Charles Ponzi ชายที่ชื่อถูกจารึกเป็นตำนาน Ponzi’s Scheme แชร์ลูกโซ่เบอร์แรกของโลก

มาถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 100 ปีแล้วนะครับสำหรับเรื่องราวของแชร์ลูกโซ่หรือ Ponzi Schemes ที่ตำนานได้เริ่มต้นขึ้นกับชายที่มีชื่อว่า Charles Ponzi ที่อยู่ดี ๆ ชื่อของเขาก็ถูกจารึกเป็นตำนานมาจวบจนถึงทุกวันนี้

Charles Ponzi เกิดที่เมือง Lugo ประเทศอิตาลีในปี 1882 เมื่ออายุได้ 21 ปี เขาทำงานเป็นพนักงานไปรษณีย์ จากนั้น Ponzi จึงได้ตัดสินใจออกเดินทางสู่สหรัฐอเมริกาเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเขามาถึงชายฝั่งอเมริกาด้วยเงินเพียงแค่ 2.5 เหรียญสหรัฐเพียงเท่านั้น เรียกได้ว่า มาด้วยเสื่อผืนหมอนใบตัวจริง

เมื่อมาถึงสหรัฐอเมริกา Ponzi ก็ได้ย้ายไปที่ประเทศแคนาดา ซึ่งเขาได้ไปเป็นผู้ช่วยพนักงานธนาคาร Banco Zarossi ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นในเมืองมอนทรีออล

ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกที่เขาได้เห็นอะไรบางอย่างที่เขาไม่เคยรู้ว่ามันมีสิ่งนี้ในโลก นั่นก็คือแชร์ลูกโซ่ แต่ตอนนั้นโลกยังไม่รู้จักสิ่ง ๆ นี้มากนัก

ธนาคาร Banco Zarossi ประสบกับปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรงจากการให้สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์จำนวนหนึ่งที่ประสบปัญหา ด้วยเหตุนี้ผู้ก่อตั้งธนาคาร Luigi Zarossi จึงพยายามคงสถานะธนาคารไว้โดยให้ดอกเบี้ยเงินฝากของลูกค้าจากบัญชีที่เพิ่งเปิดใหม่

อย่างไรก็ตามฉากสุดท้าย มันก็เหมือนฉากที่เราคุ้นเคย เมื่อ Luigi หอบเงินหนีไปที่เม็กซิโกด้วยเงินส่วนใหญ่ของธนาคาร ทำให้เหล่าลูกค้าถูกลอยแพแทบจะทั้งหมด

นั่นทำให้ Ponzi ต้องตกระกำลำบากแทบจะทันที ซึ่งหลังจากโดนชิ่งหนีจาก Luigi ได้ไม่นาน Ponzi ก็พยายามที่จะปลอมเช็คที่เขาจ่ายให้กับตัวเองและถูกจับและจำคุกในแคนาดาเกือบสามปี

เมื่อเขาได้รับการปล่อยตัวในปี 1911 เขากลับมายังสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาได้ไปพัวพันกับแผนการลักลอบขนผู้อพยพชาวอิตาลีที่ผิดกฎหมายข้ามพรมแดน ซึ่งนั่นทำให้เขาถูกจับอีกครั้งและจำคุกสองปี

ในปี 1919 Ponzi ได้ย้ายมาอาศัยอยู่ในเมืองบอสตัน ซึ่งเขาเริ่มคิดแผนการเพื่อทำเงิน ที่นี่นี่เองที่เป็นครั้งแรกที่เขาค้นพบคูปองตอบกลับระหว่างประเทศ (IRC) ที่สร้างโดย United States Postal Service (USPS)

คูปอง IRC ที่สร้างโดย United States Postal Service (USPS)  (CR:postalmuseum.si.edu)
คูปอง IRC ที่สร้างโดย United States Postal Service (USPS) (CR:postalmuseum.si.edu)

ซึ่งเขาได้พบกับ IRC ในจดหมายที่เขาได้รับจากนักข่าวธุรกิจในสเปนที่ซื้อคูปองมูลค่า 30 เซ็นตาโว ในสหรัฐอเมริกา แต่ IRC เดียวกันสามารถแลกเปลี่ยนได้ 5 เซนต์ ซึ่งมากกว่ามูลค่าในสเปนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเงินเปเซตาของสเปนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในขณะนั้น

