ทำไมเกาหลีใต้ถึงให้อภัยผู้นำที่ทุจริตคอรัปชั่น?

Lee Myung-bak ประธานาธิบดีฝ่ายอนุรักษ์นิยมของเกาหลีใต้ตั้งแต่ปี 2008 ถึง 2013 ได้รับการอภัยโทษจาก Yoon Suk-yeol ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน Lee ได้รับโทษเพียงสองปีหลังจากถูกตัดสินจำคุก 17 ปีในปี 2020 ข้อหาติดสินบนและคอร์รัปชัน

เขาเป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนที่สี่ที่ได้รับการอภัยโทษตั้งแต่ประเทศเริ่มมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยในปี 1987

ต้องบอกว่ามีประธานาธิบดีที่ทุจริตมากมายทั่วโลก แต่สิ่งที่มักไม่ค่อยพบเจอก็คือ การที่พวกเขาถูกนำมารับการพิจารณาคดี ถูกตัดสินลงโทษ และได้รับการอภัยโทษจากผู้สืบทอดตำแหน่งของตัวเขาเอง 

เหตุใดจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งในเกาหลีใต้ ต้องบอกว่าการให้อภัยโทษมีบทบาทต่อระบบกฎหมายสมัยใหม่ส่วนใหญ่ ในหลายประเทศ รวมทั้งฝรั่งเศส ตุรกี และสวิตเซอร์แลนด์ โดยอำนาจในการอภัยโทษขึ้นอยู่กับสภานิติบัญญัติเป็นส่วนใหญ่  แต่ก็มีในบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ที่รัฐบาลสามารถผ่อนผันได้ก็ต่อเมื่อได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานยุติธรรมอย่างศาลฎีกาเพียงเท่านั้น 

ประธานาธิบดีอเมริกัน โดยเฉพาะ Donald Trump บางครั้งถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจในการอภัยโทษในทางที่ผิด แต่มีระบอบประชาธิปไตยเพียงไม่กี่แห่งที่ใช้การอภัยโทษเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองในแบบที่เกาหลีใต้ทำ

วัฏจักรนี้เริ่มต้นด้วย Chun Doo-hwan ผู้นำเผด็จการทหารคนสุดท้าย และ Roh Tae-woo พันธมิตรของ Chun ที่กลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกหลังระบอบประชาธิปไตย ทั้งคู่ถูกตัดสินจำคุกในปี 1996 ในข้อหารับสินบน การทำรัฐประหารในปี 1979 และมีบทบาทในการสังหารหมู่ผู้ประท้วงที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 1980 พวกเขาได้รับการปล่อยตัวในปีต่อมา 

 Chun Doo-hwan ผู้นำเผด็จการทหารคนสุดท้าย และ Roh Tae-woo พันธมิตรของเขา (CR:DW)
 Chun Doo-hwan ผู้นำเผด็จการทหารคนสุดท้าย และ Roh Tae-woo พันธมิตรของเขา (CR:DW)

Park Geun-hye ผู้สืบทอดตำแหน่งของ Lee Myung-bak ถูกตัดสินจำคุกในปี 2018 ฐานรับสินบนและใช้อำนาจโดยมิชอบ ก่อนได้รับการอภัยโทษจาก Moon Jae-in ผู้สืบทอดตำแหน่งจากพรรคเสรีนิยมในเดือนธันวาคม 2021

วัฒนธรรมแปลก ๆ แบบนี้ของเกาหลีใต้ต้องเรียกได้ว่ามีอายุยืนยาวกว่าระบอบเผด็จการที่สร้างรูปแบบดังกล่าวนี้ขึ้นมา การเมืองของประเทศกลายมาเป็นเกมที่ต้องแลกมาด้วยเลือด ซึ่งช่วยอธิบายว่าทำไมผู้กระทำผิดส่วนใหญ่ถึงถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่มีประธานาธิบดีคนใดลังเลที่จะใช้สำนักงานตำรวจและสำนักงานอัยการเพื่อสอบสวนคู่แข่งทางการเมืองของตน 

เหตุใดผู้ต้องโทษจึงได้รับการอภัยโทษจึงเป็นเรื่องยากที่จะอธิบาย ทั้งสี่กรณีผู้ที่ให้อภัยโทษกับอดีตประธานาธิบดีที่กระทำผิด อ้างถึงความจำเป็นในการสร้างความเป็นเอกภาพของชาติ รวมถึงเรื่องปัญหาสุขภาพของนักโทษ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการอภัยโทษใด ๆ ที่เป็นเรื่องของความเห็นพ้องต้องกันของประชาชนเลยแม้แต่ครั้งเดียว 

การให้อภัยโทษของอดีตประธานาธิบดี Chun และ Roh นำไปสู่การปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงและตำรวจปราบจลาจลในปี 1997 ส่วนกรณีของ Park Geun-hye และ Lee Myung-bak ความคิดของประชาชนมีความแตกแยกเป็นอย่างมากว่าควรอภัยโทษให้ทั้งสองหรือไม่ 

Park Geun-hye และ Lee Myung-bak ความคิดของประชาชนมีความแตกแยกเป็นอย่างมากว่าควรอภัยโทษให้ทั้งสองหรือไม่  (CR:Korean Times)
Park Geun-hye และ Lee Myung-bak ความคิดของประชาชนมีความแตกแยกเป็นอย่างมากว่าควรอภัยโทษให้ทั้งสองหรือไม่  (CR:Korean Times)

การสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำขึ้นในเดือนธันวาคม 2022 ก่อนที่ Lee จะได้รับอิสรภาพ พบว่าชาวเกาหลีใต้ 53% เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ แต่อีก 39% ไม่เห็นด้วย

การให้อภัยโทษอาจเกี่ยวกับการรักษาฐานอำนาจของตนเอง ในฐานะประธานาธิบดีสามารถคาดหวังได้ว่าผู้ที่จะมาสืบทอดเขาอาจจะเข้ามาตรวจสอบเมื่อตนเองต้องถึงเวลาต้องออกจากตำแหน่ง ทำไม ถึงไม่แสดงความเมตตากรุณาเป็นแบบอย่าง และหวังว่าจะได้รับการปฏิบัติที่ดีในภายหลังเช่นกัน ในกรณีอื่นๆ อาจเป็นช่องทางหนึ่งในการปิดปากกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 

การอภัยโทษของ Park มีขึ้นหลายเดือนก่อนการเลือกตั้ง ประธานาธิบดี Moon Jae-in อาจคำนวณว่าถ้าเธอตายในคุก นั่นจะทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคเขาเสียหาย

การให้อภัยโทษมักได้รับแรงบันดาลใจจากพลวัตทางอำนาจภายในกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองเช่นกัน นักการเมืองที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดมักจะมีพันธมิตรที่มีอำนาจอยู่ในรัฐสภา ซึ่งสามารถสนับสนุนการให้มีการอภัยโทษได้ เห็นได้ชัดว่าประธานาธิบดี Yoon Suk-yeol เป็นแฟนตัวยงของ Lee Myung-bak อดีตประธานาธิบดีที่เขาเป็นคนให้อภัยโทษ 

Yoon Suk-yeol เป็นแฟนตัวยงของ Lee Myung-bak อดีตประธานาธิบดีที่เขาเป็นคนให้อภัยโทษ  (CR:Anadolu Agency)
Yoon Suk-yeol ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ที่เป็นแฟนตัวยงของ Lee Myung-bak อดีตประธานาธิบดีที่เขาเป็นคนให้อภัยโทษ  (CR:Anadolu Agency)

เขาได้สร้างทีมบริหารของเขาด้วยลูกน้องของ Lee Myung-bak เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และได้นำนโยบายที่คล้ายคลึงกันหลายอย่างมาใช้ 

ประธานาธิบดี Yoon Suk-yeol ซึ่งเป็นนักการเมืองใหม่และเป็นคนนอกก็หวังที่จะทำให้การเข้าสู่ชนชั้นสูงนี้มีความราบรื่นในระยะยาว Yoon ยังคงวาดภาพตัวเองว่าเป็นผู้ทำสงครามเพื่อความยุติธรรม แต่การตัดสินใจปล่อยตัวผู้กระทำผิดอาจเป็นการเปิดบาดแผลให้กับตัวเขาเอง 

ความเชื่อมั่นของประชานต่ออดีตประธานาธิบดีและผู้สมรู้ร่วมคิดของพวกเขาเป็นช่วงเวลาสำคัญแห่งประวัติศาสตร์สำหรับประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ ซึ่งท้ายที่สุดการเพิกเฉยต่อคำตัดสินที่มีความผิดร้ายแรงเหล่านี้อาจจะกลายเป็นสิ่งบั่นทอนศรัทธาของประชาชนและสถาบันหลักของประเทศได้ในท้ายที่สุดนั่นเองครับผม

References :
https://www.economist.com/the-economist-explains/2023/01/06/why-does-south-korea-pardon-its-corrupt-leaders
https://www.aljazeera.com/economy/2022/12/27/south-koreas-jailed-ex-president-lee-gets-presidential-pardon
https://www.reuters.com/world/asia-pacific/south-koreas-former-president-lee-granted-special-pardon-2022-12-27/