Blood Oil ตอนที่ 4 : Vision 2030

ภายในสำนักงานใหญ่ Aramco บนชายฝั่งอ่าวซาอุดิอาระเบีย เหล่าเจ้าหน้าที่อยู่ในอาการหวาดผวา สำเนาก่อนตีพิมพ์ของบทความใน The Economist ของเช้าวันหนึ่งในเดือนมกราคมปี 2016 เป็นข่าวที่ไม่มีใครคาดคิด

โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ได้ตัดสินใจนำ Aramco เข้าสู่การ IPO เสนอขายหุ้นต่อสาธาณชน ซึ่งจะกลายเป็นการเสนอขายหุ้นครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ทางการเงินของโลก

ต้องบอกว่าแม้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ Aramco ที่ได้ให้คำปรึกษากับโมฮัมเหม็ดเกี่ยวกับแผนการกระจายเศรษฐกิจของซาอุดิอาระเบีย แต่พวกเขาก็ไม่เคยแม้แต่จะคิดที่จะขายเครื่องจักรทำเงินของอาณาจักรแห่งนี้

มันไม่ได้เป็นเรื่องง่ายเลยสำหรับบริษัทอย่าง Aramco เพราะเป็นบริษัทที่มีเจ้าของผูกขาดโดยอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย และบริหารงานกันอย่างลึกลับ มีปัญหาสั่งสมอยู่มากมายภายในกระบวนการบริหารของบริษัท

ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงนโยบายประชานิยมตามสไตล์ของการปกครองแบบกึ่งเผด็จการของราชวงศ์อัล ซาอุด Aramco แจกน้ำมันเชื้อเพลงหรือก๊าซธรรมชาติอย่างมากมายให้กับหน่วยงานของรัฐบาล ซึ่งบางครั้งลูกค้าเหล่านี้แทบจะไม่ได้จ่ายเงินเลยด้วยซ้ำ

ในปี 2015 บริษัทไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของซาอุดิอาระเบียรายงานว่ามีหนี้สูงถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยพวกเขารับน้ำมันเชื้อเพลิงจาก Aramco แต่ไม่เคยจ่ายเงินให้กับ Aramco เลยเป็นเวลาสิบห้าปี แน่นอนว่าเชื้อเพลิงฟรีเหล่านี้ทำให้ชาวซาอุดิอาระเบียได้ใช้ไฟฟ้าที่เกือบจะฟรี

แล้วนักลงทุนในตลาดหุ้น จะรู้สึกอย่างไรกับการซื้อบริษัทที่มีผลกำไรไปอุดหนุนประชากรชาวซาอุดิอาระเบียแทนที่จะจ่ายเงินให้กับผู้ถือหุ้น

มีโครงการที่ใช้จ่ายเงินอย่างบ้าคลั่งเพื่อตอบสนองตัณหาของเหล่าราชวงศ์มากมายที่ใช้เงินของ Aramco ก่อนสิ้นพระชนม์ กษัตริย์อับดุลลาห์สั่งให้ Aramco พัฒนาเมืองกีฬา มูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์พร้อมมัสยิด

Aramco สร้างพิพิธภัณฑ์และพื้นที่การแสดง King Abdulaziz Center for World Culture ในทะเลทรายใกล้บ่อน้ำมัน โดยมีการว่าจ้างบริษัทออกแบบจากสวีเดนให้สร้างอาคารที่ดูเหมือนยานอวกาศจากภาพยนตร์ Starwars

King Abdulaziz Center for World Culture ได้รับเงินสนับสนุนจาก Aramco
King Abdulaziz Center for World Culture ได้รับเงินสนับสนุนจาก Aramco (CR:archipanic)

และในช่วงเวลาที่โมฮัมเหม็ดประกาศการเสนอขายหุ้น IPO ของ Aramco นั้น บริษัทได้สร้าง Complex มูลค่า 55 ล้านดอลลาร์เพื่อเป็นที่จัดงานประเพณีของซาอุดิอาระเบียที่เจ้าชายโปรดปราน นั่นก็คือ การประกวดความงามของอูฐประจำปี แน่นอนว่านั่นเป็นสิ่งที่ดีสำหรับราชวงศ์ แต่ไม่ใช่สำหรับผู้ถือหุ้นชาวอเมริกันอย่างแน่นอน

เหล่าเจ้าหน้าที่อาวุโสของ Aramco กังวลใจกับความคิดของโมฮัมเหม็ด ที่ไม่เข้าใจอย่างเต็มที่ว่า Aramco ใช้เงินอย่างบ้าคลั่งไปกับโครงการที่แทบจะไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในทุก ๆ ปี

แต่ต้องบอกว่าการขายส่วนหนึ่งของ Aramco นั้นจะเป็นการละทิ้งวิถีทางเดิม ๆ ของซาอุดิอาระเบีย และจะเป็นก้าวแรกในกลยุทธ์ของโมฮัมเหม็ดในการย้ายออกจากธุรกิจน้ำมัน และทำการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และ สร้างงานใหม่ ๆ รวมถึงสร้างเสรีภาพทางสังคมสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ของประเทศที่กำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

และที่สำคัญเขาก็มีที่ปรึกษาอย่าง McKinsey & Company ที่เป็นบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก โดยในปี 2015 McKinsey Global Institue ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของบริษัท ได้ตีพิมพ์บทความชื่อ “Saudi Arabia Beyond Oil” ซึ่งเป็นแผนการสำหรับประเทศซาอุดิอาระเบียในการคิดค้นเศรษฐกิจของตนเองขึ้นมาใหม่

โดยเป็นแผนในช่วงตั้งแต่ปี 2015-2030 ซึ่ง McKinsey ได้ทำการวิจัยพบว่าซาอุดิอาระเบียสามารถเพิ่ม GDP ได้เป็นสองเท่า และสร้างงานใหม่ได้มากถึงหกล้านตำแหน่ง

และแน่นอนว่าตราประทับจากบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกนี้นี่เอง ที่ทำให้โมฮัมเหม็ดสร้างความน่าเชื่อถือได้ในระดับสากล นั่นทำให้เขาเตรียมพร้อมที่จะประกาศแผนเสนอขายหุ้นในเดือนมกราคมปี 2016 ทันที

สิ่งที่ McKinsey ทำนั้น ได้สร้างความประทับใจให้กับโมฮัมเหม็ดเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งแนวคิดหนึ่งที่เขาชอบจากที่ปรึกษาเหล่านี้ก็คือการสร้างตัวชี้วัดผลการดำเนินงานที่สำคัญ ซึ่งกลายเป็นที่รู้จักกันทั่วทั้งกระทรวงและบริษัทต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลว่าคือ “KPI” ซึ่งแน่นอนว่าโมฮัมเหม็ดจะไม่ตอบสนองต่อกลยุทธ์ใด ๆ ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนด้วยตัวเลข

เหล่าที่ปรึกษาสามารถเปลี่ยนความคิดไอเดียบรรเจิดต่าง ๆ ของโมฮัมเหม็ดให้เป็นแผนด้วยตัวชี้วัดและเกณฑ์มาตรฐานที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะสามารถตอบสนองต่อความต้องการของธนาคารโลก และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ รวมถึงเจ้าหน้าที่หัวโบราณของซาอุดิอาระเบียที่ไม่มีความเชื่อถือในความคิดของโมฮัมเหม็ด

เขาได้จ่ายเงินอีกหลายสิบล้านดอลลาร์ให้กับทั้ง McKinSey และ บริษัท Boston Consulting Group (BCG) เพื่อเขียนรายงานเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ทุกแง่มุม รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปซาอุดิอาระเบียให้มีความทันสมัยในอนาคต

การปฏิรูประบบราชการก็เป็นสิ่งสำคัญ โมฮัมเหม็ดเริ่มหันมาใช้ KPI เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการทำงานของรัฐบาล ซี่งเหล่ารัฐมนตรีในกระทรวงต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตาม และมีการทบทวนตัวเลขเป็นระยะ ๆ หากทำไม่สำเร็จก็จะเสี่ยงต่อการถูกไล่ออกในทันที

อีกสิ่งที่สำคัญคือเรื่องการคอร์รัปชั่นที่โมฮัมเหม็ดเองได้เข้ามาปฏิรูป เขาได้เปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงินให้กับรัฐมนตรี ซึ่งในอดีตพวกเขาได้รับเงินประมาณ 10,000 ดอลลาร์ต่อเดือน และมักจะไปรับเงินใต้โต๊ะจากโครงการต่าง ๆ ของรัฐ

แต่ภายใต้การนำของโมฮัมเหม็ดนั้น รัฐมนตรีแต่ละคนจะได้รับเงินหลายล้านดอลลาร์ต่อปี แต่พวกเขาจะต้องปฏิบัติตาม KPI ที่เขากำหนดให้อย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้เขายังตั้งเป้าในการกำจัดวัฒนธรรมที่เกียจคร้าน ที่เดิมเหล่าข้าราชการทำงานไปวัน ๆ เพื่อรอใช้เงินเกษียณแบบสบาย ๆ เขาได้มอบอำนาจให้กับโมฮัมเหม็ด อัล จาดาน ทนายความคู่ใจของเขาเพื่อเข้ามาปฏิรูปกระทรวงการคลัง โดยใช้คนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น

วิธีการทำงานของรัฐบาลก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการประชุมประจำสัปดาห์ของสภาเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติ ซึ่งโมฮัมเหม็ดจะเข้ามาไล่จี้ทุกโครงการด้วยตัวเอง

แทนที่จะเป็นการประชุมแบบขอไปที เหมือนในรัฐบาลยุคก่อน ๆ รัฐมนตรีทุกคนในยุคของโมฮัมเหม็ดต้องนำเสนอวิสัยทัศน์ของตนเองเป็นระยะ ๆ ต้องมีกลยุทธ์ในการบรรลุเป้าหมาย ไม่ใช่เพียงแค่สร้างวิสัยทัศน์ที่เพ้อฝัน

โดยก่อนที่เหล่ารัฐมนตรีจะนำเสนอโครงการใด ๆ นั้น พวกเขาจะต้องผ่านกลุ่มพิเศษภายในสภาที่ถูกจัดตั้งโดยโมฮัมเหม็ดคอยตรวจสอบชั้นนึงก่อนที่นำไปเสนอในการประชุมใหญ่ ซึ่งโมฮัมเหม็ดที่มีอายุ 30 ปี จะถามคำถามแบบไล่จี้ บางครั้งถึงขั้นตะคอกใส่รัฐมนตรีที่มีอายุมากกว่าเขาถึงสองเท่า หากทำงานไม่ได้เรื่อง

ทุกสิ่งทุกอย่างที่โมฮัมเหม็ดทำนั้นก็เพื่อให้บรรลุแผนใหญ่ที่สุดของเขานั่นก็คือ Vision 2030 ซึ่งวิสัยทัศน์ดังกล่าวจะประสบความสำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับเสาหลักที่แข็งแกร่ง โดยซาอุดิอาระเบียจะกลายเป็นหัวใจสำคัญของโลกอาหรับและอิสลาม และจะกลายเป็น ขุมพลังการลงทุนระดับโลก และจะเปลี่ยนประเทศให้กลายเป็นศูนย์กลางระดับโลกที่เชื่อมต่อสามทวีปให้สำเร็จ

และด้วยความคาดหวังในการมีบทบาทในช่วงแรกของการเสนอขายหุ้น IPO ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เหล่านายธนาคารจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปก็มุ่งหน้าไปยังริยาดเพื่อพบกับเจ้าชายแทบจะทันที

Achinta Mangla นายธนาคารลอนดอนของ JP Morgan และ Jonathan Penkin จาก Goldman Sachs Group เป็นนายธนาคาร IPO ระดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งพวกเขาต้องพยายามอย่างเต็มที่เพื่อดึงดูดเจ้าชายให้พวกเขาเป็นคนจัดการเรื่อง IPO

มันไม่ใช่แค่เพียงค่าธรรมเนียมหลายร้อยล้านดอลลาร์สำหรับการทำธุรกรรมเท่านั้น แต่ยังมีธุรกรรมสำหรับต่อเนื่องอีกหลายปีที่พวกเขาสามารถมีส่วนร่วมได้อีกในอนาคต

Larry Summers อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐและประธานมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็เดินทางมาเยี่ยมโมฮัมเหม็ดเช่นเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าคนเหล่านี้ก็มาเพื่อผลประโยชน์เพราะ Summers เองทำงานร่วมกับธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งหนึ่ง ซึ่งต้องการหาข้อตกลงกับ Aramco เช่นเดียวกัน

แม้กระทั่ง โทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร ก็เดินทางมาในฐานะที่ปรึกษาของ JPMorgan Chase เขาใช้เวลาช่วงเย็นในเต็นท์กลางทะเลทรายกับโมฮัมเหม็ดสนทนาเกี่ยวกับปรัชญาการปกครองและอำนาจ แต่แน่นอนว่าเป้าหมายของแบลร์ก็คือ ข้อตกลงกับ Aramco เฉกเช่นเดียวกับทุกคนที่ได้กลิ่นเงินมหาศาลจาก IPO ครั้งประวัติศาสตร์นี้

ซึ่งสุดท้ายนั้น เงินที่ได้จากการทำ IPO ของ Aramco โมฮัมเหม็ดมีแนวคิดที่จะนำมาตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติและลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะธุรกิจด้านเทคโนโลยี

ในช่วงเวลาดังกล่าว โมฮัมเหม็ดก็ได้มีโอกาสไปรู้จักกับ Travis Kalanick ผู้ก่อตั้ง Uber ที่กำลังเป็นสตาร์ทอัพที่กำลังมาแรงในตอนนั้น โมฮัมเหม็ดมองว่า Uber เป็นการลงทุนที่น่าดึงดูด

Uber กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก และอาจมีบทบาทสำคัญในประเทศซาอุดิอาระเบียซึ่งผู้หญิงยังคงถูกห้ามไม่ให้ขับรถ ทำให้โมฮัมเหม็ดได้ลงทุนใน Uber ไปกว่า 3.5 พันล้านดอลลาร์ ทำให้เขากลายเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของบริษัททันที

Travis Kalanick ที่ได้รับเงินลงทุน 3.5 พันล้านดอลลาร์จากโมฮัมเหม็ด
Travis Kalanick ที่ได้รับเงินลงทุน 3.5 พันล้านดอลลาร์จากโมฮัมเหม็ด (CR:marketwatch)

หลังจากนั้นไม่นานโมฮัมเหม็ดก็มุ่งหน้าไปยังซิลิกอน วัลเลย์

โมฮัมเหม็ดได้บุกไปเยี่ยมชมบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook และ Google แต่เป้าหมายของเขาก็คือการลงทุนในบริษัท Startup หน้าใหม่ที่จะเปลี่ยนโลก

แต่เมื่อโมฮัมเหม็ดได้เข้ามาเจอกับบริษัท VC ของอเมริกา กลับพบความจริงที่ว่า บริษัท VC เหล่านี้แทบไม่ต้องการเงินจากโมฮัมเหม็ด เพราะพวกเขามีเงินมากพออยู่แล้วในการลงทุน

VC คนเดียวที่ดูเหมือนจะกระตือรือร้นที่จะพบเจ้าชายอย่างแท้จริง คือ Joe Lonsdale ผู้ร่วมก่อตั้ง Palantir บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับเงินลงทุนจากนักลงทุนระดับตำนานของซิลิกอน วัลเลย์อย่าง Peter Thiel

ในงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ Fairmont Hotel บนยอดเนินเขา Nob Hill ของเมืองซานฟรานซิสโก โมฮัมเหม็ดได้ขึ้นกล่าวบนเวทีว่า “ผมต้องการสะพานเชื่อมระหว่างซาอุดิอาระเบียกับซิลิกอน วัลเลย์ ผมต้องการความช่วยเหลือจากพวกคุณในการปฏิรูปประเทศของเรา”

โมฮัมเหม็ดได้บอกกับกลุ่ม ที่รวมถึงนักลงทุนชื่อดังอย่าง Marc Andreessen , Peter Thiel, John Doerr และ Michael Moritz ซึ่งเป็นบริษัทเจ้าของบริษัทร่วมทุนที่มีประสบการณ์หลายสิบปีในการสนับสนุนสตาร์ทอัพซึ่งได้กลายเป็นบริษัทมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

ต้องบอกว่ารูปแบบการร่วมทุนสามารถที่จะปรับขนาดได้เรื่อย ๆ แน่นอนว่าหากกลุ่ม VC จากซิลิกอน วัลเลย์เหล่านี้ได้รับเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าจากโมฮัมเหม็ด พวกเขาจะทำเงินได้อีกมากมายก่ายกองขนาดไหน

แต่สุดท้ายต้องบอกว่าเหล่า VC จากซิลิกอน วัลเลย์ผู้โอหังนั้นดูเหมือนจะเคลื่อนตัวช้าไปเสียแล้วกับการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลจากโมฮัมเหม็ด แนวคิดของพวกเขาต้องการใช้วิธีเดิมคือลงทุนเพียงเล็กน้อยใน Stage แรก ๆ ของ Startup แต่เป้าหมายของโมฮัมเหม็ดต้องการลงทุนขนาดใหญ่และเขาต้องการที่จะทำแบบทันที

ก่อนที่ VC จากซิลิกอน วัลเลย์จะคิดหาวิธีดึงดูดเงินจากโมฮัมเหม็ดได้ มันก็สายไปเสียแล้ว เพราะพวกเขากำลังจะถูกตัดหน้าจาก นักลงทุนจากแดนตะวันออกไกลผู้ไม่ฝักฝ่ายใด ซึ่งสัญญาว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มจากซิลิกอน วัลเลย์ แล้วนักลงทุนปริศนาผู้นั้นจะเป็นใคร เงินลงทุนจำนวนมหาศาลที่ได้รับจากการ IPO ของ Aramco จะไปตกอยู่ที่ไหน โปรดอย่าพลาดติดตามต่อในตอนหน้านะครับผม

–> อ่านตอนที่ 5 : One Billion Per Minute

ย้อนไปอ่านตั้งแต่ตอนแรก & Credit แหล่งข้อมูลบทความ


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube