AI Apocalypse เทคโนโลยี AI จะนำไปสู่การทำลายล้างอารยธรรมมนุษย์ได้จริงหรือ?

ถ้าได้มีโอกาสชมภาพยนตร์ Oppenheimer นั้นจะมีฉากนึงที่ก่อนการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกในทะเลทรายของนิวเม็กซิโก Enrico Fermi หนึ่งในนักฟิสิกส์ที่ช่วยสร้างมันขึ้นมา ได้เสนอเดิมพันกับ J. Robert Oppenheimer ว่าความร้อนของการระเบิดจะจุดระเบิดนิวเคลียร์ในชั้นบรรยากาศหรือไม่? แล้วถ้าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น เปลวไฟจะทำลายเฉพาะนิวเม็กซิโก หรือ โลกทั้งโลกจะถูกทำลาย?

ในทุกวันนี้ ความกังวลรูปแบบดังกล่าวที่จะกลายเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะวิทยาศาสตร์ทางการทหารเพียงเท่านั้น สงครามนิวเคลียร์ , โรคระบาด , การโจมตีจากดาวเคราะห์น้อยและอื่น ๆ สามารถกวาดล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ส่วนใหญ่หรือทั้งหมดได้เช่นเดียวกัน

แต่ภัยคุกคามวันโลกาวินาศใหม่ล่าสุดคือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมากลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ลงนามในจดหมายเปิดผนึก โดยระบุว่า “การลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จาก AI ควรมีความสำคัญระดับโลกควบคู่ไปกับความเสี่ยงด้านอื่น ๆ เช่น โรคระบาด หรือ สงครามนิวเคลียร์

แล้วมันน่ากังวลแค่ไหน?

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม กลุ่มนักวิจัยซึ่งรวมถึง Ezra Karger นักเศรษฐศาสตร์จาก Federal Reserve Bank of Chicago และ Philip Tetlock นักวิทยาศาสตร์ทางการเมืองแห่งมหาวิทยาลัย Pennsylvania ได้ตีพิมพ์รายงานการทำงานที่พยายามให้ความกระจ่างเกี่ยวกับคำถามดังกล่าว

กลุ่มนักวิจัยดังกล่าวได้ทำการสำรวจจากผู้เชี่ยวชาญสองประเภทที่แตกต่างกัน กลุ่มหนึ่งคือ “ผู้เชี่ยวชาญ (experts)” ทั้งในเรื่องสงครามนิวเคลียร์ อาวุธชีวภาพ AI และอื่น ๆ ส่วนอีกกลุ่มคือ “สุดยอดนักพยากรณ์ (superforecasters)” ที่มีความสามารถในการพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำกว่าผู้เชี่ยวชาญหรือบุคคลทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญในหัวข้อทุกประเภท ตั้งแต่ผลการเลือกตั้งไปจนถึงการปะทุของสงคราม

Dr. Tetlock เป็นคนแรกที่ระบุและตั้งชื่อกลุ่ม “สุดยอดนักพยากรณ์” ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เก่งในการทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเกือบจะทุกด้าน โดยคนเหล่านี้จะมีลักษณะบางอย่างร่วมกัน เช่น การคิดเชิงตัวเลขอย่างระมัดระวัง และการตระหนักรู้เกี่ยวกับอคติที่อาจทำให้พวกเขาหลงผิดได้

Dr. Tetlock เป็นคนแรกที่ระบุและตั้งชื่อกลุ่ม
Dr. Tetlock เป็นคนแรกที่ระบุและตั้งชื่อกลุ่ม “สุดยอดนักพยากรณ์” (CR:The Wall Street Journal)

แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่จะทำนาย แต่กลุ่ม “สุดยอดนักพยากรณ์” ก็มีประวัติการทำนายที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพกว่าผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ตั้งแต่ด้านการเงินไปจนถึงภูมิศาสตร์

เหล่าผู้เชี่ยวชาญได้รวมตัวกันเพื่อทำนายภัยพิบัติสองประเภทว่าอยู่ในระดับ “หายนะ” ซึ่งหมายถึงสิ่งที่คร่าชีวิตมนุษย์ 10% ของทั้งหมด หรือประมาณ 800 ล้านคน และระดับ “การสูญพันธุ์” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่กวาดล้างชีวิตมนุษย์ทุกคนบนโลก

ทั้งสองกลุ่มถูกขอให้ประเมินความเป็นไปได้ของทุกสิ่ง เช่น การสูญพันธุ์ที่เกิดจาก AI หรือ สงครามนิวเคลียร์ ไปจนถึงคำถามเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ความกังวลว่าความก้าวหน้าในความสามารถของ AI อาจกลายเป็นหนทางสู่หายนะในอนาคตได้หรือไม่

และเมื่อให้ประเมินความเสี่ยงจากเทคโนโลยีอย่าง AI กลุ่ม “ผู้เชี่ยวชาญ” ประเมินว่ามีโอกาสที่จะเกิดภัยพิบัติในระดับ “หายนะ” 12% และมีโอกาส 3% ที่จะมีความเสี่ยงถึงขั้นระดับ “การสูญพันธุ์” เมื่อเทียบกับกลุ่ม “สุดยอดนักพยากรณ์” ที่ให้ความน่าจะเป็นที่จะเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ที่ 2.1% และ 0.38% ตามลำดับ

ทั้งสองกลุ่มมองว่า AI เป็นความน่ากังวลใจที่สุด โดย Dan Mayland นักพยากรณ์ระดับสูงที่เข้าร่วมในการศึกษานี้มองว่า เพราะ AI มันสร้างผลกระทบไม่ใช่รูปแบบของกราฟเส้นตรง แต่มันเป็นลักษณะกราฟของ exponential ซึ่งจะมีการเติบโตแบบยกกำลัง

ส่วนเรื่องนิวเคลียร์นั้น จะเห็นได้ว่าโลกเราอยู่ด้วยอาวุธนิวเคลียร์มา 80 ปีแล้ว การที่สงครามนิวเคลียร์ยังไม่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องน่าสนใจในการคาดการณ์หายนะที่จะเกิดขึ้นกับเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น AI ได้เช่นเดียวกัน

เพราะเมื่อโลกได้เห็นถึงศักยภาพของนิวเคลียร์ที่ระเบิดในเมืองฮิโรชิม่า และ นางาซากิ ในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง เหล่าประเทศมหาอำนาจ ทั้งอเมริกาและโซเวียตซึ่งเป็นสองประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้มีความคิดริเริ่มต่าง ๆ เช่น สายด่วน มอสโก-วอชิงตัน รวมถึงข้อตกลงในการตรวจสอบอาวุธของกันและกัน และสนธิสัญญาที่ออกแบบมาเพื่อจำกัดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ ซึ่งล้วนช่วยลดความเสี่ยงของสงครามนิวเคลียร์

สายด่วน มอสโก-วอชิงตัน ที่เกิดขึ้นในยุคสงครามเย็น (CR:Youtube)
สายด่วน มอสโก-วอชิงตัน ที่เกิดขึ้นในยุคสงครามเย็น (CR:Youtube)

การเกิดขึ้นของโมเดล Machine Learning ที่มีประสิทธิภาพนั้นเริ่มต้นจริง ๆ ในช่วงต้นปี 2010 และยังคงพัฒนาอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน แน่นอนว่ามันทำให้มีข้อมูลย้อนหลังน้อยมากในการคาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

กลุ่ม “สุดยอดนักพยากรณ์” และ “ผู้เชี่ยวชาญ” มีมุมมองที่แตกต่างกันมากเกี่ยวกับวิธีที่สังคมจะตอบสนองต่อความเสียหายที่เกิดจากเทคโนโลยี AI โดยกลุ่ม “สุดยอดนักพยากรณ์” คิดว่าความเสียหายดังกล่าวจะกระตุ้นให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและมีการถกเถียงในเรื่องกฎระเบียบอย่างหนักเพื่อแก้ไขปัญหาที่ใหญ่กว่าที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง ในทางตรงกันข้าม กลุ่ม “ผู้เชี่ยวชาญ” คิดว่าแรงจูงใจทางการค้าและปัญหาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์อาจจะมีความน่ากังวลมากกว่า

บทสรุป

แน่นอนว่าปัญหาพื้นฐานของการทำนายเรื่องดังกล่าวนั้นมีเดิมพันสูงเพราะเป็นหายนะในระดับการสูญพันธ์ุของมนุษย์ ซึ่งต่างจากการทำนายเรื่องซ้ำ ๆ เช่น การทำนายการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น หรือ ผลการเลือกตั้ง เราไม่มีทางรู้ว่ากลุ่มไหนมีความแม่นยำใกล้เคียงกว่ากัน

แต่ถ้ากลุ่ม “สุดยอดนักพยากรณ์” เก่งในเรื่องการทำนาย และกลุ่ม “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่มีความรู้เฉพาะในเรื่องหัวข้อดังกล่าวได้ออกมาให้ความเห็นที่ไม่ได้มีความขัดแย้งซึ่งกันและกัน เราก็พอจะคาดหวังจากผลการทำนายของทั้งสองกลุ่มได้ว่าภัยของ AI ที่กำลังมีต่อมนุษย์เราในอนาคต ก็เป็นสิ่งที่ควรจะหันมาสนใจและตระหนักถึงความสำคัญของมันไม่แพ้เรื่องโรคระบาด ภาวะโรคร้อน หรือ ภัยจากสงครามนิวเคลียร์นั่นเองครับผม

References :
https://www.project-syndicate.org/onpoint/the-ai-apocalypse
https://www.economist.com/science-and-technology/2023/07/10/what-are-the-chances-of-an-ai-apocalypse
https://www.standard.co.uk/insider/ai-apocalypse-life-robots-take-over-elon-musk-chatgpt-b1078423.html
https://www.theguardian.com/technology/2023/jul/09/ai-artificial-intelligence-dangers-benefits-cambridge-university


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube