20 ปีหลัง Dot-Com Crash ฟองสบู่ของเทคโนโลยีกำลังจะแตกอีกครั้งหรือไม่?

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ซิลิกอน วัลเลย์ได้เปลี่ยนบริษัทจากในโรงรถ หอพักนักศึกษา ให้กลายเป็นบริษัทที่มีอำนาจเหนือระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Google , Facebook ,Apple , Microsoft หรือ Amazon

ในปีที่แล้วมีการลงทุนในบริษัทร่วมทุนกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์ทั่วโลก เกือบสิบเท่าของเงินลงทุนเมื่อทศวรรษที่แล้ว เหล่าบริษัท VC (Venture Capital) แผ่ขยายอำนาจทุนไปสู่ดินแดนใหม่ ๆ ดึงดูดผู้ร่วมทุนใหม่ ๆ และกลายเป็นระบบที่มีความสากลมากยิ่งขึ้น

แต่ในตอนนี้ ทั้งปัญหาสงครามในยูเครน การกวาดล้างอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีน และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ได้ทลายเครื่องจักรทางการเงินเหล่านี้ จนดิ่งพสุธา

สิ่งที่บ่งชี้ชัดเจนที่สุดคือดัชนี NASDAQ ซึ่งเน้นไปที่การลงทุนในบริษัทด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก มูลค่าลดลงเกือบ 30% มูลค่าบริษัทที่ลดลงอย่างน่าสยดสยอง จำนวนเงินที่ระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชน (IPO) ลดลงประมาณ 50% ทั่วโลก และมากกว่า 70% ในอเมริกา เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว

การนองเลือดในตลาด IPO กำลังทำร้ายโลกของ VC อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มันทำให้เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ของกลุ่มนักลงทุนปลายทางในตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนส่วนตัว กองทุนบำเน็จบำนาญ หรือ กองทุนรวมต่าง ๆ

นั่นทำให้ในตอนนี้เกิดการชะลอการลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพมากขึ้น มีการลงทุนในเดือนพฤษภาคมมูลค่าเพียง 39 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยรายเดือนในปี 2021 ประมาณ 30% และกว่า 68% ของกองทุน VC กำลังลดพอร์ตการลงทุนสตาร์ทอัพที่ต้องการเงินสดเพื่อใช้ในการเผาเงินอย่างหนัก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง และยังไม่เห็นวี่แววในการทำกำไรในระยะสั้น เช่น การจัดส่งอาหาร ซึ่งดูเหมือนจะอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ที่สุด หลังจากเฟื่องฟูมาก ๆ ในยุคการแพร่ระบาดของ COVID-19

ธุรกิจการจัดส่งอาหารที่การแข่งขันดุเดือดเป็นอย่างมาก (CR:CNBC)
ธุรกิจการจัดส่งอาหารที่การแข่งขันดุเดือดเป็นอย่างมาก (CR:CNBC)

ซึ่งเกิดข้อสงสัยหลายอย่างในธุรกิจแบบนี้ เงินที่ใช้ไปเป็นำจำนวนมากในการลงทุน การทำการตลาด หรือ การโน้มน้าวเหล่า Rider ให้เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์ม แต่แทบไม่ได้กลุ่มลูกค้าที่มีความภักดีกลับมาเท่าไหร่นัก ซึ่งมันเหมือนเป็นการผลาญเงินของ VC ไปเสียเปล่า ๆ

หรือในตลาด crypto ที่ได้สูญเสียมูลค่าไปแล้วประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ จากปีที่แล้วที่ตลาดกำลังพุ่งทะยาน to the moon

เหล่ากองทุน VC ก็เรียนรู้จากอดีตมากขึ้น เริ่มกระชับกระเป๋าเงินของพวกเขาและเปลี่ยนโฟกัสไปที่ผลกำไรและหันเหความสนใจจากการที่ต้องทุ่มเงินแบบบ้าคลั่งเหมือนในอดีต นั่นทำให้เหล่าผู้ก่อตั้งและCEO ต้องคิดหาวิธีมากขึ้นโดยใช้เงินที่น้อยลง

แม้ว่าทั้งหมดนี้ มันจะไม่เลวร้ายเท่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับ Dot-Com Crash ในปี 2000 เพราะในตอนนี้บริษัทสตาร์ทอัพจำนวนมากได้สร้างงบดุลที่มีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น และส่วนใหญ่มีการระดมทุนที่เพียงพอที่จะยืนระยะไปได้อย่างน้อยถึงปี 2025

และความแตกต่างที่สำคัญระหว่างเทคโนโลยีไททันยุคปัจจุบันกับยุค Dot Com รุ่นก่อนก็คือ ขนาด เพราะตอนนี้บริษัทเหล่านี้ได้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่ทำกำไรได้มหาศาลและเป็นบริษัทที่มูลค่าอันดับต้น ๆ ของโลก มีอำนาจอิทธิพลเหนือล้น ผ่านข้อมูลขนาดใหญ่จำนวนมากที่พวกเขาได้ซึมซับมาเป็นเวลาหลายปี

เทคโนโลยีไททันยุคปัจจุบันทีมีอำนาจอิทธิพลเหลือล้น (CR:Business Insider India)
เทคโนโลยีไททันยุคปัจจุบันทีมีอำนาจอิทธิพลเหลือล้น (CR:Business Insider India)

ในยุค Dot-Com Crash นั้นมูลค่ารวมของหุ้นทางอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ราว ๆ 450 พันล้านดอลลาร์ และยอดขายรวมของบริษัทเหล่านี้มีเพียงแค่ 21 พันล้านดอลลาร์เพียงเท่านั้น มันต่างกันอย่างมากโขเมื่อเทียบกับบริษัทอย่าง Facebook , Google หรือ Apple ในยุคปัจจุบัน

แม้หุ้นยอดนิยมในปัจจุบันรวมถึงหุ้นบางตัวจะมีมูลค่าสูงจนเว่อร์เกินไปมาก แต่พวกเขายังทำกำไรได้ในระดับที่บริษัทอินเทอร์เน็ตเมื่อ 20 ปีที่แล้วแแแทบจะจินตนาการไม่ถึง

เฉกเช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรม VC ที่มีความเป็นสถาบันมากยิ่งขึ้น เครือข่าย VC แบบพึ่งพาตนเองจากยุโรปไปยังเอเชียนั้นพึ่งพาเงินทุนของอเมริกาน้อยลงและมีการเชือมโยงกับบริษัททางการเงินและผู้ประกอบการในท้องถิ่นมากขึ้น

ที่สำคัญที่สุด โอกาสในการสร้างนวัตกรรมยังคงมีอยู่อีกมากมาย ตลาดที่มีศักยภาพสำหรับผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีได้ขยายตัวอย่างมหาศาล

เทคโนโลยีกำลังส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของโลกธุรกิจ ตั้งแต่เทคโนโลยีชีวภาพไปจนถึงการตรวจสอบ supplychain และผู้ที่รอดจากวิกฤติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จะส่งผลให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญที่สุดก็ยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่ทรงพลังไปอีกตราบนานเท่านาน

References :
https://finance.yahoo.com/news/looking-lot-dot-com-crash-110000945.html
https://www.theguardian.com/business/2020/sep/12/twenty-years-after-the-dotcom-crash-is-techs-bubble-about-to-burst-again
https://www.economist.com/leaders/2022/06/30/venture-capitals-reckoning
https://www.pymnts.com/connectedeconomy/2022/two-reasons-why-2022s-tech-wreck-doesnt-have-to-mean-a-dotcom-crash-landing/
https://slidebean.com/blog/startups-dot-com-bubble