Search War ตอนที่ 5 : Money Making Machine

แม้ Search Engine ส่วนใหญ่ในขณะนั้นจะเป็นธุรกิจที่ดูไร้อนาคต ที่ยังมองไม่เห็นโมเดลการทำเงินที่ชัดเจน แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญน่าจะเป็นแบบจำลองของ บิล กรอสส์ แห่งบริษัท Idealab ที่ได้สร้างแบบจำลองที่ฉลาดมาก ๆ สำหรับการโฆษณา โดยเชื่อมผู้โฆษณากับผลการค้นหาของการสอบถามที่เกี่ยวข้อง และให้ผู้โฆษณาประมูลพื้นที่ในรายการของผลการค้นหา

ฟังดูมันคุ้น ๆ แน่นอนเพราะมันคือต้นแบบของโมเดลทำเงินที่สำคัญของ google อย่าง Adwords นั่นเอง มันเป็นรูปแบบจำลองที่ บิล กรอสส์ สร้างขึ้น ที่ทำให้บริษัทได้เงินมากที่สุดของการค้นหาแต่ละครั้ง เพราะชื่อของผู้โฆษณาที่ประมูลด้วยราคาสูงกว่าจะปรากฏที่ด้านบนของผลการค้นหานั่นเอง

ซึ่งตอนนั้นต้องบอกว่า บิล กรอสส์ ก็ได้ให้บริการแบบนี้ให้กับเว๊บไซต์หลายแห่ง รวมทั้ง Yahoo กับ MSN ของ Microsoft ด้วย ซึ่งในขณะเดียวกันนั้น เพจและบริน ก็กำลังดิ้นรนเพื่อหาวิธีในการสร้างเงินจากโปรแกรมค้นหาของพวกเขาอย่าง google เช่นเดียวกัน

และกรอสส์ ก็ได้เข้าไปพบกับ บรินและเพจหลายครั้งเพื่อเสนอโมเดลดังกล่าว แต่ทั้งคู่นั้นยังไม่สนใจในแนวคิดที่จะทำให้ผลการค้นหาที่ให้ผู้ใช้ ใช้กับแบบฟรี ๆ อยู่นั้น แปลกปลอมไปด้วยผลการค้นหาที่ต้องจ่ายค่าบริการ

ในเวลาเดียวกันนั้น Microsoft เปิดแถลงข่าวอย่างยิ่งใหญ่ ว่า MSN กลายเป็นเว๊บท่าที่ยอดนิยมที่สุดในโลก ซึ่งในปี 2000 มีคนเข้ามาใช้งาน MSN กว่า 201 ล้านคน โดยที่ Microsoft แทบจะไม่ได้สนใจโปรแกรมค้นหาใด ๆ ด้วยซ้ำ เพราะพวกเขากำลังก้าวไปสู่จุดสูงสุดของการเป็นเว๊บ portal ที่ทุกคนทั่วโลกต้องเข้าใช้งาน

ส่วน google นั้นเริ่มที่จนหนทางต้องหาทางสร้างรายได้ให้เร็วที่สุด จึงได้เริ่มพัฒนาแบบจำลองการโฆษณาของตัวเองในชื่อ Adwords ซึ่งใกล้เคียงกับแนวความคิดของ บิลล์ กรอสส์ โดยเปิดตัวในเดือนกันยายนปี 2000 

Adwords ของ google ที่คล้ายแบบจำลองของ บิลล์ กรอสส์
Adwords ของ google ที่คล้ายแบบจำลองของ บิลล์ กรอสส์

และนี่คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่สุดของ google เลยก็ว่าได้ วิธีการดังกล่าวนั้น ได้กลายเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วในหมู่ผู้โฆษณา ถึงตอนนี้ โปรแกรมค้นหาของ Google นั้นทำตลาดแทบจะตลอด 24 ชั่วโมงในทุก ๆ วัน มันมีคำหรือ วลีนับล้านคำ ที่ผู้คนกำลังค้นหา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสินค้าและบริการแทบจะทั้งสิ้น ตัวอย่างชื่อสินค้าประจำวันเช่น “Pet food” อาจจะมีราคาประมํูลที่ถูก กว่า คำอย่าง “Investment Advice” ซึ่งเป็นกลไกของตลาดในเรื่องราคาที่ผู้ลงโฆษณายินดีที่จะจ่ายเพื่อให้โฆษณาของตนได้ปรากฏเมื่อมีคนค้นหาคำ ๆ นั้นบน Google

มันทำให้ Google ได้เงินทุกครั้งที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์คลิกบนโฆษณา ที่มันแสดงขึ้นบนผลการค้นหา และมันถูกทำงานแบบอัตโนมัติ โดยระบบการประมูลออนไลน์ ซึ่งมันทำให้ Google มั่นใจได้ว่า จะได้รับราคาที่ดีที่สุดอยู่เสมอ และสร้างกระแสเงินสดปริมาณมหาศาลให้ Google มากขึ้นเรื่อย ๆ 

มันได้ทำให้เกิดธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกมากมาย ทั้งระบบทำงานแบบอัตโนมัติ หรือ การเกิดขึ้นของเหล่านักการตลาดมืออาชีพ ผู้ซึ่งเชี่ยวชาญการทำการตลาดผ่าน Google หรือ เหล่านักสร้าง Content ให้ติดอันดับการค้นหาใน Google ในผลการค้นหาแรก ๆ 

บริษัททั้งขนาดใหญ่ และ ขนาดเล็กนั้น ได้เข้ามาร่วมการประมูลคำหลัก ๆ เหล่านี้ และทำการส่งเงินมาให้ Google ทุก ๆ วันกว่าหลายล้านเหรียญ การที่สามารถเข้าไปใช้งานด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาสื่อเก่า ๆ อย่าง ทีวี หรือ วิทยุ ทำให้ เหล่าธุรกิจขนาดย่อมสามารถที่จะร่วมในการแข่งประมูลคำเหล่านี้ได้

ซึ่งมันชัดเจนเมื่อรายงานทางด้านรายรับของ google ออกมาในปี 2000 ซึ่งอยู่ที่ 24.5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้าที่มีรายรับเพียงแค่ 220,000 ดอลลาร์เพียงเท่านั้น มันคือการเติบโตแทบจะ 100 เท่า จากเวทย์มนต์ของ Adwords 

และเมื่อสามารถสร้างเครื่องจักรทำเงินได้สำเร็จแล้ว เหล่าผู้สนับสนุนรวมถึงนักลงทุนได้พยายามชักจูงให้บริน และ เพจ หาคนมาเป็นประธานบริหาร เพื่อให้มานำบริษัท google ให้เติบโตอย่างมั่นคง

และหนึ่งในตัวเลือกคือ สตีฟ จ๊อบส์ แต่น่าเสียดายที่ตอนนั้นเขาไม่ว่าง จึงต้องหาคนใหม่ ในที่สุดทั้งสองจึงตัดสินใจเลือก เอริค ชมิดต์ เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2001 ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทโนเวลล์ (Novell) ซึ่งในอดีตเคยรุ่งเรือง แต่ตอนนี้ต้องมาเป็นคู่แข่งโดยตรงกับ Microsoft และดูเหมือนทุกอย่างจะลงตัว เพราะนักลงทุนก็ชื่อชอบในตัว ชมิดต์ รวมถึงเพจและบริน ก็ดูว่าจะมีเคมีที่ตรงกันกับชมิดต์เช่นกัน ที่สำคัญ ทุกคนต่างมองว่า เขาน่าจะเป็นผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็ก ๆ ที่เป็นหนุ่ม ๆ ไฟแรงใน google ได้

เอริค ชมิดต์ ที่จะมาพา google เติบโตอย่างมั่นคงเพื่อสู่กับ Microsoft
เอริค ชมิดต์ ที่จะมาพา google เติบโตอย่างมั่นคงเพื่อสู่กับ Microsoft

ดูเหมือนว่า ตอนนี้ google ได้ค้นพบเครื่องจักรทำเงิน ที่จะพา google ทะยานไปอีกระดับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ปัญหาเรื่องเงิน คงจะไม่ใช่ปัญหาหลักของ google อีกต่อไป แม้จะดูเหมือนรายได้ 20 ล้านเหรียญเศษ ๆ นี้จะเป็นตัวเลขน้อยนิดกับรายได้ของ google ในปี 2000 เมื่อเทียบกับ Microsoft

ส่วน Microsoft นั้น ดูเหมือนจะภูมิใจกับ MSN เว๊บไซต์ portal หลัก ที่เป็นที่นิยมของผู้คนทั่วโลก ซึ่งแทบจะไม่ชายตามาสนใจโปรแกรมค้นหาเลยด้วยซ้ำ ต้องเรียกว่าตอนนี้ google พร้อมจะพลิกบริษัทให้กลายมาเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่แบบที่เหล่ายักษ์ใหญ่ทั้งหลายแทบจะไม่รู้ตัวแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นกับ google และ Microsoft จะหันมาสนใจ Search Engine เมื่อไหร่ โปรดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 6 : Unstoppable Growth

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :The Beginning of Search *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Book Review : คิดอย่างผู้นำ ทำอย่าง google

พูดถึง google ในปัจจุบัน คิดว่าคงไม่มีใครในโลกที่ไม่รู้จัก search engine ตัวนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ถือได้ว่าพลิกประวัติศาสตร์ของข้อมูลข่าวสารทั่วโลก ให้ผู้คนทั่วโลกได้เข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว และง่ายดายขึ้นมากจากในอดีต

สำหรับหนังสือ คิดอย่างผู้นำ ทำอย่าง google นี้เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องการบริหารภายในบริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีของโลกอย่าง Google โดยผ่านคำบอกเล่าของ Jonathan Rosenberg ผู้บริหารระดับสูง และ อดีต CEO บริษัทอย่าง Eric Schmidt ที่บริหาร google มาตั้งแต่ยุคตั้งไข่ในช่วงปี 2002 จนส่งไม้ต่อให้กับผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง Larry Page เมื่อไม่นานมานี้

การบริหารหนึ่งในบริษัทที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในโลกเช่น google นั้น คงไม่ง่ายที่จะใช้วิธีการบริหารแบบเดิม ๆ ได้ จะเห็นได้ว่าบริษัท google นั้นค่อนข้างมีแนวคิดบริหารที่ไม่ยึดติดกับตำราเดิม ๆ ของการบริหารบริษัทใหญ่ๆ  ทั่วโลกที่ปฏิบัติตามกันมา google นั้นได้คิดวิธีการบริหารในรูปแบบตัวเองเพื่อบริหารองค์กรที่มีนวัตกรรมเกิดขึ้นตลอดเวลา มีทั้งที่ประสบความสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง แต่โดยรวมนั้นก็ถือว่า มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมออกมามาย โดย google นั้นเน้นให้พนักงานมีอิสระในการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ  ได้เสมอ ไม่ยึดติดกรอบเดิม ๆ ทำในสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ให้เป็นไปได้อยู่หลาย ๆ ครั้ง

แนวคิดนี้แตกต่างจากบริษัทยักษ์ใหญ่อื่น ๆ ที่มีการติดสินใจแบบรวมศูนย์ กว่าจะตัดสินใจกันได้ก็ต้องผ่านการคัดกรองในหลายระดับชั้นมากมาย ทำให้เป็นอุปสรรคที่สำคัญในการสร้างสิ่งที่เป็นนวัตกรรมออกมา และเนื่องด้วยด้วย แนวคิดที่ยึดผู้บริโภคเป็นอันดับหนึ่ง การสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคได้ดีที่สุดนั้น ก็จะตามมาด้วยรายได้ที่ตามมาในอนาคตเอง

สำหรับ Eric Schmidt นั้นผ่านการทำงานในระดับสูงทั้ง Sun Microsystems และ บริษัท Novell มาก่อนที่จะเข้ามาทำงานกับ google ซึ่งก็ถือว่าเป็นบุคคลที่สำคัญในการพา google เติบโตอย่างยิ่งใหญ่มาจนถึงปัจจุบันก็ว่า ได้ ซึ่ง Schmidt นั้นได้รับการยอมรับในเรื่องการบริหารทั่วทั้งวงการเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา เขาได้ผ่านการตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ มามากมายในการบริหารงาน google ซึ่งหลายครั้งก็มีแนวความคิดที่แตกต่างจากผู้ก่อตั้งคือ Larry Page และ Sergy Brinn ซึ่งมักจะตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ร่วมกัน เช่น นโยบายของการทำตลาดในจีนเป็นต้น ในหนังสือเล่มนี้จะกล่าวถึงหากมีปัญหาในเรื่องการตัดสินใจเรื่องใหญ่ ๆ นั้น Schmidt นั้นจะให้ผู้ร่วมก่อตั้งไปตกลงกันเองก่อนเพื่อตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายให้เป็นแนวทางเดียวกัน และไม่ให้มีปัญหาการทะเลาะกันในภายหลัง ซึ่งเป็นปัญหาหลักในหลาย ๆ บริษัททางเทคโนโลยี ที่เมื่อเติบโตสูง ๆ นั้นก็จะมีแนวคิดในการบริหารแตกต่างกัน ซึ่งตรงนี้ถือว่า Schmidt ทำได้ดีทีเดียวในเรื่องการบริหารภาพรวมไม่ให้มีปัญหา และมุ่งเน้นการพัฒนา google ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วที่สุดเท่านั้น

ส่วนของ Jonathan Rosenberg นั้นก็เป็นผู้ที่บทบาทสำคัญเคียงบ่าเคียงใหล่ กับ Schmidt เสมอมา ตั้งแต่เข้ามาร่วมงานใหม่ ๆ เขามักจะกล่าวถึงรูปแบบของ Smart Creative ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการบริหารบุคคาลากรของ google และเนื่องด้วย แนวคิดแบบ วิศวกรเป็นใหญ่กว่าหน่วยงานอื่นๆ  จึงใช้รูปแบบการบริหารแบบเดิม ๆ ได้ยาก เพราะส่วนใหญ่ก็จะเป็นวิศวกรระดับหัวกระทิ ในด้าน computer science แทบจะทั้งนั้น เราจะเห็นได้ว่า บริษัทส่วนใหญ่นั้น ไม่ sale ก็ marketing นั้นจะมักขึ้นมาเป็นใหญ่ในบริษัท แตกต่างจาก google หรือบริษัทเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอเมริกา ที่มักจะเป็นพวก computer science ที่เป็นตัวหลักในการบริหารองค์กร และมีอิสระในการคิดนอกกรอบ โดย google นั้นมอบเวลา 20% ให้ทำงานอิสระ ที่เป็นงานสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่งานหลักของตัวเอง ทำให้ในหลาย ๆ ผลิตภัณฑ์ของ google นั้นเกิดจากเวลาส่วนของ 20% นี้นี่เอง

สรุปเนื้อหาหนังสือเล่มนี้นั้นถือว่าเป็นหนังสือที่น่าสนใจสำหรับการบริหารบริษัทที่เป็น startup ด้าน เทคโนโลยี เป็นอย่างยิ่ง บางทีการบริหารแบบเดิม ๆ นั้นก็ไม่สามารถทำให้บริษัทเติบโตรวดเร็วได้อย่าง google ทำ ซึ่งถือว่า แนวคิดในหนังสือเล่มนี้เป็นสิ่งที่ผู้บริหารรุ่นใหม่ ๆ สามารถนำไปปรับใช้ในองค์กรของตัวเองได้อย่างดี

เก็บตกจากหนังสือ

  • google นั้นเน้นเรื่อง smart creative เป็นอย่างมากจะเห็นได้จากการกล่าวถึงในหลายๆ บทของหนังสือเล่มนี้
  • การบริหารวิศกรที่อัจฉริยะ จำนวนมากนั้นเป็นเรื่องไม่ง่ายเลยทีเดียว ซึ่งพวกนี้จะมีส่วนผสมของความเป็นศิลปิน และ ความอัจฉริยะ ค่อนข้างสูง
  • 20% ของเวลาในการปฏิบัติงานนั้นได้สร้างสิ่งใหม่ ๆ ออกมาเช่น google earth , adwords algorithm ในบางส่วน