปริญญาเอกที่ Temple University ในฟิลาเดลเฟีย

ในปี 1989 เธอได้รับตำแหน่งระดับล่างในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการวิจัยที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ซึ่งเธอได้ร่วมงานกับ Dr. Elliot Barnathan แพทย์โรคหัวใจ เธอแทบจะไม่ได้รับเงินสนับสนุนเลยด้วยซ้ำ

และเมื่อ Dr. Barnathan ออกจากมหาวิทยาลัยหลังจากรับตำแหน่งในบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Kariko ถูกทิ้งไว้กลางทางโดยแทบจะไม่มีห้องปฏิบัติการหรือการสนับสนุนทางการเงินให้กับเธอเหลือเลยแม้แต่น้อย

Katalin Kariko ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่องานวิจัยที่เธอรักเป็นอย่างมาก (CR:CNN)
Katalin Kariko ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่องานวิจัยที่เธอรักเป็นอย่างมาก (CR:CNN)

โชคดีที่เพื่อนร่วมงานอีกคนเชื่อในตัวเธอ Dr. David Langer ศัลยแพทย์ระบบประสาทที่กระตุ้นให้หัวหน้าแผนกศัลยกรรมประสาทให้โอกาสการวิจัยของ Kariko

โดย  Langer เล่าว่า Kariko ไม่เคยสนใจเรื่องสิทธิบัตรหรือวิธีหาเงินจากการค้นพบครั้งใหม่ซึ่งแตกต่างจากนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ 

ภายในปี 1995 10 ปีหลังจากที่เธอมาถึงสหรัฐอเมริกา Kariko ถูกลดตำแหน่งจากตำแหน่งของเธอที่ UPenn และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง 

แม้เธอจะอยู่บนเส้นทางสู่การเป็นศาสตราจารย์เต็มตัว แต่ไม่มีเงินเข้ามาเพื่อสนับสนุนงานของเธอเกี่ยวกับ mRNA หัวหน้าของเธอจึงไม่เห็นประเด็นที่จะต้องเร่งดำเนินการ

เธอจึงต้องกลับไปเป็นพนักงานระดับล่างของสถาบันวิทยาศาสตร์

“โดยปกติ ณ จุดนั้น ผู้คนมักจะบอกลา และจากไป เพราะมันอยู่ในจุดที่แย่เอามาก ๆ ” Kariko กล่าว

แต่การพบกันครั้งสำคัญในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ที่จุดประกายอาชีพการงานของ Kariko ที่นั่นเธอได้พบกับนักภูมิคุ้มกันวิทยา Dr. Drew Weissman ดีกรีปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยบอสตัน ซึ่งกำลังทำงานเกี่ยวกับวัคซีน HIV

ทั้งคู่เริ่มทำงานร่วมกันและทำการขอเงินทุน แต่โชคก็ไม่ดีนัก 

“เราไม่ได้รับทุนเลย ผู้คนไม่สนใจ mRNA ผู้ที่ตรวจสอบเงินช่วยเหลือกล่าวว่า mRNA จะไม่เป็นวิธีการรักษาที่ดี ดังนั้นอย่าไปทำสิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้” Weissman กล่าว

วารสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำปฏิเสธงานของพวกเขา เมื่อการวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในที่สุด ก็ได้รับความสนใจเพียงเล็กน้อย

“โดยปกติ ณ จุดนั้น ผู้คนมักจะบอกลาและจากไป เพราะมันแย่มาก” Kariko กล่าวในการให้สัมภาษณ์

แต่เธอก็ยังยืนกรานในการเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ 

“จากภายนอก มันดูบ้าๆ บอๆ ต้องดิ้นรนทุกอย่าง แต่ฉันมีความสุขในห้องแล็บ” เธอบอกกับ Business Insider

ในปี 2005 Kariko และ Weissman ได้บรรลุความก้าวหน้าครั้งสำคัญ ทำให้ RNA สังเคราะห์สามารถเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้

งานของพวกเขาได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์หลักสองคน หนึ่งในนั้นคือ Derrick Rossi นักชีววิทยาด้านสเต็มเซลล์ชาวแคนาดา ซึ่งต่อมาจะช่วยหา BioNTech ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในอนาคตของ Moderna และ Pfizer 

Derrick Rossi หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Moderna ผู้พลิกโฉม mRNA
Derrick Rossi หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Moderna ผู้พลิกโฉม mRNA

แม้ตอนแรกเองนั้น Rossi จะไม่มีวัคซีนอยู่ในความคิดในหัวของเขา แต่เมื่อเขาตั้งใจที่จะสร้างสิ่งใหม่ ๆ ในปี 2007 ในฐานะผู้ช่วยศาสตราจารย์คนใหม่ที่ Harvard Medical School

เขาสงสัยว่า RNA ที่ได้รับการดัดแปลงอาจเป็นกุญแจสำคัญในการได้รับสิ่งอื่นที่นักวิจัยต้องการอย่างยิ่งหรือไม่: แหล่งใหม่ของเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อน

ด้วยความสามารถในการเล่นแร่แปรธาตุทางชีวภาพ เซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนสามารถเปลี่ยนเป็นเซลล์ชนิดใดก็ได้ในร่างกาย นั่นทำให้พวกมันมีศักยภาพในการรักษาสภาพอาการวิงเวียนศีรษะ ตั้งแต่โรคพาร์กินสันไปจนถึงอาการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง

Rossi แจ้ง Timothy Springer เพื่อนร่วมงานของเขาอย่างตื่นเต้น ศาสตราจารย์อีกคนที่ Harvard Medical School และผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เมื่อตระหนักถึงศักยภาพทางการค้า Springer จึงติดต่อ Robert Langer นักประดิษฐ์และศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์

ในบ่ายวันหนึ่งของเดือนพฤษภาคมในปี 2010 Rossi และ Springer ได้ไปเยี่ยม Langer ที่ห้องปฏิบัติการของเขาในเคมบริดจ์ สิ่งที่เกิดขึ้นในการประชุมสองชั่วโมงและในวันต่อมาได้กลายเป็นเรื่องในตำนาน

จากงานวิจัยสู่บริษัทแสนล้าน

Langer เป็นปูชนียบุคคลในด้านเทคโนโลยีชีวภาพและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการส่งยา บริษัทยาและอุปกรณ์การแพทย์อย่างน้อย 400 แห่งได้รับใบอนุญาตสิทธิบัตรของเขา 

ผนังสำนักงานของเขาแสดงรางวัลใหญ่ๆ มากมายจาก 250 รางวัล รวมถึงรางวัล Charles Stark Draper Prize ซึ่งถือว่าเทียบเท่ากับรางวัลโนเบลสาขาวิศวกร

ในขณะที่เขาฟัง Rossi อธิบายการใช้ mRNA ที่ดัดแปลงแล้ว Langer เล่าว่าเขาตระหนักว่าศาสตราจารย์หนุ่มได้ค้นพบบางสิ่งที่ใหญ่กว่าวิธีใหม่ในการสร้างเซลล์ต้นกำเนิด 

การปิดบัง mRNA เพื่อให้สามารถเล็ดลอดเข้าไปในเซลล์เพื่อผลิตโปรตีน Langer คิด และอาจช่วยชีวิตคนนับล้านได้

“ผมคิดว่าคุณทำได้ดีกว่านี้มาก” Langer บอกกับ Rossi ซึ่งหมายถึงสเต็มเซลล์ “ผมคิดว่าคุณสามารถสร้างยาใหม่ วัคซีนใหม่ได้ ทุกอย่าง”

Langer แทบจะกลั้นความตื่นเต้นไว้ไม่อยู่เมื่อเขากลับถึงบ้านไปหาภรรยา

“นี่อาจเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์” เขาเล่าให้เธอฟัง แม้ว่าจะยังไม่มีบริษัทใดเลยก็ตาม

ภายในเวลาไม่กี่เดือน Rossi, Langer, Afeyan และนักวิจัยแพทย์อีกคนหนึ่งที่ Harvard ได้ก่อตั้งบริษัท Moderna ซึ่งเป็นคำใหม่ที่รวมกันระหว่าง modified และ RNA

ในตอนนั้น ต้องบอกว่า Rossi ไม่เพียงแต่ยอมรับว่ามันเป็นสิ่งแปลกใหม่จากผลงานของ Kariko แต่ตอนนี้เขาเชื่อว่า Kariko และ Weissman สมควรได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี

Pfizer-BioNTech และ Moderna ใช้เทคนิคเหล่านี้ในการพัฒนาวัคซีน นั่นทำให้ทั้ง Kariko และ Weissman เป็นตัวเต็งที่จะได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี 2021

Dr. Anthony Fauci ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวถึงการวิจัย mRNA ว่า “มันกำลังจะเปลี่ยนไป” “มันกำลังเปลี่ยนไปแล้วสำหรับ COVID-19 แต่ยังรวมถึงวัคซีนอื่นๆ ด้วย แม้กระทั่ง HIV — ผู้คนในพื้นที่ตื่นเต้นกันหมดแล้ว ไข้หวัดใหญ่ มาลาเรีย โลกเราจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง”

เมื่อการทดลองพบว่าวัคซีนโคโรนาไวรัสของ Pfizer-BioNTech นั้นปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนพฤศจิกายน 2020 ปฏิกิริยาแรกของ Kariko คือความรู้สึกของ “การปลดปล่อย” เธอบอกกับ The Daily Telegraph

แม้จะมีชัยชนะนี้หลังจากการต่อสู้อันยาวนานของเธอ Kariko กล่าวว่าเธอกำลังรอการฉีดวัคซีนจำนวนมากเพื่อขจัดภัยคุกคามของไวรัส COVID-19 “เมื่อถึงวันนั้นฉันจะฉลองจริงๆ” เธอบอกกับ CNN

ต้องบอกว่า เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวแรงบันดาลใจสำหรับ Kariko ที่กล้าที่จะแหกกฏทุกอย่าง เพื่อสร้างสิ่งใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนแปลงโลกเราให้ดีขึ้น การต่อสู้ ดิ้นรน ของเธอ ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก ๆ

แต่แน่นอน มันก็เหมือนกับเหล่านักวิทยาศาสตร์ หลาย ๆ คนในอดีตที่หลายคิดว่าพวกเขาเหล่านี้บ้า แต่สุดท้ายความบ้า ความคลั่งไคล้ในการวิจัยของพวกเขาเหล่านี้ มันก็ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์เราไปตลอดกาลนั่นเองครับผม

References : https://www.statnews.com/2020/11/10/the-story-of-mrna-how-a-once-dismissed-idea-became-a-leading-technology-in-the-covid-vaccine-race/
https://en.wikipedia.org/wiki/Katalin_Karik%C3%B3
https://news.cgtn.com/news/2021-05-06/Katalin-Kariko-hero-scientist-behind-COVID-19-vaccines-103791imzuw/index.html