เหตุใด Generation Z จึงตกหลุมพรางข้อมูล fake news ทางแพลตฟอร์มออนไลน์มากที่สุด

ต้องบอกว่าเป็นงานวิจัยจากบทความของ MIT Technology Review ที่น่าจะขัดกับความเชื่อของหลาย ๆ คน ที่กล่าวว่าคนยุคใหม่โดยเฉพาะ Gen Z นั้นกลายเป็นเหยื่อมากที่สุดของการเผยแพร่ข้อมูล Fake News บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในโลกออนไลน์

ตัวอย่างที่น่าสนใจ เมื่อเด็กสาววัยรุ่นมองกล้องอย่างจริงจัง เฟรมสั่นไหวขณะที่เธอเอียงโทรศัพท์ไปที่ใบหน้าของเธอ คำบรรยายภาพที่ซ้อนทับบนเสื้อฮู้ดของเธอมีคำเตือนที่สุดโต่งมาก ๆ : หากโจ ไบเดนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา “ทรัมป์” จะสังหารหมู่ LGBT และคนผิวสีจำนวนมาก 

คำอธิบายภาพอีกอย่างหนึ่งใต้วีดีโอกล่าวว่า “นี่คือ ww3 จริงๆ” วิดีโอนั้นถูกโพสต์บน TikTok เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2020 และมีคนกดถูกใจมากกว่า 20,000 ครั้ง ในช่วงเวลานั้น คนหนุ่มสาวอีกหลายสิบคนได้ share คำเตือนที่คล้ายคลึงกันบนโซเชียลมีเดีย และโพสต์ของพวกเขาก็มีคนเข้ามาดู ชอบ และแสดงความคิดเห็นหลายแสนคน

เห็นได้ชัดว่ามันเป็นเรื่องเท็จแทบจะทั้งสิ้น แล้วเหตุใดจึงทำให้คนในยุค Generation Z จำนวนมาก ที่มีอายุอยู่ในช่วงระหว่าง 9 ถึง 24 ปีซึ่งน่าจะเข้าใจโลกดิจิทัลมากกว่าคนรุ่นก่อนจึงเสพข้อมูลผิด ๆ อย่างโจ่งแจ้ง?

นักวิจัยจาก Stanford Internet Observatory ได้ทำการวิเคราะห์การแพร่กระจายของข้อมูลที่ผิดทางออนไลน์ โดยได้มีการศึกษาแคมเปญต่างๆ จากต่างประเทศบนโซเชียลมีเดียและตรวจสอบว่าข้อมูลที่ผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งปี 2020 และวัคซีนโควิด-19 แพร่ระบาดไปในโลกออนไลน์ได้อย่างไร 

ซึ่งข้อมูลที่น่าสนใจจากงานวิจัยพบว่าคนหนุ่มสาวมีแนวโน้มที่จะเชื่อและส่งต่อข้อมูลที่ผิดๆ มากขึ้น หากพวกเขารู้สึกถึงตัวตนที่เหมือนกันกับบุคคลที่แบ่งปันข้อมูลนั้นตั้งแต่แรก

เมื่อวันรุ่นจะตัดสินใจว่าสิ่งใดควรเชื่อถือได้ และสิ่งใดควรเพิกเฉยหรือตั้งข้อสงสัย วัยรุ่นมักจะใช้บริบทจากความเชื่อมโยงทางสังคมและชื่อเสียงส่วนบุคคลที่พัฒนาขึ้นจากประสบการณ์ที่แบ่งปันกันมานานหลายปี ซึ่งทำให้พวกเขารู้ว่าสมาชิกครอบครัว เพื่อน และ influencer คนใดที่พวกเขาจะเชื่อได้ 

ผู้มีอิทธิพลหรือเหล่า influencer จึงกลายเป็นผู้ส่งสารที่เชื่อถือได้ในหัวข้อที่พวกเขาแทบจะไม่มีความเชี่ยวชาญ จากการสำรวจของ Common Sense Media วัยรุ่น 60% ที่ใช้ YouTube เพื่อติดตามเหตุการณ์ปัจจุบันหันไปหา influencer มากกว่าองค์กรข่าวที่มีความน่าเชื่อถือกว่า 

เหล่าครีเอเตอร์ที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับวัยรุ่น ข้อมูลต่าง ๆ ของพวกเขาจะถูกยกระดับกลายเป็นเรื่องจริงที่น่าเชื่อถือแทบจะทั้งหมด ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพยายามดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องจริง ๆ อย่างยากเย็นแสนเข็ญ

