ภาพลวงตาของ Work From Home เมื่อผลการวิจัยบอกว่ามันไร้ประสิทธิภาพ และขัดขวางความคิดสร้างสรรค์ของพนักงาน

หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มคลี่คลายลงไป รูปแบบการทำงานของคนส่วนใหญ่เริ่มกลับมาเป็นปรกติอีกครั้ง แต่ก็ยังมีหลายองค์กรธุรกิจที่ยังยึดกับรูปแบบการทำงานแบบ Remote หรือ Hybrid ที่มองว่าน่าจะเป็นผลดีต่อเหล่าพนักงานมากที่สุด

ในสหรัฐอเมริกาเอง บริษัทใน WallStreet เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่มีอำนาจมากที่สุดในการเรียกพนักงานกลับมาที่สำนักงาน หรือแม้แต่ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Apple, Google , Meta และอีกมากมายก็เรียกร้องให้พนักงานกลับมาที่สำนักงานอย่างน้อยสามวันต่อสัปดาห์ เพราะมองว่าการทำงานแบบ Remote นั้นอาจดีสำหรับบุคคลทั่วไปแต่ไม่ใช่เลยสำหรับทีมขนาดใหญ่

การศึกษาจำนวนมากที่เริ่มเห็นผลที่ประจักษ์ออกมาในช่วงการระบาดของ COVID-19 นั้นไม่ได้แสดงให้เห็นว่าการทำงานแบบ Remote มันจะมีประสิทธิภาพการทำงานมากกว่าในสำนักงานแต่อย่างใด

เอกสารที่ได้รับการตีพิมพ์ในปี 2020 โดย Natalia Emanuel และ Emma Harrington ซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Harvard ที่วิเคราะห์ประสิทธิภาพของพนักงานคอลเซ็นเตอร์ที่จ้างโดยผู้ค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่ระหว่างเดือนมกราคม 2018 ถึง สิงหาคม 2020

พวกเขาพบว่าพนักงานโดยเฉลี่ยรับสาย 26 สายต่อวัน หรือประมาณหนึ่งครั้งในทุก ๆ 20 นาที แต่เมื่อเปรียบเทียบกับพนักงานที่ทำงานแบบ Remote นั้นพบว่าใช้เวลาเพิ่มขึ้นในการรับสายโดยเฉลี่ย 40 วินาทีในการคุยสายกับลูกค้าที่ร้องเรียน และประสิทธิภาพโดยรวมนั้นลดลงถึง 12%

และบทความฉบับแก้ไขซึ่งตีพิมพ์ในเดือนพฤษภาคมโดย Federal Reserve Bank of New York ให้บทสรุปที่คล้ายคลึงกันประสิทธิภาพการทำงานที่คิดว่าน่าจะเพิ่มขึ้นในการทำงานแบบ Remote นั้นกลับให้ผลตรงกันข้ามที่ลดลง 4% แทน

นักวิจัยเหล่านี้ได้รับข้อมูลที่มีความแม่นยำ รวมถึงตารางการทำงานโดยละเอียด ไม่เพียงแต่พนักงานจะรับสายโทรศัพท์น้อยลงไปเมื่อทำงานจากที่บ้านเพียงเท่านั้น คุณภาพการติดต่อสื่อสารก็ลดลงไปด้วย พวกเขาให้ลูกค้ารอนานขึ้น ต้องโทรกลับไปมากขึ้น ซึ่งบ่งบอกถึงปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขนั่นเอง

การศึกษาอื่น ๆ ก็ได้ข้อสรุปที่คล้ายคลึงกัน David Atkin และ Antoinette Schoar จาก MIT และ Summit Shinde จาก University of California , Los Angeles ได้ทำการสุ่มมอบหมายงานให้พนักงานป้อนข้อมูลในอินเดีย ที่ทำงานจากที่บ้านและในสำนักงาน ผู้ที่ทำงานจากที่บ้านมีประสิทธิภาพการทำงานน้อยกว่าเพื่อนร่วมงานในสำนักงานสูงถึง 18%

Michael Gibbs จาก University of Chicago และ Friederike Mengel และ Christoph Siemroth จาก University of Essex ทั้งคู่ได้พบข้อมูลที่น่าตกใจว่าประสิทธิภาพการทำงานเมื่อเทียบกับในสำนักงานรูปแบบเดิมนั้นลดลงไปถึง 19%

การศึกษาที่เผยแพร่ใน Nature ก็สนับสนุนเรื่องราวดังกล่าวนี้เช่นเดียวกัน เพราะเมื่อเปลี่ยนเป็นการทำงานแบบ Remote พนักงานมักจะมีการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานที่มีความสนิทชิดเชื้อเท่านั้น ส่วนผู้ที่มีเพื่อนน้อยหรือไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กับคนอื่นก็จะถูกทิ้งไว้กลางทาง

การศึกษาจาก Microsoft ก็ให้ผลเช่นเดียวกัน พบว่าการทำงานแบบ Remote นั้นลดขนาดของเครือข่ายความสัมพันธ์ของกลุ่มพนักงานลง และส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมขององค์กร

