วิกฤตสุขภาพจิต เมื่อ Influencer เป็นตัวเลือกอาชีพสุด Cool อันดับหนึ่งของกลุ่มคนรุ่นใหม่

ในปัจจุบันถ้าใครได้มีโอกาสได้ดูรายการทีวี หลาย ๆ รายการ ที่มีแขกรับเชิญที่เป็นคนทั่วไป แล้วมีคำอธิบายว่าเขาหรือเธอผู้นั้นมีอาชีพอะไร จะสังเกตุเห็นเทรนด์ใหม่ที่มีคนที่ประกอบอาชีพเป็น Influencer โผล่มาเยอะมาก ๆ

จากข้อมูลการสำรวจในปี 2019 พบว่าเด็ก ๆ Generation ใหม่ ๆ นั้น อยากเป็น Youtuber มากกว่านักบินอวกาศเสียอีก มีคนหนุ่มสาวมากถึง 1.3 ล้านคนในสหราชอาณาจักร ต้องการสร้างรายได้ด้วยการสร้างเนื้อหาบนโซเชียลมีเดียของตนเอง

ต้องบอกว่ามันได้กลายเป็นตลาดที่ใหญ่มหึมา ซึ่งมีข้อมูลงานวิจัยที่คาดว่าตลาด Influencer ทั่วโลกนั้นจะมีมูลค่าประมาณ 13.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในปี 2021 ที่ผ่านมา เหล่า Influencer ชั้นนำของวงการเช่น Zoella และ Deliciously Ella สร้างรายได้ประมาณ 4.7 ล้านปอนด์ และ 2.5 ล้านปอนด์ ตามลำดับ และมีผู้คนอีกกว่า 300,000 คน ที่อายุระหว่าง 18-26 ปี ใช้การสร้างคอนเทนต์บนเครือข่ายโซเชียลมีเดียของตนเองเป็นแหล่งรายได้หลัก

Deliciously Ella ที่เป็น Influencer ชั้นนำในสหราชอาณาจักร (CR:Daily Mail)
Deliciously Ella ที่เป็น Influencer ชั้นนำในสหราชอาณาจักร (CR:Daily Mail)

แต่ภายใต้ภาพลักษณ์ที่ดูสวยหรูของเหล่า Influencer นั้น มีปัญหาสังคมต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเหยียดเพศ เชื้อชาติ และปัญหาที่สำคัญในเรื่องสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นที่กำลังส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการยึดอาชีพดังกล่าวเป็นแหล่งช่องทางในการหาเลี้ยงชีพหลัก

เหล่า Influencer ที่ประสบความสำเร็จเป็นคนแรก ๆ มักอ้างว่าใครก็สามารถที่จะประสบความสำเร็จเหมือนอย่างพวกเขาได้ มักมีคำพูดที่ว่า ทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากันในหนึ่งวัน แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น มีเพียงไม่กี่คนที่สามารถหล่อเลี้ยงชีพด้วยด้วยอาชีพนี้

ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดีย Brooke Erin Duffy ได้ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับอาชีพของ blogger ด้านแฟชั่น หรือ ความงาม และกลุ่มนักออกแบบ

เธอได้เปิดเผยให้เห็นช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างกลุ่มคนที่ร่ำรวยในฐานะผู้มีอิทธิพลและคนอื่น ๆ ที่พยายามที่จะผลักดันตัวเองให้กลายเป็น Influencer ซึ่งส่วนใหญ่คนกลุ่มหลังมักจะได้รับงานแบบฟรี ๆ สำหรับงาน PR ขององค์กรต่าง ๆ เสียมากกว่า

รายงานในเดือนเมษายน 2022 คณะกรรมการด้านดิจิทัล วัฒนธรรม สื่อและการกีฬา (DCMS) ของรัฐสภาอังกฤษระบุว่า ความเหลื่อมล้ำในการจ่ายเงินเป็นประเด็นสำคัญในอุตสาหกรรม Influencer

มีช่องว่างในการจ่ายเงินที่มีการแบ่งแยกตามเพศ เชื้อชาติ และความทุพพลภาพ ซึ่งรายงานของ DCMS อ้างถึงการศึกษาในปี 2020 จาก MSL Group ซึ่งเป็นบริษัทประชาสัมพันธ์ระดับโลก ที่พบว่ามีช่องว่างของรายได้ระหว่างกลุ่ม Influencer ผิวขาวและผิวสี ที่แตกต่างกันถึง 35%

รวมถึงเรื่องปัญหาความเสี่ยงของการกำหนดระดับเพดานค่าจ้างก็ได้เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นในอุตสาหกรรม Influencer เนื่องจากไม่มีมาตรฐานอุตสาหกรรมที่ชัดเจนนักและมีความโปร่งใสเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เหล่า Influencer โดยเฉพาะกลุ่มหน้าใหม่มักจะถูกให้ประเมินมูลค่าของตนเอง และคนกลุ่มนี้มักจะประเมินค่าแรงการสร้างสรรค์ของตัวเองต่ำเกินไป และหลายคนก็จบลงด้วยการทำงานแบบฟรี ๆ

เมื่ออัลกอริธึมคือผู้สร้าง Influencer

เหล่า Influencer ส่วนใหญ่มักจะตกเป็นทาสของอัลกอริธึม ที่อยู่เบื้องหลังที่กำหนดว่าโพสต์ใดที่จะแสดงต่อผู้ใช้ แม้จะมีข้อมูลบางส่วนที่แพลตฟอร์มเปิดเผยออกมาว่าอัลกอริธึมของพวกเขาเป็นอย่างไร แต่ท้ายที่สุดแล้วอัลกอริธึมเหล่านี้ก็เป็นตัวกำหนดว่าใครและสิ่งใดที่จะมองเห็นได้ และจะเปลี่ยนแปลงเมื่อใดก็ได้

ซึ่งในการทำงานกับ Influencer บน Instagram ผู้เชี่ยวชาญด้านอัลกอริธึมอย่าง Kelley Cotter ได้เน้นย้ำว่าการแสวงหาอิทธิพลบนเครือข่ายโซเชียลมีเดียแห่งนี้ได้กลายเป็นเกมแห่งการสร้างการมองเห็นได้อย่างไร

เหล่า Influencer ส่วนใหญ่มักจะตกเป็นทาสของอัลกอริธึม (CR:Bonfire Media)
เหล่า Influencer ส่วนใหญ่มักจะตกเป็นทาสของอัลกอริธึม (CR:Bonfire Media)

เหล่า Influencer ต้องโต้ตอบกับแพลตฟอร์มและอัลกอริธึมของแพลตฟอร์ม ในรูปแบบที่พวกเขาหวังว่าจะได้รับการตอบแทนด้วยการเพิ่มการมองเห็น

และแน่นอนว่าภัยคุกคามจากการความไม่แน่นอนของอัลกอริธึมนี่เองที่เป็นสิ่งที่สร้างความไม่มั่นคงอย่างต่อเนื่องสำหรับเหล่า Influencer ซึ่งต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างต่อเนื่องในการโพสต์ลงไปในฟีดของแพลตฟอร์มเพื่อสร้างเนื้อหาที่ดึงดูดใจ

ซึ่งหากพวกเขาทำบางอย่างผิดพลาด พวกเขาอาจจะถูกลงโทษ อาจจะถูกแบน ลดการแสดงผล หรือซ่อนการแสดงผลไม่ให้ใครเห็นได้เลย นั่นทำให้อัลกอริธึมเปรียบดั่งพระเจ้าของเหล่า Influencer ทุกคน ที่มันสามารถที่จะตัดสินชะตาชีวิตของพวกเขาได้แบบทันทีทันใด

วิกฤตสุขภาพจิต

นั่นเองที่ทำให้กลายเป็นปัญหาใหญ่กับสังคม ด้วยสถานะที่ต้องออนไลน์อย่างต่อเนื่องเหมือนสิ่งเสพติดไม่มีผิดเพี้ยน นั่นเองที่นำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพจิต

เหล่า Influencer สามารถออนไลน์ตลอดทั้งวันทั้งคืนเพื่อเชื่อมต่อกับกลุ่มเป้าหมายของเขา และสำหรับหลาย ๆ คนมันแทบไม่มีการแยกระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวอีกต่อไป

และด้วยความกลัวที่จะถูกลดการมองเห็น นั่นทำให้เหล่า Influencer ต้องทำงานกันแบบ overload อยู่ตลอดเวลา และ เผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตตามมา

อัลกอริธึมที่โรคจิตของแพลตฟอร์มยังทำให้เหล่า content creator สร้างเนื้อหาที่มีความสุ่มเสี่ยงจะถูกล่วงละเมิดทางออนไลน์ได้เป็นอย่างมาก ทั้งในแง่รูปลักษณ์หรือสิ่งที่พวกเขาทำ ความ fake ของชีวิตที่ดูสวยหรู ซึ่งบางครั้งจำเป็นต้องถ่ายทอดออกมาแม้สภาพจิตใจจะสูญสิ้นก็ตามที

ทั้งหมดทั้งมวลนำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพจิตและร่างกาย ซึ่งรวมถึงภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล ความผิดปกติต่างๆ ของร่างกาย หรือแม้กระทั่งความผิดปกติของการกิน

บทสรุป

แม้ว่าการเป็นผู้มีอิทธิพลอาจจะดูน่าสนใจสำหรับผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ด้านมืดของอุตสาหกรรมก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีการเปิดเผยให้เห็นออกมา ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะนำไปสู่การปรับปรุงให้ดีขึ้นผ่านกฎระเบียบต่าง ๆ ทั้งการจ้างงาน การต่อสู้กับแพลตฟอร์ม หรือ การลดปัญหาทางสังคมที่อาจจะเกิดขึ้นและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกับอุตสาหกรรมนี้ในอนาคตได้นั่นเองครับผม

References :
https://www.theguardian.com/us-news/2019/jan/08/instagram-influencers-psychology-social-media-anxiety
https://journals.sagepub.com/doi/pdf/10.1177/1461444818815684
https://committees.parliament.uk/publications/22107/documents/164150/default
https://mslgroup.com/whats-new-at-msl/msl-study-reveals-racial-pay-gap-influencer-marketing