คนหนุ่มสาวมีแนวโน้มที่จะเชื่อและส่งต่อข้อมูลที่ผิดๆ มากขึ้น หากพวกเขารู้สึกถึงตัวตนที่เหมือนกันกับบุคคลที่แบ่งปันข้อมูลนั้นตั้งแต่แรก

ส่วนใหญ่เป็นข่าวลือเรื่องแผนการใช้ความรุนแรงหลังการเลือกตั้ง บุคคลที่ share คำเตือนเหล่านี้นั้นล้วนมีความสัมพันธ์กับผู้ฟังอย่างลึกซึ้ง หลายคนเป็นคนผิวสีและเป็น LGBT อย่างเปิดเผย

และโพสต์ต่างๆ ของเหล่า influencers มักเป็นหัวข้อที่วัยรุ่นคุ้นเคย เช่น ความขัดแย้งในครอบครัวและการดิ้นรนต่อสู้ในชั้นเรียน ความรู้สึกของประสบการณ์ร่วมกันนี้ทำให้พวกเขาเชื่อได้ง่าย แม้ว่าจะไม่ได้มีการเสนอหลักฐานใดๆ สำหรับเรื่องราวเหล่านั้นก็ตามที

สิ่งที่ทำให้เรื่องแย่ลงไปอีกคือข้อมูลที่ล้นเกินไปในยุคปัจจุบันที่ผู้คนจำนวนมากต้องเจอบนโซเชียลมีเดีย นั่นเองเป็นเหตุผลให้เราไว้วางใจและแบ่งปันข้อมูลที่มีคุณภาพต่ำกว่า ข่าวลือเรื่องการเลือกตั้งปรากฏขึ้นท่ามกลางโพสต์อื่นๆ อีกหลายสิบโพสต์ในฟีด TikTok ของวัยรุ่น

นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาไม่มีเวลาคิด ไตร่ตรอง วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการข้อมูลในแต่ละครั้ง ความพยายามใด ๆ ที่จะท้าทายข่าวลือนั้นถูกโจมตีด้วยการแสดงความคิดเห็นแย้งแทบจะในทันที

ในขณะที่คนหนุ่มสาวมีส่วนร่วมในการอภิปรายทางการเมืองในแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น และดึงดูดผู้คนที่มีความคิดเหมือนๆ กัน เข้ามาสนทนาในหัวข้อเดียวกัน แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะมีศักยภาพที่จะให้อำนาจแก่กลุ่มคนชายขอบ แต่ก็ทำให้เกิดภัยคุกคามของข้อมูลผิดที่แพร่ระบาดไปในโลกออนไลน์ ซึ่งทำให้สุดท้ายผู้คนที่รวมกันเป็นหนึ่งด้วยอัตลักษณ์เดียวกันจะพบว่าตนเองอ่อนแอต่อการได้รับข้อมูลผิด ๆ นั่นเอง

แล้วใครควรรับผิดชอบ? 

แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสามารถใช้อัลกอริธึมการแนะนำที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายข้อมูลมากกว่าโพสต์ที่เป็นคลิกเบต นักข่าวต้องยอมรับว่าผู้อ่านจำนวนมากได้รับข่าวจากโพสต์บนโซเชียลมีเดียที่มองผ่านเลนส์ของอัตลักษณ์ของพวกเขาเป็นหลัก

ผู้กำหนดนโยบายต้องควบคุมแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและผ่านกฎหมายเพื่อจัดการกับข้อมูลที่ผิดทางออนไลน์ และนักการศึกษาก็ต้องมีการสอนนักเรียนให้ประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลของพวกเขาได้

ต้องบอกว่าการสนทนา ถกเถียง ในโลกออนไลน์ที่มีข้อมูลพรั่งพรูมากจากแหล่งต่าง ๆ มากมายในปัจจุบันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และอันตรายของข้อมูลที่ผิดสามารถเติมเชื้อเพลิงไฟความขัดแย้งให้แพร่กระจาย อย่างที่กลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกในตอนนี้นั่นเองครับผม

References :
https://www.nature.com/articles/s41562-017-0132
https://www.technologyreview.com/2021/06/30/1026338/gen-z-online-misinformation/
https://www.livingly.com/Things+Gen+Z+Does+That+Annoy+Millennials
https://www.commonsensemedia.org/about-us/news/press-releases/new-survey-reveals-teens-get-their-news-from-social-media-and-youtube

ดราม่า “รีวิวบุฟเฟต์” กับ case study ของอิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นจาก Micro-Influencers

“ต้องยอมรับว่าปัจจุบัน กลุ่มนักรีวิว หรือ Micro-Influencers มักมีผลและมีอิทธิพลต่อร้านค้า เพราะเรียกได้ว่าเป็นการตลาดแบบปากต่อปาก หากมีใครไปรีวิว ร้านก็สามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ ภายในชั่วข้ามคืน” คำกล่าวจาก คุณเอ้ย อังกูร เจ้าของแบรนด์รสสุคนธ์ (ไอศครีมสับประรด) ในรายการโหนกระแสที่ออกอากาศในวันที่ 15 ก.ย. 2564 ถือว่าเป็นคำพูดที่น่าสนใจมาก ๆ

ซึ่งแน่นอนว่าดราม่าเรื่องนี้เหมือนจะจบลงด้วยดี และมีการนำเสนอเรื่องราวรายละเอียดจากหลายๆ แห่งแล้ว แต่สิ่งที่ผมกลับสนใจมาก ๆ ในตอนนี้จากประเด็นดังกล่าวที่เกิดขึ้นและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมคงจะเป็นบทบาท และ อิทธิพลของ Micro-Influencers กับการตลาดในยุคปัจจุบัน

เอาจริง ๆ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไปร่วม joined กับหลายๆ กลุ่มตามความสนใจของผมเช่นกัน ซึ่งได้สังเกตเห็นอิทธิพลที่เกิดขึ้นเหล่านี้มาซักระยะหนึ่งแล้ว ที่หลายคนอาจจะมองข้ามไป

ตัวอย่างที่ผมคิดว่าน่าสนใจ ก็คือ กลุ่มจัดโต๊ะคอม ที่แน่นอนว่ามันตอบรับกับพฤติกรรมที่ตอนนี้หลาย ๆ คนต้อง Work From Home แล้วอยากจะสร้างบรรยากาศการทำงานที่บ้านให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งก็ทำให้กลุ่มนี้ดังขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

สิ่งที่ผมเห็นอย่างนึงก็คือ สินค้าที่ เหล่าสมาชิกในกลุ่มเข้ามารีวิวนั้น หากเป็นสินค้ายอดฮิต เช่น โคมไฟ Xiaomi , คีย์บอร์ด Keychron หรือ โต๊ะของ iKea ในบางรุ่น มันส่งอิทธิพลอย่างมากต่อยอดขายจริง ๆ ของสินค้านั้น ๆ ได้เลยทีเดียว เรียกได้ว่า ของแทบจะขาดตลาดทันที หากไอเท็มใดเกิดความฮิตติดตลาดขึ้นในกลุ่ม

กลุ่มสุดฮิต จัดโต๊ะคอม ที่ทำเอาสินค้าขาดตลาด (CR: FB/juddesk)
กลุ่มสุดฮิต จัดโต๊ะคอม ที่ทำเอาสินค้าขาดตลาด (CR: FB/juddesk)

ซึ่งผมก็คิดว่า มันก็เกิดขึ้นกับหลาย ๆ กลุ่ม ตามแต่ความสนใจของแต่ละคน ซึ่งในกรณีที่เป็นข่าวคือ กลุ่มนักรีวิวการรับประทานบุฟเฟต์ ซึ่งมีสมาชิกเกินกว่าครึ่งล้าน ที่เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดา

Micro-Influencers คืออะไร?

การรีวิวโดยผู้มีชื่อเสียงเคยเป็นวิธีสำคัญสำหรับแบรนด์ใหญ่ ๆ ในการสร้างชื่อเสียงและขยายการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่ George Clooney ดื่มกาแฟไปจนถึง Kim Kardashian ที่มารีวิวผลิตภัณฑ์แต่งหน้าใหม่

การรีวิวโดยผู้มีชื่อเสียงเป็นเป้าหมายสำหรับนักการตลาดที่กระตือรือร้นที่จะใช้ประโยชน์จากฐานแฟน ๆ ที่เป็นที่ยอมรับมาโดยตลอด 

ด้วยผู้ติดตามหลายล้านคนบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย จึงเป็นวิธีแก้ปัญหาง่ายๆ สำหรับการสร้างฐานแฟนใหม่ ๆ สำหรับแบรนด์ใหม่หรือการทำให้แบรนด์เป็นที่ยอมรับ 

อย่างไรก็ตาม เทรนด์ดังกล่าวได้ชะลอตัวลง และตอนนี้แบรนด์ต่างๆ กำลังมองหาผู้ที่มีผู้ติดตามที่น้อยกว่าเดิมมากบนโซเชียลมีเดีย ซึ่ง Micro-Influencers คือผู้ที่อาจมีผู้ติดตามตั้งแต่ 2,000 ถึง 100,000 คน เพียงเท่านั้น แต่มีพลังในการบอกต่อแบบปากต่อปากอย่างมหาศาล

คำพูดจากปากต่อปาก ในโลกออนไลน์ มีอิทธิพลมากที่สุดในการตัดสินใจซื้อ

บทวิเคราะห์ที่น่าสนใจจากบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกอย่าง Mckinsey ที่ได้กล่าวถึงเทรนด์ดังกล่าวว่า กำลังกลายเป็นปัจจัยและอิทธิพลสำคัญมากสำหรับการตัดสินใจซื้อโดยเฉพาะสำหรับกลุ่มคน Gen Z

ตัวอย่างในประเทศจีน ประสบการณ์การใช้ผลิตภัณฑ์ที่เขียนบน Taobao, Tmall หรือ RED ตลอดจนความคิดเห็นของเพื่อนและครอบครัวบนโซเชียลมีเดีย ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อ

มากกว่าสามในสี่ของผู้ตอบแบบสำรวจจาก Mckinsey นั้น กล่าวว่า ผู้บริโภค Gen Z นั้นจะมองบทวิจารณ์ออนไลน์ , บัญชีโซเชียลมีเดียของแบรนด์ และ บล็อกเกอร์หรือผู้มีอิทธิพลออนไลน์ เป็นแหล่งที่มีอิทธิพลสูงสุดสามอันดับแรกในการตัดสินใจซื้อ

ซึ่ง Gen Z นั้นจะให้ความสำคัญกับข้อมูลเหล่านี้มากกว่ากลุ่ม Millennials และ Gen X

ส่วนในสหรัฐอเมริกา โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลมากที่สุด 39% ของผู้บริโภค Gen Z ในขณะที่บทวิจารณ์ออนไลน์ และบล็อกในออนไลน์นั้นก็เป็นตัวเลือกลำดับต้น ๆ ที่ 26% ส่วนเพื่อนหรือครอบครัวมีอิทธิพล 15% และ 10% ตามลำดับ

อำนาจของเพจที่ลดลง และ อำนาจของกลุ่มที่เพิ่มขึ้น

ต้องบอกว่าหลังจากมีปัญหาครั้งใหญ่ในเรื่องการโฆษณาทางด้านการเมืองตั้งแต่ปี 2016 นั้น เรียกได้ว่า Facebook ได้ปรับอัลกอริธึมครั้งใหญ่ ที่มีการให้ความสำคัญของการ community มากยิ่งขึ้น

Facebook เริ่มให้ความสำคัญกับกลุ่มมากยิ่งขึ้น (CR:Engadget)
Facebook เริ่มให้ความสำคัญกับกลุ่มมากยิ่งขึ้น (CR:Engadget)

เราจะเห็นได้จากสถานการณ์ในตอนนี้ เพจ facebook หลาย ๆ เพจ ที่มียอด like หรือ follower หลักแสน หลักล้าน แต่ในบางโพสต์แทบจะมี engagement กับกลุ่มแฟน ๆ แค่หลักสิบเท่านั้น

แน่นอนว่าสิ่งแรกคงเป็นการบังคับให้ไปจ่ายเงินโฆษณามากขึ้นสำหรับเหล่าแบรนด์ หรือ เพจใหญ่ ๆ ที่หาก content ไม่โดนจริง ๆ ยากมากที่จะแจ้งเกิดได้ในยุคนี้ ที่มี content ให้เลือกสรรค์เต็มไปหมด

แต่ที่น่าสนใจอย่างในกรณีของ ดราม่าบุฟเฟ่ต์ นี้ก็คือเรื่อง community ที่เริ่มมีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะกระจายไปตามกลุ่มตามความชอบต่าง ๆ ของระบบ Facebook นั่นเอง

ทั้งกลุ่มที่ซื้อขาย หรือ กลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รีวิวสินค้าต่างๆ ซึ่งตอนนี้ Facebook ให้ความสำคัญมากกว่าเพจเสียด้วยซ้ำ

นั่นทำให้เทรนด์ของ Micro-Influencers เริ่มเด่นชัดขึ้น ตามความหลากหลายของกลุ่มที่เกิดขึ้นนั่นเอง และมันก็แสดงให้เห็นผ่านข่าวดราม่าบุฟเฟ่ต์นี้ว่า ตอนนี้เหล่า Micro-Influencers เริ่มเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั่นเองครับผม

References : https://www.digitalcoastmarketing.com/are-micro-influencers-the-future-of-marketing/
https://www.mckinsey.com/industries/retail/our-insights/how-gen-z-and-millennials-are-shaping-the-future-of-us-retail
https://www.mckinsey.com/cn/our-insights/our-insights/chinas-gen-z-are-coming-of-age-heres-what-marketers-need-to-know
https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_6619168