ด้วยเหตุนี้เอง Ponzi จึงปิ๊งไอเดียในการซื้อคูปองจำนวนมากจากเศรษฐกิจยุโรปที่อ่อนแอและขายคูปองเหล่านี้ในราคาที่สูงขึ้นในสหรัฐฯ ที่จะทำให้เขาได้รับเงินมหาศาล

โครงการดังกล่าวเรียกได้ว่าสามารถสร้างผลกำไรสุทธิได้ถึง 400% ซึ่งการที่สินทรัพย์ถูกซื้อในตลาดหนึ่งและขายในอีกตลาดหนึ่งด้วยราคาที่สูงกว่า มันเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย 100%

อย่างไรก็ตามด้วยความโลภ เขาได้เปลี่ยนธุรกิจของเขาให้กลายเป็นกลโกง โดยตั้งบริษัทหลักทรัพย์ขึ้นในช่วงปี 1920 และชักชวนให้ผู้คนลงทุนในธุรกิจนี้เพื่อแลกกับดอกเบี้ย 50% ภายใน 90 วัน

มันเป็นผลตอบแทนที่หอมหวลเป็นอย่างมาก ความสนใจของนักลงทุนพุ่งกระฉูด Ponzi หลอกนักลงทุนโดยบอกพวกเขาว่า เขามีเครือข่ายตัวแทนที่ซับซ้อนทั่วยุโรปซึ่งสามารถซื้อคูปองจำนวนมากให้กับเขาได้ และเขาสามารถเปลี่ยนคูปองเหล่านี้ให้กลายเป็นเครื่องจักรผลิตเงินในสหรัฐอเมริกาได้อย่างง่ายดาย

ด้วยการนักลงทุนเพิ่มเข้ามาอย่างรวดเร็ว ทำให้เขาไม่สามารถซื้อ IRC ได้ทัน แต่เขากลับเลือกที่จะเก็บเงินบางส่วนของนักลงทุนหน้าใหม่ไว้กับตัวเอง และจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนก่อนหน้า

ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่เขาถูกขอให้เปิดเผยการดำเนินการภายในของเขา เขาเพียงบอกว่าจำเป็นต้องปกปิดข้อมูลดังกล่าวจากสาธารณะเพื่อป้องกันไม่ให้คู่แข่งเลียนแบบ

แม้ Ponzi จะมีความสุขกับความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีผู้คนต่างสงสัยในธุรกิจของเขา ในไม่ใช้มีการตีแผ่จากสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งที่สงสัยในโมเดลธุรกิจของ Ponzi

แต่ Ponzi เลือกที่จะฟ้องนักเขียนเหล่านี้ ซึ่งเขาก็ชนะคดีเสียด้วย เพราะผู้เขียนบทความโจมตีไม่สามารถพิสูจน์ข้อกล่าวหาของเขาได้

แต่เมื่อเริ่มเป็นที่สนใจของสื่อ ทำให้สำนักพิมพ์รายใหญ่อย่าง The Boston Post เริ่มเข้ามาสนใจ ซึ่งนักข่าวที่มีชื่อว่า Clarence Barron ได้ค้นพบว่าตัว Ponzi เองไม่ได้ลงทุนในแผนการที่เขาอ้าง

แต่กลายเป็นว่า Ponzi ได้ไปบอกกับนักข่าวในบางสื่อว่า เขาลงทุนเงินของตัวเองในอสังหาริมทรัพย์ หุ้น และพันธบัตร ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมเขาถึงชอบสินทรัพย์แบบดั้งเดิมเหล่านี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดแค่ 5% ในขณะที่โครงการของเขาให้ผลตอบแทนถึง 50% ทำไมเขาไม่นำเงินไปลงทุนในธุรกิจของตัวเองที่สร้างกำไรได้อย่างมหาศาล

Barron ยังได้คำนวณด้วยว่าปริมาณการลงทุนที่ผ่านโครงการของ Ponzi นั้นจะต้องมีการแลกเปลี่ยนคูปองประมาณ 160 ล้านใบ แต่พบว่ามีคูปองเพียง 27,000 ใบเท่านั้นที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ

การค้นพบของ Barron ส่วนใหญ่รวมอยู่ในบทความหน้าแรกที่จัดทำโดย The Boston Post ในเดือน กรกฎาคม 1920 แต่แม้บทความจะเผยแพร่ออกไปแล้วนักลงทุนจำนวนมากก็ยังเชื่อใจใน Ponzi

