Crash of the Titans จากความพร้อมสู่การพังทลายของ Windows Mobile โดย Microsoft

ต้องบอกว่าความล้มเหลวที่น่าเสียดายที่สุดของ Microsoft ในตลาดมือถือสมาร์ทโฟน ไม่ใช่การซื้อ Nokia แล้วมาสร้าง Windows Phone แต่อย่างใด

แต่ความล้มเหลวที่น่าเสียดายมาก ๆ ของ Microsoft ในธุรกิจนี้นั้นต้องยกให้กับ Windows Mobile ในยุคหนึ่งที่เรียกได้ว่าครองตลาดมือถือสมาร์ทโฟนได้เกือบจะสำเร็จแล้วแท้ๆ แถมยังใกล้เคียงที่จะครอบครองโลกของเราถัดจากยุค PC ไปได้อย่างเฉียดฉิวมาก ๆ ด้วย

Nokia ถือเป็นผู้บุกเบิกตัวจริงของแนวความคิดเกี่ยวกับ Smartphone ซึ่งคือการสร้างโทรศัพท์มือถือ ที่ทำได้มากกว่าแค่การโทรศัพท์ ซึ่ง แน่นอนว่าต้องทำงานได้เหมือนกับคอมพิวเตอร์แบบมือถือ ที่สามารถทำงานด้วยโปรแกรมของตัวเองได้ และใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด เนื่องจากต้องมีการพกพาอยู่ตลอดเวลา

Nokia ได้เริ่มสร้าง ระบบปฏิบัติการของตัวเอง และ สามารถทำให้ มือถือสามารถท่องเว๊บ และจัดการ Email สำหรับเหล่านักธุรกิจได้ ซึ่ง Nokia ได้ผลิตรุ่นแรกที่เป็น Smartphone ออกมาจริง  ๆ ก็คือรุ่น Nokia Communicator ที่ปล่อยออกมาในช่วงปี 1996 และเพียงแค่ปีเดียวเท่านั้น เนื่องจากยังไม่มีใครเข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ ถือว่าเป็นตลาดใหม่ที่ใน ปี 1997 Nokia สามารถขาย Smartphone ไปได้กว่า 80 ล้านเครื่องทั่วโลก เพียงแค่ปีแรกที่ได้ผลิต Smartphone ออกมาเท่านั้น

Nokia Communicator ที่เรียกได้ว่าเป็นบิดาของสมาร์ทโฟนรุ่นแรก ๆ ของโลก (CR:Wikipedia)
Nokia Communicator ที่เรียกได้ว่าเป็นบิดาของสมาร์ทโฟนรุ่นแรก ๆ ของโลก (CR:Wikipedia)

และเพียงไม่นาน Nokia ก็เจอคู่แข่งรายแรก ซึ่งก็คือ Palm ซึ่งเริ่มต้นจากการผลิตคอมพิวเตอร์มือถือก่อน แล้วค่อยทำการใส่ฟังก์ชั่นของการโทรศัพท์เข้าไป ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นคนละแบบกับ Nokia อย่างสิ้นเชิงเลยก็ว่าได้

แต่ปัญหาใหญ่ของ Plam ก็คือ การมีระบบปฏิบัติการที่ค่อนข้างล้าสมัยมาก ส่วนใหญ่จะทำงานได้ดีกับ PDA ที่ไม่มีฟังก์ชั่นการโทรศัพท์มากกว่า เพราะ Palm ถนัดในเรื่องนี้มากกว่านั่นเอง ซึ่งทำให้ ปี 2004 ผู้บริหารของ Palm เริ่มคิดถึงอนาคตว่า Palm คงก้าวต่อไปข้างหน้าไม่ได้ ต้องมีการหา Partner โดยด่วน

ซึ่ง Palm นั้นได้สร้างแนวคิดแรกของเครื่อง PDA ที่เปรียบเสมือคอมพิวเตอร์แบบพกพาขนาดเล็กมากกว่า และด้วยการที่ตลาดของ PDA ที่เริ่มหดตัวลงเรื่อย ๆ โทรศัพท์มือถือต่างเริ่มใส่ Features ต่าง ๆ เช่น ปฏิทิน และ แม้แต่การเช็ค Email เข้าไป มันทำให้อนาคตของ PDA นั้นเริ่มมืดมนลงไปทุกทีด้วยนั่นเอง

Palm x Microsoft

และนี่เองก็เป็นที่มาของการเข้ามาร่วมมือกันระหว่าง Palm และ Microsoft ในปี 2005 ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft นั้นการได้ Palm เข้ามาร่วมมือ ถือเป็นหลักชัยครั้งยิ่งใหญ่ของบริษัท ในการที่จะเป็นผู้กำชัยในตลาดมือถือนั่นเอง

ซึ่ง Microsoft ได้มีการออกระบบปฏิบัติการ Windows Mobile มาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ถือว่ายังไม่สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เนื่องจาก Microsoft นั้นไม่ถนัดได้ตลาดมือถือ หรือ อุปกรณ์พกพา เพราะตัว Windows หลักเองก็ใช้งานกับ PC ที่มีประสิทธิภาพสูงซะเป็นส่วนใหญ่

ซึ่งการร่วมมือกันครั้งนี้ Palm ได้รับการอนุญาติให้มีการปรับแต่ง Interface กับ Features บางอย่างของ Windows Mobile ได้ เช่น การไม่ต้องรับสายที่เข้ามาแทนการส่งข้อความไปหาคนที่โทรเข้า หรือ ฟังก์ชั่นในการจัดการ Voicemail ให้ง่ายขึ้นเป็นต้น

ซึ่งเหล่าผู้บริหารของ Palm นั้นหันมา Focus ใหม่กับ Windows Mobile ของ Microsoft แทนการพัฒนาระบบปฏิบัติการด้วยตัวเองเหมือนเดิม รวมถึงไม่สนใจที่จะใช้ระบบปฏิบัติการ Symbian ที่เป็น Open Source แต่มี Nokia เป็นพี่ใหญ่ในการหนุนหลังอยู่

ซึ่งแน่นอน ถือว่าเป็นการเดินเกมที่ถูกต้องอย่างยิ่งสำหรับทั้ง Palm และ Microsoft ในการร่วมมือกันครั้งนี้ เพราะเป็นการผสมผสานที่ลงตัวระหว่างความถนัดของทั้งสอง เพื่อพัฒนาระบบปฏิบัติการ รวมถึง Features ที่ให้ประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน Windows Mobile นั่นเอง

ซึ่งในขณะนั้น ถือเป็นยุครุ่งเรืองสุดขีดของความร่วมมือระหว่างทั้งสอง เพราะระบบปฏิบัติการ Windows Mobile กลายเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว และ เหล่านักธุรกิจต่าง ๆ นั้นก็เลือกใช้ Windows Mobile เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแตกต่างจากผู้ใช้งานทั่วไปที่จะใช้มือถือของ Nokia 

และที่สำคัญที่สุดก็คือ Ecosystem ของ Windows Mobile นั้นกำลังแจ้งเกิดอย่างสวยงาม เพราะมีเหล่านักพัฒนา Software บนมือถือ มากกว่า 10,000 รายที่กำลังร่วมกันเขียน Application ที่จะใช้กับ Windows Mobile ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้สำหรับระบบปฏิบัติการมือถือที่จะแจ้งเกิดได้ เหมือนกับที่เราเห็นกับ iOS หรือ Android ในปัจจุบัน ที่เมื่อสามารถจูงใจนักพัฒนาได้นั้น ก็สามารถทำให้ ผู้คนหันมาใช้งาน เพราะคนส่วนใหญ่เลือกใช้งานตาม Application ที่มีในระบบปฏิบัติการเป็นหลักนั่นเอง

Palm กับ Microsoft เป็นส่วนผสมที่ลงตัวมาก ๆ ในยุคนั้น (CR:Pen Computing)
Palm กับ Microsoft เป็นส่วนผสมที่ลงตัวมาก ๆ ในยุคนั้น (CR:Pen Computing)

ซึ่ง ณ ปี 2006 Microsoft Windows Mobile นั้นถือได้ว่าอยู่จุดสูงสุดของ Ecosystem ของระบบปฏิบัติการมือถือ กำลังที่จะกลายเป็นระบบปฏิบัติการมือถือที่คนใช้งานทั่วโลกได้ เหมือนที่ Microsoft สามารถทำได้กับ Windows บน PC ซึ่งตอนนั้น ถือได้ว่าได้นำหน้าทั้ง Symbian ของ Nokia หรือน้องใหม่อย่าง RIM ผู้ผลิต Blackberry จากแคนาดา

มันเป็นยุคที่รุ่งเรืองมาก ๆ ของ Windows Phone โดย Microsoft นั้นใช้ Model เดียวกับธุรกิจระบบปฏิบัติการ Windows บน PC ก็คือ การขายสิทธิการใช้งานระบบปฏิบัติการ Windows Mobile นั่นเอง โดยไม่ได้ลงไปเล่นในตลาด Hardware เหมือนเจ้าอื่น ๆ ที่ทำกัน โดยเน้นทำส่วนที่ตัวเองถนัดอย่าง Software มากกว่า

โดยในปี 2006 นั้น Microsoft สามารถขายสิทธิ์การใช้งาน Windows Mobile ไปยังผู้ผลิตมือถือ Brand ต่าง ๆ ได้ถึง 5.9 ล้านชุด  และหลังจากนั้นอีก 1 ปีให้หลัง สามารถทำยอดขายเพิ่มขึ้นได้เป็นสองเท่า โดยสามารถขายได้ 11 ล้านชุด และมันเป็นช่วงขาขึ้นอย่างชัดเจนสำหรับ Microsoft ในตลาดมือถือโลก

และในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เอง ถ้าพูดถึงระบบปฏิบัติการที่ใช้งานง่ายที่สุด ก็คงเป็น Windows Mobile ของ Microsoft เพราะมีการออกแบบมาตั้งแต่ต้นให้มาจัดการรูปแบบ email ของ Microsoft รวมถึงการท่องเว๊บ การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต และแน่นอนว่าทุกคนต่างเห็นตรงกันว่า Microsoft คงสามารถผูกขาดตลาดมือถือให้ได้อีกครั้งหลังจากทำสำเร็จมาแล้วกับ Windows บน PC

เราจะเห็นได้ว่า ช่วงปี 2006-2007 ถือเป็นรอยต่อครั้งสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจมือถือโลก ผู้ที่ดูเหมือนได้เปรียบที่สุด ที่จะกลายเป็นเจ้าตลาดมือถือ ควรจะเป็น Microsoft เพราะตอนนั้น พร้อมทุกอย่าง ทั้งระบบปฏิบัติการ บริการ email ที่อยู่เบื้องหลัง รวมถึงได้จับมือกับ Palm เพื่อช่วยเหลือด้าน Hardware อีกด้วย

รวมถึงเหล่าพัฒนาในขณะนั้น ก็เริ่มเทใจมาที่ Microsoft เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เรียกได้ว่าทุกอย่างพร้อมไปเสียหมดสำหรับ Microsoft อีกเพียงนิดเดียวก็จะถึงเส้นชัยในการกินรวบตลาดแบบที่พวกเขาทำได้บน PC เสียแล้ว

ความฝันที่พังทลายของ Microsoft

แล้วจุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ธุรกิจมือถือ ก็เกิดขึ้นในงาน Macworld ในเมืองซานฟรานซิสโก ช่วงเดือนมกราคม 2007 Steve Jobs ได้ขึ้นกล่าวบนเวทีว่า ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เขาจะเปิดตัวนั้น จะปฏิวัติวงการพลิกโฉมทุกสิ่งทุกอย่างจนไม่เหลือเค้าเดิมอีกต่อไป

ก่อนจะพูดถึง 2 ผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายนี้คือ คอมพิวเตอร์ Macintosh รุ่นแรกซึ่งพลิกโฉมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ทั้งหมด และ iPod รุ่นแรก ซึ่งเปลี่ยนอุตสาหกรรมเพลงไปทั้งหมด ซึ่ง Jobs ได้กล่าวในการเปิดตัว iPhone ว่า

“วันนี้เราจะแนะนำผลิตภัณฑ์ที่พลิกโฉมสินค้าประเภทเดียวกัน 3  อย่าง อย่างแรกคือ iPod แบบจอกว้างที่ควบคุมด้วยการสัมผัส อย่างที่สองคือ โทรศัพท์มือถือที่ปฏิวัติวงการ และอย่างที่สาม คือ อุปกรณ์สื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตที่ฉีกแนวไปจากเดิม และมันไมใช่อุปกรณ์ 3 ชิ้นแยกกัน แต่เป็นอุปกรณ์ชิ้นเดียวที่เราเรียกมันว่า iPhone”

iPhone ผลิตภัณฑ์ที่ปฏิวัติวิถีชีวิตของมนุษย์เราให้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง (CR:New York Post)
Steve Jobs เปิดตัว iPhone ผลิตภัณฑ์ที่ปฏิวัติวิถีชีวิตของมนุษย์เราให้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง (CR:New York Post)

ซึ่งในที่สุด iPhone ผลิตภัณฑ์ที่ปฏิวัติวิถีชีวิตของมนุษย์เราให้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ก็ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ มันเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ Apple ในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในนวัตกรรมชั้นยอดที่สุดนับตั้งแต่โลกเราย่างกรายเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เลยก็ว่าได้ และที่สำคัญมันได้เป็นอาวุธสำคัญที่ทำให้ Apple นั้นพลิกโฉมหน้าบริษัทจากบริษัทเล็ก ๆ ไปสู่บริษัทที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกและทำลายความฝันของ Microsoft ไปอย่างราบคาบในท้ายที่สุดนั่นเองครับผม


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube