3DBio Therapeutics กับเทคโนโลยีการปลูกถ่ายหูที่พิมพ์ 3 มิติด้วยเซลล์มนุษย์ครั้งแรกของโลก

ทีมนักวิทยาศาสตร์ของบริษัท 3DBio Therapeutics ประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายหูด้วยวิธีการพิมพ์ 3 มิติที่ทำจากเซลล์ของผู้ป่วยเองเป็นครั้งแรก

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าดูเหมือนว่าจะเป็นครั้งแรกในด้านวิศวกรรมเนื้อเยื่อและเทคโนโลยีดังกล่าวนี้อาจเป็นผู้นำยุคใหม่ของศาสตร์ในด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู

“มันเป็นเรื่องใหญ่แน่นอน” อดัม ไฟน์เบิร์ก นักวิจัยด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ของคาร์เนกี เมลลอน ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในโครงการนี้ บอกกับ The New York Times (NYT) “มันแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีนี้ไม่ใช่ใช้แค่คำว่า ‘ถ้า’ อีกต่อไป แต่เป็นจะเกิดขึ้น ‘เมื่อใด'”

ผู้ป่วยซึ่งเป็นหญิงอายุ 20 ปี เกิดมาพร้อมกับหูที่มีขนาดเล็กและผิดปกติอันเนื่องมาจากความผิดปกติแต่กำเนิดที่หายากซึ่งเรียกว่าไมโครเทีย

ในการทดลองทางคลินิกเมื่อต้นปีนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้าน 3D ได้พิมพ์ใบหูใหม่ ซึ่งออกแบบมาให้เข้ากับหูอีกข้างหนึ่งของเธอได้อย่างลงตัว และปลูกถ่ายไว้บนศีรษะของเธอ ซึ่งหูจะยังคงเติบโตต่อไป โดยจะสร้างเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนขึ้นมาใหม่

ตามรายงานของ NYT การทดลองนี้ถือเป็นครั้งแรกที่การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อที่มีชีวิตโดยการพิมพ์ 3 มิติไปยังผู้ป่วยที่เป็นมนุษย์

บริษัทใช้เซลล์ปริมาณครึ่งกรัมที่เก็บจากผู้ป่วย และเพิ่มจำนวนเซลล์เป็นพันล้านเซลล์โดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท เครื่องพิมพ์ 3 มิติแบบพิเศษจะใช้ “หมึกชีวภาพ” ที่มีคอลลาเจนเป็นหลักในการพิมพ์ใบหูใหม่ขึ้นมา

หลังจากนั้นคอลลาเจนจะถูกสอดผ่านกระบอกฉีดยาเข้าไปในเครื่องพิมพ์ชีวภาพสามมิติแบบพิเศษ ซึ่งพ่นวัสดุออกจากหัวฉีดบางๆ ที่มีความสม่ำเสมอ และสร้างรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆ ที่เป็นส่วนจำลองของหูที่แข็งแรงของผู้ป่วย กระบวนการพิมพ์ทั้งหมดใช้เวลาน้อยกว่า 10 นาที

ผู้ป่วยที่ได้รับหูใหม่เป็นหนึ่งในคนกลุ่มแรกที่ได้รับการปลูกถ่ายที่ประสบความสำเร็จซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองทางคลินิกที่นำโดย อาร์ตูโล โบนิลา ที่เป็นศัลยแพทย์

อาร์ตูโล โบนิลา ที่เป็นศัลยแพทย์นำการปลูกถ่าย (CR:NYT)
อาร์ตูโล โบนิลา ที่เป็นศัลยแพทย์นำการปลูกถ่าย (CR:NYT)

“ในฐานะแพทย์ที่รักษาเด็กหลายพันคนด้วยไมโครเทียจากทั่วประเทศและทั่วโลก ผมได้รับแรงบันดาลใจจากเทคโนโลยีนี้ อาจมีความหมายสำหรับผู้ป่วยไมโครเทีย และครอบครัวของพวกเขา” โบนิลากล่าวในแถลงการณ์

“การศึกษานี้จะช่วยให้เราสามารถตรวจสอบความปลอดภัยและคุณสมบัติของขั้นตอนใหม่นี้ที่ใช้สำหรับการสร้างหูใหม่โดยใช้เซลล์กระดูกอ่อนของผู้ป่วยเอง” โบนิลากล่าวเสริม

แม้จะผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลกลางแล้ว แต่บริษัทก็ยังคงไม่ได้ให้รายละเอียดทางเทคนิคมากนัก และผลการวิจัยยังไม่ได้รับการตีพิมพ์เนื่องจากการทดลองทางคลินิกกับผู้ป่วยอีก 11 รายยังคงดำเนินการอยู่

ตอนนี้ 3DBio Therapeutics หวังว่าจะใช้เทคนิคเดียวกันกับส่วนอื่นๆ ของร่างกาย รวมถึงหมอนรองกระดูกสันหลัง จมูก และเส้นเอ็นที่หุ้มล้อมรอบข้อไหล่

อย่างไรก็ตาม การพิมพ์ส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น อวัยวะภายใน มีความท้าทายที่ยิ่งใหญ่กว่าหู ซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่เพื่อจุดประสงค์ด้านความสวยงามเป็นหลัก

ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายรายนี้ชื่อ Alexa กล่าวว่าเธอรู้สึกตื่นเต้นเกี่ยวกับหูใหม่นี้ แม้ว่าหูจะยังคลุมด้วยผ้าพันแผลก็ตาม 

ซึ่งเด็กที่มี ไมโครเทีย หลายคนจะถูกเพื่อนล้อเลียน ซึ่งอาจนำไปสู่ความวิตกกังวล ความซึมเศร้า และความเกลียดชัง และสร้างปัญหาระยะยาวให้กับเด็กเหล่านี้

Alexa กล่าวว่าเธอไม่เคยใส่ใจเรื่องนี้มากจนกระทั่งช่วงวัยรุ่น เมื่อเธอเริ่มประหม่ามากขึ้นเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาของเธอ

“คุณใส่ใจภาพลักษณ์ของคุณมากขึ้นเมื่อคุณเป็นวัยรุ่น” เธอกล่าว “บางคนพูดสิ่งที่ไม่ครุ่นคิดออกมา และมันก็เริ่มกวนใจฉัน”

Alexa ก่อนและหลังการปลูกถ่าย (CR:NYT)
Alexa ก่อนและหลังการปลูกถ่าย (CR:NYT)

Alexa กล่าวว่าเธอได้พัฒนาวิธีในการปิดหูข้างขวาของเธอให้สมบูรณ์แบบด้วยการไว้ผมยาวแบบหลวม ๆ และคนส่วนใหญ่จะมองไม่เห็นความผิดปกติของหูเธอ แต่ตอนนี้เธอบอกว่าเธอตั้งหน้าตั้งตารอที่จะสนุกสนานกับผมของเธอ การรวบผมเปียหรือมัดเป็นมวย

“ฉันคิดว่าความภาคภูมิใจในตนเองของฉันจะเพิ่มขึ้น” เธอกล่าว

References :
https://www.nytimes.com/2022/06/02/health/ear-transplant-3d-printer.html
https://www.theverge.com/2022/6/2/23151690/3d-printed-ear-transplant
https://www.smithsonianmag.com/smart-news/surgeons-transplant-3d-printed-ear-made-from-patients-own-cells-180980196/