Clarence Barron ที่มาตีแผ่เรื่องราวการฉ้อโกงของ Ponzi (CR:internationalbanker.com)
Clarence Barron ที่มาตีแผ่เรื่องราวการฉ้อโกงของ Ponzi (CR:internationalbanker.com)

แต่ Ponzi เริ่มตระหนักว่าแผนการลับลวงพรางของเขานั้น เริ่มที่จะถูแพร่งพรายออกมา เขาได้จ้างนักประชาสัมพันธ์ William McMasters เพื่อสร้างภาพลักษณ์สาธารณะของเขา แต่เมื่อ McMasters รู้ความจริงเขาจึงเลือกที่จะประณาม Ponzi ในสื่อแทน

เดือนต่อมา สำนักงานของ Ponzi ถูกหน่วยงานกำกับดูแลบุกค้น การตรวจสอบธุรกิจของเขาได้เปิดเผยความจริงที่ว่าเขาครอบครองคูปองไปรษณีย์ มูลค่ารวม 61 ดอลลาร์เพียงเท่านั้น

ในที่สุด Ponzi ก็ยอมจำนนต่อเจ้าหน้าที่และถูกต้องข้อหาฉ้อโกงทางไปรษณีย์โดยรัฐบาลกลาง เขาได้รับโทษจำคุกรวม 9 ปีครึ่ง หลังจากได้รับโทษจำคุกทั้งหมด เขาถูกส่งตัวกลับไปอิตาลี และใช้ชีวิตอย่างอนาถา โดยเขาเสียชีวิตในเมืองริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิลในปี 1949

บทสรุป

แม้ว่า Ponzi จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของเขาในท้ายที่สุด แต่มันไม่ได้ทำให้ Pozi Scheme หรือ แชร์ลูกโซ่ หายไปจากสังคมโลกเราเลย

มีโครงการมากมายที่เกิดขึ้น ตัวอย่างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นเคสของ Bernard Madoff ซึ่งในปี 2008 Madoff ถูกตัดสินใว่ามีความผิดฐานฉ้อโกงและถูกตัดสินใจคุก 150 ปี

และข่าวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยเราเอง มีแชร์ลูกโซ่มากมายเกิดขึ้น ผ่านผลิตภัณฑ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น forex เหมืองขุดบิตคอยน์ ฟาร์มเห็ด ทองคำ กุ้ง หรือแม้กระทั่ง voucher การท่องเที่ยว

กฏหมายในไทยหรือในหลาย ๆ ประเทศยังคงล้าหลังมาก ๆ ในการเอาผิดเครือข่ายเหล่านี้ ทำให้คนที่สร้างแชร์ลูกโซ่ไม่ได้สนใจในโทษที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขาในอนาคตเลยด้วยซ้ำ

แม้จะมีคำสั่งศาลให้ติดคุก เป็นพัน เป็นหมื่นปีก็ตาม แต่กฎหมายก็กำหนดโทษสูงสุดไว้เพียงแค่ 20 ปีเพียงเท่านั้น ซึ่งติดจริง ๆ โดยเฉลี่ยจากเคสที่ผ่านมาแค่ 6-7 ปี บางเคสการฟ้องร้องคืนเงินยังไม่เสร็จ แต่นักโทษออกมาจากคุก มาใช้เงินสุขสบายกันแล้ว เพราะยุคนี้ นวัตกรรมการฟอกเงินมันซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทำให้ track ได้ยากมากกว่ายุคก่อน

จะเห็นได้ว่าในอนาคตรูปแบบการปั้นแชร์ลูกโซ่จะง่ายขึ้นและหลอกคนได้แนบเนียนขึ้นโดยอาศัย buzzword โดยเฉพาะคำด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่คนส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้มากนัก

ซึ่งเมื่อเกิดความเสียหายคราวนี้จะ track เรื่องเส้นทางการเงินต่าง ๆ เพื่อยึดทรัพย์มาคืนได้ยากยิ่งขึ้นกว่าเดิมมาก ทำให้การฟอกเงินนั้นล้ำขึ้นไปอีก ซึ่งคงใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่าที่หน่วยงานรัฐของเราจะตามเทคโนโลยีการฟอกเงินเหล่านี้ได้ทันนั่นเองครับผม

References :
https://www.smithsonianmag.com/history/in-ponzi-we-trust-64016168/
https://internationalbanker.com/history-of-financial-crises/charles-ponzi-1920/
https://time.com/5877434/first-ponzi-scheme/


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube