Gig Workers กับเส้นทางการต่อสู้เพื่อเอาชนะอัลกอริธึมของแพลตฟอร์มส่งอาหาร

“อย่ายึดติดกับอาชีพที่อยู่ในธุรกิจเผาเงินเป็นเด็ดอันขาด” คำ ๆ นี้ เรียกได้ว่าศักดิ์สิทธิ์จริง ๆ ที่ผ่านบทเรียนมานับต่อนับโดยเฉพาะกับธุรกิจสตาร์ทอัพที่ใช้การเผาเงินอย่างบ้าคลั่งสร้างการเติบโตอย่างรวดเร็ว จนหลอกผู้คนให้เข้ามาสร้างรายได้เยอะ ๆ ในช่วงแรก ๆ เสพติดกับมัน

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอย่าง Delivery Service , Ecommerce หรือแม้กระทั่ง Social Media เอง ที่จะมีช่วงเวลาทำเงินมหาศาลในแพลตฟอร์มเหล่านี้ แต่หากคิดจะยึดเป็นอาชีพหลักในระยะยาว ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่คิดผิดมหันต์

เป็นบทความหนึ่งที่น่าสนใจจาก MIT Technology Review ที่มีงานวิจัยในเรื่องนี้ในประเทศอินโดนีเซียที่ต้องต่อสู้กับแพลตฟอร์มส่งอาหารชื่อดังอย่าง Gojek

สถานการณ์มันก็ไม่ต่างจากประเทศไทยเราเอง ในตอนแรกเหล่า Rider คิดเพียงแค่จะทำงานนอกเวลาหารายได้เสริม แต่พอเห็นรายได้จากธุรกิจเฟสเผาเงินที่มากกว่างานประจำที่ทำอยู่พวกเขาจึงได้ลาออกมาเป็น Rider เต็มตัว

และแน่นอนว่า ในไม่ช้าความจริงมันก็ปรากฎ เมื่อแพลตฟอร์มี Rider เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ งานก็ลดน้อยลง รายได้ก็ลดลงพร้อมกับอุปทานที่มากเกินไป

จากนั้นเมื่อเข้าสู่สงครามราคา มีคู่แข่งเข้ามาแข่งขัน Grab ที่เป็นคู่แข่งจากสิงคโปร์เข้ามาบุกอินโดนีเซีย สุดท้ายภาระก็ตกมาอยู่กับเหล่า Rider ที่ถูกบังคับให้ทำงานในเวลามากกว่าเดิมในขณะที่รายได้ไม่ขยับเพิ่มขึ้น

Suci Lestari Yuana นักศึกษาปริญญาเอกจาก Utrecht University ที่ได้ศึกษาความขัดแย้งและการโต้เถียงเกี่ยวกับเศรษฐกิจบนแพลตฟอร์มในอินโดนีเซีย กล่าวว่า

“พวกเขา (Rider) เฝ้ามองดูรายได้ที่ลดลง แต่พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นที่จะไปอีกแล้ว พวกเขาต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มเหล่านี้เป็นอย่างมาก”

Kejo ในวัย 30 และเป็นพ่อของเด็กสาว 2 คน เริ่มขับสกู๊ตเตอร์ฮอนด้าเพื่อเริ่มงานในเวลา 19.00 น. เช่นเดียวกับ Rider หลาย ๆ คน เขาสวมโลโก้ของชุมชนผู้ขับขี่ Gojek on Twit หรือ GoT ซึ่งเป็นกลุ่มออนไลน์ที่รวมตัวกันของเหล่า Rider

อันที่จริงช่วงพีคที่สุดนั้นเขาสามารถสร้างรายได้ 700,000 ถึง 800,000 รูเปียห์ (ประมาณ 48-56 ดอลลาร์สหรัฐฯ) จนเมื่อปี 2016 Gojek ให้รางวัลแก่ “พาร์ทเนอร์คนขับ” ที่กระตือรือร้นที่สุดด้วยโบนัสมากมายที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำของกรุงจาการ์ตา ที่ราว ๆ 320 ดอลลาร์ต่อเดือน

แต่ทุกวันนี้เขากลับทำเงินสูงสุดได้เพียงแค่ 300,000 รูเปียห์ (21 ดอลลาร์สหรัฐฯ) เมื่อเวลาผ่านไป Gojek ก็ได้ยกเลิกโบนัสเหล่านี้ เมื่อจำนวน Rider เพิ่มมากขึ้นและเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น

แต่ด้วยกลุ่ม GoT นั้น มีหลายคนที่เข้ามาแบ่งปันเคล็ดลับหรือข้อควรกังวัล หรือแม้กระทั่งเรื่องปัญหารายวันบนท้องถนน เช่น หากมี Rider ที่รถเสีย สมาชิกที่อยู่ใกล้เคียงก็จะมาช่วยทันที

เหล่า Rider จะตรวจสอบซึ่งกันและกันทุกวันตั้งแต่คำแนะนำเกี่ยวกับเส้นทางที่ดีที่สุดสำหรับการจัดส่งไปจนถึงกลยุทธ์ในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด พวกเขาได้แจกจ่ายเงินและกล่องอาหารให้กับครอบครัวของกันและกัน ซึ่งช่วยให้พวกเขาฝ่าฝันอุปสรรคจากการ lockdown ช่วงโควิดมาได้

เมื่อเหล่า Rider ต่างผิดหวังกับรายได้ที่หดหายไป พวกเขาก็เริ่ม hack อัลกอริธึมของแพลตฟอร์ม เพื่อให้พวกเขาสามารถที่จะกลับมาควบคุมวิธีการสร้างรายได้ด้วยวิธีเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้

Kejo ชอบใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า “account therapy” ซึ่งเป็นวิธีการ hack อัลกอริธึมของ Gojek

เมื่อ order มันน้อยลง และเขาสังเกตเห็นว่าแอป Gojek จะเรียนรู้ความชอบของคนขับโดยการติดตามว่าพวกเขารับงานใด เขาจึงเริ่มปฏิเสธการสั่งอาหารซ้ำแล้วซ้ำอีกและยอมรับเฉพาะการเรียกรถโดยผู้โดยสารเท่านั้น หลังจากที่ทำสิ่งดังกล่าวเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ในที่สุดระบบก็จะเข้าใจ

ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดและมีการดาวน์โหลดมากกว่าครึ่งล้าน คือการหลอก GPS ของโทรศัพท์ พวกเขาสามารถหลอกแพลตฟอร์มว่าพวกเขากำลังทำงานอยู่ในขณะที่กำลังพักผ่อน

ซึ่งมันช่วยหลีกเลี่ยงการโดนบทลงโทษได้ และสามารถเลื่อนระดับบัญชีไปสู่ระดับที่สูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีศักยภาพในการสร้างรายได้มากขึ้น

เมื่อเร็ว ๆ นี้ GoT ได้ผลักดันปัญหาในเรื่องที่ Rider มักจะต้องจ่ายค่าจอดรถเองหากไปรับอาหารในห้างสรรพสินค้าหรือสำนักงานบางแห่งที่มีการคิดค่าจอดรถ

ซึ่งหลังจากที่พวกเขารณรงค์ต่อต้านนโยบายดังกล่าวนี้ ตอนนี้ Gojek ได้ให้ร้านค้าที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าเป็นคนออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้แทน

แม้ Gojek ได้เข้มงวดในการควบคุมแอปที่ไม่ได้รับอนุญาตและปราบปรามการละเมิดอย่างเข้มงวดมากขึ้น นอกจากนี้บริษัทยังเสนอแรงจูงใจให้กับ Rider ผ่านกลยุทธ์ต่าง ๆ เช่น การให้พวกเขาเข้าถึงคุณสมบัติใหม่ ๆ ก่อนใครและให้รางวัลแก่พวกเขา

แต่องค์กรที่เรียกว่า Asosiasi Driver Online กำลังวางแผนที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงการผ่านกฎหมายเพื่อรับรองการทำงานแบบ Gig Workers ในระดับนโยบายของรัฐ ซึ่งจะทำให้กระทรวงคมนาคมและแรงงานสามารถบังคับใช้มาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการปฏิบัติต่อ Rider ของแพลตฟอร์มเหล่านี้

ถือเป็น case study ที่น่าสนใจมาก ๆ นะครับสำหรับการรวมกลุ่มกันของ Rider ชาวอินโดนีเซีย ซึ่งสามารถผลักดันสิ่งต่าง ๆ ให้พวกเขาไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากแพลตฟอร์มมากจนเกินไป ซึ่งประเทศเราก็ควรจะมีการรวมตัวในรูปแบบนี้และเริ่มผลักดันสิ่งต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

เพราะสุดท้ายธุรกิจพวกนี้ มันคือธุรกิจเผาเงินที่ได้ผ่านพ้นเฟสเหล่านี้ไปแล้ว และพวกเขาเตรียมที่จะรีดรายได้คืนจากที่พวกเขาได้เสียไปจำนวนมหาศาลกลับคืนมาให้แพลตฟอร์มมากกว่าที่พวกเขาได้เสียไปนั่นเองครับผม

References : https://www.technologyreview.com/2022/04/21/1050381/the-gig-workers-fighting-back-against-the-algorithms