สำหรับพนักงานแบบ Remote ในเอเชียของบริษัทขนาดใหญ่ การศึกษาพบว่าการประชุมผ่านวีดีโอคอลที่บริษัทส่วนใหญ่ทั่วโลกกำลังปรับใช้นั้นเป็นตัวขัดขวางความคิดสร้างสรรค์ของพนักงาน

ซึ่งผลที่ออกมาของงานวิจัยเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเลย สำหรับใครก็ตามที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทำงานจากที่บ้าน จะพบว่ามันเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่จะทำงานร่วมกันจากที่บ้าน

Ronald Coase นักเศรษฐศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับโครงสร้างของบริษัท พบว่าปัญหาเหล่านี้มันได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการประสานงานระหว่างพนักงานภายในองค์กรที่เพิ่มสูงขึ้น และทำให้องค์กรโดยรวมนั้นเริ่มใหญ่เทอะทะมากขึ้นโดยเปล่าประโยชน์

ตั้งแต่ปี 2020 หลายคนอาจจะเชี่ยวชาญในการใช้ Zoom , Webex ,Teams หรือ Slack แต่ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อาจเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านพ้นไป

ในการศึกษาเกี่ยวกับวิศวกรซอฟต์แวร์ที่ตีพิมพ์ในเดือนเมษายน Drs Emanuel และ Harrington พร้อมด้วย Amanda Pallais จาก Harvard พบว่า การสื่อสารระหว่างเพื่อนร่วมงานลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากมีการย้ายไปทำงานแบบ Remote โดย Drs Atkin, Schoar และ Shinde ได้ทำการบันทึกในเรื่องการเรียนรู้สำหรับคนที่ทำงานจากที่บ้าน พบว่า ผู้ที่อยู่ในสำนักงานนั้นมีการพัฒนาทักษะที่เร็วขึ้นกว่าอย่างชัดเจน

ต้องบอกว่าต้นกำเนิดที่แท้จริงของมุมมองที่ว่าการทำงานแบบ Remote นั้นช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ต้องย้อนกลับไปในการทดลองเกือบหนึ่งทศวรรษก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งรายงานโดย Nicholas Bloom จาก Stanford และทีมงาน

ในปี 2013 แพลตฟอร์มด้านท่องเที่ยวซึ่งปัจจุบันก็คือ Trip.com สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้สูงถึง 13% เมื่อมีการทดลองให้พนักงานทำงานแบบ Remote

แต่ปัญหาสองประการนั้นกลับถูกละเลยและไม่ได้มีการกล่าวถึง ประการแรก มากกว่าสองในสามของประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นนั้นมาจากการที่พนักงานทำงานหลายชั่วโมง และใช้เวลาในการทำงานนานขึ้น ประการที่สอง Trip.com ได้หยุดทดลองการทำงานแบบ Remote ในท้ายที่สุดเนื่องจากพนักงานที่ทำงานแบบ Remote นั้นประสบปัญหาในการไม่ได้รับการโปรโมตเลื่อนตำแหน่งเมื่อเทียบกับพนักงานที่ทำงานในสำนักงาน

ราคาที่ต้องจ่ายแลกกับความสุขที่มากขึ้น

ดูเหมือนว่าสิ่งเดียวที่เป็นประโยชน์ในการทำงานแบบ Remote นั่นก็คือ การทำให้พนักงานมีความสุขมากขึ้น ผู้คนใช้เวลาในการเดินทางน้อยลง งานบางประเภทที่ต้องใช้สมาธิอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน มักจะทำได้ดีจากที่บ้านมากกว่าในสำนักงานที่เปิดโล่งและเต็มไปด้วยความวุ่นวาย

แต่การสำรวจหลายครั้งที่ออกมาพบว่า เหล่าพนักงานยินดีที่จะยอมลดค่าจ้างสำหรับทางเลือกในการทำงานจากที่บ้าน ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ดีสำหรับองค์กรในบางแง่มุมที่อาจช่วยลดต้นทุนได้

แน่นอนว่าอนาคตของการทำงานก็ยังคงเป็นรูปแบบ hybrid อย่างไรก็ตามความสมดุลของสัปดาห์การทำงานก็มีแนวโน้มที่จะไปอยู่ที่สำนักงานมากกว่าอยู่ที่บ้าน เพราะสุดท้ายแล้วประสิทธิภาพการทำงานที่ดีกว่าก็ขึ้นอยู่กับว่าจะทำงานในสำนักงานจริง ๆ มากแค่ไหนนั่นเองครับผม

References :
https://www.economist.com/finance-and-economics/2023/06/28/the-working-from-home-delusion-fades
https://www.inc.com/minda-zetlin/malcolm-gladwell-criticizes-remote-work-engagement-podcast.html
https://finance.yahoo.com/news/remote-good-individuals-bad-teams-153915958.html
https://www.nature.com/articles/s41562-021-01196-4
https://fortune.com/company/microsoft/
https://consent.yahoo.com/v2/collectConsent?sessionId=4_cc-session_16b3cb31-34ec-416b-b12b-891146e184e4


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube